พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. โกกาลิกชาดก ว่าด้วยพูดในกาลที่ควรพูด

 
บ้านธัมมะ
วันที่  23 ส.ค. 2564
หมายเลข  35782
อ่าน  509

[เล่มที่ 58] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้า 588

๔. โกกิลวรรค

๑. โกกาลิกชาดก

ว่าด้วยพูดในกาลที่ควรพูด


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 58]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้า 588

๑. โกกาลิกชาดก

ว่าด้วยพูดในกาลที่ควรพูด

[๖๒๒] เมื่อยังไม่ถึงเวลาที่จะพูด ผู้ใดพูดเกินกาลไป ผู้นั้นย่อมถูกทําร้ายดุจลูกนกดุเหว่าฉะนั้น.

[๖๒๓] มีดที่ลับคมดีแล้ว ดุจยาพิษอันร้ายแรงหาทําให้ตกไปทันทีทันใด เหมือนวาจาทุพ-ภาษิตไม่.

[๖๒๔] เพราะฉะนั้น บัณฑิตควรรักษาวาจาไว้ทั้งในกาลควรพูดและไม่ควร ไม่ควรพูดให้ล่วงเวลา แม้ในบุคคลผู้เสมอกับตน.

[๖๒๕] ผู้ใดมีความคิดเห็นเป็นเบื้องหน้า มีปัญญาเครื่องพิจารณาเห็นประจักษ์ พูดพอเหมาะในกาลที่ควรพูด ผู้นั้นย่อมจับศัตรูได้ทั้งหมด ดุจครุฑจับนาคได้ ฉะนั้น.

จบ โกกาลิกชาดกที่ ๑

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้า 589

อรรถกถาโกกิลวรรคที่ ๔

อรรถกถาโกกาลิกชาดกที่ ๑

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภพระโกกาลิกะ จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคําเริ่มต้นว่า โย เวกาเล อสมฺปตฺเต ดังนี้. เรื่องปัจจุบันได้ให้พิสดารแล้วในตักการิยชาดก. ส่วนเรื่องในอดีตมีดังต่อไปนี้ :-

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นอํามาตย์แก้วของพระเจ้าพาราณสีนั้น.พระราชานั้นได้เป็นผู้มีพระดํารัสมาก พระโพธิสัตว์คิดว่า จักห้ามการตรัสมากของพระราชานั้น จึงเที่ยวคิดหาอุบายอย่างหนึ่ง. ครั้นวันหนึ่งพระราชาเสด็จไปพระราชอุทยาน แล้วประทับนั่งบนแผ่นศิลาอันเป็นมงคล. เบื้องบนแผ่นศิลานั้น มีมะม่วงอยู่ต้นหนึ่ง นางนกดุเหว่าวางฟองไข่ของตนไว้ในรังการังหนึ่ง ณ ต้นมะม่วงนั้น แล้วได้ไปเสีย.นางกาก็ประคบประหงมฟองไข่นกดุเหล่านั้น. จําเนียรกาลล่วงมา ลูกนกดุเหว่าก็ออกจากฟองไข่นั้น. นางกาสําคัญว่าบุตรของเรา จึงนําอาหารมาด้วยจงอยปาก ปรนนิบัติลูกนกดุเหว่านั้น. ลูกนกดุเหว่านั้นขนปีกยังไม่งอกก็ส่งเสียงร้องเป็นเสียงดุเหว่า ในกาลอันไม่ควรร้องเลย. นางกาคิดว่า ลูกนกนี้มันร้องเป็นเสียงอื่นในบัดนี้ก่อน เมื่อโตขึ้นจักทําอย่างไร จึงตีด้วยจะงอยปากให้ตายตกไปจากรัง. ลูกนกดุเหว่านั้น


(๑) ม. โคลิลฯ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้า 590

ตกลงใกล้พระบาทของพระราชา. พระราชารับสั่งถามพระโพธิสัตว์ว่าสหาย นี่อะไรกัน. พระโพธิสัตว์คิดว่า เราแสวงหาเรื่องเปรียบเทียบเพื่อจะห้ามพระราชา บัดนี้ เราได้เรื่องเปรียบเทียบนี้แล้ว จึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ขึ้นชื่อว่าคนปากกล้า พูดมากในกาลไม่ควรพูดย่อมได้ทุกข์เห็นปานนี้ ข้าแต่มหาราช ลูกนกดุเหว่านี้เจริญเติบโตได้เพราะนางกา ปีกยังไม่ทันแข็งก็ร้องเป็นเสียงดุเหว่าในเวลาไม่ควรร้องทีนั้น นางการู้ลูกนกดุเหว่านั้นว่า นี่ไม่ใช่ลูกของเรา จึงตีด้วยจะงอยปากให้ตกลงมา จะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ดิรัจฉานก็ตาม พูดมากในกาลไม่ควรพูด ย่อมได้ทุกข์เห็นปานนี้ แล้วได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า :-

เมื่อยังไม่ถึงเวลาที่จะพูด ผู้ใดพูดเกินเวลาไป ผู้นั้นย่อมถูกทําร้าย ดุจลูกนกดุเหว่าฉะนั้น.

มีดที่ลับคมกริบ ดุจยาพิษที่ร้ายแรงหาทําให้ตกไปทันทีทันใด เหมือนวาจาทุพ-ภาษิตไม่.

เพราะฉะนั้น บัณฑิตควรรักษาวาจาไว้ทั้งในกาลที่ควรพูดแลไม่ควร ไม่ควรพูดให้เกินเวลา แม้ในคนผู้เสมอกับตน

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้า 591

ผู้ใดมีความคิดเห็นเป็นเบื้องหน้า มีปัญญาเครื่องพิจารณาเห็นประจักษ์ พูดพอเหมาะในกาลที่ควรพูด ผู้นั้นย่อมจับศัตรูได้ทั้งหมด ดุจครุฑจับนาคได้ฉะนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กาเล อสมฺปตฺเต ได้แก่ เมื่อกาลที่จะพูดของตน ยังไม่ถึง. บทว่า อติเวลํ ความว่า ย่อมพูดเกินประมาณ ทําให้ล่วงเลยเวลา. บทว่า หลาหลมฺมิว ตัดเป็น หลาหลํอิว แปลว่า เหมือนยาพิษอันร้ายแรง. บทว่า นิกฺกเฒ ได้แก่ในขณะนั้นเอง คือในกาลอันยังไม่ถึง. บทว่า ตสฺม ได้แก่ เพราะเหตุที่คําทุพภาษิตเท่านั้น ย่อมทําให้ตกไปเร็วพลัน แม้กว่าศัสตราที่ลับคมกริบ และยาพิษอันร้ายแรง. บทว่า กาเล อกาเล จ ความว่าบัณฑิตพึงรักษาวาจาทั้งในกาลและมิใช่กาลที่ควรกล่าว ไม่ควรกล่าวเกินเวลาแม้กะบุคคลผู้เสมอกับตน คือแม้กะบุคคลผู้มีการกระทําไม่ต่างกัน. บทว่า มติปุพฺโพ ได้แก่ ชื่อว่ามีความคิดเป็นเบื้องหน้าเพราะกระทําความคิดให้เป็นปุเรจาริกอยู่ข้างหน้าแล้วจึงกล่าว. บทว่าวิจกฺขโณ ความว่า บุคคลผู้พิจารณาด้วยญาณแล้วได้ประโยชน์ ชื่อว่าผู้มีปัญญาเห็นประจักษ์. บทว่า อุรคมิว ตัดเป็น อุรคํ อิว แปลว่าเหมือนสัตว์ผู้ไปด้วยอก (งู). ท่านกล่าวอธิบายไว้ดังนี้ว่า ครุฑทําทะเลให้ปันป่วนแล้วยึด คือจับงูตัวมีขนาดใหญ่ ก็แลครั้นจับได้แล้วทันใดนั้นเอง ก็ยกหิ้วงูนั้นขึ้นสู่ต้นงิ้ว กินเนื้ออยู่ ฉันใด บุคคลผู้

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้า 592

มีความคิดเกิดขึ้นก่อนเป็นเบื้องหน้า มีปัญญาเป็นเครื่องเห็นประจักษ์กล่าวพอประมาณในกาลที่ควรกล่าว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมยึดคือจับพวกอมิตรทั้งหมดได้ คือทําให้อยู่ในอํานาจของตนได้.

พระราชาทรงสดับธรรมเทศนาของพระโพธิสัตว์แล้ว ตั้งแต่นั้นมา ก็ได้มีพระดํารัสพอประมาณ. และทรงปูนบําเหน็จยศพระราชทานแก่พระโพธิสัตว์นั้นให้ใหญ่โตกว่าเดิม.

พระศาสดา ครั้นทรงนําพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า. ลูกนกดุเหว่าในกาลนั้น ได้เป็นพระโกกาลิกะ ส่วนอํามาตย์ผู้เป็นบัณฑิตในครั้งนั้น ได้เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถาโกกาลิกชาดกที่ ๑