พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. วัฏฏกชาดก ว่าด้วยการทําให้เกิดความสุข

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ส.ค. 2564
หมายเลข  35852
อ่าน  456

[เล่มที่ 59] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 194

๙. วัฏฏกชาดก

ว่าด้วยการทําให้เกิดความสุข


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 59]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 194

๙. วัฏฏกชาดก

ว่าด้วยการทำให้เกิดความสุข

[๙๕๗] พ่อลุงกา ลุงกินอาหารประณีตกับเนยใส และน้ำมัน แต่เหตุไรเล่าหนอ ลุงจึงผอม? [๙๕๘] เมื่อกาอยู่ในท่ามกลางศัตรู แสวงหาเหยื่อ ในหมู่อมิตร มีจิตใจหวาดระแวง เป็นนิตย์ จะมีความมั่นคง ความอ้วนมาแต่ไหน.

[๙๕๙] กาทั้งหลาย หวาดระแวงอยู่เป็นนิตย์ ก้อนข้าวที่กาได้มา ด้วยกรรมอันเลวทราม ไม่ยังกาให้เอิบอิ่ม ดูก่อนนกกระจาบ ด้วยเหตุนั้น เราจึงผอม.

[๙๖๐] ดูก่อนนกกระจาบ ส่วนเจ้ากินแต่หญ้า และพืชที่หยาบๆ มีรสอร่อยน้อย แต่เหตุไร เล่าหนอ เจ้าจึงอ้วน?

[๙๖๑] ลุงกา ข้าพเจ้ายังอัตตภาพให้เป็นไป เลี้ยงชีพด้วยเหยื่อนั้น ที่ได้มาแล้ว เพราะมักน้อย

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 195

คิดน้อย และไปหากินไม่ไกล จึงอ้วน.

[๙๖๒] เพราะว่าคนผู้มักน้อย มีความสุขแบบพระอริยเจ้า ผู้คิดน้อย มีประมาณอาหารที่รับ พอดีแล้ว ย่อมมีพฤติกรรม ที่อวดอ้างได้ดี.

จบ วัฏฏกชาดกที่ ๙

อรรถกถาวัฏฏกชาดกที่ ๙

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภ ภิกษุเหลวไหลรูปหนึ่ง จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า ปณีตํ ดังนี้.

พระศาสดา ตรัสถามเธอว่า ได้ทราบว่า เธอเป็นคนเหลวไหล จริงหรือ? เมื่อภิกษุนั้น กราบทูลว่า จริงพระพุทธเจ้าข้า จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ไม่ใช่เฉพาะเวลานี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อน เธอก็เป็นคนเหลวไหลเหมือนกัน ก็แหละ เพราะเป็นผู้เหลวไหล นั่นเอง เธอไม่อิ่มในซากศพช้าง ซากศพโค ซากศพม้า และซากศพคนทั้งหลายในเมืองพาราณสี จึงเข้าไปสู่ป่า ด้วยคิดว่า เราจักได้ยิ่งๆ ขึ้นไป ดังนี้แล้ว จึงทรงนำเอาเรื่อง ในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-

ในอดีตกาล เมื่อพระจ้าพรหมทัต ครองราชสมบัติ อยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในกำเนิด นกกระจาบ มีหญ้า และพืชที่หยาบๆ เป็นอาหาร อาศัยอยู่ในป่า. ครั้งนั้น ในเมืองพาราณสี มีกาเหลวไหล

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 196

ตัวหนึ่ง ไม่อิ่มด้วยซากศพมีช้าง เป็นต้น คิดว่า เราจักได้รับอาหารมากยิ่งไปกว่านี้ จึงเข้าป่าไปกินผลไม้น้อยใหญ่ เห็นพระโพธิสัตว์ คิดว่า นกกระจาบตัวนี้ มีร่างอวบอ้วนเหลือเกิน เห็นจะกินเหยื่ออร่อย เราจักถามถึงเหยื่อ ของนกกระจาบตัวนั้น กินเหยื่อนั้นแล้ว จะได้อ้วน แล้วจึงเกาะอยู่ที่กิ่งไม้ เบื้องบนพระโพธิสัตว์ แล้วถามพระโพธิสัตว์ว่า เจ้านกกระจาบผู้จำเริญ เจ้ากินอาหารที่ประณีตหรือไร จึงได้มีร่างอวบอ้วน? พระโพธิสัตว์ถูกกาเหลวไหลถาม เมื่อจะทำปฏิสันถารกับ กานั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-

พ่อลุงกา ลุงกินอาหารประณีต กับเนยใส และน้ำมัน แต่เหตุไรเล่าหนอ ลุงจึงผอม?

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภตฺตํ ได้แก่ ภัตที่เขาเตรียมไว้ ตามทำนองโภชนะของคนทั้งหลาย. พระโพธิสัตว์ ร้องเรียกกานั้นว่า มาตุละ ด้วยการร้องเรียก ด้วยความรัก. บทว่า กิโส คือ ผอม ได้แก่ มีเนื้อ และเลือดน้อย.

กาได้ฟังคำของนกกระจาบนั้นแล้ว จึงได้กล่าวคาถา ๓ คาถา ว่า :-

นกกระจาบ เมื่อกาอยู่ในท่ามกลางศัตรู แสวงหาเหยื่อในหมู่มิตร มีจิตใจหวาดระแวง

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 197

เป็นนิตย์ จะมีความอ้วนมาจากไหน กาทั้งหลาย หวาดระแวงอยู่เป็นนิตย์ ก้อนข้าว ที่กาได้มา ด้วยกรรมอันเลวทราม ไม่ยังกาให้เอิบอิ่ม ด้วยเหตุนั้น เราจึงผอม.

ดูก่อนนกกระจาบ ส่วนเจ้ากินแต่หญ้า และพืชที่หยาบๆ มีรสอร่อยน้อย แต่เหตุไร เล่าหนอ เจ้าจึงอ้วน?

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทฬฺหิยํ ความว่า สำหรับเราผู้เป็นกา จะมีความมั่นคงมาจากไหน อธิบายว่า จะอ้วนมาจากไหน. บทว่า อุพฺพิคฺคิโน ได้แก่ หวาดระแวงอยู่. คำว่า ธงฺโก เป็นชื่อของกาทั้งหลาย นั่นเอง. บทว่า ปาเปน กมฺมุนา ลทฺโธ ความว่า ก้อนข้าว ที่กาได้มา ด้วยกรรมที่เลวทราม คือ แย่งชิงเอาของผู้อื่นมา. บทว่า น ปิเณติ ความว่า ไม่เอิบอิ่ม. บทว่า เตนสฺมิ ความว่า เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงผอม. บทว่า อปฺปเสฺนหานิ ได้แก่ มีโอชะหย่อน. กา แม้เป็นผู้สำคัญว่า นกกระจาบ กินเหยื่อประณีต เมื่อจะถามถึงเหยื่อ ตามปกติของนกกระจาบทั้งหลาย กะพระโพธิสัตว์ จึงกล่าวคำนี้.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 198

พระโพธิสัตว์ได้ฟังคำนั้นแล้ว เมื่อจะบอกเหตุที่ตนอ้วน จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า :-

ลุงกา ข้าพเจ้ายังอัตตภาพให้เป็นไป เลี้ยงชีพด้วยเหยื่อนั้น ที่ได้ได้มาแล้ว เพราะมักน้อย คิดน้อย และไปหากินไม่ไกล จึงอ้วน เพราะว่า คนผู้มักน้อย มีความสุขแบบพระอริยเจ้า ผู้คิดน้อย มีประมาณอาหาร ที่รับพอดีแล้ว ย่อมมีพฤติกรรม ที่ควรอวดอ้างได้ดี.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปฺปิจฺฉา ความว่า เพราะมีความมักน้อย ในอาหารทั้งหลาย คือเพราะไม่มีตัณหา อีกอย่างหนึ่ง อธิบายว่า เพราะต้องการอาหาร โดยยังอัตตภาพ ให้เป็นไปอย่างเดียว. บทว่า อปฺปจินฺตาย ความว่า เพราะไม่มีความคิดถึงอาหาร อย่างนี้ว่า วันนี้เรา จักได้อาหารที่ไหน พรุ่งนี้ที่ไหน. บทว่า อวิทูรคมเนน จ ความว่า และเพราะการไป ในที่ไม่ไกล โดยคิดว่า เราจักได้อาหารอร่อย ในที่ชื่อโน้น. บทว่า ลทฺธาลทฺเธน ความว่า ด้วยอาหารที่ได้แล้ว นั้นแหละ จะเลว หรือประณีตก็ไม่ว่า. บทว่า ถูโล เตนสฺมิ ความว่า ข้าพเจ้าอ้วนด้วย เพราะเหตุ ๔ อย่างนั้น. พระโพธิสัตว์ร้องเรียกกาว่า วายสะ. บทว่า อปฺปจินฺตี มีวิเคราะห์ว่า ความสุขของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ผู้เว้นจากความคิดมากเกินไป ในอาหาร ชื่อว่า ผู้มีความคิดน้อย

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 199

มีอยู่แก่ผู้นั้น เหตุนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่า มีความสุข แบบพระอริยเจ้าผู้คิดน้อย ของผู้ประกอบด้วยความสุขเช่นนั้น นั้น. บทว่า สุสงฺคหิตปฺปมาณสฺส ความว่า ผู้มีประมาณแห่งอาหาร ที่รับไว้ ด้วยดีแล้ว อย่างนี้ว่า เรากินแล้ว จักสามารถย่อยได้ ตลอดเวลาเพียงเท่านี้. บทว่า วุตฺตี สุสมุทานิยา ความว่า ความเป็นไปแห่งชีวิตของบุคคลนี้ สามารถเพื่อจะอวดอ้างได้ คือ เป็นไปได้ ด้วยดีทีเดียว หมายความว่า เพื่อเกิดขึ้นโดยง่ายดาย.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้ มาแล้ว ทรงประกาศสัจธรรมทั้งหลาย แล้วทรงประชุมชาดกไว้ ในที่สุดแห่งสัจธรรม ภิกษุผู้เหลวไหล ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว. กาในครั้งนั้น ได้แก่ ภิกษุผู้เหลวไหลในบัดนี้ ส่วนนกกระจาบ ได้แก่ เราตถาคต นั่นเอง.

จบอรรถกถา วัฏฏกชาดกที่ ๙