พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. อสิตาภุชาดก โลภมากลาภหาย

 
บ้านธัมมะ
วันที่  22 ส.ค. 2564
หมายเลข  35652
อ่าน  394

[เล่มที่ 57] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 444

๔. อสิตาภุชาดก

โลภมากลาภหาย


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 57]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 444

๔. อสิตาภุชาดก

โลภมากลาภหาย

[๓๑๗] พระองค์นั่นแหละ ได้กระทำเหตุอันนี้ในบัดนี้ หม่อมฉันปราศจากความรักในพระองค์แล้ว ความรักนั้นประสานกันอีกไม่ได้ ดุจงาช้างอันตัดขาดแล้วด้วยเลื่อย ฉะนั้น.

[๓๑๘] บุคคลผู้ปรารถนาเกินส่วน ย่อมเสื่อมจากประโยชน์ เพราะความโลภเกินประมาณ และเพราะความเมาอันเกิดจากความโลภเกินประมาณ เหมือนเราเสื่อมจากนางอสิตาภุ ฉะนั้น.

จบ อสิตาภุชาดกที่ ๔

อรรถกถาอสิตาภุชาดกที่ ๔

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภกุมาริกาคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ตฺวเมวทานิมการี ดังนี้.

ได้ยินว่า ในตระกูลอุปฐากของพระอัครสาวกทั้งสอง ตระกูลหนึ่งในกรุงสาวัตถี มีกุมาริกาผู้หนึ่งมีรูปสวย ถึงพร้อมด้วยคามงามเป็นเลิศ. นางเจริญวัย ก็ได้ไปสู่ตระกูลซึ่งมีชาติเสมอกัน. สามีของนางไม่พอใจนางเป็นบางอย่าง จึงเที่ยวไป

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 445

ในที่อื่นตามใจชอบ. นางก็ไม่เอาใจใส่ในการที่สามีไม่ใยดีในตนนั้น นิมนต์พระอัครสาวกทั้งสองมาถวายทานฟังธรรม ได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล. ตั้งแต่นั้นนางก็ปล่อยให้เวลาล่วงไปด้วยความสุขในมรรคและผล คิดว่า แม้สามีก็ไม่ยินดีเรา เราก็ไม่มีการงานทางฆราวาส เราจักบวช จึงบอกมารดาบิดา ออกบวช อรหัต. การกระทำของนางนั้นได้ปรากฏในหมู่ภิกษุ. ครั้นวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย ธิดาของตระกูลโน้นเป็นหญิงแสวงหาประโยชน์ รู้ว่าสามีไม่ใยดี ได้ฟังธรรมของพระอัครสาวก ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว ยังบอกลามารดาบิดาออกบวชอีก บรรลุอรหัตแล้ว ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย กุมาริกานั้นเป็นผู้แสวงหาประโยชน์อย่างนี้. พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กุลธิดาผู้นั้น เป็นผู้แสวงหาประโยชน์ในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้ในกาลก่อน ก็เป็นผู้แสวงหาประโยชน์เหมือนกัน ทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า.

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บวชเป็นฤาษียังอภิญญาและสมาบัติให้เกิดแล้วอาศัยอยู่ ณ หิมวัตประเทศ. ในกาลครั้งนั้นพระเจ้าพาราณสีเห็นความพรั่งพร้อมของบริวารของพรหมทัตกุมาร ผู้เป็นโอรสของพระองค์ เกิดความระแวงพระทัย จึงเนรเทศ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 446

โอรสออกจากแว่นแคว้น. พรหมทัตกุมารทรงพาพระเทวีของพระองค์พระนามว่า อสิตาภู เข้าไปสู่ป่าหิมพานต์เสวยปลา เนื้อ และผลไม้พำนักอยู่ ณ บรรณศาลา. พรหมทัตกุมารนั้น เห็นหางกินรีหางหนึ่ง มีจิตปฏิพัทธ์ คิดว่าจะเอานางกินรีนี้เป็นชายา จึงติดตามรอยเท้านางกินรีนั้นไป มิได้คำนึงถึงพระนางอสิตาภู. พระนางอสิตาภูเห็นพรหมทัตกุมารตามนางกินรีไป ทรงดำริว่า พรหมทัตกุมารนี้ตามนางกินรีไปมิได้คำนึงถึงเรา. เราจะต้องการอะไรจากพรหมทัตกุมารนี้ มีพระทัยคลายรักเข้าไปหาพระโพธิสัตว์ นมัสการแล้ว ให้บอกการบริกรรมกสิณแก่ตน เพ่งกสิณยังอภิญญาและสมาบัติให้เกิด นมัสการพระโพธิสัตว์กลับมายืนอยู่ที่ประตูบรรณศาลาของตน. แม้พรหมทัต ก็ติดตามนางกินรีไปเที่ยวหาก็มิได้พบแม้ทางที่นางกินรีนั้นไป หมดหวังจึงกลับมุ่งหน้ามาสู่บรรณศาลา. พระนางอสิตาภูเห็น พรหมทัตกุมารเสด็จกลับมา ลอยขึ้นสู่ไปสู่เวหา ยืนบนพื้นอากาศมีสีดังแก้วมณี ตรัสว่า ข้าแต่โอรสเจ้า ข้าพเจ้าได้ความสุขนี้ เพราะอาศัยท่าน แล้วกล่าวคาถาแรกว่า :-

พระองค์นั่นแหละได้กระทำเหตุนี้ในบัดนี้ หม่อมฉันปราศจากความรักในพระองค์แล้ว ความรักนั้นประสานกันอีกไม่ได้ ดุจงาช้างอัน ตัดขาดแล้วด้วยเลื่อยฉะนั้น.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 447

ในบทเหล่านั้น บทว่า ตฺวเมวทานิมกริ ความว่า ข้าแต่ท่านผู้เป็นอัยยบุตร พระองค์นั้นแหละ ละหม่อมฉันติดตามนางกินรี ได้ทำเหตุนี้ในบัดนี้. บทว่า ยํ กาโม พฺยคมา ตยิ ท่านแสดงความว่า ซึ่งเหตุที่ทำให้ความรักของเราในตัวท่านได้ไปแล้ว คือละได้ด้วยวิกขัมภนปหาน เราถึงความพิเศษอันนี้ก็เพราะละความรักได้แล้ว บทว่า โสยํ อปฺปฏิสนฺธิโก ความว่า ก็ความรักอันนั้น จะกลับมาติดต่ออีกไม่ได้ คือไม่สามารถจะต่อได้ในบัดนี้. บทว่า ขรา ฉินฺนํว เรนุกํ ความว่า เปรียบเหมือนงาช้างที่ถูกเลื่อยตัดขาดเสียแล้ว จะต่อติดอีกไม่ได้ คือจะเชื่อมให้สนิทเหมือนเดิมอีกไม่ได้ฉันใด อันการจะประสานจิตของเรากับท่านอีกย่อมมีไม่ได้ฉันนั้น. ครั้นนางกล่าวฉะนี้แล้ว ได้เหาะไปในที่อื่น ทั้งๆ ที่พรหมทัตกุมารนั้นแลดูอยู่นั่นเอง.

พรหมทัตกุมาร ครั้นนางไปแล้วก็คร่ำครวญกล่าวคาถา ที่ ๒ ว่า :-

บุคคลผู้ปรารถนาเกินส่วนย่อมปราศจากประโยชน์ เพราะโลภเกินประมาณ และเพราะความเมาอันเกิดจากความโลภเกินประมาณ เหมือนเราเสื่อมจากนางอสิตาภู ฉะนั้น.

ในบทเหล่านั้น บทว่า อตฺริจฺฉา ความว่า ทะยานอยากหาที่สุดมิได้ กล่าวคือความปรารถนาในสิ่งนั้นๆ เรียกว่าความแส่หา ความโลภที่เป็นไปเกิน เรียกว่า ความโลภจัด. บทว่า

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 448

อติโลภมเทน จ ได้แก่ ความมัวเมาด้วยความโลภจัดเพราะเป็นเหตุให้เกิดความมัวเมาในบุรุษ. บทนี้ท่านอธิบายว่า บุคคลผู้ปรารถนาในสิ่งนั้นๆ ด้วยการแส่หา ย่อมเสื่อมจากประโยชน์ เพราะความโลภจัดและเพราะความมัวเมาด้วยความละโมภจัด ดุจเราเสื่อมแล้วจากราชธิดา อสิตาภู ฉะนั้น.

พรหมทัตกุมารทรงคร่ำครวญด้วยคาถานี้แล้วประทับพระองค์เดียวอยู่ในป่า เมื่อพระบิดาสวรรคตแล้ว จึงเสด็จไปครองราชสมบัติ.

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดก. ราชบุตรและราชธิดาในครั้งนั้น ได้เป็นชนทั้งสองในครั้งนี้ ส่วนดาบส คือเราตถาคตนี้แล.

จบ อรรถกถาอสิตาภุชาดกที่ ๔