พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. ชุณหชาดก ว่าด้วยการคบบัณฑิตและคบคนพาล

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ส.ค. 2564
หมายเลข  35919
อ่าน  443

[เล่มที่ 60] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 11

๒. ชุณหชาดก

ว่าด้วยการคบบัณฑิตและคบคนพาล


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 60]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 11

๒. ชุณหชาดก

ว่าด้วยการคบบัณฑิตและคบคนพาล

[๑๕๐๔] ข้าแต่พระองค์ ผู้เป็นจอมแห่งชน ขอพระองค์ทรงสดับคำของข้าพระองค์ ข้าพระองค์มาถึงในที่นี้ด้วยประโยชน์ในพระเจ้าชุณหะ ข้าแต่พระองค์ ผู้ประเสริฐกว่าสัตว์ ๒ เท้าทั้งหลาย เมื่อพราหมณ์เดินทางไกลยืนอยู่ บัณฑิตทั้งหลายไม่ควรพูดว่า พระราชาควรเสด็จเลยไป (*เมื่อพราหมณ์เดินทางยืนขออยู่ บัณฑิตทั้งหลายไม่กล่าวว่า ควรไป).

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 12

[๑๕๐๕] ดูก่อนพราหมณ์ ข้าพเจ้ากำลังรอฟังอยู่ ท่านมาถึงในที่นี้ด้วยประโยชน์อันใด จงบอกประโยชน์อันนั้น หรือว่าท่านปรารถนาประโยชน์อะไรในข้าพเจ้าจึงมาในที่นี้ เชิญท่านพราหมณ์บอกมาเถิด.

[๑๕๐๖] ขอพระองค์โปรดพระราชทานบ้านส่วย ๕ ตำบลแก่ข้าพระองค์ ทาสี ๑๐๐ คน โค ๗๐๐ ทองเนื้อดี ๑,๐๐๐ แท่ง ขอได้ทรงโปรดประทานภรรยา ผู้พริ้มเพราแก่ข้าพระองค์ ๒ คน.

[๑๕๐๗] ดูก่อนพราหมณ์ ตบะอันมีกำลังกล้าของท่านมีอยู่หรือ หรือว่ามนต์ขลังของท่านมีอยู่ หรือว่ายักษ์บางพวกผู้เชื่อฟังถ้อยคำของท่านมีอยู่ หรือว่าท่านยังจำได้ถึงประโยชน์ที่ท่านทำแล้วแก่เรา.

[๑๕๐๘] ตบะของข้าพระองค์มิได้มี แม้มนต์ของข้าพระองค์ก็มิได้มี ยักษ์บางพวกผู้เชื่อฟังถ้อยคำของข้าพระองค์ก็ไม่มี อนึ่ง ข้าพระองค์ก็จำไม่ได้ถึงประโยชน์ที่ข้าพระองค์ทำแล้วแก่พระองค์ ก็แต่ว่า เมื่อก่อนได้มีการพบปะกันเท่านั้นเอง.

[๑๕๐๙] ข้าพเจ้ารู้อยู่ว่า การเห็นนี้เป็นการเห็นครั้งแรก นอกจากนี้ ข้าพเจ้าจำไม่ได้ถึงการพบกันในครั้งใดเลย ข้าพเจ้าถามถึงเรื่องนั้น ขอท่านจงบอกแก่ข้าพเจ้าว่า เราได้เคยพบกันเมื่อไรหรือที่ไหน.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 13

[๑๕๑๐] ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ พระองค์และข้าพระองค์ได้อยู่กันมาแล้วในเมืองตักกศิลา อันเป็นเมืองที่รื่นรมย์ของพระเจ้าคันธารราช พระองค์กับข้าพระองค์ได้กระทบไหล่กันในความมืด มีหมอกทึบในนครนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชาชน พระองค์และข้าพระองค์ยืนกันอยู่ในที่ตรงนั้น เจรจาปราศรัยด้วยคำอันให้ระลึกถึงกันที่ตรงนั้นแล เป็นการพบกันแห่งพระองค์และข้าพระองค์ ภายหลังจากนั้นมิได้มี ก่อนแต่นั้นก็ไม่มี.

[๑๕๑๑] ดูก่อนพราหมณ์ การสมาคมกับสัปบุรุษย่อมมีในหมู่มนุษย์บางครั้งบางคราว บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่ทำการพบปะกัน ความสนิทสนม หรือคุณที่กระทำไว้แล้วในกาลก่อนให้เสื่อมสูญไป.

[๑๕๑๒] ส่วนคนพาลทั้งหลาย ย่อมทำการพบปะกัน ความสนิทสนม หรือคุณที่เขาทำไว้ในกาลก่อนให้เสื่อมสูญไป คุณที่ทำไว้ในคนพาลทั้งหลาย ถึงจะมากมายก็ย่อมเสื่อมไปหมด เพราะว่าคนพาลทั้งหลายเป็นคนอกตัญญู.

[๑๕๑๓] ส่วนนักปราชญ์ทั้งหลาย ย่อมไม่ทำการพบปะกัน ความสนิทสนม หรือคุณที่เขาทำไว้ในกาลก่อนให้เสื่อมสูญไป คุณที่ทำไว้ในนักปราชญ์ทั้งหลาย ถึงจะน้อยก็ย่อมไม่เสื่อมหายไป เพราะว่า

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 14

นักปราชญ์ทั้งหลายเป็นผู้ความกตัญญูดี ข้าพเจ้าจะให้บ้านส่วย ๕ ตำบลแก่ท่าน ทาสี ๑๐๐ คน โค ๗๐๐ ทองเนื้อดี ๑,๐๐๐ แท่ง และภรรยาผู้พริ้มเพรา ๒ คน มีชาติและตระกูลเสมอกัน แก่ท่าน.

[๑๕๑๔] ข้าแต่พระราชา การสมาคมกับสัตบุรุษย่อมเป็นอย่างนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่ในกาสิกรัฐ ข้าพระองค์บริบูรณ์ไปด้วยสมบัติมีบ้านส่วยเป็นต้น เหมือนพระจันทร์ตั้งอยู่ท่ามกลางแห่งหมู่ดาวทั้งหลาย ฉะนั้น การสังคมกับพระองค์นั่นแล เป็นอันว่าข้าพระองค์ได้แล้วในวันนี้เอง.

จบชุณหชาดกที่ ๒

อรรถกถาชุณหชาดก

พระศาสดา เมื่อทรงประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภพรที่พระอานนทเถระได้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "สุโณหิ มยฺหํ วจนํ ชนินฺท" ดังนี้.

ดังจะกล่าวโดยพิสดาร ในปฐมโพธิกาล พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้มีอุปัฏฐากประจำตลอด ๒๐ ปี บางคราวพระนาคสมาลเถระก็อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้า บางคราวพระนาคิตะ บางคราวพระอุปวาณะ บางคราว

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 15

พระสุนักขัตตะ บางคราวพระจุนทะ บางคราวพระสาคตะ บางคราวพระเมฆิยะ.

ภายหลังวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราเป็นผู้แก่แล้ว ภิกษุบางพวก เมื่อเรากล่าวว่า จะไปทางนี้ แล้วพากันไปเสียทางอื่น บางพวกทิ้งบาตรและจีวรของเราไว้ที่พื้นดิน พวกเธอจงรู้ภิกษุรูปหนึ่ง ผู้จะเป็นอุปัฏฐากประจำตัวเรา ทรงห้ามพระสารีบุตรเถระเป็นต้น ที่พากันลุกขึ้นกระทำอัญชลีด้วยเศียรเกล้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักอุปัฏฐาก ข้าพระองค์จักอุปัฏฐาก ดังนี้ ด้วยพระดำรัสว่า ความปรารถนาของพวกเธอถึงที่สุดแล้วพอละ ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงกล่าวกะท่านพระอานนทเถระว่า อาวุโส ท่านจงวิงวอนการอุปัฏฐากเถิด พระเถระขอพร ๘ ประการ คือปฏิเสธ ๔ และข้อวิงวอน ๔ เหล่านี้ คือข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าจักไม่ประทานจีวรที่พระองค์ได้แล้วแก่ข้าพระองค์ จักไม่ให้บิณฑบาต จักไม่ให้อยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกัน จักไม่พาข้าพระองค์ไปยังที่ที่นิมนต์ ก็ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าจักไปยังที่นิมนต์ที่ข้าพระองค์รับไว้ ถ้าข้าพระองค์จักได้เพื่อให้บริษัทที่มาจากนอกแว่นแคว้น นอกชนบท เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ขอให้ได้เข้าเฝ้าในขณะที่มาแล้วทีเดียว ขอให้ข้าพระองค์จักได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าในขณะที่ข้าพระองค์เกิดความสงสัย ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมอันใดในที่ลับหลังข้าพระองค์กลับมาแล้ว ขอได้แสดงธรรมนั้นแก่ข้าพระองค์อีก ด้วยอาการอย่างนี้ ข้าพระองค์จึงจักอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้ประทานแก่เธอแล้ว ตั้งแต่นั้นมา พระอานนทเถระก็ได้เป็นอุปัฏฐากประจำ เป็นเวลา ๒๕ ปี พระเถระได้รับสถาปนาในเอตทัคคะ

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 16

ในฐานะ ๕ ประกอบด้วยสัมปทา ๗ เหล่านี้ คืออาคมสัมปทา อธิคมสัมปทา ปุพพเหตุสัมปทา อัตถัตถปริปุจฉาสัมปทา ติฏฐวาสสัมปทา โยนิโสมนสิการสัมปทา และพุทธุปนิสสยสัมปทา ได้รับมรดก คือพร ๘ ประการในสำนักของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ได้ปรากฏชัดในพระพุทธศาสนา ได้ปรากฏเหมือนพระจันทร์ลอยเด่นในท้องฟ้า ภายหลังวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า อาวุโส พระตถาคตได้ให้พระอานนท์เถระอิ่มหนำด้วยการประทานพร พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบ จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย มิใช่ในบัดนี้อย่างเดียวเท่านั้น แม้ในกาลก่อนเราก็ให้พระอานนท์อิ่มหนำด้วยพรแล้ว ในกาลก่อนนั่นเอง เราก็ได้ให้สิ่งที่เธอขอร้องเหมือนกัน ดังนี้แล้ว จึงนำอดีตนิทานมาตรัสว่า.

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นพระราชโอรสของท้าวเธอ ทรงพระนามว่า ชุณหกุมาร ทรงศึกษาศิลปะในกรุงตักกศิลา ให้การประกอบเนืองๆ แก่อาจารย์ ในเวลามืดค่ำตอนกลางคืน ออกจากเรือนของอาจารย์ รีบไปที่อยู่ของตน เมื่อไม่ (*ทัน) เห็นพราหมณ์คนใดคนหนึ่งผู้เที่ยวภิกษาจารไปยังที่อยู่ของตน (*แขน) จึงตีตุ่มภัตรของพราหมณ์นั้นแตกไป พราหมณ์ล้มลงร้องไห้ กุมารกลับได้ความกรุณา จึงจับมือพราหมณ์นั้นให้ลุกขึ้น พราหมณ์กล่าวว่า เธอมาทำลายภาชนะภิกษาของเราทำไม จงให้ค่าภัตตาหารแก่เรา กุมารกล่าวว่า พราหมณ์ บัดนี้เราไม่อาจจะให้ค่าภัตตาหารนั้นแก่ท่านได้ ก็เราแลเป็นโอรสของพระเจ้ากาสี มีนามว่า ชุณหกุมาร เมื่อเราดำรงอยู่ในรัชสมบัติ ท่านพึงมาขอทรัพย์เราได้ (*ครั้น) จบการศึกษาแล้ว ไหว้อาจารย์แล้วไปยังกรุงพาราณสี แสดงศิลปะแก่พระบิดา.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 17

พระบิดาทรงคิดว่า เราเมื่อยังมีชีวิตอยู่ได้เห็นบุตรแล้ว เราจักเห็นบุตรนั้นได้เป็นพระราชา ดังนี้แล้ว จึงอภิเษกไว้ในรัชสมบัติ พระองค์เป็นพระราชา มีพระนามว่า ชุณหะ ครองราชสมบัติโดยธรรม พราหมณ์ทราบเรื่องนั้นแล้ว จึงคิดว่า บัดนี้เราจักให้พระราชานำค่าภัตตาหารมาแก่เรา จึงไปยังกรุงพาราณสี มองเห็นพระราชากำลังทำประทักษิณพระนครที่ตบแต่งไว้นั่นแล จึงยืนอยู่ในที่สูงแห่งหนึ่งแล้ว เหยียดมือออกไปให้ชัยชนะ (*สดุดีพระราชา) พระราชาเสด็จเลยไป โดยไม่เหลียวดูเลย พราหมณ์รู้ว่าท้าวเธอมิได้เห็น เมื่อจะยกเรื่องขึ้น จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า.

"ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชน ขอพระองค์จงทรงสดับคำของข้าพระองค์ ข้าพระองค์มาถึงในที่นี้ ด้วยประโยชน์ในพระเจ้าชุณหะ ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐกว่าสัตว์สองเท้าทั้งหลาย เมื่อพราหมณ์เดินทางไกลยืนอยู่ บัณฑิตทั้งหลายไม่ควรพูดว่า พระราชาควรเสด็จเลยไป".

บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า ชุณฺหมฺหิ พราหมณ์ย่อมแสดงว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพระองค์มาถึงในที่นี้ด้วยประโยชน์อันหนึ่ง ในท่านผู้ชื่อว่า ชุณหะ มิได้มาโดยไร้เหตุผล.

บทว่า อิทฺธิเก ได้แก่ มาสิ้นระยะกาลนาน.

บทว่า คนฺตพฺพํ ความว่า บัณฑิตทั้งหลาย ไม่ได้กล่าวมาแล้วและย่อมไม่กล่าวว่า พระราชาควรเสด็จเลยไป โดยไม่เหลียวแลดูพราหมณ์ผู้เดินทางไกล คือผู้มาสิ้นระยะกาลนานขอร้องอยู่.

พระราชาทรงสดับคำของเธอแล้ว จึงเอาขอเพชรข่มช้าง ได้ตรัสคาถาที่ ๒ ว่า.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 18

"ดูก่อนพราหมณ์ ข้าพเจ้ากำลังรอฟังอยู่ ท่านมาถึงในที่นี้ด้วยประโยชน์อันใด จงบอกประโยชน์อันนั้น หรือว่าท่านปรารถนาประโยชน์อะไรในข้าพเจ้าจึงมาในที่นี้ เชิญท่านพราหมณ์บอกมาเถิด".

ศัพท์ว่า อีฆ ในคาถานั้น เป็นนิบาตใช้ในอรรถว่า ประท้วง ต่อแต่นั้น จึงได้กล่าวคาถาที่เหลือด้วยอำนาจคำโต้ตอบของพราหมณ์กับพระราชาว่า.

"ขอพระองค์โปรดพระราชทานบ้านส่วย ๕ ตำบล แก่ข้าพระองค์ ทาสี ๑๐๐ คน โค ๗๐๐ ตัว ทองเนื้อดี ๑,๐๐๐ แท่ง ขอได้ทรงโปรดประทานภรรยาผู้พริ้มเพราแก่ข้าพระองค์ ๒ คน".

"ดูก่อนพราหมณ์ ตบะอันมีกำลังกล้าของท่านมีอยู่หรือ หรือว่ามนต์ขลังของท่านมีอยู่ หรือว่ายักษ์บางพวกผู้เชื่อฟังถ้อยคำของท่านมีอยู่ หรือว่าท่านยังจำได้ถึงประโยชน์ที่ท่านทำแล้วแก่เรา".

"ตบะของข้าพระองค์มิได้มี แม้มนต์ของข้าพระองค์มิได้มี ยักษ์บางพวกผู้เชื่อฟังถ้อยคำของข้าพระองค์ก็ไม่มี อนึ่ง ข้าพระองค์ก็จำไม่ได้ถึงประโยชน์ที่ข้าพระองค์ทำแล้วแก่พระองค์ ก็แต่ว่า เมื่อก่อนได้มีการพบปะกันเท่านั้นเอง".

"ข้าพเจ้ารู้อยู่ว่า การเห็นนี้เป็นการเห็นครั้งแรก นอกจากนี้ ข้าพเจ้าจำไม่ได้ถึงการพบกันในครั้งใดเลย

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 19

ข้าพเจ้าถามถึงเรื่องนั้น ขอท่านจงบอกแก่ข้าพเจ้าว่า เราได้เคยพบกันเมื่อไร หรือที่ไหน".

"ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ พระองค์และข้าพระองค์ได้อยู่กันมาแล้วในเมืองตักกศิลา อันเป็นเมืองที่รื่นรมย์ของพระเจ้าคันธารราช พระองค์กับข้าพระองค์ได้กระทบไหล่กันในความมืด มีหมอกทึบ ในนครนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชาชน พระองค์และข้าพระองค์ยืนกันอยู่ในที่ตรงนั้น เจรจาปราศรัยด้วยคำอันให้ระลึกถึงกันที่ตรงนั้นแล เป็นการพบกันแห่งพระองค์และข้าพระองค์ ภายหลังจากนั้นมิได้มี ก่อนแต่นั้นก็ไม่มี".

"ดูก่อนพราหมณ์ การสมาคมกับสัปบุรุษย่อมมีในหมู่มนุษย์บางครั้งบางคราว บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่ทำการพบปะกัน ความสนิทสนม หรือคุณที่กระทำไว้แล้วในกาลก่อน ให้เสื่อมสูญไป".

"ส่วนคนพาลทั้งหลาย ย่อมทำการพบปะกัน ความสนิทสนม หรือคุณที่เขาทำไว้ในกาลก่อน ให้เสื่อมสูญไป คุณที่ทำไว้ในคนพาลทั้งหลาย ถึงจะมากมายก็ย่อมเสื่อมไปหมด เพราะว่าคนพาลทั้งหลาย เป็นคนอกตัญญู".

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 20

"ส่วนนักปราชญ์ทั้งหลาย ย่อมไม่ทำการพบปะกัน ความสนิทสนม หรือคุณที่เขาทำไว้ในกาลก่อน ให้เสื่อมสูญไป คุณที่ทำไว้ในนักปราชญ์ทั้งหลาย ถึงจะน้อยก็ย่อมไม่เสื่อมหายไป เพราะว่านักปราชญ์ทั้งหลาย เป็นผู้มีความกตัญญูดี ข้าพเจ้าจะให้บ้านส่วย ๕ ตำบล แก่ท่าน ทาสี ๑๐๐ คน โค ๗๐๐ ตัว ทองเนื้อดี ๑,๐๐๐ แท่ง และภรรยาผู้พริ้มเพรา ๒ คน มีชาติและตระกูลเสมอกัน แก่ท่าน".

"ข้าแต่พระราชา การสมาคมกับสัตบุรุษย่อมเป็นอย่างนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่ในกาสิกรัฐ ข้าพระองค์บริบูรณ์ไปด้วยสมบัติ มีบ้านส่วยเป็นต้น เหมือนพระจันทร์ตั้งอยู่ท่ามกลางแห่งหมู่ดาวทั้งหลาย ฉะนั้น การสังคมกับพระองค์นั่นแล เป็นอันว่าข้าพระองค์ได้แล้วในวันนี้เอง".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สาทิสี ความว่า ขอพระองค์จงทรงประทานภริยาผู้พริ้งพร้อมด้วยรูป ผู้มีผิวพรรณ มีชาติตระกูลและประเทศนั้นนั่นแล ผู้มียศใหญ่สองนาง ผู้เป็นเช่นเดียวกันกับข้าพระองค์.

บทว่า ภิํสรูโป (*อันมีกำลังกล้า) ความว่า ดูก่อนพราหมณ์ ตบกรรม (*อ่านว่า ตะ-บะ-กำ) อันได้แก่ คุณแห่งศีลและอาจาระของท่าน มีเรี่ยวแรงหรืออย่างไร.

บทว่า มนฺตา นุ เต ความว่า หรือมนต์อันขลังยิ่งนัก อันให้สำเร็จประโยชน์ทุกอย่างของท่านมีอยู่.

บทว่า อสฺสกา ความว่า พวกยักษ์ผู้กระทำตามถ้อยคำ ผู้ให้สิ่งที่ท่านมุ่งมาดปรารถนา บางจำพวกของท่านมีอยู่.

บทว่า กตฺตํ ความว่า ท่านถามว่า

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 21

ท่านยังนึกถึงประโยชน์อะไรๆ ที่ท่านทำไว้แก่ข้าพเจ้า.

บทว่า สงฺคติมตฺตํ ความว่า พราหมณ์กราบทูลว่า เหตุเพียงการมาพบกันกับพระองค์ ได้มีแก่ข้าพระองค์ในครั้งก่อน.

บทว่า ชานโต เม ความว่า นี้เป็นการเห็นครั้งแรกของท่านกับข้าพเจ้าผู้รู้อยู่.

บทว่า น ตาภิชานามิ ความว่า เราไม่รู้จักท่าน.

บทว่า ติมิสฺสทายํ ได้แก่ กลางคืนอันมืดมิด.

บทว่า เต ตตฺถ ตฺวาน ความว่า เราเหล่านั้น ยืนอยู่ในที่ที่ไหล่ต่อไหล่กระทบกันนั้น.

บทว่า วีติสาริมฺห ตตฺถ ความว่า พราหมณ์กราบทูลว่า ในที่ตรงนั้นนั่นแหละ พวกเราได้ยังถ้อยคำอันควรที่จะพึงระลึกให้หลั่งไหล คือข้าพระองค์กราบทูลว่า ภาชนะภิกษาของข้าพระองค์ อันพระองค์ทุบแตกแล้ว ขอพระองค์จงประทานค่าภัตตาหารแก่ข้าพระองค์ พระองค์ตรัสว่า บัดนี้ ข้าพเจ้าไม่สามารถจะใช้ค่าภัตตาหารแก่ท่านได้ แต่ข้าพเจ้าเป็นโอรสของพระเจ้ากาสีชื่อว่า ชุณหกุมาร เมื่อข้าพเจ้าดำรงอยู่ในราชสมบัติ ท่านค่อยมาทวงทรัพย์กับข้าพเจ้า สาราณียกถานี้ พวกเราได้กระทำกันได้แล้ว.

บทว่า สาเยว โน สงฺคติมตฺตมาสิ ความว่า พราหมณ์แสดงว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ พวกเรามีเพียงได้พบปะระหว่างกันและกัน คือได้พบกันเพียงครู่เดียว.

บทว่า ตโต ความว่า ภายหลังหรือก่อนแต่นั้น คือจากมิตรภาพชั่วครู่นั้น ที่จะเรียกได้ว่าเป็นการพบปะของพวกเรา ไม่เคยมีครั้งไหนเลย.

บทว่า น ปณฺฑิตา ความว่า ดูก่อนพราหมณ์ อันท่านผู้ชื่อว่าเป็นบัณฑิตทั้งหลาย ย่อมไม่ทำให้การพบปะเพียงชั่วครู่นั้น การคุ้นเคยกันตลอดกาลนาน หรือคุณที่ท่านทำไว้ในกาลก่อนอะไรๆ เสื่อมสูญไป.

บทว่า พหุํปิ แปลว่า แม้มากมาย.

บทว่า อกตญฺญุรูปา ความว่า เพราะเหตุที่พวกคนพาล มีสภาวะเป็นคนอกตัญญู ฉะนั้น อุปการคุณที่ท่านทำไว้ในพวกคนพาลนั้น ถึงจะมีมากก็ย่อมเสื่อมสูญไป.

บทว่า สุกตญฺรูปา คือมีสภาวะรู้อุปการคุณที่ท่านทำแล้วด้วยดี.

หิ อักษรในคำว่า ตถา หิ ทั้งในที่นี้ ทั้งในที่นั้น มีการณะเป็นอรรถ.

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 22

บทว่า ททามิ เต ความว่า พระราชาเมื่อพระราชทานตามที่พราหมณ์ทูลขอ จึงได้ตรัสว่าอย่างนั้น พราหมณ์เมื่อทำอนุโมทนาแด่พระราชาจึงได้กราบทูลคาถาว่า เอวํ สตํ เป็นอาทิ คือชื่อว่าการร่วมสมาคม ได้แก่ การพบปะกับสัตบุรุษ คือท่านผู้เป็นคนดีทั้งหลายแม้เพียงครั้งเดียวก็ย่อมเป็นอย่างนี้.

ริว อักษรในบทว่า นกฺขตฺตราชาริว เป็นเพียงนิบาต.

บทว่า ตารกานํ ได้แก่ ในท่ามกลางแห่งดวงดาวทั้งหลาย พราหมณ์ทูลพระราชาว่า กาสิปติ อธิบายว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ผู้เป็นใหญ่ในกาสีรัฐ ดวงจันทร์สถิตอยู่ในท่ามกลางแห่งหมู่ดาว คือมีกลุ่มแห่งดวงดาวแวดล้อมย่อมเปล่งปลั่ง จำเดิมแต่วันปาฏิบทจนถึงวันเพ็ญ ฉันใด แม้ข้าพระองค์ก็ฉันนั้น วันนี้กำลังเปี่ยมด้วยบ้านส่วยเป็นต้นที่พระองค์พระราชทานให้.

บทว่า ตยา หิ เม ความว่า การสังคมกับพระองค์ แม้ข้าพระองค์ได้แล้วในครั้งก่อน ก็เป็นเหมือนกับไม่ได้ แต่ในวันนี้ เพราะมโนรถของข้าพระองค์สำเร็จ การสังคมกับพระองค์เป็นอันชื่อว่า อันข้าพระองค์ได้แล้วทั้งนั้น พราหมณ์ทูลว่า ผลแห่งไมตรีจิตกับพระองค์ของข้าพระองค์สำเร็จแล้ว.

พระโพธิสัตว์ ได้ประทานยศใหญ่แก่พราหมณ์นั้น.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่ใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในครั้งก่อนเราก็เคยให้พระอานนท์อิ่มเอิบด้วยพรเหมือนกัน ดังนี้แล้ว จึงประชุมชาดกว่า พราหมณ์ในกาลนั้น ได้เป็นพระอานนท์ ส่วนพระราชา ได้มาเป็นเราตถาคตแล.

จบอรรถกถาชุณหชาดก