๒. กัณหชาดก ว่าด้วยขอพร
[เล่มที่ 59] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 771
๒. กัณหชาดก
ว่าด้วยขอพร
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 59]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 771
๒. กัณหชาดก
ว่าด้วยขอพร
[๑๓๒๙] บุรุษนี้ดำจริงหนอ บริโภคโภชนะก็ดำ อยู่ในภูมิประเทศก็ดำ เราไม่ชอบใจเลย.
[๑๓๓๐] คนประกอบด้วยตบะ ไม่ชื่อว่า คนดำ เพราะคนที่มีแก่นในภายใน ชื่อว่า เป็นพราหมณ์ บาปกรรมมีอยู่ในคนใด คนนั้นแหละ ชื่อว่า เป็นคนดำ นะท้าวสุชัมบดี.
[๑๓๓๑] ข้าแต่พราหมณ์ คำนั้นท่านกล่าวดีแล้ว เป็นสุภาษิตอันสมควร ข้าพเจ้าจะให้พรท่าน ตามแต่ใจท่านปรารถนาเถิด.
[๑๓๓๒] ข้าแต่ท้าวสักกะ ผู้เป็นใหญ่กว่าภูตทั้งปวง ถ้าจะโปรดประทานพร แก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ปรารถนา ให้ความประพฤติของตน อย่าให้มีความโกรธ อย่าให้มีโทสะ อย่าให้มีความ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 772
โลภ อย่าให้มีความสิเนหา ขอได้ทรงโปรด ประทานพร ๔ ประการนี้ แก่ข้าพระองค์เถิด.
[๑๓๓๓] ดูก่อนท่านพราหมณ์ ท่านเห็นโทษ ในความโกรธ ในโทสะ ในโลภะ และในสิเนหา เป็นอย่างไรหรือ ข้าพเจ้าขอถามความนั้น ขอท่านจงบอกแก่ข้าพเจ้าเถิด.
[๑๓๓๔] ความโกรธเกิด แต่ความไม่อดทน ทีแรกเป็นของน้อย แต่ภายหลังเป็นของมาก ย่อมเจริญขึ้นโดยลำดับ ความโกรธ มักทำความเกี่ยวข้อง มีความคับแค้นมาก เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ชอบใจความโกรธ.
[๑๓๓๕] วาจาของผู้ประกอบด้วยโทสะ เป็นวาจาหยาบคาย ถัดจากนั้น ก็เกิดปรามาส ถูกต้องกัน ต่อจากนั้น ก็ชกต่อยกันด้วยมือ ต่อไปจับท่อนไม้ เข้าทุบตีกัน จนถึงจับศัสตรา เข้าฟันแทงกันเป็นที่สุด โทสะเกิดแต่ความโกรธ เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงไม่ชอบใจโทสะ.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 773
[๑๓๓๖] ความโลภ ก่อให้เกิดอาการหยาบ เป็นเหตุให้เที่ยวปล้น ขู่เอาสิ่งของเขา แสดงของปลอม เปลี่ยนเอาของคนอื่น ประกอบอุบายล่อลวง บาปธรรมทั้งหลายนี้ มีอยู่ในโลภธรรม เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ชอบใจโลภ
[๑๓๓๗] กิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งหลาย เป็นเครื่องสำเร็จได้ด้วยใจ ถูกสิเนหาผูกมัด เข้าอีกด้วยแล้ว ถ้านอนเนื่องอยู่เป็นอันมาก มักทำให้บุคคลเดือดร้อนยิ่งนี้ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ชอบใจสิเนหา.
[๑๓๓๘] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ คำนั้น ท่านกล่าวดีแล้ว เป็นสุภาษิตอันสมควร ข้าพเจ้าจะให้ พรแก่ท่าน ตามแต่ใจท่านปรารถนาเถิด.
[๑๓๓๙] ข้าแต่ท้าวสักกะ ผู้เป็นใหญ่กว่าภูตทั้งปวง ถ้าจะโปรดประทานพร แก่ข้าพระองค์ ขออาพาธทั้งหลาย อันเป็นของร้ายแรง ซึ่งจะทำอันตราย แก่ตบะกรรมได้ อย่าพึงเกิดขึ้นแก่
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 774
ข้าพระองค์ผู้อยู่ในป่า ซึ่งอยู่แต่ผู้เดียวเป็นนิตย์.
[๑๓๔๐] ดูก่อนท่านพราหมณ์ คำนั้นท่านกล่าวดีแล้ว เป็นสุภาษิตอันสมควร ข้าพเจ้าจะให้พรแก่ท่าน ตามแต่ใจท่านปรารถนาเถิด.
[๑๓๔๑] ข้าแต่ท้าวสักกะ ผู้เป็นใหญ่กว่าภูตทั้งปวง ถ้าจะโปรดประทานพร แก่ข้าพระองค์ ขอใจ หรือร่างกาย ของข้าพระองค์ อย่าเข้าไปกระทบกระทั่งใครๆ ในกาลไหนๆ เลย ขอได้ทรงโปรดประทานพรนี้เถิด.
จบ กัณหชาดกที่ ๒
อรรถกถากัณหชาดกที่ ๒
พระศาสดา เมื่อเสด็จเข้าไปอาศัย พระนครกบิลพัสดุ์ ประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ทรงปรารภความยิ้มแย้ม จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า กณฺโต วตายํ ปุริโส ดังนี้.
ได้ยินว่า คราวนั้นเวลาเย็น พระศาสดาแวดล้อม ไปด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จพุทธดำเนินไป ตามบริเวณวิหารนิโครธาราม ได้ทรงยิ้มแย้ม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 775
ณ ประเทศแห่งหนึ่ง พระอานนทเถระจึงคิดว่า อะไรหนอแลเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้พระผู้มีพระภาคทรงยิ้มแย้ม พระตถาคตทั้งหลาย จะทรงยิ้มแย้ม โดยไม่มีเหตุหามิได้ เราจักทูลถามก่อน แล้วประคองอัญชลี ทูลถามเหตุ ที่ทรงยิ้มแย้ม. ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสเหตุ ที่ทรงยิ้มแย้ม แก่พระอานนทเถระว่า ดูก่อนอานนท์ เรื่องเคยมีมาแล้ว มีฤาษีตน หนึ่งชื่อว่า กัณหะ ท่านอยู่ในภูมิประเทศนี้ เป็นผู้ได้ฌาน และรื่นรมย์อยู่ในฌาน ด้วยเดชแห่งศีลของท่าน บันดาลให้ภพของท้าวสักกเทวราช หวั่นไหว ดังนี้ โดยที่เรื่องนั้น ไม่มีปรากฏ พระเถระจึงทูลอาราธนา ให้ตรัสเรื่องราว พระองค์ได้ทรงนำเอา เรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัต ครองราชสมบัติ อยู่ในพระนครพาราณสี. มีพราหมณ์คน ๑ มีสมบัติ ๘๐ โกฏิ ไม่มีบุตร ได้สมาทาน ศีล ปรารถนาบุตร พระโพธิสัตว์บังเกิด ในครรภ์นางพราหมณี ภรรยาของพราหมณ์นั้น ในวันตั้งชื่อ พระโพธิสัตว์ ญาติทั้งหลาย ได้ตั้งชื่อให้ว่า กัณหกุมาร เพราะมีผิวดำ กัณหกุมารนั้น เมื่อมีอายุได้ ๑๖ ปี มีรูปงดงาม ดังรูปที่ทำด้วยแก้วมณี บิดาส่งไปเรียนศิลปะ ในเมืองตักกศิลา ครั้นเรียนสำเร็จแล้ว ก็กลับมา ครั้งนั้น บิดาให้เขาแต่งงานกับภรรยา ที่สมควรกัน กาลต่อมา เมื่อมารดาบิดา ล่วงลับไปแล้ว เขาได้เป็นใหญ่ ปกครองทรัพย์สมบัติทั้งหมด.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 776
อยู่มาวันหนึ่ง กัณหกุมาร ได้ตรวจตราเรือนคลัง รัตนะทั้งหลาย แล้วขึ้นนั่งท่ามกลางบัลลังก์ ให้นำบัญชี ที่เป็นแผ่นทองมา เห็นอักษร ที่ญาติก่อนๆ จดจารึกไว้ ในแผ่นทองว่า ทรัพย์เท่านี้ ญาติคนโน้นให้เกิดขึ้น ทรัพย์เท่านี้ ญาติคนโน้นให้เกิดขึ้น จึงคิดว่า ผู้ที่ทำทรัพย์นี้ ให้เกิดขึ้นไม่ปรากฏ ตายไปหมดแล้ว ปรากฏอยู่แต่ทรัพย์อย่างเดียว ผู้ที่ถือเอาทรัพย์นี้ไปด้วย แม้คนหนึ่ง ก็ได้มี ความจริงไม่มีใคร อาจขึ้นเอาห่อทรัพย์ ติดไปปรโลกได้เลย ทรัพย์เป็นของไม่มีสาระ เพราะจะต้องสาธารณะ ด้วยภัย ๕ ประการ คือ ราชภัย โจรภัย อัคคีภัย อุทกภัย อัปปิยทายาทภัย. การให้ทรัพย์เป็นทาน เป็นสาระ ร่างกายไม่เป็นสาระ เพราะจะต้องสาธารณะ ด้วยโรคมากมาย คนทำความดี มีกราบไหว้ ท่านผู้มีศีล เป็นต้น เป็นสาระ ชีวิตไม่เป็นสาระ เพราะไม่เที่ยงแท้แน่นอน การประกอบความเพียร เจริญวิปัสสนา ด้วยสามารถไตรลักษณ์เป็นสาระ เพราะฉะนั้นเราจักให้ทาน เพื่อถือเอาสาระจากโภคะ ที่ไม่เป็นสาระ. คิดดังนี้แล้ว จึงลุกออกจากอาสนะ ไปเฝ้าพระราชา แล้วถวายบังคมลาพระราชา มาบำเพ็ญทานเป็นการใหญ่ เมื่อบำเพ็ญทานได้ ๗ วัน เขาเห็นทรัพย์มิได้หมดสิ้นไป จึงคิดว่า ประโยชน์อะไร ด้วยทรัพย์สำหรับเรา ขณะที่ยังไม่ถูกชราครอบงำนี้ เราจักบวชทำอภิญญา และสมาบัติให้เกิด แล้วจักมีพรหมโลก เป็นที่ไปในเบื้องหน้า คิดดังนี้แล้ว ก็ให้เปิดประตูเรือนทุกประตู ประกาศว่า สิ่งของทั้งหมด เราได้ให้แล้ว ผู้มีความต้องการ จงนำไปเถิด เขาเกลียดชังสมบัติ เหมือนของโสโครก ละวัตถุกาม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 777
เสีย เมื่อมหาชน กำลังร้องไห้คร่ำครวญถึงอยู่ เขาได้ออกจากเมือง เข้าหิมวันตประเทศ บวชเป็นฤๅษี เที่ยวแลดูภูมิภาค ที่น่ารื่นรมย์ เพื่อเป็นที่อยู่ของตน ได้มาถึงที่ที่ตถาคตยืนอยู่ตรงนี้ คิดว่า เราจักอยู่ในที่นี้. ดังนี้แล้วจึงอธิษฐาน เอาต้นอินทวารุณพฤกษ์ต้นหนึ่ง เป็นที่อยู่ที่กิน อยู่ ณ โคนต้นไม้นั้น ได้ละเสนาสนะ ภายในบ้านเสีย ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ไม่สร้างบรรณศาลา ถือการอยู่โคนต้นไม้เป็นวัตรบ้าง ถือการอยู่ที่แจ้งเป็นวัตรบ้าง ถือการไม่นอนเป็นวัตรบ้าง ถ้าจะนอน ก็นอนบนพื้นดินเท่านั้น คือ การใช้ฟันเป็นดังสาก ใช้ฟันเคี้ยวอย่างเดียว เคี้ยวกินแต่ของที่ไม่สุกด้วยไฟ ไม่เคี้ยวกินของอะไรๆ ที่มีแกลบหุ้ม บริโภคอาหารวันละครั้ง เท่านั้น ยับยั้งอยู่เหนือแผ่นดิน ทำตนเสมอด้วย ดิน น้ำ ไฟ ลม สมาทานธุดงคคุณ มีประมาณเท่านี้อยู่ ได้ยินว่า ในชาดกนี้ พระโพธิสัตว์ เป็นผู้มักน้อยอย่างยิ่ง ต่อมาไม่นานนัก ท่านก็ได้อภิญญา และสมาบัติ เล่นฌานเพลิดเพลินอยู่ ณ ที่นั้น แม้ต้องการผลาหาร ก็ไม่ไปที่อื่น เมื่อต้นไม้ผลิผลก็กินผล เมื่อผลิดอกก็กินดอก เมื่อมีใบก็กินใบ เมื่อใบไม้ไม่มีก็กินเสก็ดไม้ ท่านเป็นผู้สันโดษอย่างยิ่ง ถึงเพียงนี้ อยู่ในสถานที่นี้นาน เวลาเช้าวันหนึ่ง ท่านเก็บผลไม้สุก เมื่อจะเก็บก็มิได้มีความโลภ เที่ยวเก็บในที่อื่น คงนั่งอยู่ที่เดิม นั่นแหละ เหยียดมือไป เก็บผลไม้ที่พอมือถึง บรรดาผลไม้เหล่านั้น ท่านก็มิได้เลือกว่าชอบใจ หรือไม่ชอบใจ แล้วแต่ถึงมือ ก็เก็บเอามา ด้วยเดชแห่งศีลของท่าน ซึ่งสันโดษ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 778
อย่างยิ่งเพียงนี้ ปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ของท้าวสักกเทวราช ได้แสดงอาการร้อนผิดปกติ.
ได้ยินว่า อาสนะนั้น จะร้อนขึ้นด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ ท้าวสักกะสิ้นอายุ ๑ จะสิ้นบุญ ๑ มีสัตว์ผู้มีอานุภาพใหญ่อื่น ปรารถนาที่นั้น ๑ ด้วยเดชศีล ของสมณพราหมณ์ ที่มีฤทธิ์มาก ตั้งอยู่ในธรรม ๑.
ท้าวสักกเทวราช ทรงรำพึงว่า ใครหนอที่ประสงค์ จะให้เราเคลื่อนจากที่ แล้วได้ทอดพระเนตรเห็นกัณหฤๅษี กำลังเก็บผลไม้ อยู่ในประเทศนี้ จึงทรงดำริว่า พระฤๅษีนี้ มีตบะกล้า ชนะอินทรีย์แล้วอย่างยิ่ง เราจักให้บันลือสีหนาท ด้วยธรรมกถา ได้ฟังเหตุดีแล้ว จักบำรุงให้อิ่มหนำ ด้วยพร ทำต้นไม้ให้มีผลเป็นนิจ สำหรับพระฤๅษีนี้ แล้วจักมา. ครั้นทรงดำริ ดังนี้แล้ว ก็เสด็จลงมาโดยเร็ว ด้วยอานุภาพใหญ่ ประทับยืนอยู่ที่โคนต้นไม้ ข้างหลังพระฤๅษี เมื่อจะทดลองดูว่า เมื่อเรากล่าวโทษขึ้นแล้ว ท่านจักโกรธหรือไม่ จึงตรัสพระคาถาที่ ๑ ว่า :-
บุรุษนี้ดำ จริงหนอ บริโภคโภชนะก็ดำ อยู่ในภูมิประเทศก็ดำ เราไม่ชอบใจเลย.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กณฺหํ คือ มีสีดำ. บทว่า โภชนํ ได้แก่ โภชนะ คือ ผลไม้.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 779
กัณหฤๅษี ได้ฟังคำของท้าวสักกะแล้ว พิจารณาดูด้วยทิพยจักษุว่า ใครหนอมาพูดกับเรา รู้ว่าเป็นท้าวสักกะ จึงกล่าวคาถาที่ ๒ โดยไม่แลดูเลยว่า :-
คนประกอบด้วยตบะ ไม่ชื่อว่า คนดำ เพราะคนที่มีแก่นใน ภายใน ชื่อว่า เป็นพราหมณ์ บาปกรรมมีอยู่ ในคนใด คนนั้นแหละ ชื่อว่า เป็นคนดำนะ ท้าวสุชัมบดี.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตปสา คือ บุคคลไม่ชื่อว่า เป็นคนดำ เพราะมีตบะ. บทว่า อนฺโตสาโร ความว่า เพราะว่าคนที่ประกอบด้วยแก่น คือ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะใน ภายใน เห็นปานนี้ ชื่อว่า เป็นพราหมณ์ เพราะมีบาปอันลอยแล้ว. บทว่า ส เว ความว่า ส่วนบาปกรรม มีอยู่ในคนใด คนนั้น ถึงจะเกิดในตระกูลไหนๆ ก็ตาม ถึงจะประกอบด้วยสีแห่งสรีระ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ก็ชื่อว่า เป็นคนดำ ทั้งนั้น.
ครั้นพระฤๅษี กล่าวอย่างนี้แล้ว จึงจำแนกประเภท บาปกรรม ที่ทำให้สัตว์เหล่านี้ เป็นคนดำโดยพิสดาร ติเตียนบาปเหล่านั้น แม้ทั้งหมด สรรเสริญคุณ มีศีล เป็นต้น แสดงธรรมแก่ท้าวสักกะ ประดุจว่า ให้ดวงจันทร์ตั้งขึ้นในอากาศ ท้าวสักกะ ทรงสดับธรรมกถา ของกัณหฤๅษีแล้ว
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 780
มีความเบิกบาน เกิดความโสมนัส เมื่อจะนิมนต์ พระมหาสัตว์ด้วยพร ได้ตรัสพระคาถาที่ ๓ ว่า :- ข้าแต่พราหมณ์ คำนั้น ท่านกล่าวดีแล้ว เป็นสุภาษิตอันสมควร ข้าพเจ้าจะให้พรท่าน ตามแต่ใจท่าน ปรารถนาเถิด.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอตสฺมึ เป็นต้น ความว่า คำนี้ใด อันท่านผู้เป็นราวกะว่า เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า กล่าวดีแล้ว คำนั้น อันท่านกล่าวดีแล้ว เป็นสุภาษิต ชื่อว่า สมควร เพราะเป็นคำที่สมควรแก่ท่าน ท่านปรารถนาพร อย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยใจ คือ พรใดอันท่านอยากได้แล้วปรารถนาแล้ว ข้าพเจ้าจะให้พรนั้นทั้งหมด แก่ท่าน.
พระมหาสัตว์ ได้ฟังดังนั้นแล้ว คิดว่า ท้าวสักกะนี้ เมื่อจะทดลองเราว่า เมื่อถูกกล่าวโทษของตน จักโกรธหรือไม่หนอ? ได้แสร้งติเตียน ฉวีวรรณ โภชนะ และที่อยู่ของเรา บัดนี้รู้ว่าเราไม่โกรธ จึงมีจิตเลื่อมใส แล้วให้พร เธอคงสำคัญเราว่าประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อความเป็นใหญ่ ชั้นท้าวสักกะ ชั้นพรหมเป็นแน่ เราจะตัดความสงสัยของท้าวสักกะ ในเรื่องนั้นเสีย ควรจะรับพร ๔ ประการ เหล่านี้ คือ อย่าให้ความโกรธต่อผู้อื่น เกิดขึ้นแก่เรา ๑ อย่าให้โทสะต่อผู้อื่น เกิดขึ้นแก่เรา ๑ อย่าให้ความโลภในสมบัติของผู้อื่น เกิดขึ้นแก่เรา ๑ อย่าให้สิเนหาในผู้อื่น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 781
เกิดขึ้น ๑ เราพึงเป็นกลางอยู่เท่านั้น ๑ คิดดังนี้แล้ว เมื่อจะรับพร ๔ ประการ เพื่อจะตัดความสงสัย ของท้าวสักกะ จึงกล่าวคาถาที่ ๔ ว่า :-
ข้าแต่ท้าวสักกะ ผู้เป็นใหญ่กว่าภูตทั้งปวง ถ้าจะโปรดประทานพร แก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ปรารถนา ให้ความประพฤติของตน อย่าให้มีความโกรธ อย่าให้มีโทสะ อย่าให้มีความโลภ อย่าให้มีความสิเนหา ขอได้ทรงโปรดประทานพร ๔ ประการนี้ แก่ข้าพระองค์เถิด.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วรญฺจ เม อโท สกฺก ความว่า ถ้าพระองค์จะโปรด ประทานพรแก่ข้าพระองค์ไซร้. บทว่า สุนิกฺโกธํ คือ อย่าให้มีความโกรธด้วยดี ด้วยสามารถแห่งการไม่โกรธตอบ. บทว่า สุนิทฺโทสํ คือ อย่าให้มีโทสะด้วยดี ด้วยสามารถแห่งการไม่ประทุษร้ายตอบ. บทว่า นิลฺโลภํ คือ อย่าให้มีความโลภในสมบัติผู้อื่น. บทว่า วุตฺติมตฺตโน ความว่า ข้าพระองค์ปรารถนาให้ความประพฤติของตน มีภาวะอย่างนี้. บทว่า นิเสฺนหํ ได้แก่ อย่าให้มีความสิเนหา คือ ให้ ปราศจากความโลภ แม้ในของของตน คือ ในบุตร และธิดาทั้งหลาย ซึ่งมีวิญญาณ หรือในทรัพย์มีข้าวเปลือก เป็นต้น ซึ่งไม่มีวิญญาณ. บทว่า อภิกงฺขามิ ความว่า ข้าพระองค์ปรารถนา ให้ความประพฤติของ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 782
ตน ประกอบด้วยองค์ ๔ ประการ เห็นปานนี้. ด้วยบทว่า เอเต เม จตุโร วเร นี้ พระมหาสัตว์กล่าวว่า ขอพระองค์ได้ทรงโปรด ประทานพร ๔ ประการ มีอย่าให้มีความโกรธ เป็นต้นเหล่านั้น แก่ข้าพระองค์เถิด.
ถามว่า ก็พระมหาสัตว์ ไม่ทราบหรือว่า ใครๆ ไม่อาจรับพร ในสำนักของท้าวสักกะ แล้วขจัดความโกรธ เป็นต้น ได้ด้วยพร.
ตอบว่า ไม่ทราบหามิได้ แต่ที่รับพร เพราะคิดว่า เมื่อท้าวสักกะ ประทานพร การพูดว่า ข้าพเจ้าไม่รับ ไม่สมควร และเพื่อจะตัดความสงสัย ของท้าวสักกะนั้น จึงรับพร.
ลำดับนั้น ท้าวสักกะทรงดำริว่า กัณหบัณฑิต เมื่อจะรับพร ก็รับแต่พร ที่หาโทษมิได้ทั้งนั้น เราจักถามถึงคุณ และโทษ ในพรเหล่านี้ กะพระฤๅษีก่อน ครานั้น เมื่อพระองค์ จะถามพระฤาษี จึงตรัสพระคาถา ที่ ๕ ว่า :-
ดูก่อนท่านพราหมณ์ ท่านเห็นโทษ ในความโกรธ ในโทสะ ในโลภะ และในสิเนหา เป็นอย่างไรหรือ? ข้าพเจ้าขอถามความนั้น ขอท่านจงบอกแก่ข้าพเจ้าเถิด.
พึงทราบความแห่งเรื่องนั้นว่า ดูก่อนท่านพราหมณ์ ท่านเห็นโทษ ในความโกรธ ในโทสะ ในโลภะ หรือในสิเนหา อย่างไรหรือหนอ?
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 783
ข้าพเจ้าขอถามความนั้น ขอท่านจงบอกแก่ข้าพเจ้าก่อนเถิด เพราะว่า ข้าพเจ้าไม่ทราบถึงโทษ ในอกุศลธรรมนั้น
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์กล่าวกะ ท้าวสักกะว่า ถ้าเช่นนี้ ท่านจงฟัง. ดังนี้แล้ว กล่าวคาถา ๔ คาถาว่า :-
ความโกรธเกิด แต่ความไม่อดทน ทีแรกเป็นของน้อย แต่ภายหลังเป็นของมาก ย่อมเจริญขึ้นโดยลำดับ ความโกรธ มักทำความเกี่ยวข้อง มีความคับแค้นมาก เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงไม่ชอบใจความโกรธ.
วาจาของผู้ประกอบด้วยโทสะ เป็นวาจาหยาบคาย ถัดจากนั้น ก็เกิดปรามาส ถูกต้องกัน ต่อจากนั้น ก็ชกต่อยกันด้วยมือ ต่อไปก็จับท่อนไม้ เข้าทุบตีกัน จนถึงจับศัสตรา เข้าฟันแทงกันเป็นที่สุด โทสะเกิด แต่ความโกรธ เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์ จึงไม่ชอบใจโทสะ.
ความโลภ ก่อให้เกิดอาการหยาบ เป็นเหตุให้เที่ยวปล้นขู่ เอาสิ่งของเขา แสดงของ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 784
ปลอมเปลี่ยนเอาของคนอื่น ประกอบอุบายล่อลวง บาปธรรมทั้งหลายนี้ มีอยู่ในโลภธรรม เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ชอบใจโลภ.
กิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งหลาย เป็นเครื่องสำเร็จได้ด้วยใจ ถูกสิเนหาผูกมัดเข้าอีกด้วย แล้ว ถ้านอนเนื่องอยู่เป็นอันมาก มักทำให้บุคคลเดือดร้อนยิ่งนัก เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้า จึงไม่ชอบใจสิเนหา.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อขนฺติโช ความว่า ความโกรธนั้น เกิดแต่ความไม่อดทน แห่งบุคคลผู้มีชาติไม่อดกลั้น ทีแรกก็เป็นของน้อย แต่ภายหลังเป็นของมาก ย่อมเจริญขึ้นโดยลำดับ ข้อที่ความโกรธนั้นเจริญขึ้น พึงพรรณนา ด้วยขันติวาทิชาดก และจุลลธรรม. ปาลชาดก. อนึ่ง ในข้อนี้ พึงเล่าเรื่อง ที่ติสสอำมาตย์ ฆ่าชนทั้งหมด ตั้งต้นแต่ภรรยา พร้อมด้วยบริวารชน แล้วฆ่าตัวตายในภายหลัง. บทว่า อาสงฺคิ ความว่า ความโกรธมัก ทำความเกี่ยวข้อง คือ เกิดขึ้นแก่ผู้ใด ย่อมทำให้ผู้นั้น เกี่ยวข้องพัวพัน และไม่ให้สละเรื่องนั้นไปได้ ต้องให้กลับมา ทำความชั่วร้าย มีการด่า เป็นต้น.
บทว่า พหุปายาโส ได้แก่ ประกอบด้วยความคับแค้น คือ ความลำบาก กล่าวคือ ความทุกข์ทางกาย และทางใจ เป็นอันมาก จริงอยู่
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 785
เพราะอาศัยความโกรธเป็นเหตุ ชนทั้งหลาย ที่กระทำการล่วงเกิน ในพระอริยบุคคล เป็นต้น ด้วยอำนาจแห่งความโกรธ ย่อมเสวยทุกข์ เป็นอันมาก มีความเดือดร้อน เพราะถูกฆ่า และถูกจองจำ เป็นต้น และมีการถูกลงโทษ ด้วยเครื่องจองจำ ๕ อย่าง เป็นอาทิ ทั้งในภพนี้ และภพหน้า เพราะเหตุนั้น ความโกรธ จึงชื่อว่า มีความคับแค้นมาก. บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะความโกรธนั้น มีโทษมากมายดังกล่าวมานี้ ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ชอบใจ ความโกรธ.
บทว่า ทุฏฺสฺส เป็นต้น ความว่า แรกทีเดียว วาจาหยาบคาย ของบุคคลผู้โกรธ ด้วยโกธะ อันมีความเดือดดาลเป็นลักษณะ แล้วต่อมา จะประทุษร้ายด้วยโทสะ อันมีความคิดร้ายต่อผู้อื่นเป็นลักษณะ ย่อมเปล่งออกมา ถัดจากวาจา ก็เกิดปรามาสถูกต้องกัน ด้วยสามารถแห่งการฉุดกัน มา ฉุดกันไป ต่อจากนั้น ก็ชกต่อยกันด้วยมือ ด้วยสามารถแห่งความพยายาม ต่อไปก็จับท่อนไม้เข้าที่ทุบตีกัน จนถึงจับศัสตราอันมีคมข้างเดียว หรือมีคมสองข้าง เข้าฟันแทงกันเป็นที่สุด คือ ความสำเร็จแห่งการฟันแทง ด้วยศัสตราเป็นที่สุด แห่งกิจของโทสะทุกอย่าง จริงอยู่ ในกาลใด บุคคลใช้ศัสตราฆ่าผู้อื่น ภายหลัง จึงใช้ศัสตรานั้น นั่นแหละ ฆ่าตัวเอง ในกาลนั้น โทสะย่อมถึงที่สุด.
บทว่า โทโส โกธสมุฏฺาโน ความว่า เปรียบเหมือน เปรียง หรือน้ำข้าว อันไม่เปรี้ยว แต่กลายเป็นของเปรี้ยว ด้วยอำนาจแห่ง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 786
ความแปรไป สิ่งที่เปรี้ยว และไม่เปรี้ยวทั้งสองนั้น แม้จะมีกำเนิดอย่างเดียวกัน ท่านก็เรียกต่างกัน ว่าเปรี้ยว ไม่เปรี้ยว ฉันใด โทสะก็ฉันนั้น เหมือนกัน เมื่อก่อนเป็นความโกรธ ต่อเมื่อแปรไปแล้ว จึงเป็นความคิดประทุษร้าย ในภายหลัง สภาวธรรมทั้งสองนั้น แม้จะมีกำเนิดอย่างเดียวกัน โดยความเป็นอกุศลมูลด้วยกัน ท่านก็เรียกต่างกันว่า ความโกรธ ความคิดประทุษร้าย เปรียบเหมือน สิ่งที่มีรสเปรี้ยว เกิดจากสิ่งที่ไม่มีรสเปรี้ยว ฉันใด โทสะแม้นั้น ก็ตั้งขึ้นจากโกธะ ฉันนั้น เพราะเหตุนั้น โทสะ จึงมีชื่อว่า โกธะเป็นสมุฏฐาน. บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะโทสะมีโทษเป็นอเนกอย่างนี้ ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ชอบใจโทสะเลย.
บทว่า อโลภสหสาการา ความว่า ชื่อว่า ก่อให้เกิดอาการหยาบ เพราะปล้นฆ่าชาวบ้าน ทุกวันๆ โดยการใช้อาวุธ จ่อที่ตัวแล้วข่มขู่ว่า จงให้สิ่งชื่อนี้ แก่เรา.
บทว่า นิกติ วญฺจนานิ จ ความว่า การแสดงของปลอม เปลี่ยนเอาของของผู้อื่นไป ชื่อว่า การสับเปลี่ยน การสับเปลี่ยนนั้น พึงเห็นตัวอย่าง ในการให้ทองเก๊ว่าทองแท้ และกหาปณะปลอมว่า กหาปณะแท้ แล้วถือเอาสิ่งของของผู้อื่นไป ส่วนการถือเอา สิ่งของของผู้อื่นไป ด้วยสามารถแห่งปฏิภาณ เพราะความเป็นผู้ฉลาดในอุบาย ชื่อว่า การล่อลวง พึงทราบเรื่องราว ของการล่อลวงนั้น อย่างนี้ว่า บุรุษชาวบ้าน ผู้มีความซื่อตรงคนหนึ่ง นำกระต่ายมาจากป่า วางไว้ที่ฝั่งแม่น้ำแล้ว
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 787
ลงอาบน้ำ ลำดับนั้น นักเลงคน ๑ เอากระต่ายนั้น วางไว้บนศีรษะ แล้วลงอาบน้ำ บุรุษชาวบ้านขึ้นมาแล้ว เมื่อไม่เห็นกระต่าย จึงมองหาข้างโน้น ข้างนี้ นักเลงเห็นดังนั้น จึงถามบุรุษนั้นว่า มองหาอะไร ท่านผู้เจริญ. บุรุษชาวบ้านนั้นตอบว่า ข้าพเจ้าวางกระต่ายไว้ตรงนี้ แต่ไม่เห็นกระต่ายนั้น. นักเลงจึงกล่าวว่า แน่ะอันธพาล ท่านไม่รู้ดอกหรือว่า ชื่อว่า กระต่ายทั้งหลาย ที่บุคคลวางไว้ที่ฝั่งแม่น้ำ ย่อมหนีไปได้ ท่าน ดูซิ ฉันยังต้องเอากระต่ายของตน วางไว้บนศีรษะ อาบน้ำด้วยเลย. บุรุษชาวบ้านเข้าใจว่า จักเป็นอย่างนั้น เพราะความที่ตน เป็นผู้ไม่มีปฏิภาณ. จึงหลีกไป ในข้อนี้ พึงเล่าเรื่อง ที่เขารับเอาลูกเนื้อ ด้วยเงิน ๑ กหาปณะ ให้ลูกเนื้อนั้นอีก แล้วจึงรับเอาเนื้อ ซึ่งมีราคา ๒ กหาปณะ.
บทว่า ทิสฺสติ โลภธมฺเมสุ ความว่า ข้าแต่ท้าวสักกะ บาปธรรมทั้งหลาย มีโลภะ เป็นต้นเหล่านี้ มีปรากฏอยู่ในสภาวะ คือ ความโลภทั้งหลาย คือ ในสัตว์ทั้งหลาย ถูกความโลภครอบงำแล้ว เพราะว่าสัตว์ทั้งหลาย ผู้ไม่โลภแล้ว. ย่อมไม่กระทำกรรมเห็นปานนี้ ความโลภ มีโทษมากมายอย่างนี้ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ชอบใจ ความโลภ.
บทว่า เสฺนหสงฺคนฺถิตา คนฺถา ความว่า กิเลสเครื่องร้อยรัดกาย คือ อภิชฌาทั้งหลาย ซึ่งเป็นไปอยู่ในอารมณ์ทั้งหลาย มีประการต่างๆ ถูกสิเนหา อันมีความติด อยู่ในอารมณ์ทั้งหลาย เป็นลักษณะ ร้อยรัดแล้ว คือ สืบต่อแล้ว ด้วยสามารถแห่งการเกิดขึ้นบ่อยๆ ดุจดอกไม้ทั้งหลาย ที่เขาร้อยไว้ด้วยด้าย ฉะนั้น.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 788
บทว่า เสนฺติ มโนมยา ปุถู ความว่า กิเลสเครื่องร้อยรัด กาย คือ อภิชฌาทั้งหลาย อันเกิดขึ้นแล้วในอารมณ์เหล่านั้น ชื่อว่า เป็นเครื่องสำเร็จได้ด้วยใจ เพราะเป็นสภาพที่เกิดขึ้นทางใจ ดุจวัตถุทั้งหลาย มีเครื่องประดับ เป็นต้น อันเกิดแล้วจากรัตนะทั้งหลาย มีทอง เป็นต้น ชื่อว่า อันสำเร็จแล้วด้วยรัตนะทั้งหลาย มีทอง เป็นอาทิ นอนเนื่องอยู่ในอารมณ์เหล่านั้น.
บทว่า เต ภุสํ อุปตาเปนฺติ ความว่า กิเลสเหล่านั้น ถ้านอนเนื่องอยู่แล้ว เป็นอันมาก คือ มีกำลังรู้ชัดอยู่ มักทำบุคคลให้เดือดร้อน คือ ให้ลำบากโดยยิ่ง ก็ในการที่กิเลสเหล่านั้น มักทำให้บุคคลเดือดร้อนโดยยิ่ง พึงนำเรื่องของคาถาว่า สลฺลวิทฺโธว รุปฺปติ เป็นต้น และพระสูตรทั้งหลาย มีความว่า ดูก่อนคฤหบดี ความเศร้าโศก ความร่ำไร ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับแค้นทั้งหลาย ล้วนเกิดแต่ความรัก ล้วนมีความรักเป็นแดนเกิดทั้งนั้น ความโศกย่อมเกิดแต่สิ่งที่รัก ความโศกย่อมเกิดแต่ความรัก. ดังนี้เป็นต้น มาเป็นอุทาหรณ์อีกอย่างหนึ่ง หัวใจของสุมังคลโพธิสัตว์ แตกแล้ว เพราะความโศกอันมีกำลัง เหตุให้เด็กทั้งหลาย เป็นทาน โทมนัสเป็นอันมากก็ได้เกิดขึ้นแล้ว แก่พระเวสสันดรโพธิสัตว์ ความรักย่อมทำให้พระมหาสัตว์ทั้งหลาย ผู้บำเพ็ญบารมีแล้ว เดือดร้อนได้ ด้วยประการฉะนี้ เพราะโทษนี้ มีอยู่ในความสิเนหา ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ชอบใจ แม้ซึ่งความสิเนหา.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 789
ท้าวสักกเทวราชได้ทรงสดับ คำวิสัชนาปัญหาแล้ว จึงตรัสว่า ข้าแต่ท่านกัณหบัณฑิต ปัญหานี้ท่านกล่าวดี เปรียบดังพุทธลีลา ข้าพเจ้ายินดีเหลือเกิน ฉะนั้น ขอท่านจงรับพรอย่างอื่นอีก แล้วตรัสพระคาถาที่ ๑๐ ว่า :-
ข้าแต่ท่านพราหมณ์ คำนั้นท่านกล่าวดีแล้ว เป็นสุภาษิตอันสมควร ข้าพเจ้าจะให้พรแก่ท่าน ตามแต่ใจท่านปรารถนาเถิด.
ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ได้กล่าวคาถาต่อไปว่า :-
ข้าแต่ท้าวสักกะ ผู้เป็นใหญ่กว่าภูตทั้งปวง ถ้าจะโปรดประทานพรแก่ข้าพระองค์ ขออาพาธทั้งหลาย อันเป็นของร้ายแรง ซึ่งจะทำอันตรายแก่ตบะกรรมได้ อย่าพึงเกิดขึ้นแก่ ข้าพระองค์ ผู้อยู่ในป่า ซึ่งอยู่แต่ผู้เดียวเป็นนิตย์.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนฺตรายกรา ภุสา คือ อันจะทำอันตราย แก่ตบะกรรม ของข้าพระองค์นี้.
ท้าวสักกะได้ทรงสดับดังนั้นแล้ว ทรงดำริว่า กัณหบัณฑิต เมื่อจะรับพร ก็ไม่รับพรที่อาศัยอามิส รับแต่พรที่อาศัยตบะกรรมเท่านั้น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 790
ท้าวเธอยิ่งทรงเลื่อมใสมากขึ้น เมื่อจะประทานพรอื่นอีก จึงตรัสพระคาถานอกนี้ว่า :-
ดูก่อนท่านพราหมณ์ คำนั้นท่านกล่าวดีแล้ว เป็นสุภาษิตอันสมควร ข้าพเจ้าจะให้พรแก่ท่าน ตามแต่ใจท่านปรารถนาเถิด.
แม้พระโพธิสัตว์ เมื่อจะแสดงธรรมแก่ท้าวสักกะ โดยอ้างการรับพร จึงกล่าวคาถาสุดท้ายว่า :-
ข้าแต่ท้าวสักกะ ผู้เป็นใหญ่กว่าภูตทั้งปวง ถ้าจะโปรดประทานพร แก่ข้าพระองค์ ขอใจ หรือร่างกายของข้าพระองค์ อย่าเข้าไป กระทบกระทั่งใครๆ ในกาลไหนๆ เลย ขอได้ทรง โปรดประทานพรนี้เถิด.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มโน วา ได้แก่ มโนทวาร. บทว่า สรีรํ วา ได้แก่ กายทวาร. แม้วจีทวาร ก็พึงทราบว่า ท่านถือเอา แล้วด้วยการถือเอา ทวารเหล่านั้น เหมือนกัน. บทว่า มงฺกุเต คือ เพราะเหตุแห่งข้าพระองค์. บทว่า อุปหญฺเถ ได้แก่ อย่าเข้าไปกระทบกระทั่ง คือ พึงเป็นทวารอันบริสุทธิ์แล้ว.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 791
ข้อนี้มีอธิบายว่า ข้าแต่ท้าวสักกเทวราช ขออย่าให้กรรม ที่เป็นไปในทวาร แม้ทั้ง ๓ นี้เข้าไปกระทบแก่ใครๆ คือ แก่ท้าวสักกะในกาลไหนๆ เพราะเหตุแห่งข้าพระองค์ คือ เพราะอาศัยข้าพระองค์ ได้แก่ เพราะความที่แห่งข้าพระองค์ เป็นผู้ใคร่ต่อความพินาศ คือ ขอกรรมที่เป็นไป ในทวารทั้ง ๓ นี้ พึงเป็นธรรมชาติอันหลุดพ้นแล้ว คือ บริสุทธิ์แล้ว จากอกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ ประการ มีปาณาติบาต เป็นต้น นั้นเทียว.
พระมหาสัตว์ เมื่อจะรับพรในฐานะทั้ง ๖ ได้รับเอาพร อันอาศัยเนกขัมมะเหล่านั้น ด้วยประการฉะนี้ จริงอยู่พระโพธิสัตว์นั้น ย่อมทราบว่า ขึ้นชื่อว่า สรีระ ย่อมมีความเจ็บเป็นธรรมดา ท้าวสักกะไม่อาจ เพื่อจะกระทำสรีระนั้น ให้มีความไม่เจ็บเป็นธรรมดาได้ อนึ่ง ความที่แห่งสัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้มีตนอันบริสุทธิ์แล้ว ในทวารทั้ง ๓ อันท้าวสักกะ ก็ไม่อาจทำให้ เป็นนิสัยของตนได้เลย แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น พระมหาสัตว์ก็ได้รับพรเหล่านี้แล้ว เพื่อแสดงธรรมแก่ท้าวสักกะนั้น แม้ท้าวสักกเทวราช ก็ได้ทรงบันดาลต้นไม้นั้น ให้มีผลหวานอร่อย นมัสการพระมหาสัตว์ ประคองอัญชลีเหนือพระเศียร ตรัสว่า ขอท่านจงอยู่ที่นี้ โดยปราศจากโรคเถิด. แล้วได้เสด็จไปยังพิมานของพระองค์ แม้พระโพธิสัตว์ ก็มิได้เสื่อมจากฌาน ได้เป็นผู้มีพรหมโลก เป็นที่ไปในเบื้องหน้า.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 792
พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้ มาแสดงแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ ที่นี้เป็นภูมิประเทศ ที่เราเคยอยู่มาแล้ว ดังนี้ แล้วทรงประชุมชาดกว่า ท้าวสักกะในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระอนุรุทธะในบัดนี้ ส่วนกัณหบัณฑิต ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.
จบอรรถกถา กัณหชาดกที่ ๒