พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. กปิชาดก ว่าด้วยคุณธรรมของผู้บริหารคณะ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ส.ค. 2564
หมายเลข  35866
อ่าน  424

[เล่มที่ 59] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 297

๙. กปิชาดก

ว่าด้วยคุณธรรมของผู้บริหารคณะ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 59]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 297

๙. กปิชาดก

ว่าด้วยคุณธรรมของผู้บริหารคณะ

[๑๐๒๘] ผู้จองเวรอยู่ ณ ที่ใด บัณฑิตไม่ควรอยู่ ณ ที่นั้น ในที่มีคนจองเวร อยู่คืนเดียว หรือ ๒ คืน ก็เป็นทุกข์.

[๑๐๒๙] คนที่เป็นหัวหน้าใจเบา เมื่อคนใจเบาคล้อยตาม จะทำหน้าที่จองเวร เพราะเหตุแห่งกระบี่ตัวเดียว เขาได้ทำความย่อยยับ ให้กระบี่ทั้งฝูง.

[๑๐๓๐] ก็คนพาล แต่สำคัญตนว่า เป็นบัณฑิตบริหารหมู่คณะ ลุอำนาจความคิดของตน คงนอนตาย เหมือนกระบี่ตัวนี้ ฉะนั้น.

[๑๐๓๑] คนโง่ แต่มีกำลังบริหารหมู่คณะ ก็ไม่ดี ไม่เป็นประโยชน์ แก่เหล่าญาติ เหมือนนกต่อ ไม่เป็นประโยชน์แก่นกทั้งหลาย ฉะนั้น.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 298

[๑๐๓๒] ส่วนคนฉลาด มีกำลังบริหารหมู่คณะดี เป็นประโยชน์แก่เหล่าญาติ เหมือนท้าววาสวะ เป็นประโยชน์แก่ทวยเทพ ชาวไตรทศ ฉะนั้น.

[๑๐๓๓] อนึ่ง ผู้ใดเห็นศีล ปัญญา และสุตะ มีในตน ผู้นั้น ย่อมประพฤติประโยชน์ แก่คนทั้ง ๒ ฝ่าย คือ ทั้งแก่ตนเอง และผู้อื่น.

[๑๐๓๔] เพราะฉะนั้น ธีรชนควรชั่งใจ ดูตัวเอง เหมือนชั่งใจดูศีล ปัญญา และสุตะ ฉะนั้นแล้ว จึงบริหารหมู่คณะบ้าง อยู่คนเดียว เว้นการบริหารบ้าง.

จบ กปิชาดกที่ ๙

อรรถกถากปิชาดกที่ ๙

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภแผ่นดินสูบ พระเทวทัตแล้ว จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า ยตฺถ เวรี นิวสติ ดังนี้.

ดังจะกล่าวโดยย่อ เมื่อพระเทวทัต เข้าไปสู่แผ่นดินแล้ว ภิกษุทั้งหลาย พากันตั้งเรื่องนี้ขึ้น สนทนากัน ในธรรมสภาว่า พระเทวทัตพินาศ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 299

แล้ว พร้อมกับบริษัท. พระศาสดาเสด็จมาแล้ว ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เธอทั้งหลาย นั่งสนทนากันด้วยเรื่อง ไรหนอ? เมื่อภิกษุทั้งหลาย กราบทูลว่า ด้วยเรื่องชื่อนี้ จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระเทวทัต พร้อมด้วยบริษัท ไม่ใช่พินาศในแต่บัดนี้ เท่านั้น แม้ในกาลก่อนก็ พินาศเหมือนกัน แล้วได้ทรงนำเอาเรื่อง ในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัต ครองราชสมบัติ อยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในกำเนิดกระบี่ มีกระบี่ ๕๐๐ ตัวเป็นบริวาร อาศัยอยู่ที่พระราชอุทยาน ฝ่ายพระเทวทัตก็เกิดในกำเนิดกระบี่ มีกระบี่ ๕๐๐ ตัวเป็นบริวาร อาศัยอยู่ในพระราชอุทยานนั้น เหมือนกัน. อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อปุโรหิต ไปอุทยานอาบน้ำ แต่งตัวแล้วออกไป กระบี่เกเรตัวหนึ่งเดินไปก่อน นั่งเจ่าอยู่บนยอดเสาซุ้มประตูอุทยาน ถ่ายอุจจาระรดศีรษะ ของท่านปุโรหิต เมื่อท่านมองดูข้างบน ก็ถ่ายรดหน้าอีก. ท่านหันกลับมาขู่ พวกกระบี่ว่า เอาไว้ก่อนเถอะ ข้าฯ จักแก้มือ พวกแกภายหลัง แล้วอาบน้ำอีก จึงได้หลีกไป. พวกกระบี่ ได้บอกพระโพธิสัตว์ ถึงการที่ปุโรหิตนั้น ผูกเวร แล้วขู่พวกกระบี่. พระโพธิสัตว์ได้บอกให้ กระบี่ตั้งพัน ทราบว่า ขึ้นชื่อว่า ในสถานที่อยู่ของคู่เวร ไม่ควรอยู่ ฝูงกระบี่ทั้งหมด จงพากันหนีไป ในที่อื่นเถิด. ฝ่ายกระบี่หัวดื้อ พาเอากระบี่ ที่เป็นบริวารของตนไป ไม่หนี โดยคิดว่า ภายหลังเราจักรู้เอง จึงจะไป. ส่วนพระโพธิสัตว์ พาเอาบริวารของตน เข้าป่าไป. อยู่มาวันหนึ่ง แพะตัวหนึ่ง กินข้าวเปลือก

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 300

ที่นางทาสีคนหนึ่ง ผึ่งแดดไว้ ถูกตีด้วยดุ้นไฟ มีไฟไหม้ที่ตัว วิ่งหนีไป ถูตัวที่ยอดกระท่อมหญ้าหลังหนึ่ง ชิดโรงช้าง. ไฟนั้นติดกระท่อมหญ้า. ลามจากกระท่อมหญ้า ไปติดโรงช้าง. ลามจากโรงช้าง ก็ไหม้หลังช้าง. หมอรักษาช้าง ก็รักษาพยาบาลช้าง. ฝ่ายปุโรหิต กำลังพิจารณาหา อุบายจับวานรอยู่. ครั้นพระราชาตรัสสั่งถาม ท่านที่มาเฝ้าว่า อาจารย์ ช้างของเรา เป็นแผลเปื่อยกันหลายเชือก หมอรักษาช้าง ไม่รู้จักการรักษา อาจารย์รู้ยาอะไรบ้าง หรือไม่?

ปุโรหิตทูลว่า ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์รู้

รา. อะไรล่ะ?

ปุ. ข้าแต่มาหาราช มันเหลวของวานร พระพุทธเจ้าข้า-

รา. เราจักได้ที่ไหน?

ปุ. ที่พระราชอุทยาน มีวานรมากมิใช่หรือ พระพุทธเจ้าข้า

รา. ท่านทั้งหลาย จงฆ่าวานร ที่พระราชอุทยาน นำเอามันเหลวมา.

คนแม่นธนู จึงพากันไปยิงวานรทั้ง ๕๐๐ ตัว ให้ตายหมด. แต่หัวหน้าวานรตัวเดียว หนีไปได้ ถึงถูกยิงด้วยลูกศร แต่ก็ไม่ล้มตาย ณ ที่นั้น ทีเดียว ไปถึงที่อยู่ของพระโพธิสัตว์แล้ว จึงล้มตาย. พวกวานร บอกพระโพธิสัตว์ ถึงการที่มันได้ถูกยิงว่า หัวหน้าวานรมาถึงที่อยู่ของ

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 301

พวกเราแล้วก็ตาย. พระโพธิสัตว์ มานั่งที่ท่ามกลางฝูงวานร พูดว่า ธรรมดาว่า พวกไม่เชื่อโอวาทของบัณฑิตทั้งหลาย อยู่ในที่อยู่ของคู่เวร จักพินาศอย่างนี้ แล้วได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยสามารถแห่งการตักเตือน ฝูงวานรว่า:-

ผู้จองเวรอยู่ ณ ที่ใด บัณฑิตไม่ควรอยู่ ณ ที่นั้น ในที่มีคนจองเวรอยู่ คืนเดียว หรือ ๒ คืน ก็เป็นทุกข์. คนที่เป็นหัวหน้าใจเบา เมื่อคนใจเบาคล้อยตาม เขาจะทำหน้าที่จองเวร เพราะเหตุแห่งกระบี่ตัวเดียว เขาได้ทำความ ย่อยยับให้กระบี่ทั้งฝูง. ก็คนพาลสำคัญตนว่า เป็นบัณฑิต บริหารหมู่คณะ ลุอำนาจ ความคิดของตน คงนอนตาย เหมือนวานรตัวนี้ ฉะนั้น. คนโง่ แต่มีกำลังบริหารหมู่คณะ ก็ไม่ดี ไม่เป็นประโยชน์ แต่เหล่าญาติเหมือนนกต่อ ไม่เป็นประโยชน์แก่นกทั้งหลาย ฉะนั้น. ส่วนคนฉลาด มีกำลังบริหารหมู่คณะดี เป็นประโยชน์ แก่เหล่าญาติ เหมือนท้าววาสวะ เป็นประโยชน์แก่ทวยเทพ ชาวไตรทศ ฉะนั้น. อนึ่ง ผู้ใดเห็น

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 302

ศีล ปัญญา และสุตะ มีในตน ผู้นั้นย่อมประพฤติประโยชน์ แก่คนทั้ง ๒ ฝ่าย คือ ทั้งแก่ตนเอง และผู้อื่น. เพราะฉะนั้น ธีรชนควรชั่งใจ ดูตัวเองเหมือนชั่งใจ ดูศีล ปัญญา และสุตะ ฉะนั้น แล้วจึงบริหารหมู่คณะบ้าง อยู่คนเดียว เว้นการบริหารบ้าง.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ลหุจิตฺตสฺส ความว่า พึงเป็นผู้มีใจเบา มีคำอธิบายว่า คนใดคล้อยตาม คือ อนุวัตร ตามมิตรหรือญาติ ผู้ใจเบา เมื่อคนนั้นคล้อยตาม เขาก็จะเป็นหัวหน้าใจเบา ทำหน้าที่ของผู้จองเวร. บทว่า เอกสฺส กปิโน ความว่า สูเจ้าทั้งหลาย จงดูเถิด เพราะเหตุกระบี่ใจเบา คือ เป็นอันธพาลตัวเดียว เขาได้ทำความย่อยยับ คือความไม่เจริญ ได้แก่ ความพินาศใหญ่หลวงนี้ ให้แก่กระบี่สิ้นทั้งฝูง. บทว่า ปณฺฑิตมานี มีเนื้อความว่า ผู้ใดรู้ตนเอง เป็นคนโง่ แต่ สำคัญตนว่า เราเป็นผู้ฉลาด ไม่ทำตามโอวาทของท่านผู้ฉลาด ตกอยู่ในอำนาจ ความคิดของตน ผู้นั้น จะลุอำนาจ ความคิดของตนแล้ว คงนอนเหมือนกะบี่หัวดื้อ ตัวนี้แหละ นอนตายอยู่. บทว่า น สาธุ ความว่า ธรรมดาคนโง่ แต่มีกำลัง พร้อมบริหารหมู่คณะ ย่อมไม่ดี คือ ไม่ปลอดภัย เพราะเหตุไร เพราะเขาไม่มีประโยชน์ สำหรับเหล่าญาติ คือนำ

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 303

ความพินาศมาให้อย่างเดียว. บทว่า สกุณานํว เจกโต ความว่า อุปมาเสมือนหนึ่งว่า บรรดานกกระทาทั้งหลาย นกกระทาที่เป็นนกต่อ ขันทั้งวัน ก็ไม่ทำให้นกชนิดอื่นตาย ทำให้พวกพ้องของตนเท่านั้น แหละตาย ฉันใด คนโง่ ก็ไม่มีประโยชน์แก่หมู่คณะ เหล่านั้นเลย อธิบายว่า ฉันนั้นเหมือนกัน. บทว่า หิโต ภวติ ความว่า ธีรชนเป็นผู้ทำประโยชน์ เกื้อกูลแก่เหล่าญาติ นั่นเอง ด้วยกายบ้าง ด้วยวาจาบ้าง. บทว่า อุภินฺนมตฺถํ จรติ ความว่า คนในโลกนี้ ผู้ที่มองเห็น คุณธรรมเหล่านั้น มีศีล เป็นต้น ในตนรู้ว่าอาจาระ และศีลของเราก็มี ปัญญาก็มี การศึกษาเล่าเรียนก็มี ทราบตามความจริงแล้ว บริหารหมู่คณะ ชื่อว่า ประพฤติประโยชน์ถ่ายเดียว แก่คนทั้ง ๒ ฝ่าย คือ ทั้งแก่ตน และผู้อื่น ได้แก่ เหล่าญาติ ผู้เที่ยวห้อมล้อมตน. บทว่า ตุเลยฺยมตฺตานํ ตัด บทเป็น ตุเลยฺย อตฺตานํ คือ ชั่งใจดูตัวเองแล้ว. บทว่า ตุเลยฺย ได้แก่ ตุเลตฺวา คือ ชั่งใจดูตัวเองแล้ว. บทว่า สีลํ ปญฺํ สุตํปิว ความว่า พิจารณาดูคุณธรรมทั้งหลาย มีศีล เป็นต้น ในตนอยู่ ชื่อว่าประพฤติประโยชน์ แก่คนทั้ง ๒ ฝ่าย ฉะนั้น ธีรชนควรชั่งใจดูตนเอง เหมือนบัณฑิตชั่งใจดูคุณธรรม มีศีล เป็นต้นเหล่านั้น คือ พิจารณาดูว่า เราดำรงอยู่แล้ว ในศีล ในปัญญา ในสุตะหรือไม่? ทำความที่ตนดำรงอยู่ ในคุณธรรมเหล่านั้น ให้ประจักษ์แล้ว จึงบริหารหมู่คณะบ้าง อยู่คนเดียว

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 304

ใน ๔ อิริยาบถ เว้นการบริหาร คือ เปลี่ยนแปลงบ้าง เพราะว่าผู้จะให้บริษัท อุปัฏฐากบำรุงก็ดี ผู้ประพฤติวิเวกก็ดี ควรจะประกอบด้วยคุณธรรม ๓ อย่าง เหล่านี้ ทีเดียว.

พระมหากษัตริย์ เป็นถึงขุนกระบี่ คือ พระยาวานร จึงบอกหน้าที่เกี่ยวกับวินัย และการศึกษาเล่าเรียนได้.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้ มาแล้ว ทรงประชุมชาดกไว้ว่า วานรหัวดื้อในครั้งนั้น ได้แก่ พระเทวทัตในบัดนี้ ฝ่ายบริวารของวานรหัวดื้อ ได้แก่ บริวารของพระเทวทัต ส่วนขุนกระบี่ผู้ฉลาด ได้แก่ เราตถาคต ฉะนั้นแล.

จบอรรถกถา กปิชาดกที่ ๙