การเลือกคบคน [อรัญญชาดก]

 
pirmsombat
วันที่  29 เม.ย. 2550
หมายเลข  3587
อ่าน  2,801

[เล่มที่ 58] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้าที่ 693

๘. อรัญญชาดก

ว่าด้วยการเลือกคบคน

[๖๙๐] คุณพ่อ ผมออกจากป่าไปสู่บ้านแล้ว พึงคบคนที่มีศีลอย่างไร มีวัตรอย่างไร ผมถามแล้ว ขอคุณพ่อจงบอกข้อนั้นแก่ผมด้วย.

[๖๙๑] ลูกเอ๋ย ผู้ใดพึงคุ้นเคยกะเจ้าก็ดี พึง อดทนความคุ้นเคยของเจ้าได้ก็ดี เชื่อถือ คำพูดของเจ้าก็ดี งดโทษให้เจ้าก็ดี เจ้าไปจากที่นี้แล้วจงคบหาผู้นั้นเถิด.

[๖๙๒] ผู้ใดไม่มีกรรมชั่วด้วยกาย วาจาและใจ เจ้าไปจากที่นี้แล้วจงคบหาผู้นั้น ทำตนให้ เหมือนบุตรผู้เกิดจากอกของผู้นั้นเถิด.

[๖๙๓] ลูกเอ๋ย คนที่มีจิตเหมือนน้ำย้อมขมิ้น มีจิตกลับกลอก รักง่ายหน่ายเร็ว เจ้าอย่าคบหาคนเช่นนั้นเลย ถึงหากว่าพื้นชมพูทวีป ทั้งหมดจะไม่มีมนุษย์ก็ตาม.

จบ อรัญญชาดกที่ ๘

อรรถกถา อรัญญชาดกที่ ๘

พระศาสดาเมื่อประโยคทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภการประเล้าประโยคโลมของกุมาริกาอ้วนคนหนึ่ง จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า อรญฺญา คามมาคมฺม ดังนี้. เรื่องปัจจุบันจักมีแจ้งในจุลลนารทกัสสปชาดก. ส่วนเรื่องในอดีตมีดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ เจริญวัยแล้ว เรียนศิลปศาสตร์ในเมืองตักกศิลาแล้ว เมื่อภรรยาถึงแก่กรรมแล้ว ได้พาบุตรไปบวชเป็นฤๅษีอยู่ในหิมวันตประเทศ ให้บุตรอยู่ใน อาศรมบท. ส่วนตนไปเพื่อต้องการผลาผล.

ครั้งนั้น เมื่อพวกโจรปล้นปัจจันตคามแล้วพาพวกเชลยไป กุมาริกาคนหนึ่งหนีไปถึงอาศรมบทนั้น ประเล้าประโลมดาบสกุมารให้ถึงศีลวินาศแล้วกล่าวว่า มาเถิด พวกเราพากันไป. ดาบสกุมารกล่าวว่า จงรอให้บิดาของเรา มาก่อน เราพบบิดาแล้วจักไป. กุมาริกากล่าวว่าถ้าอย่างนั้น ท่าน พบบิดาแล้วจงมา แล้วได้ออกไปนั่งอยู่ที่ระหว่างทาง. เมื่อบิดามาแล้ว ดาบสกุมาร จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-

ข้าแต่พ่อ ฉันออกจากป่าไปสู่บ้านแล้ว จะพึงคบคนที่มีศีลอย่างไร มีวัตรอย่างไร ฉันถามแล้ว ขอท่านจงบอกข้อนั้นแก่ฉันด้วย. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อรญฺญา คามมาคมฺม ความว่า ข้าแต่พ่อ ฉันจากป่านี้ไปยังถิ่นมนุษย์ เพื่อจะอยู่ ถึงบ้านที่อยู่แล้ว จะกระทำอะไร. ลำดับนั้น บิดาเมื่อจะให้โอวาทแก่บุตรนั้น จึงกล่าวคาถา ๓ คาถาว่า :-

ลูกเอ๋ย ผู้ใดพึงคุ้นเคยกะเจ้าก็ดี พึงอดทนความคุ้นเคยของเจ้าได้ก็ดี เชื่อถือคำพูดของเจ้าก็ดี งดโทษให้เจ้าก็ดี เจ้าไป จากที่นี้แล้วจึงคบหาผู้นั้นเถิด. ผู้ใดไม่มีกรรมชั่วด้วยกาย วาจาและ ใจ เจ้าไปจากที่นี้แล้วจงคบหาผู้นั้น ทำตน ให้เหมือนบุตรผู้เกิดจากอกของผู้นั้นเถิด ลูกเอ๋ย คนที่มีจิตเหมือนน้ำย้อมขมิ้น มีจิตกลับกลอก รักง่ายหน่ายเร็ว เจ้าอย่า คบที่คนเช่นนั้นเลย ถึงหากว่าพื้นชมพูทวีป ทั้งสิ้นจะไม่มีมนุษย์ก็ตาม.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โย ตํ วิสฺสาสเย ความว่า บุรุษใดพึงคุ้นเคย คือ ไม่รังเกียจเจ้า.

บทว่า วิสฺสาสญฺจ ขเมยฺย เต ความว่า อนึ่ง บุคคลใดพึงคุ้นเคยแก่เจ้าซึ่งเจ้ากระทำตน ไม่รังเกียจ อดทนความคุ้นเคยนั้นได้.

บทว่า สุสฺสูสี ความว่า อนึ่งบุคคลใดต้องการฟังคำกล่าวด้วยความคุ้นเคยของเจ้า

บทว่า ติติกฺขี ความว่า อนึ่ง บุคคลใดอดกลั้นความผิดที่เจ้ากระทำได้.

บทว่า ตํ ภเชหิ ความว่า เจ้าพึงคบคือพึงเข้าไปนั่งใกล้บุรุษนั้น.

บทว่า โอรสีว ปติฏฺ€าย ความว่า บุตรผู้เกิดแต่อกเจริญเติบโตอยู่ใน อ้อมอกของบุคคลนั้น ฉันใด เจ้าพึงเป็นเสมือนบุตรผู้ตั้งอยู่ในอ้อมอก เช่นนั้น พึงคบหาบุรุษเห็นปานนั้น ฉันนั้น.

บทว่า หลิทฺทราคํ ได้แก่ ผู้มีจิตไม่มั่นคงดุจย้อมด้วยขมิ้น.

บทว่า กปิจิตฺตํ ได้แก่ชื่อว่ามีจิตเหมือนลิง เพราะเปลี่ยนแปลงเร็ว.

บทว่า ราควิราคินํ ได้แก่ มีสภาพรักและหน่ายโดยชั่วครู่เท่านั้น.

บทว่า นิมฺมนุสฺสมฺปิ เจ สิยา ความว่า พื้นชมพูทวีปทั้งสิ้น ชื่อว่าพึงปราศจากมนุษย์ เพราะไม่มีมนุษย์ผู้เว้นจากกายทุจริตเป็นต้น แม้ถึงเช่นนั้น เจ้าอย่า ได้ซ่องเสพคนผู้มีจิตใจเบาเช่นนั้นเลย จงค้นหาถิ่นมนุษย์แม้ทั่วๆ ไป แล้วซ่องเสพคนผู้สมบูรณ์ด้วยคุณดังกล่าวในหนหลังเถิด. ดาบสกุมารได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า ข้าแต่บิดา ฉันจักได้ บุคคลผู้ประกอบด้วยคุณเหล่านี้ ณ ที่ไหน ฉันจะไม่ไป จักอยู่ใน สำนักของท่านบิดาเท่านั้น ครั้นกล่าวแล้วก็หวนกลับมา. ลำดับนั้น บิดาจึงได้บอกกสิณบริกรรมแก่ดาบสกุมารนั้น. ดาบสทั้งสอง มีฌาน ไม่เสื่อมได้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า บุตรและกุมาริกาในครั้งนั้นได้เป็นคนเหล่านี้ ส่วนดาบสผู้บิดาในครั้งนั้น ได้เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถาอรัญญชาดกที่ ๘


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 29 เม.ย. 2550

[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้าที่ 386

ท่านทั้งหลาย จงคบหาผู้ที่เป็นปราชญ์ และมี ปัญญาทั้งเป็นพหูสูต นำธุระไปเป็นปกติ มีวัตร เป็น อริยบุคคล เป็นสัตบุรุษมีปัญญาดี เช่นนั้น เหมือนพระจันทร์ ซ่องเสพคลองแห่งนักขัตฤกษ์ฉะนั้น

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 290

ข้อความบางตอนจาก

พระราธเถระ

"บุคคลพึงเห็นผู้มีปัญญาใด ซึ่งเป็นผู้กล่าว นิคคหะ ชี้โทษ ว่าเป็นเหมือนผู้บอกขุมทรัพย์ให้ พึงคบผู้มีปัญญาเช่นนั้น ซึ่งเป็นบัณฑิต (เพราะว่า) เมื่อคบท่านผู้เช่นนั้น มีแต่คุณอย่างประเสริฐ ไม่มี โทษที่ลามก"

[เล่มที่ 16] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 84

ข้อความบางตอนจาก

สิงคาลกสูตร

กถาว่าด้วยมิตรเทียม

[๑๘๖] ดูก่อนคฤหบดีบุตร คน ๔ จำพวกเหล่านี้ คือ คนปอกลอก ๑ คนดีแต่พูด ๑ คนหัวประจบ ๑ คนชักชวนในทางฉิบหาย ๑ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตร.

[๑๘๗] ดูก่อนคฤหบดีบุตร คนปอกลอกท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตรเป็นแต่คนเทียมมิตรโดยสถาน ๔ คือ เป็นคนติดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว ๑ เสียให้น้อยคิดเอาให้ได้มาก ๑ ไม่รับทำกิจของเพื่อนในคราวมีภัย ๑ คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์ของตัว ๑ คฤหบดีบุตร คนปอกลอกท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตร โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล.

[๑๘๘] ดูก่อนคฤหบดีบุตร คนดีแต่พูด ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตรแต่เป็นคนเทียมมิตร โดยสถาน ๔ คือ เก็บเอาของล่วงแล้วมาปราศรัย ๑อ้างเอาของที่ยังไม่มาถึงมาปราศรัย ๑ สงเคราะห์ด้วยสิ่งหาประโยชน์มิได้ ๑ เมื่อกิจเกิดขึ้นแสดงความขัดข้อง (ออกปากพึ่งมิได้) ๑. ดูก่อนคฤหบดีบุตรคนดีแต่พูดท่านพึงทราบว่า ไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตร โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล.

[๑๘๙] ดูก่อนคฤหบดีบุตร คนหัวประจบ ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตร โดยสถาน ๔ คือ ตามใจเพื่อน ให้ทำความชั่ว (จะทำชั่วก็คล้อยตาม) ๑ ตามใจเพื่อนให้ทำความดี (จะทำดีก็คล้อยตาม) ต่อหน้าก็สรรเสริญ ๑ ลับหลังนินทา ๑. ดูก่อนคฤหบดีบุตร คนหัวประจบท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตร โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล

[๑๙๐] ดูก่อนคฤหบดีบุตร คนชักชวนในทางฉิบหาย ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตร โดยสถาน ๔ คือ ชักชวนให้ดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๑ ชักชวนให้เที่ยวตามตรอกต่างๆ ในเวลากลางคืน ๑ ชักชวนให้ดูการมหรสพ ๑ ชักชวนให้เล่นการพนัน อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๑ ดูก่อนคฤหบดีบุตรคนชักชวนในทางฉิบหาย ท่านพึงทราบว่า ไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตรโดยสถาน ๔ เหล่านี้แล. พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้วจึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

[๑๙๑] บัณฑิตผู้รู้แจ้งมิตร ๔ จำพวกเหล่านี้ คือ มิตรปอกลอก ๑ มิตรดีแต่พูด ๑ มิตรหัว ประจบ ๑ มิตรชักชวนในทางฉิบหาย ว่าไม่ ใช่มิตรแท้ พึงเว้นเสียให้ห่างไกล เหมือนคน เดินทาง เว้นทางที่มีภัยเฉพาะหน้า ฉะนั้น

[๑๙๒] ดูก่อนคฤหบดีบุตร มิตร ๔ จำพวกเหล่านี้ คือ มิตรมีอุปการะ ๑ มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ มิตรแนะประโยชน์ มิตรมีความรักใคร่ ๑ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรมีใจดี (เป็นมิตรแท้) .

กถาว่าด้วยมิตรแท้

[๑๙๓] ดูก่อนคฤหบดีบุตร มิตรมีอุปการะ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้ โดยสถาน ๔ คือ รักษาเพื่อนผู้ประมาทแล้ว ๑ รักษาทรัพย์สมบัติของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว ๑ เมื่อมีภัยเป็นที่พึ่งพำนักได้ ๑ เมื่อกิจที่ จำต้องทำเกิดขึ้น เพิ่มทรัพย์ให้สองเท่า ๑. ดูก่อนคฤหบดีบุตร มิตรมีอุปการะท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้ โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล.

[๑๙๔] ดูก่อนคฤหบดีบุตร มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้ โดยสถาน ๔ คือ บอกความลับแก่เพื่อน ๑ ปิดความลับของเพื่อน ๑ ไม่ละทิ้งในเหตุอันตราย ๑ แม้ชีวิตก็อาจสละเพื่อประโยชน์แก่เพื่อนได้ ๑. ดูก่อนคฤหบดีบุตร มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยสถาน . เหล่านี้แล.

[๑๙๕] ดูก่อนคฤหบดีบุตร มิตรแนะประโยชน์ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้ โดยสถาน ๔ คือ ห้ามจากความชั่ว ๑ ให้ตั้งอยู่ในความ ดี ๑ ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ๑ บอกทางสวรรค์ให้ ๑. ดูก่อนคฤหบดีบุตร มิตรแนะประโยชน์ ท่านพึงทราบว่า เป็นมิตรแท้ โดยสถาน ๔เหล่านี้แล.

[๑๙๖] ดูก่อนคฤหบดีบุตร มิตรมีความรักใคร่ พึงทราบว่าเป็นมิตรแท้ โดยสถาน ๔ คือ ไม่ยินดีด้วยความเสื่อมของเพื่อน ๑ ยินดีด้วยความเจริญของเพื่อน. ห้ามคนที่กล่าวโทษเพื่อน ๑ สรรเสริญคนที่ สรรเสริญเพื่อน ๑. ดูก่อนคฤหบดีบุตร มิตรมีความรักใคร่ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้ โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล. พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

[๑๙๗] บัณฑิตรู้แจ้งมิตร ๔ จำพวก เหล่านี้ คือ มิตรมีอุปการะ ๑ มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ๑ มิตรแนะประโยชน์ ๑ มิตรมีความรักใคร่ ๑ ว่าเป็น มิตรแท้ฉะนี้แล้ว พึงเข้าไป คบหาโดยเคารพ เหมือนมารดากับบุตรฉะนั้น.

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
pirmsombat
วันที่ 29 เม.ย. 2550
ขออนุโมทนา และ ขอบคุณ คุณแล้วเจอกัน ครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
อิสระ
วันที่ 30 เม.ย. 2550

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
คนรักหนัง
วันที่ 30 เม.ย. 2550

[๑๙๐] ดูก่อนคฤหบดีบุตร คนชักชวนในทางฉิบหาย ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตร โดยสถาน ๔ คือ ชักชวนให้ดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๑ ชักชวนให้เที่ยวตามตรอกต่างๆ ในเวลากลางคืน ๑ ชักชวนให้ดูการมหรสพ ๑ ชักชวนให้เล่นการพนัน อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๑ ดูก่อนคฤหบดีบุตรคนชักชวนในทางฉิบหาย ท่านพึงทราบว่า ไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตรโดยสถาน ๔ เหล่านี้แล.

ดังนั้น ขณะที่ชวนเพื่อนไปดูหนัง ขณะนั้นก็เป็นคนเทียมมิตรใช่ไหมครับ ผมจะได้ไม่ชวนใครอีกเลย

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
olive
วันที่ 30 เม.ย. 2550
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 30 เม.ย. 2550

เป็นธรรมดาเรายังเป็นปุถุชนยังมีกิเลสอยู่ และกุศลก็ไม่ได้เกิดตลอดเวลา ส่วนมากวันๆ อกุศลเกิดมากกว่า การชวนเพื่อนไปดูหนังไม่ดี ชักชวนในทางเสื่อมโภคทรัพย์ และการเลี้ยงหนังเพื่อนไม่เป็นบุญ ไม่เป็นกุศลค่ะ นรชนพึงอยู่ในถิ่นที่เหมาะ พึงทำอารยชนให้เป็นมิตร ถึงพร้อมด้วยความตั้งตนไว้ชอบ มีความดีอันได้ทำไว้ก่อน ข้าวเปลือก ทรัพย์ ยศเกียรติ และความสุข ย่อมพรั่งพรูมาสู่นรชนผู้นั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
citta89121
วันที่ 1 พ.ค. 2550

พระโสดาบันไม่ใช่พระอนาคามี จึงยังมีความยินดีพอใจในรูป เสียง ... โผฏฐัพพะ จะเป็นไป ได้ไหมที่พระโสดาบันจะชวนใครไปดูหนัง แต่ขณะนั้นจะกล่าวว่าท่านเป็นคนเทียมมิตร ก็ไม่ น่าจะใช่

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 1 พ.ค. 2550

ขณะที่เป็นมิตร ขณะนั้นต้องเป็นกุศล จิตเกิดดับสลับกันเร็วมาก ดังนั้นการพิจารณา ก็ต้องทีละขณะจิต มิใช่เป็นเรื่องราวยาวๆ ครับ เช่น ขณะแข่งดี ถึงแม้เราบอกว่าเป็นเพื่อนกัน แต่ถ้าขณะแข่งดีเมื่อไหร่ ขณะนั้นก็มิใช่มิตรครับ ดังนั้น เราจะกล่าวว่า ขณะที่เป็นอกุศล จะเป็นมิตรไม่ได้เลยครับ จึงควรเริ่มจากตัวเองด้วยการเป็นมิตรแท้ ตามพระไตรปิฎก และชักชวนในทางที่ดี เราก็จะมีมิตรแท้ เช่นกีัน เพราะเราเป็นมิตรแท้กับคนอื่นครับ

เรื่อง ควรชักชวนในทางที่ดี เพราะสัตว์โลกพร้อมจะโน้มเอียงในทางนั้น

[เล่มที่ 20] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 16

ข้อความบางตอนจาก

อรรถกถา ฆฏิการสูตร

บทว่า เอวสมฺม ความว่า แม้ในปัจจุบันนี้ พวกมนุษย์ มีใครชวนว่า พวกเราไปไหว้พระเจดีย์ ไปฟังธรรมกันเถอะ จะไม่กระทำความอุตสาหะ แต่ใครๆ ชวนว่าพวกเราไปดูฟ้อนรำขับร้องเป็นต้น กันเถอะ ดังนี้ จะรับคำด้วยการชักชวนเพียงครั้งเดียว

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
citta89121
วันที่ 2 พ.ค. 2550

มีพุทธพจน์ ตรัสว่า ขณะที่เป็นอกุศล ขณะนั้นเป็นพาล ขณะที่เป็นกุศลขณะนั้นเป็นบัณฑิต แต่พระโสดาบันเป็นพระอริยบุคคล แม้อกุศลจะเกิดกับท่าน ก็ไม่ควรกล่าวว่าท่านเป็นพาล ใช่หรือไม่

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
pornchai.s
วันที่ 2 พ.ค. 2550

ต้องแยก ปรมัตถ์ กับ บัญญัติ ออกจากกันครับ อกุศลเกิดขึ้นเมื่อใด สภาพธรรมขณะนั้น ย่อมเป็นอกุศล ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน แต่อกุศลของพระโสดาบัน ไม่มีอนุสัยที่เป็น ความเห็นผิดในสภาวธรรม (ทิฏฐานุสัย) ไม่มีความสงสัยในเรื่องผลของกรรม-พระรัตนตรัย (วิจิกิจฉานุสัย) อกุศลจะเกิดกับท่านรุนแรงเท่าใด ธรรมชาติของท่านคือไม่ล่วงศีล 5 อีก เลยทั้งชาตินี้และชาติต่อไป ไม่ว่าท่านจะทำอะไรด้วยอกุศล อกุศลนั้นก็จะไม่เป็นเหตุให้ ท่านเกิดในอบายภูมิอีกเลย ดังนั้นพระอริยบุคคลเช่นพระโสดาบัน แม้ท่านจะเป็นเพียง พระอริยบุคคลขั้นต้นยังมีความโกรธ ยังมีความยินดีพอใจในกามคุณ 5 แต่ปุถุชนอย่าง เราๆ ท่านๆ อย่าไปเทียบกับท่านเลยครับ ปัญญาของท่านกับของเรา ต่างกันราวฟ้ากับ ดิน ต่างกันเหมือนฝั่งนี้กับฝั่งโน้นของมหาสมุทร ท่านจะเกิดอีกอย่างมากก็ 7 ชาติเท่านั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 2 พ.ค. 2550

พระโสดาบัน ไม่ใช่พระอนาคามี จึงยังมีความยินดีพอใจในรูป เสียง ... โผฏฐัพพะ จะเป็นไปได้ไหมที่พระโสดาบันจะชวนใครไปดูหนัง แต่ขณะนั้นจะกล่าวว่าท่านเป็นคนเทียมมิตร ก็ไม่น่าจะใช่?

ประเด็นปัญหาของเรื่องนี้คือ ขณะที่ชวนไปดูหนัง ขณะนั้นเป็นมิตรหรือเปล่า

ต้องเข้าใจก่อนว่ากิเลสมีหลายระดับ ถ้าเป็นพระโสดาบัน กับของปุถุชนก็คนละระดับกัน ขณะที่อกุศลของพระโสดาบันเกิด มิได้หมายความว่าท่านจะเป็นคนพาลซึ่งไม่ใชประเด็นปัญหานี้ แต่ประเด็นคือว่าขณะที่ชวนไปดูหนังเป็น มิตรหรือเปล่าครับ ดังนั้นจะขอยกข้อความในพระไตรปิฎกเรื่อง คำว่ามิตรคืออะไร และขณะไหนเป็นมิตรและไม่ใช่มิตร ซึ่งจะทำให้เราทราบในประเด็นปัญหานี้โดยมีพระธรรมเป็นเครื่องเทียบเคียงครับ

เรื่อง ลักษณะของมิตร

[เล่มที่ 39] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 352

ข้อความบางตอนจาก

อรรถกถา เมตตสูตร

ในคาถานั้น ชื่อว่า มิตร เพราะรักและรักษา อธิบายว่า ห่วงใยเพราะมีอัธยาศัยมุ่งประโยชน์เกื้อกูล และรักษาให้พ้นจากการมาถึงของสิ่งไม่เป็นประโยชน์.

ดังนั้น ขณะที่เป็นมิตรคือ ขณะที่นำประโยชน์เข้าไปให้ รักษาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนการชวนดูหนังก็ย่อมนำมาในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ จึงไม่ใช่มิตรครับ เรื่อง การเอาชนะเพื่อนก็มิใช่เพื่อน (มิตร) ซึ่ง การเอาชนะเป็นโลภะ ซึ่งจะดับได้เมื่อเป็นอนาคามีหรือพระอรหันต์

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 718

ข้อความบางตอนจาก

มหาสุตโสมชาดก

พระราชาที่เอาชนะคนซึ่งไม่ควรชนะ ไม่ชื่อว่า เป็นพระราชา เพื่อนที่เอาชนะเพื่อนไม่ชื่อว่าเป็น เพื่อน ภรรยาที่ไม่กลัวเกรงสามีไม่ชื่อว่าเป็นภรรยา บุตรที่ไม่เลี้ยงมารดาบิดาผู้แก่แล้วไม่ชื่อว่าเป็นบุตร.ดังนั้นการพิจารณาความเป็นมิตร ต้องพิจาณาที่การกระทำทีละขณะจิต มิใช่เรื่องราวซึ่งความไม่ใช่เพื่อนในขณะนั้นก็มิได้หมายถึงว่าเป็นพาลครับ เพียงแต่ขณะนั้น ไม่ใช่เพื่อนเพราะเป็นอกุศล แต่ไม่ถึงระดับกิเลสหนาอย่างเราที่เรียกว่าพาล มีพระธรรมเป็นที่พึ่งครับ ขออนุโมทนาครับ การฟังธัมมะก็จะทำให้เราเป็นมิตรที่แท้มากยิ่งขึ้น

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 2 พ.ค. 2550
ขออนุโมทนา
 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
phawinee
วันที่ 28 ก.พ. 2556

ขอบพระคุณและขออนุโทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
chatchai.k
วันที่ 1 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ