พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. มัณฑัพยชาดก ว่าด้วยความรักที่มีต่อบุตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 ส.ค. 2564
หมายเลข  35906
อ่าน  459

[เล่มที่ 59] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 831

๖. มัณฑัพยชาดก

ว่าด้วยความรักที่มีต่อบุตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 59]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 831

๖. มัณฑัพยชาดก

ว่าด้วยความรักที่มีต่อบุตร

[๑๓๘๐] เราเป็นผู้มีความต้องการบุญ ได้มีจิตเลื่อมใส ประพฤติพรหมจรรย์ อยู่เพียง ๗ วันเท่านั้น ต่อจากนั้นมา แม้เราจะไม่มีความใคร่บรรพชา ก็ทนประพฤติพรหมจรรย์ ของเราอยู่ได้ ถึง ๕๐ กว่าปี ด้วยความสัตย์อันนี้ ขอความสวัสดี จงมีแก่ยัญญทัตตกุมาร พิษจงคลายออก ยัญญทัตตกุมาร จงรอดชีวิตเถิด.

[๑๓๘๑] เพราะเหตุที่เราเห็นแขก ในเวลาที่มาถึงบ้าน เพื่อจะพักอยู่ บางครั้งไม่พอใจจะให้พักเลย แม้สมณพราหมณ์ ผู้เป็นพหูสูต ก็ไม่ทราบ ความไม่พอใจของเรา แม้เราไม่ประสงค์จะให้ ให้ได้ ด้วยความสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงมีแก่ยัญญทัตตกุมาร พิษจงคลายออก ยัญญทัตตกุมาร จงรอดชีวิตเถิด.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 832

[๑๓๘๒] ลูกรัก อสรพิษที่ออกจากโพรง กัดเจ้านั้น มีเดชมาก ไม่เป็นที่รักของแม่ ในวันนี้เลย อสรพิษนั้น กับบิดาของเจ้า ไม่แปลกกันเลย ด้วยความสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงมีแก่ ยัญญทัตตกุมาร พิษจงคลายออก ยัญญทัตตกุมาร จงรอดชีวิตเถิด.

[๑๓๘๓] ก็นักพรตทั้งหลาย เป็นผู้สงบระงับ ฝึกฝนตนแล้ว ย่อมเว้นรอบ นอกจากท่านกัณหะแล้ว ที่จะเป็นผู้ทนฝืนใจ ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่มีเลย ดูก่อนท่านทีปายนะ ท่านเกลียดชัง อะไร จึงสู้ฝืนใจ ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ได้.

[๑๓๘๔] บุคคลออกบวช ด้วยศรัทธาแล้ว กลับเข้าบ้านอีก เป็นคนเหลวไหล เป็นคนกลับกลอก เราเกลียดต่อถ้อยคำเช่นนี้ จึงสู้ฝืนใจ ประพฤติพรหมจรรย์อยู่นี้ เป็นฐานะที่วิญญูชนสรรเสริญ และเป็นฐานะ ของสัตบุรุษทั้งหลาย เราเป็นผู้กระทำบุญ ด้วยประการฉะนี้.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 833

[๑๓๘๕] ท่านเลี้ยงดูสมณพราหมณ์ และคนเดินทาง ให้อิ่มหนำสำราญด้วยข้าวน้ำ และภิกษาหาร เรือนของท่านนี้บริบูรณ์ ด้วยข้าว และน้ำ เป็นเหมือนบ่อน้ำ เออ ก็ท่านเกลียดต่อถ้อยคำอะไร แม้ไม่ประสงค์ ก็ให้ทานนี้ได้.

[๑๓๘๖] บิดามารดา และปู่ย่า ตายายของเรา เป็นคนมีศรัทธา เป็นทานบดี รู้หลักนักปราชญ์ เราอนุวัตร ตามธรรมเนียม ของตระกูลนั้น กำหนดใจไว้ว่า อย่าได้เป็นคนตัดธรรมเนียมแห่งตระกูล ภายหลังเราเกลียด ถ้อยคำเช่นนี้ แม้ไม่ประสงค์ ก็ให้ทานนี้ได้.

[๑๓๘๗] ดูก่อนนาง ผู้มีร่างกายงาม เรานำเจ้า ผู้ยังเป็นสาวรุ่น มีปัญญา ยังไม่สามารถ มาแต่ตระกูลญาติ แม้เจ้าก็ยังไม่เคย แสดงความไม่รักใคร่เรา เจ้าไม่มีความรักใคร่ ปฏิบัติเราอยู่ เออ ก็นางผู้เจริญ การที่เจ้าอยู่ร่วมกับเรา เห็นปานนี้ได้ เพราะเหตุอะไร?

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 834

[๑๓๘๘] ตั้งแต่ไหนแต่ไร นานมาแล้ว อันภรรยาที่มีสามีบ่อยๆ มิได้มีในตระกูลนี้ ดิฉันอนุวัตร ตามธรรมเนียมของตระกูลนั้น กำหนดใจไว้ว่า ขออย่าให้เป็นคนตัดธรรมเนียม ของตระกูล ในภายหลังเลย ดิฉันเกลียดต่อถ้อยคำเช่นนี้ แม้จะไม่มีความพอใจ ก็ปฏิบัติท่านได้.

[๑๓๘๙] ข้าแต่ท่านมัณฑัพยะ วันนี้ดิฉันพูดถ้อยคำ ที่ไม่ควรจะพูด ขอท่านจงอดโทษ ถ้อยคำนั้น ให้แก่ดิฉัน เพราะเห็นแก่ลูกเถิด สิ่งอื่นอะไรๆ ในโลกนี้ ที่จะรักเท่าบุตร มิได้มี ยัญญทัตตบุตร ของเรานี้ ก็ได้รอดชีวิตแล้ว.

จบ มัณฑัพยชาดกที่ ๖

อรรถกถากัณหทีปายนชาดกที่ ๖ (๑)

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภ ภิกษุผู้กระสันรูปหนึ่ง จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า สตฺตาหเมวาหํ ดังนี้ ส่วนเนื้อเรื่องจักมีแจ้ง ในกุสราชชาดก.


๑. บาลี เป็น มัณฑัพยชาดก.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 835

พระศาสดาตรัสถามภิกษุนั้นว่า ดูก่อนภิกษุ ได้ยินว่าเธอกระสัน จริงหรือ? เมื่อภิกษุนั้นกราบทูลว่า จริงพระเจ้าข้า ดังนี้ จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เมื่อครั้งพระพุทธเจ้า ยังไม่เกิดขึ้น โบราณกบัณฑิต ได้บวช ในลัทธินอกพุทธศาสนา ไม่มีความยินดี ยังประพฤติพรหมจรรย์ อยู่ได้กว่า ๕๐ ปี ไม่แสดงความที่ตนกระสัน ให้ปรากฏแก่ใครๆ เพราะกลัวหิริโอตตัปปะ จะทำลาย เธอบวชในศาสนา ที่จะนำออกจากทุกข์ เห็นปานนี้ ตั้งอยู่เฉพาะพระพักตร์ ของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นครูเช่นเรา เหตุไรจึงทำความกระสัน ให้ปรากฏ ในท่ามกลางบริษัท ๔ เหตุไร จึงไม่รักษาหิริโอตตัปปะ ของตนไว้ แล้วทรงนำเอาเรื่อง ในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-

ในอดีตกาล พระราชาทรงพระนามว่า โกสัมพิกะ ครองราชสมบัติ อยู่ในพระนครโกสัมพี แคว้นวังสะ ครั้งนั้น นิคมแห่งหนึ่ง มีพราหมณ์สองคน มีสมบัติคนละ ๘๐ โกฏิ เป็นสหายรักกัน เห็นโทษในกามคุณ ให้ทานเป็นการใหญ่ แล้วทั้ง ๒ ก็ละกาม ทั้งๆ ที่มหาชน กำลังร้องไห้คร่ำครวญอยู่ ได้ออกไปสร้างอาศรม บวชอยู่ในถิ่นหิมพานต์ เที่ยวแสวงหาเผือกมัน ผลไม้เลี้ยงชีพอยู่ ๕ ปี ยังไม่สามารถทำฌาน ให้เกิดขึ้นได้ ครั้นล่วงไป ๕๐ ปี เพื่อต้องการจะเสพรสเค็ม รสเปรี้ยว จึงเที่ยวไปตามชนบท ถึงแคว้นกาสี. ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ในแคว้นกาสีนั้น ท่านทีปายนดาบส มีสหายคฤหัสถ์อยู่คนหนึ่ง ชื่อ มัณฑัพยะ ทั้งสองดาบส ได้ไปเยี่ยมเขา เขาเห็นสองดาบสนั้นแล้ว ก็มีความยินดี สร้างบรรณศาลาถวายแล้ว บำรุงด้วยปัจจัย ๔ สองดาบสอยู่ที่นั้น ๓, ๔

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 836

พรรษา แล้วลานายมัณฑัพยะ เที่ยวจาริกไปถึงเมืองพาราณสี อาศัยอยู่ในอธิมุตติกสุสาน ทีปายนดาบสอยู่ ณ ที่นั้น พอควรแก่อัธยาศัย แล้วก็กลับไปสู่สำนักสหายนั้นอีก แต่มัณฑัพยะดาบสยังอยู่ที่ป่าช้า นั่นเอง.

อยู่มาวันหนึ่ง โจรคนหนึ่ง ขโมยของภายในเมือง ถือเอาทรัพย์ออกไป เมื่อเจ้าของเรือนและเจ้าหน้าที่ตื่นขึ้น รู้ว่าขโมย ก็พากันตามจับ จึงหนีออกทางท่อน้ำ รีบวิ่งเข้าป่าช้า ทิ้งห่อทรัพย์ไว้ที่ประตูบรรณศาลา แห่งพระดาบส แล้วหนีไป พวกมนุษย์ที่ตามจับ เห็นห่อทรัพย์เข้า จึงคุกคามว่า ไอ้ชฎิลร้าย กลางคืนเจ้าเที่ยวขโมยเขา กลางวันทำถือเพศดาบสอยู่ ทุบตีแล้ว จับตัวนำส่งพระราชา พระราชาไม่ทรงพิจารณาก่อน รับสั่งให้ราชบุรุษ เอาตัวไปเสียบหลาวเสีย พวกราชบุรุษนำตัวไปเสียบหลาว ไม้ตะเคียนที่ป่าช้านั้น เสียบหลาวไม่เข้า จึงเปลี่ยนเอาหลาวไม้ สะเดา เสียบก็ไม่เข้าอีก เอาหลาวเหล็กเสียบก็ไม่เข้า ดาบสจึงใคร่ครวญดู บุพกรรมของตน ลำดับนั้น ท่านก็เกิดญาณ เครื่องระลึกชาติได้ ใช้ญาณนั้น ใคร่ครวญดูก็ได้รู้แล้ว ถามว่า ก็อะไรเป็นบุพกรรมของท่าน ตอบว่า การเอาหนามไม้ทองหลาง เสียบแมลงวัน เป็นบุพกรรมของท่าน นัยว่า ในภพก่อน ท่านเกิดเป็นบุตรนายช่างไม้ ไปถากไม้กับบิดา จับแมลงวันมาตัวหนึ่ง แล้วเอาหนามไม้ทองหลางมาเสียบ บาปกรรมนั้นเอง มาถึงเข้า ท่านรู้ตัวว่า ไม่อาจพ้นบาปกรรมนี้ได้ จึงได้

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 837

กล่าวกะราชบุรุษว่า ถ้าท่านต้องการจะเอาหลาวเสียบเรา จงเอาหลาวไม้ทองหลาง พวกราชบุรุษก็กระทำตาม เสียบเข้าแล้ว ก็วางคนซุ่มรักษาอยู่ แล้วหลีกไป พวกที่ซุ่มรักษาอยู่ ได้คอยดูผู้ที่จะมาหาดาบส.

ครั้งนั้น ทีปายนดาบสคิดว่า เราไม่ได้พบสหายนานแล้ว จึงมาสำนักของท่าน มัณฑัพยะดาบส ได้ฟังข่าวในระหว่างทาง ในวันนั้นเองว่า มัณฑัพยะดาบสถูกหลาวเสียบ ก็ไป ณ ที่นั้น แล้วยืนอยู่ส่วนข้างหนึ่ง ถามว่า เพื่อน! ท่านได้ทำผิดอย่างไรหรือ? เมื่อดาบสนั้นตอบว่า เราไม่ได้ทำผิด จึงถามว่า ท่านอาจจะรักษาใจตน ไม่ให้มีความขุ่นเคือง ได้หรือไม่? มัณฑัพยะดาบสตอบว่า เพื่อน! ผู้ที่จับเรามาส่งพระราชา เรามิได้มีใจขุ่นเคืองเลย ทีปายนดาบสกล่าวว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น ร่มเงาของผู้มีศีลเช่นท่าน เป็นความสุขสำหรับเรา แล้วเข้าไปนั่งพิงหลาวอยู่ หยาดโลหิตที่ออกจากตัวมัณฑัพยะดาบส ก็หยดลงต้องทีปายนดาบส หยาดโลหิตเหล่านั้น หยดลงที่สรีระ อันมีสีดุจทอง แห้งดำไปทั้งตัว ตั้งแต่นั้นมา ท่านจึงได้นามเติมต้นว่า กัณหทิปายนะ ท่านนั่งพิงหลาวนั้นเอง ตลอดคืนยังรุ่ง วันรุ่งขึ้น พวกคนรักษา จึงไปกราบทูลเหตุการณ์นั้น แด่พระราชา พระราชาทรงพระดำริว่า เรื่องนี้เราทำลงไป โดยไม่พิจารณา จึงรีบเสด็จไปที่นั้น แล้วตรัสถามทีปายนดาบสว่า ดูก่อนบรรพชิต เหตุไรท่านจึงนั่งพิงหลาวอยู่? ทีปายนดาบสตอบว่า มหาบพิตร อาตมภาพ นั่งรักษาดาบสนี้อยู่ ก็มหาบพิตรทรงทราบแล้ว หรือว่าดาบสนี้ ทำผิดหรือไม่ได้ทำผิด จึงได้ลงพระราชอาญาอย่างนี้ พระราชา

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 838

ตรัสบอกว่า ลงโทษไปโดยไม่พิจารณา พระดาบสจึงกล่าวแก่พระราชาว่า มหาบพิตร ธรรมดาพระราชา ควรจะพิจารณาก่อน แล้วจึงการทำดังนี้ แล้วแสดงธรรมว่า คฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ถ้าเป็นคนเกียจคร้าน แล้วไม่ดีดังนี้ เป็นต้น.

พระราชาทรงทราบว่า มัณฑัพยะดาบสไม่มีความผิด จึงรับสั่งให้ถอนหลาวออก พวกราชบุรุษ ไม่สามารถจะถอนหลาวออกได้ มัณฑัพยะ กราบทูลพระราชาว่า มหาบพิตร อาตมภาพ ถึงความพินาศย่อยยับอย่างนี้ ด้วยอำนาจกรรม ที่ได้ทำไว้แต่ปางก่อน ไม่มีใครอาจถอนหลาว ออกจากตัวอาตมภาพได้ ถ้าพระองค์มีพระราชประสงค์ จะพระราชทานชีวิตแก่อาตมภาพไซร้ ก็จงโปรดให้เอาเลื่อย มาตัดหลาวนี้ ให้เสมอหนัง พระราชารับสั่งให้การทำตามนั้น ภายในร่างกาย ได้มีหลาวอยู่ภายใน เรื่อยมา.

ได้ยินว่า ครั้งนั้น ดาบสนั้น เอาหนามทองหลางเรียวๆ เสียบก้นแมลงวัน หนามทองหลางติดอยู่ในตัวแมลงวัน แต่แมลงวันไม่ตาย เพราะถูกเสียบตาย เมื่อหมดอายุของตน ฉะนั้น ดาบสนี้จึงไม่ตาย พระราชาทรงนมัสการ พระดาบสทั้งสอง ให้ขมาโทษแล้ว นิมนต์ให้อยู่ในพระราชอุทยาน ทรงบำรุงแล้ว ตั้งแต่นั้นมา มัณฑัพยะดาบส ได้ชื่อเติมหน้าว่า อาณิมัณฑัพยะ ท่านอาศัยพระราชา อยู่ในพระราช-

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 839

อุทยานนั้น ส่วนทีปายนดาบส รักษาแผลมัณฑัพยดาบส หายดีแล้ว ไปสำนักนายมัณฑัพยะ ผู้เป็นสหายคฤหัสถ์ของตน.

บุรุษผู้หนึ่งเห็นทีปายนดาบสนั้น เข้าไปสู่บรรณศาลา จึงบอกแก่ นายมัณฑัพยะผู้เป็นสหาย นายมัณฑัพยะนั้น ได้ฟังข่าวก็ยินดี พาบุตรภรรยา ถือเครื่องสักการะ มีของหอมดอกไม้ และเครื่องลูบไล้ เป็นต้น เป็นอันมากไปสู่บรรณศาลา ไหว้ทีปายนดาบสแล้ว ล้างเท้าทาน้ำมันให้ ถวายน้ำปานะให้ดื่ม แล้วนั่งฟังข่าวอาณิมัณฑัพยะดาบส ครั้งนั้นบุตรของ เขาชื่อ ยัญญทัตตกุมาร เล่นลูกข่างอยู่ ในที่สุดที่จงกรม ก็ที่จอมปลวกแห่งหนึ่ง ใกล้บรรณศาลานั้น มีอสรพิษตัวหนึ่งอาศัยอยู่ ลูกข่างที่กุมาร ปาเหนือพื้นดิน ได้เข้าไปตกถูกศีรษะอสรพิษ ในโพรงจอมปลวก กุมารนั้นไม่รู้ จึงเอามือล้วงเข้าไปในโพรง ครานั้นอสรพิษเดือดดาล เขาจึงกัดเอามือ เขาสลบล้มลง ณ ที่นั้น ด้วยกำลังอสรพิษ ลำดับนั้น มารดาบิดารู้ว่าลูก ถูกอสรพิษกัด จึงยกกุมารขึ้น แล้วอุ้มมาที่พระดาบส ให้นอนลงแทบเท้า แล้วกล่าวว่า ท่านเจ้าข้า ธรรมดาบรรพชิต ย่อมจะรู้โอสถหรือปริต ขอท่านได้โปรด ทำบุตรของข้าพเจ้า ให้หายโรคเถิด พระดาบสกล่าวว่า เราไม่รู้โอสถ เราเป็นบรรพชิต จักทำเวชกรรมไม่ได้ พระดาบสถูกเขาขอร้องว่า ถ้าเช่นนั้น ขอท่านได้ตั้งเมตตาในกุมาร ทำสัตยาธิษฐานเถิด จึงรับว่า ดีแล้ว เราจักทำสัจจกิริยา แล้ววางมือลงที่ศีรษะ ยัญญทัตตกุมาร จึงได้กล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 840

เราเป็นผู้มีความต้องการบุญ ได้มีจิตเลื่อมใส ประพฤติพรหมจรรย์อยู่เพียง ๗ วัน เท่านั้น ต่อจากนั้นมา แม้เราจะไม่มีความใคร่บรรพชา ก็ทาน ประพฤติพรหมจรรย์ของเราอยู่ ได้ถึง ๕๐ กว่าปี ด้วยความสัตย์อันนี้ ขอความสวัสดี จงมีแก่ยัญญทัตตกุมาร พิษจงคลายออก ยัญญทัตตกุมาร จงรอดชีวิตเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อถาปรํ ยํ จริตํ ความว่า เพราะฉะนั้น ต่อจาก ๗ วันนั้นมา แม้เราจะได้มีความใคร่ ก็ทนประพฤติพรหมจรรย์ ของเราอยู่ได้. บทว่า อากามโก วาปิ คือ ไม่ปรารถนาบรรพชาเลย. บทว่า เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ ความว่า ถ้าว่า ความที่แห่งใครๆ เป็นผู้อันเราผู้ทนอยู่ ด้วยความไม่พอใจถึง ๕๐ กว่าปี ไม่บอก แล้วเป็นสัจจะไซร้ ด้วยความสัตย์นั้น ขอความสวัสดี จงมีแก่ยัญญทัตตกุมาร ขอยัญญทัตตกุมาร จงกลับได้ชีวิตเถิด.

พร้อมกับสัจจกิริยา พิษในกายตอนบนของยัญญทัตตกุมาร ก็ตกเข้าแผ่นดินหมด กุมารลืมนัยน์ตาขึ้น ดูมารดาบิดา เรียกว่า แม่ แล้วพลิกนอน. ลำดับนั้น กัณหทีปายนดาบส จึงกล่าวกะบิดาของกุมารนั้นว่า กำลังของเรา เราทำได้เท่านั้น ท่านจงทำกำลังของตนบ้างเถิด เขากล่าวว่า

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 841

เราจักทำสัจจกิริยาบ้าง แล้ววางมือลงที่หน้าอกบุตร จึงได้กล่าวคาถา ที่ ๒ ว่า :-

เพราะเหตุที่เราเห็นแขก ในเวลาที่มาถึงบ้าน เพื่อจะพักอยู่ บางครั้งไม่พอใจจะให้พักเลย แม้สมณพราหมณ์ผู้เป็นพหูสูต ก็ไม่ทราบความไม่พอใจของเรา แม้เราไม่ประสงค์จะให้ ก็ให้ได้ ด้วยความสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงมีแก่ยัญญทัตตกุมาร พิษจงคลายออก ยัญญทัตต กุมาร จงรอดชีวิตเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วาสกาเล คือ ในเวลาที่แขกมาถึงบ้าน เพื่อต้องการจะพักอยู่. บทว่า น จาปิ เม อปฺปิยตํ อเวทุํ ความว่า ก็แม้สมณพราหมณ์ที่เป็นพหูสูต ก็ไม่ทราบเหตุ. คือ อาการอันไม่เป็นที่พอใจนี้ ของเราว่า ผู้นี้ไม่พอใจจะให้ ผู้นี้ไม่พอใจพวกเรา ด้วยคำนี้ บิดาของกุมารย่อมแสดงว่า เราคงแลดูด้วยสายตา อันแสดงความรักอยู่. บทว่า เอเตน สจฺเจน อธิบายว่า ถ้าเราแม้ให้ทาน ก็ไม่เชื่อผลของทาน ให้ด้วยความไม่พอใจของตน และชนเหล่าอื่น ก็ไม่ทราบเหตุ คือ อาการอันไม่เป็นที่พอใจ ของเราไซร้ ด้วยความสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงมีแก่ยัญญทัตตกุมารเถิด.

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 842

เมื่อบิดาทำสัจจกิริยาอย่างนี้แล้ว พิษในกายตอนเหนือสะเอว ก็ตกเข้าแผ่นดิน กุมารลุกขึ้นนั่งได้ แต่ยังยืนไม่ได้ ลำดับนั้น บิดาได้กล่าว กะมารดาของกุมารนั้นว่า ที่รัก เราได้ทำกำลังของเราแล้ว ทีนี้เจ้าจง ทำสัจจกิริยา ให้บุตรลุกขึ้นเดินได้ มารดากล่าวว่า ข้าแต่นาย ความสัตย์ของฉัน ก็มีอยู่อย่างหนึ่ง แต่ไม่อาจกล่าวต่อหน้านาย บิดากล่าวว่า อย่างไรๆ ก็กล่าวไปเถอะที่รัก จงทำบุตรของเรา ให้หายโรค นางรับคำว่า ดีแล้ว เมื่อกระทำสัจจกิริยา จึงได้กล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :-

ลูกรัก อสรพิษที่ออกจากโพรง กัดเจ้านั้น มีเดชมาก ไม่เป็นที่รักของแม่ ในวันนี้เลย อสรพิษนั้น กับบิดาของเจ้า ไม่แปลกกันเลย ด้วยความสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงมีแก่ ยัญญทัตตกุมาร พิษจงคลายออก ยัญญทัตตกุมาร จงรอดชีวิตเถิด.

มารดาร้องเรียกบุตรว่า ตาต ในคาถานั้น.

บทว่า ปหูตเตโช คือ มีพิษกล้า. บทว่า พิฬารา คือ จากช่อง. อีกอย่างหนึ่ง บาลีก็อย่างนี้เหมือนกัน. บทว่า อุทฺธจฺจ คือ ออกแล้ว อธิบายว่า เลื้อยขึ้นมาจากโพรงจอมปลวก. บทว่า ปิตรญฺจ เต คือ ในบิดาของเจ้า ถึงในอรรถกถาบาลี ก็อย่างนี้เหมือนกัน.

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 843

ข้อนี้มีอธิบายว่า แน่ะลูกยัญญทัตต อสรพิษนั้น ก็ไม่แปลกอะไร กับบิดาของเจ้า โดยไม่เป็นที่รักของแม่เลยเหมือนกัน ก็แหละ เว้นความไม่เป็นที่รักนั้นเสีย ความแปลกอะไร ที่แม่เคยให้เจ้ารู้ ย่อมไม่มีในวันนี้ ถ้าข้อนี้เป็นความสัตย์ไซร้ ด้วยความสัตย์อันนี้ ขอความสวัสดี จงมีแก่เจ้าเถิด.

พร้อมกับสัจจกิริยา พิษทั้งหมด ก็ตกลงเข้าแผ่นดิน ยัญญทัตตเมื่อร่างกายหมดพิษแล้ว ลุกขึ้น เริ่มจะเล่นต่อไป เมื่อบุตรลุกขึ้นได้แล้วอย่างนี้ นายมัณฑัพยะ เมื่อถามถึงอัธยาศัย ของทีปายนดาบส จึงได้กล่าว

นักพรตทั้งหลาย เป็นผู้สงบระงับ ฝึกฝนตนแล้ว ย่อมเว้นรอบ นอกจากท่านกัณหะแล้ว ที่จะเป็นผู้ทนฝืนใจ ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่มีเลย ดูก่อนท่านทีปายนะ ท่านเกลียดชังอะไร? จึงสู้ฝืนใจ ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ได้.

พึงทราบความแห่งคำ อันเป็นคาถานั้นว่า

อิสรชนทั้งหลาย มีกษัตริย์ เป็นต้น เหล่าใดเหล่าหนึ่งละกามเสีย แล้วจึงบวชในโลกนี้ ชนเหล่านั้น นอกจากท่านกัณหะ คือ ชนเหล่าอื่น เว้นท่านกัณหะผู้เจริญ ที่ชื่อว่า จะเป็นผู้ทนฝืนใจประพฤติพรหมจรรย์

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 844

ย่อมไม่มี ก็ท่านเหล่านั้นทั้งหมด ชื่อว่า เป็นผู้สงบ เพราะระงับกิเลส ด้วยฌานภาวนา ชื่อว่า เป็นผู้ฝึกแล้ว เพราะฝึกจักษุทวาร เป็นต้น ให้พ้นจากพยศ หมดพิษยินดียิ่ง แล้วจึงประพฤติพรหมจรรย์อยู่ได้ ท่านทีปายนะผู้เจริญ ก็ท่านเกลียดชังความชั่ว เพราะเหตุอะไร จึงสู้ฝืนใจประพฤติพรหมจรรย์อยู่ได้ ทำไมจึงไม่สึกมาครองเรือนเล่า?

เมื่อพระดาบส จะบอกเรื่องราวแก่เขา จึงได้กล่าวคาถาที่ ๕ ว่า :-

บุคคลออกบวช ด้วยศรัทธาแล้ว กลับเข้าบ้านอีก เป็นคนเหลวไหล เป็นคนกลับกลอก เราเกลียดต่อถ้อยคำเช่นนี้ จึงสู้ฝืนใจ ประพฤติพรหมจรรย์อยู่นี้ เป็นฐานะที่วิญญูชนสรรเสริญ และเป็นฐานะของสัตบุรุษทั้งหลาย เราเป็นผู้กระทำบุญ ด้วยประการฉะนี้.

บัณฑิตพึงทราบเนื้อความแห่งคำ เป็นคาถานั้นว่า :-

เราเกลียดถ้อยคำเช่นนี้ว่า บุคคลเชื่อกรรม อันคำ และผลแห่งกรรม ละสมบัติเป็นอันมากออกบวชแล้ว กลับมาเพื่อสิ่งที่ตนละอีก บุคคลนี้นั้น เป็นคนเหลวไหลหนอ เป็นคนกลับกลอกเหมือนเด็กชาวบ้านหนอ แม้จะไม่ปรารถนา เพราะกลัวหิริ และโอตตัปปะของตน จะทำลาย ก็ต้องทนประพฤติพรหมจรรย์ไป ก็ธรรมดาว่า บรรพชา และบุญนั้น แม้นิด

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 845

หน่อย ก็เป็นฐานะ ที่วิญญูชนทั้งหลาย คือ บัณฑิตทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้า เป็นต้น สรรเสริญอย่างยิ่ง และเป็นฐานะที่อยู่ ของสัตบุรุษทั้งหลายเหล่านั้น เราเป็นผู้กระทำบุญ ด้วยประการฉะนี้ คือ ด้วยเหตุแม้นี้ แม้จะร้องไห้ จนน้ำตานองหน้า ก็ฝืนใจประพฤติพรหมจรรย์อยู่ได้.

พระดาบส ครั้นบอกอัธยาศัยของตน อย่างนี้แล้ว เมื่อจะย้อนถาม นายมัณฑัพยะ จึงได้กล่าวคาถาที่ ๖ ว่า :-

ท่านเลี้ยงดูสมณพราหมณ์ และคนเดินทาง ให้อิ่มหนำสำราญ ด้วยข้าวน้ำ และภิกษาหาร เรือนของท่านนี้ บริบูรณ์ด้วยข้าว และน้ำ เป็นเหมือนบ่อน้ำ เออ ก็ท่านเกลียดต่อถ้อยคำอะไร แม้ไม่ประสงค์ก็ให้ทานนี้ได้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภิกฺขํ คือ ให้ภิกษาหาร อย่างอุดมสมบูรณ์ แก่สมณพราหมณ์ และคนเดินทางทั้งหลาย ผู้เที่ยวไปอยู่. บทว่า โอปานภูตํว คือ เหมือนบ่อน้ำสาธารณะ ซึ่งเขาขุดไว้ในทางหลวง ๔ แพร่ง.

ลำดับนั้น นายมัญฑัพยะ เมื่อจะบอกอัธยาศัยของตน จึงกล่าวคาถาที่ ๗ ว่า :-

บิดามารดา และปู่ย่า ตายาย ของเรา เป็นคนมีศรัทธา เป็นทานบดี รู้หลักนักปราชญ์

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 846

เราอนุวัตร ตามธรรมเนียมของตระกูลนั้น กำหนดใจไว้ว่า อย่าได้เป็นคนตัดธรรมเนียม แห่งตระกูล ภายหลัง เราเกลียดถ้อยคำเช่นนี้ แม้ไม่ประสงค์ ก็ให้ทานนี้ได้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาสุํ สัมพันธ์กับ บทว่า สทฺธา นี้ อธิบายว่า ได้เป็นผู้มีศรัทธาแล้ว. บทว่า อหุ เป็นต้น ความว่า เป็นผู้มีศรัทธายิ่งกว่านั้น ยิ่งเป็นใหญ่ในทานด้วย เป็นผู้ส่องเนื้อความแห่งคำ ที่ท่านกล่าวว่า ขอท่านทั้งหลาย จงกล่าว จงกระทำดังนี้ ให้แจ่มแจ้งด้วย. บทว่า ตํ กูลวตฺตํ คือ ตามธรรมเนียมของตระกูลนั้น ถึงในอรรถกถาก็มีบาลี อย่างนี้เหมือนกัน. บาทคาถาว่า มาหํ กุเล อนฺติมคนฺธิโน อหุํ ความว่า นายมัณฑัพยะแสดงว่า เรากำหนดใจไว้ว่า ขอเราอย่าได้เป็นคนสุดท้ายเขาทั้งหมด ในตระกูลของตนด้วย อย่าได้เป็นคนตัดธรรมเนียม แห่งตระกูลด้วยดังนี้ เกลียดวาทะว่า เป็นคนตัดธรรมเนียมแห่งตระกูล ภายหลังนั้น แม้ไม่ประสงค์เลย ก็ให้ทานนี้ได้.

ก็แหละ ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว นายมัณฑัพยะ เมื่อจะถามภรรยาของตน จึงได้กล่าวคาถาที่ ๘ ว่า :-

ดูก่อนนาง ผู้มีร่างกายงาม เรานำเจ้า ผู้ยังเป็นสาวรุ่น มีปัญญา ยังไม่สามารถ มาแต่

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 847

ตระกูลญาติ แม้เจ้าก็ยังไม่เคย แสดงความไม่รักใคร่เรา เจ้าไม่มีความรักใคร่ ปฏิบัติเราอยู่ เออ ก็นางผู้เจริญ การที่เจ้าอยู่ร่วมกับเรา เห็นปานนี้ได้ เพราะเหตุอะไร.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสมตฺถปญฺํ คือ ผู้ยังเป็นสาวน้อยๆ มีปัญญา ยังไม่สามารถที่จะจับจ่าย. คำว่า ยนฺตานยึ ตัดบทเป็น ยํ ตํ อานยึ มีอธิบายว่า เรานำเจ้าผู้ยังเป็นสาวรุ่น มาจากตระกูลแห่งญาติ. บทว่า อญฺตฺร กามา ปริจารยนฺตา ความว่า เจ้าไม่มีความรักใคร่ แม้ปฏิบัติเราอยู่ ด้วยความไม่เต็มใจ ก็ไม่ให้เรารู้ว่า ตนไม่มีความรัก ตลอดกาล ประมาณเท่านี้ คือ แสดงความรักใคร่ ปรนนิบัติเราแล้ว. บทว่า เกนวณฺเณน แปลว่า ด้วยเหตุอะไร นายมัณฑัพยะ ร้องเรียกภรรยาว่า นางผู้เจริญ. บทว่า เอวรูโป ความว่า การที่เจ้าอยู่ร่วมกับเรา ผู้มีความปฏิกูลเสมอ ด้วยอสรพิษเห็นปานนี้ อยู่ได้ คือ เป็นดุจว่า อยู่ร่วมกับคนที่รัก ได้อย่างไร?

ลำดับนั้น เมื่อภรรยาจะบอกแก่สามี จึงได้กล่าวคาถาที่ ๙ ว่า :-

ตั้งแต่ไหนแต่ไร นานมาแล้ว อันภรรยาที่มีสามีบ่อยๆ มิได้มีในตระกูลนี้ ดิฉันอนุวัตร ตามธรรมเนียม ของตระกูลนั้น กำหนดใจไว้

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 848

ว่า ขออย่าให้เป็นคนตัดธรรมเนียม ของตระกูล ในภายหลังเลย ดิฉันเกลียดต่อถ้อยคำเช่นนี้ แม้จะไม่มีความพอใจก็ปฏิบัติท่านได้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อารา ทูเร เป็นไวพจน์ของกันและกัน นางเมื่อจะแสดงธรรมเนียมนั้นว่า นานมาก จึงกล่าวอย่างนี้. ศัพท์ว่า อิธ เป็นเพียงนิบาต ความว่า ในกาลไหนๆ ก็ไม่มี บทว่า ปรํปรา คือ ที่เปลี่ยนผู้ชายบ่อยๆ.

ข้อนี้มีอรรถกถาธิบายว่า นาย ตั้งแต่ไหนแต่ไร นานมาแล้ว จนกระทั่งถึง ๗ ชั่วตระกูล อันภรรยาที่มีสามีบ่อยๆ มิได้มีในตระกูลแห่งญาติ ของดิฉันเลย แม้หญิงบางคนจะทั้งกะสามีแล้วก็ไม่เคยที่จะคว้า เอาชายอื่นมาเป็นสามีเลย. บทว่า ตํ กูลวตฺตํ ดิฉันเมื่อจะอนุวัตร ตามธรรมเนียมของตระกูล คือ ตามประเพณีของตระกูลนั้น กำหนดใจไว้ว่า ขอเราอย่าพึงเป็นหญิงกลับกลอก คนสุดท้ายในตระกูลของตนเถิด เกลียดวาทะว่า เป็นหญิงตัดธรรมเนียม ของตระกูลคนสุดท้าย ในตระกูลนั้น แม้จะไม่มีความพอใจ ก็ปฏิบัติท่านได้ คือ เป็นผู้ทำความขวนขวาย เป็นผู้บำเรอใกล้เท้าท่านได้.

ครั้นนางได้กล่าวอย่างนี้แล้ว จึงคิดว่า ความลับที่ไม่ควรจะกล่าว ต่อหน้าสามี เราได้กล่าวแล้ว เขาคงโกรธเรา เราจะขอโทษเขาต่อหน้า

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 849

พระดาบส ผู้เข้าถึงตระกูลของเรา เมื่อจะให้สามีอดโทษ จึงได้กล่าวคาถาที่ ๑๐ ว่า :-

ข้าแต่ท่านมัณฑัพยะ วันนี้ดิฉันพูดถ้อยคำ ที่ไม่ควรจะพูด ขอท่านจงอดโทษ ถ้อยคำนั้นให้แก่ดิฉัน เพราะเห็นแก่ลูกเถิด สิ่งอื่นอะไรๆ ในโลกนี้ ที่จะรักเท่าบุตร มิได้มี ยัญญทัตตบุตรของเรานี้ ก็ได้รอดชีวิตแล้ว.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตํ ขมตํ แปลว่า จงอดโทษ ถ้อยคำนั้น. บทว่า ปุตฺตเหตุ มมชฺช ความว่า ขอท่านจงอดโทษ ถ้อยคำที่ฉันพูดแล้วนั้น เพราะเหตุแห่งบุตรนี้ ในวันนี้เถิด. บทว่า โส โน อยํ ความว่า ฉันพูดคำนั้น เพราะเหตุแห่งบุตรคนใด บุตรของเราคนนั้น ก็ได้รอดชีวิตแล้ว เพราะบุตรคนนี้ รอดชีวิตแล้ว นั่นแหละ ขอท่านจงอดโทษแก่ดิฉัน ตั้งแต่วันนี้ไป ดิฉันจักเป็นผู้ตกอยู่ในอำนาจของท่าน.

ลำดับนั้น นายมัณฑัพยะ ได้กล่าวกะภรรยาว่า ลุกขึ้นเถิดที่รัก เราอดโทษให้เจ้า ตั้งแต่นี้ไปเจ้าอย่าได้มีจิตกระด้าง แม้เราก็จะไม่เกลียดเจ้า พระดาบสโพธิสัตว์ กล่าวกะนายมัณฑัพยะว่า อาวุโส การที่ท่านหาทรัพย์ ได้มาโดยลำบาก แล้วบริจาคทาน โดยไม่เชื่อกรรม และผลแห่ง

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 850

กรรมนั้น เป็นการไม่สมควร แต่นี้ไป ท่านจงเชื่อกรรม และผลแห่งกรรม ให้ทานเถิด นายมัณฑัพยะรับคำว่า ดีแล้ว แล้วกล่าวกะพระดาบส โพธิสัตว์ว่า ท่านผู้เจริญ ท่านดำรงอยู่ในความเป็นทักขิไณยบุคคล ของข้าพเจ้า ไม่มีความยินดี ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นการไม่สมควร ตั้งแต่นี้ไป ขอท่านจงทำจิตให้เลื่อมใส มีจิตบริสุทธิ์ ยินดีในฌาน ประพฤติพรหมจรรย์ โดยลักษณะที่ข้าพเจ้า ทำสักการะแก่ท่าน ในบัดนี้แล้ว จะได้รับผลมากเถิด แล้วสองสามีภรรยา ก็นมัสการพระมหาสัตว์ แล้วลุกจากอาสนะไป ตั้งแต่นั้นมา ภรรยาก็มีความเสน่หาในสามี เป็นอย่างดี นาย มัณฑัพยะ ก็มีจิตเลื่อมใส ถวายทานด้วยศรัทธา พระโพธิสัตว์ ก็บรรเทาความเบื่อหน่ายเสียได้ ทำฌาน และอภิญญาให้เกิดแล้ว เป็นสิ่งมีพรหมโลก เป็นที่ไปในเบื้องหน้า.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้ มาแสดงแล้ว ทรงประกาศสัจธรรม เวลาจบสัจจะ ภิกษุผู้กระสัน ได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล พระทศพล ทรงประชุมชาดกว่า นายมัณฑัพยะในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระอานนท์ในบัดนี้ ภรรยาในครั้งนั้น ได้มาเป็นนางวิสาขาในบัดนี้ บุตรในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระราหุลในบัดนี้ อาณิมัณฑัพยะดาบส ได้มาเป็นพระสารีบุตรในบัดนี้ ส่วนกัณหทีปายนดาบสในครั้งนั้น คือเราตถาคต ฉะนั้นแล.

จบอรรถกถา กัณหทีปายชาดกที่ ๖