พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. เสนกชาดก ว่าด้วยผู้มีปัญญาช่วยคนอื่นได้

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ส.ค. 2564
หมายเลข  35864
อ่าน  562

[เล่มที่ 59] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 266

๗. เสนกชาดก

ว่าด้วยผู้มีปัญญาช่วยคนอื่นได้


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 59]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 266

๗. เสนกชาดก

ว่าด้วยผู้มีปัญญาช่วยคนอื่นได้

[๑๐๑๔] ท่านหัวเสีย มีอินทรีย์ คือ นัยตาโรยแล้ว น้ำตาไหลจากตา ของท่านทั้ง ๒ ข้าง ท่านสูญเสียอะไรไปหรือ ก็ท่านต้องการอะไร จึงมาที่นี่ เชิญเถิด เชิญบอกให้เราทราบเถิด.

[๑๐๑๕] ยักษ์รุกขเทวดาบอกว่า วันนี้ เมื่อข้าพเจ้าไปถึงบ้าน เมียของข้าพเจ้าจะตาย แต่ถ้าข้าพเจ้าไปไม่ถึง ก็จะมีความตายเอง. ข้าพเจ้าหวาดหวั่น เพราะทุกข์นั้น ข้าแต่ท่านเสนกะ ขอท่านจงบอกเหตุนั้น แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด.

[๑๐๑๖] เราคิดค้นหาเหตุหลายอย่าง บรรดาเหตุเหล่านี้ เหตุที่เราจะบอก นั่นแหละ เป็นของจริง ดูก่อนพราหมณ์ เราเข้าใจว่า งูเห่าหม้อตัวหนึ่ง ได้เลื้อยเข้าไปอยู่ ในไถ้ข้าวตูของท่านผู้ไม่รู้สึก.

[๑๐๑๗] ท่านจงเอาท่อนไม้เคาะไถ้ ดูเถิด จะเห็นงูมีลิ้น ๒ แฉก พ่นพิษเลื้อยออกมา ท่านจะ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 267

สิ้นความเคลือบแคลงสงสัย วันนี้แหละ ท่านจงแก้ไถ้เถิด ท่านจะเห็นงู.

[๑๐๑๘] พราหมณ์นั้นสลดใจ ทิ้งไถ้ข้าวตูลง ท่ามกลางบริษัท ลำดับนั้น งูพิษที่มีพิษร้าย ได้แผ่แม่เบี้ย เลื้อยออกมา.

[๑๐๑๙] เป็นการได้ลาภที่ดี ของพระเจ้าชนก ที่ ทรงเห็นเสนกบัณฑิต ผู้มีปัญญาดี ท่านเป็นผู้เปิดเครื่องปิดบังออกได้ หรืออย่างไร จึงเห็นของทุกอย่าง ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ญาณของ ท่าน เป็นญาณที่น่าพิศวงนัก ทรัพย์เหล่านั้น ของข้าพเจ้ามีอยู่ ๗๐๐ กหาปณะ ขอท่านจงรับเอาทั้งหมดเถิด ข้าพเจ้าขอมอบให้ท่าน เพราะว่า วันนั้น ข้าพเจ้าได้ชีวิตไว้ เพราะท่านอีกโสดหนึ่ง ท่านก็ได้ทำความสวัสดี ให้แก่ ภรรยาของข้าพเจ้าด้วย.

[๑๐๒๐] บัณฑิตทั้งหลาย จะไม่รับค่าจ้าง เพราะคาถาทั้งหลาย ที่ไพเราะที่ตนกล่าวดีแล้ว ดูก่อน

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 268

พราหมณ์ ท่านจงให้ทรัพย์ของท่านได้แต่เพียงนี้ วางใกล้เท้า แล้วจงรับเอาไป ยังที่อยู่ของท่านเถิด.

จบ เสนกชาดกที่ ๗

อรรถกถาเสนกชาดกที่ ๗

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภ พระปัญญาบารมีของพระองค์ จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า วิพฺภนฺตจิตฺโต ดังนี้. เรื่องปัจจุบัน จักมีแจ่มแจ้ง ในอุปมังคชาดก.

ในอดีตกาล พระราชา ทรงพระนามว่า ชนก ครองราชสมบัติ อยู่ในนครพาราณสี. ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ เกิดในตระกูลพราหมณ์. เหล่าญาติได้ขนานนามท่านว่า เสนกะ. ท่านเติบโต แล้วเรียนศิลปะทุกอย่าง ที่เมืองตักกศิลา แล้วกลับมาเฝ้าพระราชา ที่นครพาราณสี. พระราชาทรงสถาปนาท่านไว้ ในตำแหน่งอำมาตย์ และทรงเพิ่มยศ ยิ่งใหญ่ให้ท่าน. ท่านได้ถวายอรรถธรรม แก่พระราชาเนืองๆ. ท่านเป็นผู้สอนธรรม ที่มีถ้อยคำไพเราะ ให้พระราชา ทรงดำรงอยู่ในเบญจศีล แล้วให้ทรงดำรงอยู่ ในปฏิปทาที่ดีงามนี้ คือ ในทาน ในอุโบสถกรรม และในกุศลกรรมบถ ๑๐ ข้อ. สมัยนั้น ได้เป็นเสมือนเวลาที่พระพุทธเจ้า เสด็จอุบัติขึ้นในสากลรัฐ. พระมหาสัตว์ ไปที่ท่ามกลางแท่นที่อบอวล

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 269

ไปด้วยของหอม ในธรรมสภาที่เขาเตรียมไว้แล้ว ก็แสดงธรรมด้วย พุทธลีลา. ธรรมกถาของท่านเป็นเช่นกับ ธรรมกถาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็ปานกัน. ลำดับนั้น พราหมณ์ชราคนหนึ่ง เที่ยวหาขอเงิน ได้เงินพันกหาปณะ เก็บฝากไว้ที่ตระกูลพราหมณ์ ตระกูลหนึ่ง แล้วคิดว่า เราจะเที่ยวขออีก ดังนี้ แล้วก็ไป. ในเวลาพราหมณ์นั้นไปแล้ว ตระกูลนั้น ใช้กหาปณะหมด. พราหมณ์นั้นกลับมา แล้วขอกหาปณะคืน. พราหมณ์ไม่อาจจะให้ กหาปณะคืนได้ จึงได้ให้ธิดาของตน ให้เป็น นางบำเรอบาท คือ เมียของพราหมณ์นั้น. พราหมณ์พานางไปอยู่กินกัน ที่หมู่บ้านตำบลหนึ่ง ไม่ไกลจากนครพาราณสี. คราที่นั้น ภรรยาของเขา ผู้ไม่อิ่มในกาม เพราะยังสาว จึงประพฤติมิจฉาจาร คือ เป็นชู้กับพราหมณ์หนุ่มคนหนึ่ง. เพราะว่าขึ้นชื่อว่า ของที่ไม่รู้จักอิ่มมี ๑๖ อย่าง คือ :-

๑. มหาสมุทร ไม่อิ่มด้วยน้ำที่ไหลมา ทุกทิศทุกทาง.

๒. ไฟ ไม่อิ่มด้วยเชื้อ.

๓. พระราชา ไม่ทรงอิ่มด้วยราชสมบัติ.

๔. คนพาล ไม่อิ่มด้วยบาป.

๕. หญิง ไม่อิ่มด้วยของ ๓ อย่างเหล่านี้ คือ เมถุนธรรม ๑ เครื่องประดับ ๑ การคลอดบุตร ๑.

๖. พราหมณ์ ไม่อิ่มด้วยมนต์.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 270

๗. ผู้ได้ฌาน ไม่อิ่มด้วยวิหารสมาบัติ คือ การเข้าฌาน.

๘. พระเสขบุคคล ไม่อิ่มด้วยการหมดเปลือง ในการให้ทาน.

๙. ผู้มักน้อย ไม่อิ่มด้วยธุดงคคุณ.

๑๐. ผู้เริ่มความเพียรแล้ว ไม่อิ่มด้วยการปรารภความเพียร.

๑๑. ผู้แสดงธรรม คือ นักเทศน์ ไม่อิ่มด้วยการสนทนาธรรม.

๑๒. ผู้กล้าหาญ ไม่อิ่มด้วยบริษัท.

๑๓. ผู้มีศรัทธา ไม่อิ่มด้วยการอุปัฏฐากพระสงฆ์.

๑๔. ทายก ไม่อิ่มด้วยการบริจาค.

๑๕. บัณฑิต ไม่อิ่มด้วยการฟังธรรม.

๑๖. บริษัท ๔ ไม่อิ่มในการเฝ้าพระพุทธเจ้า.

ถึงนางพราหมณีนั้น ก็ไม่อิ่มด้วยเมถุนธรรม ต้องการจะสลัดพราหมณ์นั้น ให้ออกไป แล้วทำบาปกรรม วันหนึ่ง นอนกลุ้มใจอยู่ เมื่อพราหมณ์ถามว่า แม่มหาจำเริญ มีเรื่องอะไรหรือ? จึงพูดว่า พราหมณ์เจ้าขา ฉันไม่อาจจะทำงาน ในบ้านของท่าน คือ ทำไม่ไหว ขอท่านจงไปนำเอา ทาสหญิง ทาสชายมา.

พราหมณ์ แม่มหาจำเริญ ทรัพย์ของเราไม่มี ฉันจะให้อะไรเขา แล้วจึงจะนำทาสหญิง ทาสชายมาได้.

พราหมณี เที่ยวขอเสาะหาทรัพย์ แล้วนำมาสิ.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 271

พราหมณ์ แม่มหาจำเริญ ถ้าอย่างนั้น เธอจงเตรียมเสบียง ให้ฉัน.

นางจึงเตรียมข้าวตูก้อน ข้าวตูผง บรรจุเต็มไถ้หนังแล้ว ได้มอบให้พราหมณ์ไป. ฝ่ายพราหมณ์เมื่อเที่ยวไป ในหมู่บ้านนิคม และราชธานีทั้งหลาย ได้เงิน ๗๐๐ กหาปณะ เห็นว่า พอแล้ว เงินเท่านี้ สำหรับเรา เพื่อเป็นค่าทาสชาย และทาสหญิง แล้วก็กลับมาบ้านของตน มาถึงที่แห่งหนึ่ง เป็นสถานที่มีน้ำ สะดวกสบาย จึงแก้ไถ้ออก กินข้าวตู แล้วไม่ได้ผูกปากไถ้เลย ลงไปดื่มน้ำ. งูเห่าหม้อตัวหนึ่ง ได้กลิ่นข้าวตู จึงเลื้อยเข้าขดตัว นอนกินข้าวตูอยู่. พราหมณ์มาแล้ว ไม่ได้มองดูภายในไถ้ ผูกไถ้แล้ว แบกขึ้นบ่าไป. เทวดาผู้เกิดบนต้นไม้ต้นหนึ่ง ในระหว่างทาง ยืนอยู่ที่ค่าคบต้นไม้ พูดว่า ดูก่อนพราหมณ์ ถ้าท่านพักระหว่างทาง ท่านจักตายเอง แต่ถ้าวันนี้ ท่านไปถึงบ้าน ภรรยาของท่านจักตาย แล้วก็หายไป. เขามองดูอยู่ ไม่เห็นเทวดา กลัวถูกภัย คือ ความตาย คุกคาม จึงร้องไห้คร่ำครวญ ไปถึงประตูพระนครพาราณสี. ก็วันนั้น เป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ เป็นวันที่พระโพธิสัตว์ นั่งแสดงธรรม บนธรรมาสน์ ที่เขาตกแต่งแล้ว มหาชนพากันถือของหอม และดอกไม้ เดินไปฟังธรรมกถากันเป็นพวกๆ. พราหมณ์เห็นเขา จึงถามว่า ท่านทั้งหลาย ไปไหนกัน พ่อคุณ? เมื่อเขาบอกว่า ดูก่อนพราหมณ์ วันนี้ เสนกบัณฑิต จะแสดงธรรม ด้วยเสียงไพเราะ ตามพุทธลีลา ท่านไม่รู้

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 272

หรือ? จึงคิดว่า ได้ทราบว่า ท่านผู้แสดงธรรม ธรรมกถึกเป็นบัณฑิต ส่วนเราถูกมรณภัยคุกคาม ก็แหละ ผู้เป็นบัณฑิต อาจจะบรรเทาความโศก ตั้งมากมายได้. แม้เราก็ควรไปฟังธรรม ณ ที่นั้น. เขาจึงไปที่นั้น กับมหาชนนั้น กลัวความตาย ได้ยืนร้องไห้ อยู่ท้ายบริษัท ที่มีพระราชา นั่งห้อมล้อม พระมหาสัตว์อยู่ แล้วไม่ไกลจากธรรมาสน์ ทั้งๆ ที่ไถ้ ข้าวตูยังพาดอยู่ที่ต้นคอ. พระมหาสัตว์แสดงธรรม เหมือนกับให้ข้ามอากาศ คงคา และเหมือนกับหลั่งฝน อมฤตลง. มหาชนเกิดความโสมนัส ให้สาธุการ ได้ฟังธรรมกันแล้ว. ก็ธรรมดาบัณฑิตทั้งหลาย เป็นผู้มองดูทิศทาง ในขณะนั้น พระมหาสัตว์ลืมตา ที่มีประสาททั้ง ๕ ผ่องใสขึ้น ดูบริษัทโดยรอบ เห็นพราหมณ์นั้น จึงคิดว่า บริษัทจำนวนเท่านี้ เกิดความโสมนัส ให้สาธุการฟังธรรมกัน. แต่พราหมณ์คนนี้ คนเดียว ถึงความโทมนัส ร้องไห้. พราหมณ์นั้น ต้องมีความเศร้าโศก อยู่ในภายใน ที่สามารถให้น้ำตาเกิดขึ้นแน่ๆ. เราจักพลิกใจพราหมณ์ ผู้มืดมนต์ แสดงธรรมให้เขา ไม่มีความโศก ให้พอใจในเรื่องนี้ ทีเดียว เหมือนสนิมทองแดง หลุดออกไป เพราะขัดด้วยของเปรี้ยว และเหมือนหยดน้ำกลิ้ง ออกไปจากใบบัว ฉะนั้น. ท่านได้เรียกพราหมณ์นั้นมาหา เมื่อเจรจากับพราหมณ์นั้นว่า ดูก่อนพราหมณ์ เราชื่อว่า เสนกบัณฑิต เราจักทำให้ท่าน ไม่มีความเศร้าโศก ขอท่านจงวางใจ แล้วบอกมาเถิด จึงกล่าว คาถาแรกว่า :-

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 273

ท่านหัวเสีย มีอินทรีย์ คือ นัยตาโรยแล้ว น้ำตาไหล จากตาของท่าน ทั้ง ๒ ข้าง. ท่านสูญเสียอะไรไป ก็ท่านต้องการอะไร จึงมาที่นี่ เชิญเถิด. เชิญบอกให้เราทราบเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กุปิตินฺทฺริโยสิ ความว่า พระมหาสัตว์พูดว่า ท่านมีอินทรีย์โรยแล้ว หมายถึง จักขุนทรีย์ นั่นเอง. ศัพท์ว่า อิงฺฆ เป็นนิบาต ใช้ในความหมาย ตักเตือน. จริงอยู่ พระมหาสัตว์ เมื่อจะตักเตือนพราหมณ์นั้น จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูก่อนพราหมณ์ ธรรมดาสัตว์ทั้งหลายเศร้าโศกคร่ำครวญกัน เพราะเหตุ ๒ ประการ คือ เมื่อสูญเสียญาติ ที่รักบางคน ในบรรดาสัตว์ และสังขารทั้งหลาย นั่นเอง หรือปรารถนาญาติ ที่รักบางคน นั่นเอง แต่ไม่ได้ดังต้องการ. ในจำนวน ๒ อย่างนั้น ท่านสูญเสียอิฏฐผล ข้อไหน ก็ท่านปรารถนาอะไร จึงมาที่นี่? ขอจงบอกเรื่องนี้แก่เรา โดยเร็วเถิด.

ลำดับนั้น พราหมณ์ เมื่อจะบอกเหตุ แห่งความโศกของตน แก่พระมหาสัตว์ จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-

ยักษ์รุกขเทวดาบอกว่า วันนี้ เมื่อข้าพเจ้าไปถึงบ้าน เมียของข้าพเจ้าจะตาย แต่ถ้าข้าพเจ้าไปไม่ถึง ก็จะมีความตายเอง. ข้าพเจ้าหวาดหวั่น

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 274

เพราะทุกข์นั้น ข้าแต่ท่านเสนกะ ขอท่านจงบอกเหตุนั้น แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วชโต ความว่า ไปถึงเรือน. บทว่า อคจฺฉโต ความว่า เมื่อไปไม่ถึง. บทว่า ยกฺโข ความว่า พราหมณ์ กล่าวว่า รุกขเทวดาตนหนึ่ง ในระหว่างทาง กล่าวอย่างนี้. ได้ทราบว่า เทวดานั้น ควรจะบอกว่า พราหมณ์ ในไถ้ของท่าน มีงูเห่าหม้อ แต่ไม่บอก เพื่อจะประกาศ อานุภาพญาณ ของพระโพธิสัตว์. บทว่า เอเตน ทุกฺเขน ความว่า ข้าพเจ้าหวาดหวั่น ดิ้นรน หวั่นไหว เพราะเหตุนั้น คือ เพราะทุกข์ เกิดจากความตายของภรรยา เมื่อไปถึงบ้าน และทุกข์ คือ ความตายของตน เมื่อไปไม่ถึงบ้าน. บทว่า เอตมตฺถํ มีอธิบายว่า ขอท่านจงบอกข้าพเจ้าถึงเหตุนั้น คือ เหตุที่เป็นเหตุ ให้ภรรยาของข้าพเจ้า มีความตาย เมื่อข้าพเจ้าไปถึงบ้าน และที่เป็นเหตุ ทำให้ตนมีความตาย เมื่อไปไม่ถึงบ้าน.

พระมหาสัตว์ ได้ฟังคำของพราหมณ์แล้ว จึงแผ่ข่ายญาณไป เหมือนเหวี่ยงแห ลงในน่านน้ำทะเล คิดแล้วว่า เหตุแห่งการตาย ของสัตว์เหล่านี้ มีมาก คือ จมทะเลไปบ้าง ถูกปลาร้ายในทะเลนั้น คาบไปบ้าง ตกลงไปในน้ำบ้าง ถูกจระเข้ในแม่น้ำนั้น คาบไปบ้าง ตกต้นไม้บ้าง ถูกหนามแทงบ้าง ถูกประหาร ด้วยอาวุธนานาประการบ้าง กินยาพิษเข้าไปบ้าง ปีนขึ้นภูเขา แล้วตกลงไปในเหวบ้าง หรือถูกโรคนานาประการ

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 275

มีหนาวจัด เป็นต้น เบียดเบียนบ้าง ตายเหมือนกันทั้งนั้น. เมื่อเหตุแห่งการตาย มีมากอย่างนี้. ด้วยเหตุอะไร หนอแล วันนี้พราหมณ์นั้น เมื่ออยู่ระหว่างทาง จึงจักตายเอง แต่เมื่อไปถึงบ้านภรรยาของเขาจักตาย. และเมื่อกำลังคิดอยู่ ได้มองเห็นไถ้ อยู่บนคอของพราหมณ์ ก็รู้ได้ด้วย ญาณ คือ ความฉลาด ในอุบายว่า ในไถ้นี้ คงมีงูตัวหนึ่งเลื้อยเข้าไป อยู่ข้างใน. ก็แหละ เมื่อจะเลื้อยเข้าไป มันคงจะเลื้อยเข้าไป เพราะกลิ่นข้าวตู ในเมื่อพราหมณ์คนนี้ กินข้าวตู ในเวลาอาหารเช้า ไม่ได้ผูกปากไถ้ไว้เลย แล้วไปดื่มน้ำ. พราหมณ์ดื่มน้ำแล้วมา ไม่ทราบว่า งูเข้าไปอยู่ในไถ้ แล้วคงจักผูกปากไถ้ แล้วก็แบกเอาไป. พราหมณ์นี้นั้น เมื่อพักอยู่ระหว่างทาง ก็จักแก้ไถ้สอดมือเข้าไป ด้วยตั้งใจว่า เราจักกินข้าวตู สถานที่พักในเวลาเย็น เมื่อเป็นเช่นนั้น งูก็จะกัดมือเขา ให้ถึง ความสิ้นชีวิต นี้คือเหตุ แห่งการตายของพราหมณ์ ผู้พักอยู่ระหว่างทาง. แต่ถ้าพราหมณ์ไปถึงบ้านไซร้ ไถ้จักตกถึงมือของภรรยา นางก็จักแก้ไถ้ เอามือล้วง ด้วยตั้งใจว่า จักดูของอยู่ข้างใน. เมื่อเป็นเช่นนั้น งูก็จักกัดนาง ให้ถึงความสิ้นชีพ นี้คือเหตุ แห่งการตายของภรรยา ของเขาผู้ไป ถึงเรือน ในวันนี้. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ ได้มีความดำรินี้ว่า งูเห่าหม้อตัวนี้ กล้าหาญควรปลอดภัย เพราะว่างูตัวนี้ แม้จะกระทบสีข้างใหญ่ ของพราหมณ์ ก็ไม่แสดงความหวั่นไหว หรือความดิ้นรนของตน. ถึงในท่ามกลางบริษัทชนิดนี้ ก็ไม่แสดงความมีอยู่ของตน. เพราะฉะนั้น งูเห่าหม้อตัวนี้ ที่กล้าหาญ จึงควรปลอดภัย. แม้เหตุการณ์ ดังที่ว่ามานี้

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 276

พระมหาสัตว์ ก็ได้รู้ด้วยญาณ คือ ความเป็นผู้ฉลาดในอุบาย นั่นเอง เหมือนเห็นด้วยทิพพจักขุ. เมื่อเป็นเช่นนี้ พระมหาสัตว์กำหนดด้วยญาณ คือ ความเป็นผู้ฉลาดในอุบาย นั่นเอง เหมือนคนยืนดูงู ที่กำลังเลื้อยเข้าไปในไถ้ ท่ามกลางบริษัท ที่มีพระราชา เมื่อจะแก้ปัญหา ของพราหมณ์ จึงกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :-

เราคิดค้นหาเหตุหลายอย่าง บรรดาเหตุเหล่านี้ เหตุที่เราจะบอก นั่นแหละ เป็นของจริง พราหมณ์ เราเข้าใจว่า งูเห่าหม้อตัวหนึ่ง ได้เลื้อยเข้าไป อยู่ในไถ้ข้าวตูของท่าน ผู้ไม่รู้สึก.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พหูนิ านานิ ได้แก่ เหตุหลายอย่าง บทว่า วิจินฺตยิตฺวา ความว่า เป็นเสมือนบรรลุปฏิเวธ ด้วยสามารถแห่งการคิดทะลุ ปรุโปร่ง. บทว่า ยเมตฺถ วกฺขามิ ความว่า บรรดาเหตุเหล่านั้น เราจะบอกเหตุ อันใดอย่างหนึ่ง แก่ท่าน. ด้วยบทว่า ตเทว สจฺจํ พระมหาสัตว์แสดงว่า เหตุนั้นนั่นแหละ เป็นเรื่องแท้ คือ จักเป็นเช่นกับเรื่อง ที่เห็นด้วยทิพพจักขุ. แล้วจึงบอก. บทว่า มญฺามิ ความว่า กำหนด. บทว่า สตฺตุภสฺตํ ได้แก่ ไถ้ข้าวตู. บทว่า อชานโต ความว่า เราเข้าใจว่า เมื่อท่านไม่รู้อยู่ นั่นแหละ งูเห่าหม้อตัวหนึ่ง เข้าไปแล้ว.

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 277

ก็แหละ พระมหาสัตว์ ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงถามว่า พราหมณ์ มีไหม ข้าวตูในไถ้ของท่านนั้น?

พ. มี ท่านบัณฑิต

ม. วันนี้ เวลาอาหารเช้า ท่านนั่งกินข้าวตูละสิ?

พ. ใช่ ท่านบัณฑิต

ม. นั่ง ที่ไหนล่ะ?

พ. ที่ควงไม้ ในป่า

ม. ท่านกินข้าวตูแล้ว เมื่อไปดื่มน้ำ ไม่ได้ผูกปากไถ้ล่ะสิ?

พ. ไม่ได้ผูก ท่านบัณฑิต

ม. ท่านดื่มน้ำแล้วมา ไม่ได้ตรวจดูได้ผูกเลยสิ?

พ. ไม่ได้ดู ผูกเลย ท่านบัณฑิต

ม. พราหมณ์ เราเข้าใจว่า ในเวลาท่านไปดื่มน้ำ งูเข้าไปในไถ้แล้ว เพราะได้กลิ่นข้าวตูของท่าน ผู้ไม่รู้ตัวเลย. ท่านได้มาที่นี้ อย่างนี้แล้ว เพราะฉะนั้น ให้ยกไถ้ลงวางไว้ ท่ามกลางบริษัท แก้ปาก ไถ้ออก แล้วเลี่ยงไปยืนอยู่ห่างพอควร ถือไม้ท่อนหนึ่งเคาะไถ้ก่อน ต่อจากนั้น ก็จักเห็นงูเห่าหม้อ แผ่แม่เบี้ย เห่าฟ่อๆ เลื้อยออกมา แล้วหายสงสัย ดังนี้ แล้วจึงกล่าวคาถาที่ ๔ ว่า:-

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 278

ท่านจงเอาท่อนไม้ เคาะไถ้ดูเถิด จะเห็นงูมีลิ้น ๒ แฉก พ่นพิษเลื้อยออกมา ท่านจะสิ้นความเคลือบแคลงสงสัย ในวันนี้แหละ ท่านจงแก้ไถ้เถิด ท่านจะเห็นงู.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปริสุมฺภ ความว่า จงเคาะ. บทว่า ปสฺเสลมูคํ ความว่า ท่านจะเห็นงูมีลิ้น ๒ แฉก พ่นพิษทางปาก ที่มีน้ำลายไหลออกมา. บทว่า ฉินฺทชฺช กงฺขํ วิจิกิจฺฉิตานิ ความว่า วันนี้ ท่านจะตัดความเคลือบแคลง และความสงสัย ที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ว่า ในไถ้มีงู หรือไม่มีหนอ เชื่อเราเถิด เพราะคำพยากรณ์ของเรา ไม่ผิดพลาด ท่านจะเห็นงูเลื้อยออกมา เดี๋ยวนี้แหละ จงแก้ไถ้เถิด.

พราหมณ์ได้ฟังคำ ของพระมหาสัตว์ แล้วสลดใจ ถึงความกลัว ได้ทำตามนั้น. ฝ่ายงูพอถูกไม้เคาะขนด ก็เลื้อยออกจากปากไถ้ เห็นผู้คนมากมาย จึงได้หยุดอยู่.

พระศาสดา เมื่อทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๕ ว่า :-

พราหมณ์นั้นสลดใจ ทิ้งไถ้ข้าวตูลง ท่ามกลางบริษัท ลำดับนั้น งูพิษที่มีพิษร้าย ได้แผ่แม่เบี้ย เลื้อยออกมา.

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 279

ในเวลางูแผ่แม่เบี้ยออกมา คำพยากรณ์ของพระมหาสัตว์ ได้เป็นเหมือนคำพยากรณ์ ของพระสัพพัญญูพุทธเจ้า. มหาชนพากันชูผ้าขึ้น เป็นจำนวนพัน. ยกนิ้วขึ้นดีด หมุนไปรอบๆ เป็นพันๆ ครั้ง. ฝนแก้ว ๗ ประการ ตกลงมา เหมือนลูกเห็บตก. สาธุการ ก็เป็นไป เป็นจำนวนพันๆ. เสียงดังปานประหนึ่ง มหาปฐพีจะถล่มทลาย. ก็ธรรมดาการแก้ปัญหาแบบนี้ ด้วยพุทธลีลานี้ ไม่ใช่เป็นพลังของชาติ ไม่ใช่เป็นพลัง ของโคตร ของตระกูล ของประเทศ ของยศ และของทรัพย์ทั้งหลาย แต่เป็นพลังของอะไรหรือ เป็นพลังของปัญญา. ด้วยว่าบุคคลผู้มีปัญญา เจริญวิปัสสนา แล้วจะเปิดประตูอริยมรรค เข้าอมตมหานิพพานได้ ทะลุ ทะลวง สาวกบารมีบ้าง ปัจเจกโพธิญาณบ้าง สัมมาสัมโพธิญาณบ้าง. เพราะว่าบรรดาธรรมทั้งหลาย ที่จะให้บรรลุ อมตมหานิพพาน ปัญญาเท่านั้น ประเสริฐที่สุด ธรรมทั้งหลายที่เหลือ เป็นเพียงบริวารของปัญญา. เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงตรัสไว้ว่า :-

ผู้ฉลาดทั้งหลาย กล่าวว่า ปัญญาแล ประเสริฐที่สุด เหมือนดวงจันทร์ ประเสริฐกว่า ดวงดาวทั้งหลาย ฉะนั้น ศีลก็ดี แม้สิริก็ดี ธรรมของสัตบุรุษทั้งหลายก็ดี เป็นสิ่งคล้อยตาม ผู้มีปัญญา.

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 280

ก็แล เมื่อพระมหาสัตว์กล่าวแก้ปัญหาอย่างนี้ แล้วหมองูคนหนึ่ง ก็ใส่กุญแจปากงู แล้วก็จับงูไปปล่อยในป่า. พราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระราชา ให้พระองค์ทรงมีชัย แล้วประคองอัญชลี เมื่อจะสดุดีพระราชา จึงกล่าว คาถากึ่งคาถาว่า.

เป็นการได้ลาภที่ดี ของพระเจ้าชนก ที่ทรงเห็นเสนกบัณฑิต ผู้มีปัญญาดี.

คาถานั้น มีอรรถอธิบายว่า พระชนก พระองค์ใด ทรงลืมพระนคร แล้วได้ทรงเห็นเสนกบัณฑิต ผู้มีปัญญาดี คือ มีปัญญาสูงสุด ด้วยพระเนตรที่น่ารัก ทุกขณะที่ทรงปรารถนาจะเห็น การได้ทอดพระเนตร เห็นทุกขณะ ที่ทรงพระประสงค์ เหล่านั้น ของพระเจ้าชนกนั้น เป็นลาภที่พระองค์ ทรงได้แล้ว ดีจริงๆ คือ บรรดาลาภทั้งหมด ที่พระเจ้าชนกนั้น ทรงได้แล้ว ลาภเหล่านั้น เท่านั้น. ชื่อว่า เป็นลาภ ที่ทรงได้มาดีแล้ว.

ก็แหละ ครั้นถวายสดุดีพระราชาแล้ว พราหมณ์ได้หยิบเอาเงิน ๗๐๐ กหาปณะ ออกมาจากไถ้ ประสงค์จะสดุดี พระมหาสัตว์ ให้ความชื่นชม จึงกล่าวคาถา ๑ กับครึ่งคาถาว่า :-

ท่านเป็นผู้เปิด เครื่องปิดบังออกได้ หรืออย่างไร จึงเห็นของทุกอย่าง ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ญาณของท่าน เป็นญาณที่น่าพิศวงนัก

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 281

ทรัพย์เหล่านี้ ของข้าพเจ้ามีอยู่ ๗๐๐ กหาปณะ ขอท่านจงรับเอาทั้งหมดเถิด ข้าพเจ้าขอมอบ ให้ท่าน เพราะว่า วันนี้ข้าพเจ้าได้ชีวิตไว้ เพราะท่าน อีกโสดหนึ่ง ท่านก็ได้ทำความสวัสดี ให้แก่ภรรยา ของข้าพเจ้าด้วย.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิวฏฺฏจฺฉโท นุ สิ สพฺพทสฺสี ความว่า พราหมณ์ถามด้วยอำนาจการสดุดีว่า ท่านเป็นสัพพัญญูพุทธเจ้า ผู้ทรงเปิดเครื่องปกปิด ในอาการของธรรมทุกอย่าง คือ ทรงเป็นผู้มีธรรมที่ควรรู้ อันเปิดเผยแล้ว หรืออย่างไร บทว่า าณํ นุ เต พฺราหมฺมณ ภึสรูปํ ความว่า ข้าแต่ท่านพราหมณ์ เมื่อท่านเป็นผู้รู้ทุกสิ่ง ญาณของท่าน เป็นญาณที่พิลึกเหลือเกิน คือ มีกำลังเหมือน สัพพัญญุตญาณ. บทว่า ตยา หิ เม ความว่า วันนี้ข้าพเจ้าได้ชีวิตมา เพราะท่านให้. บทว่า อโถปิ ภริยายมกาสิ โสตฺถึ ความว่า อีกโสดหนึ่ง ท่านเองก็ได้ทำความสวัสดี แก่ภรรยาของผม. พราหมณ์นั้น ครั้นพูดอย่างนี้แล้ว ก็อ้อนวอนพระโพธิสัตว์แล้ว อ้อนวอนอีกว่า ถ้าหากมีทรัพย์แสนหนึ่งไซร้ ข้าพเจ้าก็ต้องให้ทีเดียว. แต่ทรัพย์ของข้าพเจ้า มีเพียงเท่านี้ เท่านั้น ขอท่านจงรับทรัพย์ ๗๐๐ กหาปณะ เหล่านี้เถิด.

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 282

พระโพธิสัตว์ ครั้นได้ยินคำนั้น แล้วจึงกล่าวคาถาที่ ๘ ว่า :-

บัณฑิตทั้งหลาย จะไม่รับค่าจ้าง เพราะคาถาทั้งหลาย ที่ไพเราะ ที่ตนกล่าวดีแล้ว ดูก่อน พราหมณ์ ท่านจงให้ทรัพย์ของท่าน ได้แต่เพียงนี้ วางใกล้เท้า แล้วจงรับเอาไป ยังที่อยู่ของตนเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เวตฺตนํ ได้แก่ สินจ้าง. อีกอย่างหนึ่ง ปาฐะก็เป็น เวตนํ นี้เหมือนกัน. บทว่า อิโตปิ เต พฺราหฺมณ ความว่า ดูก่อนพราหมณ์ ท่านจงให้ทรัพย์ของท่าน แต่แทบเท้าของเรา. บทว่า วิตฺตํ อาทาย ตฺวํ คจฺฉ มีเนื้อความว่า ท่านจงถือเอาทรัพย์ จำนวนอื่นอีก ๓๐๐ กหาปณะ จากทรัพย์จำนวน ๗๐๐ นี้ รวมเป็น ๑,๐๐๐ กหาปณะ แล้วไปที่อยู่ของตนเถิด.

ก็แหละ พระมหาสัตว์ครั้นพูดอย่างนี้ แล้วก็ให้กหาปณะแก่พราหมณ์ เต็มพันแล้ว ถามว่า พราหมณ์ ใครส่งท่านมาหา ขอทรัพย์?

พ. ภรรยาของผม ท่านบัณฑิต.

ม. ก็ภรรยาของท่าน แก่หรือสาว?

พ. สาว ท่านบัณฑิต.

ม. ถ้าอย่างนั้น เขาคงประพฤติอนาจาร กับชายอื่น จึงส่งท่าน

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 283

ไป ด้วยหมายใจว่า จักได้ประพฤติอนาจารปลอดภัย พระมหาสัตว์ บอกว่า ถ้าหากท่านนำกหาปณะเหล่านี้ ไปถึงเรือนแล้วไซร้ นางจักให้กหาปณะ ที่ท่านได้มา ด้วยความลำบาก แก่ชู้ของตน. เพราะฉะนั้น ท่านอย่าตรงไปบ้านทีเดียว ควรเก็บกหาปณะไว้ ที่ควงไม้ หรือที่ใดที่หนึ่ง นอก บ้าน แล้วจึงเข้าไป ดังนี้ แล้วจึงส่งเขาไป. พราหมณ์นั้นไปใกล้บ้าน แล้วเก็บกหาปณะไว้ ใต้ควงไม้ต้นหนึ่ง แล้วจึงได้ไปบ้าน ในเวลาเย็น. ขณะนั้น ภรรยาของเขา ได้นั่งอยู่กับชายชู้. พราหมณ์ยืนที่ประตู แล้วกล่าวว่า น้องนาง. นางจำเสียงเขาได้ จึงดับไฟปิดประตู เมื่อพราหมณ์ เข้าข้างใน แล้ว จึงนำชู้ออกไป ให้ยืนอยู่ริมประตู แล้วก็เข้าบ้าน ไม่เห็นอะไรในไถ้ จึงถามว่า ท่านพราหมณ์ ท่านไปเที่ยวขอได้อะไรมา.

พ. ได้กหาปณะพันหนึ่ง.

ภ. เก็บไว้ที่ไหน?

พ. เก็บไว้ที่โน้น พรุ่งนี้เช้า จึงจักเอามา อย่าคิดเลย.

นางไปบอกชายชู้. เขาจึงออกไปหยิบเอา เหมือนของที่ตนเก็บไว้เอง. ในวันรุ่งขึ้น พราหมณ์ไป แล้วไม่เห็นกหาปณะ จึงไปหาพระโพธิสัตว์ เมื่อถูกถามว่า เรื่องอะไร พราหมณ์? จึงบอกว่า ข้าพเจ้าไม่เห็น กหาปณะ ท่านบัณฑิต.

ม. ก็ท่านบอกภรรยา ของท่านละสิ.

พ. ถูกแล้ว ท่านบัณฑิต.

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 284

พระมหาสัตว์ก็รู้ว่า นางนั้นบอกชายชู้ จึงถามว่า ดูก่อนพราหมณ์ ก็ภรรยาของท่าน มีพราหมณ์ ประจำตระกูลไหม?

พ. มี ท่านบัณฑิต.

ม. ฝ่ายท่านล่ะ มีไหม.

พ. มี ท่านบัณฑิต.

จึงพระมหาสัตว์ ได้ให้พราหมณ์ถวายเสบียงอาหาร แก่พราหมณ์ ประจำตระกูลนั้น เป็นเวลา ๗ วัน แล้วบอกว่า ไปเถิดท่าน วันแรก จงเชื้อเชิญพราหมณ์ มารับประทาน ๑๔ คน คือ ฝ่ายท่าน ๗ คน ฝ่ายภรรยา ๗ คน ตั้งแต่วันรุ่งขึ้น เป็นต้นไป ให้ลดลงวันละ ๑ คน ในวันที่ ๗ จึงเชื้อเชิญ ๒ คน คือ ฝ่ายท่าน ๑ คน ฝ่ายภรรยาของท่าน ๑ คน จงรู้ไว้ จำไว้ว่า พราหมณ์คนที่ภรรยาของท่าน เชื้อเชิญ มาตลอด ๗ วัน มาเป็นประจำ แล้วบอกข้าพเจ้า. พราหมณ์ทำตามนั้น แล้วจึงบอกแก่พระมหาสัตว์ว่า ข้าแต่ท่านบัณฑิต ข้าพเจ้ากำหนด พราหมณ์ผู้มารับประทาน เป็นนิจ ไว้แล้ว. พระโพธิสัตว์ส่งบุรุษ ไปกับพราหมณ์นั้น ให้นำพราหมณ์คนนั้นมา แล้วถามว่า ท่านเอากหาปณะ พันหนึ่ง ที่เป็นของพราหมณ์คนนี้ ไปจากควงไม้ต้นโน้นหรือ? พราหมณ์ คนนั้นปฏิเสธว่า ผมไม่ได้เอาไป ท่านบัณฑิต. พระโพธิสัตว์บอกว่า ท่านไม่รู้จักว่าเรา เป็นเสนกบัณฑิต. เราจักให้ท่านนำกหาปณะมาคืน. เขากลัว จึงรับว่า ผมเอาไป.

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 285

ม. ท่านเอาไปเก็บไว้ที่ไหน.

พ. เก็บไว้ ณ ที่นั้น นั่นเอง ท่านบัณฑิต.

พระโพธิสัตว์ จึงถามพราหมณ์ ผู้เป็นสามีว่า พราหมณ์ หญิงคนนั้น นั่นเอง เป็นภรรยาของท่านหรือ? หรือจักรับเอาคนอื่น

พ. เขานั่นแหละเป็นของผม ท่านบัณฑิต.

พระโพธิสัตว์ส่งคนไป ให้นำกหาปณะของพราหมณ์ และนางพราหมณีมา แล้วบังคับให้รับกหาปณะ จากมือของพราหมณ์ ผู้เป็นโจรแก่ พราหมณ์ให้ลงพระราชอาชญา แก่พราหมณ์ผู้เป็นโจร เนรเทศออกจากพระนครไป และให้ลงพระราชอาชญา แก่พราหมณี ให้ยศใหญ่แก่พราหมณ์ แล้วให้อยู่ในสำนักของตน นั่นเอง.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มา ทรงประกาศ สัจธรรมทั้งหลาย แล้วทรงประชุมชาดกไว้ ในที่สุดแห่งสัจธรรม คนจำนวนมาก ได้ทำให้แจ้ง ซึ่งโสดาปัตติผล. พราหมณ์ในครั้งนั้น ได้แก่ พระอานนท์ ในบัดนี้ รุกขเทวดา ได้แก่ พระสารีบุตร บริษัท ได้แก่ พุทธบริษัท ส่วนเสนกบัณฑิต ได้แก่ เราตถาคต ฉะนี้แล

จบอรรถกถา เสนกชาดกที่ ๗