คนที่กลัวผี หรือสัตว์เลื้อยคลาน จะมีวิธีแก้อย่างไร
ลักษณะความกลัวภัยจากสิ่งต่างๆ เป็นโทสะ ผู้ที่ละโทสะได้เป็นสมุจเฉท คือพระอนาคามีบุคคล ขณะที่กลัวจิตเป็นอกุศล ไม่มีสติเกิดร่วมด้วย ผู้ที่มีปกติมีศีล มีขันติ อยู่ด้วยเมตตา ย่อมไม่กลัวภัยจากอมนุษย์หรือสัตว์ร้ายทั้งหลาย การกลัวผี กลัวความมืด เป็นต้น ส่วนมากเป็นเพราะความคิดถึงสิ่งนั้นจึงกลัว ในพระไตรปิฎกพระพุทธองค์ทรงแนะนำสาวกทั้งหลายที่อยู่ตามป่าตามถ้ำต่างๆ เมื่อเจริญพุทธานุสติ ธรรมานุสติ สังฆานุสติ ย่อมละความกลัว ความขนพองเสียได้
เชิญคลิกอ่านที่นี่ ... เมื่อความกลัวเกิดขึ้น [ธชัคคสูตร]
ปฏิบัติธรรมแต่ก็ยังกลัวผีอยู่ จะทำอย่างไร กลัวสัตว์เลื้อยคลาน เช่น กิ้งกือ ไส้เดือน ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเราขาดสติ จิตจึงเป็นอกุศล เพราะเกิดความกลัว ความไม่ชอบใจ และเป็นโทสะด้วยใช่หรือไม่
การปฏิบัติธรรมหรือการเจริญวิปัสสนาในพระพุทธศาสนา ต้องเริ่มจากการละกิเลสเป็นลำดับ เปรียบเหมือนการศึกษาก็ต้องเป็นลำดับ กิเลสที่ต้องละก่อนคือความเห็นผิดว่าเป็นสัตว์บุคคลตัวตน ที่ยังยึดถือว่าเป็นเราที่กลัว ดังนั้น ความกลัว (โทสะ) จะดับได้ต้องเป็นพระอนาคามี แต่เราต้องเป็นพระโสดาบันก่อน จึงต้องดับความเห็นผิดว่า เป็นสัตว์บุคคลตัวตนครับ เพราะเราไม่รู้ว่าความกลัวเป็นธัมมะอย่างหนึ่ง จึงเดือดร้อนกับอกุศลที่เกิดขึ้น (ความกลัว) แต่การอบรมปัญญา ไม่มีใครห้ามให้กิเลสไม่ให้เกิดได้ เพราะมีเหตุปัจจัยให้เกิด หนทางเดียว คืออบรมปัญญาระลึกรู้ว่าทุกอย่างเป็นธรรมะแม้ความกลัว เพื่อดับความเห็นผิดว่าเป็นเราเป็นสัตว์บุคคลครับ จงเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ถ้ากลัวถึงขั้น Phobia ควรปรึกษาจิตแพทย์นะคะ ถ้าไม่กลัวมากเท่าไร ขณะที่เห็นสัตว์ที่กลัว ก็พิจารณา ลักขณาทิจตุกะของโทสมูลจิตเลย
ถ้ากลัวผี ก็ให้เปิดไฟ เปิดเทปธรรมะฟัง จะช่วยได้ค่ะ ถ้ากลัวกิ้งกือ ไส้เดือน ก็พยายามหลีกเลี่ยงอย่าเจอ และให้เจริญเมตตา หรือระลึกพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ก็ช่วยให้หายกลัวได้ชั่วคราว เพราะว่า เรายังไม่ได้ดับความกลัวเป็นสมุจเฉท เราก็ต้องอาศัยการอบรมปัญญาจนกว่าจะเป็นพระอนาคามี เมื่อนั้น จึงจะดับโทสะได้เป็นสมุจเฉทค่ะ
ข้าพเจ้าไม่กลัวผี แต่กลัวกิเลสมากกว่า เจ้าตัวร้ายนี่ เผลอเมื่อไหร่ โดนงับ!
ความกลัว เป็นสิ่งที่น่ากลัวกว่าสัตว์ในภพภูมิอื่นอีก เพราะสามารถนำเกิดแล้ว เกิดเล่าไม่รู้จบ
พอดีคนใกล้ชิด ถามมาว่ากลัวกิ้งกือกับไส้เดือนมาก ไม่รู้จะแก้อย่างไร ดิฉันก็แนะนำว่าเราควรมีสติ คิดว่าเขาก็เกิดมาร่วมชะตากรรมเดียวกับเรา เจอก็หลีกไปไม่ต้องสนใจ แต่เขาทำไม่ได้ ส่วนดิฉันก็กลัว แต่ดิฉันใช้กำหนดเห็นหนอ ความรู้สึกกลัวจะหายไป
"กำหนดเห็นหนอ ความรู้สึกกลัวจะหายไป" เพราะเป็นการเบี่ยงเบนอารมณ์ แต่ไม่ใช่เป็นความเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง และไม่ใช่กุศลจิต ควรฝึกอบรมพิจารณาสภาวธรรมของสิ่งที่ทำให้กลัวและความรู้สึกกลัวนั้น จนมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นทีละเล็กละน้อย จนชินขึ้น จนดูเหมือนว่าเป็นธรรมดา คือเป็นธรรม