พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. มัยหกสกุณชาดก ว่าด้วยการใช้ทรัพย์ให้เป็นประโยชน์

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ส.ค. 2564
หมายเลข  35848
อ่าน  477

[เล่มที่ 59] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 161

๕. มัยหกสกุณชาดก

ว่าด้วยการใช้ทรัพย์ให้เป็นประโยชน์


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 59]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 161

๕. มัยหกสกุณชาดก

ว่าด้วยการใช้ทรัพย์ให้เป็นประโยชน์

[๙๓๑] นก ชื่อ มัยหกะ นกเขาบินไปที่ไหล่เขา และซอกเขา เกาะต้นเลียบที่มีผลสุก ร้องว่าของกูๆ.

[๙๓๒] เมื่อมันร้องอยู่อย่างนี้ ฝูงนกที่นั้น มารวมกัน พากันกินผลเลียบ แล้วบินหนี มันก็ยังร้องอยู่นั่นเอง ฉันใด.

[๙๓๓] บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้น เหมือนกัน รวบรวมทรัพย์ไว้มากมาย ตนเองก็ไม่ได้ ใช้สอยเลย ไม่มอบส่วนแบ่ง แก่ญาติทั้งหลายด้วย.

[๙๓๔] เขาไม่ได้ใช้สอยผ้านุ่ง ผ้าห่ม ไม่รับประทานภัตตาหาร ไม่ทัดทรงดอกไม้ ไม่ลูบไล้ เครื่องลูบไล้ ไม่ใช้อะไรสักครั้งเดียว และไม่สงเคราะห์ญาติทั้งหลาย.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 162

[๙๓๕] เมื่อบ่นเพ้ออยู่อย่างนี้ว่า ของกูๆ หวงแหนไว้ ภายหลังพระราชาบ้าง โจรบ้าง ทายาท ผู้ไม่เป็นที่รักบ้าง เอาทรัพย์ไป คนนั้นก็จะบ่น เพ้ออยู่นั่นแหละ.

[๙๓๖] ส่วนผู้มีปรีชาใช้เอง ด้วยสงเคราะห์ญาติทั้งหลายด้วย เขาจะได้รับเกียรติ เพราะการสงเคราะห์นั้น ละโลกนี้ไปแล้ว ก็จะบันเทิงในสวรรค์.

จบ มัยหกสกุณชาดกที่ ๕

อรรถกถามัยหกสกุณชาดกที่ ๕

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภ อาคันตุกเศรษฐี จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า สถุโณ มยฺหโห นาม ดังนี้.

ความพิสดารว่า ที่นครสาวัตถี ได้มีเศรษฐีชื่อ อาคันตุกะ เป็นคนมั่งคั่งมีทรัพย์มาก. แต่เขาไม่ใช้สอยโภคทรัพย์ ด้วยตนเองเลย และไม่ได้ให้แก่คนอื่น. เมื่อเขานำโภชนะ ที่ประณีต มีรสอร่อยต่างๆ มาให้ เขาจะไม่รับประทานโภชนะนั้น รับประทานแต่ปลายข้าว มีกับ คือ น้ำผักดอง ๒ อย่างเท่านั้น. เมื่อเขานำผ้าจากแคว้นกาสี ที่เขารีดแล้ว อบแล้ว มาให้

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 163

ก็ให้เขานำออกไป นุ่งห่มแต่ผ้าเนื้อหยาบ แข็งกระด้าง เมื่อเขานำรถ ที่ตระการไปด้วย แก้วแกมทอง เทียมด้วยม้า มาให้ ก็ให้นำรถนั้นออกไป ไปด้วยรถเล็ก ที่ทำด้วยไม้ธรรมดา เมื่อเขากั้นฉัตรทองให้ ก็ให้เขานำฉัตรนั้นออกไป กั้นด้วยฉัตรที่ทำด้วยใบไม้. ตลอดชีวิตเขา ไม่ทำบุญ แม้แต่อย่างเดียว ในจำนวนบุญทั้งหลาย มีทาน เป็นต้น ถึงแก่กรรมแล้ว จึงเกิดในโรรุวนรก. พระราชาทรงให้ขนสมบัติ ที่ไม่มีบุตรรับมรดก ของเศรษฐีนั้น เข้าไปในราชตระกูล เป็นเวลา ๗ วัน. เมื่อให้ขนสมบัตินั้นเสร็จแล้ว พระราชาทรงเสวย พระกระยาหารเช้าแล้ว ได้เสด็จไปพระวิหารเชตวัน ทรงไหว้พระศาสดา แล้วประทับนั่ง เมื่อพระศาสดาตรัสว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร พระองค์ไม่ทรงทำ พุทธอุปฐากหรือ? จึงทูลถามพระศาสดาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เศรษฐีชื่อว่า อาคันตุกะ ในนครสาวัตถี ถึงแก่กรรมแล้ว เมื่อให้คนขนทรัพย์ ไม่มีเจ้าของของเศรษฐีนั้น มาที่พระราชวังอยู่ นั่นเอง วันเวลาได้ผ่านไปถึง ๗ วัน. ก็เศรษฐีนั้น แม้ได้ทรัพย์มีประมาณเท่านี้ ก็ไม่ได้ใช้สอยด้วยตนเองเลย และไม่ได้ให้คนอื่นด้วย ทรัพย์ของเขาจึงได้เป็นเสมือนสระโบกขรณี ที่ผีเสื้อหวงแหนไว้ วันเดียวเขาก็ไม่ได้ เสวยรสโภชนะอันประณีต ตนเข้าไปสู่ปากมัจจุราชเสียแล้ว คนผู้ไม่มีบุญ มีความตระหนี่อย่างนี้ ทำกรรมอะไรไว้ จึงได้รับทรัพย์ประมาณเท่านี้ และด้วยเหตุอะไร จิตของเขา จึงไม่ยินดีในโภคทรัพย์ ในการใช้สอย? พระศาสดาตรัสว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร เศรษฐีคนนั้น นั่นเอง ทำเหตุที่ให้ได้ทรัพย์ ๑

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 164

ภาวะที่ได้ทรัพย์มาแล้วไม่ใช้สอย ๑ ดังนี้แล้ว เป็นผู้อันพระราชาทูลขอแล้ว จึงทรงนำเอาเรื่อง ในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัต ครองราชสมบัติ อยู่ในนครพาราณสี ได้มีเศรษฐีเมืองพาราณสี ไม่มีศรัทธา มีความตระหนี่ ไม่ให้อะไรแก่ใคร ไม่สงเคราะห์ใคร วันหนึ่ง เขากำลังเดินไปเฝ้าพระราชา เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ตครสิขี กำลังเดินไปบิณฑบาต ไหว้แล้ว ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ได้ภิกษาแล้วหรือ? เมื่อพระองค์ตรัสว่า ท่านมหาเศรษฐี อาตมภาพ กำลังเดินไปเรื่อยๆ ไม่ใช่หรือ? จึงสั่งบังคับชายคนหนึ่งว่า ไปเถิด เจ้าจงนำพระปัจเจกพุทธเจ้านี้ ไปบ้านพวกเรา ให้ท่านประทับนั่งบนแท่นเรา แล้วให้บรรจุภัตตาหาร ที่เขาเตรียมไว้สำหรับพวกเรา ให้เต็มบาตร แล้วถวายไป. เขานำพระปัจเจกพุทธเจ้าไปเรือน แล้วให้ประทับนั่ง บอกให้ภรรยาเศรษฐีทราบ ให้บรรจุภัตตาหาร ที่มีรสเลิศนานาชนิด ให้เต็มบาตร แล้วได้ถวายพระองค์ไป. พระองค์ทรงรับภัตตาหารแล้ว ได้เสด็จออกจากนิเวศน์ ของท่านเศรษฐี แล้วเสด็จดำเนินไปในระหว่างถนน. เศรษฐีกลับจากพระราชวังแล้ว เห็นพระองค์ไหว้แล้ว ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ได้รับภัตตาหารแล้วหรือ? ได้แล้ว ท่านมหาเศรษฐี พระองค์ตรัสตอบ. เศรษฐีนั้น แลดูบาตรแล้ว ไม่อาจให้จิตเลื่อมใสได้ คิดว่า ภัตตาหารของเรานี้ ทาส หรือกรรมกรทั้งหลาย กินแล้วคงทำงาน แม้ที่ทำได้ยาก น่าเสียดายหนอ! เราได้มีความเสื่อมเสีย

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 165

เสียทรัพย์สินแล้ว ดังนี้ ไม่สามารถทำอปรเจตนา ให้บริบูรณ์ได้. ธรรมดาทาน เมื่อบุคคลสามารถทำเจตนาทั้ง ๓ ให้บริบูรณ์เท่านั้น จึงจะมีผลมาก. ก่อนแต่ให้ทาน เราทั้งหลาย จงเป็นผู้ใจดี แม้เมื่อให้ ก็จงเป็นผู้เต็มใจจริงๆ ครั้นให้แล้ว ก็ไม่สอดแคล้วอาลัยภายหลังเลย เพราะฉะนั้นแล คนหนุ่ม คนสาวของเราทั้งหลาย จะไม่ตาย คือ ไม่เสื่อมจากสมบัติ. คนก่อนแต่ให้ ก็มีใจดี เมื่อกำลังให้ ก็ให้จิตใจเลื่อมใส ครั้นให้แล้ว ก็ดีใจ นี่เป็นความถึงพร้อมแห่งบุญ.

ขอถวายพระพรมหาบพิตร อาคันตุกเศรษฐี ได้รับทรัพย์มาก เพราะปัจจัยที่ได้ถวายแก่ พระตครสิขีปัจเจกพุทธเจ้า แต่ไม่อาจใช้สอยโภคทรัพย์ได้ เพราะไม่สามารถทำอปรเจตนา คือ เจตนาดวงหลัง ให้ประณีตได้ ด้วยประการดังนี้แล.

พระราชาทูลถามว่า ก็เหตุไฉน เขาจึงไม่ได้บุตรพระพุทธเจ้าข้า พระศาสดาตรัสตอบว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร แม้เหตุแห่งการไม่ได้บุตร เศรษฐีนั้น ก็ทำไว้เหมือนกัน ถูกพระราชาทูลอ้อนวอนแล้ว จึงทรงนำเอาเรื่อง ในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัต ครองราชสมบัติ อยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลเศรษฐี ผู้มีสมบัติ ๘๐ โกฏิ เติบใหญ่แล้ว มารดาบิดาล่วงลับไปแล้ว เมื่อตรวจตราดูสมบัติแล้ว จะมัดจิตใจน้องชายไว้ จึงให้สร้างโรงทานไว้ ที่ประตูเรือน ให้มหาทานไป

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 166

ครองเรือนไป. ต่อมาบุตรของท่านคนหนึ่ง ก็คลอดออกมา. ในเวลาลูกนั้นเดินได้ ท่านเห็นโทษในกามทั้งหลาย เห็นอานิสงส์ในการออกบวช จึงมอบสมบัติในเรือนทั้งหมด ให้น้องชายพร้อมทั้งลูกเมีย ให้โอวาทว่า จงอย่าประมาท ให้ทานเป็นไปเถิด แล้วบวชเป็นฤาษี ยังฌาน และอภิญญาให้เกิดขึ้น แล้วอยู่ที่ท้องถิ่นป่าหิมพานต์. ฝ่ายน้องชาย ของท่านก็ได้ลูก ๑ คน. เขาเห็นเด็กนั้นเติบโตขึ้น จึงคิดว่า เมื่อลูกพี่ชายของเรายังมีชีวิตอยู่ สมบัติจักแบ่งเป็น ๒ ส่วน เราจักฆ่าบุตรของพี่ชายเสีย. จึงอยู่มาวันหนึ่ง เขาได้ฆ่าเด็กนั้นถ่วงน้ำ. ภรรยาของพี่ชาย ถามถึงลูกนั่นกะเขา ผู้อาบน้ำ แล้ว มาว่าลูกของฉันไปไหน? เขาตอบว่า มันเล่นน้ำในแม่น้ำ ต่อมาฉันค้นหามันก็ไม่พบ นางได้ร้องไห้ แล้วนิ่งเฉย. พระโพธิสัตว์ทราบเหตุนั้น แล้วคิดว่า เราจักทำกิจนี้ให้ปรากฏ แล้วมาทางอากาศ ลงที่นครพาราณสี นุ่งห่มผ้าเรียบร้อยแล้ว ยืนที่ประตูเรือนของน้องชายนั้น ไม่เห็นโรงทาน จึงคิดว่า แม้โรงทาน อสัตบุรุษคนนี้ ก็ให้พินาศไปแล้ว. ฝ่ายน้องชายของท่านได้ทราบว่า ท่านมาแล้ว ก็มาหาไหว้พระมหาสัตว์ แล้วให้ขึ้นปราสาท ให้ฉันโภชนะอันประณีต. ในที่สุดแห่งภัตกิจฉันเสร็จ ท่านนั่งอย่างสบาย ถามว่า เด็กไม่ปรากฏ เขาไปไหนหนอ.

ตายแล้วครับ ท่าน น้องชายตอบ.

ตายด้วยเหตุอะไร ฤาษีซัก.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 167

ผมไม่ทราบว่า ด้วยเหตุ ชื่อโน้น ในสถานที่เล่นน้ำ น้องชายตอบ.

อสัตบุรุษเอ๋ย เจ้าไม่รู้หรือว่า กิจที่เจ้าทำไปแล้ว ปรากฏแก่ฉันแล้ว เจ้าฆ่าเด็กนั้น ด้วยเหตุชั่วนี้ มิใช่หรือ? เราจักสามารถรักษาทรัพย์ ที่กำลังสูญหายไป ด้วยอำนาจพระราชา เป็นต้น ได้หรือไม่หนอ? นกเขากับเจ้า มีอะไร ที่ทำให้แตกต่างกัน ฤาษีกล่าวตัดพ้อ.

ลำดับนั้น มหาสัตว์เมื่อจะแสดงธรรมแก่เขา ด้วยพุทธลีลา จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า:-

นก ชื่อว่า มัยหกะ นกเขาบินไปที่ไหล่เขา และซอกเขา เกาะต้นเลียบที่มีผลสุก ร้องว่าของกูๆ. เมื่อมันร้องอยู่อย่างนี้ ฝูงนกที่บินมารวมกัน พากันกินผลเลียบแล้วบินหนี มันก็ยังร้องอยู่นั่นเอง ฉันใด. บุคคลบางคนในโลกนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน รวบรวมทรัพย์ไว้มากมาย ตนเองก็ไม่ได้ใช้สอยเลย ไม่มอบส่วนแบ่ง แก่ญาติทั้งหลายด้วย. เขาไม่ใช้สอยผ้านุ่ง ผ้าห่ม ไม่รับประทานภัตตาหาร ไม่ทัดทรงดอกไม้ ไม่ลูบไล้ เครื่องลูบไล้ ไม่ใช้อะไร

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 168

สักครั้งเดียว และไม่สงเคราะห์ญาติทั้งหลาย เมื่อบ่นเพ้ออยู่อย่างนี้ว่า ของกู ของกู หวงแหนไว้ภายหลัง พระราชาบ้าง โจรบ้าง ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักบ้าง เอาทรัพย์ไป คนนั้นก็จะบ่นเพ้อ อยู่นั่นแหละ ส่วนผู้มีปรีชาใช้เองด้วย สงเคราะห์ญาติทั้งหลายด้วย ด้วยการสงเคราะห์นั้น เขาจะได้รับเกียรติ ละโลกนี้ไปแล้ว จะบันเทิงในสวรรค์.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มยฺหโก ความว่า ที่ได้ชื่ออย่างนี้ เพราะอำนาจการร้องว่า ของกู ของกู. บทว่า คิริสานุทรีจโร ความว่า นกนั้นที่ชื่อว่า คิริสานุทรีจโร เพราะบินไปที่ไหล่เขา และซอกเขา. บทว่า ปกฺกํ ปิปฺผลึ ความว่า ต้นเลียบต้นหนึ่ง ที่มีผลเต็มต้น ในดินแดนหิมพานต์. บทว่า กนฺทติ ความว่า มันจะบินร้องห้ามฝูงนก ที่ห้อมล้อมต้นไม้นั้น กินผลที่สุกๆ อยู่. บทว่า ตสฺเสวํ วิลปนฺตสฺส ความว่า เมื่อมันร่ำร้องอยู่อย่างนี้ นั่นแหละ บทว่า ภุตฺวาน ปิปฺผลึ ยนฺติ ความว่า กินผลเลียบนั้น แล้วบินไปต้นอื่น ที่มีผลสมบูรณ์. บทว่า วิลปเตว ความว่า ส่วนนกนั้น ก็ยังร้องอยู่นั่นเอง. บทว่า ยโถธึ ความว่า ตามส่วน อธิบายว่า ไม่ได้ส่วนที่จะต้องได้ ด้วยอำนาจเครื่องอุปโภค และเครื่องบริโภค ของมารดาบิดา พี่ชาย พี่สาว น้องชาย

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 169

น้องสาว และบุตรธิดา เป็นต้น. บทว่า สกึ ความว่า ไม่ได้ใช้สอยแม้แต่ครั้งเดียว อธิบายว่า ไม่ได้ใช้ของตนบ้าง. บทว่า น สงฺคณฺหาติ ความว่า ไม่ได้สงเคราะห์ ด้วยอำนาจการให้ภัตตาหาร เครื่องนุ่ง พืชพันธุ์ และไถ เป็นต้น. บทว่า วิลปเตว โส นโร ความว่า เมื่อพระราชา เป็นต้นเหล่านั้น เอาทรัพย์ไป คนๆ นั้น ก็จะบ่นเพ้ออยู่นั่นแหละ. บทว่า ธีโร ได้แก่ บัณฑิต. บทว่า สงฺคณฺหาติ ความว่า ย่อมสงเคราะห์ญาติทั้งหลาย ที่เขากำลังทำมาหากิน ที่มาสู่สำนักตน ด้วยการให้ภัตตาหาร เครื่องนุ่งห่ม พืชพันธุ์ และไถ เป็นต้น. บทว่า เตน ความว่า สัตบุรุษนั้น จะได้รับเกียรติและการสรรเสริญตน ในท่ามกลางษริษัท ครั้นละโลกนี้ไปแล้ว ก็จะปลื้มใจในเทพนคร ด้วยการสงเคราะห์ญาตินั้น.

พระมหาสัตว์ ครั้นแสดงธรรม แก่น้องชายอย่างนี้ แล้วก็ให้เขาทำโรงทาน ที่เขางดไป แล้วให้เป็นไปตามปกติ แล้วได้ไปยังแดนหิมพานต์ มีฌานไม่เสื่อม ถึงแก่กรรมแล้ว ได้เข้าถึงพรหมโลก.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้ มาแล้ว จึงตรัสว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร อาคันตุกเศรษฐี ไม่ได้บุตร ไม่ได้ธิดาเลย เพราะฆ่าบุตรพี่ชาย ด้วยเหตุดังนี้แล แล้วทรงประชุมชาดกไว้ว่า น้องชายในครั้งนั้น ได้แก่ อาคันตุกเศรษฐีในบัดนี้ ส่วนพี่ชาย ได้แก่ เราตถาคตนั่นเอง.

จบอรรถกถา มัยหกสกุณชาดกที่ ๕