พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. ยุธัญชัยชาดก ว่าด้วยการผนวชของเจ้าชายยุธัญชัยและยุธิฏฐิละ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ส.ค. 2564
หมายเลข  35923
อ่าน  414

[เล่มที่ 60] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 62

๖. ยุธัญชัยชาดก

ว่าด้วยการผนวชของเจ้าชายยุธัญชัยและยุธิฏฐิละ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 60]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 62

๖. ยุธัญชัยชาดก

ว่าด้วยการผนวชของเจ้าชายยุธัญชัยและยุธิฏฐิละ

[๑๕๕๓] หม่อมฉันขอถวายบังคมพระองค์ ผู้เป็นจอมทัพ มีมิตรและอำมาตย์แวดล้อมแน่นขนัด ข้าแต่พระทูลกระหม่อม หม่อมฉันจักบวช ขอได้โปรดทรงพระอนุญาตเถิด.

[๑๕๕๔] ถ้าเธอยังบกพร่องด้วยกามทั้งหลาย ฉันจะเพิ่มเติมให้เต็ม ผู้ใดเบียดเบียนเธอ ฉันจักห้ามปราม พ่อยุธัญชัยอย่าเพิ่งบวชเลย.

[๑๕๕๕] หม่อมฉันมิได้บกพร่องด้วยกามทั้งหลายเลย ไม่มีใครเบียดเบียนหม่อมฉัน แต่หม่อมฉันปรารถนาจะทำที่พึ่ง ที่ชราครอบงำไม่ได้ พระเจ้าข้า.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 63

[๑๕๕๗] พระโอรสกราบทูลวิงวอนพระราชบิดา พระราชบิดาหรือก็ทรงวิงวอนพระราชโอรส พ่อเอ๋ย ชาวนิคมพากันวิงวอนว่า ข้าแต่พระยุธัญชัย อย่าทรงผนวชเลย.

[๑๕๕๗] ข้าแต่พระราชบิดาผู้เป็นจอมทัพ พระองค์อย่าทรงห้ามหม่อมฉันผู้จะบวชเลย อย่าให้หม่อมฉันมัวเมาอยู่ด้วยกามทั้งหลาย เป็นไปตามอำนาจชราเลย พระเจ้าข้า.

[๑๕๕๘] ลูกเอ๋ย แม่ขอร้องเธอ แม่ขอห้ามเธอ แม่ปรารถนาจะเห็นเธอนานๆ อย่าบวชเสียเลยนะ พ่อยุธัญชัย.

[๑๕๕๙] น้ำค้างบนยอดหญ้า พระอาทิตย์ขึ้นก็ตกไปฉันใด อายุของมนุษย์ทั้งหลายก็ฉันนั้น ขอทูลกระหม่อมแม่อย่าห้ามฉันเลย พระเจ้าข้า.

[๑๕๖๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมเสนา ขอได้โปรดรีบตรัสให้พระมารดาเสด็จขึ้นสู่ยานนี้เสียเถิด พระมารดาอย่าได้ทรงทำอันตรายแก่หม่อมฉัน ผู้กำลังรีบด่วนเสียเลย.

[๑๕๖๑] ท่านทั้งหลายจงช่วยวิ่งเต้นด้วยเถิด ขอความเจริญจงมีแก่ท่านเถิด รัมมนครจักเปล่าเปลี่ยวเสียแล้ว พ่อยุธัญชัย พระเจ้าสัพพทัตทรงอนุญาตแล้วละ.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 64

[๑๕๖๒] เจ้าชายองค์ใดเป็นผู้ประเสริฐกว่ามนุษย์ทั้งหลาย ยังกำลังหนุ่มแน่น เปล่งปลั่งดังทองธรรมชาติ เจ้าชายองค์นั้นมีกำลังแข็งแรง มีผ้านุ่งห่มย้อมน้ำฝาดบวชแล้ว.

[๑๕๖๓] เจ้าชายทั้งสององค์ คือยุธัญชัยกับยุธิฏฐิละ ทรงละทั้งพระราชมารดาและพระราชบิดาแล้ว ทรงตัดเครื่องข้องแห่งมัจจุราชเสด็จออกผนวชแล้ว.

จบยุธัญชัยชาดกที่ ๖

อรรถกถายุธัญชัยชาดก

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภการออกมหาภิเนษกรมณ์ จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "มิตฺตมจฺจปริพฺยุฬฺหํ" ดังนี้.

ความพิสดารว่า วันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายประชุมกันในโรงธรรมสภา กล่าวถ้อยคำสรรเสริญพระคุณของพระศาสดาว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าว่าพระทศพลจักเสด็จครองเรือนไซร้ ก็จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช ในห้องสกลจักรวาล มีรัตนะ ๗ ประการอย่างครบครัน ทรงสำเร็จฤทธิ์ทั้ง ๔ มีพระโอรสกว่าพันเป็นบริวาร พระองค์ทรงสละพระราชสมบัติอันทรงสิริ เห็นปานนี้ ทรงเห็นโทษในกามทั้งหลาย ทรงม้ากัณฐกะ มีนายฉันนะเป็นสหาย

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 65

ออกจากพระนครในเวลาเที่ยงคืน ทรงผนวช ณ ฝั่งแม่น้ำนทีมีนามว่า อโนมา ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาตลอด ๖ พระพรรษา จึงได้ทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณได้ดังพระประสงค์ พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบ จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่ตถาคตออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ แม้ในกาลก่อนก็เคยละราชสมบัติในกรุงพาราณสีอันมีประมาณเนื้อที่ ๑๒ โยชน์ ออกบวชแล้วเหมือนกัน ดังนี้แล้ว จึงทรงนำอดีตนิทานมาตรัสดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล ได้มีพระราชาพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า สัพพทัต ณ พระนครรัมมะ ที่จริงกรุงพาราณสีนี้ ในอุทยชาดก มีนามว่า สุรุนธนะ ในจุลลสุตตโสมชาดก มีนามว่า สุทัศนะ ในโสณนันทชาดก มีนามว่า พรหมวัฑฒนะ ในกัณฐหาลชาดก มีนามว่า ปุปผวดี แต่ในยุธัญชัยชาดกนี้ ได้มีนามว่า รัมมะ นามของพระนครนี้ ได้เปลี่ยนไปในกาลบางคราว ด้วยประการฉะนี้ ณ พระนครรัมมะนั้น พระเจ้าสัพพทัตได้มีพระราชโอรสพันพระองค์ ทรงพระราชทานสถาปนาพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ทรงพระนามว่า ยุธัญชยะ เป็นที่พระอุปราช พระอุปราชนั้นได้ทรงบำเพ็ญมหาทานทุกๆ วัน ครั้นกาลล่วงไปอย่างนี้ วันหนึ่ง พระโพธิสัตว์ทรงรถอันประเสริฐแต่เช้าตรู่ เสด็จไปสู่กีฬาในพระราชอุทยานด้วยพระสิริสมบัติอันใหญ่ยิ่ง ทอดพระเนตรหยาดน้ำค้างอันติดอยู่อย่างกับตาข่ายที่ทำด้วยเส้นด้าย ณ ที่ต่างๆ มียอดไม้ ยอดหญ้า ปลายกิ่งไม้และใยแมลงมุมเป็นต้น จึงตรัสถามว่า แน่ะสารถีผู้สหายเอ๋ย นี่เขาเรียกว่าอะไรกัน ได้ทรงสดับว่า ขอเดชะ เหล่านี้เขาเรียกกันว่า หยาดน้ำค้าง อันตกลงในฤดูหิมะ พระเจ้าข้า ทรงเล่นในพระราชอุทยานตลอดวัน เสด็จกลับก็ต่อเมื่อเวลาสายัณห์ มิได้ทรงเห็นหยาดน้ำค้าง

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 66

เหล่านั้นเลย ตรัสถามว่า สารถีผู้สหายเอ๋ย หยาดน้ำค้างเหล่านี้ ไปไหนหมด บัดนี้ฉันไม่เห็นมันเลย ทรงสดับว่า ขอเดชะ หยาดน้ำค้างเหล่านั้น เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นไปอยู่ ก็ละลายตกลงเหนือแผ่นดินหมดเลย พระเจ้าข้า ดังนี้แล้ว ทรงสลดพระทัยดำริว่า แม้ชีวิตและสังขารแห่งสัตว์เหล่านี้ ก็เป็นเสมือนหยาดน้ำค้างบนปลายยอดหญ้า เรายังไม่ถูกชรา พยาธิและมรณะเบียดเบียนเลยทีเดียว ควรจะอำลาพระมารดา พระราชบิดาไปบวชดังนี้แล้ว จึงทรงกระทำหยาดน้ำค้างนั่นแล ให้เป็นอารมณ์ ทรงเห็นภพทั้ง ๓ ประดุจมีเพลิงลุกทั่วไป เสด็จมาถึงพระตำหนักของพระองค์แล้ว ก็ทรงดำเนินไปยังพระตำหนักพระราชบิดา ผู้ประทับนั่งอยู่ ณ วินิจฉัยศาลา อันตกแต่งประดับประดาดีแล้ว ถวายบังคมพระราชบิดา ประทับยืน ณ ส่วนข้างหนึ่ง เมื่อจะทูลขออนุญาตบรรพชา จึงตรัสพระคาถาที่ ๑ ว่า.

"หม่อมฉัน ขอถวายบังคมพระองค์ ผู้เป็นจอมทัพ มีมิตรและอำมาตย์แวดล้อมแน่นขนัด ข้าแต่พระทูลกระหม่อม หม่อมฉันจักบวช ขอได้โปรดทรงอนุญาตเถิด".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปริพฺยุฬฺหํ แปลว่า แวดล้อมแล้ว.

บทว่า ตํ เทโว ความว่า ขอพระทูลกระหม่อม ทรงโปรดได้อนุญาตการบรรพชาแก่กระหม่อมฉันนั้นเถิด.

ลำดับนั้น พระราชาเมื่อจะทรงห้ามท่าน จึงตรัสพระคาถาที่ ๒ ว่า.

"ถ้าเธอยังบกพร่องด้วยกามทั้งหลาย ฉันจักเพิ่มเติมให้เต็มครบ ผู้ใดเบียดเบียนเธอ ฉันจักห้ามปราม พ่อยุธัญชัยเอ๋ย อย่าเพิ่งบวชเลย".

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 67

พระราชกุมาร ทรงได้สดับพระราชดำรัสนั้นแล้ว จึงตรัสพระคาถาที่ ๓ ว่า.

"หม่อมฉันมิได้บกพร่องด้วยกามทั้งหลายเลย ไม่มีใครเบียดเบียนหม่อมฉัน แต่หม่อมฉันปรารถนาจะทำที่พึ่งที่ชราครอบงำไม่ได้ พระเจ้าข้า".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทีปญฺจ ความว่า ข้าแต่พระทูลกระหม่อม ความบกพร่องด้วยกามทั้งหลายของหม่อมฉันมิได้มีเลยทีเดียว ใครๆ ที่จะข่มเหงหม่อมฉันเล่า ก็ไม่มี แต่หม่อมฉันปรารถนาจะสร้างที่พึ่งของหม่อมฉันเพื่อการไปยังปรโลก.

บทว่า ยํ ชรา นาภิกีรติ ความว่า หม่อมฉันปรารถนาจะกระทำเกาะที่ชราจะครอบงำไม่ได้ จะกำจัดไม่ได้ คือจะแสวงหาอมตมหานิพพาน หม่อมฉันไม่ต้องการด้วยกามทั้งหลาย ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์โปรดทรงอนุญาตให้หม่อมฉันบวชเถิด พระเจ้าข้า.

พระกุมารทูลขอบรรพชาเรื่อยๆ ด้วยประการฉะนี้ พระราชาตรัสห้ามว่า อย่าบวชเลยพ่อคุณเอ๋ย พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสกึ่งพระคาถาว่า.

"พระโอรสกราบทูลวิงวอนพระราชบิดา พระราชบิดาหรือก็ทรงวิงวอนพระราชโอรส".

วา อักษรในพระคาถานั้น เป็นสัมปิณฑนัตถะ (มีการประมวลมาเป็นอรรถ) ข้อนี้มีพุทธาธิบายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระโอรสก็วิงวอนพระราชบิดา และพระราชบิดาก็ทรงวิงวอนพระราชโอรส.

พระราชาตรัสกึ่งพระคาถาที่เหลือว่า.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 68

"พ่อเอ๋ย ชาวนิคมพากันอ้อนวอนว่า ข้าแต่พระยุธัญชัย พระองค์อย่าทรงผนวชเลย".

คำแห่งคาถานั้น มีอธิบายว่า พ่อเอ๋ย มหาชนชาวนิคมนี้พากันอ้อนวอนลูก ถึงชนชาวนครเล่าก็พากันอ้อนวอนเหมือนกันว่า พระองค์อย่าบวชเลย.

พระกุมารตรัสพระคาถาที่ ๕ ว่า.

"ข้าแต่พระราชบิดา ผู้ทรงเป็นจอมทัพ พระองค์อย่าทรงห้ามหม่อมฉันผู้จะบวชเลย อย่าให้หม่อมฉันได้มัวเมาอยู่ด้วยกามทั้งหลาย เป็นไปในอำนาจแห่งชราเลย พระเจ้าข้า".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วสมนฺวคู ความว่า หม่อมฉันอย่าเป็นคนหมกมุ่นด้วยกามทั้งหลาย ได้นามว่า ดำเนินไปสู่อำนาจของชราเลย อธิบายว่า ก็แลทูลกระหม่อม โปรดทรงทอดพระเนตรหม่อมฉัน โดยฐานะที่จะเป็นผู้ยังวัฏทุกข์ให้สิ้นไปแล้ว ตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณเถิด พระเจ้าข้า.

เมื่อพระโพธิสัตว์ ได้กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระราชาได้ทรงยอมจำนน ฝ่ายพระราชมารดาของพระโพธิสัตว์นั้น ทรงสดับว่า ข้าแต่พระเทวี พระโอรสของพระนางกำลังกราบทูลให้พระราชบิดาทรงอนุญาตการบรรพชาอยู่ เจ้าคะ ตรัสว่า พวกเจ้าพากันพูดเรื่องอะไรกัน ทั้งๆ ที่พระพักตร์ก็มิได้ผัด ประทับนั่งเหนือพระวอทอง รีบเสด็จไปสู่สถานที่วินิจฉัย เมื่อจะตรัสวิงวอน จึงตรัสคาถาที่ ๖ ว่า.

"ลูกเอ๋ย แม่ขอร้องเจ้า แม่ขอห้ามเจ้า แม่ปรารถนาจะเห็นเจ้านานๆ เจ้าอย่าบวชเลยนะ พ่อยุธัญชัย".

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 69

พระราชกุมารได้สดับพระราชเสาวนีย์นั้นแล้ว จึงตรัสคาถาที่ ๗ ว่า.

"น้ำค้างบนยอดหญ้า พระอาทิตย์ขึ้นก็เหือดแห้งไป ฉันใด อายุของมนุษย์ทั้งหลาย ก็ฉันนั้น ขอทูลกระหม่อมแม่ อย่าทรงห้ามฉันเลย พระเจ้าข้า".

คำแห่งคาถานั้น มีอธิบายว่า ข้าแต่ทูลกระหม่อมแม่ หยาดน้ำค้างบนยอดหญ้า พอพระอาทิตย์ขึ้นไปก็สลายแห้งหายไป มิอาจจะดำรงอยู่ได้ คือตกลงดินหมด ฉันใด ชีวิตของหมู่สัตว์เหล่านั้น ก็ฉันนั้น เป็นของนิดหน่อย เป็นไปชั่วกาล มิได้ตั้งอยู่นานเลย ในโลกสันนิวาสเห็นปานนี้ พระองค์จะทรงเห็นหม่อมฉันนานๆ ได้อย่างไรเล่า พระเจ้าข้า โปรดอย่าทรงห้าม หม่อมฉันเลย.

แม้เมื่อพระโพธิสัตว์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระนางก็คงตรัสอ้อนวอนแล้วๆ เล่าๆ อยู่นั่นเอง ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เจ้าเมื่อจะกราบทูลเตือนพระราชบิดา จึงตรัสพระคาถาที่ ๘ ว่า.

"ข้าแต่พระองค์ ผู้เป็นจอมเสนา ขอได้โปรดรีบตรัสให้พระราชมารดาเสด็จขึ้นสู่ยานนี้เสียเถิด พระมารดาอย่าได้ทรงกระทำอันตรายแก่หม่อมฉัน ผู้กำลังรีบด่วนเสียเลย".

คำเป็นคาถานั้น มีอธิบายว่า ข้าแต่พระทูลกระหม่อม ผู้เป็นจอมรถ โปรดตรัสให้คนรีบเชิญพระมารดาของหม่อมฉันนี้ เสด็จขึ้นสู่พระยาน คือพระวอทอง พระมารดาอย่าได้ทรงทำอันตรายแก่หม่อมฉันผู้กำลังจะข้ามก้าวล่วงแดนกันดาร คือชาติ ชรา พยาธิและมรณะเสียเลย.

พระราชาทรงได้สดับพระดำรัสของพระโอรสแล้ว ตรัสว่า นางผู้เจริญ ขอได้ไปเสียเถิด จงประทับนั่งเหนือวอของเธอ ขึ้นสู่ปราสาทอันยังความยินดี

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 70

ให้เจริญเลยทีเดียวเถิด พระนางทรงสดับพระราชดำรัสของพระราชานั้น เมื่อมิอาจจะประทับอยู่ได้ ทรงแวดล้อมไปด้วยหมู่นารีเสด็จไปสู่พระปราสาท ได้ประทับยืนทอดพระเนตรสถานวินิจฉัย ด้วยหมายพระทัยว่า ลูกรักจักเป็นไปอย่างไรเล่าหนอ ฝ่ายพระโพธิสัตว์เจ้า เมื่อพระมารดาเสด็จไปแล้ว ทรงอ้อนวอนพระราชบิดาอีก พระราชาเมื่อมิทรงอาจจะห้ามได้ ก็ทรงอนุญาตว่า พ่อเอ๋ย ถ้าเช่นนั้น จงทำใจของเธอให้ถึงที่สุดเถิด พ่อจงผนวชเถิด ในเวลาที่พระราชาทรงอนุญาตแล้ว พระขนิษฐาของพระโพธิสัตว์เจ้า พระนามว่า ยุธิฏฐิลกุมาร ถวายบังคมพระราชบิดา กราบทูลขออนุญาตว่า ข้าแต่พระทูลกระหม่อม ขอพระองค์โปรดอนุญาตการบรรพชาของหม่อมฉันด้วยเถิด พระพี่น้องทั้งสองพระองค์ถวายบังคมพระราชบิดา ละกามทั้งหลาย มีมหาชนแวดล้อมพากันเสด็จออกจากสถานที่วินิจฉัย ฝ่ายพระเทวีทอดพระเนตรดูพระมหาสัตว์ ทรงพระกันแสงว่า เมื่อลูกฉันผนวชแล้ว รัมมนครก็จักว่างเปล่า จึงตรัสพระคาถาทั้ง ๒ ว่า.

"ท่านทั้งหลาย จงช่วยวิ่งเต้นด้วยเถิด ขอความเจริญจงมีแก่ท่านเถิด รัมมนครจักเปล่าเปลี่ยวเสียแล้ว พ่อยุธัญชัย พระเจ้าสัพพทัตทรงอนุญาตแล้วละ".

"เจ้าชายพระองค์ใด เป็นผู้ประเสริฐกว่ามนุษย์ทั้งหลาย ยังกำลังหนุ่มแน่นเปล่งปลั่งดังทองธรรมชาติ เจ้าชายพระองค์นั้น มีพระกำลังแข็งแรง มีผ้านุ่งห่มย้อมด้วยน้ำฝาดบวชแล้ว".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภิธาวถ ความว่า พระนางมิได้ตรัสสั่งเหล่านารีที่ยืนล้อมอยู่ทุกนางทีเดียวว่า แน่ะนางผู้เจริญทั้งหลาย สูทั้งหลายจงวิ่งเต้นเข้าเถิด.

ด้วยบทว่า ภทฺทนฺเต พระนางตรัสว่า ความเจริญเพราะการไปอย่างนั้น จงมีแก่สูเถิด.

บทว่า รมฺมกํ พระนางตรัสหมายถึงรัมมนคร.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 71

บทว่า โยหุ เสฏฺโ ความว่า พระโอรสของพระราชา ผู้ประเสริฐกว่าพระโอรสตั้งพันนั้น ทรงผนวชเสียแล้ว ทั้งนี้ พระนางตรัสหมายถึงพระมหาสัตว์ผู้กำลังเสด็จไปเพื่อทรงผนวช ด้วยประการฉะนี้.

ฝ่ายพระโพธิสัตว์ ยังไม่ทรงผนวชในทันที พระองค์ทรงถวายบังคมพระราชมารดา พระราชบิดาแล้ว ทรงชักชวนพระขนิษฐายุธิฏฐิลกุมาร เสด็จออกจากพระนคร ให้มหาชนพากันกลับไปแล้ว พระพี่น้องทั้ง ๒ พระองค์ก็เสด็จเข้าสู่ป่าหิมพานต์ ทรงสร้างอาศรม ณ สถานที่อันน่ารื่นรมย์ใจ ทรงผนวชเป็นฤาษี ทำฌานและอภิญญาให้บังเกิดได้แล้ว เลี้ยงชีพด้วยผลหมากรากไม้ในป่าเป็นต้นจนตลอดพระชามายุ ได้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้าแล้ว พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสพระคาถาสุดท้ายว่า.

"เจ้าชายทั้ง ๒ พระองค์ คือยุธัญชัยกับยุธิฏฐิละ ทรงละทิ้งพระราชมารดาและพระราชบิดาแล้ว ทรงตัดเครื่องข้องแห่งมัจจุราช เสด็จออกผนวชแล้ว".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มจฺจุโน แปลว่า แห่งมาร มีพุทธาธิบายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระกุมารทั้ง ๒ พระองค์นั้น คือยุธัญชัยและยุธิฏฐิละทรงละพระราชมารดาและพระราชบิดาเสีย ตัดเครื่องข้องของมาร คือกิเลสเป็นเครื่องข้อง ได้แก่ ราคะ โทสะและโมหะ พากันผนวชแล้ว.

พระศาสดา ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจจะทั้งหลายแล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ถึงในกาลก่อนตถาคตก็ได้เคยละราชสมบัติผนวชแล้วเหมือนกัน ดังนี้แล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า พระราชมารดาพระราชบิดาในครั้งนั้น ได้มาเป็นตระกูลมหาราชในบัดนี้ ยุธิฏฐิลกุมาร ได้มาเป็นพระอานนท์ ส่วนยุธัญชัย ก็คือเรา ตถาคตนั่นเองแล.

จบอรรถกถายุธัญชัยชาดก