พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. อุทยชาดก ว่าด้วยบารมี ๑๐ ทัศ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ส.ค. 2564
หมายเลข  35921
อ่าน  507

[เล่มที่ 60] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 31

๔. อุทยชาดก

ว่าด้วยบารมี ๑๐ ทัศ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 60]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 31

๔. อุทยชาดก

ว่าด้วยบารมี ๑๐ ทัศ

[๑๕๒๖] ดูก่อนพระนาง ผู้มีพระวรกายงามหาที่ติมิได้ มีช่วงพระเพลากลมกลึงผึ่งผาย ทรงวัตถาภรณ์อันสะอาด เสด็จขึ้นสู่ปราสาทประทับนั่งอยู่พระองค์เดียว ดูก่อนพระนางผู้มีพระเนตรงามดังเนตรกินนร หม่อมฉันขอวิงวอนพระนาง เราทั้งสองควรอยู่ร่วมกันตลอดคืนหนึ่งนี้.

[๑๕๒๗] นครนี้มีคูรายรอบ มีป้อมแลซุ้มประตูมั่นคง มีหมู่ทหารถือกระบี่รักษา ยากที่ใครๆ จะเข้าได้ ทหารนักรบหนุ่มก็ไม่มีเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านปรารถนามาพบข้าพเจ้าด้วยเหตุอะไรหนอ.

[๑๕๒๘] ดูก่อนพระนางผู้เลอโฉม หม่อมฉันเป็นเทพบุตรมาในตำหนักของพระนาง ดูก่อนพระนางผู้เจริญ เชิญพระนางชื่นชมกับหม่อมฉันเถิด หม่อมฉันจะถวายถาดทอง อันเต็มด้วยเหรียญทองแก่พระนาง.

[๑๕๒๙] นอกจากเจ้าชายอุทัยแล้ว ข้าพเจ้าไม่พึงปรารถนาเทวดา ยักษ์หรือมนุษย์ผู้อื่นเลย ดูก่อนเทพบุตรผู้มีอานุภาพมาก ท่านจงไปเสียเถิด อย่ากลับมาอีกเลย.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 32

[๑๕๓๐] ความยินดีอันใดเป็นที่สุดของผู้บริโภคกาม สัตว์ทั้งหลายประพฤติไม่สมควรเพราะเหตุแห่งความยินดีอันใด พระนางอย่าพลาดความยินดีในทางอันสะอาดของพระนางนั้นเลย หม่อมฉันขอถวายถาดเงินอันเต็มด้วยเหรียญเงินแก่พระนาง.

[๑๕๓๑] ธรรมดาชายหมายจะให้หญิงเอออวยด้วยทรัพย์ ย่อมประมูลราคาขึ้นจนให้พอใจ ของท่านตรงกันข้าม ท่านประมูลราคาโดยลดลงดังที่เห็นประจักษ์อยู่.

[๑๕๓๒] ดูก่อนพระนางผู้มีพระวรกายงาม อายุและวรรณะของหมู่มนุษย์ในมนุษยโลกย่อมเสื่อมลง ด้วยเหตุนั้นแล แม้ทรัพย์สำหรับพระนางก็จำต้องลดลง เพราะวันนี้พระนางชราลงกว่าวันก่อน ดูก่อนพระราชบุตรีผู้มีพระยศ เมื่อหม่อมฉันกำลังเพ่งมองอยู่อย่างนี้ พระฉวีวรรณของพระนางย่อมเสื่อมไป เพราะวันคืนล่วงไปๆ ดูก่อนพระราชบุตรีผู้มีปรีชา เพราะเหตุนั้นพระนางพึงประพฤติพรหมจรรย์เสียวันนี้ทีเดียว จะได้มีพระฉวีวรรณงดงามยิ่งขึ้นอีก.

[๑๕๓๓] เทวดาทั้งหลายไม่แก่เหมือนมนุษย์หรือ เส้นเอ็นในร่างกายของเทวดาเหล่านั้นไม่มีหรือ ดูก่อนเทพบุตร ข้าพเจ้าขอถามท่านผู้มีอานุภาพมาก ร่างกายของเทวดาเป็นอย่างไร.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 33

[๑๕๓๔] เทวดาทั้งหลายไม่แก่เหมือนมนุษย์ เส้นเอ็นในร่างกายของเทวดาเหล่านั้นไม่มี ฉวีวรรณอันเป็นทิพย์ของเทวดาเหล่านั้น ผุดผ่องยิ่งขึ้นทุกๆ วันและโภคสมบัติก็ไพบูลย์ขึ้น.

[๑๕๓๔] หมู่ชนเป็นอันมากในโลกนี้ กลัวอะไรเล่า จึงไม่ไปเทวโลกกัน ก็หนทางไปเทวโลกบัณฑิตทั้งหลายกล่าวไว้หลายด้าน ดูก่อนเทพบุตรผู้มีอานุภาพมาก ข้าพเจ้าขอถามท่านว่า บุคคลตั้งอยู่ในหนทางไหน จึงจะไม่กลัวปรโลก.

[๑๕๓๖] บุคคลผู้ตั้งวาจาและใจไว้โดยชอบ ไม่กระทำบาปด้วยกาย อยู่ครองเรือนอันมีข้าวและน้ำมาก เป็นผู้มีศรัทธา อ่อนโยน จำแนกแจกทาน รู้ความประสงค์ ชอบสงเคราะห์ มีถ้อยคำกลมกล่อม อ่อนหวาน ผู้ตั้งอยู่ในคุณธรรมดังกล่าวมานี้ ไม่พึงกลัวปรโลก.

[๑๕๓๗] ข้าแต่เทพบุตร ท่านพร่ำสอนข้าพเจ้าเหมือนมารดาบิดา ข้าแต่ท่านผู้มีผิวพรรณงามยิ่ง ข้าพเจ้าขอถาม ท่านเป็นใครหนอ จึงมีร่างกายสง่างามนัก.

[๑๕๓๘] ดูก่อนพระนางผู้เลอโฉม ข้าพเจ้าเป็นพระเจ้าอุทัย มาในที่นี้เพื่อต้องการจะเปลื้องข้อผูกพัน ข้าพเจ้าบอกพระนางแล้ว จะขอลาไป ข้าพเจ้าพ้นจากข้อผูกพันของพระนางแล้ว.

[๑๕๓๙] ข้าแต่พระลูกเจ้า ถ้าพระองค์เป็นพระเจ้าอุทัยเสด็จมา ณ ที่นี้ เพื่อต้องการจะเปลื้องข้อ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 34

ผูกพันไซร้ ข้าแต่พระราชบุตร ขอเชิญพระองค์จงโปรดพร่ำสอนหม่อมฉัน ด้วยวิธีที่เราทั้งสองจะได้พบกันใหม่อีกเถิด เพคะ.

[๑๕๔๐] วัยล่วงไปเร็วยิ่งนัก ขณะก็เช่นนั้นเหมือนกัน ความตั้งอยู่ยั่งยืนไม่มี สัตว์ทั้งหลายย่อมจุติไปแน่แท้ สรีระไม่ยั่งยืน ย่อมเสื่อมถอย ดูก่อนพระนางอุทัย เธออย่าประมาท จงประพฤติธรรม พื้นแผ่นดินทั้งสิ้นเต็มไปด้วยทรัพย์ ถ้าพึงเป็นของของพระราชาพระองค์เดียว ไม่มีผู้อื่นครอบครอง ถึงกระนั้น ผู้ที่ยังไม่ปราศจากความกำหนัดก็ต้องทิ้งสมบัตินั้นไป ดูก่อนพระนางอุทัย เธออย่าประมาท จงประพฤติธรรม มารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาว ภรรยาและสามีพร้อมทั้งทรัพย์ แม้เขาเหล่านั้นต่างก็จะละทิ้งกันไป ดูก่อนพระนางอุทัย เธออย่าประมาท จงประพฤติธรรม ดูก่อนพระนางอุทัย เธอพึงทราบว่า ร่างกายเป็นอาหารของสัตว์อื่นๆ พึงทราบว่า สุคติและทุคติในสงสารเป็นที่พักชั่วคราว เธออย่าประมาท จงประพฤติธรรมเถิด.

[๑๕๔๑] เทพบุตรพูดดีจริง ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายน้อย ทั้งลำเค็ญ ทั้งนิดหน่อย ทั้งประกอบไปด้วยทุกข์ หม่อมฉันจักสละสุรุนธนนคร แคว้นกาสี ออกบวชอยู่ลำพังผู้เดียว.

จบอุทยชาดกที่ ๔

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 35

อรรถกถาอุทยชาดก

พระศาสดา เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภภิกษุผู้เบื่อหน่าย ได้ตรัสพระธรรมเทศนานี้มีคำเริ่มต้นว่า "เอกา นิสินฺนา" ดังนี้.

เรื่องจักมีแจ้งในกุสชาดกข้างหน้า.

ก็พระศาสดา ตรัสถามภิกษุนั้นว่า ดูก่อนภิกษุ จริงหรือที่ว่าเธอเป็นผู้เบื่อหน่ายแล้ว เมื่อเธอกราบทูลว่า จริงพระเจ้าข้า จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เหตุไรเล่า เธอบรรพชาในพระศาสนาอันเป็นที่นำสัตว์ออกจากทุกข์เห็นปานนี้ ยังเป็นผู้เบื่อหน่ายด้วยอำนาจกิเลส แม้แต่บัณฑิตในปางก่อน เสวยราชสมบัติ ณ สุรุนธนนคร มีบริเวณได้ ๑๒ โยชน์ อันมั่งคั่ง ถึงจะอยู่ร่วมห้องกับหญิงผู้เทียบเท่านางเทพอัปสรตลอด ๗๐๐ ปี ก็ยังมิได้ทำลายอินทรีย์ แลดูด้วยอำนาจความโลภเลย ดังนี้แล้ว จึงทรงนำอดีตนิทานมาดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้ากาสีเสวยราชสมบัติ ณ สุรุนธนนคร แคว้นกาสี พระองค์ไม่เคยมีพระโอรสหรือพระธิดาเลย พระองค์ตรัสกับพระเทวีทั้งหลายของพระองค์ว่า พวกเธอจงพากันปรารถนาบุตรเถิด พระราชเทวีรับพระราชดำรัสแล้ว ได้ทรงกระทำเช่นนั้น ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์จุติจากพรหมโลก ถือปฏิสนธิในพระอุทรแห่งพระอัครมเหสีของพระราชา ลำดับนั้น พระประยูรญาติทรงขนานพระนามพระราชกุมารนั้นว่า อุทัยภัทร เพราะทรงบังเกิด ทำให้หทัยของมหาชนจำเริญ ในกาลที่พระราชกุมารทรงย่างพระบาทไปได้ สัตว์ผู้อื่นจุติจากพรหมโลก บังเกิดเป็นกุมาริกาในพระอุทรของพระเทวีพระองค์ใดพระองค์หนึ่งของพระราชาพระองค์นั้นแล พระประยูรญาติทรงขนานพระนามพระราชกุมารีนั้นว่า อุทัยภัทรา พระราชกุมาร

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 36

ทรงจำเริญวัย จบการศึกษาศิลปศาสตร์ทั้งหมด แต่ทรงเป็นพรหมจารีโดยกำเนิด ไม่ทรงทราบเรื่องเมถุนธรรมแม้ด้วยความฝัน พระทัยของพระองค์มิได้พัวพันในกิเลสทั้งหลายเลย พระราชาทรงพระประสงค์จะอภิเษกพระราชโอรส ทรงส่งข่าวสาสน์ไปว่า พ่อลูกชาย บัดนี้เป็นกาลที่จะเสวยความสุขในราชสมบัติของลูกละ พ่อจักให้ราชสมบัติทั้งหมดแก่ลูก พระโพธิสัตว์เจ้ากราบทูลห้ามเสียว่า ข้าพระองค์ มิได้มีความต้องการด้วยราชสมบัติเลย จิตของข้าพระองค์มิได้พัวพันในกองกิเลสเลย เมื่อได้รับพระราชดำรัสเตือนบ่อยๆ เข้า จึงให้ช่างสร้างรูปสตรีสำเร็จด้วยทองคำชมพูนุทอันเปล่งปลั่ง แล้วทรงส่งข่าวสาสน์ถวายแด่พระราชบิดาและพระราชมารดาว่า ถ้าข้าพระองค์ ได้พบเห็นผู้หญิงงามเห็นปานนี้ไซร้ ก็จักขอรับมอบราชสมบัติ พระราชบิดาและพระราชมารดาให้อำมาตย์พาเอารูปทองคำนั้นตระเวนไปทั่วชมพูทวีป เมื่อไม่ได้ผู้หญิงงามเช่นนั้น จึงตบแต่งพระนางอุทัยภัทรา ให้ประทับอยู่ในวังของพระราชกุมารนั้น พระนางทรงข่มรูปทองคำนั้นเสียหมดสิ้น ครั้งนั้น พระราชบิดาและพระราชมารดาทรงอภิเษกพระโพธิสัตว์เจ้า กระทำพระน้องนางต่างพระชนนีอุทัยภัทราราชกุมารี ให้เป็นอัครมเหสี ทั้งๆ ที่พระราชกุมารและพระราชกุมารีทั้ง ๒ พระองค์นั้นมิได้ปรารถนาเลย แต่ทั้ง ๒ พระองค์นั้นก็ทรงประทับอยู่ด้วยการอยู่อย่างประพฤติพรหมจรรย์นั่นแล ครั้นกาลต่อมา พระราชบิดาและพระราชมารดาล่วงลับไป พระโพธิสัตว์จึงครอบครองราชสมบัติ แม้ทั้ง ๒ พระองค์จะประทับร่วมห้องกัน ก็มิได้ทรงทำลายอินทรีย์ทอดพระเนตรกันด้วยอำนาจความโลภเลย ก็แต่ว่า ทรงกระทำข้อผูกพันกันไว้ว่า ในเราทั้ง ๒ ผู้ใดสิ้นพระชนม์ไปก่อน ผู้นั้นต้องมาจากที่ที่เกิดแล้วบอกว่า ฉันเกิดในสถานที่โน้นดังนี้ เท่านั้น ต่อมาล่วงได้

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 37

๗๐๐ ปี นับแต่เวลาได้อภิเษก พระโพธิสัตว์เจ้าก็สวรรคต ผู้อื่นที่จะเป็นพระราชาหามีไม่ พระนางอุทัยภัทราพระองค์เดียวทรงสำเร็จราชการแทน หมู่อำมาตย์ร่วมกันปกครองราชสมบัติ ฝ่ายพระโพธิสัตว์เจ้านั้น ในขณะที่ทรงจุติ ทรงถึงความเป็นท้าวสักกะในดาวดึงส์พิภพ เพราะทรงมียศใหญ่ยิ่ง ไม่สามารถจะทรงอนุสรณ์ได้ตลอดสัปดาห์ ดังนั้นเป็นอันล่วงไปถึง ๗๐๐ ปี ด้วยการนับปีของมนุษย์ ท้าวเธอจึงทรงระลึกได้ ทรงพระดำริว่า เราจักทดลองพระราชธิดาอุทัยภัทราด้วยทรัพย์ แล้วเปล่งสีหนาทแสดงธรรม เปลื้องข้อผูกพันแล้ว จึงมา ได้ยินว่า ครั้งนั้นเป็นเวลาที่มนุษย์มีอายุได้ ๑๐,๐๐๐ ปี คืนวันนั้นเอง พระราชธิดาพระองค์เดียวเท่านั้นประทับนั่งมิได้ทรงไหวติง ทรงนึกถึงศีลของพระองค์อยู่ในห้องอันทรงพระสิริอันอลงกต ณ พื้นชั้นสูงสุดแห่งพระมหาปราสาท ๗ ชั้น ในเมื่อราชบุรุษปิดพระทวารแล้ว เฝ้าระวังรักษาเรียบร้อยแล้ว ครั้งนั้น ท้าวสักกเทวราชทรงถือเอาถาดทองคำ ๑ ใบ บรรจุเหรียญมาสกทองคำจนเต็ม ไปปรากฏพระกายในห้องพระบรรทมทีเดียว ประทับนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง เมื่อพระโพธิสัตว์จะตรัสปราศรัยกับพระนาง จึงตรัสพระคาถาที่ ๑ ว่า.

"ดูก่อนพระนางผู้มีพระวรกายอันงดงามหาที่ติมิได้ มีช่วงพระเพลากลมกลึงผึ่งผาย ทรงวัตถาภรณ์อันสะอาด เสด็จสู่ปราสาท ประทับนั่งอยู่เพียงพระองค์เดียว ดูก่อนพระนางผู้มีพระเนตรอันงดงาม ดังเนตรกินนร หม่อมฉันขอวิงวอนพระนางเจ้า เราทั้ง ๒ ควรอยู่ร่วมกันตลอดคืน ๑ นี้".

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 38

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุจิ แปลว่า ทรงผ้าอันสะอาด.

บทว่า สฺตูรุ ท่านอธิบายว่า มีพระเพลาทั้ง ๒ ข้าง ประดิษฐานอยู่ด้วยดี พระนางทรงหยุดการเคลื่อนไหว ทรงพระภูษาอันสะอาด ประทับนั่งลำพังเพียงพระองค์เดียว.

บทว่า อนินฺทิตงฺคี ความว่า พระนางมีพระวรกายหาที่ตำหนิมิได้ ตั้งแต่ปลายพระบาทจรดปลายพระเกศา คือมีพระสรีระอันทรงพระเสาวภาคย์เป็นเยี่ยม.

บทว่า กินฺนรเนตฺตจกฺขุ ความว่า พระนางทรงมีพระเนตรทั้งคู่ เปรียบได้กับดวงเนตรของกินนร เพราะงดงามด้วยมณฑลทั้ง ๓ และประสาททั้ง ๕.

บทว่า อิเมกรตฺติํ ความว่า หม่อมฉันขอวิงวอน ตลอดราตรี ๑ นี้ คือคืนวันนี้ เราทั้งสองพึงอยู่ร่วมกันในห้องพระบรรทมอันอลงกตนี้.

ลำดับนั้น พระราชธิดาได้ตรัสพระคาถา ๒ พระคาถาว่า.

"พระนครนี้ มีคูรายรอบ มีป้อมและซุ้มประตูมั่นคง มีหมู่ทหารถือกระบี่รักษา ยากที่ใครๆ จะเข้ามาได้ ทหารนักรบหนุ่ม ก็ไม่ได้มีมาเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านปรารถนามาพบข้าพเจ้าด้วยเหตุอะไรหนอ".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โอกิณฺณนฺตรปริกฺขํ ความว่า บุรีอันมีนามว่า สุรุนธนะนี้ มีบริเวณกว้าง ๑๒ โยชน์ มีคูรายรอบคั่นเป็นระหว่าง เพราะเรียงรายด้วยคูเป็นชั้นๆ คือคูน้ำ คูตมและคูแห้ง.

บทว่า ทฬฺหมณฺฑาลโกฏฺกํ ความว่า ประกอบด้วยป้อมและซุ้มประตูอย่างแข็งแรงครบครัน.

บทว่า ขคฺคหตฺเถหิ ความว่า มีทหารนับหมื่น ล้วนถืออาวุธเฝ้าล้อมแน่นหนา.

บทว่า ทุปฺปเวสมิทํ ปุรํ ความว่า บุรีทั้งสิ้นนี้ก็ดี พระราชวังอันเป็นที่อยู่ของข้าพเจ้า ที่สร้างไว้ภายในบุรีนั้นก็ดี ทั้ง ๒ แห่ง ใครๆ ไม่อาจที่จะเข้าไปได้.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 39

บทว่า อาคโม จ ความว่า อนึ่งเล่า ในพระนครนี้ ในเวลานี้ ขึ้นชื่อว่า การมาถึงของผู้เป็นนักรบผู้สมบูรณ์ด้วยกำลัง ผู้หนุ่ม หรือผู้กำลังรุ่นหนุ่ม หรือของผู้อื่น ที่น้อมนำบรรณาการตั้งมากมายมา ก็มิได้มี.

บทว่า สงฺคมํ ความว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านแอบเข้ามาพบข้าพเจ้าได้ ในเวลานี้ ด้วยเหตุอะไรเล่า.

ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราช จึงตรัสพระคาถาที่ ๔ ว่า.

"ดูก่อนพระนางผู้เลอโฉม หม่อมฉันเป็นเทพบุตร มาในตำหนักของพระนาง ดูก่อนพระนางผู้เจริญ เชิญพระนางชื่นชมกับหม่อมฉันเถิด หม่อมฉันจักถวายถาดทองคำ อันเต็มเปี่ยมด้วยเหรียญทองคำแด่ พระนาง".

คำอันเป็นคาถานั้น มีอธิบายว่า ดูก่อนพระนางผู้เลอโฉม คือจะพิศไหนก็งามพร้อม หม่อมฉันเป็นเทพบุตรผู้หนึ่ง มาถึงพระตำหนักนี้ได้ด้วยเทวตานุภาพ วันนี้ เชิญพระองค์ทรงชื่นชมยินดีกับกระหม่อมฉันเถิด หม่อมฉันจะถวายถาดทองคำ อันเต็มเปี่ยมด้วยเหรียญมาสกทองคำนี้แด่พระนาง.

พระราชธิดาทรงสดับดังนั้นแล้ว จึงตรัสพระคาถาที่ ๕ ว่า.

"นอกจากเจ้าชายอุทัยแล้ว ข้าพเจ้าไม่พึงปรารถน เทวดา ยักษ์ หรือมนุษย์ผู้อื่นเลย ดูก่อนเทพบุตรผู้มีอานุภาพมาก ท่านจงไปเสียเถิด อย่ากลับมาอีกเลย".

คำแห่งคาถานั้นมีอธิบายว่า ดูก่อนเทวราช พ้นเสียจากพระเจ้าอุทัยแล้ว ข้าพเจ้าไม่ต้องการผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเทวดา เป็นยักษ์ หรือเป็นมนุษย์ เชิญท่านนั้นไปเสียเถิด อย่าขืนอยู่ที่นี่เลย ข้าพเจ้าไม่ต้องการบรรณาการที่ท่านนำมาดอกนะ ครั้นท่านไปแล้วอย่าได้กลับมาที่นี่อีกเลย.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 40

ท้าวสักกะทรงสดับพระสุรสีหนาทของพระนางแล้ว ทำท่าคล้ายจะไม่อยู่ไปแล้ว ได้หายวับไปทรงที่นั้นนั่นเอง รุ่งขึ้นในเวลานั้นแหละ ท้าวเธอถือถาดเงินเต็มเปี่ยมด้วยเหรียญมาสกทองคำมา เมื่อจะทรงสนทนากับพระนาง จึงตรัสพระคาถาที่ ๖ ว่า.

"ความยินดีอันใด อันเป็นที่สูงสุดของผู้บริโภคกาม สัตว์ทั้งหลายประพฤติไม่สมควร เพราะเหตุแห่งความยินดีอันใด พระนางอย่าพลาดจากความยินดีในทางอันสะอาดของพระนางนั้นเลย หม่อมฉันขอถวายถาดเงิน อันเต็มไปด้วยเหรียญเงินแด่พระนาง". (๑)

คำอันเป็นคาถานั้น มีอธิบายว่า ข้าแต่พระราชธิดา ผู้ทรงพระเจริญ บรรดาความยินดีของฝูงสัตว์ผู้บริโภคกาม ชื่อว่า ความยินดีในกรรม คือเมถุนเป็นสูงสุด ความยินดีอันสูงสุดนี้ใดเล่า เพราะเหตุแห่งความยินดีใดเล่านะ ฝูงสัตว์จึงพากันประพฤติธรรมอันปราศจากความเหมาะสม มีกายทุจริตเป็นต้น พระนางผู้ทรงพระเจริญ ขอพระนางโปรดอย่าพลาดจากความยินดีนั้น ในทางที่สะอาดของพระนางเสียเลย แม้จะเป็นการเสมอด้วยพระนามก็ตามที แม้หม่อมฉันเมื่อมา ก็มิได้มามือเปล่า วันวานนำถาดทองคำเต็มด้วยเหรียญมาสกมา วันนี้ก็นำถาดเงินเต็มด้วยเหรียญทองคำมา หม่อมฉันขอถวายถาดเงิน เต็มด้วยเหรียญทองนี้แด่พระนาง.

พระราชธิดาทรงพระดำริว่า เทพบุตรนี้ เมื่อได้การสนทนาปราศรัย คงมาบ่อยๆ คราวนี้ เราจะไม่พูดกะเขาละ พระนางไม่ได้ตรัสคำอะไรๆ เลย ท้าวสักกเทวราชทรงทราบความที่พระนางไม่ตรัส ก็เลยหายวับไปตรงที่นั้นนั่นเอง วันรุ่งขึ้น พอถึงเวลานั้น ก็ถือถาดโลหะเต็มด้วยเหรียญกระษาปณ์มา


(๑) อรรถกถาว่า สุวณฺณมาสกปูรํ เต็มด้วยเหรียญทองคำ.

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 41

ตรัสว่า พระนางผู้ทรงพระเจริญ เชิญพระนางโปรดปรนปรือหม่อมฉันด้วยความยินดีในกามเถิด หม่อมฉันจะถวายถาดโลหะเต็มด้วยเหรียญกระษาปณ์แด่พระนาง วันนั้นพระราชธิดาตรัสพระคาถาที่ ๗ ว่า.

"ธรรมดาว่า ชายหมายจะให้หญิงเอออวยด้วยทรัพย์ ย่อมประมูลราคาขึ้น จนให้ถึงความพอใจ ของท่านตรงกันข้าม ท่านประมูลราคาลดลง ดังที่เห็นประจักษ์อยู่".

คำอันเป็นคาถานั้น มีอธิบายว่า บุรุษผู้เจริญ ท่านช่างโง่ อันธรรมดาชายหมายจะให้หญิงเอออวยปลงใจตกลงด้วยทรัพย์ เพราะเหตุแห่งความยินดีด้วยอำนาจกิเลส ย่อมประมูล พรรณนา ชมเชย ประเล้าประโลมด้วยทรัพย์ที่มากกว่าจนเป็นที่จุใจนาง แต่เทวสภาพนี้ ของท่านตรงกันข้ามเลย เพราะท่านนำทรัพย์มาลดลงเรื่อยๆ ดังที่ประจักษ์แก่ข้าพเจ้า คือวันก่อนนำถาดทอง เต็มด้วยเหรียญทองมา วันที่สองนำถาดเงินเต็มด้วยเหรียญทอง วันที่สามนำถาดโลหะเต็มด้วยเหรียญกระษาปณ์มา.

ท้าวสักกเทวราชได้ทรงสดับดังนั้นแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนพระนางราชกุมารีผู้ทรงพระเจริญ หม่อมฉันเป็นพ่อค้าผู้ฉลาด ย่อมไม่ยังประโยชน์ให้เสื่อมเสียไปโดยไร้ประโยชน์ ถ้าพระนางพึงจำเริญด้วยพระชนมายุ หรือด้วยพระฉวีวรรณไซร้ หม่อมฉันก็พึงนำบรรณาการมาเพิ่มแด่พระนาง แต่พระนางมีแต่จะเสื่อมไปถ่ายเดียว เหตุนั้น หม่อมฉันจำต้องลดจำนวนทรัพย์ลง ดังนี้แล้ว ทรงภาษิตคาถา ๓ คาถาว่า.

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 42

"ดูก่อนพระนางผู้มีพระวรกายอันงดงาม อายุและวรรณะของหมู่มนุษย์ในมนุษยโลก ย่อมเสื่อมลง ด้วยเหตุนั้นแล แม้ทรัพย์สำหรับพระนางก็จำต้องลดลง เพราะวันนี้พระนางชราลงกว่าวันก่อน".

"ดูก่อนพระราชบุตรีผู้ทรงพระยศ เมื่อหม่อมฉันกำลังเพ่งมองอยู่อย่างนี้ พระฉวีวรรณของพระนาง ย่อมเสื่อมไป เพราะวันคืนล่วงไปๆ ดูก่อนพระราชบุตรีผู้มีพระปรีชา เพราะเหตุนั้น พระนางพึงประพฤติพรหมจรรย์เสียแต่วันนี้ทีเดียว จะได้มีพระฉวีวรรณงดงามยิ่งขึ้นอีก".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิหิยฺยติ ความว่า ก็แลอายุและวรรณะของหมู่มนุษย์ ย่อมเสื่อมถอยไป เหมือนดังน้ำที่ลาดลงในผ้ากรองน้ำ แท้จริง หมู่สัตว์ในมนุษยโลก พากันเสื่อมอยู่เรื่อยๆ โดยฐานะมีชีวิต ผิวพรรณ ประสาทจักษุเป็นต้นทุกๆ วัน.

บทว่า ชิณฺณตราสิ ความว่า พระชนมายุของพระนาง ที่เป็นไปในวันที่หม่อมฉันมาครั้งแรก ยังไม่ถึงอายุวันวาน พระชนมายุที่เป็นไปในวันที่หม่อมฉันมาคราวแรก ดับไปแล้วในวันนั้นเอง เหมือนถูกตัดด้วยจอบ ถึงพระชนมายุที่เป็นไปแล้วในวันวานเล่า ก็ยังไม่ถึง วันนี้ คงดับไปในวันวานนั่นแหละ เหมือนตัดเสียด้วยจอบในวันวานทีเดียว เพราะเหตุนั้น ในวันนี้ พระนางย่อมทรงชราไปกว่าที่เห็นในวันวาน.

บทว่า เอวํ เม ความว่า เมื่อหม่อมฉันเห็นอยู่ในวันวาน เพ่งมองดูในวันนี้เล่า พระฉวีวรรณเสื่อมไปกว่าวันนั้นเป็นไหนๆ.

บทว่า อโหรตฺตานมจฺจเย ความว่า

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 43

ตั้งแต่บัดนี้ไป เมื่อคืนวันล่วงไป เพราะล่วงไปหลายวันหลายคืน พระฉวีวรรณจักต้องเป็นภาวะหาบัญญัติมิได้ทีเดียว.

บทว่า อิมินาว ความว่า ดูก่อนพระนางผู้ทรงพระเจริญ เหตุนั้น ถ้าพระนางพึงประพฤติจริยธรรมอันประเสริฐ คือทรงถือบวชบำเพ็ญสมณธรรม ด้วยวัยนี้ทีเดียว คือในเมื่อพระสรีระอันมีวรรณะเพียงดังทองนี้ ยังไม่ถูกชราปล้นไปเสียก่อน.

บทว่า ภิยฺโย วณฺณวตี สิยา ความว่า ก็พระนางพึงมีพระฉวีวรรณยิ่งๆ ขึ้นไปเถิด.

ลำดับนั้น พระราชธิดาตรัสพระคาถาต่อไปว่า.

"เทวดาทั้งหลายไม่แก่เหมือนมนุษย์หรือไร เส้นเอ็นในร่างกายของเทวดาเหล่านั้นไม่มีหรือไร ดูก่อนเทพบุตร ข้าพเจ้าขอถามท่านผู้มีอานุภาพมาก ร่างกายของเทวดาเป็นอย่างไรเล่า".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สรีรเทโห ความว่า ร่างกาย คือสรีระ พระราชธิดาตรัสว่า สรีระของทวยเทพย่อมไม่แก่ชราได้อย่างไร ข้าพเจ้าขอถามท่านในข้อนี้.

ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราชเมื่อจะตรัสบอกแก่พระนาง จึงตรัสพระคาถาต่อไปว่า.

"เทวดาทั้งหลายไม่แก่ชราเหมือนพวกมนุษย์ เส้นเอ็นในร่างกายของเทวดาเหล่านั้นไม่มี ฉวีวรรณอันเป็นทิพย์ของเทวดาเหล่านั้นผุดผ่องยิ่งขึ้นทุกๆ วัน และโภคสมบัติก็ไพบูลย์ขึ้น".

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 44

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยถา มนุสฺสา ความว่า หมู่มนุษย์พากันแก่ชราเสื่อมทรุดโทรมด้วยรูป ด้วยผิวพรรณ ด้วยโภคะ ด้วยประสาทมีจักษุประสาทเป็นต้น ฉันใด ทวยเทพไม่เสื่อมไปฉันนั้น เพราะว่า ในตัวของทวยเทพเหล่านั้น แม้แต่เส้นเอ็นก็ไม่มีเลย สรีระจึงมีวรรณะเพียงดังแท่งทองที่มีแต่เกลี้ยงเกลาถ่ายเดียว.

บทว่า สุเว สุเว คือ ทุกๆ วัน.

บทว่า ภิยฺยตโรว ความว่า ผิวพรรณอันเป็นทิพย์และโภคะทั้งหลายของทวยเทพเหล่านั้น นับวันแต่จะยิ่งเปล่งปลั่งและไพบูลย์ถ่ายเดียว แท้จริงในหมู่มนุษย์ ความเสื่อมถอยทางรูป เป็นประจักษ์พยานว่าเกิดแล้วมานาน ในหมู่ทวยเทพ รูปสมบัติที่ยิ่งขึ้นและบริวารสมบัติที่มากขึ้น เป็นประจักษ์พยานว่าเกิดแล้วมานาน เทวโลกนั้นได้นามว่า มีความไม่เสื่อมถอยเป็นธรรมดา ด้วยประการฉะนี้ เหตุนั้น พระนางจึงยังไม่ถึงความชราทีเดียว จงเสด็จออกผนวชเสียเถิด ครั้นจุติจากมนุษยโลกอันมีแต่ความเสื่อมถอยเป็นสภาวะเช่นนี้แล้ว จักเสด็จไปสู่เทวโลกอันมีแต่สิ่งที่ไม่รู้จักเสื่อมถอยเป็นสภาวะ เห็นปานฉะนี้.

พระนางได้ทรงสดับพระดำรัสพรรณนาถึงเทวโลกดังนี้แล้ว เมื่อจะตรัสถามถึงทางไปเทวโลกนั้น จึงตรัสพระคาถาต่อไปว่า.

"หมู่ชนเป็นอันมากในโลกนี้ กลัวอะไรเล่า จึงไม่ไปเทวโลกกัน ก็หนทางไปยังเทวโลก บัณฑิตทั้งหลายกล่าวไว้หลายด้าน ดูก่อนเทพบุตรผู้มีอานุภาพมาก ข้าพเจ้าขอถามท่าน บุคคลตั้งอยู่ในหนทางไหน จึงไม่กลัวปรโลก".

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 45

บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า กีสูธ ภีตา นี้ พระราชธิดาตรัสถามว่า ข้าแต่เทวราชเจ้า ข้าพเจ้าขอถามท่าน หมู่ชนต่างโดยกษัตริย์เป็นต้นนี้มิใช่เล็กน้อยเลย พากันกลัวอะไรเสียเล่า คือเพราะหวาดกลัวอะไรกันเล่า จึงไม่พากันไปสู่เทวโลก จากมนุษยโลกอันมีแต่สิ่งที่จะพึงเสื่อมถอยเป็นสภาวะ.

บทว่า มคฺโค ได้แก่ หนทางที่จะไปยังเทวโลก ก็ในข้อนี้ ใครๆ พึงตั้งปัญหาว่า ใครนำอะไรมา บัณฑิตทั้งหลายกล่าวจำแนกความนี้ไว้ ด้วยอำนาจเป็นแดนต่อคือลัทธิมิใช่น้อย ทางแห่งเทวโลกที่แน่นอน ท่านกล่าวอธิบายว่า เป็นทางอะไร.

บทว่า กตฺถ ิโต ความว่า ผู้จะไปยังปรโลก ดำรงอยู่ในทางไหน จึงจะไม่หวาดกลัว.

ลำดับนั้น เมื่อท้าวสักกเทวราชจะตรัสบอกแก่พระนาง จึงได้ตรัสพระคาถาต่อไปว่า.

"บุคคลผู้ตั้งวาจาและใจไว้โดยชอบ ไม่ทำบาปด้วยกาย อยู่ครองเรือนอันมีข้าวและน้ำมาก เป็นผู้มีศรัทธา อ่อนโยน จำแนกแจกทาน รู้ความประสงค์ ชอบสงเคราะห์ มีวาจาน่าคบเป็นสหาย มีวาจาอ่อนหวาน ผู้ตั้งอยู่ในคุณธรรมดังกล่าวมานี้ ไม่พึงหวาดกลัวปรโลกเลย".

คำเป็นคาถานั้น มีอธิบายดังต่อไปนี้ ดูก่อนพระนางผู้ทรงพระเจริญ บุคคลใดตั้งวาจาและใจไว้โดยชอบ แม้ด้วยทั้งกายก็มิได้กระทำบาปต่างๆ คือมาประพฤติยึดมั่นซึ่งกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการเหล่านี้ เมื่ออยู่ครองเรือนอันมีข้าวและน้ำมากมาย คือมีไทยธรรมเพียงพอ ประกอบด้วยความเชื่อมั่นว่า วิบากแห่งทานมีอยู่ มีจิตอ่อนโยน ได้นามว่า ผู้จำแนกแจกจ่าย เพราะการ

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 46

จำแนกทาน ได้นามว่า ผู้รู้ถ้อยคำ เพราะทราบถึงการให้ปัจจัยแก่เหล่าบรรพชิต ผู้ท่องเที่ยวไปเพื่อภิกษาพากันกล่าวไว้ หมายความว่า เพราะทราบวาทะนี้ ชอบสงเคราะห์กันด้วยสังคหวัตถุ ๔ ประการ ได้นามว่า ผู้มีวาจาน่าคบหาเป็นสหาย เพราะเป็นผู้พูดแต่วาจาที่น่ารัก ได้นามว่า ผู้พูดอ่อนหวาน เพราะกล่าววาจาที่เป็นประโยชน์ บุคคลนั้นดำรงอยู่ในกองแห่งคุณธรรมนี้ คือมีประมาณเท่านี้ เมื่อจะไปยังปรโลก ก็ไม่ต้องหวาดกลัวเลย.

ลำดับนั้น พระราชธิดาได้ทรงสดับถ้อยคำของท้าวเธอแล้ว เมื่อจะทรงทำการชมเชย จึงตรัสพระคาถาสืบไปว่า.

"ข้าแต่เทพบุตร ท่านพร่ำสอนข้าพเจ้าเหมือนดังมารดาบิดา ข้าแต่ท่านผู้มีผิวพรรณงดงามยิ่ง ข้าพเจ้าขอถาม ท่านเป็นใครกันหนอ จึงมีร่างกายสง่างามนัก".

คำเป็นคาถานั้น มีอธิบายว่า มารดาบิดาพร่ำสอนลูกน้อย ฉันใด ท่านก็พร่ำสอนข้าพเจ้า ฉันนั้น ข้าแต่ท่านผู้มีผิวพรรณงดงามยิ่งนัก คือผู้ทรงรูปโฉมอันถึงความเป็นผู้งดงาม ท่านเป็นใครกันเล่าหนอ จึงมีร่างกายสง่างามอย่างนี้.

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์จึงตรัสพระคาถาต่อไปว่า.

"ดูก่อนพระนางเจ้าผู้เลอโฉม ข้าพเจ้าเป็นพระเจ้าอุทัย มายังที่นี่เพื่อต้องการจะเปลื้องข้อผูกพัน ข้าพเจ้าบอกพระนางแล้ว จะขอลาไป ข้าพเจ้าพ้นจากข้อผูกพันของพระนางแล้ว".

คำเป็นคาถานั้น มีอธิบายดังต่อไปนี้ ดูก่อนพระนางผู้พิศดูน่างดงาม ข้าพเจ้าในภพก่อนนั้นได้เป็นสามีของเธอ นามว่า อุทัย บังเกิดเป็นท้าวสักกเทวราช

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 47

ในดาวดึงส์พิภพ มาในที่นี้ มิใช่มาด้วยอำนาจกิเลส แต่ดำริว่าจักทดลองเธอดู แล้วจักเปลื้องข้อผูกพัน เป็นอันมาตามข้อผูกพัน คือตามข้อตกลงที่ทำกันไว้ในกาลก่อน บัดนี้ข้าพเจ้าได้บอกเธอแล้ว จะขอลาไป ข้าพเจ้าพ้นจากข้อผูกพันของท่านแล้ว.

พระราชธิดาทรงดีพระทัย ทรงเปล่งพระราชเสาวนีย์ว่า ทูลกระหม่อม พระองค์ คือพระเจ้าอุทัยภัทร ดังนี้ พลางก็มีพระกระแสพระอัสสุชลหลั่งไหล ตรัสว่า หม่อมฉันไม่สามารถจะอยู่ห่างพระองค์ได้ โปรดทรงพร่ำสอนหม่อมฉัน ตามที่หม่อมฉันจะอยู่ใกล้ชิดพระองค์ได้เถิดเพคะ ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถาต่อไปว่า.

"ข้าแต่พระราชสวามี ถ้าพระองค์เป็นพระเจ้าอุทัย เสด็จมา ณ ที่นี้ เพื่อต้องการจะปลดเปลื้องข้อผูกพันแล้วไซร้ ข้าแต่พระราชสวามี ขอเชิญพระองค์จงโปรดพร่ำสอนหม่อมฉัน ด้วยวิธีที่เราทั้ง ๒ จะได้พบกันใหม่อีกเถิดเพคะ".

ลำดับนั้น เมื่อพระมหาสัตว์เจ้าจะทรงพร่ำสอนพระนาง จึงได้ตรัสพระคาถา ๔ พระคาถาว่า.

"วัยล่วงไปรวดเร็วยิ่งนัก ขณะก็เช่นนั้นเหมือนกัน ความตั้งอยู่ยั่งยืนไม่มี สัตว์ทั้งหลายย่อมจุติไปแน่แท้ สรีระไม่ยั่งยืน ย่อมเสื่อมถอย ดูก่อนพระนางอุทัยภัทรา เธออย่าประมาท จงประพฤติธรรมเถิด พื้นแผ่นดินทั้งหมดเต็มไปด้วยทรัพย์ ถ้าจะพึงเป็นของของพระราชาแต่เพียงพระองค์เดียว ไม่มีผู้อื่นครอบครอง

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 48

ถึงกระนั้น ผู้ที่ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ก็ต้องทิ้งสมบัตินั้นไป ดูก่อนพระนางอุทัยภัทรา เธอจงอย่าประมาท จงประพฤติธรรมเถิด มารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาว ภริยาและสามีพร้อมทั้งทรัพย์ แม้เขาเหล่านั้น ต่างก็จะละทิ้งกันไป ดูก่อนพระนางอุทัยภัทรา เธออย่าประมาท จงประพฤติธรรมเถิด ดูก่อนพระนางอุทัยภัทรา เธอพึงทราบว่า ร่างกายเป็นอาหารของสัตว์อื่นๆ พึงทราบว่าสุคติและทุคติในสงสารเป็นที่พักพิงชั่วคราว ขอเธอจงอย่าประมาท จงประพฤติธรรมเถิด".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อธิปตติ ความว่า วัยย่อมล่วงไปรวดเร็วเหลือเกิน คือผ่านไปโดยพลัน.

บทว่า วโย ได้แก่ แม้วัยทั้ง ๓ มีปฐมวัย เป็นต้น.

บทว่า ขโณ ตเถว ได้แก่ ทั้งอุปปาทขณะ ฐีติขณะและภังคขณะ ย่อมพลันล่วงไปเช่นนั้นเหมือนกัน ด้วยบททั้งสองดังว่ามานี้ ท้าวสักกเทวราชแสดงว่า ขึ้นชื่อว่า อายุสังขารของสัตว์เหล่านี้ เป็นสภาวะแตกสลาย ชื่อว่า ย่อมล่วงไปโดยพลัน เพราะเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วยิ่งนักประดุจแม่น้ำมีกระแสอันเชี่ยว ฉะนั้น.

บทว่า านํ นตฺถิ ความว่า ขึ้นชื่อว่า ความหยุดอยู่แห่งวัยและขณะทั้งสองนั้นไม่มีเลย แม้ด้วยความปรารถนาว่า สังขารทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่แตกสลาย ดำรงอยู่ดังนี้ ก็ไม่เป็นไปได้ สัตว์แม้ทั้งปวงตั้งต้นแต่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ย่อมเคลื่อนไปแน่นอน คือโดยส่วนเดียว เท่านั้น ท้าวสักกเทวราชทรงบ่งถึงว่า เธอจงเจริญมรณสติอย่างนี้ว่า ความตายแน่นอน ความเป็นอยู่ไม่แน่นอนเลย.

บทว่า ปริชียติ ความว่า สรีระอันมีพรรณะเพียงดังทองคำนี้ คร่ำคร่าทั้งนั้นแล เธอจงรู้อย่างนี้เถิด.

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 49

บทว่า มา ปมาทํ ความว่า ดูก่อนแม่อุทัยภัทรา เหตุนั้น เธออย่าถึงความประมาทเลย จงเป็นผู้ไม่ประมาท ประพฤติธรรม คือกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการเถิด.

บทว่า กสิณา แปลว่า ทั้งสิ้น.

บทว่า เอกสฺเสว ความว่า ถ้าว่าเป็นของพระราชาพระองค์เดียวเท่านั้น แม้จะเป็นอดีต อนาคต ก็เป็นอยู่ ในพระราชาพระองค์นั้นพระองค์เดียว.

บทว่า ตํ วา วิชหติ อวีตราโค ความว่า บุคคลผู้ตกอยู่ในอำนาจแห่งตัณหา คงไม่อิ่มด้วยยศแม้เพียงเท่านี้เลย จะต้องทอดทิ้งแผ่นดินนั้นไปทั้งๆ ที่ยังไม่หมดรักเลย ในเวลาตาย ท้าวสักกเทวราชระบุถึงว่า เธอจงรู้ว่าตัณหาเป็นธรรมชาติที่ไม่รู้จักเต็ม ด้วยอาการอย่างนี้เถิด.

บทว่า เตวาปิ ความว่า บุคคลแม้เหล่านี้ ย่อมทอดทิ้งกันไป คือย่อมพลัดพรากจากกันไป มารดาบิดาย่อมทิ้งบุตร บุตรทิ้งมารดาบิดา ภริยาทิ้งสามี สามีทิ้งภริยา ท้าวสักกเทวราชระบุว่า เธอจงทราบว่า หมู่สัตว์ต้องพลัดพรากจากกัน ด้วยประการฉะนี้.

บทว่า ปรโภชนํ ความว่า เธอพึงทราบเถิดว่า กายเป็นอาหารของหมู่สัตว์เหล่าอื่น ต่างด้วยชนิดมีกาเป็นต้น.

บทว่า อิตรวาโส ความว่า เธอพึงทราบเถิดว่า ในสงสารนี้ สุคติคือที่เกิดของมนุษย์ และทุคติคือที่เกิดของสัตว์ดิรัจฉานนี้ใด แม้ทั้งสองนั้นเป็นที่พักชั่วคราวแล้ว จงไปประพฤติธรรม อย่าประมาทเสียนะ การมาจากที่ต่างๆ แล้วพบกันในที่แห่งเดียวกันของสัตว์เหล่านั้น เป็นการนิดหน่อย สัตว์เหล่านี้อยู่ร่วมกันชั่วกาลมีประมาณเล็กน้อยเท่านั้น เพราะฉะนั้น เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท พระมหาสัตว์เจ้าได้ประทานโอวาทแก่พระนาง ด้วยประการฉะนี้แล.

ฝ่ายพระนางทรงเลื่อมใสในธรรมกถาของท้าวเธอ เมื่อจะทำการชมเชย จึงตรัสพระคาถาสุดท้ายว่า.

"เทพบุตรช่างพูดดีจริง ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายน้อยนัก ทั้งลำเค็ญ ทั้งนิดหน่อย ประกอบไปด้วยความทุกข์

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 50

หม่อมฉันจักสละสุรุนธนนคร แคว้นกาสี ออกบวช อยู่โดยลำพังแต่ผู้เดียว".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สาธุ แปลว่า งามจริง.

บทว่า อปฺปํ มจฺจานชีวิตํ ความว่า เทวราชนี้เมื่อจะตรัสย่อมตรัสว่า ชีวิตของหมู่สัตว์เป็นของน้อยนิด ช่างตรัสดีจริงๆ เพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า ชีวิตนี้ลำเค็ญเป็นทุกข์ ปราศจากความยินดี ทั้งเป็นของนิดหน่อย คือไม่มาก เป็นของชั่วคราว ก็ถ้าชีวิตทั้งๆ ที่ลำเค็ญ จะพึงเป็นไปได้ตลอดกาลนาน ก็เป็นอันว่า ทั้งๆ ที่เป็นของนิดหน่อย จะพึงมีความสุขได้ ก็แต่ว่า ชีวิตนี้เป็นทั้งลำเค็ญ ทั้งนิดหน่อยประกอบไว้ คือพร้อมร่วมกันกับด้วยวัฏทุกข์ ทั้งสิ้น.

บทว่า สาหํ ตัดเป็น สา อหํ.

บทว่า สุรุนฺธนํ ความว่า พระนางตรัสว่า หม่อมฉันนั้นจักทิ้งพระนครสุรุนธนะและแคว้นกาสี ไปผนวชแต่โดยลำพังผู้เดียว.

พระโพธิสัตว์เจ้า ประทานพระโอวาทแด่พระนางแล้ว เสด็จไปสู่ที่อยู่ของพระองค์ตามเดิม ฝ่ายพระนางพอรุ่งขึ้น ก็ทรงมอบราชสมบัติให้พวกอำมาตย์รับไว้ ทรงผนวชเป็นฤาษิณี ในพระราชอุทยานอันน่ารื่นรมย์ ภายในพระนครนั่นเอง ทรงประพฤติธรรม ในที่สุดพระชนมายุ ก็บังเกิดเป็นบาทบริจาริกาของพระโพธิสัตว์เจ้าในดาวดึงส์พิภพ.

พระศาสดา ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจจะทั้งหลาย ในเวลาจบสัจจะ ภิกษุผู้เบื่อหน่ายได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ทรงประชุมชาดกว่า พระราชธิดาในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระมารดาของพระราหุล ส่วนท้าวสักกเทวราช ก็คือเราตถาคตนั่นแล.

จบอรรถกถาอุทยชาดก