พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. สุลสาชาดก ว่าด้วยผู้รอบรู้เหตุผล ย่อมรอดพ้นศัตรู

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ส.ค. 2564
หมายเลข  35881
อ่าน  433

[เล่มที่ 59] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 485

๓. สุลสาชาดก

ว่าด้วยผู้รอบรู้เหตุผล ย่อมรอดพ้นศัตรู


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 59]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 485

๓. สุลสาชาดก

ว่าด้วยผู้รอบรู้เหตุผล ย่อมรอดพ้นศัตรู

[๑๑๓๗] สร้อยคอทองคำนี้ มีแก้วมุกดา แก้วไพฑูรย์เป็นอันมาก ตลอดจนทรัพย์ นับเป็นพันทั้งหมด ข้าพเจ้ายกให้ท่าน ขอความเจริญจงมีแก่ท่าน และจงประกาศข้าพเจ้าว่า เป็นทาสีเกิด.

[๑๑๓๘] แน่ะ แม่คนงาม เจ้าจงเปลื้อง เครื่องประดับออก อย่ามัวร่ำไรให้มากไปเลย เราไม่รับรู้อะไรทั้งนั้น เรานำเจ้ามา เพื่อทรัพย์อย่างเดียว เท่านั้น.

[๑๑๓๙] ฉันมานึกถึงตัวเอง แต่น้อยคุ้มใหญ่ ฉันไม่ได้รู้จักรักชายอื่น ยิ่งไปกว่าท่านเลย.

[๑๑๔๐] ขอเชิญท่านนั่งลง ฉันจักขอกอดท่าน ให้สมรัก และจักกระทำประทักษิณ แก่ท่านเสียก่อน เพราะว่าต่อแต่นี้ไป การคบหากัน ระหว่างฉันกับท่าน จะไม่มีอีก.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 486

[๑๑๔๑] ชายจะเป็นบัณฑิต ในที่ทุกแห่งก็หาไม่ แม้หญิงก็เป็นบัณฑิต มีปัญญาเฉลียวฉลาด ในที่นั้นๆ ได้.

[๑๑๔๒] ชายจะเป็นบัณฑิต ในที่ทุกแห่งก็หาไม่ แม้หญิงก็เป็นบัณฑิต มีปัญญาดำริเหตุผล ได้รวดเร็ว.

[๑๑๔๓] นางสุลสา หญิงแพศยายืนอยู่ ณ ที่ใกล้โจร คิดอุบายจะฆ่าโจร ได้ฆ่าโจรสัตตุกะตาย ได้รวดเร็ว เหมือนนายพรานเนื้อผู้ฉลาด ฆ่าเนื้อได้เร็วพลัน เมื่อมีธนูบริบูรณ์มากแล้ว ฉะนั้น.

[๑๑๔๔] ในโลกนี้ ผู้ใดไม่รู้เหตุผล ที่เกิดขึ้นฉับพลัน ผู้นั้นมีปัญญาเขลา ย่อมถูกฆ่าตาย เหมือนโจร ถูกฆ่าตายที่ซอกภูเขา ฉะนั้น.

[๑๑๔๕] ในโลกนี้ ผู้ใดย่อมรอบรู้ เหตุที่เกิดขึ้น ได้ฉับพลัน ผู้นั้นย่อมพ้น จากความเบียดเบียนของศัตรูได้ เหมือนนางสุลสา หญิงแพศยาหลุดพ้นไป จากโจรสัตตุกะ ฉะนั้น.

จบ สุลสาชาดกที่ ๓

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 487

อรรถกถาสุลสาชาดกที่ ๓

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภนางทาสี ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า อิทํ สุวณฺณกายูรํ ดังนี้.

ได้ยินว่า ในวันที่มีการเล่นมหรสพ วันหนึ่ง เมื่อนางทาสีนั้น จะไปสวนกับหมู่นางทาสี ได้ขอเครื่องแต่งตัว กะนางบุญลักษณเทวี ผู้เป็นนายของตน. นางบุญลักษณเทวี ได้ให้เครื่องแต่งตัวของตน ซึ่งมีราคาถึงหนึ่งแสน แก่นางทาสีนั้น. นางประดับเครื่องแต่งตัวนั้นแล้ว ไปสวนกับหมู่นางทาสี. ครั้งนั้นโจรคนหนึ่ง เกิดความโลภ ในเครื่องแต่งตัว ของนางทาสี คิดว่า เราจักฆ่าหญิงนี้แล้ว ขโมยเครื่องแต่งตัวไป ได้เดินเจรจา กับนางทาสี ไปจนถึงสวน แล้วได้ให้ปลาเนื้อ และสุรา เป็นต้น แก่นางทาสี. นางทาสีคิดว่า ชะรอยชายผู้นี้ จะให้ของด้วยอำนาจกิเลส จึงรับเอาไว้แล้ว เที่ยวเล่นในสวน เพื่อจะทดลองดูให้รู้แน่ ในเวลาเย็นได้ ปลุกหมู่นางทาสี ที่นอนหลับให้ลุกขึ้น แล้วตนได้ไปสู่สำนักโจรนั้น. โจรนั้นกล่าวว่า น้องรักที่ตรงนี้ ไม่มิดชิด เราเดินไปข้างหน้าอีกหน่อยเถิด. นางได้ฟังดังนั้น ก็คิดว่า ที่นี้ก็อาจทำความลับกันได้ แต่ชายผู้นี้ ประสงค์จะฆ่าเรา ขโมยเครื่องแต่งตัวเป็นแน่ เอาเถิดเราจักให้เขาสำนึก ให้จงได้ จึงกล่าวว่า นาย ฉันอ่อนเพลียเพราะเมาสุรา ท่านจงหาน้ำดื่ม ให้ฉันดื่มก่อน แล้วก็พาไปที่บ่อน้ำแห่งหนึ่ง บอกว่า จงตักน้ำจากบ่อนี้

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 488

มาให้ฉัน แล้วชี้เชือก และหม้อน้ำให้. โจรเอาเชือกผูกหม้อน้ำ แล้วหย่อนลงบ่อ. ครั้นโจรก้มหลังจะตักน้ำ นางทาสีผู้มีกำลังมาก จึงใช้มือทั้งสองทุบตะโพก แล้วจับเหวี่ยงลงไปในบ่อ แล้วกล่าวว่า เพียงเท่านี้ ท่านจักยังไม่ตาย จึงได้เอาอิฐแผ่นใหญ่ ทุ่มลงไป บนกระหม่อมอีกแผ่นหนึ่ง. โจรตายในบ่อ นั้นเอง.

นางทาสีกลับเข้าพระนคร มอบเครื่องแต่งตัวให้แก่นาย แล้วเล่าว่า นายวันนี้ ฉันจวนตาย เพราะอาศัยเครื่องแต่งตัวนี้ แล้วเล่าเรื่องทั้งหมด ให้นายฟัง. นางบุญลักษณเทวี ได้เล่าแก่อนาถบิณฑิกเศรษฐี. อนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้กราบทูลพระตถาคต พระบรมศาสดาตรัสว่า ดูก่อนคฤหบดี มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่นางทาสีนั้น ประกอบไปด้วย ปัญญารู้เท่าทันเหตุการณ์ แม้ในกาลก่อน นางก็ประกอบไปด้วยปัญญา เหมือนกัน และมิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่นางทาสีนั้น ฆ่าโจร แม้ในกาลก่อน นางทาสีก็ได้ฆ่าโจรนั้นเหมือนกัน อนาถบิณฑิกเศรษฐี กราบทูลให้ตรัสเรื่องราว จึงได้ทรงนำเอา เรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัต ครองราชสมบัติ อยู่ในนครพาราณสี หญิงนครโสเภณีคนหนึ่ง ชื่อ สุลสา มีนางวรรณทาสี ๕๐๐ เป็นบริวาร ผู้ที่จะมาร่วมกับนางต้องเสียเงินพัน. ในพระนครนั้น มีโจรชื่อ สัตตุกะ มีกำลังเท่าช้างสาร เวลากลางคืน เข้าไปยังเรือนของอิสรชน ปล้นเอาตามใจชอบ. ชาวเมื่อประชุมกันร้องทุกข์ แด่พระ-

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 489

ราชา. พระราชา ทรงบังคับผู้รักษาเมือง ให้วางคนไว้เป็นหมู่ๆ ตามที่นั้นๆ รับสั่งให้ช่วยกันจับโจรตัดหัวเสีย. ผู้รักษาเมือง จับโจรนั้น มัดมือไพล่หลัง เฆี่ยนด้วยหวาย ทีละ ๔ นำไปสู่ตะแลงแกง. มีข่าวลือไป ทั่วพระนครว่า จับโจรได้แล้ว.

ครั้งนั้น นางสุลสา ยืนอยู่ที่หน้าต่าง แลดูระหว่างถนน เห็นโจรเข้า ก็มีจิตรักใคร่ คิดว่า ถ้าเราจักสามารถทำบุรุษ ที่ถูกจับหาว่า เป็นโจรนี้ ให้พ้นไปได้ เราจักอยู่ร่วมกับเขาคนเดียว โดยไม่กระทำกรรมที่เศร้าหมอง เช่นที่แล้วมา คิดดังนี้แล้ว นางได้ติดสินบน พันกหาปณะ แก่ผู้รักษาเมือง ตามนัยที่กล่าวแล้ว ในกัณณเวรชาดก ในหนหลัง. ให้โจรนั้นหลุดพ้นแล้ว นางได้ร่วมอภิรมย์กับโจรนั้น. ครั้นล่วงมา ได้ ๓-๔ เดือน โจรคิดว่า เราไม่อาจอยู่ที่นี้ได้ และก็ไม่อาจจะไปมือเปล่า เครื่องแต่งตัวของนางสุลสานี้ มีราคาถึงหนึ่งแสน เราฆ่านาง แล้วจักเอาเครื่องแต่งตัวนี้ไป. อยู่มาวันหนึ่ง เขากล่าวกะนางว่า น้องรัก เมื่อราชบุรุษ เขาจับตัวพี่นำมา พี่ได้บนบานจะถวายพลีกรรม แก่รุกขเทวดา ที่ยอดเขาโน้น เมื่อรุกขเทวดาไม่ได้พลีกรรม ก็จะมาเบียดเบียนพี่ ส่งไป. โจรกล่าวว่า น้องรัก การส่งไปนั้น ไม่สมควรแก่เราทั้งสอง ต้องประดับร่างกาย ด้วยสรรพาภรณ์ ไปถวายพลีกรรม ด้วยบริวารใหญ่. นางกล่าว ดีแล้วพี่ เราจักกระทำตามนั้น.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 490

ลำดับนั้น โจรให้นางจัดหาของเสร็จ ตามที่ตกลงกันแล้ว ในเวลาที่เดินทางไป ถึงเชิงเขา จึงกล่าวว่า น้องรัก รุกขเทวดาเห็นคนมามาก จักไม่รับพลีกรรม เราขึ้นไป ถวายกันเพียงสองคนเถิด. โจรนั้น ครั้นนางรับคำแล้ว จึงให้นางแบกถาดเครื่องพลี ตนเองเหน็บอาวุธ ๕ ชนิด ขึ้นยอดภูเขา ให้นางวางถาดเครื่องพลี ที่โคนต้นไม้ ซึ่งเกิดที่ปากเหวลึก ชั่วร้อยบุรุษ แล้วกล่าวว่า น้องรัก พี่ไม่ได้มาเพื่อพลีกรรม แต่หมายจะฆ่าเธอ แล้วเอาเครื่องแต่งตัวของเธอไป จึงได้มา เธอจงเปลื้องเครื่องแต่งตัวของเธอ ออกห่อผ้าสาฎก.

นางถามว่า พี่จะฆ่าฉันทำไม?

โจรกล่าวว่า เพื่อต้องการทรัพย์.

นางกล่าวว่า พี่จงระลึกถึงคุณ ที่ฉันทำไว้ ฉันเปลี่ยนแปลงพี่ ซึ่งถูกเขามัด นำมาให้เป็นลูกเศรษฐี ให้ทรัพย์มาก ให้ได้ชีวิต แม้ฉันเอง จะได้ทรัพย์วันละ พันกหาปณะ. ก็ยังไม่เหลียวแลชายอื่น ฉันมีอุปการะแก่พี่ถึงเพียงนี้ ขอพี่อย่าได้ฆ่าฉันเลย ฉันจะให้ทรัพย์แก่พี่อีก เป็นจำนวนมาก และจะเป็นคนรับใช้ของพี่ด้วย. ดังนี้ เมื่อจะวิงวอน โจรนั้น ได้กล่าวคาถาที่ ๑ ความว่า :-

สร้อยคอทองคำนี้ มีแก้วมุกดา แก้วไพฑูรย์เป็นอันมาก ตลอดจนทรัพย์ นับเป็น

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 491

พันทั้งหมด ข้าพเจ้ายกให้ท่าน ขอความเจริญจงมีแก่ท่าน และจงประกาศข้าพเจ้าว่า เป็นทาสีเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กายูรํ ได้แก่ สร้อย สำหรับสวมประดับที่คอ.

บทว่า สาวยา ความว่า ท่านจงประกาศ ในท่ามกลางมหาชน ยึดข้าพเจ้า เป็นทาสีเถิด.

ต่อจากนั้น เมื่อโจรสัตตุกะ กล่าวคาถาที่ ๒ ตามอัธยาศัยของตน ความว่า :-

แน่ะ แม่คนงาม เจ้าจงเปลื้อง เครื่องประดับออก อย่ามัวร่ำไร ให้มากไปเลย เราไม่รับรู้อะไรทั้งนั้น เรานำเจ้ามา เพื่อทรัพย์อย่างเดียวเท่านั้น.

ดังนี้แล้ว นางสุลสา ฉุกคิดถึงเหตุ ที่จะเอาตัวรอดได้ คิดว่า โจรนี้ จักไม่ยอมละชีวิตเรา เราจักใช้อุบายนี้ ผลักโจรนี้ให้ตกลงในเหว ให้ตายเสียก่อน ดังนี้แล้ว กล่าวคาถา ๒ คาถา ความว่า :-

ฉันมานึกถึงตัวเอง แต่น้อยคุ้มใหญ่ ฉันไม่ได้รู้จักรักชายอื่น ยิ่งไปกว่าท่านเลย.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 492

ขอเชิญท่านนั่งลง ฉันจักขอกอดท่าน ให้สมรัก และจักกระทำประทักษิณ แก่ท่านเสียก่อน เพราะว่าต่อแต่นี้ไป การคบหากัน ระหว่างฉันกับท่าน จะไม่มีอีก.

สัตตุกโจร รู้ไม่ทัน ความประสงค์ของนาง จึงกล่าวว่า ดีแล้ว น้องรัก จงมากอดรัดฉันเถิด. นางสุลสา ทำประทักษิณโจร ๓ ครั้ง แล้วกอดรัด กล่าวว่า พี่จ๋า ที่นี้ฉันจักไหว้พี่ ที่ข้างทั้ง ๔ ด้าน แล้วนางก็ก้มศีรษะลง ที่หลังเท้าไหว้ข้างซ้าย ข้างขวา แล้วทำเป็นไป ไหว้ข้างหลัง นางเป็นหญิงแพศยา มีกำลังเท่าช้างสาร จึงรวบแขนทั้งสองของโจร เข้าไว้ กดหัวลง โยนลงไปในเหวลึก ชั่วร้อยบุรุษ. โจรได้แหลกละเอียด ตายลงในเหวนั้นเอง. เทวดาที่สิงสถิตอยู่ยอดภูเขา ได้เห็นกิริยาอาการนั้น ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ความว่า :-

ชายจะเป็นบัณฑิต ในที่ทุกแห่งก็หาไม่ แม้หญิงเป็นบัณฑิต มีปัญญาเฉลียวฉลาด ในที่นั้นๆ ได้.

ชายจะเป็นบัณฑิต ในที่ทุกแห่งก็หาไม่ แม้หญิงก็เป็นบัณฑิต มีปัญญาดำริเหตุผล ได้รวดเร็ว.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 493

นางสุลสา หญิงแพศยายืนอยู่ ณ ที่ใกล้โจร คิดอุบายจะฆ่าโจร ได้ฆ่าโจรสัตตุกะ ได้รวดเร็ว เหมือนนายพรานเนื้อ ผู้ฉลาดฆ่าเนื้อ ได้เร็วพลัน เมื่อมีธนูบริบูรณ์มากแล้ว ฉะนั้น.

ในโลกนี้ ผู้ใดไม่รู้เหตุผล ที่เกิดขึ้นฉับพลัน ผู้นั้นมีปัญญาเขลา ย่อมถูกฆ่าตาย เหมือนโจร ถูกฆ่าตาย ที่ซอกภูเขา ฉะนั้น.

ในโลกนี้ ผู้ใดย่อมรอบรู้ เหตุที่เกิดขึ้น ได้ฉับพลัน ผู้นั้นย่อมพ้นจาก ความเบียดเบียน ของศัตรูได้ เหมือนนางสุลสาหญิงแพศยา หลุดพ้นไป จากโจรสัตตุกะ ฉะนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปณฺฑิตา โหติ ความว่า แม้หญิงก็เป็นบัณฑิต มีปัญญาเฉลียวฉลาดในที่นั้นๆ ได้. อีกอย่างหนึ่ง แม้หญิงเป็นทั้งบัณฑิตด้วย เป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด ในที่นั้นๆ ด้วย.

บทว่า ลหุมตฺถํ วิจินฺติกา ความว่า แม้หญิงก็เป็นบัณฑิต มีปัญญาดำริเหตุผล ได้รวดเร็ว.

บทว่า ลหุญฺจ วต ความว่า ไม่ช้าเลยหนอ.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 494

บทว่า ขิปฺปญฺจ ความว่า โดยเวลาไม่นานเลย.

บทว่า นิกฏฺเ สมเจตยิ ความว่า นางสุลสา ยืนอยู่ใกล้โจร คิดอุบายให้โจรนั้นตาย ได้รวดเร็ว.

บทว่า ปุณฺณายตเนว ความว่า เมื่อมีธนูบริบูรณ์มากแล้ว. ท่านกล่าวอธิบายไว้ดังนี้ เหมือนนายพรานเนื้อผู้ฉลาด เมื่อมีธนูบริบูรณ์มากแล้ว ย่อมฆ่าเนื้อได้ โดยว่องไวฉันใด นางสุลสาฆ่าโจรสัตตุกะได้ ก็ฉันนั้น.

บทว่า โยธ ได้แก่ ในสัตวโลกนี้.

บทว่า นิพฺโพธติ แปลว่า ย่อมรู้.

บทว่า สตฺตุกามิว ความว่า ผู้นั้นย่อมพ้นจากการเบียดเบียน ของศัตรู ดังนางสุลสา พ้นมือสัตตุกโจรได้ ฉะนั้น.

นางสุลสา ฆ่าโจรได้แล้ว ลงจากภูเขา ไปสำนักพวกบริวารชนของตน ถูกถามว่า ลูกเจ้าหายไปไหน? นางตอบว่า อย่าถามถึงมันเลย แล้วขึ้นรถ เข้าไปยังพระนครทันที ดังกล่าวมานี้.

พระบรมศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้ มาแสดงจบลง แล้วทรงประชุมชาดกว่า สามีภรรยาทั้งสองในครั้งนั้น ได้มาเป็นสามีภรรยาคู่นี้เอง ส่วนเทวดา ได้มาเป็นเราผู้ตถาคต ฉะนี้แล.

จบอรรถกถา สุลสาชาดกที่ ๓