พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. นันทิยมิคราชชาดก ว่าด้วยพระยาเนื้อนันทิยะ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  24 ส.ค. 2564
หมายเลข  35841
อ่าน  522

[เล่มที่ 59] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 104

๑๐. นันทิยมิคราชชาดก

ว่าด้วยพระยาเนื้อนันทิยะ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 59]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 104

๑๐. นันทิยมิคราชชาดก

ว่าด้วยพระยาเนื้อนันทิยะ

[๘๙๙] ข้าแต่พราหมณ์ ถ้าหากท่านไปป่าอัญชัน เมืองสาเกตไซร้ ท่านจงบอกลูกผู้เกิดแต่อก ของฉันชื่อ นันทิยะ ว่า พ่อแม่ของเจ้าแก่แล้ว และพวกเขาอยากจะพบเจ้า.

[๙๐๐] เรากินอาหาร กินน้ำ และกินหญ้าของพระราชาแล้ว ข้าแต่ท่านพราหมณ์ เราจะไม่ พยายามกินอาหาร พระราชทานนั้นเปล่าๆ.

[๙๐๑] เราจักเอียงข้างให้พระราชา ผู้ทรงมีธนู ในพระหัตถ์ ทรงยิงเมื่อใด เมื่อนั้น เราจะพ้นภัย เป็นสุขใจ คงเห็นแม่บ้าง.

[๙๐๒] ในเมือง ใกล้ที่ประทับของพระเจ้าโกศล ได้มีสัตว์ ๔ เท้า มีรูปร่างงดงาม โดยชื่อว่า นันทิยะ.

[๙๐๓] พระเจ้าโกศล ทรงคาดศรแล้ว ได้เสด็จ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 105

มาที่ป่า พระราชทานชื่อ อัญชัน แล้วทรงโก่งธนู เพื่อจะทรงยิงเรานั้น.

[๙๐๔] ปางเมื่อเราเอียงข้างให้ พระราชาพระองค์นั้น ผู้ทรงมีศรในพระหัตถ์ ทรงยิงเราพ้นจากภัยแล้ว มีความสุขใจ ได้มาพบแม่.

จบ นันทิยมิคราชชาดกที่ ๑๐

อรรถกถานันทิยมิคราชชาดกที่ ๑๐

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุผู้เลี้ยงมารดา จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า สเจ พฺราหฺมณ คจฺฉสิ ดังนี้.

ได้ยินว่า พระศาสดาตรัสถามภิกษุนั้นว่า จริงหรือภิกษุ ได้ทราบว่า เธอเลี้ยงคฤหัสถ์หรือ? เมื่อเธอกราบทูลว่า จริงพระพุทธเจ้าข้า เมื่อพระองค์ตรัสถามว่า เป็นอะไร กับเธอ? เมื่อเธอทูลว่า เป็นมารดาบิดาของข้าพระองค์ พระเจ้าข้า จึงตรัสว่า ดีแล้ว ดีแล้วภิกษุ เธอรักษาวงศ์ของโบราณกบัณฑิตทั้งหลายไว้ เพราะว่าโบราณกบัณฑิตทั้งหลาย แม้เกิดในกำเนิดเดียรัจฉาน ก็ได้ให้แม้ชีวิตแก่มารดาบิดาทั้งหลาย แล้วได้ทรงนำเอาเรื่อง ในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าโกศล ครองราชสมบัติ อยู่ในสาเกตนคร แคว้นโกศล พระโพธิสัตว์เกิดในกำเนิดเนื้อ เติบโตแล้วมีชื่อว่า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 106

นันทิยมฤค ถึงพร้อมด้วยศีล และอาจาระ เลี้ยงมารดาบิดา. ครั้งนั้น พระเจ้าโกศลได้เป็นกษัตริย์ ที่มีพระทัยฝักใฝ่กับการล่าเนื้อ เท่านั้น. ก็พระองค์ไม่โปรดให้คนทั้งหลาย ทำกสิกรรม เป็นต้น ทรงมีบริวารมาก เสด็จไปล่าเนื้อทุกวัน. คนทั้งหลายจึงประชุมปรึกษากันว่า พ่อคุณเอ๋ย พระราชาพระองค์นี้ ทรงทำการงดงานของพวกเรา แม้การครองเรือน ก็จะล่มจม ถ้ากระไรแล้ว พวกเราควรล้อมสวนป่าอัญชัน สร้างประตู ขุดสระโบกขรณีไว้ปลูกต้นไม้ แล้วมีมือถือไม้ค้อน และกระบอง เป็นต้น เข้าป่าไปฟาดพุ่มไม้ ต้อนเนื้อมาล้อมไว้ ให้เข้าอยู่คอกในสวน เหมือนวัว แล้วปิดประตูไว้ จึงไปกราบทูลพระราชา ให้ทรงทำงานของพระองค์. ทุกคนมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า นั้นเป็นอุบายที่ดีในเรื่องนี้ พากันจัดเตรียมสวนไว้ แล้วเข้าป่าไป ล้อมสถานที่ไว้ประมาณโยชน์หนึ่ง. ขณะนั้น เนื้อชื่อ นันทิยะตัวหนึ่ง พาพ่อแม่ไปนอนอยู่ที่พื้นดิน ในป่าดอนเล็กๆ แห่งหนึ่ง. คนทั้งหลาย มีมือถือโล่ และอาวุธ เป็นต้น พากันล้อมดอนนั้น โดยเอาแขนเกี่ยวแขนกัน คือจับมือกัน. ได้มองเห็นเนื้อฝูงหนึ่ง จึงพากันเข้าไปดอนนั้น. เนื้อนันทิยะ เห็นพวกเขาแล้ว คิดว่า วันนี้เราควรจะสละชีพ ให้ชีวิตเป็นทาน เพื่อพ่อแม่ แล้วลุกขึ้นไหว้พ่อแม่ แล้วขอขมา พ่อแม่ว่า ข้าแต่พ่อและแม่ ถ้าคนเหล่านี้ เข้ามาดอนนี้แล้ว จักเห็นพวกเราทั้ง ๓ ท่านทั้ง ๒ คงอยู่ได้ ด้วยอุบายอย่างหนึ่ง การอยู่ได้ชีวิตของท่าน เป็นสิ่งประเสริฐ ลูกจักให้ทานชีวิต เพื่อพ่อ เพื่อแม่ พอคนทั้งหลาย ยืนที่ชายดอนฟาดพุ่มไม้ เท่านั้น ก็จะออกไป ครานั้นพวกเขาจะเข้าใจ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 107

ว่า ในดอนเล็กๆ นี้ คงจักมีเนื้อตัวเดียวเท่านั้น ไม่พากันเข้าไปดอน ขอพ่อแม่จงอย่าประมาทเถิด. ดังนี้แล้ว ได้เป็นผู้เตรียมพร้อม จะไปยืนอยู่แล้ว. พอคนทั้งหลาย ยืนที่ชายดอนโห่แล้ว ตีพุ่มไม้เท่านั้น เขาก็ออกจากดอนนั้นไป. คนเหล่านั้นเข้าใจว่า ในดอนนี้ คงจักมีเนื้อตัวเดียว เท่านี้แหละ จึงไม่พากันเข้าดอน. ครั้งนั้น นันทิยะได้ไปเข้าอยู่ ในระหว่างเนื้อทั้งหลาย. คนทั้งหลายได้พากันต้อนเนื้อทุกตัว เข้าสวนแล้ว กันประตูไว้ ทูลให้พระราชาทรงทราบแล้ว ไปสู่ที่ของตนๆ. ต่อแต่นั้นมา พระราชาก็เสด็จโดยลำพังพระองค์เอง หรือทรงส่งอำมาตย์คนหนึ่งไป นำเอาเนื้อมาด้วย พระดำรัสว่า เจ้าจงไปยิงเนื้อตัวหนึ่ง แล้วเอามันมา ดังนี้. จึงเนื้อทั้งหลาย พากันตั้งวาระกันไว้. เนื้อตัวที่ถึงวาระ จะยืนอยู่ที่เหมาะสมแห่งหนึ่ง. คนทั้งหลายจะยิงเนื้อนั้น แล้วเอามา. ฝ่ายนันทิยะ ก็ดื่มน้ำในสระโบกขรณี และกินหญ้าในสวนนั้นตลอดเวลา ที่วาระของเขายังไม่ถึง. ครั้งนั้น โดยเวลาล่วงไปหลายวัน พ่อแม่ของ เขาอยากจะพบเขา คิดว่านันทิยะมฤคราช ลูกเรามีพลังเหมือนช้าง สมบูรณ์ด้วยกำลัง ถ้าหากยังมีชีวิตอยู่ คงจักกระโดดข้ามรั้วมาเยี่ยม พวกเราแน่นอน เราทั้งหลาย จักส่งข่าวไปหาเขา แล้วยืนที่ใกล้ทาง เห็นพราหมณ์คนหนึ่ง จึงถามเขาด้วยคำพูดของตนว่า พ่อคุณ ท่านจะไปไหน? เมื่อเขาตอบว่า เมืองสาเกต ดังนี้แล้ว เมื่อจะส่งข่าวไปหาลูก จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า:-

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 108

ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ถ้าหากท่านไป ป่าอัญชัน เมืองสาเกตไซร้ ท่านจงบอกลูก ผู้เกิดแต่อกของฉัน ชื่อ นันทิยะ ว่าพ่อแม่ของเจ้าแก่แล้ว และพวกเขาอยากจะพบเจ้า.

คาถานั้นมีเนื้อความว่า ท่านพราหมณ์ ถ้าหากท่านไปเมือง สาเกตไซร้. ในเมืองสาเกต มีสวนชื่อว่า อัญชนวัน ในสวนนั้น มีเนื้อชื่อว่า นันทิยะ ผู้เป็นบุตรของฉัน ท่านพึงบอกเขาว่า มารดาบิดาของเจ้าแก่แล้ว อยากจะพบเจ้า ตลอดเวลาที่ยังไม่ตาย.

เขารับคำว่า ดีแล้ว ไปถึงเมืองสาเกต แล้วรุ่งขึ้นก็เข้าสวนถามว่า ใครชื่อว่า นันทิยมฤค. เนื้อมาแล้ว ยืนอยู่ใกล้พราหมณ์นั้น บอกว่า ข้าพเจ้า

พราหมณ์บอกเรื่องนั้นให้ทราบแล้ว. นันทิยะได้ยินคำนั้นแล้ว เมื่อจะประกาศเนื้อความนี้ว่า ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ข้าพเจ้าจะต้องไป แต่จะไม่กระโดดข้ามรั้วไป เพราะข้าพเจ้ากินเหยื่อกินน้ำและหญ้า ที่เป็นของพระราชาแล้ว เหยื่อเป็นต้นนั้น ตั้งอยู่ในฐานะเป็นหนี้ สำหรับข้าพเจ้า ทั้งข้าพเจ้า ก็อยู่ในท่ามกลางหมู่เนื้อเหล่านี้ มานานแล้ว. ขึ้นชื่อว่า การไปโดยไม่ได้แสดงกำลังของตน ไม่ทำความสวัสดีให้พระราชานั้น และเนื้อทั้งหลายเหล่านั้น ไม่สมควรแก่ข้าพเจ้า แต่เมื่อถึงวาระของตนแล้ว ข้าพเจ้าจักทำความสวัสดี แก่ท่านเหล่านั้น สุขสบายแล้ว จึงจะมาดังนี้ ได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า :-

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 109

เรากินอาหารกินน้ำ และหญ้าของพระราชาแล้ว ข้าแต่ท่านพราหมณ์ เราจะไม่พยายาม กินอาหาร พระราชทานนั้นเปล่าๆ เราจักเอียงข้างให้พระราชา ผู้ทรงมีธนูในพระหัตถ์ ทรงยิงเมื่อใด เมื่อนั้น เราจะพ้นภัย เป็นสุขใจ คงเห็นแม่บ้าง.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิวาปานิ ได้แก่ เหยื่อที่ล้อมไว้ในที่นั้นๆ บทว่า ปานโภชนํ ได้แก่ น้ำ และหญ้าที่เหลือ. บทว่า ตํ ราชปิณฺฑํ ความว่า น้ำ และหญ้านั้น ชื่อว่า ปิณฑะ เพราะหมายความว่า หาเอาของหลวงมารวมไว้. บทว่า อวภุตฺตุํ ความว่า เพื่อกินเสียเปล่าๆ. อธิบายว่า เนื้อนันทิยะ กล่าวว่า ผู้กินแล้ว เมื่อไม่ยังราชกิจให้สำเร็จ ชื่อว่า กินเหยื่อนั้นเสียเปล่า ข้าพเจ้านั้น ไม่พยายามจะกินให้เสียเปล่าอย่างนั้น. คำว่า พฺราหฺมณ ในคำว่า พฺราหฺมณมุสฺสเห เป็นคำร้องเรียก ส่วน อักษรกล่าวไว้ ด้วยอำนาจบทสนธิ การเชื่อมบท. บทว่า โอทหิสฺสามหํ ปสฺสํ ขุรปาณิสฺส ราชิโน ความว่า ข้าแต่พราหมณ์ เมื่อถึงวาระของตนแล้ว ข้าพเจ้าจักออกจากฝูงเนื้อ มายืนอยู่ที่เหมาะสมแห่งหนึ่ง กราบทูลพระราชา ผู้ทรงผูกสอดลูกธนูแล้ว เสด็จมาว่า ขอเดชะ ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ จงทรงยิงข้าพระพุทธเจ้า แล้วเอียงข้าง ที่อ้วนพีของตนให้เป็นเป้า. บทว่า สุขิโต มุตฺโต ความว่า เมื่อนั้นข้าพเจ้าจะเป็นผู้พ้น

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 110

แล้วจากภัย คือ ความตาย มีความสุข ไม่มีทุกข์ พระราชาทรงอนุญาตแล้ว คงเห็นแม่บ้าง.

พราหมณ์ได้ฟังคำนั้นแล้ว ก็หลีกไป ในเวลาต่อมา ในวันที่เป็นวาระของเนื้อนันทิยะ. พระราชาได้เสด็จมายังสวน พร้อมด้วยข้าราชบริพารจำนวนมาก. ฝ่ายเนื้อมหาสัตว์ ได้ยืนอยู่ ณ ที่เหมาะสมแห่งหนึ่ง. พระราชาทรงโก่งลูกธนู ด้วยหมายพระทัยว่า เราจักยิงเนื้อ. มหาสัตว์ไม่หนีไปเหมือนสัตว์ทั้งหลาย ที่ถูกมรณภัยคุกคามแล้ว หนีไป เป็นเหมือนไม่มีภัย ทำเมตตา ให้เป็นปุเรจาริกแล้ว ได้ยืนเอียงข้าง ที่อ้วนพีให้เป็นเป้า ไม่กระดิกเลย. พระราชาไม่อาจปล่อยลูกศรออกไปได้ ด้วยอำนาจของเมตตานั้น. พระมหาสัตว์จึงทูลว่า ข้าแต่มหาราช พระองค์ ทรงปล่อยลูกศรไม่ออกหรือ. ขอพระองค์จงทรงปล่อยเถิด.

ร. ดูก่อนมฤคราช เราไม่สามารถปล่อยออกไปได้.

ม. ข้าแต่มหาราช ถ้าเช่นนั้น พระองค์ก็ทรงรู้คุณธรรม ของผู้มีคุณธรรม. ครั้งนั้น พระราชาทรงเลื่อมใสพระโพธิสัตว์ ทรงทิ้งธนูแล้ว ตรัสว่า แม้ท่อนไม้ท่อนนี้ ไม่มีจิตใจ ก็ยังรู้คุณธรรมของท่านก่อน ฝ่ายข้าพเจ้าเป็นมนุษย์ มีจิตใจหารู้ไม่ ขอจงให้อภัยฉัน ฉันให้อภัยเจ้า.

ม. ข้าแต่มหาราช พระองค์ทรงพระราชทานอภัย แก่ข้าพระพุทธเจ้าก่อน ส่วนฝูงเนื้อในอุทยานนี้ จักทำอย่างไร?

ร. แม้สัตว์เหล่านี้ เราก็ให้อภัย

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 111

มหาสัตว์ครั้นให้พระราชทานอภัย แก่เนื้อในป่า นกที่บินอยู่ในอากาศ และปลาที่แหวกว่ายอยู่ในน้ำทุกตัว อย่างนี้แล้ว ได้ให้พระราชา ทรงประดิษฐานอยู่ในศีล ๕ แล้วทูลว่า ข้าแต่มหาราช ธรรมดาพระราชา ควรทรงละการลุอำนาจอคติ ไม่ทรงยังทศพิธราชธรรม ให้กำเริบ ครองราชย์โดยธรรม โดยสม่ำเสมอ ดังนี้. พระมหาสัตว์ได้แสดง ราชธรรมที่กล่าวไว้อย่างนี้ โดยผูกเป็นคาถาไว้ทีเดียวว่า :-

ขอพระองค์ จงทรงตรวจดูกุศลธรรมเหล่านั้น ที่สถิตอยู่แล้ว ในพระองค์ คือ ทาน ศีล การ บริจาค ความซื่อตรง ความอ่อนโยน ความเคร่งครัด ความไม่พิโรธ การไม่เบียดเบียน ความอดทน ความไม่ผิดพลาด.

ต่อแต่นั้นไป ปีติ และโสมนัส จะเกิดแก่พระองค์หาน้อยไม่ ดังนี้ แล้วพักอยู่ในราชาสำนัก ๒ - ๓ วัน จึงทูลว่า ข้าแต่พระมหาราช ขอพระองค์ จงทรงโปรดให้ราชบุรุษ ตีสุวรรณเภรี เดินไปประกาศ การพระราชาทานอภัย แก่สรรพสัตว์ ในพระนคร อย่าได้ทรงประมาท ดังนี้ แล้วจึงไปเยี่ยมพ่อแม่. คาถาดังต่อไปนี้ เป็นคาถาของท่านผู้รู้ยิ่งแล้ว.

ในเมือง ใกล้ที่ประทับ ของพระเจ้าโกศล ได้มีสัตว์ ๔ เท้า มีรูปร่างงดงาม โดยชื่อว่า

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 112

นันทิยะ พระเจ้าโกศลทรงคาดศรแล้ว ได้เสด็จมาที่ป่าพระราชทาน ชื่อ อัญชันแล้ว ทรงโก่งธนู เพื่อจะทรงยิงเรานั้น. ปางเมื่อเราเอียงข้าง ให้พระราชาพระองค์นั้น ผู้ทรงมีศรในพระหัตถ์ทรงยิง เราพ้นจากภัยแล้ว มีความสุขใจ ได้มาพบแม่.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โกสลสฺส นิเกตเว ความว่า ใกล้ราชสำนัก คือ ที่ประทับของพระเจ้าโกศล อธิบายว่า ในป่าใกล้ราชสำนักนั้น. บทว่า ทายสฺมึ ความว่า ในสวนที่พระราชทานเพื่อประโยชน์ ให้เป็นที่อยู่ของเนื้อทั้งหลาย. บทว่า อารชฺชํ กตฺวาน มีเนื้อความว่า ยกขึ้นรวมเข้ากันกับสาย คือ โก่งธนู. บทว่า สนฺธาย ความว่า ทรงพาด คือประกอบ คือลูกศร. บทว่า โอทหึ ความว่า เอียงให้ คือ ตั้งให้เป็นเป้า. คำว่า มาตรํ ทฏฺฐุมาคโต นี้เป็นเพียงหัวข้อเทศนา อธิบายว่า ข้าพเจ้าครั้นแสดงธรรม ถวายพระราชาแล้ว ได้ทูลพระราชา ให้ตีสุวรรณเภรี ประกาศเพื่อต้องการ พระราชทานอภัย แก่มวลสัตว์แล้ว จึงได้มาหาพ่อแม่.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้ มาประกาศสัจธรรมทั้งหลาย แล้วทรงประมวลชาดกไว้ ในที่สุดแห่งสัจธรรม ภิกษุผู้เลี้ยง

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 113

มารดาบิดา ดำรงอยู่แล้ว ในโสดาปัตติผล พ่อแม่ คือ พระยามฤค ในครั้งนั้น ได้แก่ ตระกูลมหาราช พราหมณ์ ได้แก่ พระสารีบุตร พระราชา ได้แก่ พระอานนท์ ส่วนนันทิยมฤคราช ได้แก่ เราตถาคต ฉะนี้แล.

จบอรรถกถา นันทิยมิคราชชาดกที่ ๑๐

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ :-

๑. อาวาริยชาดก ๒. เสตเกตุชาดก ๓. ทรีมุขชาดก ๔. เนรุชาดก ๕. อาสังกชาดก ๖. มิคาโลปชาดก ๗. สิริกาลกรรณิชาดก ๘. กุกกุฏชาดก ๙. ธัมมัทธชชาดก ๑๐. นันทิยมิคราชชาดก.

จบ อาวาริยวรรคที่ ๑