ความกลัว ความกังวล โควิด 19

 
ค่อยๆศึกษา
วันที่  22 ส.ค. 2564
หมายเลข  35674
อ่าน  499

สวัสดีครับ ครั้งนี้ผมก็มาขอความอนุเคราะห์จากผู้รู้อีกเช่นเคยครับ เกี่ยวกับ ความกลัว ความกังวล และ เจตนาครับ

ความกังวล ความกลัว ก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ ช่วงที่มีความสุขก็ไม่กังวล ช่วงที่กังวล ไม่มีความสุข ไล่ก็ไม่ไป ไม่อยากให้เกิดอีก ก็เกิดได้ เป็นชีวิตประจำวันของผมครับ มาถึงตรงนี้เอง โดยเฉพาะสถานการณ์ โควิด เช่นนี้ ความกลัว ความกังวล มีมากกว่าช่วงอื่น โดยเฉพาะที่บ้านมีผู้สูงอายุ คุณพ่อคุณแม่ และสมาชิกในบ้านอีก ทำให้กังวลไปหมด สารพัด ครับ

จากตรงนี้จะขอเล่าสถานการณ์ส่วนตัวครับ

เช่น กังวลว่า อาหารที่นำไปให้พ่อแม่จะสะอาดไหม จะมีเชื้อติดไหม ใส่หน้ากากกันไหม เดี๋ยวจะแพร่เชื้อกัน เราจะเอาเชื้อมาติดใครไหม เตือนสมาชิกในบ้านแล้วไม่ปฏิบัติตามแล้วจะเสี่ยงแพร่เชื้อให้อีกคนไหม ส่วนตัวก็ระวังทุกอย่าง เช่น นอนแยกห้อง เคยสั่งอาหารข้างนอกมาก็เช็ดทำความสะอาดกล่องด้วยแอลกอฮอล์ อยู่ในบ้านเจอกันใส่หน้ากาก แม้กระทั่งถามผู้รู้ทางสาธารณสุขหรือแพทย์ แม้กระนั้น ก็ยังมีคุณแม่ติดโควิดจนได้ครับ สถานการณ์เหล่านี้เอง ก็นำมาซึ่งความกังวลอีกว่า เป็นเพราะเราหรือปล่าว คิดวนไปในอดีตสารพัด ถึงวันก่อนๆ ว่า มีครั้งไหนไหมที่ระวังไม่พอไหม เช่น ตอนเอาอาหารใส่จาน ตอนทิ้งหน้ากากใกล้แม่ไปไหม ลมจะพัดเชื้อไปจากตรงนั้นไหม เป็นต้นครับ

ส่วนคำถามครับ

1. ขออนุญาติเกริ่นเหตุการณ์ก่อนเป็นคำถามนะครับ ตอนที่สั่งอาหารข้างนอกมา เช็ดทำความสะอาดกล่องเรียบร้อย จนมั่นใจว่าสะอาด ขณะที่เอาอาหารใส่จาน ก็คิดในใจว่า (ประมาณว่า) จะติดไหมเนี่ย จะมีเชื้อไหม พอความคิดนั้นดับไป ก็มีความคิด (ประมาณว่า) คงไม่เป็นไร คงมั่นใจได้ จึงนำอาหารไปให้ท่านรับประทาน วันนั้นท่านมีอาการ แต่ก็ไม่รู้ว่ามาจากอาหารนี้ไหม คิดไม่ออกเลยว่าติดจากไหนอย่างไร เพราะความเป็นไปได้มีมากมาย หรืออีกเหตุการณ์หนึ่งคือ ตอนทิ้งหน้ากาก ณ ถังขยะกลางบ้าน (นอกบ้าน) แล้วเอ๊ะ เชื้อจะติดไหมเนี่ย แล้วก็คิดว่าคงไม่หรอก (หลังจากนั้นจำไม่ได้ว่าเอาแอลกอฮอล์มาพ่นไหม) แล้วก็ปล่อยผ่านไป ตรงนี้เองครับ ที่สงสัยว่า ขณะที่คิดในใจว่า

จะติดไหมเนี่ย จะมีเชื้อไหม พอความคิดนั้นดับไป ก็มีความคิด (ประมาณว่า) คงไม่เป็นไร คงมั่นใจได้แล้วจึงนำอาหารไปให้ และ อีกเหตุกาณ์คือ จะมาจากหน้ากากที่กลับจากนอกบ้านที่ทิ้งลงถังขยะไหม แล้วก็คิดว่าคงไม่หรอก แล้วก็ผ่านไป คือ อย่างไร แล้วขณะที่ นำอาหารไปให้พอมั่นใจว่าคงไม่มีอะไรหรอก หรือตอนทิ้งหน้ากาก ว่าคงไม่เป็นไรหรอก และ สำคัญว่าไม่น่าจะเป็นอะไรเพราะทิ้งขยะลงถังแล้ว เพราะ ได้ฟังมาว่า เจตนาเจตสิก เกิดกับจิตทุกดวง ก็เลยกังวลว่า กรณีอย่างนี้ คือ อย่างไร เป็นประทุษร้ายท่านหรือไม่ หรือเป็นเจตนาดีที่เอาอาหารไปให้ท่านกิน และขณะคิดก็หลังทิ้งลงไปแล้ว กรรมที่มทิ้งจบไปแล้ว ผมไม่เข้าใจสภาพธรรมตรงนี้ครับ เพราะ ทำนู่นทำนี่ ก็มีความคิดนี้ผ่านไปผ่านมาแล้วแต่อะไรจะผุดขึ้น จะทราบได้อย่างไรครับ ว่า การกระทำนั้นๆ มาจาก เจตนาไหนในความคิดอันสารพัดในใจเราครับ

2. จากที่เล่ามาครับ ความกังวลว่าเกิดจากเราหรือไม่ ใครจะติดไหม หย่อนยานไปหรือไม่ เชื้อจะมาจากเราไหม คิดซ้ำไปซ้ำมา เป็นความกลัว หรือ ความกังวล ครับ ความกลัว และ ความกังวล ต่างกันอย่างไรครับ จะเข้าใจสภาพเหล่านี้ได้อย่างไร และ ความกลัว ความกังวลมีขึ้น และขณะนั้นก็มีเจตนาเจตสิกด้วย แต่ก็บังคับบัญชาไม่ได้อีก คืออย่างไรครับ

ขอเชิญร่วมสนทนาครับ

กราบขอบพระคุณมากครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 23 ส.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรม เป็นแต่ละขณะจริงๆ ตามความเป็นจริงแล้ว ชีวิตประจำวัน อกุศล เยอะมาก แม้แต่ความห่วง ความกังวล ความกลัว ก็คือ อกุศล ขณะนั้น ไม่สบายใจอย่างแน่นอน นี้คือ ความเป็นจริงของธรรม ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย เมื่อกล่าวถึง อกุศล แล้ว ก็ได้แก่ อกุศลจิต และเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย ไม่ใช่เรา การตั้งใจทำทุกอย่าง ด้วยความละเอียดรอบคอบ เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น นั่นคือ ความหวังดี ไม่ได้มีเจตนาร้ายแต่อย่างใด

ความกลัว ความกังวล ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรทั้งสิ้น แต่ก็ห้ามไม่ได้ เพราะธรรม เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น มีสภาพธรรมปรากฏ ให้ได้ศึกษาอยู่ตลอดจริงๆ ขณะที่มีความเข้าใจถูกต้อง ขณะนั้น ไม่กลัว ไม่กังวล ที่พึ่งที่แท้จริงในทุกขณะทุกเมื่อ คือ ความเข้าใจพระธรรม ครับ

ขอเชิญศึกษาคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
เรื่อง ธรรมกับกลัวโควิด ได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

ธรรม กับ กลัวโควิด - 19



...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ส.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ค่อยๆศึกษา
วันที่ 24 ส.ค. 2564

ขออนุโมทนาในกุศลของทุกๆ ท่านครับ กราบขอบพระคุณครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ