๕. มังสชาดก วาทศิลป์ของคนขอ
[เล่มที่ 58] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้า 475
๕. มังสชาดก
วาทศิลปของคนขอ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 58]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้า 475
๕. มังสชาดก
วาทศิลปของคนขอ
[๕๕๘] วาจาของท่านหยาบคายจริงหนอ ท่านเป็นผู้ขอเนื้อ วาจาของท่านเช่นกับพังผืดดูก่อนสหาย เราจะให้พังผืดแก่ท่าน.
[๕๕๙] คําว่า พี่ชายน้องชายหรือพี่สาวน้องสาวนี้ เป็นอวัยวะของมนุษย์ทั้งหลาย อันเขากล่าวกันอยู่ในโลก วาจาของท่านเช่นกับอวัยวะ ดูก่อนสหายเราจะให้ชิ้นเนื้อแก่ท่าน.
[๕๖๐] บุตรเรียกบิดาว่า พ่อ ย่อมทําให้หัวใจของพ่อหวั่นไหว วาจาของท่านเช่นกับหัวใจดูก่อนสหาย เราจะให้เนื้อหัวใจแก่ท่าน.
[๕๖๑] ในบ้านของผู้ใดไม่มีเพื่อน บ้านของผู้นั้นก็เป็นเหมือนกับป่า วาจาของท่านเช่นกับสมบัติทั้งมวล ดูก่อนสหาย เราจะให้เนื้อทั้งหมดแก่ท่าน.
จบ มังสชาดกที่ ๕
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้า 476
อรรถกถามังสชาดกที่ ๕
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภบิณฑบาตอันมีรสที่พระสารีบุตรเถระ ให้แก่ภิกษุทั้งหลายที่ดื่มยาถ่ายจึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคําเริ่มต้นว่า ผรุสา วต เต วาจา ดังนี้.
ได้ยินว่า ในกาลนั้น ภิกษุบางพวกในพระวิหารเชตวันพากันดื่มยาถ่ายอันปรุงด้วยยางเหนียว ภิกษุเหล่านั้นจึงมีความต้องการด้วยบิณฑบาตอันมีรส. ภิกษุผู้เป็นคิลานุปัฏฐากทั้งหลายคิดว่า จักนําภัตตาหารอันมีรสมา จึงเข้าไปในนครสาวัตถี แม้จะเที่ยวบิณฑบาตไปในถนนที่มีบ้านเรือนสมบูรณ์ด้วยข้าวสุก ก็ไม่ได้ภัตตาหารอันมีรสจึงพากันกลับ. พระเถระเข้าไปบิณฑบาตในตอนสายเห็นภิกษุเหล่านั้นจึงถามว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ทําไมจึงกลับสายนัก. ภิกษุเหล่านั้นจึงบอกเนื้อความนั้น. พระเถระกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านทั้งหลายจงมา แล้วพาภิกษุเหล่านั้นไปยังถนนนั้นนั่นแหละ. คนทั้งหลายได้ถวายภัตตาหารอันมีรสจนเต็มบาตร. พวกภิกษุผู้เป็นคิลานุปัฏฐากนํามายังพระวิหารแล้วได้ถวายแก่พวกภิกษุไข้. ภิกษุไข้เหล่านั้นไข้บริโภครสเป็นที่ยินดี. อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายนั่งสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า ท่านผู้อาวุโสทั้งหลาย ได้ยินว่า พระอุปัฏฐากของพวกภิกษุผู้ดื่มยาถ่ายไม่ได้ภัตตาหารอันมีรสจึงกลับออกมา พระเถระจึงพาเที่ยวไปในถนนที่มีบ้านเรือนซึ่งมีข้าวสุก ส่งบิณฑบาตอันมีรสเป็นอันมากไปให้. พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้า 477
พวกเธอนั่งประชุมกันด้วยเรื่องอะไรหนอ? เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบว่า ด้วยเรื่องชื่อนี้พระเจ้าข้า. จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลายสารีบุตรได้เนื้ออันประเสริฐ ในบัดนี้เท่านั้นหามิได้ แม้ในกาลก่อนบัณฑิตทั้งหลายผู้มีวาจาอ่อนโยนฉลาดกล่าวถ้อยคําที่น่ารัก ก็ได้แล้วเหมือนกัน แล้วทรงนําเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นบุตรเศรษฐี. อยู่มาวันหนึ่ง นายพรานเนื้อคนหนึ่งได้เนื้อมาเป็นอันมาก จึงบรรทุกเต็มยานน้อยมายังนครด้วยหวังใจว่าจักขาย. ในกาลนั้น บุตรเศรษฐี ๔ คนชาวเมืองพาราณสีออกจากนครแล้วนั่งสนทนากันถึงเรื่องที่ได้เห็นได้ยินได้ฟังมาบางเรื่องณ สถานที่ที่มีหนทางมาบรรจบกัน. บรรดาเศรษฐีบุตร ๔ คนนั้นเศรษฐีบุตรคนหนึ่งเห็นพรานเนื้อนั้นบรรทุกเนื้อมา จึงกล่าวว่า เราจะให้นายพรานนั้นนําชิ้นเนื้อมา. เศรษฐีบุตรเหล่านั้นกล่าวว่า ท่านจงไปให้นํามาเถิด. เศรษฐีบุตรนั้นเข้าไปหานายพรานเนื้อแล้วกล่าวว่าเฮ้ยพราน จงให้ชิ้นเนื้อแก่ข้าบ้าง. นายพรานกล่าวว่า ธรรมดาผู้จะขออะไรๆ กะผู้อื่น ต้องเป็นผู้มีคําพูดอันเป็นที่น่ารัก ท่านจักได้ชิ้นเนื้ออันสมควรแก่วาจาที่ท่านกล่าว แล้วได้กล่าวคาถาที่๑ ว่า :-
วาจาของท่านหยาบคายจริงหนอ ท่านขอเนื้อ วาจาของท่านเช่นกับพังผืด ดูก่อนสหาย เราจะให้พังผืดแก่ท่าน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้า 478
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กิโลมสทิสี ความว่า ชื่อว่าเช่นกับพังผืด เพราะเป็นวาจาหยาบ. บทว่า กิโลมํ สมฺม ททามิเต ความว่า นายพรานกล่าวว่า เอาเถอะ ท่านจงถือเอา เราจะให้พังผืดนี้อันเป็นเช่นกับวาจาของท่าน แล้วยกชิ้นเนื้อพังผืดอันไม่มีรสให้ไป.
ลําดับนั้น เศรษฐีบุตรอีกคนหนึ่งถามเศรษฐีบุตรคนนั้นว่าท่านพูดว่าอย่างไรแล้วจึงขอ. เศรษฐีบุตรนั้นกล่าวว่า เราพูดว่าเฮ้ยแล้วจึงขอ. เศรษฐีบุตรนั้นกล่าวว่า แม้เราก็จักขอเขา แล้วไปกล่าวว่า พี่ชาย ท่านจงให้ชิ้นเนื้อแก่ฉันบ้าง. นายพรานกล่าวว่า ท่านจักได้ชิ้นเนื้ออันสมควรแก่คําพูดของท่าน แล้วกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
คําว่า พี่น้องชายหรือพี่น้องหญิงนี้เป็นส่วนประกอบของมนุษย์ทั้งหลาย อันเขากล่าวกันอยู่ในโลก วาจาของท่านเป็นเช่นกับส่วนประกอบ ดูก่อนสหาย เราจะให้ชิ้นเนื้อแก่ท่าน.
คําที่เป็นคาถานั้น มีอธิบายความดังนี้ :- คําว่าพี่น้องชายพี่น้องหญิงนี้ ชื่อว่าเป็นส่วนประกอบ เพราะเป็นเช่นกับอวัยวะของมนุษย์ในโลกนี้ เพราะฉะนั้น วาจานี้ของท่านเป็นเช่นกับอวัยวะดังนั้น เราจะให้เฉพาะชิ้นเนื้อเท่านั้นอันสมควรแก่วาจานี้ของท่าน.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้า 479
ก็แหละ ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว นายพรานจึงให้ยกเนื้ออันเป็นอวัยวะส่วนประกอบให้ไป. เศรษฐีบุตรอีกคนหนึ่งถามเศรษฐีบุตรคนนั้นว่า ท่านพูดว่าอย่างไรแล้วจึงขอ. เศรษฐีบุตรนั้นกล่าวว่า เราพูดว่าพี่ชายแล้วจึงขอ. เศรษฐีบุตรนั้นกล่าวว่า แม้เราก็จักขอเขาแล้วไปกล่าวว่า ข้าแต่พ่อ ท่านจงให้ชิ้นเนื้อแก่ฉันบ้าง นายพรานกล่าวว่าท่านจักได้ชิ้นเนื้ออันสมควรแก่คําพูดของท่าน แล้วจึงกล่าวคาถาที่๓ว่า :-
บุตรเรียกบิดาว่า พ่อ ย่อมทําให้หัวใจของพ่อหวั่นไหว วาจาของท่านเช่นกับน้ำใจดูก่อนสหาย เราจะให้เนื้อหัวใจแก่ท่าน.ก็แหละ ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงได้ยกเนื้ออันอร่อยพร้อมกับเนื้อหัวใจให้ไป. เศรษฐีบุตรคนที่๔ จึงถามเศรษฐีบุตรคนนั้นว่าท่านพูดว่ากระไรแล้วจึงขอ. เศรษฐีบุตรคนนั้นกล่าวว่า เราพูดว่าพ่อแล้วจึงขอ. เศรษฐีบุตรคนที่ ๔ นั้นจึงกล่าวว่า แม้เราก็จักขอเขาแล้วจึงไปพูดว่า สหาย ท่านจงให้ชิ้นเนื้อแก่ฉันบ้าง. นายพรานกล่าวว่า ท่านจักได้ชิ้นเนื้ออันสมควรแก่คําพูดของท่าน แล้วกล่าวคาถาที่ ๔ ว่า :-
ในบ้านของผู้ใดไม่มีเพื่อน บ้านของผู้นั้นก็เป็นเหมือนกับป่า วาจาของท่านเป็น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้า 480
เช่นกับสมบัติทั้งมวล ดูก่อนสหาย เราจะให้เนื้อทั้งหมดแก่ท่าน.
คําอันเป็นคาถานั้นมีอธิบายว่า ในบ้านของบุรุษใดไม่มีเพื่อนกล่าวคือชื่อว่าสหาย เพราะไปร่วมกันในสุขและทุกข์ สถานที่นั้นของบุรุษนั้น ย่อมเป็นเหมือนป่าไม่มีมนุษย์ ดังนั้น วาจาของท่านนี้จึงเป็นเช่นกับสมบัติทั้งหมด คือเป็นเช่นกับสมบัติอันเป็นของๆ ตนทั้งหมด เพราะฉะนั้น เราจะให้ยานบรรทุกเนื้ออันเป็นของๆ เรานี้ทั้งหมดเลยแก่ท่าน.
ก็แหละ ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว นายพรานจึงกล่าวว่า มาเถิดสหาย ข้าพเจ้าจักนํายานบรรทุกเนื้อนี้ทั้งหมดทีเดียวไปยังบ้านของท่าน. เศรษฐีบุตรให้นายพรานนั้นขับยานไปยังเรือนของตน ให้ขนเนื้อลง กระทําสักการะสัมมานะแก่นายพราน ให้เรียกแม้บุตรและภรรยาของนายพรานนั้นมา ให้เลิกจากกรรมอันหยาบช้า ให้อยู่ในท่ามกลางกองทรัพย์สมบัติของตน เป็นสหายที่แน่นแฟ้นกับนายพรานนั้น อยู่สมัครสมานกันจนตลอดชีวิต.
พระศาสดาครั้นทรงนําพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า นายพรานในครั้งนั้น ได้เป็นพระสารีบุตร ส่วนเศรษฐีบุตรผู้ได้เนื้อทั้งหมดในครั้งนั้น ได้เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถามังสชาดกที่ ๕