พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. ธรรมเทวปุตตชาดก ว่าด้วยเรื่องธรรมชนะอธรรม

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ส.ค. 2564
หมายเลข  35920
อ่าน  487

[เล่มที่ 60] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 23

๓. ธรรมเทวปุตตชาดก

ว่าด้วยเรื่องธรรมชนะอธรรม


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 60]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 23

๓. ธรรมเทวปุตตชาดก

ว่าด้วยเรื่องธรรมชนะอธรรม

[๑๕๑๕] ดูก่อนอธรรมเทพบุตร ฉันเป็นผู้สร้างยศ สร้างบุญ สมณะและพราหมณ์สรรเสริญทุกเมื่อ อธรรมเอ๋ย ฉันชื่อว่า เป็นฝ่ายธรรม อันเทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว คู่ควรแก่หนทาง ท่านจงให้หนทางแก่ฉันเถิด.

[๑๕๑๖] ดูก่อนธรรมเทพบุตร เราชื่อว่า อธรรม ขึ้นสู่ยานแห่งอธรรมอันมั่นคง ไม่เคยกลัวใคร มีกำลัง เข้มแข็ง ธรรมเอ๋ย เราจะพึงให้ทางที่ไม่เคยให้ใคร แก่ท่านในวันนี้ เพราะเหตุอะไรเล่า.

[๑๕๑๗] ธรรมแลปรากฏก่อน ภายหลังอธรรมจึงเกิดขึ้นในโลก เราเป็นผู้เจริญกว่า ประเสริฐกว่า ทั้งเก่ากว่า ขอจงให้ทางแก่เราเถิด น้องเอ๋ย.

[๑๕๑๘] เราจะไม่ให้หนทางแก่ท่าน เพราะการขอร้องหรือเพราะความเป็นผู้สมควร ในวันนี้เราทั้งสองจงมารบกัน แล้วหนทางเป็นของผู้ชนะในการรบ.

[๑๕๑๙] เราผู้ชื่อว่า ธรรม เป็นผู้ลือชาปรากฏไปทั่วทุกทิศ มีกำลังมาก มียศประมาณไม่ได้ ไม่มีผู้เสมอเหมือน ประกอบด้วยคุณทั้งปวง อธรรมเอ๋ย ท่านจักชนะได้อย่างไร.

[๑๕๒๐] เขาเอาค้อนเหล็กตีทองอย่างเดียว หาได้เอาทองตีเหล็กไม่ ถ้าหากว่าเราผู้ชื่อว่า อธรรม ฆ่าท่านผู้ชื่อว่าธรรมในวันนี้ได้ เหล็กจะน่าดู น่าชม เหมือนทองคำ ฉะนั้น.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 24

[๑๕๒๑] ดูก่อนอธรรมเทพบุตร ถ้าหากว่าท่านเป็นผู้มีกำลังในการรบไซร้ ผู้หลักผู้ใหญ่และครูของท่านมิได้มี เราจะยอมให้หนทางอันเป็นที่รักด้วยอาการอันไม่เป็นที่รักของท่าน ทั้งจะขออดทนถ้อยคำชั่วๆ ของท่าน.

[๑๕๒๒] อธรรมเทพบุตรได้ฟังคำนี้แล้ว ก็เป็นผู้มีศีรษะลงเบื้องต่ำ มีเท้าขึ้นเบื้องสูง ตกลงจากรถ รำพันเพ้อว่า เราปรารถนาจะรบก็ไม่ได้รบ อธรรมเทพบุตรถูกตัดรอนเสียแล้ว ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้.

[๑๕๒๓] ธรรมเทพบุตรผู้มีขันติเป็นกำลัง มีจิตเที่ยงตรง มีกำลังมาก มีความบากบั่นอย่างแท้จริง ชำนะกำลังรบ ได้ฆ่าอธรรมเทพบุตร ฝังเสียในแผ่นดินแล้ว ขึ้นสู่รถของตนไปโดยหนทางนั่นเทียว.

[๑๕๒๔] มารดาบิดาและสมณพราหมณ์ ไม่ได้รับความนับถือในเรือนของชนเหล่าใด ชนเหล่านั้น ครั้นทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลกนี้ ตายไปแล้วย่อมต้องพากันไปสู่นรก เหมือนอธรรมเทพบุตรผู้มีศีรษะลงในเบื้องต่ำตกไปแล้ว ฉะนั้น.

[๑๕๒๕] มารดาบิดาและสมณพราหมณ์ ได้รับความนับถือเป็นอย่างดีในเรือนของชนเหล่าใด ชนเหล่านั้น ครั้นทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลกนี้ ตายไปแล้วย่อมพากันไปสุคติ เหมือนธรรมเทพบุตรขึ้นสู่รถของตนไปสู่เทวโลก ฉะนั้น.

จบธรรมเทวปุตตชาดกที่ ๓

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 25

อรรถกถาธรรมเทวปุตตชาดก

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภถึงการที่แผ่นดินสูบพระเทวทัต จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "ยโสกโร ปุญฺกโรหมสฺมิ" ดังนี้.

ความย่อว่า ในครั้งนั้นพวกภิกษุสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า อาวุโสทั้งหลาย พระเทวทัตกลับเกรี้ยวกราดกับพระตถาคตเจ้า เลยถูกแผ่นดินสูบเสียแล้ว พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบ จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่พระเทวทัตให้การประหารในชินจักรของเรา ถูกแผ่นดินสูบ แม้ในกาลก่อน เธอก็เคยให้ประหารในธรรมจักร ถูกแผ่นดินสูบบ่ายหน้าไปสู่อเวจีมหานรก ดังนี้แล้ว จึงได้นำอดีตนิทานมาแสดงดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นเทพบุตรนามว่า ธรรม ในกามาวจรเทวโลก ส่วนพระเทวทัตเป็นเทพบุตรชื่อว่า อธรรม ในเทวบุตรทั้ง ๒ องค์นั้น ธรรมเทพบุตรประดับด้วยเครื่องอลังการอันเป็นทิพย์ ทรงรถทิพย์อันประเสริฐ แวดล้อมไปด้วยหมู่เทวอัปสร เมื่อพวกมนุษย์บริโภคอาหารเย็นแล้ว นั่งสนทนากันอย่างสบายที่ประตูเรือนของตนๆ ก็สถิตอยู่ในอากาศ ณ คามนิคมชนบทและราชธานี ในวันเพ็ญอันเป็นวันอุโบสถ ชวนหมู่ชนให้ถือมั่นซึ่งกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการว่า ท่านทั้งหลายจงงดเว้นจากอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ มีปาณาติบาตเป็นต้นพากันบำเพ็ญธรรม คือการบำรุงมารดา

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 26

บิดา ทั้งสุจริตธรรม ๓ ประการทั่วกันเถิด เมื่อบำเพ็ญอยู่อย่างนี้ จักมีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า เสวยยศอันยิ่งใหญ่ ดังนี้ จึงกระทำประทักษิณชมพูทวีป ฝ่ายอธรรมเทพบุตร ชักชวนให้ถืออกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการโดยนัยมีอาทิว่า พวกเธอจงฆ่าสัตว์กันเถิด ดังนี้แล้ว จึงกระทำการเวียนซ้ายชมพูทวีป ลำดับนั้น รถของเทพบุตรเหล่านั้นได้มาพบกันในอากาศ ต่อมาพวกบริษัทของเทพบุตรเหล่านั้น ต่างถามกันว่า พวกท่านเป็นฝ่ายไหน พวกท่านเป็นฝ่ายไหนกัน ต่างตอบกันว่า พวกเราเป็นฝ่ายธรรมเทพบุตร พวกเราเป็นฝ่ายอธรรมเทพบุตร จึงต่างพากันแยกทางหลีกเป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายธรรมเทพบุตรเรียกอธรรมเทพบุตรมากล่าวว่า สหายเอ๋ย เธอเป็นฝ่ายอธรรม ฉันเป็นฝ่ายธรรม หนทางสมควรแก่ฉัน เธอจงขับรถของเธอหลีกไป จงให้ทางแก่ฉันเถิด แล้วกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า.

"ดูก่อนอธรรมเทพบุตร ฉันเป็นผู้สร้างยศ เป็นผู้สร้างบุญ สมณะและพราหมณ์พากันสรรเสริญทุกเมื่อ อธรรมเอ๋ย ฉันชื่อว่า เป็นฝ่ายธรรม เป็นผู้สมควรแก่หนทาง เป็นผู้อันเทวดาและมนุษย์พากันบูชา ท่านจงให้หนทางแก่ฉันเถิด".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยโสกโร ได้แก่ ฉันเป็นผู้สร้างยศให้แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แม้ในบทที่ ๒ ก็นัยนี้เหมือนกัน.

บทว่า สทตฺถุโต คือได้รับความชื่นชมทุกเมื่อ สรรเสริญอยู่เป็นนิตย์.

ลำดับนั้น อธรรมเทพบุตรกล่าวว่า

"ดูก่อนธรรมเทพบุตร เราผู้ชื่อว่า อธรรม ขึ้นสู่ยานแห่งอธรรมอันมั่นคง ไม่เคยกลัวใคร มีกำลัง

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 27

เข้มแข็ง ธรรมเอ๋ย เราจะพึงให้ทางที่ไม่เคยให้ใครแก่ท่านในวันนี้ เพราะเหตุอะไรเล่า".

"ธรรมแลปรากฏก่อน ภายหลังอธรรมจึงเกิดขึ้นในโลก เราเป็นผู้เจริญกว่า ประเสริฐกว่า ทั้งเก่ากว่า ขอจงให้ทางแก่เราเถิด น้องเอ๋ย".

"เราจะไม่ให้หนทางแก่ท่าน เพราะการขอร้องหรือเพราะความเป็นผู้สมควร ในวันนี้เราทั้งสองจงมารบกัน แล้วหนทางจะเป็นของผู้ชนะในการรบ".

"เราผู้ชื่อว่า ธรรม เป็นผู้ลือชาปรากฏไปทั่วทุกทิศ มีกำลังมาก มียศประมาณไม่ได้ ไม่มีผู้เสมอเหมือน ประกอบด้วยคุณทั้งปวง อธรรมเอ๋ย ท่านจะชนะได้อย่างไร".

"เขาเอาค้อนเหล็กตีทองอย่างเดียว หาได้เอาทองมาตีเหล็กไม่ ถ้าหากว่าเราผู้ชื่อว่า อธรรม ฆ่าท่านผู้ชื่อว่า ธรรม ในวันนี้ได้ เหล็กจะน่าดูน่าชมเหมือนทองคำ ฉะนั้น".

"ดูก่อนอธรรมเทพบุตร ถ้าหากว่าท่านเป็นผู้มีกำลังในการรบไซร้ ผู้หลักผู้ใหญ่และครูของท่านมิได้มี เราจะยอมให้หนทางอันเป็นที่รักด้วยอาการอันไม่เป็นที่รักของท่าน ทั้งจะขออดทนถ้อยคำชั่วๆ ของท่าน".

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 28

คาถาทั้ง ๖ นี้ ท่านกล่าวไว้ด้วยสามารถเป็นคำโต้ตอบของเทพบุตรเหล่านั้นนั่นแล.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ส กิสฺส เหตุมฺหิ ตวชฺชทชฺชํ ความว่า ก็แลข้าพเจ้านั้นชื่อว่า อธรรม ขึ้นรถอันเป็นยานของอธรรมแล้ว ไม่เคยกลัวต่อใคร มีกำลัง ธรรมเอ๋ย เหตุไรในวันนี้ ข้าพเจ้าจะให้ทางที่ไม่เคยให้ใครๆ แก่เจ้าเล่า.

บทว่า ปุพฺเพ ความว่า ธรรม คือกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ ปรากฏแล้วในโลกนี้ก่อนทีเดียว ในกาลเริ่มปฐมกัป อธรรมเกิดขึ้นภายหลัง.

ด้วยบทว่า เชฏฺโ จ นี้ ธรรมกล่าวว่า เพราะความที่ธรรมบังเกิดก่อน ฉันจึงเจริญกว่า ประเสริฐกว่า เก่ากว่า ส่วนเธอเป็นน้อง เหตุนั้น เธอจงหลีกทางไป.

บทว่า นปิ ปาฏิรูปา ความว่า ข้าพเจ้าจะไม่ขอยอมให้หนทางแก่เจ้าเด็ดขาด จะด้วยคำขอร้อง ด้วยคำที่พูดสมควร ด้วยเหตุที่ควรให้หนทาง ทั้งนั้นแหละ.

บทว่า อนุสโฏ ความว่า ฉันมีชื่อเสียงแผ่ไปแล้ว เลื่องลือไปแล้ว ปรากฏเด่นทั่วทุกทิศ คือในทิศใหญ่ ๔ ทิศ ในทิศน้อย ๔ ทิศ.

บทว่า โลเหน ได้แก่ ด้วยค้อนเหล็ก.

บทว่า หญฺติ แปลว่า จักฆ่าเสียให้ได้.

บทว่า ยุทฺธพโล อธมฺม ความว่า ถ้าเธอเป็นผู้มีกำลังในการรบ.

บทว่า วุฑฺฒา จ คุรู จ ความว่า ถ้าท่านเหล่านี้เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ท่านเหล่านี้เป็นครู เป็นบัณฑิตของท่าน อย่างนี้ย่อมมีไม่ได้.

บทว่า ปิยาปฺปิเยน ความว่า ฉันเมื่อจะให้ทั้งด้วยอาการอันเป็นที่รัก ทั้งด้วยอาการอันไม่เป็นที่รัก ก็จะให้ทางอันเป็นที่รักแก่เธอ ด้วยอาการอันเป็นที่รัก.

ก็แล ในขณะที่พระโพธิสัตว์กล่าวคาถานี้จบลงนั่นเอง อธรรมก็ไม่อาจจะดำรงอยู่บนรถได้ หกคะเมนตกลง ณ เบื้องปฐพี ครั้นปฐพีเปิดช่องให้ ก็ไปบังเกิดในอเวจีมหานรกนั่นแล.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ได้ตรัสคาถาที่เหลือ ดังนี้ว่า.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 29

"อธรรมเทพบุตรได้ฟังคำนี้แล้ว ก็เป็นผู้มีศีรษะลงเบื้องต่ำ มีเท้าขึ้นเบื้องสุด ตกลงจากรถ รำพันเพ้อว่า เราปรารถนาจะรบก็ไม่ได้รบ อธรรมเทพบุตรถูกตัดรอนเสียแล้ว ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้".

"ธรรมเทพบุตร ผู้มีขันติเป็นกำลัง มีจิตเที่ยงตรง มีกำลังมาก มีความบากบั่นอย่างแท้จริง ชำนะกำลังรบ ได้ฆ่าอธรรมเทพบุตร ฝังเสียในแผ่นดินแล้ว ขึ้นสู่รถของตน ไปโดยหนทางนั่นแล".

"มารดาบิดาและสมณพราหมณ์ ไม่ได้รับความนับถือในเรือนของชนเหล่าใด ชนเหล่านั้น ครั้นทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลกนี้ ตายไปแล้วย่อมต้องพากันไปสู่นรก เหมือนอธรรมเทพบุตร มีศีรษะลงในเบื้องต่ำตกไปแล้ว ฉะนั้น".

"มารดาบิดาและสมณพราหมณ์ ได้รับความนับถือเป็นอย่างดีในเรือนของชนเหล่าใด ชนเหล่านั้น ครั้นทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลกนี้ ตายไปแล้วย่อมพากันไปสู่สุคติ เหมือนธรรมเทพบุตรขึ้นสู่รถของตนไปสู่ เทวโลก ฉะนั้น".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยุทฺธตฺถิโก เว ได้แก่ เขามีความบ่นเพ้อดังนี้ ได้ยินว่า เขากำลังบ่นเพ้ออยู่นั่นแล ตกจมแผ่นดินไปแล้ว.

บทว่า เอตฺตาวตา ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อธรรมจมแผ่นดินไปเพียงใด อธรรมชื่อว่า ถูกกำจัดแล้วเพียงนั้น.

บทว่า ขนฺติพโล ความว่า ดูก่อนภิกษุ

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 30

ทั้งหลาย อธรรมเทพบุตรจมแผ่นดินไปอย่างนี้แล้ว ธรรมเทพบุตรเป็นผู้มีกำลัง คืออธิวาสนขันติ ชำนะพลรบฆ่าแล้วฝังไว้ในแผ่นดิน ให้ตกไป มีจิตแน่นอน เพราะเกิดความคิดขึ้น จึงขึ้นสู่รถของตน มีความบากบั่นอย่างแท้จริง ได้ไปตามหนทางนั่นแล.

บทว่า อสมฺมานิตา แปลว่า อันเขาไม่สักการะ.

บทว่า สรีรเทหํ ความว่า ได้ทอดทิ้งกายกล่าวคือ สรีระในโลกนี้เอง.

บทว่า นิรยํ วชนฺติ ความว่า ชนเหล่านั้น ผู้สมควรแก่สักการะ อันคนชั่วใดไม่สักการะในเรือน เหล่าคนชั่วเห็นปานนั้น ย่อมหกคะเมนลงสู่นรก เหมือนอธรรมเทพบุตรเอาศีรษะตกลงไปเบื้องต่ำ ฉะนั้น.

บทว่า สุคติํ วชนฺติ ความว่า เหล่าบัณฑิตผู้เป็นเช่นนั้น อันผู้ใดสักการะแล้ว ผู้นั้นย่อมไปสู่สุคติ เหมือนธรรมเทพบุตรขึ้นสู่รถรบไปเทวโลก ฉะนั้น.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่ใช่แต่ในบัดนี้อย่างเดียวเท่านั้น แม้ในกาลก่อนพระเทวทัตก็กราดเกรี้ยวโต้กับเรา ถูกแผ่นดินสูบไปแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า อธรรมเทพบุตรในกาลนั้น ได้เป็นพระเทวทัต แม้บริษัทของอธรรมเทพบุตรนั้น ก็ได้เป็นบริษัทของพระเทวทัต ส่วนธรรมเทพบุตร ก็คือเราตถาคตนั่นเอง ส่วนบริษัท ได้มาเป็นพุทธบริษัทนี้นั่นแล.

จบอรรถกถาธรรมเทวปุตตชาดก