พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. มูลปริยายชาดก กาลเวลากินสัตว์พร้อมทั้งตัวเอง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  22 ส.ค. 2564
หมายเลข  35665
อ่าน  416

[เล่มที่ 57] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 502

๕. มูลปริยายชาดก

กาลเวลากินสัตว์พร้อมทั้งตัวเอง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 57]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 502

๕. มูลปริยายชาดก

กาลเวลากินสัตว์พร้อมทั้งตัวเอง

[๓๔๐] กาลย่อมกินสัตว์ทั้งปวงกับทั้งตัวเองด้วย ก็ผู้ใดกินกาล ผู้นั้นเผาตัณหาที่เผาสัตว์ได้แล้ว.

[๓๔๑] ศีรษะของนรชนปรากฏว่ามีมาก มีผมดำยาวปกคลุมถึงคอ บรรดาคนทั้งหลายนี้ จะหาคนผู้มีปัญญาสักคนก็ไม่ได้.

จบ มูลปริยายชาดกที่ ๕

อรรถกถามูลปริยายชาดกที่ ๕

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ สุภควัน อาศัยอุกกัฏฐธานีทรงปรารภ มูลปริยายสูตร ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า กาโล ฆสติ ภูตานิ ดังนี้.

ได้ยินว่า ในกาลนั้นมีพราหมณ์ ๕๐๐ จบไตรเพทแล้ว ออกบวชในพระศาสดาเรียนพระไตรปิฎก เป็นผู้มัวเมาด้วยความทะนงตนคิดว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรู้พระไตรปิฎก แม้เราก็รู้พระไตรปิฎก เมื่อเป็นอย่างนี้ เรากับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 503

จะต่างกันอย่างไร จึงไม่ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ตั้งตนเป็นปฏิปักษ์. อยู่มาวันหนึ่ง พระศาสดาเมื่อภิกษุเหล่านั้นประชุมกันในสำนักของพระองค์ ตรัสมูลปริยายสูตรประดับด้วยภูมิ ๘. ภิกษุเหล่านั้นกำหนดอะไรไม่ได้. จึงมีความคิดว่า พวกเราทะนงตนว่า ไม่มีใครฉลาดเท่ากับพวกเรา แต่บัดนี้พวกเราไม่รู้อะไรเลย ชื่อว่า ผู้ฉลาดเช่นกับพระพุทธเจ้าย่อมไม่มี ชื่อว่าพระพุทธคุณน่าอัศจรรย์. ตั้งแต่นั้นมาภิกษุเหล่านั้นก็หมดความทะนงตน สิ้นความหลงผิด ดังงูพิษที่ถูกถอนเขี้ยวแล้วฉะนั้น.

พระศาสดาประทับอยู่ ณ อุกกัฏฐธานี ตามพระสำราญแล้วเสด็จไปกรุงเวสาลี ตรัสโคตมกสูตรที่โคตมกเจดีย์. ทั้งหมื่นโลกธาตุหวั่นไหวแล้ว ภิกษุเหล่านั้นฟังโคตมกสูตรนั้นแล้วได้บรรลุพระอรหัต. เมื่อจบมูลปริยายสูตร พระศาสดายังประทับ อยู่ ณ อุกกัฏฐธานีนั่นเอง ภิกษุทั้งหลายประชุมสนทนากันในโรงธรรมว่า อาวุโสทั้งหลายน่าอัศจรรย์พระพุทธานุภาพ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำให้ภิกษุเหล่านั้นเป็นพราหมณ์ออกบวช มัวเมาด้วยความทะนงตนอย่างนั้น หมดความทะนงตนด้วยมูลปริยายเทศนา.

พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุเหล่านั้น กราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่ในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อนเราก็ได้ทำภิกษุเหล่านั้นผู้มีหัวรุนแรง

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 504

ด้วยความทะนงตนให้หมดความทะนงตนแล้ว ทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า.

ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ครั้นเจริญวัยสำเร็จไตรเพท เป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ สอนมนต์แก่มาณพ ๕๐๐. มาณพทั้ง ๕๐๐ นั้น ครั้นเรียนจบศิลปะผ่านการซักซ้อมสอบทานในศิลปะทั้งหลายแล้ว เกิดกระด้างด้วยความทะนงตนว่า พวกเรารู้เท่าใด แม้อาจารย์ก็รู้เท่านั้นเหมือนกัน ไม่มีความพิเศษกว่ากัน ไม่ไปสำนักอาจารย์ ไม่กระทำวัตรปฏิบัติ. ครั้นวันหนึ่งเมื่ออาจารย์นั่งอยู่โคนต้นพุทรา. พวกมาณพเหล่านั้นประสงค์จะดูหมิ่นอาจารย์จึงเอาเล็บมือเคาะต้นพุทรา พูดว่า ต้นไม้นี่ไม่มีแก่น. พระโพธิสัตว์ก็รู้ว่าดูหมิ่นตน จึงกล่าวกะอันเตวาสิกว่า เราจักถามปัญหาพวกท่านข้อหนึ่ง. มาณพเหล่านั้นต่างดีอกดีใจกล่าวว่า จงถามมาเถิด พวกผมจักแก้. อาจารย์เมื่อจะถามปัญหา ได้กล่าวคาถาแรกว่า :-

กาลย่อมกินสัตว์ทั้งปวงกับทั้งตัวเองด้วย ก็ผู้ใดกินกาล ผู้นั้นเผาตัณหาที่เผาแล้วได้แล้ว.

ในบทเหล่านั้น บทว่า กาโล ได้แก่ เวลาเป็นต้น เช่น เวลาก่อนอาหาร หลังอาหาร. บทว่า ภูตานิ นี้เป็นชื่อของสัตว์ กาลมิได้ถอนหนังและเนื้อเป็นต้นของสัตว์ไปกิน เป็นแต่ยังอายุ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 505

วรรณและพละของสัตว์เหล่านั้นให้สิ้นไป ย่ำยีวัยหนุ่มสาว ทำความไม่มีโรคให้พินาศ เรียกว่า กินสัตว์ คือ เคี้ยวกินสัตว์. ก็กาลที่กินสัตว์อยู่อย่างนี้ ไม่เว้นใครๆ ย่อมกินหมดทั้งนั้น. อนึ่งมิได้กินแก่สัตว์ทั้งหลายเท่านั้น ย่อมกินแม้ตนเองด้วยกาลก่อนอาหาร ย่อมไม่เหลืออยู่ในเวลาหลังอาหาร. ในเรื่องเวลาหลังอาหาร เป็นต้น ก็นัยเดียวกัน. ที่ว่าสัตว์ผู้กินกาลนั้น หมายถึงพระขีณาสพ. จริงอยู่พระขีณาสพนั้นเรียกว่าผู้กินกาล เพราะ ยังกาลปฏิสนธิต่อไปให้สิ้นด้วยอริยมรรค. บทว่า ส ภูตปจนึ ปจิ ความว่า พระขีณาสพนั้นเผา คือทำให้ไหม้เป็นเถ้าซึ่งตัณหาที่เผาสัตว์ในอบาย ด้วยไฟคือญาณ.

พวกมาณพเหล่านั้นฟังปัญหานี้แล้ว ไม่มีผู้สามารถจะรู้ได้แม้คนเดียว. ลำดับนั้นพระโพธิสัตว์จึงกล่าวกะมาณพเหล่านั้นว่า พวกท่านอย่าได้เข้าใจว่าปัญหานี้มีอยู่ในไตรเพท พวกท่านสำคัญว่าอาจารย์รู้สิ่งใด เราก็รู้สิ่งนั้นทั้งหมด จึงได้เปรียบเราเช่นกับด้วยต้นพุทรา พวกท่านมิได้รู้ว่า เรารู้สิ่งที่พวกท่านยังไม่รู้อีกมาก จงไปเถิด เราให้เวลา ๗ วัน จงช่วยกันคิดปัญหานี้ตามกาลกำหนด. มาณพเหล่านั้นไหว้พระโพธิสัตว์แล้วกลับไปยังที่อยู่ของตน แม้คิดกันตลอด ๗ วันก็มิได้เห็นที่สุด มิได้เห็นเงื่อนงำแห่งปัญหา. ครั้นวันที่ ๗ จึงพากันมาหาอาจารย์ไหว้แล้วนั่งลง เมื่ออาจารย์ถามว่า พวกท่านมีหน้าตาเบิกบาน รู้ปัญหานี้หรือ กล่าวว่า ยังไม่รู้. พระโพธิสัตว์เมื่อ

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 506

จะตำหนิมาณพเหล่านั้นอีก จึงถามปัญหาที่ ๒ ว่า :-

ศีรษะของนรชนปรากฏว่ามีมาก มีผมดำยาว ปกคลุมถึงคอ บรรดาคนทั้งหลายนี้จะหาคนที่มีปัญญาสักคนก็ไม่ได้.

ความของคาถานั้นว่า ศีรษะคนปรากฎมีมากหลาย และศีรษะเหล่านั้นมีผมดกดำประถึงคอ เอามือจับดูไม่เหมือนผลตาล บุคคลเหล่านั้นไม่มีข้อแตกต่างกันด้วยธรรมเหล่านี้เลย. บทว่า กณฺณวา คือผู้มีมีปัญญา. ก็ช่องหูจะไม่มีแก่ใครๆ ก็หามิได้.

พระโพธิสัตว์ติเตียนพวกมาณพเหล่านั้นว่า พวกท่านเป็นคนโง่ มีแต่ช่องหูเท่านั้น ไม่มีปัญญา ฉะนี้แล้วจึงแก้ปัญหามาณพเหล่านั้นฟังแล้วกล่าวว่า ธรรมดาอาจารย์เป็นผู้ยิ่งใหญ่ อย่างน่าอัศจรรย์ขอขมาอาจารย์แล้วต่างก็หมดความทะนงตน ปรนนิบัติพระโพธิสัตว์ตามเดิม.

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประชุมชาดก. มาณพทั้ง ๕๐๐ ในครั้งนั้นได้เป็นภิกษุเหล่านี้ ส่วนอาจารย์คือเราตถาคตนี้แล.

จบ อรรถกถามูลปริยายชาดกที่ ๕