พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. ขุรปุตตชาดก ว่าด้วยทําตนให้ไร้ประโยชน์

 
บ้านธัมมะ
วันที่  24 ส.ค. 2564
หมายเลข  35844
อ่าน  468

[เล่มที่ 59] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 114

๒. ขุรปุตตวรรค

๑. ขุรปุตตชาดก

ว่าด้วยทําตนให้ไร้ประโยชน์


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 59]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 114

๒. ขุรปุตตวรรค

๑. ขุรปุตตชาดก

ว่าด้วยทำตนให้ไร้ประโยชน์

[๙๐๕] ได้ทราบว่าเป็นความจริง ที่บัณฑิตทั้งหลาย พูดถึงแพะว่า โง่อย่างนี้ ดูเถิดสัตว์ที่โง่ ไม่รู้จักกรรมที่ควรทำในที่ลับ และกรรมที่ควรทำในที่แจ้ง.

[๙๐๖] สหายเอ๋ย แกนั่นแหละ โง่ ดูก่อนเจ้าลูกลา แกจงรู้ตัวเถิด แกถูกเชือกรัดคอไว้ มีริมฝีปากเบี้ยว มีเชือกมัดปากไว้.

[๙๐๗] สหายเอ๋ย ความโง่ แม้อย่างอื่นของแก คือ ที่แกถูกปลดจากแอกแล้ว แต่ไม่หนี สหายเอ๋ย พระเจ้าเสนกะ ที่แกลากไปนั่นแหละ โง่กว่าแก.

[๙๐๘] สหายอชราชเอ๋ย ข้าโง่เพราะเหตุใดหนอ เหตุนั้นแกก็รู้ แต่พระเจ้าเสนกะโง่ เพราะเหตุใด เจ้าถูกข้าถามแล้ว จงบอกเหตุนั้นแก่ข้า.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 115

[๙๐๙] ผู้ใดได้มนต์ชั้นยอดแล้ว จักให้แก่ภรรยา เพราะการให้นั้น ผู้นั้นจะสละตนทิ้งเสียและเขาก็จักไม่มีภรรยาคนนั้น.

[๙๑๐] ข้าแต่จอมนรชน ผู้เช่นกับด้วยพระองค์ ทรงทอดอาลัยตน ไม่คบหาของรักทั้งหลาย ว่า สิ่งนี้เป็นที่รักของเรา ตนเท่านั้นประเสริฐกว่า สิ่งที่ประเสริฐอย่างยิ่งทีเดียว ผู้มีตนสั่ง สมบุญไว้แล้ว จะพึงได้หญิงที่รักในกายหลัง.

จบ ขุรปุตตชาดกที่ ๑

อรรถกถาขุรปุตตวรรคที่ ๒

อรรถกถาขุรปุตตชาดกที่ ๑

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภ ภิกษุผู้ถูกภรรยาเก่าโลมเล้า จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า สจฺจํ กิเรวมาหํสุ ดังนี้.

ความย่อว่า พระศาสดาตรัสถามภิกษุนั้นว่า จริงหรือภิกษุ ได้ทราบว่า เธอกระสันอยากสึก เมื่อเธอทูลว่า จริงพระเจ้าข้า เมื่อถูก

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 116

ตรัสถามอีกว่า เธอกระสันอยากสึก เพราะเหตุอะไร? เมื่อเธอทูลว่า เพราะภรรยาเก่า พระเจ้าข้า. จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ หญิงนี้ ทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เธอ ไม่เฉพาะในบัดนี้ เท่านั้น แม้ในกาลก่อน เธอกำลังจะกระโดดเข้าไฟตาย เพราะอาศัยหญิงนี้ แต่อาศัยบัณฑิตจึงได้ชีวิตไว้ ดังนี้ แล้วจึงทรงนำเอา เรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-

ในอดีตกาล เมื่อพระราชาทรงพระนามว่า เสนกะ ครองราชสมบัติ อยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ให้พระองค์ ทรงทำความเคารพ. ครั้งนั้น พระเจ้าเสนกะ ทรงมีความรักใคร่กับด้วยนาคราชตัวหนึ่ง. ได้ทราบว่า นาคราชนั้น ออกจากนาคพิภพ เที่ยวหาจับเหยื่อบนบกกิน. ครั้งนั้น เด็กชาวบ้านเห็นมันแล้ว บอกกันว่านี้ งู แล้วพากันเอาก้อนดิน และท่อนไม้ เป็นต้นตี. พระราชาเสด็จสำราญ ที่พระราชอุทยาน ทรงเห็นแล้ว ตรัสถามว่า เด็กเหล่านั้นทำอะไรกัน? ทรงทราบว่า พากันฆ่างูตัวหนึ่ง. จึงตรัสสั่งว่า พวกเอ็งอย่าฆ่า จงให้มันหนีไป แล้วทรงให้นาคราชนั้น หนีไปแล้ว. นาคราชได้ชีวิต แล้วได้ไปยังนาคพิภพ ถือเอารัตนะมากมาย ครั้นเวลาเที่ยงคืน จึงเข้าไปยังพระที่นั่ง สำหรับพระราชาบรรทม ทูลเกล้าถวายรัตนะเหล่านั้น แล้วทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าอาศัยพระองค์ แล้วได้ชีวิตมา แล้วได้ทำมิตรภาพ กับพระราชา จึงไปเฝ้าพระราชาบ่อยๆ. นาคราชนั้น ได้ตั้งนาคมาณวิกานางหนึ่ง ผู้ไม่อิ่มในกามคุณ ในบรรดานางนาคมาณวิกา

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 117

ทั้งหลายของตนไว้ ประจำราชสำนัก เพื่อประโยชน์แก่การรักษา. เขาทูลว่า เมื่อใดพระองค์ ไม่ทรงเห็นนาคมาณวิกาคนนั้น เมื่อนั้นพระองค์ พึงทรงร่ายมนต์บทนี้ แล้วได้ถวายมนต์บทหนึ่งแด่พระองค์. อยู่มาวันหนึ่ง พระองค์เสด็จพระราชอุทยาน ทรงเล่นน้ำในสระโบกขรณี กับนางนาคมาณวิกา. นางนาคมาณวิกาเห็นงูน้ำตัวหนึ่ง จึงเปลี่ยนแปลงอัตตภาพเป็นงู เสพอสัทธรรมกับงูตัวนั้น. พระราชา เมื่อไม่ทรงเห็นนาคมาณวิกานั้น ทรงสงสัยว่า เธอไปไหนหนอ จึงทรงร่ายมนต์ แล้ว ทรงเห็นนางกำลังทำอนาจาร จึงทรงตีด้วยซีกไม้ไผ่. นางโกรธ จึงออกจากพระราชอุทยานนั้น ไปยังนาคพิภพ ถูกนาคราชถามว่า เหตุไฉนเจ้าจึงมา? ทูลว่า สหายของพระองค์ตีหลัง คือเฆี่ยนหม่อมฉัน ผู้ไม่เชื่อถือถ้อยคำของตน แล้วแสดงการตีให้ดู. นาคราช ไม่ทราบตามความจริงเลย จึงเรียกนาคมาณพ ๔ ตนมา ส่งไปโดยดำรัสว่า สูเจ้าทั้งหลาย จงไป จงพากันเข้าไปยังพระที่นั่งบรรทมของ พระเจ้าเสนกะ แล้วทำลายพระที่นั่งนั้น ให้เป็นเหมือนแกลบ ด้วยลม จมูกการพ่นพิษ นั่นเอง. นาคมาณพเหล่านั้น พากันไปแล้ว ได้เข้าไปยังห้อง ในเวลาที่พระราชาทรงบรรทม บนพระยี่ภู่ที่สง่างาม. ในเวลาที่นาคมาณพเหล่านั้น เข้าไปนั่นเอง พระราชาได้ตรัสถามพระราชเทวีว่า ดูก่อนน้องนางผู้เจริญ เธอรู้ไหม ที่ที่นางนาคมาณวิกาไป? พระราชเทวีทูลว่า หม่อมฉันไม่รู้เพคะ. พระราชาตรัสว่า วันนี้นาคมาณวิกา

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 118

นั้น ได้ละอัตตภาพของตน แล้วทำอนาจารกับงูน้ำตัวหนึ่ง ในเวลาเล่นน้ำ ในสระโบกขรณีของเรา เมื่อเป็นเช่นนั้น ฉันจึงได้เอาซีกไม้ไผ่ ตีเขา เพื่อต้องการให้สำเนียกว่า เจ้าอย่าทำอย่างนี้. เขาไปยังนาคพิภพ คงบอกอะไรอย่างอื่น แก่สหายของเรา แล้วทำลายมิตรภาพเสีย ภัยจักเกิดขึ้นแก่เรา. นาคมาณพทั้งหลาย ได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงพากันกลับออกไป จากพระที่นั่งบรรทมนั้น แล้วไปยังนาคพิภพ ทูลเนื้อความนั้น แก่นาคราช. ท้าวเธอถึงความสังเวช แล้วได้เสด็จมายัง พระที่นั่งบรรทมของพระราชา ทูลให้ทราบเนื้อความนั้น ขอขมาพระองค์ แล้วได้ถวายมนต์ ชื่อว่า สรรพรุตชนนะ คือ มนต์รู้เสียงร้องของสัตว์ทุกชนิด โดยมุ่งหมายว่า นี้เป็นทัณฑกรรมของเรา แล้วทูลว่า ข้าแต่มหาราช มนต์นี้ หาค่าบ่มิได้ ถ้าหากพระองค์ จะได้ประทานมนต์นี้ แก่ผู้อื่นไซร้ ครั้นทรงประทานแล้ว ต้องทรงกระโดดเข้ากองไฟสวรรคต. พระราชา ทรงรับคำว่า ดีแล้ว. ต่อแต่นั้นมา แม้เสียงมดแดง พระองค์ก็ทรงทราบ. วันหนึ่งเมื่อพระองค์ประทับนั่ง ที่ท้องพระโรง เสวยของเคี้ยว จิ้มน้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำผึ้ง น้ำอ้อยหยดหนึ่ง และขนมชิ้นหนึ่ง ตกลงที่พื้น. มดแดงตัวหนึ่ง เห็นหยดน้ำผึ้ง เป็นต้นนั้น เที่ยวร้องบอกกันว่า ถาดน้ำผึ้งของหลวง แตกที่ท้องพระโรง หม้อน้ำอ้อย หม้อขนมคว่ำ ท่านทั้งหลาย จงกินน้ำผึ้ง น้ำอ้อย และขนม. พระราชาทรงสดับเสียงร้องบอกของมดแดงแล้ว ทรงพระสรวล. พระราชเทวีประทับที่ใกล้เคียงพระราชา ทรงดำริว่า

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 119

พระราชาทรงเห็นอะไรหนอ จึงทรงพระสรวล? เมื่อพระราชานั้น เสวยของเคี้ยวทรงสรงสนานแล้ว ประทับนั่งบนพระราชบัลลังก์ แมลงวันตัวผู้พูดกับแมลงวันตัวเมีย ตัวหนึ่งว่ามาเถิดน้องเอ๋ย พวกเรา มาอภิรมย์กัน ด้วยความยินดี ด้วยกิเลส. ลำดับนั้น แมลงวันตัวเมียพูดกับแมลงวันตัวผู้นั้นว่า คอยก่อนเถอะพี่นาย นัดนี้ ราชบุตรจะนำ ของหอมมาถวายพระราชา เมื่อพระองค์ทรงลูบไล้ผงของหอม จักตกลงแทบบาทมูล ฉันจักร่อนถลาไป ณ ที่นั้น แล้วจะมีกลิ่นหอม ต่อจากนั้น เราก็จักนอนอภิรมย์กัน เบื้องพระปฤษฎางค์ของพระราชา. พระราชา ทรงสดับเสียงแม้นั้นแล้ว ก็ทรงพระสรวล. ฝ่ายพระเทวีก็ทรงดำริอีกว่า พระราชาทรงเห็นอะไรหนอ จึงทรงพระสรวล เมื่อพระราชา ทรงเสวยพระกระยาหารเย็นอีก ภัตพิเศษก้อนหนึ่งหล่นที่พื้น. มดแดง ทั้งหลายก็ร้องบอกกันว่า หม้อพระกระยาหาร ในราชตระกูลแตกแล้ว ขอท่านทั้งหลาย จงพากันไปรับประทานภัตตาหารเถิด. พระราชา ครั้นได้ทรงสดับคำนั้นแล้ว ก็ทรงพระสรวลอีก. ฝ่ายพระราชเทวี ทรงถือเอาช้อนทองอังคาสพระราชาอยู่ จึงทรงพระวิตกว่า พระราชาทรงเห็นอะไรหนอ จึงทรงพระสรวล? ในเวลาเสด็จขึ้นแท่นพระบรรทม กับพระราชา พระนางทูลถามว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์ทรงพระสรวล เพราะเหตุอะไร? พระองค์ตรัสว่า จะมีประโยชน์อะไร สำหรับเธอ เพราะเหตุที่ฉันหัวเราะ แล้วถูกพระนางรบเร้า ให้ตรัสบอกบ่อยๆ. ภายหลังจึงทูลพระองค์ว่า ขอพระองค์ จงประทานมนต์ที่ทำให้รู้เสียง

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 120

สัตว์ของพระองค์แก่หม่อมฉัน แม้ถูกพระราชาทรงห้ามว่า ไม่อาจให้ได้ ก็ทรงรบเร้าบ่อยๆ. พระราชาจึงตรัสว่า ถ้าหากฉันจักให้มนต์นี้แก่เธอไซร้ ฉันก็จักตาย. พระนางทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ถึงพระองค์จะสิ้นพระชนม์ ก็จงประทานแก่หม่อมฉัน. เพราะพระราชาเป็นผู้ชื่อว่า ตกอยู่ในอำนาจมาตุคาม จึงทรงรับคำว่า ดีละ แล้วทรงตัดสินพระทัยว่า เราจักให้มนต์แก่พระราชเทวี แล้วจึงจะเข้ากองไฟ ดังนี้ แล้วได้เสด็จเข้าไปยัง พระราชอุทยานด้วยราชรถ. ขณะนั้นท้าวสักกะทรงตรวจดูสัตวโลกอยู่ ทรงเห็นเหตุการณ์นี้ แล้วทรงดำริว่า พระราชาเขลาองค์นี้ อาศัยมาตุคาม เสด็จไปด้วยหมายพระทัยว่า จักเข้ากองไฟ เราจักให้ชีวิตแก่เขา แล้วทรงพาเอาอสุรกัญญา ทรงพระนามว่า สุชา มายังกรุงพาราณสี ทรงทำให้นางสุชา เป็นแพะตัวเมีย พระองค์เอง เป็นแพะตัวผู้ แล้วทรงอธิษฐานว่า ขออย่าให้มหาชนเห็น แล้วได้อยู่ข้างหน้าราชรถ. พระราชาได้ทอดพระเนตรเห็นแพะนั้น และม้าที่เทียมรถก็เห็นด้วย. แต่ใครคนอื่นไม่เห็น. แพะตัวผู้ทำท่าจะเสพเมถุน กับแพะตัวเมีย เพื่อจะสร้างเรื่องราวขึ้น. ม้าเทียมรถตัวหนึ่ง เห็นแพะนั้น จึงพูดว่า เจ้าเพื่อนแพะเอ๋ย เมื่อก่อน พวกเราได้ยินเขาเล่ากันว่า พวกแพะโง่ ไม่มีความละอาย และไม่เห็นเรื่องนั้น แต่แกทำอนาจาร ที่จะต้องทำในที่ลับ ซึ่งเป็นสถานที่ปกปิดต่อหน้าพวกเรา มีจำนวนเท่านี้ ที่กำลังดูอยู่นั่นเอง แกไม่ละอาย คำที่พวกข้าพเจ้าได้ยินมา แต่ก่อนนั้น สมกับเหตุการณ์ที่ได้เห็นอยู่นี้ แล้วได้กล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 121

ได้ทราบว่า เป็นความจริงที่บัณฑิตทั้งหลาย พูดถึงแพะโง่ว่าอย่างนี้ ดูเถิดสัตว์ที่โง่ ไม่รู้จักกรรมที่ควรทำในที่ลับ และกรรมที่ควรทำในที่แจ้ง.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กลกํ ได้แก่ แพะ. บทว่า ปณฺฑิตา ความว่า ผู้สมบูรณ์ด้วยญาณ พูดถึงแพะนั้นว่าโง่ ได้ทราบว่าพูดจริง. บทว่า ปสฺส เป็นคำเรียกเตือน ความหมายว่า จงดูเถิด. บทว่า น พุชฺฌติ ความว่า ไม่รู้ว่าการกระทำนั้นไม่ควร.

แพะได้ฟังดังนั้นแล้ว ได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า :-

สหายเอ๋ย แกนั่นแหละโง่ ดูก่อนเจ้าลูกลา แกจงรู้ตัวเถิด แกถูกเชือกรัดคอไว้ มีริมฝีปากเบี้ยว มีเชือกมัดปากไว้ สหายเอ๋ย ความโง่แม้อย่างอื่นของแก คือ ที่แกถูกปลดจากแอกแล้ว แต่ไม่หนีไป สหายเอ๋ย พระเจ้าเสนกะ ที่แกลากไป นั่นแหละโง่ กว่าแก.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตฺวํ นุ โข สมฺม ความว่า สหายสินธพเอ๋ย แกโง่กว่าฉันมาก. บทว่า ขุรปุตฺต ความว่า ได้ทราบว่า

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 122

ม้านั้นเป็นชาติของลา เพราะเหตุนั้น แพะจึงได้กล่าวกะม้านั้นอย่างนี้. บทว่า วิชานหิ ความว่า แกจงรู้เถิดว่า เรานั่นแหละโง่. บทว่า ปริกฺขิตฺโต ความว่า แกถูกเขาเอาเชือกรัดคอไว้กับแอก. บทว่า วงฺโกฏฺโ ได้แก่ มีริมฝีปากเบี้ยว. บทว่า โอหิโตมุโข ได้แก่ มีปาก ถูกเชือกมัดปากปิดไว้. บทว่า มุตฺโต น ปลายสิ ความว่า การที่เจ้าพ้นจากรถ แล้วหนีเข้าป่าไปไม่ได้ ในเวลาพ้นแล้ว ไม่หนีไปเป็นคนโง่ แม้อีกอย่างหนึ่ง. บทว่า โส จ พาลตโร ความว่า พระเจ้าเสนกะ ผู้ที่แกลากไปนั้น โง่กว่าแกอีก

พระราชาทรงเข้าพระทัย ถ้อยคำของสัตว์ทั้ง ๒ ตัวนั้น เพราะฉะนั้น เมื่อทรงสดับคำนั้น จึงทรงให้ขับรถไปค่อยๆ. ฝ่ายม้าสินธพ ได้ฟังคำของแพะแล้ว จึงกล่าวคาถาที่ ๔ ว่า :-

สหายอชราชเอ๋ย ข้าโง่ด้วยเหตุใดหนอ เหตุนั้นแกก็รู้ แต่พระเจ้าเสนกะโง่ เพราะเหตุใด แกถูกข้าถามแล้ว จงบอกเหตุนั้นแก่ข้า.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยํ เป็นปฐมาวิภัติใช้ในความหมาย ของตติยาวิภัติ. บทว่า นุ เป็นนิบาต ใช้ในความหมายว่า ตามฟัง. มีคำอธิบายไว้ว่า ดูก่อนสหายอชราช ก่อนอื่นฉันโง่ เพราะเหตุ คือ

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 123

ความเป็นสัตว์เดียรัจฉานอันใด แกรู้เหตุอันนั้น ข้อนี้แกอาจรู้ได้ (๑) เพราะว่าฉันเป็นผู้โง่เขลา เพราะเป็นสัตว์เดียรัจฉาน นั่นเอง เพราะฉะนั้น แกเมื่อกล่าวว่า ลูกลา เป็นต้นกะฉัน ก็ชื่อว่า กล่าวดีถูกต้อง แต่พระเจ้าเสนกะนี้โง่ เพราะเหตุอะไร? แกถูกข้าถามแล้ว จงบอกข้อนั้นแก่ข้า ดังนี้.

แพะเมื่อจะบอกเหตุนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๕ ว่า :-

ผู้ใดได้มนต์ชั้นยอดแล้ว จักให้แก่ภรรยา เพราะการให้นั้น ผู้นั้นจะสละตนทิ้งเสีย และเขาก็จักไม่มีภรรยานั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุตฺตมตฺถํ ได้แก่ มนต์เป็นเหตุ รู้เสียงร้องของสัตว์ทุกชนิด. บทว่า เตน ความว่า เพราะเหตุ กล่าวคือ การให้มนต์แก่ภรรยานั้น เขาครั้นให้มนต์นั้นแล้ว ก็จักสละตนทิ้งกระโดดเข้ากองไฟ เขาก็จักไม่มีภรรยาคนนั้นเลย เพราะฉะนั้น ผู้นั้นคือ พระเจ้าเสนกะ ผู้ไม่สามารถรักษายศ ที่ได้แล้วไว้ได้ จึงเป็นผู้โง่กว่าแก ดังนี้.

พระราชา ครั้นทรงสดับคำนั้นแล้ว จึงตรัสว่า อชราชเอ๋ย ก็เจ้าแม้เมื่อจะทำความสวัสดีแก่เรา จักทำสิ่งนั้น ก่อนอื่นขอเจ้าจงบอก


๑. ปาฐะว่า เยน ตาว ติรจฺฉานคโต ภทฺเรน การเณน อหํ พาโล ตํ ตวํ.

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 124

สิ่งที่ควรแก่สิ่งที่จะต้องทำแก่เรา. ครั้งนั้น อชราชจึงทูลกะ พระราชานั้นว่า ข้าแต่มหาราช ไม่มีผู้อื่น ที่ชื่อว่า เป็นที่รักของสัตว์ทั้งหลาย เหล่านี้ยิ่งกว่าตน. คนไม่ควรให้ตนพินาศ ไม่ควรละทิ้งยศที่ได้แล้ว เพราะอาศัยของรักอย่างเดียว ดังนี้แล้ว ได้กล่าวคาถาที่ ๖ ว่า :-

ข้าแต่จอมนรชน ผู้เช่นกับด้วยพระองค์ ทรงทอดอาลัยตน ไม่คบหาของรักทั้งหลายว่า สิ่งนี้เป็นที่รักของเรา ตนเท่านั้นประเสริฐกว่า สิ่งที่ประเสริฐอย่างยิ่งทีเดียว ผู้มีตนสั่งสมบุญไว้แล้ว จะพึงได้หญิงที่รักในภายหลัง.

พึงทราบวินิจฉัย ในบทเหล่านั้นต่อไป บทว่า ปิยมฺเม ตัดบทเป็น ปิยํ เม คือ เป็นที่รักของเรา ปาฐะเป็นอย่างนี้ทีเดียวก็มี. มีคำอธิบายว่า ข้าแต่จอมนรชน บุคคลผู้ดำรงอยู่ในความยิ่งใหญ่ด้วยยศ เช่น พระองค์ ทอดอาลัยตน คือ ทอดทิ้งตน ไม่คบหาของรักเหล่านั้นเลยว่า สิ่งนี้เป็นที่รักของเรา เพราะอาศัยหญิง ที่เป็นภัณฑะ ที่รักคนหนึ่ง. เพราะเหตุไร? เพราะตนเองประเสริฐกว่าคนที่ประเสริฐอย่างยอด อธิบายว่า เพราะเหตุที่ตนเองประเสริฐ คือล้ำเลิศ ได้แก่ สูงสุดกว่า สิ่งที่ประเสริฐอย่างยิ่ง คือ เป็นภัณฑะ เป็นที่รักกว่าอย่างอื่น ที่ยอดเยี่ยม คือสูงสุด โดยการคูณด้วยร้อย คูณด้วยพัน. จริงอยู่ แม้ อักษร ในคำว่า อตฺตาว นี้ พึงเห็นว่า เป็นนิบาต ใช้ในความหมายว่าเหตุ.

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 125

บทว่า ลพฺภา ปิยา โอจิตตฺเตน ปจฺฉา ความว่า เพราะว่าธรรมดา ว่าบุรุษผู้มีตนสั่งสมบุญไว้แล้ว คือมีตนเจริญแล้ว อาจได้หญิงที่รักในภายหลัง บุคคลไม่ควรให้ตนฉิบหายไป เพราะเหตุแห่งหญิงที่รักนั้น ดังนี้.

พระมหาสัตว์ ได้ถวายโอวาทแด่พระราชา ด้วยประการอย่างนี้. พระราชาทรงพอพระทัย แล้วตรัสถามว่า ดูก่อนอชราช ท่านมาจาก ที่ไหน?.

ท้าวสักกะตรัสตอบว่า ข้าแต่มหาราช เราคือท้าวสักกะ มาด้วยความอนุเคราะห์ท่าน เพื่อจะปลดเปลื้องท่าน จากความตาย.

รา. ข้าแต่เทวราช ข้าพระองค์ ได้ลั่นวาจาออกไปแล้วว่า ข้าพระองค์ จักให้มนต์แก่พระเทวี บัดนี้ ข้าพระองค์จะกระทำอย่างไร?

สัก. ดูก่อนมหาราช ภารกิจด้วยความพินาศ จะไม่มีแก่ท่าน ทั้ง ๒ ถ้าท่านกล่าวว่า อุปจารแห่งศิลปะมีอยู่ แล้วให้คนคนหนึ่ง เฆี่ยนพระราชเทวี ๒ - ๓ ครั้ง ด้วยอุบายนี้ นางจักไม่เรียน. พระราชา ทรงรับเทพดำรัสว่า ดีแล้ว. พระมหาสัตว์ถวายโอวาท พระราชาแล้ว ได้เสด็จไปยังสถานที่ของพระองค์ นั่นเอง. พระราชาเสด็จไปถึงพระราชอุทยานแล้ว ตรัสสั่งให้หาพระราชเทวีมา แล้วตรัสถามว่า น้องนางเอ๋ย เธอจักเรียนมนต์หรือ. พระนางทูลว่า เพคะ ข้าแต่สมมติเทพ.

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 126

รา. ถ้ากระนั้น เราจะทำอุปจาระแห่งศิลปะ.

เท. อุปจาระเป็นอย่างไร?

รา. เมื่อเฆี่ยนที่หลัง ๑๐๐ ครั้ง เธอไม่ควรส่งเสียงร้อง.

พระนางทรงรับพระราชดำรัสว่า สาธุ เพราะอยากได้มนต์.

พระราชาตรัสสั่งให้เรียกเจ้าหน้าที่ฆ่าโจร คือ เพชฌฆาตมาแล้ว ให้รับเอาหวายไปเฆี่ยนทั้ง ๒ ข้าง. พระนางทรงทนทานการเฆี่ยน ๒ - ๓ ครั้งได้ ต่อจากนั้นไป ทรงร้องว่า หม่อมฉันไม่ต้องการมนต์. ครั้งนั้นพระราชา จึงตรัสกะพระนางว่า เธอประสงค์จะเรียนมนต์ โดยให้ฉันตายไป แล้วทรงให้ถลกหนังที่พระขนองทิ้งออกไป. จำเดิม แต่นั้นมา พระนางไม่อาจกราบทูลอีก.

พระราชา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มา ทรงประกาศ สัจธรรมทั้งหลาย แล้วทรงประมวลชาดกลงไว้. ในที่สุดแห่งสัจธรรม ภิกษุผู้กระสันอยากสึก ได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล. พระราชาในครั้งนั้น ได้เป็นภิกษุผู้กระสันอยากสึก ในบัดนี้ พระราชเทวีเป็นภรรยาเก่าของภิกษุนั้น ม้าเป็นพระสารีบุตร ส่วนท้าวสักกเทวราชเป็นเราตถาคต นั่นเอง ดังนี้แล.

จบอรรถกถา ขุรปุตตชาดกที่ ๑