พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. กุมภการชาดก ว่าด้วยเหตุให้ประพฤติภิกขาจาริยวัตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ส.ค. 2564
หมายเลข  35870
อ่าน  449

[เล่มที่ 59] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 344

๓. กุมภการชาดก

ว่าด้วยเหตุให้ประพฤติภิกขาจาริยวัตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 59]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 344

๓. กุมภการชาดก

ว่าด้วยเหตุให้ประพฤติภิกขาจาริยวัตร

[๑๐๕๗] อาตมภาพได้เห็นต้นไม้มะม่วงที่งอกงาม ออกผลเขียวไปทั้งต้น ในระหว่างป่ามะม่วง เมื่อกลับออกมา ได้เห็นมะม่วงต้นนั้น หักย่อยยับ เพราะผลของมันเป็นเหตุ ครั้นเห็นแล้ว อาตมภาพจึงได้ประพฤติภิกขาจาริยวัตร.

[๑๐๕๘] หญิงสาวคนหนึ่งสวมกำไลแขนหินหยก เกลี้ยงกลมคู่หนึ่ง ที่นายช่างผู้ชำนาญเจียรไนแล้ว ไม่มีเสียงดัง แต่เพราะอาศัยกำไลแขน ทั้ง ๒ จึงมีเสียงดังขึ้น อาตมภาพได้เห็น เหตุนั้นแล้ว จึงได้ประพฤติภิกขาจาริยวัตร.

[๑๐๕๙] นกจำนวนมากพากันบินตามรุมล้อม ตี จิกนกตัวหนึ่ง ที่กำลังนำก้อนเนื้อมา เพราะอาหารเป็นเหตุ อาตมภาพได้เห็นเหตุนั้นแล้ว จึงได้ประพฤติภิกขาจาริยวัตร.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 345

[๑๐๖๐] อาตมภาพได้เห็นวัวผู้ตัวหนึ่ง ท่ามกลางฝูงมีหนอกขึ้นเปลี่ยว ประกอบด้วยสีสวย และมีกำลังมาก ได้เห็นมันขวิดวัวตัวหนึ่งตาย เพราะกามเป็นเหตุ ครั้นได้เห็นเหตุนั้นแล้ว จึงได้ประพฤติภิกขาจาริยวัตร.

[๑๐๖๑] พระราชาเหล่านี้คือ พระเจ้ากรัณฑกะ ของชาวกลิงคะ ๑ พระเจ้านัคคชิของชาวคันธาระ ๑ พระเจ้านิมิราชของชาววิเทหะ ๑ พระเจ้าทุมมุขะของชาวปัญจาละ ๑ ทรงละแว่นแคว้นออกผนวช หาความห่วงใยมิได้.

[๑๐๖๒] พระราชาเหล่านี้ แม้ทุกพระองค์ เสมอด้วยเทพเจ้า เสด็จมาพบกัน ย่อมสง่างามเหมือนไฟลุก ฉะนั้น ดูก่อนนางผู้มีโชค แม้เราก็ละกามทั้งหลายทิ้งแล้ว ดำรงอยู่ตามแนวทาง ของตนเที่ยวไปคนเดียว.

[๑๐๖๓] เวลานี้เท่านั้น เวลาอันนอกจากนี้ จะไม่มีเลย ภายหลังคงไม่มีผู้สอนฉัน ข้าแต่ท่าน

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 346

ผู้มีโชค ฉันเองก็จักพ้นจากมือชาย เที่ยวไปคนเดียว เหมือนนางนกพ้นจากข้อง ฉะนั้น.

[๑๐๖๔] เด็กทั้งหลายรู้จักดิบ รู้จักสุก รู้จักเค็ม และจืด ฉันเห็นข้อนั้นแล้ว จึงบวช เธอจง เที่ยวไป เพื่อภิกษาเถิด ฉันจะเที่ยวไปเพื่อภิกษา.

จบกุมภการชาดกที่ ๓

อรรถกถากุมภการชาดกที่ ๓

พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภการข่มกิเลสแล้ว ตรัสเรื่องนี้มีคำเริ่มต้นว่า อมฺพาหมทฺทํ วนมนฺตรสฺมึ ดังนี้. เรื่องจักมีแจ้งในปัญญาสชาดก.

ก็กาลครั้งนั้น ที่นครสาวัตถี สหาย ๕๐๐ คน บวชแล้ว พักอยู่ภายในโกฏิสัณฐาร ในเวลาเที่ยงคืนได้ตรึกถึงเรื่องกามวิตก. พระศาสดาทรงตรวจดู สาวกของพระองค์ ทั้งคืนทั้งวัน ๖ ครั้ง คือ กลางคืน ๓ ครั้ง กลางวัน ๓ ครั้ง ทรงพิทักษ์รักษา เหมือนนกกะต้อยติวิด รักษาไข่ จามรีรักษาขนหาง มารดารักษาลูกน้อยที่น่ารัก และเหมือนคนตาข้างเดียว รักษาตาที่เหลืออยู่ ฉะนั้น เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงข่มกิเลสที่เกิดขึ้น ของสาวกทั้งหลายในขณะนั้น. วันนั้น เวลาเที่ยงคืน

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 347

พระองค์กำหนดตรวจดูพระเชตวันอยู่ ทรงทราบวิตกของภิกษุเหล่านั้น ฟุ้งขึ้น ทรงดำริว่า กิเลสนี้เมื่อฟุ้งขึ้น ในภายในของภิกษุเหล่านี้. จักทำลายเหตุแห่งอรหัตผลเสีย เราตถาคตจักข่มกิเลสแล้วมอบให้ ซึ่งอรหัตผลแก่ภิกษุเหล่านั้น เดี๋ยวนี้แหละ. แล้วเสด็จออกจากพระคันธกุฎี รับสั่งให้ หาพระอานนท์เถระมาแล้ว ตรัสสั่งให้ประชุมว่า ดูก่อนอานนท์ เธอจงให้ภิกษุ ผู้อยู่ภายในโกฏิสัณฐารทั้งหมดประชุมกัน. เสด็จประทับนั่งบนพุทธอาสน์ ที่ปูลาดไว้แล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ควรเป็นไป ในอำนาจของกิเลส ที่เป็นไปแล้วในภายใน ด้วยว่ากิเลส เมื่อเจริญขึ้น ย่อมให้ถึงความพินาศมาก เหมือนปัจจามิตร. ธรรมดาภิกษุ กิเลสแม้มีประมาณเล็กน้อย ก็ควรข่มไว้. บัณฑิตในกาลก่อน เห็นอารมณ์ประมาณเล็กน้อย ก็ข่มกิเลสที่เป็นไปแล้ว ในภายในไว้ให้ปัจเจกโพธิญาณเกิดขึ้น แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีต มาสาธก ดังต่อไปนี้ :-

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัต ครองราชสมบัติ อยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ถือกำเนิดในตระกูลช่างหม้อ ในหมู่บ้าน ใกล้ประตูนครพาราณสี เจริญวัยแล้ว ได้ครอบครองสมบัติ มีบุตรชาย ๑ คน บุตรหญิง ๑ คน เลี้ยงบุตรภรรยา โดยอาศัยการทำหม้อ. ในกาลครั้งนั้น พระราชาทรงพระนามว่า กรกัณฑะ ในทันตปุรนคร แคว้นกลิงคะ มีพระราชบริพารมาก เมื่อเสด็จไปพระราชอุทยาน ทอดพระเนตร เห็นต้นมะม่วง ใกล้ประตูพระราชอุทยาน มีผลน่าเสวย เต็มไปด้วยผลเป็นพวง ประทับบนคอช้างต้นนั้นเอง ทรงเหยียดพระหัตถ์ออก

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 348

ไปเก็บผลมะม่วงพวงหนึ่ง แล้วเสด็จเข้าไปพระราชอุทยาน ประทับนั่งบน มงคลสิลาอาสน์ พระราชทานแก่คนที่ควรพระราชทาน แล้วจึงเสวยผลมะม่วง. จำเดิมแต่เวลาที่พระราชา ทรงเก็บผลมะม่วงแล้ว ตามธรรมดาคนที่เหลือทั้งหลาย ก็ต้องพากันเก็บเหมือนกัน ดังนั้น อำมาตย์บ้าง พราหมณ์ และคหบดีบ้าง จึงพากันเขย่าผลมะม่วงให้หล่น แล้วรับประทานกัน. ผู้ที่มาหลังๆ ก็ขึ้นต้นใช้ไม้ค้อนฟาด ทำให้กิ่งหัก ทลายลงกินกัน แม้แต่ผลดิบๆ ก็ไม่เหลือ. ฝ่ายพระราชาทรงกรีฑา ในพระราชอุทยานตลอดทั้งวันแล้ว ตอนเย็น เมื่อทรงประทับนั่งบนคอช้างต้น ที่ตกแต่งแล้ว เสด็จไปทอดพระเนตร เห็นต้นมะม่วงนั้น จึงเสด็จลงจากคอช้าง แล้วเสด็จไปที่โคนต้นมะม่วง ทรงมองดูลำต้นพลาง ทรงดำริว่า ต้นมะม่วงต้นนั้น เมื่อเช้านี้เอง เต็มไปด้วยผลเป็นพวงสง่างาม ทำความอิ่มตาให้แก่ผู้ดูทั้งหลาย ยืนต้นอยู่ บัดนี้ เขาเก็บผลหมดแล้ว หักห้อยรุ่งริ่งยืนต้นอยู่ไม่งาม เมื่อทรงมองดูต้นอื่นอีก ได้ทรงเห็นต้นมะม่วงต้นอื่น ที่ไม่มีผลแล้ว ประทับยืนที่ควงไม้นั่นเอง ทรงทำต้นมะม่วง มีผลให้เป็นอารมณ์ว่า ต้นไม้ต้นนั้น ยืนต้นสง่างามเหมือนภูเขาแก้วมณีโล้น เพราะตัวเองไม่มีผล ส่วนมะม่วงต้นนี้ ถึงความย่อยยับอย่างนี้ เพราะออกผล แม้ท่ามกลางเรือนนี้ ก็เช่นกันกับต้นมะม่วงที่ออกผล ส่วนการบรรพชา เป็นเช่นกับต้นไม้ที่ไม่มีผล ผู้มีทรัพย์นั่นแหละ มีภัย ส่วนผู้ไม่มีทรัพย์ไม่มีภัย แม้เราก็ควรเป็นเหมือนต้นไม้ ที่ไม่มีผล ดังนี้แล้ว ทรงกำหนดไตรลักษณ์ เจริญวิปัสสนา ยังปัจเจกโพธิญาณ ให้เกิดขึ้นแล้ว ทรง

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 349

รำลึกอยู่ว่า บัดนี้ เราทำลายกระท่อม คือ ท้องของมารดาแล้ว. การปฏิสนธิ ในภพทั้ง ๓ เราตัดขาดแล้ว. ส้วมแหล่งอุจจาระ คือ สงสารเราล้างแล้ว. ทะเลน้ำตาเราวิดแห้งแล้ว. กำแพงกระดูกเราพังแล้ว. เราจะไม่มีการปฏิสนธิอีก ดังนี้ ได้ทรงแต่งองค์ ด้วยเครื่องประดับทั้งหมดประทับยืนอยู่แล้ว. จึงอำมาตย์ทั้งหลาย ได้ทูลพระองค์ว่า ข้าแต่มหาราช พระองค์เสด็จประทับยืนนานเกินไปแล้ว.

รา. เราไม่ใช่พระราชา แต่เราเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า.

อำ. ข้าแต่สมมติเทพ ธรรมดา พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย จะไม่เป็นเช่นกับด้วยพระองค์.

รา. ถ้าเช่นนั้นเป็นอย่างไร?

อำ. โกนผมโกนหนวด ปกปิดร่างกาย ด้วยผ้ากาสาวพัสตร์ มีส่วนเปรียบเทียบ ด้วยดวงจันทร์ที่พ้นจากปากพระราหู พำนักอยู่ที่เงื้อมนันทมูล ในป่าหิมพานต์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นเช่นนี้.

ในขณะนั้น พระราชาทรงยกพระหัตถ์ขึ้น ลูบพระเกษา. ในทันทีนั้นเอง เพศคฤหัสถ์ก็อันตรธานไป เพศสมณะก็ปรากฏขึ้น สมณบริขารทั้งหลาย ที่พระองค์ตรัสถึงอย่างนี้ว่า :-

ไตรจีวร บาตร มีดโกน เข็ม รัดประคต พร้อมด้วยกระบอก กรองน้ำ ๘ อย่างเหล่านี้ เป็นบริขารของภิกษุ ผู้ประกอบความเพียร

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 350

ได้ปกปิดพระกายของพระองค์ทันที. พระองค์ประทับที่อากาศประทาน พระโอวาทแก่มหาชนแล้ว ได้เสด็จไปสู่เงื้อมนันทมูลนั่นแหละ.

ฝ่ายพระราชาทรงพระนามว่า นัคคชิ ในนครตักกศิลา ที่แคว้นคันธาระ เสด็จไปที่ท่ามกลางพระราชบัลลังก์ เบื้องบนปราสาท ทอดพระเนตรเห็นหญิงคนหนึ่ง ในมือแต่ละข้างประดับกำไลแก้วมณี คือ หยก ข้างละอันนั่งบดของหอม อยู่ไม่ไกล ประทับนั่งทอดพระเนตร พลางดำริว่า กำไลแก้วมณี คือหยกเหล่านั้น ไม่กระทบกัน ไม่มีเสียงดัง เพราะเป็นข้างละอัน คือแยกกันอยู่. ภายหลังนางเอากำไลแขน จากข้างขวามาสวมไว้ ที่ข้างซ้ายรวมกัน แล้วเริ่มเอามือขวาดึงของหอมมาบด. กำไลแก้วมณี คือ หยก ที่มือซ้ายมากระทบกำไลข้างที่ ๒ จึงมีเสียงดังขึ้น. พระราชาทอดพระเนตร เห็นกำไลแขนทั้ง ๒ ข้างเหล่านั้น กระทบกันอยู่ มีเสียงดัง จึงทรงดำริว่า กำไลแขนนี้ เวลาอยู่ข้างละอัน ไม่กระทบกัน แต่อาศัยข้างที่ ๒ กระทบกัน ก็มีเสียงดังฉันใด แม้สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แต่ละคนๆ ไม่กระทบกัน ก็ไม่ส่งเสียง แต่พอมี ๒, ๓ คนขึ้นไป ก็กระทบกัน ทำการทะเลาะกัน. ส่วนเราวิจารณ์ ราษฎรในราชสมบัติ ๒ แห่ง ในกัสมิระ และคันธาระ เราควรจะเป็นเหมือนกำไลแขนข้างเดียว ไม่วิจารณ์คนอื่น วิจารณ์ตัวเองเท่านั้นอยู่ ดังนี้แล้ว ทรงทำการกระทบกันแห่งกำไล ให้เป็นอารมณ์แล้ว ทั้งๆ ที่ทรงนั่งอยู่นั่นแหละ ทรงกำหนดไตรลักษณ์ เจริญวิปัสสนา

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 351

แล้วยังปัจเจกโพธิญาณให้เกิด. ข้อความที่เหลือเป็นเช่นกับข้อความ แต่ก่อนนั่นแหละ.

ที่มิถิลานคร ในวิเทหรัฐ พระเจ้านิมิราช เสวยพระกระยาหารเช้าแล้ว มีคณะอำมาตย์แวดล้อม ได้ประทับยืนทอดพระเนตรระหว่างถนน ทางสีหบัญชรที่เปิดไว้. ครั้งนั้น เหยี่ยวตัวหนึ่ง คาบเอาชิ้นเนื้อ จากเขียงที่ตลาด แล้วบินขึ้นฟ้าไป. นกทั้งหลายมีแร้ง เป็นต้น บินล้อมเหยี่ยวตัวนั้น ข้างโน้นบ้าง ข้างนี้บ้าง ใช้จะงอยปากจิก ใช้ปีกตี ใช้เท้าเฉี่ยวไป เพราะเหตุแห่งอาหาร. มันทนการรังแกตนไม่ไหว จึงทิ้งก้อนเนื้อก้อนนั้นไป. นกตัวอื่นก็คาบเอาเนื้อก้อนนั้นไป. นกเหล่าอื่น ก็พากันละเหยี่ยวตัวนี้ ติดตามนกตัวนั้นไป. ถึงนกตัวนั้นปล่อยแล้ว ตัวอื่นก็คาบไป นกทั้งหลายก็พากันรุมตีนกแม้ตัวนั้น อย่างนั้นเหมือนกัน พระราชาทรงเห็นนกเหล่านั้นแล้ว ทรงดำริว่า นกตัวใดๆ คาบก้อนเนื้อ นกตัวนั้นๆ นั่นแหละมีความทุกข์ ส่วนนกตัวใดๆ ทิ้งสละก้อนเนื้อนั้นทิ้ง นกตัวนั้นๆ นั่นแหละ มีความสุข. แม้กามคุณทั้ง ๕ เหล่านี้ ผู้ใดๆ ยึดถือไว้ ผู้นั้นๆ นั่นแหละ มีความทุกข์ ส่วนผู้ไม่ยึดถือนั่นแหละ มีความสุข เพราะว่ากามเหล่านี้ เป็นของสาธารณะ สำหรับคนจำนวนมาก. ก็แล เรามีหญิงหมื่นหกพันนาง เราควรจะละกามคุณทั้ง ๕ แล้วเป็นสุข เหมือนเหยี่ยวตัวที่ทิ้งก้อนเนื้อ ฉะนั้น. พระองค์ทรงมนสิการโดยแยบคายอยู่ ทั้งๆ ที่ทรงนั่งอยู่นั่นแหละ ทรงกำหนดไตรลักษณ์ เจริญ

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 352

วิปัสสนาแล้ว ยังปัจเจกโพธิญาณให้เกิดขึ้น. ข้อความที่เหลือเป็นเช่นกับ ข้อความแต่ก่อน นั่นแหละ.

แม้ในแคว้นอุตตรปัญจาละ ในกปิลนคร พระราชาทรงพระนามว่า ทุมมุขะ เสวยพระกระยาหารเช้าแล้ว ทรงประดับเครื่องอลังการพร้อมสรรพ มีหมู่อำมาตย์ห้อมล้อม ได้ประทับยืนทอดพระเนตร พระลานหลวง ทางสีหบัญชรที่เปิดไว้. ในขณะนั้น คนเลี้ยงวัวทั้งหลาย ต่างก็เปิดประตูคอกวัว. พวกวัวตัวผู้ออกจากคอก แล้วก็ติดตามวัวตัวเมียตัวหนึ่ง ด้วยอำนาจกิเลส. ในจำนวนวัวเหล่านั้น โคถึกใหญ่ตัวหนึ่งเขาคม เห็นวัวตัวผู้อื่นกำลังเดินมา มีความเห็นแก่ตัว คือ หึงด้วยอำนาจกิเลสครอบงำ จึงใช้เขาแหลมขวิดที่ระหว่างขา. ไส้ใหญ่ทั้งหลาย ของวัวตัวนั้น ทะลักออกมา ทางปากแผล มันถึงความสิ้นชีวิต ณ ที่นั้น นั่นเอง พระราชาทรงเห็นเหตุการณ์นั้นแล้ว ทรงดำริว่า สัตวโลกทั้งหลาย ตั้งต้นแต่สัตว์เดียรัจฉาน ไปถึงทุกข์ ด้วยอำนาจกิเลส วัวผู้ตัวนี้ อาศัยกิเลสถึงความสิ้นชีวิต สัตว์แม้เหล่าอื่นก็หวั่นไหว เพราะกิเลสทั้งหลาย นั่นเอง เราควร จะประหารกิเลส ที่เป็นเหตุ ให้สัตว์ทั้งหลายหวั่นไหว. พระองค์ประทับยืนอยู่นั่นแหละ ทรงกำหนดไตรลักษณ์ เจริญวิปัสสนา แล้วยังปัจเจกโพธิญาณให้เกิดขึ้น. ข้อความที่เหลือ เหมือนกับข้อความในตอนก่อน นั่นเอง.

อยู่มาวันหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้ง ๔ องค์เหล่านั้น กำหนดเวลาภิกขาจารแล้ว ก็เสด็จออกจากเงื้อมนันทมูล ทรงเคี้ยวไม้ชำระฟัน

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 353

นาคลดา ที่สระอโนดาด ทรงทำการชำระพระวรกายแล้ว ประทับยืน บนพื้นมโนศิลา ทรงนุ่งสบงแล้วถือเอาบาตร และจีวร เหาะขึ้นไปบนอากาศด้วยฤทธิ์ ทรงย่ำเมฆ ๕ สีไปแล้ว เสด็จลง ณ ที่ไม่ไกล หมู่บ้านใกล้ประตูนครพาราณสี ทรงห่มจีวรในที่สำราญแห่งหนึ่ง ทรงถือบาตรเสด็จเข้าไปในหมู่บ้านใกล้ประตูเมือง เที่ยวบิณฑบาตลุถึงประตู บ้านพระโพธิสัตว์. พระโพธิสัตว์ เห็นพระปัจเจกเหล่านั้นแล้วดีใจ นิมนต์ให้ท่านเข้าไปในบ้าน ให้นั่งบนอาสนะที่ปูไว้แล้ว ถวายทักขิโนทก อังคาสด้วยของเคี้ยว ของฉัน อันประณีต นั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง ไหว้พระสังฆเถระแล้ว ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การบรรพชาของพระองค์ทั้งหลาย งามเหลือเกิน อินทรีย์ทั้งหลายของพระองค์ผ่องใส ฉวีวรรณก็ผุดผ่อง พระองค์ทรงเห็นอารมณ์อะไรหนอ จึงทรงเข้าถึง การบรรพชา ด้วยอำนาจภิกขาจารวัตร และได้เข้าไปทูลถามพระเถระ แม้ที่เหลือเหมือนทูลถามพระสังฆเถระ. จึงท่านทั้ง ๔ เหล่านั้น ได้ตรัส บอกเรื่องการออกบวชของตนๆ แก่พระโพธิสัตว์นั้น โดยนัยมีอาทิว่า อาตมภาพเป็นพระราชาชื่อโน้น ในนครโน้น ในแคว้นโน้น แล้วได้ตรัสคาถาองค์ละ ๑ คาถาว่า :-

อาตมภาพได้เห็นต้นมะม่วง ที่งอกงาม ออกผลเขียวไปทั้งต้น ในระหว่างป่ามะม่วง เมื่อกลับออกมา ได้เห็นมะม่วงต้นนั้น หักย่อย

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 354

ยับ เพราะผลของมันเป็นเหตุ ครั้นเห็นแล้ว อาตมภาพ จึงได้ประพฤติภิกขาจาริยวัตร.

หญิงสาวคนหนึ่งสวมกำไลแขนหินหยก เกลี้ยงกลมคู่หนึ่ง ที่นายช่างผู้ชำนาญเจียรไนแล้ว ไม่มีเสียงดัง แต่เพราะอาศัยกำไลแขน ข้างทั้ง ๒ จึงมีเสียงดังขึ้น อาตมภาพได้เห็น เหตุนั้นแล้ว จึงได้ประพฤติภิกขาจาริยวัตร.

นกจำนวนมาก พากันบินตามรุมล้อม ตีจิกนกตัวหนึ่ง ที่กำลังนำก้อนเนื้อมา เพราะอาหารเป็นเหตุ อาตมภาพได้เห็นเหตุนั้นแล้ว จึงได้ประพฤติภิกขาจาริยวัตร.

อาตมภาพได้เห็นวัวตัวผู้ตัวหนึ่ง ท่ามกลางฝูง มีหนอกขึ้นเปลี่ยว ประกอบด้วยสีสวย และมีกำลังมาก ได้เห็นมันขวิดวัวตัวหนึ่งตาย เพราะกามเป็นเหตุ ครั้นได้เห็นเหตุนั้นแล้ว จึงได้ประพฤติภิกขาจาริยวัตร.

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 355

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อมฺพาหมทฺทํ ความว่า อาตมภาพ ได้เห็นต้นมะม่วงแล้ว. บทว่า วนมนฺตรสฺมึ ความว่า ในระหว่างป่า อธิบายว่า ท่ามกลางป่ามะม่วง. บทว่า สํวิรูฬฺหํ ความว่า เจริญ ดีแล้ว. บทว่า ตมทฺทสํ ความว่า เมื่อออกไปจากพระราชอุทยาน อาตมภาพได้เห็นมะม่วงต้นนั้นอีกหักย่อยยับ เพราะผลเป็นต้นเหตุ. บทว่า ตํ ทิสฺวา ความว่า ครั้นเห็นมะม่วงต้นนั้น หักย่อยยับ เพราะผลเป็น ต้นเหตุแล้ว อาตมภาพได้ความสังเวชใจ ยังปัจเจกโพธิญาณให้เกิดขึ้น แล้วได้เข้าถึงการบรรพชา ด้วยอำนาจภิกขาจาริยวัตร เพราะฉะนั้น อาตมภาพจึงประพฤติภิกขาจาริยวัตร. ท่านบอกวารจิตทุกอย่างนี้ จำเดิม แต่การเห็นต้นมะม่วงหักย่อยยับ เพราะผลเป็นเหตุ. แม้ในคำตอบของ พระปัจเจกพุทธเจ้าที่เหลือ ก็มีนัยนั้นเหมือนกัน. แต่ในคำตอบนี้ มีอรรถกถาคำที่ยาก ดังต่อไปนี้. บทว่า เสลํ ได้แก่ กำไลแขน แก้วมณีหยก. บทว่า นรวีรุนิฏฺิตํ ความว่า ที่นรชนผู้ประเสริฐ คือ ช่างทั้งหลายเจียระไนแล้ว. อธิบายว่า ที่คนผู้ฉลาดทั้งหลายทำแล้ว. บทว่า ยุคํ ได้แก่ กำไลแขนคู่หนึ่ง โดยทำข้างละอัน. บทว่า ทิชา ทิชํ ความว่า นกที่เหลือก็รุมจิกตี นกตัวที่คาบชิ้นเนื้อไป. บทว่า กุณปมาหรนฺตํ ความว่า นำเอาก้อนเนื้อไป. บทว่า สเมจฺจ ความว่า มารวมกัน คือ ชุมนุมกัน. บทว่า ปริปาตยึสุ ความว่า ติดตามจิกตี. บทว่า อุสภาหมทฺทํ ความว่า อาตมภาพได้เห็นอสุภะ. บทว่า วลกฺกกุํ ได้แก่ มีหนอก สวยงาม.

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 356

พระโพธิสัตว์ครั้นได้สดับคาถาแต่ละคาถา ได้ทำการสดุดีพระปัจเจกพุทธเจ้า แต่ละพระองค์ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ดังข้าพระองค์ขอโอกาสอารมณ์นั่น เหมาะสมสำหรับเหล่าข้าพระองค์ทีเดียว. ก็แล พระโพธิสัตว์ ครั้นสดับธรรมกถานั้น ที่ท่านทั้ง ๔ ทรงแสดงแล้ว เป็นผู้ไม่มีเยื่อใยในฆราวาส เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย เสด็จไปแล้ว รับประทานอาหารเช้าแล้ว นั่งสำราญอยู่ ได้เรียก ภรรยามาพูดว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า ๔ องค์นี้ สละราชสมบัติออกผนวช ไม่มีกังวล ไม่มี ห่วงใย ให้กาลเวลาล่วงไป ด้วยความสุขเกิดจากการบรรพชา ส่วนเราเลี้ยงชีพด้วยค่าจ้าง เราจะประโยชน์อะไร ด้วยการครองเรือน เธอจงสงเคราะห์ คือ เลี้ยงดูลูกอยู่ในบ้านเถิด แล้วกล่าวคาถา ๒ คาถาว่า :-

พระราชาเหล่านี้คือ พระเจ้ากรกัณฑะ ของชาวคลิงคะ ๑ พระเจ้านัคคชิ ของชาวคันธาระ ๑ พระเจ้านิมิราช ของชาววิเทหะ ๑ พระเจ้าทุมมุขะ ของชาวปัญจาละ ๑ ทรงละแว่นแคว้นออกผนวช หาความห่วงใยมิได้.

พระราชาเหล่านี้ แม้ทุกพระองค์เสมอด้วยเทพเจ้า เสด็จมาพบกัน ย่อมสง่างาม เหมือนไฟลุก ฉะนั้น ดูก่อนนางผู้มีโชค แม้เราก็

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 357

ละกามทั้งหลาย ทิ้งแล้ว ดำรงอยู่ตามส่วนของตน เที่ยวไปคนเดียว.

คาถาเหล่านั้น มีเนื้อความว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้เป็นสังฆเถระนั้น เป็นพระราชาแห่งชนบท ของชาวคันธาระ ทรงพระนามว่า กรกัณฑะ ในนครชื่อว่า ทันตปุระ องค์ที่ ๒ เป็นพระราชาแห่งชนบท ของชาวคันธาระ ทรงพระนามว่า นัคคชิ ในตักกศิลานคร องค์ที่ ๓ เป็นพระราชาแห่งชนบท ของชาววิเทหะ ทรงพระนามว่า นิมิราชา ในนครมิถิลา องค์ที่ ๔ เป็นพระราชาแห่งชนบท ของชาวอุตตรปัญจาละ ทรงพระนามว่า ทุมมุขะ ในนครกบิล. พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น ทรงละแคว้นทั้งหลาย เห็นปานนี้แล้ว เป็นผู้ไม่มีความห่วงใย ทรงผนวชแล้ว. บทว่า สพฺเพปิเม ความว่า ก็พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านี้ แม้ทั้งหมด ทรงเป็นผู้เสมอ ด้วยพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ในกาลก่อน ผู้เป็นวิสุทธิเทพ เสด็จมารวมกันแล้ว. บทว่า อคฺคี ยถา ความว่า ไฟที่ลุกโชนแล้ว ย่อมสง่างามฉันใด. บทว่า ตเถวิเม ความว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายแม้เหล่านี้ ย่อมสง่างาม ด้วยคุณธรรมทั้งหลาย มีศีล เป็นต้น ฉันนั้นเหมือนกัน อธิบายว่า แม้เราก็จักบวช เที่ยวไปผู้เดียว เหมือนพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น. นายช่างหม้อ เรียกภรรยาว่า ภัคควี. บทว่า หิตฺวาน กามานิ ความว่า ละวัตถุกามทั้งหลาย มีรูป เป็นต้น. บทว่า ยโถธิกานิ ความว่า ดำรงอยู่แล้ว ด้วยสามารถแห่งแนวทางของตนๆ มีคำอธิบายว่า แม้เราครั้น

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 358

ละวัตถุกามทั้งหลาย ตามที่ตั้งอยู่นั่นเอง ด้วยสามารถแห่งส่วนมีรูป เป็นต้น แล้วก็จักบวชเที่ยวไปผู้เดียว. ปาฐะว่า ยโตธิกานิ ดังนี้ ก็มีเนื้อความของปาฐะนั้นว่า กามทั้งหลาย มีส่วนที่สำรวมแล้ว คือเว้นแล้ว ได้แก่ มีส่วนที่เว้นแล้ว. บทว่า ปพฺพชิสฺสามิ ความว่า เพราะว่าส่วนๆ หนึ่งแห่งกิเลสกามทั้งหลาย ชื่อว่า เป็นสิ่งที่เว้นแล้ว จำเดิมแต่เวลาที่คิดแล้ว. แม้ส่วนของกาม ที่เป็นวัตถุของเขา ที่ดับไปแล้ว ก็เป็นอันเขาเว้นแล้วเหมือนกัน.

ภรรยานั้น ครั้นได้ฟังถ้อยคำของเขาแล้ว จึงพูดว่า ข้าแต่นาย ตั้งแต่เวลาได้ฟังธรรมกถาของพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว แม้ฉันเอง ใจก็ไม่สถิตอยู่ในบ้าน แล้วได้กล่าวคาถานี้ว่า :-

เวลานี้เท่านั้น เวลาอื่นนอกจากนี้ จะไม่มีเลย ภายหลังคงไม่มีผู้พร่ำสอนฉัน ข้าแต่ท่านผู้มีโชค ฉันเองก็จักพ้นจากมือชาย เที่ยวไปคนเดียว เหมือนนางนก พ้นจากข้อง ฉะนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนุสาสิโต เม น ภเวยฺย ปจฺฉา ความว่า ภรรยาชี้แจงว่า ผู้พร่ำสอนคือ ผู้ตักเตือนคงไม่มี เพราะผู้ตักเตือนหาได้ยาก เพราะฉะนั้น เวลานี้เท่านั้น เป็นเวลาบวช เวลาอื่น ไม่มีแล้ว. บทว่า สกุณีว มุตฺตา ความว่า เมื่อนางนกทั้งหลาย ถูก

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 359

พรานนกจับได้ โยนใส่ข้องนก นางนกตัวหนึ่งที่หลุดจากมือของพราน นกตัวนั้นจะเผ่นออกไปกลางหาวไปสู่ที่ตามชอบใจ แล้วบินไปตามลำพัง ตัวเดียวฉันใด แม้ฉันก็ฉันนั้น พ้นจากมือของท่านแล้ว จักเที่ยวไปคนเดียว เพราะฉะนั้น นางเป็นผู้ประสงค์จะบวชเอง จึงได้กล่าวอย่างนี้.

พระโพธิสัตว์ ครั้นได้ฟังคำของนางแล้ว ได้นิ่งอยู่. ส่วนนางประสงค์ จะลวงพระโพธิสัตว์แล้วบวชก่อน จึงกล่าวว่า ข้าแต่นาย ฉันจักไปท่าน้ำดื่ม ขอให้ท่านจงดูเด็ก คือ ลูกไว้ แล้วจึงถือเอาหม้อน้ำ ที่ทำเป็นเหมือนเดินไปท่าน้ำ แล้วหนีไป ถึงสำนักของพวกดาบส ที่ใกล้นครแล้วก็บวช. พระโพธิสัตว์ทราบว่า นางไม่มา จึงเลี้ยงเด็กเอง. ต่อมาเมื่อเด็กเหล่านั้น เติบโตขึ้นหน่อยหนึ่ง ถึงความเป็นผู้สามารถรู้ความเจริญ และความเสื่อมของตน คือดีชั่วแล้ว เพื่อจะทดลองเด็กเหล่านั้น วันหนึ่งพระโพธิสัตว์ เมื่อหุงข้าวสวย ได้หุงดิบไปหน่อย วันหนึ่งแฉะไปหน่อย วันหนึ่งไหม้ วันหนึ่งปรุงอาหารจืดไป วันหนึ่งเค็มไป. เด็กทั้งหลายพูดว่า วันนี้ข้าวดิบ วันนี้แฉะ วันนี้ไหม้ วันนี้จืด วันนี้เค็มไป. พระโพธิสัตว์ พูดว่า ลูกเอ๋ยวันนี้ข้าวดิบ แล้วคิดว่า บัดนี้ เด็กเหล่านี้รู้จักดิบ สุก จืด และเค็มจัดแล้ว จักสามารถเลี้ยงชีพตามธรรมดาของตน เราควรจะบวชละ. ต่อมาท่านได้มอบเด็กเหล่านั้น ให้พวกญาติพูดว่า ดูก่อนพ่อ และแม่ ขอจงเลี้ยงเด็กเหล่านี้ ให้ดีเถิด แล้วเมื่อพวกญาติกำลังโอดครวญอยู่นั่นเองได้ออกจากพระนครไป บวชเป็นฤาษีอยู่ใกล้ๆ พระนคร นั่นเอง. อยู่มาวันหนึ่ง นางปริพาชิกา คือ ภริยาเก่า ได้เห็นท่านกำลังเที่ยว

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 360

ภิกขาจารในนครพาราณสี ไหว้แล้วจึงพูดว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า ท่านเห็นจะให้เด็ก คือ ลูกทั้งหลายพินาศแล้ว. พระมหาสัตว์ ตอบว่า เราไม่ได้ให้เด็ก คือ ลูกพินาศ ออกบวชในเวลาที่พวกเขาสามารถรู้ ความเจริญ และความเสื่อม คือ ดีชั่วของตนแล้ว เธออย่าคิดถึงพวกเขา จงยินดีในการบวชเถิด แล้วได้กล่าวคาถาสุดท้ายว่า :-

เด็กทั้งหลายรู้จักดิบ รู้จักสุก รู้จักเค็ม และจืด ฉันเห็นข้อนั้นแล้ว จึงบวช เธอจงเที่ยวไป เพื่อภิกษาเถิด ฉันก็จะเที่ยวไปเพื่อภิกษา.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตมหํ ความว่า เราเห็นกิริยาของเด็กเหล่านั้นแล้ว จึงบวช. บทว่า จเรว ตฺวํ จรามิหํ ความว่า แม้ท่านก็จงเที่ยวไป เพื่อภิกขาจารเถิด ข้าพเจ้าก็จักเที่ยวไป เพื่อภิกขาจาร.

พระโพธิสัตว์ตักเตือนปริพาชิกา ด้วยประการอย่างนี้แล้ว ก็ส่งตัวไป. ฝ่ายปริพาชิกา รับโอวาทไหว้พระมหาสัตว์แล้ว จึงไปสู่สถานที่ตามที่ชอบใจ. ได้ทราบว่านอกจากวันนั้นแล้ว ทั้ง ๒ ท่านนั้น ก็ไม่ได้พบเห็นกันอีก. ฝ่ายพระโพธิสัตว์ให้ฌาน และอภิญญาเกิดขึ้นแล้ว ได้เป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก.

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 361

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ได้ทรงประกาศสัจธรรมทั้งหลาย ประชุมชาดกไว้ว่า ในที่สุดแห่งสัจธรรม ภิกษุ ๕๐๐ รูป ดำรงอยู่แล้วในอรหัตตผล. ธิดาในครั้งนั้น ได้แก่ อุบลวรรณาเถรีในบัดนี้ บุตร ได้แก่ พระราหุลเถระ ปริพาชิกา ได้แก่ มารดาพระราหุลเถระ ส่วนปริพาชก คือ เราตถาคต ฉะนั้นแล.

จบอรรถกถา กุมภการชาดกที่ ๓