๑๒. พิลารโกสิยชาดก ว่าด้วยให้ทานไม่ได้ เพราะเหตุ ๒ อย่าง
[เล่มที่ 59] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 913
๑๒. พิลารโกสิยชาดก
ว่าด้วยให้ทานไม่ได้ เพราะเหตุ ๒ อย่าง
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 59]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 913
๑๒. พิลารโกสิยชาดก
ว่าด้วยให้ทานไม่ได้ เพราะเหตุ ๒ อย่าง
[๑๔๔๓] สัตบุรุษทั้งหลาย แม้ไม่หุงกินเอง ได้โภชนะมาแล้ว ก็ไม่ปรารถนา จะบริโภคผู้เดียว ท่านหุงโภชนะไว้ มิใช่หรือ การที่ท่านไม่ให้นั้น ไม่สมควรแก่ท่าน.
[๑๔๔๔] บุคคลให้ทานไม่ได้ ด้วยเหตุ ๒ อย่างนี้ คือ ความตระหนี่ ๑ ความประมาท ๑ บัณฑิตผู้รู้แจ้ง เมื่อต้องการบุญ พึงให้ทานแท้.
[๑๔๔๕] คนผู้ตระหนี่ กลัวความยากจน ย่อมไม่ให้อะไรๆ แก่ผู้ใดเลย ความกลัวจนนั่นแหละ จะเป็นภัยแก่คนผู้ไม่ให้ คนตระหนี่ ย่อมกลัวความอยากข้าว อยากน้ำ ความกลัวนั่นแหละ จะกลับมาถูกต้องคนพาล ทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า.
[๑๔๔๖] เพราะเหตุนั้น บัณฑิตพึงครอบงำมลทิน กำจัดความตระหนี่เสียแล้ว พึงให้ทานเถิด
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 914
เพราะบุญ ย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ในโลกหน้า.
[๑๔๔๗] ทานผู้ให้ ให้ได้ยาก เพราะต้องครอบงำ ความตระหนี่ก่อน แล้วให้ได้ การทำทานนั้น ทำยากแท้ อสัตบุรุษทั้งหลาย ย่อมไม่ทำงาน ตามที่สัตบุรุษทำแล้ว ธรรมของสัตบุรุษ อันคนอื่นรู้ได้ยาก.
[๑๔๔๘] เพราะเหตุนั้น การไปจากโลกนี้ของ สัตบุรุษกับอสัตบุรุษ จึงต่างกัน อสัตบุรุษย่อมไปนรก สัตบุรุษย่อมไปสวรรค์.
[๑๔๔๙] บัณฑิตพวกหนึ่ง ให้ไทยธรรม แม้มีส่วนเล็กน้อยได้ สัตว์บางพวก แม้มีไทยธรรมมาก ก็ให้ไม่ได้ ทักษิณาทาน ที่บุคคลให้จากของเล็กน้อย ก็นับว่าเสมอด้วย การให้จำนวนพัน.
[๑๔๕๐] แม้ผู้ใดเที่ยวไป ขออาหารมา ผู้นั้นชื่อว่า ประพฤติธรรม อนึ่ง บุคคลผู้เลี้ยงบุตร และภรรยาของตน เมื่อไทยธรรมมีน้อย ก็เฉลี่ยให้แก่สมณะ และพราหมณ์ บุคคลนั้นชื่อว่า ประ-
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 915
พฤติธรรม เมื่อคนตั้งแสน ฆ่าสัตว์มาบูชา แก่คนผู้ควรบูชา จำนวนพัน อิสรภาพนับตั้งแสน นั้น ย่อมไม่ถึงแม้เสี้ยว แห่งผลทานของตน เข็ญใจ ผู้ยังไทยธรรมให้เกิด โดยชอบให้อยู่.
[๑๔๕๑] เพราะเหตุ? ยัญนี้ ก็ไพบูลย์มีค่ามาก จึงไม่เท่าค่าแห่งผลทาน ที่บุคคลให้โดยชอบธรรมเล่า ไฉนอิสรภาพ นับด้วยแสน ของผู้ที่บูชามากมาย หลายพันนั้น จึงไม้เท่าแม้ส่วน เสี้ยว แห่งผลทานของคนเข็ญใจ ผู้ยังไทยธรรมให้เกิด โดยชอบให้อยู่.
[๑๔๕๒] เพราะว่าคนบางคน ตั้งอยู่ในกายกรรม เป็นต้น อันไม่เสมอกัน ทำสัตว์ให้ลำบากบ้าง ฆ่าให้ตายบ้าง ทำให้เศร้าโศกบ้าง แล้วจึงให้ทาน ทักษิณาทานนั้น มีหน้าชุ่มไปด้วยน้ำตา พร้อมทั้งอาชญา จึงไม่เท่าถึงส่วนเสี้ยว แห่งผลทานที่บุคคลให้แล้ว โดยชอบธรรม เพราะอย่างนี้ อิสรภาพนับด้วยแสน ของผู้ที่บูชามากมาย หลายพันเหล่านั้น จึงไม่เท่าถึงส่วนเสี้ยวแห่ง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 916
ผลทานของคนเข็ญใจ ผู้ยังไทยธรรมให้เกิด โดยชอบให้อยู่.
จบ พิลารโกสิยชาดกที่ ๑๒
อรรถกถาพิลารโกสิยชาดกที่ ๑๒
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภ ภิกษุผู้มีทาน เป็นเครื่องปลื้มใจรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า อปจนฺตาปิ ดังนี้.
ได้ยินว่า ภิกษุรูปนั้น ฟังพระธรรมเทศนา ของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วบวชในพระศาสนา จำเดิมแต่บวชแล้ว เป็นผู้มีทาน เป็นเครื่องปลื้มใจ มีอัธยาศัย ยินดีในการให้ทาน ยังไม่ได้ให้บิณฑบาต ที่ตกลงในบาตร แก่ผู้อื่นก่อนแล้ว ก็ไม่ฉันโดยที่สุด ได้แม้น้ำดื่มมา ยังไม่ให้แก่ผู้อื่น แล้วก็ไม่ดื่ม ได้เป็นผู้ยินดียิ่งในทาน ด้วยอาการอย่างนี้.
ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลาย พากันพรรณนาคุณ ของภิกษุรูปนั้น ในธรรมสภา พระศาสดา เสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากัน ถึงเรื่องอะไร? เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูล ให้ทรงทราบแล้ว รับสั่งให้เรียกภิกษุนั้นมา ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุ ได้ยินว่า เธอมีทานเป็นเครื่องปลื้มใจ มีอัธยาศัย ยินดีในการให้ทาน จริงหรือ? เมื่อภิกษุนั้น กราบทูลว่า จริงพระเจ้าข้า จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 917
เมื่อก่อนภิกษุนี้ไม่มีศรัทธา ไม่มีความเลื่อมใส แม้แต่หยดน้ำมัน ก็ไม่เอาปลายหญ้าคา จิ้มให้ใคร คราวนั้น เราทรมานเขาทำให้หมดพยศ ให้ตั้งอยู่ในผลแห่งทาน แม้ในภพต่อๆ มา ก็ยังละทานวัตรนั้นไม่ได้ ภิกษุทั้งหลายทูลอาราธนา ให้ตรัสเรื่องราว จึงทรงนำเอาเรื่อง ในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัต ครองราชสมบัติ อยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลเศรษฐี เจริญวัยแล้ว รวบรวมทรัพย์ไว้ได้มา ครั้นบิดาล่วงลับไป ก็ได้ตำแหน่งเศรษฐี วันหนึ่งตรวจตราดูทรัพย์สมบัติ แล้วคิดว่า ทรัพย์ยังปรากฏอยู่ แต่ผู้ที่ทำให้ทรัพย์เกิดขึ้น ไม่ปรากฏ เราควรสละทรัพย์นี้ให้ทาน จึงให้สร้างโรงทาน บำเพ็ญทาน เป็นการใหญ่ตลอดชีวิต กาลเมื่อจะสิ้นอายุ ได้ให้โอวาทแก่บุตรไว้ว่า เจ้าอย่าตัดทานวัตรนี้เสีย แล้วตายไปเกิดเป็นท้าวสักกะ ณ ดาวดึงส์ พิภพ. แม้บุตรของเศรษฐีนั้น ก็ให้ทานเช่นนั้นเหมือนกัน แล้วกล่าวสอนบุตร ครั้นสิ้นอายุ ได้เกิดเป็นจันทเทพบุตร บุตรของเขา ได้เกิดเป็นสุริยเทพบุตร บุตรของเขาได้เกิดเป็นมาตลีสังคาหกเทพบุตร. บุตรของเขาได้เกิดเป็นคนธรรพ์เทพบุตร ชื่อ ปัญจสิขะ. แต่บุตรชั้นที่ ๖ เป็นคนไม่มีศรัทธา มีจิตกระด้าง ไม่รักการให้ทาน เป็นคนตระหนี่. เขาให้คนรื้อโรงทาน เผาเสีย ให้โบยตีพวกยาจก ไล่ไปสิ้น แม้หยาดน้ำผึ้ง ก็ไม่รินให้แก่ใครๆ ด้วยหญ้าคา.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 918
ในกาลครั้งนั้น ท้าวสักกเทวราช ตรวจตราดูบุพกรรมของพระองค์ ใคร่ครวญว่า วงศ์ทานของเรา ยังเป็นไปอยู่หรือไม่หนอ ทรงทราบว่า บุตรของเราบำเพ็ญทาน เกิดเป็นจันทเทพบุตร, บุตรของจันทเทพบุตร เกิดเป็นสุริยเทพบุตร, บุตรของสุริยเทพบุตรเกิด เป็นมาตลีเทพบุตร บุตรของมาตลีเทพบุตร เกิดเป็นปัญจสิขเทพบุตร แต่บุตรชั้นที่ ๖ ได้ตัดวงศ์ทานนั้นเสีย ครั้งนั้น พระองค์ได้ทรงมีพระดำริว่า เราจักทรมานเศรษฐี ผู้มีใจลามกนี้ ให้รู้จักผลทาน แล้วจักมา พระองค์จึงรับสั่ง ให้หาจันทสุริย มาตลี และปัญจสิขเทพบุตร มาตรัสว่า ดูก่อนสหายเศรษฐีที่ ๖ ในวงศ์ของพวกเรา ตัดวงศ์ตระกูลขาดเสียแล้ว ให้เผาโรงทาน ให้ขับไล่พวกยาจกไปเสีย ไม่ให้อะไรแก่ใครๆ มาเถิดท่านทั้งหลาย พวกเราจักไปทรมานเศรษฐีนั้น ดังนี้ แล้วได้เสด็จไปยังกรุงพาราณสี พร้อมด้วยเทพบุตรทั้ง ๔ นั้น.
ขณะนั้น เศรษฐีไปเฝ้าพระราชา แล้วมาแลดูระหว่างถนน อยู่ที่ซุ้มประตูที่ ๗ ท้าวสักกะตรัสกะเทพบุตรทั้ง ๔ ว่า เวลาเราเข้าไปแล้ว ท่านทั้งหลาย จงตามเข้าไปโดยลำดับ ดังนี้แล้วไปยืนอยู่ในสำนักเศรษฐีตรัสว่า ดูก่อนมหาเศรษฐีผู้เจริญ ท่านจงให้โภชนะแก่ข้าพเจ้าบ้าง เศรษฐีกล่าวว่า ท่านพราหมณ์ ที่นี้ไม่มีภัตสำหรับท่าน ไปที่อื่นเถิด ท้าวสักกะตรัสว่า ท่านมหาเศรษฐีผู้เจริญ เมื่อพราหมณ์ทั้งหลาย ขอภัต ท่านควรให้ เศรษฐีตอบว่า ท่านพราหมณ์ ภัตนี้หุงสุกแล้วก็ดี ที่จะ พึงหุงก็ดี ไม่มีในเรือนของเรา ท่านจงไปที่อื่นเถิด. ท้าวสักกะตรัสว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 919
ท่านมหาเศรษฐี เราจักกล่าว สรรเสริญท่านอย่างหนึ่ง ท่านจงฟัง เศรษฐีตอบว่า เราไม่ต้องการ ความสรรเสริญของท่าน ท่านจงไปเถิด อย่ายืนอยู่ที่นี้เลย ท้าวสักกะ ทำเป็นไม่ได้ยินคำของเศรษฐี ได้ตรัสคาถา ๒ คาถาว่า :-
สัตบุรุษทั้งหลาย แม้ไม่หุงกินเอง ได้โภชนะมาแล้ว ก็ไม่ปรารถนา จะบริโภคผู้เดียว ท่านหุงโภชนะไว้ มิใช่หรือ การที่ท่านไม่ให้นั้น ไม่สมควรแก่ท่าน.
บุคคลให้ทานไม่ได้ ด้วยเหตุ ๒ อย่างนี้ คือ ความตระหนี่ ๑ ความประมาท ๑ บัณฑิตผู้รู้แจ้ง เมื่อต้องการบุญ พึงให้ทานแท้.
ความแห่งคาถาเหล่านั้นว่า ท่านมหาเศรษฐีผู้เจริญ สัตบุรุษทั้งหลาย ผู้สงบแล้ว แม้ไม่หุงกินเอง ก็ปรารถนาจะให้โภชนะ แม้ที่ได้มา แล้วด้วยภิกขาจาร ย่อมไม่บริโภคผู้เดียว.
บทว่า กิเมว ตฺวํ ความว่า ทั้งๆ ที่ท่านหุงอยู่ ก็ไม่ให้. บทว่า น ตํ สมํ ความว่า การที่ท่านไม่ให้นั้น ไม่สมควร คือ ไม่เหมาะแก่ท่าน. ก็บุคคลให้ทานไม่ได้ ด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ ความตระหนี่ ๑ ความประมาท ๑ ก็มนุษย์ผู้เป็นบัณฑิต ผู้รู้แจ้ง ผู้เช่นกับด้วยท่าน เมื่อต้องการบุญ ควรให้ทานทีเดียว.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 920
เศรษฐีได้ฟังคำท้าวสักกะแล้วกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านจงเข้าไป นั่งที่เรือนเถิด จักได้หน่อยหนึ่ง ท้าวสักกะได้เข้าไป นั่งสวดสรรเสริญอยู่. ลำดับนั้น จันทเทพบุตรได้มาขอภัตกะเศรษฐีนั้นและเมื่อเศรษฐี กล่าวว่า ภัตสำหรับท่านไม่มี จงไปเสียเถิด จึงกล่าวว่า ท่านมหาเศรษฐี พราหมณ์คน ๑ นั่งอยู่แล้วภายในเรือน เห็นจะมีสวดพราหมณ์ กระมัง เราจักเข้าไปสวดบ้าง แม้เศรษฐีจะกล่าวว่า ไม่มีสวดพราหมณ์ ท่านจงออกไป ก็กล่าวว่า ท่านมหาเศรษฐีเชิญท่าน ฟังบทสรรเสริญก่อน แล้วกล่าวคาถา ๒ คาถาว่า :-
คนผู้ตระหนี่ กลัวความยากจน ย่อมไม่ให้อะไรๆ แก่ผู้ใดเลย ความกลัวจน นั่นแหละ จะเป็นภัย แก่คนผู้ไม่ให้ คนตระหนี่ย่อมกลัว ความอยากข้าว อยากน้ำ ความกลัว นั่นแหละ จะกลับมาถูกต้องคนพาล ทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า.
เพราะเหตุนั้น บัณฑิตพึงครอบงำมลทิน กำจัดความตระหนี่เสียแล้ว พึงให้ทานเถิด เพราะบุญ ย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ในโลกหน้า.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 921
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยสฺส ภายติ ความว่า ย่อมกลัวความอยากข้าว อยากน้ำใดว่า เราให้แก่ชนเหล่าอื่นเสียแล้ว ก็จักกลาย เป็นคนอยากข้าว อยากน้ำเสียเอง. บทว่า ตเมว เป็นต้น ความว่า ความกลัว กล่าวคือ ความอยากข้าว อยากน้ำ นั่นแหละ จะกลับมาถูกต้อง คือ เบียดเบียนคนพาลนั้น ทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า ในที่ที่เขาเกิดแล้ว เขาจะถึงความยากจนอย่างที่สุด. บทว่า มลาภิภู คิดครอบงำมลทิน คือ ความตระหนี่.
เศรษฐีได้ฟังคำ ของจันทเทพบุตรแม้นั้น แล้วกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านจงเข้าไป จักได้หน่อยหนึ่ง จันทเทพบุตร เข้าไปนั่งใกล้ท้าวสักกะ ต่อจากนั้น สุริยเทพบุตร ปล่อยให้เวลาล่วงไป หน่อยหนึ่งแล้วมา เมื่อขอภัต ได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า :-
ทานผู้ให้ ให้ได้ยาก เพราะต้องครอบงำ ความตระหนี่ก่อน แล้วจึงให้ได้ การทำทานนั้น ทำยากแท้ อสัตบุรุษทั้งหลาย ย่อมไม่ทำทาน ตามที่สัตบุรุษทำแล้ว ธรรมของสัตบุรุษ อันคน อื่นรู้ได้ยาก.
เพราะเหตุนั้น การไปจากโลกนี้ ของสัตบุรุษกับอสัตบุรุษ จึงต่างกัน อสัตบุรุษย่อมไปนรก สัตบุรุษย่อมไปสวรรค์.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 922
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทุทฺททํ ความว่า ขึ้นชื่อว่า ทาน บุคคลให้ได้ยาก เพราะผู้ที่จะให้ทานนั้น ต้องครอบงำ ความตระหนี่เสียก่อน จึงให้ได้. บทว่า ทุกฺกรํ ความว่า การทำทานนั้น ทำยากแท้ คล้ายกับการรบศึก. บาทคาถาว่า อสนฺโต นานุกุพฺพนฺติ ความว่า พวกอสัตบุรุษ ไม่รู้จักผลแห่งทาน ก็ไม่เดินตามทาง ที่พวกสัตบุรุษเหล่านั้น ดำเนินไปแล้ว. บทว่า สตํ ธมฺโม ความว่า ธรรมของสัตบุรุษ คือ พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย อันคนอื่นรู้ได้ยาก. บทว่า อสนฺโต ความว่า พวกอสัตบุรุษ ไม่ให้ทาน ด้วยอำนาจแห่งความตระหนี่ ย่อมไปสู่นรก.
เศรษฐีไม่เห็นว่า จะหยิบเอาของ ที่ควรหยิบยื่นให้ไปได้ จึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านจงเข้าไปนั่ง อยู่ในสำนักพราหมณ์ทั้งหลาย จักได้หน่อยหนึ่ง. ต่อแต่นั้น มาตลีเทพบุตร ปล่อยให้เวลาล่วงไปหน่อยหนึ่งแล้ว มาขอภัต ในระหว่างที่เศรษฐีตอบว่า ไม่มีนั่นแหละ ได้กล่าวคาถาที่ ๗ ว่า :-
บัณฑิตพวกหนึ่ง ให้ไทยธรรม แม้มีส่วนเล็กน้อยได้ สัตว์บางพวก แม้มีไทยธรรมมาก ก็ให้ไม่ได้ ทักษิณาทานที่บุคคลให้ จากของเล็กน้อย ก็นับว่าเสมอด้วยการให้ จำนวนพัน.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปฺปมฺเปเก ปเวจฺฉนฺติ มีอธิบายว่า ดูก่อนมหาเศรษฐี บุรุษผู้เป็นบัณฑิตบางพวก ย่อมแบ่งปัน คือ ย่อมให้
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 923
ไทยธรรมแม้น้อย. บทว่า พหุนา เป็นต้น ความว่า สัตว์บางพวก แม้มีไทยธรรมมากก็ให้ไม่ได้ คือ ไม่ให้เลย.
ทานที่บุคคลเชื่อกรรม เชื่อผลแห่งกรรม แล้วให้ ชื่อว่า ทักษิณา.
บทว่า สหสฺเสน สมํ ความว่า ทักษิณาทาน แม้ประมาณข้าวสักทัพพีเดียว ที่บุคคลให้แล้วอย่างนี้ ก็นับว่าเสมอกับ ด้วยการให้จำนวนตั้งพัน คือ เป็นเช่นกับ ด้วยการให้จำนวนตั้งพัน นั่นเทียว เพราะมีผลมาก.
เศรษฐีกล่าวกะ มาตลีเทพบุตร แม้นั้นว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านจงเข้าไปนั่งเถิด ต่อจากนั้น ปัญจสิขเทพบุตร ปล่อยให้เวลาล่วงไปหน่อยหนึ่ง แล้วมาขอภัต เมื่อเศรษฐีกล่าวว่า ไม่มีไปเสียเถิด จึงกล่าวว่า เราไม่เลยไป ในเรือนนี้ เห็นจะมีสวดพราหมณ์ กระมัง เมื่อจะเริ่มธรรมกถาแก่เศรษฐี จึงกล่าวคาถาที่ ๘ ว่า :-
แม้ผู้ใด เที่ยวไปขออาหารมา ผู้นั้นชื่อว่า ประพฤติธรรม อนึ่ง บุคคลผู้เลี้ยงบุตร และภรรยาของตน เมื่อไทยธรรมมีน้อย ก็เฉลี่ยให้แก่สมณะ และพราหมณ์ บุคคลนั้นชื่อว่า ประพฤติธรรม เมื่อคนตั้งแสน ฆ่าสัตว์มาบูชา แก่คนผู้ควรบูชาจำนวนพัน อิสรภาพนับตั้งแสนนั้น ย่อมไม่ถึงแม้เสี้ยว แห่งผลทานของคนเข็ญใจ ผู้ยังไทยธรรมให้เกิด โดยชอบให้อยู่.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 924
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺมํ ได้แก่ ธรรม คือ สุจริต ๓ ประการ. บทว่า สมุจฺฉกํ ความว่า แม้ผู้ใดเที่ยวไปขออาหารดิบแลสุก ตามบ้านก็ตาม นำผลาผลมาแต่ป่าก็ตาม ผู้นั้นชื่อว่า ประพฤติธรรม นั่นแล. บทว่า ทารญฺ จ โปสํ ความว่า อนึ่ง บุคคลผู้เลี้ยงบุตร และภรรยาของตน. บทว่า ททํ อปฺปกสฺมึ ความว่า แม้เมื่อไทยธรรมมีน้อย เมื่อเฉลี่ยให้แก่สมณะ และพราหมณ์ ผู้ตั้งอยู่ในธรรม ชื่อว่า ประพฤติอยู่ซึ่งธรรม. บทว่า สตสหสฺสานํ สหสฺสยาคินํ ความว่า ยัญที่คนตั้งแสน ฆ่าสัตว์อื่นมาบูชาแก่คน ที่ควรบูชาจำนวนพัน คือ เมื่ออิสรชนตั้งแสน บูชาแก่คนที่ควรบูชา จำนวนพันอยู่.
บทว่า กลฺลํปิ มาคฺฆนฺติ ตถาวิธสฺส เต ความว่า อิสรภาพ นับตั้งแสนนั้น คือ ยัญที่บูชาแก่คนที่ควรบูชา จำนวนพัน ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งผลทาน ของทุคคตมนุษย์ ผู้ยังไทยธรรมให้เกิดขึ้น โดยธรรมสม่ำเสมอ ให้อยู่.
ลำดับนั้น เศรษฐีได้กำหนดฟังถ้อยคำ ของปัญจสิขเทพบุตรแล้ว ทีนั้นเศรษฐี เมื่อจะถามถึงเหตุแห่งการบูชา อันไร้ผล กะปัญจสิขเทพบุตรนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๙ ว่า :-
เพราะเหตุไร ยัญนี้ ก็ไพบูลย์มีค่ามาก จึงไม่เท่าค่าแห่งผลทาน ที่บุคคลให้โดยชอบธรรมเล่า? ไฉนอิสรภาพ นับด้วยแสน ของผู้ที่บูชามากมาย หลายพันนั้น จึงไม่เท่าแม้ส่วน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 925
เสี้ยวแห่งผลทาน ของคนเข็ญใจ ผู้ยังไทยธรรม ให้เกิดโดยชอบ ให้อยู่.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยญฺโ ความว่า การให้ และการบูชา. ชื่อว่า ไพบูลย์ ด้วยสามารถแห่งการบริจาคทรัพย์ นับด้วยแสน และชื่อว่า มีค่ามาก เพราะมีผลไพบูลย์ บทว่า สเมน ทินฺนสฺส ความว่า เพราะเหตุไร จึงไม่เท่าค่าแห่งผลทาน ที่บุคคลให้โดยชอบธรรมเล่า? บทว่า กถํ สหสฺสานํ ความว่า ดูก่อนพราหมณ์ ไฉนอิสรภาพนับด้วยแสน ของคนที่บูชาจำนวนพันๆ คือ ของคนจำนวนมากมายหลายพัน จึงไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งผลทาน ของทุคคตมนุษย์คนเดียว ผู้ยังไทยธรรม ให้เกิดโดยธรรมแล้ว ให้อยู่.
ลำดับนั้น ปัญจสิขเทพบุตร เมื่อจะกล่าวแก่เศรษฐีนั้น ได้กล่าว คาถาสุดท้ายว่า :-
เพราะว่าคนบางพวก ตั้งอยู่ในกายกรรม เป็นต้น อันไม่เสมอกัน ทำสัตว์ให้ลำบากบ้าง ฆ่าให้ตายบ้าง ทำให้เศร้าโศกบ้าง แล้วจึงให้ทาน ทักขิณาทานนั้น. มีหน้าชุ่มไปด้วยน้ำตา พร้อมทั้งอาชญา จึงไม่เท่าถึงส่วนเสี้ยวแห่งผลทาน ที่บุคคลให้แล้ว โดยชอบธรรม เพราะอย่างนี้อิสรภาพ นับด้วยแสน ของผู้ที่บูชามากมาย
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 926
หลายพันเหล่านั้น จึงไม่เท่าถึงส่วนเสี้ยวแห่งผลทาน ของคนเข็ญใจ ผู้ยังไทยธรรม ให้เกิดโดยชอบ ให้อยู่.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิสเม คือ ตั้งอยู่ในกายกรรม เป็นต้น อันไม่เสมอกัน. บทว่า ฆตฺวา คือ ทำสัตว์ให้ลำบาก. บทว่า วธิตฺวา คือ ทำสัตว์ให้ตาย. บทว่า โสจยิตฺวา คือ ทำสัตว์ให้มีความเศร้าโศก.
เศรษฐีนั้น ฟังธรรมกถา ของปัญจสิขเทพบุตรแล้ว กล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น ไปเถิดท่าน จงเข้าไปนั่งในเรือน จะให้หน่อยหนึ่ง ปัญจสิขเทพบุตร ได้ไปนั่งในสำนักของพราหมณ์เหล่านั้น ลำดับนั้น พิลารโกสิยเศรษฐี เรียกทาสีคนหนึ่ง มาสั่งว่า เจ้าจงให้ข้าวลีบ แก่พราหมณ์เหล่านี้ คนละทะนาน นางทาสี ถือทะนานข้าวเปลือก เข้าไปหาพราหมณ์แล้ว กล่าวว่า ท่านทั้งหลาย จงเอาข้าวเปลือกเหล่านี้ ไปหุงกิน ณ ที่ใดที่หนึ่ง พราหมณ์ทั้งหลายกล่าวว่า พวกเราไม่ต้องการข้าวเปลือก พวกเราไม่จับต้องข้าวเปลือก นางทาสีบอกเศรษฐีว่า ได้ยินว่า พราหมณ์ทั้งหลาย ไม่จับต้องข้าวเปลือก เศรษฐีกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น เจ้าจงให้ข้าวสาร แก่พราหมณ์เหล่านั้น นางทาสีได้ถือเอาข้าวสาร ไปให้พวกพราหมณ์แล้ว กล่าวว่า ท่านพราหมณ์ทั้งหลาย ขอพวกท่านจงรับเอาข้าวสารเถิด พราหมณ์ทั้งหลายกล่าวว่า พวกเราไม่รับของดิบ นางทาสีบอกเศรษฐีว่า ข้าแต่นาย ได้ยินว่า พราหมณ์ทั้งหลาย ไม่รับของดิบ เศรษฐีกล่าวว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 927
ถ้าเช่นนั้น เจ้าจงคดข้าว สำหรับโคกิน ใส่กระโหลกไปให้แก่ พวกพราหมณ์เหล่านั้น นางทาสีได้คดข้าวสุก สำหรับโคกิน ใส่กระโหลก ไปให้พราหมณ์เหล่านั้นแล้ว พราหมณ์ทั้ง ๕ ปั้นข้าวเป็นคำๆ ใส่ปาก ทำให้ข้าวติดคอ แล้วกลอกตาไปมา นอนทำเป็นตาย หมดความรู้สึก ทาสี เห็นดังนั้นคิดว่า พราหมณ์จักตาย จึงกลัว ไปบอกเศรษฐีว่า ข้าแต่นาย พราหมณ์เหล่านั้น ไม่อาจจะกลืนข้าว สำหรับโคได้ตายหมดแล้ว.
เศรษฐีนั้นคิดว่า คราวนี้คนทั้งหลาย จักติเตียนเราว่า เศรษฐีนี้ มีใจชั่ว ให้นางทาสี ให้ข้าวสำหรับโค แก่พวกพราหมณ์ ผู้สุขุมาลชาติ พวกพราหมณ์เหล่านั้น ไม่อาจกลืนข้าวนั้นได้ จึงตายหมด ลำดับนั้น เศรษฐีจึงกล่าวกะทาสีว่า เจ้าจงรีบไปเอาข้าว สำหรับโคในกระโหลก เหล่านั้นมาเสีย แล้วจงคดข้าวสาลี ที่โอชารสไปให้ใหม่ นางได้กระทำตามนั้นแล้ว เศรษฐีเรียก พวกคนเดินถนน มาบอกว่า เราให้ทาสีนำอาหาร ตามที่เราเคยบริโภค ไปให้พวกพราหมณ์เหล่านี้ พราหมณ์เหล่านั้น มีความโลภ บริโภคคำใหญ่ๆ จึงติดคอตาย ท่านทั้งหลาย จงรู้ว่า เราไม่มีความผิด แล้วให้ประชุมบริษัท.
เมื่อมหาชนประชุมกันแล้ว พราหมณ์ทั้งหลาย ลุกขึ้น แลดูมหาชน แล้วกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย จงดูเศรษฐีนี้ กล่าวเท็จ เศรษฐีกล่าวว่า ได้ให้ข้าวสำหรับตนบริโภค แก่พวกเรา ความจริงเศรษฐี ได้ให้ข้าวสำหรับโคกิน แก่พวกเราก่อน เมื่อพวกเราทำเป็นนอนตาย จึงให้ทาสีไปคดข้าวนี้
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 928
ส่งมาให้ กล่าวดังนี้แล้ว จึงคายข้าวที่อมไว้ในปาก ลงบนพื้นดินแสดงแก่ มหาชน มหาชนพากันติเตียนเศรษฐีว่า แน่ะคนอันธพาล เจ้าทำวงศ์ตระกูลของตน ให้พินาศ ให้เผาโรงทาน ให้จับคอพวกยาจกขับไล่ไป บัดนี้ เมื่อจะให้ข้าวแก่พวกพราหมณ์ สุขุมาลชาติเหล่านี้ ได้เอาข้าวสำหรับ โคกินให้ เมื่อเจ้าจะไปปรโลก เห็นจะเอาสมบัติ ในเรือนของเจ้าผูกคอ ไปด้วยกระมัง.
ขณะนั้น ท้าวสักกะถามมหาชนว่า ท่านทั้งหลาย รู้ไหมว่าทรัพย์ ในเรือนนี้เป็นของใคร มหาชนตอบว่า ไม่รู้ ท้าวสักถะถามว่า พวกท่าน เคยได้ยินไหมว่า ครั้งกระโน้น ในพระนครนี้มีมหาเศรษฐี เมืองพาราณสี สร้างโรงทานแล้ว บำเพ็ญทานเป็นการใหญ่ มหาชนตอบว่า ถูกแล้ว พวกเราได้ยิน ท้าวสักกะกล่าวว่า เรา คือ เศรษฐีคนนั้น ครั้นให้ทาน แล้วไปเกิดเป็นท้าวสักกเทวราช แม้บุตรของเรา ก็มิได้ทำลายวงศ์ตระกูล ได้ให้ทาน แล้วเกิดเป็นจันทเทพบุตร บุตรของจันทเทพบุตร เกิดเป็นสุริยเทพบุตร บุตรของสุริยเทพบุตร เกิดเป็นมาตลีเทพบุตร บุตรของมาตลีเทพบุตร เกิดเป็นคนธรรพ์เทพบุตร ชื่อ ปัญจสิขะ บรรดาเทพบุตร เหล่านั้น ผู้นี้คือจันทเทพบุตร ผู้นี้คือสุริยเทพบุตร ผู้นี้คือมาตลีสังคาหกเทพบุตร ผู้นี้คือคนธรรพ์เทพบุตร ชื่อปัญจสิขะ ผู้เป็นบิดาของเศรษฐี ผู้มีใจลามกนี้ กุศลทาน ที่มีคุณมากอย่างนี้ บัณฑิตควรทำแท้ ขณะกำลังกล่าวอยู่ เพื่อจะตัดความสงสัย ของมหาชน เทพบุตรทั้งหลาย
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 929
จึงเหาะไปในอากาศ ยืนเปล่งรัศมี กายงามรุ่งเรืองอยู่ ด้วยอานุภาพอันยิ่งใหญ่ พระนครทั้งสิ้น ได้เป็นเหมือนสว่างไสวอยู่.
ท้าวสักกะ เรียกมหาชนมาตรัสว่า พวกเราละทิพยสมบัติของตนมา ก็เพราะพิลารโกสิยเศรษฐีผู้มีใจลามก. ผู้สืบสกุลวงศ์คนสุดท้ายนี้ เศรษฐีใจลามกคนนี้ ทำลายวงศ์ตระกูลของตน ให้เผาโรงทาน ให้จับคอพวกยาจกขับไล่ไป ตัดวงศ์ของพวกเราเสีย เขาไม่ให้ทาน ไม่รักษาศีล จะพึงเกิดในนรก พวกเรามาเพื่ออนุเคราะห์เศรษฐีนี้ เมื่อจะทรงประกาศคุณแห่งทาน ได้แสดงธรรมแก่มหาชน.
แม้พิลารโกสิยเศรษฐี ก็ได้ประคองอัญชลีขึ้นเหนือเศียร ให้ปฏิญญาแก่ท้าวสักกะว่า ข้าแต่พระองค์ ตั้งแต่นี้ไป ข้าพระองค์จักไม่ทำลายวงศ์ตระกูล ที่มีมาแต่โบราณ จักบำเพ็ญทาน ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ถ้ายังไม่ได้ให้อาหารที่ได้มา แม้ที่สุดจนน้ำ และไม้ชำระฟันแก่ผู้อื่นก่อน ข้าพระองค์ จักไม่บริโภคเลย ท้าวสักกะทรงทรมานเศรษฐีนั้น ทำให้หมดพยศ ให้ตั้งอยู่ในศีล ๕ แล้วพาเทพบุตรทั้ง ๔ ไปสู่วิมานของตนๆ แม้เศรษฐีนั้น ครั้นดำรงอยู่ตลอดชีวิตแล้ว ก็ได้ไปเกิดในดาวดึงส์พิภพ.
พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้ มาแสดงแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อก่อนภิกษุนี้ ไม่มีศรัทธา ไม่ให้ทานแก่ใครๆ แต่เราได้ทรมานเธอ ให้รู้จักผลทานอย่างนี้ แม้เกิดในภพต่อๆ มา ก็ยังละจิตคิด จะให้ทานนั้นไม่ได้ แล้วทรงประชุมชาดกว่า เศรษฐีในครั้งนั้น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 930
ได้มาเป็นภิกษุ ผู้เป็นทานบดีรูปนี้ ในบัดนี้ จันทเทพบุตรในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระสารีบุตรในบัดนี้ สุริยเทพบุตรในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระโมคคัลลานะในบัดนี้ มาตลีเทพบุตรในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระกัสสปะในบัดนี้ ปัญจสิขเทพบุตรในครั้งนั้น ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.
จบอรรถกถา พิลารโกสิยชาดกที่ ๑๒