พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. สีลวิมังสชาดก ความลับไม่มีในโลก

 
บ้านธัมมะ
วันที่  23 ส.ค. 2564
หมายเลข  35755
อ่าน  581

[เล่มที่ 58] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้า 406

๕. สีลวิมังสชาดก

ความลับไม่มีในโลก


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 58]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้า 406

๕. สีลวิมังสชาดก

ความลับไม่มีในโลก

[๕๑๘] ขึ้นชื่อว่าที่ลับ ย่อมไม่มีในโลก แก่คนผู้กระทําบาปกรรม ต้นไม้ที่เกิดในป่าก็ยังมีคนเห็น คนพาลย่อมสําคัญบาปกรรมนั้นว่าเป็นที่ลับ.

[๕๑๙] ข้าพเจ้าย่อมไม่เห็นที่ลับ หรือแม้ที่ว่างเปล่าก็ไม่มี ในที่ใดว่างเปล่าข้าพเจ้าไม่เห็นใคร ที่นั้นก็ไม่ว่างเปล่าจากข้าพเจ้า.

[๕๒๐] มาณพผู้ใหญ่ ๖ คนนั้น คือ ทุชัจจ ๑สุชัจจะ ๑ นันทะ ๑ สุขวัจฉนะ ๑ วัชณะ ๑อัทธุวสีละ ๑ มีความต้องการธิดาของอาจารย์พากันละธรรมเสีย.

[๕๒๑] ส่วนพราหมณ์มาณพเป็นผู้ถึงฝังแห่งธรรมทั้งปวง มีปัญญามีความเพียรเครื่องก้าวหน้าในสัจจธรรม ตามรักษาธรรมไว้จะพึงละสตรีลาภเสียอย่างไรได้.

จบ สีลวีมังสชาดกที่ ๕

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้า 407

อรรถกถาสีลวีมังสชาดกที่ ๕

พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภอุบายเครื่องข่มกิเลส จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคําเริ่มต้นว่า นตฺถิ โลเก รโห นาม ดังนี้.

เรื่องปัจจุบัน จักมีแจ้งในปัญจาลชาดก๑เอกาทสนิบาต. ส่วนในชาดกนี้ มีเนื้อความสังเขปดังต่อไปนี้:-

ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปอยู่ในภายในพระเชตวันวิหาร พากันตรึกกามวิตกในลําดับมัชฌิมยาม.พระศาสดาทรงตรวจดู ภิกษุทั้งหลายเป็นนิตยกาล ในเวลาทั้งปวงทั้งเวลากลางคืนและกลางวัน เหมือนคนมีตาข้างเดียวรักษาตาคนผู้มีบุตรคนเดียวรักษาบุตร จามรีชาติรักษาขนหางอ่อน ด้วยความไม่ประมาทฉะนั้น. ในกาลอันเป็นส่วนราตรี พระองค์ทรงตรวจดู ในพระเชตวันวิหาร ด้วยพระจักษุอันเป็นเพียงดังทิพย์ ทรงเห็นภิกษุเหล่านั้นประหนึ่งโจรอันเกิดขึ้นในภายในนิเวศน์ของพระเจ้าจักรพรรดิ จึงทรงปิดพระคันธกุฎีรับสั่งเรียกพระอานันทเถระมาแล้วตรัสว่า อานนท์เธอจงให้ภิกษุทั้งหลายประชุมกัน ณ ภายในหอประชุมด้านสุด แล้วจงปูลาดอาสนะที่ประตูพระคันธกุฎี. พระอานันทเถระนั้นได้การทําอย่างนั้นแล้วกราบทูลพระศาสดาให้ทรงทราบ. พระศาสดาประทับนั่งบนอาสนะที่พระอานนท์ปูลาดแล้วทรงเตือนภิกษุทั้งหลายโดยรวมหมดด้วยกัน แล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โบราณกบัณฑิตทั้งหลาย


(๑) บางแห่งว่า ปารันชาดก

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้า 408

ไม่กระทําบาปด้วยคิดว่า ชื่อว่าที่ลับในการทําบาปย่อมไม่มี อันภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นทูลอ้อนวอนแล้ว จึงทรงนําเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้ :-

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ เจริญวัยแล้ว ได้เป็นหัวหน้ามาณพ ๕๐๐ คน เล่าเรียนศิลปะในสํานักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ในนครพาราณสีนั้นนั่นแหละ. ท่านอาจารย์มีธิดาผู้กําลังเจริญวัย ท่านจึงคิดว่า เราจักทดลองศีลของมาณพเหล่านี้ แล้วจักให้ธิดานั้นแก่มาณพผู้สมบูรณ์ด้วยศีลเท่านั้น. วันหนึ่ง อาจารย์ทิศาปาโมกข์นั้นเรียกมาณพทั้งหลายแล้วกล่าวว่า พ่อทั้งหลาย ธิดาของเราเจริญวัยแล้วเราจักทําการวิวาหมงคลแก่เธอควรจะได้ผ้าและเครื่องอลังการเธอทั้งหลาย เมื่อพวกญาติของตนๆ ไม่เห็น จงลักเอาผ้าและเครื่องอลังการมา ผ้าและเครื่องอลังการที่ใครๆ ไม่เห็นเท่านั้น เราจึงรับเอาผ้าและเครื่องอลังการที่ใครๆ เห็นแล้วเอามา เราจะไม่รับ. มาณพเหล่านั้นรับคําจําเดิมแต่นั้นมา เมื่อพวกญาติไม่ทันเห็น จึงจักนําเอาผ้าและเครื่องประดับทั้งหลายมา. อาจารย์ก็วางสิ่งของที่พวกมาณพนํามาๆ ไว้เป็นพวกๆ . พระโพธิสัตว์ไม่นําอะไรๆ มาเลย. ที่นั้น อาจารย์จึงกล่าวกะพระโพธิสัตว์นั้นว่า ดูก่อนพ่อ เธอเล่าไม่ไปนําอะไรๆ มาหรือ. พระโพธิสัตว์กล่าวร่า ขอรับท่านอาจารย์. อาจารย์ถามว่าเพราะอะไรพ่อ? พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ท่านไม่รับของที่เอามา เมื่อ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้า 409

ใครๆ เห็น แม้กระผมก็ไม่เห็นที่ลับในการทําบาป เมื่อจะแสดงความจึงกล่าวคาถา ๒ คาถานี้ว่า :-

ชื่อว่าที่ลับในโลก ย่อมไม่มีแก่คนผู้กระทําบาปกรรม ต้นไม้ที่เกิดในป่าก็ยังมีคนเห็น คนพาลย่อมสําคัญบาปกรรมนั้นว่าเป็นความลับ.

ข้าพเจ้าย่อมไม่เห็นที่ลับ หรือแม้ที่ว่างเปล่าก็ไม่มี ในที่ใดว่างเปล่า ข้าพเจ้าไม่เห็นใคร ที่นั้นก็ย่อมไม่ว่างเปล่าจากตัวข้าพเจ้า.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า รโห ได้แก่ ที่กําบัง. บทว่าวนภูตานิ ได้แก่ ทั้งเกิดและมีอยู่ในป่า. บทว่า ตํ พาโล ความว่าคนพาลย่อมสําคัญบาปกรรมนั้นว่า เราทําในที่ลับ . ด้วยบทว่า สุฺํวาปิ นี้ พระโพธิสัตว์กล่าวว่า แม้ที่ที่ว่างเปล่าจากสัตว์ทูลหลายไม่มี.

อาจารย์เลื่อมใสต่อพระโพธิสัตว์นั้นจึงกล่าวว่า ดูก่อนพ่อ ในเรือนของเราไม่มีทรัพย์สินอะไร แต่เรามีความประสงค์จะให้ธิดาของเราแก่ผู้ที่สมบูรณ์ด้วยศีล เมื่อจะทดลองมาณพทั้งหลายเหล่านั้น จึงได้ทําอย่างนี้ ธิดาของเราเหมาะสมแก่ท่านเท่านั้น แล้วประดับตกแต่งธิดามอบให้แก่พระโพธิสัตว์ แล้วกล่าวกะมาณพทั้งหลายนอกนี้ว่า สิ่งของที่พวกเธอนํามาแล้วๆ จงนําไปยังเรือนของเธอทั้งหลายเถิด.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้า 410

พระศาสดาตรัส ดังนั้นแล มาณพผู้ทุศีลเหล่านั้น จึงไม่ได้สตรีนั้น เพราะความที่ตนเป็นคนทุศีล มาณพผู้เป็นบัณฑิตคนเดียวเท่านั้นได้ เพราะเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยศีล พระองค์ทรงเป็นผู้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว จึงได้ตรัสคาถา ๒ คาถานอกนี้ว่า :-

มาณพผู้ใหญ ๖ คนนั้น คือ ทุชัจจะ ๑สุชัจจะ ๑ จัณฑะ ๑ สุขวัจฉิตะ ๑ เวชฌ-สันธะ ๑ สีลี ๑ มีความต้องการธิดาของอาจารย์ พากันละธรรมเสีย.

ส่วนพราหมณ์มาณพ เป็นผู้ถึงฝังแห่งธรรมทั้งปวง มีปัญญา มีความเพียรเครื่องก้าวไปในสัจจธรรม ตามรักษาธรรมอยู่ จะพึงละสตรีลาภเสียอย่างไรเล่า.

ในพระคาถานั้น พระศาสดาทรงถือเอาชื่อของมาณพผู้ใหญ่๖ คน มีอาทิว่า มาณพทุชัจจะ ดังนี้. พระองค์ไม่ทรงระบุชื่อของมาณพทั้งหลายที่เหลือ จึงตรัสโดยรวมเอาทั้งหมดทีเดียวว่า มาณพเหล่านั้นมีความต้องการธิดาของอาจารย์ พากันละธรรมเสีย ดังนี้.บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เต ได้แก่ มาณพเหล่านั้นแม้ทั้งหมด.บทว่า ธมฺมํ ได้แก่สภาวะคือการได้เฉพาะสตรี. บทว่า ชหุมตฺถิกาตัดบทเป็น ชหุํ อตฺถิกา แปลเหมือนในคาถา. อีกอย่างหนึ่ง บาลีก็

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้า 411

อย่างนี้เหมือนกัน. ส่วน ม อักษรท่านกล่าวด้วยอํานาจการเชื่อมพยัญชนะ. ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า มาณพเหล่านั้นแม้ทั้งหมดเป็นผู้มีความต้องการธิดาของอาจารย์นั้นเท่านั้น พากันละสภาวะคือการได้เฉพาะสตรีนั้น เพราะความที่ตนเป็นคนทุศีล. บทว่า พฺราหฺมโณ จความว่าส่วนพราหมณ์ผู้สมบูรณ์ด้วยศีลนอกนี้ บทว่า กถํ ชเห ความว่าเพราะเหตุไร จักละการได้สตรีนั้น บทว่า สพฺพธมฺมานํ ความว่าในที่นี้ ศีล ๕ ศีล ๘ สุจริต ๓ อันเป็นโลกิยะ ชื่อว่าธรรมทั้งปวงพราหมณ์มาณพนั้น ถึงฝังแห่งธรรมทั้งปวงนั้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ปารคูผู้ถึงฝัง. บทว่า ธมฺมํ ได้แก่ ธรรมอันมีประการดังกล่าวแล้วนั่นแหละ ซึ่งพราหมณ์มาณพคุ้มครอง คือ รักษาอยู่ บทว่าธิติมา ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยปัญญารักษาศีล. บทว่า สจฺจนิกฺกโมได้แก่ เป็นผู้มีสัจจะเป็นสภาวะ คือ ประกอบด้วยความเพียรเครื่องก้าวไปในศีลธรรมตามที่กล่าวแล้ว.

พระศาสดา ครั้นทรงนําพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประกาศสัจจะ ในเวลาจบสัจจะ ภิกษุ ๕๐๐ รูปนั้นตั้งอยู่ในพระอรหัต.แล้วทรงประชุมชาดกว่า อาจารย์ในครั้งนั้น ได้เป็นพระสารีบุตรส่วนมาณพผู้บัณฑิตได้เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถาสีลวีมังสชาดกที่ ๕