คนเขลาหมกอยู่ในโลกอันตระการ แต่ผู้รู้หาข้องอยู่ไม่ [เรื่องอภัยราชกุมาร]

 
pirmsombat
วันที่  28 เม.ย. 2550
หมายเลข  3579
อ่าน  7,945

[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้าที่ 238

๔. เรื่องอภัยราชกุมาร

[๑๔๐] ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภอภัยราชกุมาร ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "เอถ ปสฺสถิมํ โลกํ" เป็นต้น พระกุมารได้รับพระราชทานราชสมบัติ ได้ยินว่า เมื่ออภัยราชกุมารนั้น ทรงปราบปรามปัจจันตชนบท ให้สงบมาแล้ว พระเจ้าพิมพิสารผู้พระบิดา ทรงพอพระทัยแล้ว พระราชทาน หญิงฟ้อนคนหนึ่ง ผู้ฉลาดในการฟ้อนและการขับแล้ว ได้พระราชทาน ราชสมบัติสิ้น ๗ วัน. อภัยราชกุมารนั้น ไม่เสด็จออกภายนอกพระราช มนเฑียรเลย. เสวยสิริแห่งความเป็นพระราชาสิ้น ๗ วัน เสด็จไปสู่ท่า แม่น้ำในวันที่ ๘ ทรงสรงสนานแล้ว เสด็จเข้าไปสู่พระอุทยาน ประทับ นั่งทอดพระเนตรการฟ้อนและการขับของหญิงนั้น ดุจสันตติมหาอำมาตย์. ในขณะนั้นเอง แม้นางนั้นได้ทำกาละ ด้วยอำนาจกองลมกล้าดุจศัสตรา ดุจหญิงฟ้อนของสันตติมหาอำมาตย์ พระกุมารมีความโศกเกิดขึ้นแล้ว เพราะกาลกิริยาของหญิงฟ้อนนั้น ทรงดำริว่า "ผู้อื่น เว้นพระศาสดาเสีย จักไม่อาจเพื่อให้ความโศกนี้ของเราดับได้" ดังนี้แล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดากราบทูลว่า "พระเจ้าข้า ขอพระองค์จงให้ความโศกของข้าพระองค์ดับเถิด"

อุบายระงับความโศก

พระศาสดา ทรงปลอบพระกุมารนั้นแล้วตรัสว่า "กุมาร ก็ประมาณ แห่งน้ำตาทั้งหลาย ที่เธอร้องไห้อยู่ในกาลแห่งหญิงนี้ตายแล้ว อย่างนี้ นี่แลให้เป็นไปแล้ว ย่อมไม่มีในสงสาร ซึ่งมีที่สุดอันใครๆ รู้ไม่ได้ "ทรงทราบความที่ความโศกเป็นภาพเบาบาง เพราะเทศนานั้นแล้วจึง ตรัสว่า "กุมาร เธออย่าโศกเลย ข้อนั้นเป็นฐานะ เป็นที่จมลงของชนพาลทั้งหลาย ดังนี้แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า :-

เอถ ปสฺสถิมํ โลกํ จิตฺตํ ราชรถูปมํ ยตฺถ พาลา วิสีทนฺติ นตฺถิ สงฺโค วิชานตํ

"ท่านทั้งหลายจงมาดูโลกนี้ (๑) อันตระการ ดุจราชรถ ที่พวกคนเขลาหมกอยู่ (แต่) พวกผู้รู้หาข้องอยู่ไม่"

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า เอถ ปสฺสถ พระศาสดาตรัสหมาย เอาพระราชกุมารนั่นเอง, สองบทว่า อิมํ โลกํ ได้แก่ อัตภาพ กล่าวคือ ขันธโลกเป็นต้นนี้. บทว่า จิตฺตํ ความว่า อันวิจิตรด้วยเครื่องประดับ มีเครื่องประดับคือผ้าเป็นต้น ดุจราชรถอันวิจิตรด้วยเครื่องประดับมีแก้ว ๗ ประการเป็นอาทิ. สองบทว่า ยตฺถ พาลา ความว่า พวกคนเขลา เท่านั้นหมกอยู่ในอัตภาพใด. บทว่า วิชานตํ ความว่า แต่สำหรับพวก ผู้รู้คือบัณฑิตทั้งหลาย หามีความข้องในกิเลสเครื่องข้อง คือราคะ เป็นต้น แม้อย่างหนึ่งในอัตภาพนั้นไม่.

ในเวลาจบเทศนา พระราชกุมารตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว พระธรรมเทศนาได้มีประโยชน์แม้แก่ผู้ประชุมกัน ดังนี้แล.

เรื่องอภัยราชกุมาร จบ.

(๑) พระศาสดาตรัสสองบทว่า เอถ ปสฺสถ ในพระคาถานั้น ทรงหมายเอาจำเพาะพระราชกุมาร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 28 เม.ย. 2550

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 299

ข้อความบางตอนจาก

เรื่อง พระนางเขมา

พระศาสดาทรงตรวจดูวาระจิตของพระนางเขมานั้นแล้ว จึงตรัสว่า "เขมา เธอคิดว่า 'สาระมีอยู่ในรูปนี้หรือ' เธอจงดูความที่รูปนั้นหาสาระมิได้ ในบัดนี้" แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า :- "เขมา เธอจงดูร่างกายอันอาดูร ไม่สะอาดเน่า เปื่อย ไหลออกทั้งข้างบน ไหลออกทั้งข้างล่าง อันคน พาลทั้งหลาย ปรารถนายิ่งนัก" ในกาลจบพระคาถา พระนางดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้าที่ 141

เธอจงดูอัตภาพที่ไม่มีความยั่งยืน (และ) ความมั่นคง (อันกรรม) ทำให้วิจิตรแล้ว มีกายเป็นแผล อันกระดูก ๓๐๐ ท่อน ยกขึ้นแล้ว อันอาดูร ที่มหาชนครุ่นคิดแล้วโดยมาก รูปนี้แก่หง่อมแล้ว เป็นรังของโลก เปื่อยพัง กายของตนเป็นของเน่า จักแตก เพราะชีวิตมีความ ตายเป็นที่สุด กระดูกเหล่านี้ใด อันเขาทิ้งเกลื่อนกลาดดุจ น้ำเต้าในสารทกาล มีสีเหมือนนกพิราบ ความยินดี อะไรเล่า (จักมี) เพราะเห็นกระดูกเหล่านั้น. สรีระอันกรรมทำให้เป็นนครแห่งกระดูกทั้งหลาย ฉาบด้วยเนื้อและโลหิต เป็นที่ตั้งลงแห่งชรา มรณะ มานะ และมักขะ. ราชรถที่วิจิตรดียังคร่ำคร่าได้แล อนึ่ง ถึงสรีระ ก็ย่อมถึงความคร่ำคร่า ธรรมของสัตบุรุษหา เข้าถึงความคร่ำคร่าไม่ สัตบุรุษทั้งหลายแล ย่อม ปราศรัยกับด้วยสัตบุรุษ.

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wannee.s
วันที่ 28 เม.ย. 2550

คนพาลและบัณฑิตไกลกัน เปรียบเหมือนฟ้ากับดิน แต่ธรรมของสัตบุรุษ และ อสัตบุรุษ ไกลกันยิ่งกว่านั้นอีก

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
pirmsombat
วันที่ 28 เม.ย. 2550

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
อิสระ
วันที่ 30 เม.ย. 2550

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
tong
วันที่ 10 พ.ค. 2550

การนั้งสมาธิให้จิตใจสะอาด สว่าง สงบ มีหลักการอย่างไรบ้างครับ ผมนั่งทุกคืนมาโดยตลอด แต่จิตใจยังคิดวกวนกับปัญหาต่างๆ ไม่ปล่อยว่างสักที

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wannee.s
วันที่ 11 พ.ค. 2550

จิตใจจะสะอาด คือ ขณะนั้นกุศลจิตเกิดประกอบด้วยปัญญา สงบจากกิเลส คือ โลภะโทสะ โมหะ ชั่วขณะ การนั่งสมาธิ ถ้าไม่มีปัญญาประกอบด้วยขณะนั้นเป็นมิจฉาสมาธิถ้านั่งเพื่ออยากให้จิตสงบขณะนั้นไม่สงบแล้ว เพราะมีความโลภะเกิดร่วมด้วย ไม่ใช่สัมมาสมาธิค่ะ อยากให้ฟังแนวทางเจริญสติปัฏฐาน บรรยายโดยท่านอาจารย์สุจินต์บริหารวนเขตต์ จะช่วยให้คุณเข้าใจหนทางข้อปฏิบัติที่ถูกต้องค่ะ ตารางที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ดูได้ที่เวปไซด์บ้านธัมมะค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 5 ธ.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ