พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. อาวาริยชาดก ว่าด้วยการกระทําที่ไม่เจริญด้วยโภคะ (เริ่มเล่ม 59)

 
บ้านธัมมะ
วันที่  24 ส.ค. 2564
หมายเลข  35832
อ่าน  514

[เล่มที่ 59] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 1

ฉักกนิบาตชาดก

๑. อาวาริยวรรค

๑. อาวาริยชาดก

ว่าด้วยการกระทําที่ไม่เจริญด้วยโภคะ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 59]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 1

พระสุตตันตปิฎก

ขุททกนิกาย ชาดก

เล่มที่ ๓ ภาคที่ ๕

ฉักกนิบาตชาดก (๑)

๑. อาวาริยวรรค

๑. อาวาริยชาดก

ว่าด้วยการกระทำที่ไม่เจริญด้วยโภคะ

[๘๓๑] ข้าแต่มหาบพิตร ผู้ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ขอมหาบพิตรอย่าทรงพิโรธเลย ข้าแต่ มหาบพิตร ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ พระราชา ผู้ไม่ทรงพิโรธตอบผู้ที่โกรธแล้ว ประชาชน ของรัฐ ราษฎรบูชาแล้ว อาตมาภาพขอถวาย


๑. บาลีเล่มที่ ๒๗

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 2

อนุศาสน์ในที่ทุกสถาน จะเป็นในบ้าน ในป่า ที่ดอน หรือที่ลุ่มก็ตาม ข้าแต่มหาบพิตร ผู้ทรง พระคุณอันประเสริฐ ขอพระองค์อย่าทรงพิโรธ.

[๘๓๒] ที่แม่น้ำคงคาได้มีคนแจวเรือจ้าง ชื่อว่า อาวาริยปิตา เขาส่งคนข้ามฟากก่อนแล้ว จึงขอรับค่าจ้างภายหลัง เพราะเหตุนั้น เขาจึงมีการทุ่มเถียงกัน และไม่เจริญด้วยโภคทรัพย์.

[๘๓๓] ดูก่อนโยมชาวเรือ โยมจงขอค่าจ้างกะคน ที่ยังไม่ข้ามไปฝั่งโน้นก่อนสิ เพราะว่าจิตใจของคนที่ข้ามฟากแล้ว เป็นอย่างหนึ่ง ของคนที่ต้องการจะข้ามฟาก ยังไม่ได้ข้าม ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกัน.

[๘๓๔] อาตมาจักตามสอนโยม ทุกหนทุกแห่ง ทั้งในบ้าน ทั้งในป่า, ทั้งในที่ดอน หรือที่ลุ่ม ดูก่อนโยมชาวเรือ ขอโยมอย่าโกรธนะ.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 3

[๘๓๕] พระราชาได้พระราชทาน หมู่บ้านชั้นดีแก่ดาบส เพราะอนุศาสนีบทใด เพราะอนุศาสนีบทนั้น นั่นเอง คนแจวเรือได้ตบปากดาบส.

[๘๓๖] ถาดข้าวก็แตก ภรรยาก็ถูกตบ และเด็กในครรภ์ ก็ตกฟากลงที่พื้นดิน เขาไม่อาจจะให้ประโยชน์งอกเงยขึ้น เพราะโอวาทนั้น เหมือนเนื้อ ไม่อาจจะให้ประโยชน์เกิดขึ้น เพราะทองคำ ฉะนั้น.

จบ อาวาริยชาดกที่ ๑

อรรถกถาชาดก

ฉักกนิบาต

อรรถกถาอาวาริยวรรคที่ ๑

อรรถกถาอาวาริยชาดกที่ ๑

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภ ติตถนาวิก คนแจวเรือประจำท่าคนหนึ่ง จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า มาสุ กุชฺฌ ภูมิปติ ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 4

ได้ยินว่า เขาเป็นคนโง่ไม่รู้อะไร ไม่รู้คุณของพระรัตนตรัย มีพระพุทธเจ้า เป็นต้นเลย ไม่รู้คุณของบุคคลอื่นๆ ด้วยเป็นคนดุร้าย หยาบคาย ผลุนผลันพลันแล่น. ภายหลังภิกษุชาวชนบทรูปหนึ่ง มาด้วยความตั้งใจว่า เราจักทำการอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า ถึงท่าน้ำแม่น้ำ อจิรวดี ได้พูดกับนายติตถวานิกอย่างนี้ว่า :-

ดูก่อนอุบาสก อาตมาจักข้ามฟาก ขอโยมจงให้เรืออาตมภาพ เถิด.

นายติตถวานิก ตอบว่า:-

ท่านครับ บัดนี้นอกเวลาแล้ว ขอให้ท่านอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง ในที่นี้.

ภิ. ดูก่อนอุบาสก อาตมาจักอยู่ที่ไหน ในที่นี้ ขอจงรับอาตมา ไปส่งเถิด.

เขาโกรธพูดว่า มาที่นี่โว้ยสมณะ เราจะนำไปส่ง แล้วได้ให้ พระเถระลงเรือ ไม่ตรงไปส่ง แต่พายเรือไปข้างล่าง ทำให้เรือโคลง บาตร และจีวรของท่านเปียกน้ำ ไปถึงฝั่งโดยลำบาก ส่งขึ้นฝั่งเวลามืดค่ำ. ต่อมาท่านได้ไปถึงวิหาร วันนั้น ไม่ได้โอกาสอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า รุ่งขึ้น จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง เป็น

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 5

ผู้ที่พระศาสดา ทรงทำการปฏิสันถารแล้ว เมื่อถูกพระศาสดาตรัสถามว่า เธอมาถึงเมื่อไร? ทูลว่า เมื่อวานนี้ พระเจ้าข้า เมื่อพระองค์ตรัสถามว่า เหตุไฉน จึงมาที่อุปัฏฐากในวันนี้? ได้กราบทูลเนื้อความนั้น ให้ทรงทราบ. พระศาสดาครั้นทรงสดับเรื่องนั้นแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ไม่ใช่เพียงบัดนี้เท่านั้น ถึงในชาติก่อน นายคนนี้ก็ดุร้าย หยาบคาย เหมือนกัน. อนึ่ง เขาไม่ใช่ให้เธอลำบาก แต่ในชาติปัจจุบันนี้ แม้ในชาติก่อน ก็ทำให้บัณฑิตลำบากมาแล้ว ถูกภิกษุนั้น ทูลอ้อนวอน จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัต ครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์กำเนิดในสกุลพราหมณ์เจริญวัยแล้ว ได้เรียนศิลปศาสตร์ทุกอย่าง ที่ตักกศิลา แล้วบวชเป็นฤาษี เลี้ยงอัตตภาพด้วยผลไม้น้อยใหญ่ ในป่าหิมพานต์เป็นเวลาช้านาน เพื่อต้องการลิ้มรสเค็ม และรสเปรี้ยว จึงไปเมืองพาราณสี พักอยู่ที่พระราชอุทยาน รุ่งขึ้นจึงเข้าไปสู่พระนครเพื่อภิกษา. ครั้งนั้น พระราชาได้ทอดพระเนตรเห็น ท่านมาถึงพระลานหลวง เลื่อมใสในอิริยาบถของท่าน จึงทรงนำเข้าไปภายในเมือง ให้ฉันเสร็จ ทรงรับปฏิญญาแล้ว ให้ท่านอยู่ในพระราชอุทยาน ได้เสด็จไปยังที่อุปัฏฐากวันละครั้ง. พระโพธิสัตว์ เมื่อทูลถวายโอวาทพระราชานั้น ทุกวันว่า ขอถวายพระพรมหาราช ธรรมดาพระราชาควรเว้น การลุอำนาจอคติทั้ง ๔ เป็นผู้ไม่ประมาท สมบูรณ์ด้วยพระขันติ

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 6

พระเมตตา และพระกรุณาธรรม ครองราชสมบัติโดยธรรม จึงถวายพระพรคาถา ๒ คาถา ว่า:-

ข้าแต่มหาบพิตร ผู้ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ขอมหาบพิตรอย่าทรงพิโรธเลย ข้าแต่ มหาบพิตร ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ พระราชา ผู้ไม่ทรงพิโรธ ตอนผู้ที่โกรธแล้ว ประชาชน ของรัฐ ราษฎรบูชาแล้ว. อาตมภาพขอถวาย อนุศาสน์ในที่ทุกสถาน จะเป็นในบ้าน ในป่า หรือที่ดอน ที่ลุ่มก็ตาม ข้าแต่มหาบพิตร ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ขอพระองค์อย่าทรงพิโรธ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า รฏฺสฺส ปูชิโต มีเนื้อความว่า พระราชาแบบนี้ เป็นผู้ที่ประชาชนของรัฐบูชาแล้ว. บทว่า สพฺพตฺถมนุสาสามิ ความว่า ข้าแต่มหาราช อาตมภาพเมื่ออยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง บรรดาบ้าน เป็นต้นเหล่านี้ ก็จะถวายอนุศาสน์พระองค์ ด้วยข้ออนุศาสน์ข้อนี้ นั่นแหละ คือว่า จะถวายอนุศาสน์ในที่ใดที่หนึ่ง บรรดาบ้าน เป็นต้น เหล่านี้ จะเป็นที่บ้านหลังเดียวก็ตาม สัตวโลกตัวเดียวก็ตาม บทว่า มาสุ กุชฺฌ รเถสภ ความว่า อาตมภาพ ถวายอนุศาสน์ พระองค์อยู่อย่างนี้นั่นแหละ ธรรมดาพระราชา ไม่ควรจะพิโรธ. เพราะ

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 7

เหตุไร? เพราะว่าธรรมดาพระราชาทั้งหลาย มีพระบรมราชโองการ เป็นอาวุธ คนมากมายถึงความสิ้นชีวิต ด้วยเหตุเพียงพระบรมราชโองการ ของพระราชาเหล่านั้น ผู้ทรงพิโรธแล้ว เท่านั้น.

ในทุกวันที่พระราชาเสด็จมา พระโพธิสัตว์ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ถวายอย่างนี้. พระราชามีพระราชหฤหัยเลื่อมใส ได้พระราชทานหมู่บ้านชั้นดีให้ ๑ ตำบล เก็บส่วยได้ ๑ แสนกหาปณะ แก่พระมหาสัตว์. พระมหาสัตว์ทูลปฏิเสธ. ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้อยู่ ณ ที่นั้นแห่งเดียว เป็นเวลา ๑๒ ปี ดำริว่า เราอยู่ที่นี้มานานนักหนาแล้ว เราจักไปเที่ยวจาริกชนบทก่อน แล้วจึงจะมา ไม่ทูลลาพระราชาเลย เรียกคนเฝ้าสวนมาสั่งว่า อาตมาจักไปจาริกชนบท แล้วจึงจะมา ขอให้ท่านทูลให้พระราชา ทรงทราบด้วย แล้วก็หลีกไป ถึงท่าเรือที่แม่น้ำคงคา. ที่ท่านั้นมีคนแจว เรือจ้าง ชื่อ อาวาริยปิตา. เขาเป็นคนพาล ไม่รู้จักคุณของผู้มีคุณเลย ทั้งไม่รู้จักอุบาย เพื่อตนเองด้วย. เขาสั่งคนที่ต้องการข้ามแม่น้ำคงคา ข้ามก่อน แล้วจึงขอค่าจ้างภายหลัง เมื่อทะเลาะกับคนที่ไม่ให้ค่าจ้าง ก็ใช้วิธีด่า และทุบตีกันเท่านั้น จึงจะได้ค่าจ้างมาก. พระศาสดาทรงเป็นผู้รู้ยิ่ง ได้ตรัสพระคาถาที่ ๓ ไว้ ทรงหมายถึง นายอาวาริยปิตานั้น ผู้มีลาภน้อย เป็นอันธพาลอย่างนี้ ว่า:-

ที่แม่น้ำคงคา ได้มีคนแจวเรือจ้าง ชื่อ อาวาริยปิตา เขาส่งคนข้ามฟากก่อน แล้วจึง

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 8

ขอรับค่าจ้างภายหลัง เพราะเหตุนั้น เขาจึงมีการทุ่มเถียงกัน และไม่เจริญด้วยโภคทรัพย์.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาวาริยปิตา ความว่า เขามีธิดา ชื่อว่า อาวาริยา ด้วยอำนาจของธิดานั้น เขาจึงกลายเป็นผู้มีชื่อว่า อาวาริยปิตา พ่อของอาวาริยา. บทว่า เตนสฺส ภณฺฑนํ ความว่า เพราะเหตุนั้น เขาจึงได้มีการทุ่มเถียงกัน. อีกอย่างหนึ่ง เขาได้มีการทุ่มเถียงกับคนๆ นั้น ที่ถูกขอค่าจ้างภายหลัง.

พระโพธิสัตว์เข้าไปหา คนแจวเรือจ้างคนนั้น แล้วพูดว่า ขอจงนำอาตมภาพ ข้ามฟากเถิด. เขาครั้นได้ฟังคำนั้นแล้ว จึงตอบว่า:-

ท่านสมณะ ท่านจักให้ค่าจ้างเรือผมเท่าไร.

พ. โยม ธรรมดาอาตมภาพ จักบอกความเจริญแห่งโภคทรัพย์ ความเจริญแห่งอรรถ และความเจริญแห่งธรรมให้.

คนแจวเรือจ้าง ครั้นได้ฟังคำนั้นแล้ว เข้าใจว่า สมณะรูปนี้จัก ให้อะไรแก่เราแน่นอน จึงนำท่านข้ามฟาก แล้วกล่าวว่าขอพระคุณเจ้า จงให้ค่าจ้างเรือแก่ผมเถิด. พระโพธิสัตว์นั้นตอบว่า ดีแล้วโยม เมื่อจะบอกความเจริญแห่งโภคะ แก่เขาก่อน จึงกล่าวคาถาว่า:-

ดูก่อนโยมชาวเรือ โยมจงขอค่าจ้างกะ คนที่ยังไม่ข้ามไปฝั่งโน้นก่อนสิ เพราะว่าจิตใจ

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 9

ของคนที่ข้ามฟากแล้ว เป็นอย่างหนึ่ง ของคนที่ต้องการจะข้ามฟาก ยังไม่ได้ข้าม ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกัน.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปารํ ความว่า ดูก่อนโยมชาวเรือ โยมจงขอค่าจ้าง กะคนที่ยังไม่ข้ามฟาก ยังยืนอยู่ฝั่งนี้เท่านั้น และรับเอาค่าจ้างที่ได้จากเขา เก็บไว้ในที่ๆ คุ้มครองรักษาแล้ว จึงนำคนส่งข้ามฟากภายหลัง อย่างนี้ โยมก็จักเจริญด้วยโภคทรัพย์. บทว่า อญฺโ หิ ติณฺณสฺส มโน ความว่า ดูก่อนโยมชาวเรือ เพราะว่าจิตใจของคนที่ข้ามฟากไปแล้ว เป็นอย่างหนึ่ง คือไม่อยากจะให้ จะไปถ่ายเดียว แต่ธรรมดาว่า ผู้ใดจะข้ามฟาก คือจะข้ามฝั่ง ได้แก่ ประสงค์จะไปฝั่งข้างหน้า ผู้นั้นอยากจะไป แม้เกินราคาค่าจ้างก็ให้ได้ ก็ใจของผู้ต้องการข้ามฟาก ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ดังที่กล่าวมานี้ เพราะฉะนั้น โยมควรขอกะผู้ยังไม่ข้ามฟากเท่านั้น ดังนี้ ชื่อว่า ความเจริญแห่งโภคทรัพย์ทั้งหลาย ของโยมก่อน ดังนี้แล.

คนแจวเรือได้ฟังคำนั้นแล้ว คิดว่า เราจักมีโอวาทนี้ก่อน แต่บัดนี้ สมณะนี้ จักให้อะไรอื่นแก่เราอีก. ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ได้ กล่าวกะเขาว่า โยม นี้เป็นความเจริญแห่งโภคทรัพย์ ของโยมก่อน บัดนี้ โยมจงฟังความเจริญแห่งอรรถ และธรรม เมื่อให้โอวาทเขา จึงได้กล่าว คาถาไว้ว่า:-

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 10

อาตมา จะตามสอนโยมทุกหนทุกแห่ง ทั้งในบ้าน ทั้งในป่า ทั้งในที่ลุ่ม และที่ดอน ดูก่อน โยมชาวเรือ ขอโยมจงอย่าโกรธนะ.

พระโพธิสัตว์ ครั้นบอกความเจริญแห่งอรรถ และธรรม ด้วยคาถานี้ แก่เขาแล้ว จึงกล่าวว่า นี้เป็นความเจริญแห่งอรรถ และความเจริญแห่งธรรมของโยม. แต่เขาเป็นคนดุ ไม่สำคัญโอวาทนั้นว่า เป็นอะไร จึงกล่าวว่า ข้าแต่ท่านสมณะ นี้หรือ คือค่าจ้างเรือที่ท่านให้ผม

พระโพธิสัตว์ ถูกแล้วโยม.

คนแจวเรือ ผมไม่มีงานตามค่าจ้างนี้.

พระโพธิสัตว์ โยมนอกจากโอวาทนี้แล้ว อาตมาไม่มีอย่างอื่น

คนแจวเรือกล่าวว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไร? ท่านจึงลงเรือผม แล้วผลักดาบสให้ล้มลง ที่ฝั่งแม่น้ำคงคา นั่งทับอกแล้วตบปากท่าน ทีเดียว.

พระศาสดาครั้นตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดาบสได้ถวายโอวาทพระราชา แล้วจึงได้รับพระราชทานหมู่บ้านชั้นดี ในราชสำนัก แต่ได้บอกโอวาทนั้น นั่นเอง แก่คนแจวเรือจ้างอันธพาล กลับประสบ การตบปากด้วยประการ ดังนี้. เพราะฉะนั้น ผู้จะให้โอวาทควรให้แก่คน

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 11

ที่เหมาะสม ไม่ควรให้แก่คนที่ไม่เหมาะสม ดังนี้แล้ว ทรงเป็นผู้ตรัสรู้ยิ่งแล้ว ลำดับต่อจากนั้น ได้ตรัสพระคาถาว่า :-

พระราชาได้พระราชทาน หมู่บ้านชั้นดีแก่ดาบส เพราะอนุศาสนีบทใด เพราะอนุศาสนี บทนั้นนั่นเอง คนแจวเรือได้ตบปากดาบส.

เมื่อคนแจวเรือนั้น กำลังตบอยู่ นั่นแหละ. ภรรยาถืออาหารมา เห็นดาบสเข้า จึงบอกว่า พี่ ดาบสนี้ เป็นชีต้นประจำราชตระกูล พี่ อย่าตีท่าน เขาโกรธแล้วพูดว่า แกนี่แหละ ไม่ให้ข้าตีดาบสขี้โกงคนนี้ แล้วลุกขึ้นตบภรรยานั้น ให้ล้มลงไป. เมื่อเป็นเช่นนั้น ถาดข้าวก็ตกแตก และเด็กในท้องของภรรยาท้องแก่ ได้คลอดออกตกลงที่พื้นดิน. ครั้นนั้น มนุษย์ทั้งหลาย จึงพากันมาล้อมดู แล้ว จับเขามัดด้วยความเข้าใจว่า เป็นโจรฆ่าคน แล้วนำไปมอบถวายพระราชา. พระราชาทรงวินิจฉัยแล้ว ลงพระราชอาญาแก่เขา.

พระศาสดาทรงเป็นผู้ตรัสรู้ยิ่งแล้ว เมื่อจะทรงประกาศ ข้อความนั้น จึงได้ตรัสพระคาถาสุดท้ายไว้ว่า:-

ถาดข้าวก็แตก ภรรยาก็ถูกตบ และเด็กในครรภ์ ก็ตกลงที่พื้นดิน เขาไม่อาจจะให้ประโยชน์งอกเงยขึ้น เพราะโอวาทนั้น เหมือน

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 12

เนื้อไม่อาจจะให้ประโยชน์เกิดขึ้น เพราะทองคำ ฉะนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภตฺตํ ภินฺนํ ความว่า ถาดข้าวก็ตกแตกแล้ว. บทว่า หตา ได้แก่ ตบแล้ว. บทว่า ฉมา ได้แก่ ที่พื้นดิน. บทว่า มิโคว ชาตรูเปน มีอธิบายว่า เนื้อเหยียบย่ำทอง เงิน หรือแก้วมุกดา แก้วมณี เป็นต้น ไปบ้าง นอนที่บ้าง ไม่สามารถจะใช้ทองคำนั้น เพิ่มพูน คือให้เกิดประโยชน์แก่ตนได้ ฉันใด คนอันธพาลนั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถึงฟังโอวาทที่บัณฑิตให้แล้ว ก็ไม่ สามารถเพิ่มพูน คือ ให้เกิดประโยชน์แก่ตนได้.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้ มาแล้ว ทรงประกาศสัจจะแล้ว ทรงประชุมชาดก ในเวลาจบสัจธรรม ภิกษุนั้นดำรงอยู่แล้ว ในโสดาปัตติผล. คนแจวเรือครั้งนั้น คือ คนแจวเรือเวลานี้นั่นเอง พระราชา ได้แก่ พระอานนท์ ส่วนดาบส ได้แก่เราตถาคต ฉะนี้แล.

จบอรรถกถา อาวาริยชาดกที่ ๑