พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. หลิททราคชาดก ว่าด้วยลักษณะของผู้ที่จะคบ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ส.ค. 2564
หมายเลข  35897
อ่าน  428

[เล่มที่ 59] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 710

๙. หลิททราคชาดก

ว่าด้วยลักษณะของผู้ที่จะคบ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 59]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 710

๙. หลิททราคชาดก

ว่าด้วยลักษณะของผู้ที่จะคบ

[๑๒๘๓] ความอดทนด้วยดี อยู่ในป่าอันมีที่นอน และที่นั่งอันสงัดเงียบ จะมีผลดีอะไร ส่วน ชนเหล่าใด อดทนอยู่ในบ้าน ชนเหล่านั้น เป็นผู้ประเสริฐกว่าท่าน.

[๑๒๘๔] ข้าแต่พ่อ ฉันออกจากป่าสู่บ้านแล้ว ควรคบคนที่มีศีลอย่างไร มีวัตรอย่างไร ฉันขอถามท่าน ขอท่านจงบอกฉันด้วย.

[๑๒๘๕] แน่ะพ่อ ผู้ใดคุ้นเคยกับเจ้า อดทนต่อความคุ้นเคย ของเจ้าได้ เป็นผู้ตั้งใจฟังคำพูด ของเจ้า และอดทนต่อคำพูดของเจ้าได้ เจ้าไปจากที่นี้แล้ว จงคบผู้นั้นเถิด.

[๑๒๘๖] ผู้ใดไม่มีกรรมชั่ว ด้วยกาย วาจา ใจ เจ้าไปจากที่นี้แล้ว จงตั้งตัวเหมือนบุตรที่เกิดแต่อกผู้นั้น จงคบผู้นั้นเถิด.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 711

[๑๒๘๗] อนึ่ง ผู้ใดย่อมประพฤติโดยธรรม แม้เมื่อประพฤติอยู่ก็ไม่ถือตัว เจ้าไปจากที่นี้แล้ว จงคบผู้นั้น ผู้กระทำกรรมอันบริสุทธิ์ มีปัญญาเถิด.

[๑๒๘๘] แน่ะพ่อ เจ้าอย่าคบบุรุษ ที่มีจิตกลับกลอก ดุจผ้าที่ย้อมด้วยน้ำขมิ้น รักง่ายหน่าย เร็ว ถึงแม้ว่าพื้นชมพูทวีป จะพึงไร้มนุษย์.

[๑๒๘๙] เจ้าจงเว้นคนเช่นนั้นเสีย ให้ห่างไกล เหมือนบุคคล ผู้ละเว้นอสรพิษที่ดุร้าย เหมือน บุคคลผู้ละเว้น หนทางที่เปื้อนคูถ และเหมือนบุคคล ผู้ไปด้วยยาน ละเว้นหนทางที่ขรุขระ ฉะนั้น.

[๑๒๙๐] แน่ะพ่อ ความพินาศ ย่อมมีแก่ผู้ที่คบคนพาล เจ้าอย่าสมาคมกับคนพาลเลย การอยู่ร่วมกับคนพาล เป็นทุกข์ทุกเมื่อ เหมือนอยู่ร่วมกับศัตรู ฉะนั้น.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 712

[๑๒๙๑] แน่ะพ่อ เพราะเหตุนั้น พ่อจึงขอร้องเจ้า ขอเจ้าจงกระทำตามคำของพ่อ เจ้าอย่า สมาคมกับคนพาลเลย เพราะการสมาคมกับคนพาล เป็นทุกข์.

จบ หลิททราคชาดกที่ ๙

อรรถกถาหลิททราคชาดกที่ ๙

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภ ความประเล้าประโลม ของนางถูลกุมารี จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า สุตีติกฺขํ ดังนี้. เรื่องที่เป็นปัจจุบัน จักมีแจ้ง ในจุลลนารทชาดก ในเตรสนิบาต.

ส่วนเรื่องที่เป็นอดีต มีความดังต่อไปนี้ :- นางกุมาริกานั้น ทำลายศีลของดาบสหมู่นั้นแล้ว รู้ว่าดาบสหนุ่มตกอยู่ในอำนาจของตน คิดว่าเราจักลวงดาบสหนุ่มนี้นำไปในครรลองมนุษย์ คิดดังนี้แล้วพูดว่า ขึ้นชื่อว่า ศีลที่รักษาในป่า ซึ่งเว้นจากกามคุณ มีรูป เป็นต้น ย่อมจะมีผลใหญ่ไปไม่ได้ ศีลที่รักษาในครรลองมนุษย์ ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งกามคุณ มีรูป เป็นต้น ย่อมมีผลใหญ่ มาเถิดท่านจงไปรักษาศีลกับเรา ในครรลองมนุษย์นั้น ป่าจะเป็นประโยชน์อะไรแก่ท่าน ดังนี้ จึงได้กล่าวคาถา ที่ ๑ ว่า :-

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 713

ความอดทนด้วยศีล อยู่ในป่าอันมีที่นอน และที่นั่งอันสงัดเงียบ จะมีผลดีอะไร ส่วนชนเหล่าใด อดทนอยู่ในบ้าน ชนเหล่านั้น เป็นผู้ประเสริฐกว่าท่าน.

ความอดกลั้นด้วยดี ชื่อว่า สุตีติกฺขํ ในคาถานั้น. บทว่า ตีติกฺขนฺติ คือ อดกลั้นภัยธรรมชาติทั้งหลาย มีความเย็น เป็นต้น. ดาบสหนุ่มได้ฟังดังนั้นแล้ว กล่าวว่า บิดาของเราไปป่า เมื่อท่านมาแล้ว เราจักลาท่านก่อน แล้วจึงไป.

นางกุมาริกานั้นคิดว่า ได้ยินว่า ดาบสหนุ่มนี้ มีบิดาถ้าท่านเห็นเรา ก็จักโบยตี ให้เราถึงความพินาศ ด้วยไม้คาน เราควรไปก่อนเถิด ครั้นแล้ว ก็กล่าวกะพระดาบสหนุ่มว่า ถ้าเช่นนั้น ฉันจะทำเครื่องหมายในหนทาง ไปก่อนท่านจงตามมาภายหลัง. ดาบสหนุ่มนั้น ครั้นนางกุมาริกา ไปแล้วก็มิได้เก็บฟืน มิได้ตั้งน้ำใช้น้ำฉัน ได้แต่นั่งซบเซาอยู่อย่างเดียว เท่านั้น แม้เวลาบิดามาก็มิได้ต้อนรับ ลำดับนั้น บิดารู้ว่าบุตรของเรานี้ ตกอยู่ในอำนาจของหญิงเสียแล้ว จึงถามดาบสหนุ่มนั้นว่า แน่ะพ่อ เหตุไรเจ้าจึงไม่เก็บฟืน ไม่ตั้งน้ำใช้น้ำฉัน ได้แต่นั่งซบเซาอยู่อย่างเดียว เท่านั้น ดาบสหนุ่มถามว่า ข้าแต่พ่อ ได้ยินว่า ศีลที่รักษาในป่า ไม่มีผลมาก ศีลที่รักษาในครรลองมนุษย์มีผลมากกว่า ฉันจักไปรักษาศีลในครรลอง

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 714

มนุษย์ สหายของฉันสั่งว่าจงตามมาภายหลัง แล้วเขาไปล่วงหน้า ฉันจักไปกับสหายนั้น เมื่อฉันอยู่ในครรลองมนุษย์นั้น ควรคบคนเช่นไร ดังนี้ จึงได้กล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-

ข้าแต่พ่อ ฉันออกจากป่า สู่บ้านแล้ว ควรคบคนที่มีศีลอย่างไร มีวัตรอย่างไร ฉันขอถามท่าน ขอท่านจงบอกฉันด้วย.

ลำดับนั้น ดาบสผู้บิดา เมื่อจะบอกแก่ดาบสหนุ่ม จึงได้กล่าว คาถาที่เหลือว่า :-

แน่ะพ่อ ผู้ใดคุ้นเคยคับเจ้า อดทนต่อความคุ้นเคย ของเจ้าได้ เป็นผู้ตั้งใจฟัง คำพูดของเจ้า และอดทนต่อคำพูดของเจ้าได้ เจ้าไปจากที่นี้แล้ว จงคบผู้นั้นเถิด.

ผู้ใดไม่มีกรรมชั่ว ด้วยกาย วาจา ใจ เจ้าไปจากที่นี้แล้ว จงตั้งตัวเหมือนบุตร ที่เกิดแต่อกผู้นั้น จงคบผู้นั้นเถิด.

อนึ่ง ผู้ใดย่อมประพฤติโดยธรรม แม้เมื่อประพฤติอยู่ ก็ไม่ถือตัว เจ้าไปจากที่นี้แล้ว

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 715

จงคบผู้นั้น ผู้กระทำกรรมอันบริสุทธิ์ มีปัญญาเถิด.

แน่ะพ่อ เจ้าอย่าคบบุรุษ ที่มีจิตกลับกลอก ดุจผ้าที่ย้อมด้วยนำขมิ้น รักง่ายหน่ายเร็ว ถึงแม้ว่าพื้นชมพูทวีป จะพึงไร้มนุษย์.

เจ้าจงเว้นคนเช่นนั้นเสีย ให้ห่างไกล เหมือนบุคคล ผู้ละเว้นอสรพิษที่ดุร้าย เหมือนบุคคลผู้ละเว้น หนทางที่เปื้อนคูถ และเหมือนบุคคล ผู้ไปด้วยยาน ละเว้นหนทางที่ขรุขระ ฉะนั้น.

แน่ะพ่อ ความพินาศ ย่อมมีแต่ผู้ที่คบคนพาล เจ้าอย่าสมาคมกับคนพาลเลย การอยู่ร่วมกับคนพาล เป็นทุกข์ทุกเมื่อ เหมือนอยู่ร่วมกับศัตรู ฉะนั้น.

แน่ะพ่อ เพราะเหตุนั้น พ่อจึงขอร้องเจ้า ขอเจ้าจงกระทำตามคำของพ่อ เจ้าอย่าสมาคมกับคนพาลเลย เพราะการสมาคมกับคนพาล เป็นทุกข์.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 716

บรรดาบทเหล่านั้น หลายบทว่า โย เต วิสฺสาสเต เท่ากับ โย ตว วิสฺสาเสยฺย แปลว่า ผู้ใดพึงคุ้นเคยกับเจ้า. สองบทว่า ขเมยฺย เต ความว่า ผู้ใดพึงอดทนต่อความคุ้นเคย ที่เจ้ากระทำแล้ว ในตน. บทว่า สุสฺสูสี จ ตีติกฺขี จ ความว่า ผู้ใดพึงเป็นผู้ประกอบแล้ว ด้วยการฟังด้วยดี ซึ่งถ้อยคำของเจ้า และด้วยการอดกลั้น ต่อถ้อยคำของเจ้า. ด้วยบทว่า โอรสีว ปติฏฺาย เจ้าพึงตั้งตน คือ พึงดำรงตน อยู่เหมือนบุตร ผู้เกิดแต่อกของมารดา ฉะนั้น แล้วรู้สึกอยู่ว่า เหมือนมารดาของตน พึงคบผู้นั้น. บทว่า โย จ ธมฺเมน จรติ ความว่า ผู้ใดประพฤติโดยสุจริตธรรม ๓ อย่าง นั่นแล. บทว่า น มญฺติ ความว่า แม้เมื่อประพฤติอยู่อย่างนั้น ก็ไม่ถือตัวว่า เราประพฤติธรรม. บทว่า วิสุทฺธการึ ได้แก่ ผู้กระทำกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการอันบริสุทธิ์. บทว่า ราควิราคินํ ได้แก่ ผู้รักง่าย และหน่ายเร็ว คือ มีอันรักแล้วก็หน่าย ในขณะนั้นเป็นสภาพ. บทว่า นิมฺมนุสฺสมฺปิ เจ สิยา ความว่า แม้ถ้าว่า พื้นชมพูทวีปจะไม่มีมนุษย์ไชร้ มีแต่มนุษย์ผู้นั้น ประดิษฐานอยู่ผู้เดียว แม้ถึงกระนั้น เจ้าก็อย่าคบคนเช่นนั้น. บทว่า มหาปถํ คือ ดุจบุคคลละเว้น หนทางที่เปรอะเปื้อน ด้วยคูถ ฉะนั้น. บทว่า ยานีว คือ ดุจบุคคลผู้ไปด้วยยาน. บทว่า วิสมํ คือ ที่ไม่เรียบราบ เช่น เป็นที่ลุ่มที่ดอน มีตอ และหิน เป็นต้น. บทว่า พาลํ อจฺจูปเสวโต ได้แก่ ผู้คบคนพาล คือ คนไม่มีปัญญา. บทว่า สพฺพทา ความว่า แน่ะพ่อ ขึ้นชื่อว่า การอยู่ร่วมกับคนพาล เป็นทุกข์ทุกเมื่อ คือ ตลอดกาลเป็นนิจ

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 717

เหมือนอยู่ร่วมกับศัตรู ฉะนั้น. สองบทว่า ตํ ตาหํ ความว่า เพราะเหตุนั้น พ่อจึงขอร้องเจ้า.

ดาบสหนุ่มนั้น ได้ฟังคำสอนของบิดาอย่างนี้แล้ว กล่าวว่า ข้าแต่พ่อฉันไปสู่ครรลองมนุษย์ จักไม่ได้บัณฑิต เช่นพ่อ ฉันกลัวการไป ในครรลองมนุษย์นั้น ฉันจักอยู่ในสำนักของพ่อ นี้แหละ ลำดับนั้น ดาบส ผู้เป็นบิดา ได้ให้โอวาทแก่ดาบสหนุ่ม ยิ่งขึ้นไปอีก แล้วสอนให้บริกรรม ในกสิณ ต่อมาไม่นานนัก ดาบสหนุ่มก็ได้อภิญญา และสมาบัติ เป็นผู้มีพรหมโลก เป็นที่ไปในเบื้องหน้ากับดาบสผู้เป็นบิดา.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้ มาแสดงแล้ว ได้ทรงประกาศสัจธรรม เวลาจบสัจจะ ภิกษุผู้กระสัน ได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล พระทศพล ทรงประชุมชาดกว่า พระดาบสหนุ่มในครั้งนั้น ได้มาเป็นภิกษุผู้กระสัน ในบัดนี้ นางกุมาริกาในครั้นนั้น ได้มาเป็นนางถูลกุมาริกา ในบัดนี้ ส่วนพระดาบสผู้เป็นบิดา คือ เราตถาคต ฉะนี้แล.

จบอรรถกถา หลิททราคชาดกที่ ๙