พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๑. ปูติมังสชาดก ว่าด้วยโทษของการมอง ในเวลาที่ไม่ควรมอง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ส.ค. 2564
หมายเลข  35899
อ่าน  414

[เล่มที่ 59] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 730

๑๑. ปูติมังสชาดก

ว่าด้วยโทษของการมอง ในเวลาที่ไม่ควรมอง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 59]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 730

๑๑. ปูติมังสชาดก

ว่าด้วยโทษของการมอง ในเวลาที่ไม่ควรมอง

[๑๒๐๑] แน่ะสหาย การจ้องดู ของสุนัขจิ้งจอก ชื่อ ปูติมังสะ ไม่เป็นที่ชอบใจเราเลย บุคคลพึงเว้นสหายเช่นนี้ ให้ห่างไกล.

[๑๓๐๒] สุนัขจิ้งจอกตัวเมีย ชื่อว่า เวณีนี้ เป็นบ้าไป ได้พรรณนาถึงแพะตัวเมีย ผู้เป็นสหาย ให้ผัวฟัง ครั้นแพะตัวเมีย ถอยหลังกลับไป ไม่มา ก็นั่งซบเซาถึงแพะตัวเมีย ชื่อ เมณฑิมาตา ผู้มาแล้ว ถอยหลังกลับไปเสีย.

[๑๒๐๓] แน่ะเพื่อน ท่านนั้นแหละ เป็นบ้า มีปัญญาทราม ขาดปัญญาเครื่องพิจารณา ท่าน นั้นทำอุบาย ล่อลวงว่าตาย แต่ชะเง้อดู โดยกาลอันไม่ควร.

[๑๒๐๔] บัณฑิตไม่ควรเพ่งดู ในกาลอันไม่ควร ควรเพ่งดูแต่ในกาลอันควร ผู้ใดเพ่งดูในกาล

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 731

อันไม่ควร ผู้นั้นย่อมซบเซา เหมือนสุนัขจิ้งจอก ชื่อ ปูติมังสะ ฉะนั้น.

[๑๓๐๕] ดูก่อนสหาย ขอความรักจงมีแก่เรา ท่านจงให้ความเอิบอิ่มแก่เรา สามีของเรากลับฟื้นขึ้นมาแล้ว ถ้าท่านมีความรักเรา ก็จงมากับเราเถิด.

[๑๓๐๖] แน่ะสหาย ขอความรักจงมีแก่ท่าน เราจะให้ความเอิบอิ่มแก่ท่าน เราจักมาด้วยบริวารเป็นอันมาก ท่านจงจัดแจงโภชนาหารไว้เถิด.

[๑๓๐๗] บริวารของท่านเป็นเช่นไร เราจักจัดแจง โภชนาหารเหล่าใด ก็บริวารเหล่านั้นทั้งหมด มีชื่อว่าอย่างไร เราขอถาม ขอท่านจงบอกบริวารเหล่านั้น แก่เรา.

[๑๓๐๘] บริวารของเราเช่นนี้ คือ สุนัข ชื่อมาลิยะ ๑ ชื่อจตุรักขะ ๑ ชื่อปิงคิยะ ๑ ชื่อชัมพุกะ ๑ ท่านจงจัดแจงโภชนาหารไว้ เพื่อบริวารเหล่านั้นเถิด.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 732

[๑๓๐๙] เมื่อท่านออกจากเรือนไป สิ่งของของท่าน ไม่มีใครดูแล จักเสียหาย คำพูดของสหาย มิได้มีความรังเกียจ ท่านจงอยู่ที่นี้เถิด อย่าไปเลย.

จบ ปูติมังสชาดกที่ ๑๑

อรรถกถาปูติมังสชาดกที่ ๑๑

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภความไม่สำรวม จึงได้ตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า น โข เม รุจฺจติ ดังนี้.

ความย่อมีว่า สมัยหนึ่ง ภิกษุจำนวนมาก ไม่คุ้มครองทวาร ในอินทรีย์ทั้งหลาย พระศาสดาตรัสแก่พระอานนทเถระว่า ควรจะกล่าว สอนภิกษุเหล่านี้. รับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ เป็นพิเศษ เสด็จไปในท่ามกลาง ประทับนั่งเหนือบัลลังก์ อันประเสริฐที่จัดไว้ ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมา แล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่า ภิกษุ ไม่ควรถือนิมิตรในรูป เป็นต้น ด้วยสามารถแห่งศุภนิมิตร เพราะถ้าตายลงในขณะนั้น จะบังเกิดในอบาย มีนรก เป็นต้น ฉะนั้น อย่าถือศุภนิมิตรในรูป เป็นต้น ขึ้นชื่อว่า ภิกษุ ไม่ควรยึดรูป เป็นต้น เป็นอารมณ์ เพราะผู้ที่ยึดรูป เป็นต้น

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 733

เป็นอารมณ์ ย่อมถึงมหาพินาศในปัจจุบันทีเดียว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จักขุนทรีย์ที่ถูกแทง ด้วยซี่เหล็กแดง ประเสริฐกว่าการแลดู ศุภนิมิตรในรูป ไม่ประเสริฐเลย เวลาที่พวกเธอจะควรแลดูรูป มีอยู่บางคราว เวลาที่พวกเธอไม่ควรแลดูรูป มีอยู่บางคราว ในเวลาแลดู ไม่ควรแลดู ด้วยสามารถแห่งศุภนิมิตร ควรแลดู ด้วยสามารถแห่งอศุภนิมิตร เท่านั้น เมื่อทำได้อย่างนี้ ก็จักไม่เสื่อม จากอารมณ์ของตน ก็อะไรเล่า เป็นอารมณ์ของพวกเธอ คือ สติปัฏฐาน ๔ อริยมรรคมีองค์ ๘ โลกุตตรธรรม ๙ เมื่อพวกเธอโคจรอยู่ ในอารมณ์เช่นนี้ มารก็จะไม่ได้โอกาสทำร้าย แต่ถ้าพวกเธอ ตกอยู่ในอำนาจกิเลส แลดูด้วยสามารถแห่งศุภนิมิตร ก็จักเสื่อมจากอารมณ์ของตน เหมือนสุนัขจิ้งจอก ชื่อ ปูติมังสะ เสื่อมจากที่หาอาหาร ฉะนั้น แล้วได้ทรงนำเอา เรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัต ครองราชสมบัติ อยู่ในนครพาราณสี. มีแพะหลายร้อย อยู่ในถ้ำเชิงภูเขา ในแดนป่าหิมพานต์ ณ ที่ใกล้ๆ กับที่อยู่ของแพะเหล่านั้น มีสุนัขจิ้งจอก ชื่อ ปูติมังสะ กับภรรยา ชื่อ เวณี อยู่ในถ้ำแห่งหนึ่ง วันหนึ่ง สุนัขจิ้งจอก เที่ยวไปกับภรรยา เห็นแพะเหล่านั้น คิดว่า เราควรจะกินเนื้อแพะเหล่านี้ ด้วยอุบายอย่างหนึ่ง แล้วได้ใช้อุบายฆ่าแพะ วันละตัว สุนัขจิ้งจอกทั้งสอง กินเนื้อแพะ จนมีกำลังร่างกายอ้วนสมบูรณ์ แพะก็น้อยลงโดยลำดับ ในกลุ่มแพะเหล่า

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 734

นั้น มีแพะตัวเมียตัวหนึ่ง ชื่อ เมณฑิกมาตา เป็นแพะฉลาด รู้เท่าทันอุบาย สุนัขจิ้งจอกไม่อาจฆ่ามันได้ วันหนึ่ง จึงปรึกษากับภรรยาว่า ที่รัก แพะทั้งหลาย หมดสิ้นแล้ว เราควรใช้อุบายกินแพะตัวเมียตัวนี้ และในเรื่องนี้ มีอุบายดังนี้ คือ ตัวเจ้าผู้เดียว จงไปเป็นเพื่อนกับเขา ครั้นเมื่อนางแพะมีความคุ้นเคยกับเจ้า เราจักนอนทำเป็นตาย เจ้าจงเข้าไปหา นางแพะแล้วพูดว่า แม่แพะเอ๋ย สามีของฉันตายเสียแล้ว และฉันก็ไม่มีที่พึ่ง นอกจากท่านแล้ว ญาติคนอื่นของฉันไม่มี ท่านจงมาเถิด พวกเราจักพากันร้องไห้คร่ำครวญ เผาศพสามีของฉัน ดังนี้แล้ว จงพาเขามา แล้วฉันจักโดดขึ้น กัดคอฆ่าแพะนั้นเสีย. สุนัขจิ้งจอกตัวเมียรับ คำว่า ดีแล้ว จึงไปคบมันเป็นเพื่อน เมื่อคุ้นเคยกันแล้ว ก็ได้กล่าวกะมันอย่างนั้น. มันจึงกล่าวว่า แน่ะสหาย การที่เราจะไปนั้น ไม่ควร สามีของท่าน กินญาติของเราจนหมด เรากลัว ไม่อาจไป สุนัขจิ้งจอกตัวเมีย จึงกล่าวว่า แน่ะสหาย อย่ากลัวเลย ผู้ที่ตายแล้ว จะทำอะไรได้ แพะตัวเมีย แม้กล่าวตอบอย่างนี้ว่า สามีของท่านมีฤทธิ์เดชมาก ฉันกลัวจริงๆ ดังนี้ ถูกสุนัขจิ้งจอกตัวเมีย วิงวอนอยู่บ่อยๆ คิดว่า สุนัขจิ้งจอกคงตายแน่ จึงรับคำ แล้วไปกับสุนัขจิ้งจอกตัวเมีย และเมื่อไปมันคิดว่า ใครจะรู้ว่า จักมีเหตุอะไรเกิดขึ้น จึงให้สุนัขจิ้งจอกตัวเมีย ไปข้างหน้า มันตามไปพลาง คอยกำหนดสุนัขจิ้งจอกอยู่ด้วย เพราะความสงสัยในสุนัขจิ้งจอกนั้น.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 735

สุนัขจิ้งจอกตัวผู้ ได้ยินเสียงฝีเท้าสัตว์ทั้งสอง คิดว่า แพะตัวเมีย มาถึงหรือยัง จึงยกศีรษะขึ้นชำเลืองดู. แพะตัวเมียเห็นสุนัขจิ้งจอกทำ ดังนั้น คิดว่า สุนัขจิ้งจอกนี้เลวมาก ประสงค์จะลวงเรามาฆ่า นอนทำเป็นตาย จึงกลับไป สุนัขจิ้งจอกตัวเมีย จึงถามว่า เหตุใดท่านจึงหนีไปเสีย? เมื่อจะกล่าวเหตุนั้น ได้กล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-

แน่ะสหาย การจ้องดู ของสุนัขจิ้งจอก ชื่อ ปูติมังสะ ไม่เป็นที่ชอบใจเราเลย บุคคลพึงเว้นสหายเช่นนี้ ให้ห่างไกล.

บรรดาเหล่านั้น บทว่า อาฬิ เป็นอาลปนะ ความว่า ดูก่อนเพื่อน คือ ดูก่อนสหาย. บทว่า เอตาทิสา สขารสฺมา ความว่า บุคคลหลีกจากสหาย เห็นปานนี้ แล้วพึงเว้นสหายนั้น ให้ห่างไกล.

ก็แหละ ครั้นกล่าวดังนี้แล้ว แพะตัวเมียได้กลับไปที่อยู่ของตน. สุนัขจิ้งจอกตัวเมีย เมื่อไม่อาจให้แพะตัวเมียกลับมาได้ ก็โกรธแพะตัวเมีย ไปสำนักของสามีตน นั่งซบเซาอยู่. ลำดับนั้น สุนัขจิ้งจอกตัวผู้ เมื่อจะติเตียน สุนัขจิ้งจอกตัวเมีย จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-

สุนัขจิ้งจอกตัวเมีย ชื่อว่า เวณีนี้ เป็นบ้าไปได้ พรรณนาถึงแพะตัวเมีย ผู้เป็นสหายให้

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 736

ผัวฟัง ครั้นแพะตัวเมีย ถอยหลังกลับไปไม่มา ก็นั่งซบเซาถึงแพะตัวเมีย ชื่อ เมณฑิมาตา ผู้มา แล้ว ถอยหลังกลับไปเสีย.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เวณิ เป็นชื่อ ของสุนัขจิ้งจอกตัวเมียตัวนั้น. บทว่า วณฺเณติ ปติโน สขึ ความว่า แรกทีเดียว สุนัขจิ้งจอกตัวเมีย ชื่อว่า เวณีนี้ พรรณาถึงแพะตัวเมีย ผู้เป็นสหายของตน ในสำนักของสามีว่า แม่แพะผู้มีความรักใคร่ คุ้นเคยในเรา จักมาสู่สำนักของสามี ขอให้ท่านจงทำเป็นตายบัดนี้ ครั้นมันถอยกลับไป ก็มานั่งซบเซาถึง คือ เศร้าโศกถึงแม่แพะ ชื่อว่า เมณฑิมาตานั้น ผู้มาแล้ว แต่ไม่ถึงสำนักเรา.

แม่สุนัขจิ้งจอกได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :-

แน่ะเพื่อน ท่านนั้นแหละ เป็นบ้า มีปัญญาทราม ขาดปัญญาเครื่องพิจารณา ท่านนั้น ทำอุบายล่อลวงว่าตาย แต่ชะเง้อดู โดยกาลอันไม่ควร.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อวิจกฺขโณ คือ เว้นจากปัญญา เครื่องพิจารณา. บทว่า อกาเลน วิเปกฺขสิ ความว่า เมื่อแม่แพะ ยังไม่ทันมาถึง สำนักของตนเลย ชะเง้อมอง ในเวลาที่ไม่ควร.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 737

ในที่นี้ มีอภิสัมพุทธคาถา ดังนี้ว่า :-

บัณฑิต ไม่ควรชะเง้อมอง ในกาลอันไม่ควร ควรมองดูแต่ในกาลอันควร ผู้ใดชะเง้อมอง ในกาลอันไม่ควร ผู้นั้นย่อมซบเซา เหมือนสุนัขจิ้งจอก ชื่อ ปูติมังสะ ฉะนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อกาเล ได้แก่ ในกาลที่จิตตุปบาทเกิดขึ้น ด้วยสามารถแห่งศุภนิมิตร เพราะปรารภกามคุณ กาลนี้แลชื่อว่า กาลอันไม่ควร ที่ภิกษุจะพึงแลดูรูป. บทว่า กาเล ได้แก่ ในกาลที่กำหนดถือเอารูป ด้วยสามารถแห่งอศุภนิมิตร ด้วยสามารถแห่งอนุสสติ หรือด้วยสามารถแห่งกสิณ กาลนี้แล ชื่อว่า กาลอันควร ที่ภิกษุจะพึงแลดูรูป.

ในกาลทั้งสองนั้น ชนทั้งหลาย ที่แลดูรูป ในกาลที่มีความกำหนัด ย่อมถึงมหาพินาศ ดังนั้น. คำว่า ในกาลอันไม่ควร บัณฑิตพึงเปรียบเทียบ ด้วยชาดกทั้งหลาย มีหริตจชาดก และโลมสกัสสปชาดก เป็นต้น ชนที่แลดูรูป ด้วยสามารถแห่งอศุภนิมิตร ย่อมดำรงอยู่ในพระอรหัตตผล ดังนั้น คำว่า ในกาลอันควร บัณฑิตพึงเปรียบเทียบ ด้วยเรื่องพระติสสเถระ ผู้เจริญอสุภกัมมัฏฐาน. บทว่า ปูติมํโสว ปชฺฌาติ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สุนัขจิ้งจอก ชื่อ ปูติมังสะ ชะเง้อดูแม่แพะ ในกาลอันไม่ควร

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 738

จึงเสื่อมจากเหยื่อของตน ซบเซาอยู่ฉันใด ภิกษุแลดูรูป ด้วยสามารถแห่งศุภนิมิตร ในกาลอันไม่ควร จึงเสื่อมจากอารมณ์ มีสติปัฏฐาน เป็นต้น ซบเซาอยู่ คือ ลำบากอยู่ ทั้งในทิฏฐธรรม และสัมปรายภพ ฉันนั้น.

แม่สุนัขจิ้งจอก ชื่อ เวณี ได้กล่าวปลอบโยน สุนัขจิ้งจอก ชื่อ ปูติมังสะว่า ข้าแต่สามี ท่านอย่าเสียใจเลย ฉันจะใช้อุบาย นำนางแพะนั้นมาอีก เวลานางแพะมา ท่านอย่าประมาท จงจับไว้ให้ได้ แล้วไปสำนัก นางแพะนั้นกล่าวว่า สหายเอ๋ย การที่ท่านกลับมาเสีย นั้นแหละ เกิดประโยชน์แก่เรา เพราะพอท่านมาแล้วเท่านั้น สามีก็กลับได้สติ บัดนี้ ยังมีชีวิตอยู่ ท่านจงมา ไปทำปฏิสันถารกับสามีของเราเถิด ดังนี้ แล้วกล่าวคาถาที่ ๕ ว่า :-

ดูก่อนสหาย ขอความรักจงมีแก่เรา ท่านจงให้ความเอิบอิ่มแก่เรา สามีของเรากลับฟื้นขึ้นมาแล้ว ถ้าท่านมีความรักเรา ก็จงมา ไปกับเราเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุณฺณปตฺตํ ททาหิ เม ความว่า ขอท่านจงให้ความยินดีแก่เรา ผู้มาแล้ว เพื่อชนที่รักทั้งหลาย. บทว่า ปติ สญฺชีวิโต ความว่า สามีของเรากลับฟื้นขึ้นมาแล้ว คือ ลุกขึ้นมาแล้ว เป็นผู้ไม่มีโรค. บทว่า เอยฺยาสิ ความว่า ขอท่านจงมา ไปกับเราเถิด.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 739

แม่แพะคิดว่า แม่สุนัขจิ้งจอกเลวทรามนี้ ประสงค์จะลวงเรา การกระทำตนเป็นปฏิปักษ์ ไม่สมควรเลย เราจักใช้ลวงนางสุนัขจิ้งจอกบ้าง ดังนี้ แล้วกล่าวคาถาที่ ๖ ว่า :-

แน่ะสหาย ขอความรักจงมีแต่ท่าน เราจะให้ความเอิบอิ่มแก่ท่าน เราจักมาด้วยบริวารเป็นอันมาก ท่านจงจัดแจงโภชนาหารไว้เถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอสฺสํ ความว่า เราจักมา แลเมื่อมา จักมาด้วยบริวารเป็นอันมาก สำหรับอารักขาตน.

ลำดับนั้น แม่สุนัขจิ้งจอก เมื่อจะถามถึงบริวารกะแม่แพะ ได้กล่าวคาถาที่ ๗ ว่า :-

บริวารของท่านเป็นเช่นไร เราจักจัดแจงโภชนาหาร เพื่อบริวารเหล่าใด ก็บริวารเหล่านั้น ทั้งหมด มีชื่อว่าอย่างไร เราขอถาม ขอท่านจงบอกบริวารเหล่านั้น แก่เรา.

เมื่อแม่แพะจะบอก ได้กล่าวคาถาที่ ๘ ว่า :-

บริวารของเราเช่นนี้ คือ สุนัข ชื่อมาลิยะ ๑ ชื่อจตุรักขะ ๑ ชื่อปิงคิยะ ๑ ชื่อชัม-

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 740

พุกะ ๑ ท่านจงจัดแจงโภชนาหารไว้เพื่อบริวาร เหล่านั้นเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เต เม ความว่า ขอท่านจงบอกบริวารเหล่านั้น แก่เรา.

คำว่า มาลิโย เป็นต้น เป็นชื่อของสุนัข ๔ ตัว.

แม่แพะกล่าวดังนี้แล้ว ได้กล่าวต่อไปว่า บรรดาสุนัขเหล่านั้น ตัวหนึ่งๆ มีบริวารตัวละห้าร้อย เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจักมีสุนัขสองพันตัว แวดล้อมมา ดังนี้ แล้วกล่าวว่า ถ้าสุนัขเหล่านั้น ไม่ได้โภชนาหาร ก็จักฆ่าท่านทั้งสองกินเสีย. แม่สุนัขจิ้งจอกได้ฟังดังนั้น ก็กลัว คิดว่า ไม่เป็นการสมควร ที่แม่แพะนี้ จะไปในสำนักของสามีเรา เราจักใช้อุบาย ทำให้แม่แพะนี้ ไม่ไป ดังนี้ แล้วกล่าวคาถาที่ ๙ ว่า :-

เมื่อท่านออกจากเรือนไป สิ่งของของท่าน ไม่มีใครดูแล จักเสียหาย คำพูดของสหาย มิได้มีความรังเกียจ ท่านจงอยู่ที่นี้เถิด อย่าไปเลย.

อธิบายความแห่งคาถานั้นว่า แน่ะสหาย ในเรือนของท่าน มีสิ่งของอยู่เป็นอันมาก เมื่อท่านออกจากเรือนไป สิ่งของนั้น ก็จักไม่มีใคร

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 741

ดูแล จักเสียหาย เรานี้แหละจักบอก คำกล่าวของท่าน ผู้เป็นสหาย คือ เป็นเพื่อน มิได้มีความรังเกียจ ท่านจงอยู่ที่นี่แหละ อย่าไปเลย.

ก็แหละ ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว แม่สุนัขจิ้งจอก มีความกลัวมรณภัย รีบไปสำนักของสามี พาสามีหนีไปที่อื่น ทั้งสองผัวเมีย ก็ไม่อาจมาที่นั้นอีก.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้ มาแสดงแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า ในครั้งนั้น เราตถาคต เกิดเป็นเทวดา อยู่ที่ต้นไม้ใหญ่ในที่นั้น ฉะนี้แล.

จบอรรถกถา ปูติมังสชาดกที่ ๑๑