พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. สาลกชาดก ว่าด้วยสาลกวานร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  22 ส.ค. 2564
หมายเลข  35669
อ่าน  456

[เล่มที่ 57] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 518

๙. สาลกชาดก

ว่าด้วยสาลกวานร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 57]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 518

๙. สาลกชาดก

ว่าด้วยสาลกวานร

[๓๔๘] ดูก่อนพ่อสาลกวานร พ่อเป็นลูกคนเดียวของเรา อนึ่ง พ่อจักได้เป็นใหญ่แห่งโภคสมบัติในตระกูลของเรา ลงมาจากต้นไม้เถิด มาเถิดพ่อ เราจะพากันกลับไปบ้านของเรา.

[๓๔๙] ท่านสำคัญเราว่าเป็นสัตว์ใจดี จึงได้ตีเราด้วยเรียวไม้ไผ่ เราพอใจอยู่ในป่ามะม่วงที่มีผลสุก ท่านจงกลับไปบ้านตามสบายเถิด.

จบ สาลกชาดกที่ ๙

อรรถกถาสาลกชาดกที่ ๙

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภพระมหาเถระรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า เอกปุตฺตโก ภวิสฺสติ ดังนี้.

ได้ยินว่า พระมหาเถระนั้นให้กุมารน้อยบรรพชาแล้ว ทำให้ลำบากอยู่ ณ พระเชตวันนั้น. สามเณรนั้นไม่สามารถจะทนความลำบากได้จึงสึก. พระเถระไปเกลี้ยกล่อมกุมารน้อยนั้นว่า

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 519

ดูก่อนกุมารน้อย จีวรของเธอคงเป็นของเธอตามเดิม แม้บาตรก็คงเป็นของเธอ ทั้งบาตรและจีวรก็คงเป็นของเธอ จงมาบรรพชาเถิด. กุมารน้อยนั้น แม้กล่าวว่า ผมจักไม่บรรพชา ถูกพระเถระรบเร้าบ่อยๆ เข้าก็บรรพชา ครั้งนั้นพระเถระได้ให้สามเณรนั้นลำบากอีกตั้งแต่วันที่บวช. สามเณรทนความลำบากไม่ไหวจึงสึกอีก แม้พระเถระเกลี้ยกล่อมอยู่หลายครั้งหลายครา ก็ไม่ยอมบวช โดยกล่าวว่า หลวงพ่อไม่เห็นใจผม หลวงพ่อขาดผมจะไม่สามารถเป็นไปได้เทียวหรือ ไปเถิดหลวงพ่อ ผมไม่บวชละ.

ภิกษุทั้งหลายประชุมกันในโรงธรรมว่า อาวุโสทั้งหลาย ทารกนั้นใจดีจริงหนอ ทราบอัธยาศัยของพระมหาเถระแล้วจึงไม่ยอมบวช. พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนาด้วยเรื่องอะไรกัน เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทารกนั้นมิใช่มีใจดีแต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อนก็ใจดี เห็นโทษของพระเถระนั้นคราวเดียวเท่านั้น ไม่ยอมเข้าใกล้อีก ทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า.

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลกุฎุมพี ครั้นเจริญวัยเลี้ยงชีพด้วยการขายข้าวเปลือก. มีหมองูคนหนึ่ง หัดลิงตัวหนึ่งให้ถือยาแล้วให้งูแสดงการละเล่นกับลิงนั่งเลี้ยงชีพ. เมื่อมีการโฆษณาแสดงมหรสพที่กรุงพาราณสี. หมองูนั้นประสงค์จะชม

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 520

มหรสพ จึงมอบลิงนั้นไว้กับพ่อค้าขายข้าวเปลือกนั้น สั่งว่า ท่านอย่าดูดายลิงตัวนี้ ครั้นชมมหรสพแล้วในวันที่ ๗ จึงไปหาพ่อค้าถามว่า ลิงอยู่ที่ไหน. ลิงพอได้ยินเสียงเจ้าของรีบออกจากร้านขายข้าวเปลือก. ลำดับนั้นหมองู จึงเอาไม้เรียวตีหลังลิง พาไปสวนผูกไว้ข้างหนึ่ง แล้วหลับไป. ลิงรู้ว่าเจ้าของหลับ จึงแก้เชือกที่ผูกออกหนีไปขึ้นต้นมะม่วง กินผลมะม่วงสุก แล้วทิ้งเมล็ดลงตรงหัวหมองู. หมองูตื่นแลดูเห็นลิงนั้นแล้ว จึงคิดว่า เราจักลวงเจ้าลิงนั้นด้วยถ้อยคำไพเราะ ให้มันลงจากต้นไม้แล้วจึงจับมัน เมื่อจะเกลี้ยกล่อมลิงนั้น ได้กล่าวคาถาแรกว่า :-

ดูก่อนพ่อสาลกวานร เจ้าเป็นลูกคนเดียวของพ่อ อนึ่ง พ่อจักได้เป็นใหญ่ในตระกูลของพ่อ ลงมาจากต้นไม้เถิด มาเถิดลูกพ่อ จะพากลับไปบ้านของเรา.

ลิงได้ฟังดังนั้นจึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-

ท่านสำคัญว่า เราเป็นสัตว์ใจดีจึงได้ตีเราด้วยเรียวไม้ไผ่ เราพอใจอยู่ในป่ามะม่วงที่มีผลสุก ท่านจงกลับไปบ้านตามสบายเถิด.

ในบทเหล่านั้น บทว่า นนุ มํ สุหทโยติ มญฺสิ ความว่า ท่านสำคัญเราว่าเป็นสัตว์มีใจดีมิใช่หรือ อธิบายว่า ท่านสำคัญว่าลิงนี้เป็นสัตว์ใจดี. บทว่า ยญฺจ มํ หนสิ เวฬุยฏฺิยา ความว่า

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 521

ท่านแสดงไว้ดังนี้ว่า ท่านดูหมิ่นเราด้วยเหตุใด และท่านเฆี่ยนเราด้วยไม้เรียวด้วยเหตุใด เหตุนั้นเราจึงไม่กลับไป. เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจึงพอใจในป่ามะม่วงนี้ เชิญท่านกลับไปเรือนตามสบายเถิด. แล้วกระโดดเข้าป่าไป. แม้หมองูก็ไม่พอใจได้กลับไปเรือนของตน.

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดก. ลิงในครั้งนั้นได้เป็นสามเณรในครั้งนี้ หมองูได้เป็นพระมหาเถระ ส่วนพ่อค้าขายข้าวเปลือกคือ เราตถาคตนี้แล.

จบ อรรถกถาสาลกชาดกที่ ๙