๗. ทสรถชาดก ว่าด้วยผู้มีปัญญาย่อมไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่เสียไปแล้ว
[เล่มที่ 60] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 72
๗. ทสรถชาดก
ว่าด้วยผู้มีปัญญาย่อมไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่เสียไปแล้ว
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 60]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 72
๗. ทสรถชาดก
ว่าด้วยผู้มีปัญญาย่อมไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่เสียไปแล้ว
[๑๕๖๔] มานี่แน่ะ เจ้าลักขณ์และนางสีดา ทั้งสองจงมาลงน้ำ พระภรตนี้กล่าวอย่างนี้ว่า พระเจ้าทสรถสวรรคตเสียแล้ว.
[๑๕๖๕] พี่ราม ด้วยอานุภาพอะไร เจ้าพี่ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ควรเศร้าโศก ความทุกข์มิได้ครอบงำพี่ เพราะได้ทรงสดับว่า พระราชบิดาสวรรคตเล่า.
[๑๕๖๖] คนเราไม่สามารถจะรักษาชีวิต ที่คนเป็นอันมากพร่ำเพ้อถึง นักปราชญ์ผู้รู้แจ้ง จะทำตนให้เดือดร้อนเพื่ออะไรกัน.
[๑๕๖๗] ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ทั้งพาลทั้งบัณฑิต ทั้งคนมั่งมีทั้งคนยากจน ล้วนบ่ายหน้าไปหามฤตยูทั้งนั้น.
[๑๕๖๘] ผลไม้ที่สุกแล้ว ก็พลันแต่จะหล่นลงเป็นแน่ ฉันใด สัตว์ทั้งหลายเกิดมาแล้ว ก็พลันแต่จะตายเป็นแน่ ฉันนั้น.
[๑๕๖๙] เวลาเช้าเห็นกันอยู่มากคน พอถึงเวลาเย็นบางคนไม่เห็นกัน เวลาเย็นเห็นกันอยู่มากคน พอถึงเวลาเช้าบางคนไม่เห็นกัน.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 73
[๑๕๗๐] ถ้าผู้ที่คร่ำครวญ หลงเบียดเบียนตนอยู่ จะพึงได้รับประโยชน์สักเล็กน้อยไซร้ บัณฑิตผู้มีปรีชา ก็จะพึงทำเช่นนั้นบ้าง.
[๑๕๗๑] ผู้เบียดเบียนตนของตนอยู่ ย่อมซูบผอมปราศจากผิวพรรณ สัตว์ผู้ละไปแล้วไม่ได้ช่วยคุ้มครองรักษา ด้วยการร่ำไห้นั้นเลย การร่ำไห้ไร้ประโยชน์.
[๑๕๗๒] คนฉลาดพึงดับไฟที่ไหม้เรือนด้วยน้ำ ฉันใด คนผู้เป็นนักปราชญ์ได้รับการศึกษามาดีมีปัญญาเฉลียวฉลาด พึงรีบกำจัดความโศกที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน เหมือนลมพัดปุยนุ่น ฉันนั้น.
[๑๕๗๓] คนๆ เดียวนั้นตายไป คนเดียวเท่านั้นเกิดในตระกูล ส่วนการคบหากันของสรรพสัตว์ มีความเกี่ยวข้องกันเป็นอย่างยิ่ง.
[๑๕๗๔] เพราะเหตุนั้นแล ความเศร้าโศกแม้จะมากมาย ก็ไม่ทำจิตใจของนักปราชญ์ ผู้เป็นพหูสูต มองเห็นโลกนี้และโลกหน้า รู้ทั่วถึงธรรมให้เร่าร้อนได้.
[๑๕๗๕] เราจักให้ยศและโภคสมบัติ แก่ผู้ที่ควรจะได้ จักทะนุบำรุงภรรยา ญาติทั้งหลายและคนที่เหลือ นี้เป็นกิจของบัณฑิตผู้ปรีชา.
[๑๕๗๖] พระเจ้าราม ผู้มีพระศอดุจกลองทอง มีพระพาหาใหญ่ ทรงครอบครองราชสมบัติอยู่ตลอด ๑๖,๐๐๐ ปี.
จบทสรถชาดกที่ ๗
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 74
อรรถกถาทสรถชาดก
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภกุฎุมพีผู้บิดาตายแล้วคนหนึ่ง จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "เอถ ลกฺขณสีตา จ" ดังนี้.
ความพิสดารว่า กุฎุมพีนั้น เมื่อบิดาถึงแก่กรรมแล้ว ถูกความเศร้าโศกครอบงำ จึงทอดทิ้งหน้าที่การงานเสียทุกอย่าง ครุ่นแต่ความเศร้าโศกอยู่แต่ถ่ายเดียว พระศาสดา ทรงตรวจดูสัตวโลกในเวลาใกล้รุ่ง ทอดพระเนตรเห็นอุปนิสัยแห่งโสดาปัตติผลของเขา รุ่งขึ้น จึงเสด็จโปรดสัตว์ในกรุงสาวัตถี เสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว ทรงส่งภิกษุทั้งหลายกลับ ทรงชวนไว้เป็นปัจฉาสมณะเพียงรูปเดียว เสด็จไปยังเรือนของเขา เมื่อตรัสเรียกเขาผู้นั่งถวายบังคม ด้วยพระดำรัสอันไพเราะ จึงตรัสว่า ดูก่อนอุบาสก เธอเศร้าโศกไปทำไม เมื่อเขากราบทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความเศร้าโศกถึงบิดากำลัง เบียดเบียนข้าพระองค์ จึงตรัสว่า ดูก่อนอุบาสก บัณฑิตในปางก่อน ทราบโลกธรรม ๘ ประการ ตามความเป็นจริง เมื่อบิดาถึงแก่กรรมแล้ว ก็มิได้ประสบความเศร้าโศก แม้สักน้อยหนึ่งเลย เขากราบทูลอาราธนา จึงทรงนำอดีตนิทานมาตรัสว่า.
ในอดีตกาล พระเจ้าทสรถมหาราช ทรงละความถึงอคติ เสวยราชสมบัติโดยธรรม ในกรุงพาราณสี พระอัครมเหสีผู้เป็นใหญ่กว่าสตรี ๑๖,๐๐๐ นางของท้าวเธอ ประสูติพระโอรส ๒ พระองค์ พระธิดา ๑ พระองค์ พระโอรสองค์ใหญ่ทรงพระนามว่า รามบัณฑิต องค์น้องทรงพระนามว่า ลักขณกุมาร พระธิดาทรงพระนามว่า สีดาเทวี ครั้นจำเนียรกาลนานมา พระอัคร
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 75
มเหสีสิ้นพระชนม์ พระราชาเมื่อพระนางสิ้นพระชนม์แล้ว ทรงถึงอำนาจแห่งความเศร้าโศกตลอดกาลนาน หมู่อำมาตย์ช่วยกันกราบทูลให้ทรงสร่าง ทรงกระทำการบริหารที่ควรกระทำแก่พระนางแล้ว ทรงตั้งสตรีอื่นไว้ในตำแหน่งอัครมเหสี พระนางเป็นที่รัก เป็นที่จำเริญพระหฤทัยของพระราชา ครั้นกาลต่อมา แม้พระนางก็ทรงพระครรภ์ ทรงได้รับพระราชทานเครื่องครรภ์บริหาร จึงประสูติพระราชโอรส พระประยูรญาติขนานพระนามพระโอรสนั้นว่า ภรตกุมาร พระราชาตรัสว่า แน่ะนางผู้เจริญ ฉันขอให้พรแก่เธอ เธอจงรับเถิด ด้วยทรงพระเสน่หาในพระโอรส พระนางทรงเฉยเสีย ทำทีว่าทรงรับแล้ว จนพระกุมารมีพระชนมายุได้ ๗ - ๘ พรรษา จึงเข้าไปเฝ้าพระราชา กราบทูลว่า พระทูลกระหม่อม พระองค์พระราชทานพระพรไว้แก่บุตรของกระหม่อมฉัน บัดนี้ ขอทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระพรนั้นแก่เธอ เมื่อพระราชาตรัสว่า รับเอาเถิด นางผู้เจริญ จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระทูลกระหม่อม ขอพระองค์โปรดทรงพระกรุณาพระราชทานราชสมบัติแก่บุตรของกระหม่อมฉันเถิด พระเจ้าข้า พระราชาทรงตบพระหัตถ์ตรัสขู่ว่า เจ้าจงย่อยยับเสียเถอะ นางถ่อย บุตรของข้า ๒ คน กำลังรุ่งเรืองเหมือนกองเพลิง เจ้าจะให้ข้าฆ่าเขาทั้ง ๒ คนเสียแล้ว ขอราชสมบัติให้ลูกของเจ้า พระนางตกพระทัย เสด็จเข้าสู่พระตำหนักอันทรงสิริ ถึงในวันอื่นๆ เล่า ก็คงทูลขอราชสมบัติกับพระราชาเนืองๆ ทีเดียว พระราชาครั้นไม่พระราชทานพระพรแก่พระนาง จึงทรงพระดำริว่า ขึ้นชื่อว่า มาตุคามเป็นคนอกตัญญู มักทำลายมิตร นางนี้พึงปลอมหนังสือหรือจ้างคนโกงๆ ฆ่าลูกทั้ง ๒ ของเราเสียได้ พระองค์จึงตรัสสั่งให้พระราชโอรสทั้ง ๒ เข้าเฝ้า ตรัสความนั้น มีพระดำรัสว่า พ่อเอ๋ย อันตรายคงจักมีแก่พวกเจ้า ผู้อยู่ ณ ที่นี้ เจ้าทั้งหลายจงพากันไปสู่แดนแห่งสามันตราช หรือ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 76
สู่ราวป่า พากันมาก็ต่อเมื่อพ่อตายแล้ว ยึดเอาราชสมบัติของตระกูลเถิด ดังนี้แล้ว รับสั่งให้พวกโหราจารย์เข้าเฝ้าอีก ตรัสถามกำหนดพระชนมายุของพระองค์ ทรงสดับว่า จักยั่งยืนไปตลอด ๑๒ ปีข้างหน้า จึงตรัสว่า พ่อเอ๋ย โดยล่วงไป ๑๒ ปีถัดจากนี้ พวกเจ้าจงพากันมา ให้มหาชนยกฉัตรถวาย พระราชโอรสเหล่านั้นกราบทูลว่า ดีแล้ว พระเจ้าข้า พากันถวายบังคมพระราชบิดา ทรงพระกันแสง เสด็จลงจากพระปราสาท พระนางสีดาเทวี ทรงพระดำริว่า ถึงเราก็จักไปกับพี่ทั้ง ๒ ถวายบังคมพระราชบิดา ทรงพระกันแสงเสด็จออก กษัตริย์ทั้ง ๓ พระองค์นั้น แวดล้อมไปด้วยมหาชน ออกจากพระนคร ทรงให้มหาชนพากันกลับ เสด็จเข้าสู่หิมวันตประเทศโดยลำดับ สร้างอาศรม ณ ประเทศอันมีน้ำและมูลผลาผลสมบูรณ์ ทรงเลี้ยงพระชนมชีพด้วยผลาผล พากันประทับอยู่แล้ว ฝ่ายพระลักขณบัณฑิตและพระนางสีดาได้ทูลขอร้องพระรามบัณฑิตรับปฏิญญาว่า พระองค์ดำรงอยู่ในฐานะแห่งพระราชบิดาของหม่อมฉัน เหตุนั้นเชิญประทับประจำ ณ อาศรมบทเท่านั้นเถิด หม่อมฉันทั้ง ๒ จักนำผลาผลมาบำรุงเลี้ยงพระองค์ จำเดิมแต่นั้นมา พระรามบัณฑิตคงประทับประจำ ณ อาศรมบทนั้นเท่านั้น พระลักขณบัณฑิตและพระนางสีดา พากันหาผลาผลมาปรนนิบัติพระองค์ เมื่อกษัตริย์ ทั้ง ๓ พระองค์นั้น ทรงเลี้ยงพระชนมชีพอยู่ด้วยผลาผลอย่างนี้ พระเจ้าทสรถมหาราชเสด็จสวรรคตลงในปีที่ ๙ เพราะทรงเศร้าโศกถึงพระราชโอรส ครั้นจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระเจ้าทสรถมหาราชเสร็จแล้ว พระเทวีมีพระดำรัสให้พวกอำมาตย์ถวายพระเศวตฉัตรแด่พระภรตกุมารผู้โอรสของตน แต่พวกอำมาตย์ทูลว่า เจ้าของเศวตฉัตรยังอยู่ในป่า ดังนี้แล้ว จึงไม่ยอมถวาย พระภรตกุมารตรัสว่า เราจักเชิญพระรามบัณฑิต ผู้เป็นพระภาดามาจากป่า ให้ทรงเฉลิมพระเศวตฉัตร ทรงถือเครื่องราชกกุธภัณฑ์
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 77
๕ อย่าง พร้อมด้วยเสนา ๔ เหล่า บรรลุถึงที่ประทับของพระรามบัณฑิตนั้น ให้ตั้งค่ายพักแรมอยู่ ณ ที่อันไม่ไกล เสด็จเข้าไปสู่อาศรมบทกับอำมาตย์ ๒ - ๓ นาย ในเวลาที่พระลักขณบัณฑิตและพระนางสีดาเสด็จไปป่า เข้าเฝ้าพระรามบัณฑิตผู้ปราศจากความระแวง ประทับนั่งอย่างสบาย ประหนึ่งรูปทองคำที่ตั้งไว้ ณ ประตูอาศรมบท ถวายบังคม ประทับยืน ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง กราบทูลข่าวของพระราชาแล้ว ก็ทรงฟุบลงแทบพระบาททั้งคู่ ทรงพระกันแสงพร้อมกับเหล่าอำมาตย์ พระรามบัณฑิตมิได้ทรงเศร้าโศกเลย มิได้ทรงพระกันแสงเลย แม้เพียงอาการผิดปกติแห่งอินทรีย์ก็มิได้มีแก่พระองค์เลย ก็แลในเวลาที่พระภรตะทรงพระกันแสงประทับนั่ง เป็นเวลาสายัณหสมัย พระลักขณบัณฑิตและพระนางสีดาทั้ง ๒ พระองค์ ทรงพากันถือผลาผลเสด็จมาถึง พระรามบัณฑิตทรงดำริว่า เจ้าลักขณะและแม่สีดายังเป็นเด็ก ยังไม่มีปรีชากำหนดถี่ถ้วนเหมือนเรา ได้รับบอกเล่าว่า บิดาของเธอสวรรคตแล้วโดยรวดเร็ว เมื่อไม่อาจจะยับยั้งความเศร้าโศกไว้ได้ แม้หัวใจของเธอก็อาจแตกไปได้ เราต้องใช้อุบายให้เจ้าลักขณะและแม่สีดาจงไปแช่น้ำแล้ว ให้ได้ฟังข่าวนั้น ลำดับนั้น ทรงชี้แอ่งน้ำแห่งหนึ่ง ข้างหน้าแห่งกษัตริย์ทั้ง ๒ พระองค์นั้น ตรัสว่า เจ้าทั้ง ๒ มาช้านัก นี่เป็นทัณฑกรรมของเจ้า เจ้าจงลงไปแช่น้ำยืนอยู่ ดังนี้แล้ว จึงตรัสกึ่งพระคาถาว่า.
"มานี่แน่ะ เจ้าลักขณะและนางสีดา ทั้ง ๒ จงมาลงน้ำ".
คำอันเป็นคาถานั้น มีอธิบายว่า มานี่แน่ะเจ้าลักขณะและนางสีดา จงพากันมา จงลงสู่น้ำทั้ง ๒ คน.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 78
พระลักขณะและพระนางสีดาทั้ง ๒ พระองค์นั้น พากันเสด็จลงไปประทับยืนอยู่ ด้วยพระดำรัสครั้งเดียวเท่านั้น ลำดับนั้น พระรามบัณฑิตเมื่อจะทรงบอกข่าวแห่งพระราชบิดาแก่กษัตริย์ทั้ง ๒ พระองค์นั้น จึงตรัสกึ่งคาถาที่เหลือว่า.
"พ่อภรตะนี้ กล่าวอย่างนี้ว่า พระราชาทสรถสวรรคตเสียแล้ว".
พระลักขณะและพระนางสีดาทั้ง ๒ พระองค์นั้น พอได้สดับข่าวว่าพระราชบิดาสวรรคตเท่านั้น ก็พากันวิสัญญีสลบไป พระรามบัณฑิตตรัสบอกซ้ำอีก ก็พากันสลบไปอีก หมู่อำมาตย์ช่วยกันอุ้มกษัตริย์ทั้ง ๒ พระองค์ อันทรงถึงวิสัญญีภาพไปถึง ๓ ครั้ง ด้วยอาการอย่างนี้ ขึ้นจากน้ำให้ประทับนั่งบนบก เมื่อเธอทั้ง ๒ ได้ลมอัสสาสปัสสาสะแล้ว ทุกพระองค์ต่างก็ประทับนั่งทรงพระกันแสงคร่ำครวญกันเรื่อย ครั้งนั้น พระภรตกุมารทรงพระดำริว่า พระภาดาของเรา ลักขณกุมารและพระภคินีสีดาเทวีของเรา สดับข่าวว่า พระทสรถสวรรคตเสียแล้ว มิอาจจะยับยั้งความเศร้าโศกไว้ได้ แต่พระรามบัณฑิตมิได้ทรงเศร้าโศก มิได้ทรงคร่ำครวญเลย อะไรเล่าหนอ เป็นเหตุแห่งความไม่เศร้าโศกของพระองค์ ต้องถามพระองค์ดู เมื่อท้าวเธอจะตรัสถามพระองค์ จึงตรัสพระคาถาที่ ๒ ว่า.
"พี่รามบัณฑิต ด้วยอานุภาพอะไร เจ้าพี่จึงไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ควรเศร้าโศก ความทุกข์มิได้ครอบงำพี่เพราะได้สดับว่า พระราชบิดาสวรรคตเล่า".
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปภาเวน แปลว่า ด้วยอานุภาพ.
บทว่า น ตํ ปสหเต ทุกฺขํ ความว่า ความทุกข์เห็นปานนี้ เหตุไรจึงไม่บีบคั้นพี่ได้เลย อะไรเป็นเครื่องบังคับมิให้พี่เศร้าโศกเลย โปรดแจ้งแก่หม่อมฉันก่อน.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 79
ลำดับนั้น พระรามบัณฑิตเมื่อจะแสดงเหตุที่บังคับมิให้พระองค์ทรงเศร้าโศกแก่พระกุมารภรตะนั้น จึงตรัสว่า.
"คนเราไม่สามารถจะรักษาชีวิต ที่คนเป็นอันมากพร่ำเพ้อถึง นักปราชญ์ผู้รู้แจ้งจะทำตนเพื่อให้เดือดร้อน เพื่ออะไรกัน".
"ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ทั้งพาลทั้งบัณฑิต ทั้งคนมั่งมีทั้งคนยากจน ล้วนบ่ายหน้าไปหามฤตยูทั้งนั้น".
"ผลไม้ที่สุกแล้ว ก็พลันแต่จะหล่นลงเป็นแน่ ฉันใด สัตว์ทั้งหลายเกิดมาแล้ว ก็พลันแต่จะตายเป็นแน่ ฉันนั้น".
"เวลาเช้าเห็นกันอยู่มากคน พอถึงเวลาเย็นบางคนก็ไม่เห็นกัน เวลาเย็นเห็นกันอยู่มากคน พอถึงเวลาเช้าบางคนก็ไม่เห็นกัน".
"ถ้าผู้ที่คร่ำครวญ หลงเบียดเบียดตนอยู่ จะพึงได้รับประโยชน์สักเล็กน้อยไซร้ บัณฑิตผู้มีปรีชา ก็จะพึงทำเช่นนั้นบ้าง".
"ผู้เบียดเบียนตนของตนอยู่ ย่อมซูบผอม ปราศจากผิวพรรณ สัตว์ผู้ละไปแล้ว ไม่ได้ช่วยคุ้มครองรักษา ด้วยการร่ำไห้นั้นเลย การร่ำไห้ไร้ประโยชน์".
"คนฉลาด พึงดับไฟที่ไหม้เรือนด้วยน้ำ ฉันใด คนผู้เป็นนักปราชญ์ ได้รับการศึกษามาดีแล้ว มีปัญญาเฉลียวฉลาด พึงรีบกำจัดความเศร้าโศกที่เกิดขึ้นโดยพลัน เหมือนลมพัดปุยนุ่น ฉะนั้น".
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 80
"คนๆ เดียวเท่านั้น ตายไป คนเดียวเท่านั้น เกิดในตระกูล ส่วนการคบหากันของสรรพสัตว์ มีการเกี่ยวข้องกันเป็นอย่างยิ่ง".
"เพราะเหตุนั้นแล ความเศร้าโศกแม้จะมากมาย ก็ไม่ทำจิตใจของนักปราชญ์ผู้เป็นพหูสูต มองเห็นโลกนี้และโลกหน้า รู้ทั่วถึงกรรม ให้เร่าร้อนได้".
"เราจักให้ยศและโภคสมบัติ แก่ผู้ที่ควรจะได้ จักทะนุบำรุงภริยา ญาติทั้งหลายและคนที่เหลือ นี้เป็นกิจของบัณฑิตผู้ปรีชา".
พระรามบัณฑิตได้ประกาศถึงอนิจจตาด้วยคาถา ๖ คาถาเหล่านี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปาเลตุํ ได้แก่ เพื่อจะรักษา.
บทว่า ลปตํ ได้แก่ ผู้บ่นเพ้ออยู่ ท่านกล่าวคำอธิบายไว้ดังนี้ว่า พ่อภรตะเอ๋ย ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย บรรดาที่พากันร่ำไห้ถึงกันมากมาย แม้สักคนเดียว ก็มิอาจจะรักษาไว้ได้ว่า อย่าขาดไปเลยนะ บัดนี้ผู้เช่นเรานั้น รู้โลกธรรมทั้ง ๘ ประการ โดยความเป็นจริง ชื่อว่า วิญญูชน มีความหลักแหลมเป็นบัณฑิต ในเมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีชีวิตมีความตายเป็นที่สุด ตายไปแล้ว จะยังตนให้เข้าไปเดือดร้อนเพื่ออะไรกัน คือเหตุไรจึงจะแผดเผาตนด้วยความทุกข์ของตน อันหาอุปการะมิได้.
คาถาว่า ทหรา จ เป็นต้นมีอธิบายว่า พ่อภรตะเอ๋ย ขึ้นชื่อว่า มฤตยูนี้ มิได้ละอายต่อคนหนุ่มผู้เช่นกับรูปทองคำ มีขัตติยกุมารเป็น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 81
ต้นเลย และมิได้เกรงขามต่อมหาโยธาทั้งหลาย ผู้ถึงความเจริญโดยคุณ มิได้เกรงกลัวเหล่าสัตว์ผู้สันดานหนาเป็นพาล มิได้ยำเกรงปวงบัณฑิต มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น มิได้หวั่นเกรงมวลอิสริยชน มีพระเจ้าจักรพรรดิเป็นต้น มิได้อดสูต่อคนขัดสนไม่เว้นตัว ฝูงสัตว์เหล่านี้แม้ทั้งหมด ล้วนบ่ายหน้าไปหามฤตยู พากันย่อยยับแหลกลาญที่ปากแห่งความตายทั้งนั้นแหละ.
บทว่า ปตนโต ได้แก่ โดยการตกไป มีอธิบายว่า ดูก่อนพ่อภรตะเอ๋ย เปรียบเหมือนผลไม้อันสุกแล้ว ตั้งแต่เวลาที่สุกแล้วไป ก็มีแต่จะรอเวลาร่วงหล่น ว่าจะพรากจากขั้วหล่นลงบัดนี้ หล่นลงเดี๋ยวนี้ คือผลไม้เหล่านั้น มีแต่จะคอยระแวงอยู่อย่างนี้ว่า ความหวั่นที่จะต้องหล่นเป็นการแน่นอนเที่ยงแท้ มีแต่เรื่องนั้นถ่ายเดียวเท่านั้น ฉันใด แม้ฝูงสัตว์ที่ต้องตาย ที่เกิดมาแล้ว ก็ฉันนั้น หวั่นเกรงแต่ที่จะตายถ่ายเดียวเท่านั้น ขณะหรือครู่ที่ฝูงสัตว์เหล่านั้นจะไม่ต้องระแวงความตายนั้น ไม่มีเลย.
บทว่า สายํ แปลว่า ในเวลาเย็น ด้วยบทว่า สายํ นี้ ท่านแสดงถึงการที่ไม่ปรากฏของผู้ที่เห็นกันอยู่ในเวลากลางวัน ในเวลากลางคืน และของสัตว์ผู้เห็นกันอยู่ในเวลากลางคืน ในเวลากลางวัน.
บทว่า กิญฺจิทตฺถํ ความว่า ถ้าคนเราคร่ำครวญอยู่ด้วยคิดว่า พ่อของเรา ลูกของเรา ดังนี้เป็นต้น หลงใหลเบียดเบียนตนอยู่ ให้ตนลำบากอยู่ จะพึงนำประโยชน์มาแม้สักหน่อย.
บทว่า กยิรา เจ นํ วิจกฺขโณ ความว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น บุรุษผู้เป็นบัณฑิตพึงร่ำไห้เช่นนั้น แต่เพราะผู้ร่ำไห้อยู่ ไม่สามารถจะนำผู้ตายแล้วมาได้ หรือสามารถจะทำความเจริญอื่นๆ แก่ผู้ตายแล้วนั้นได้ เหตุนั้นจึงเป็นกิริยาที่ไร้ประโยชน์แก่ผู้ที่ถูกร่ำไห้ถึง บัณฑิตทั้งหลายจึงไม่ร่ำไห้.
บทว่า อตฺตานมตฺตโน ความว่า ผู้ร่ำไห้กำลังเบียดเบียนอัตภาพของตนด้วยทุกข์ คือความโศกและความร่ำไห้.
บทว่า น เตน ความว่า ด้วยความร่ำไห้นั้น ฝูงสัตว์ผู้ไปปรโลกแล้ว ย่อมจะคุ้มครองไม่ได้ จะยังตน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 82
ให้เป็นไม่ได้เลย.
บทว่า นิรตฺถา ความว่า เพราะเหตุนั้น การร่ำไห้ถึงฝูงสัตว์ผู้ตายไปแล้วเหล่านั้น จึงเป็นกริยาที่หาประโยชน์มิได้.
บทว่า สรณํ ได้แก่ เรือนเป็นที่อยู่อาศัย ท่านกล่าวคำอธิบายนี้ไว้ว่า บุรุษผู้เป็นบัณฑิต เมื่อเรือนถูกไฟไหม้ ก็ไม่ต้องตกใจแม้สักครู่ รีบดับเสียด้วยน้ำตั้งพันหม้อทันที ฉันใด ธีรชนก็ฉันนั้น พึงดับความโศกที่เกิดขึ้นแล้วโดยทันทีทีเดียว กำจัดปัดเป่าเสียโดยวิธีที่ความโศกจะไม่อาจตั้งอยู่ได้ เหมือนลมพัดปุยนุ่น ฉะนั้น.
ในบทว่า เอโกว มจฺโจ มีอธิบายดังต่อไปนี้ พ่อภรตะเอ๋ย ฝูงสัตว์เหล่านี้ชื่อว่า มีกรรมเป็นของของตน สัตว์ผู้ไปสู่ปรโลกจากโลกนี้ ผู้เดียวจากฝูงสัตว์เหล่านั้น ล่วงไปผ่านไป แม้เมื่อเกิดในตระกูลมีกษัตริย์เป็นต้น ผู้เดียวเท่านั้นไปเกิด ส่วนความร่วมคบหากันของสัตว์ทั้งปวงในที่นั้นๆ มีการเกี่ยวข้องกันนั้นว่า ผู้นี้เป็นบิดาของเรา ผู้นี้เป็นมารดาของเรา ผู้นี้เป็นญาติมิตรของเรา ดังนี้ ด้วยอำนาจที่เกี่ยวข้องกันทางญาติ ทางมิตรเท่านั้น เป็นอย่างยิ่ง แต่เมื่อว่าโดยปรมัตถ์ ฝูงสัตว์เหล่านี้ ในภพทั้ง ๓ มีกรรมเป็นของของตนทั้งนั้น.
บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะเว้นความเกี่ยวข้องทางญาติ ทางมิตร อันเป็นเพียงการคบหากันของสัตว์เหล่านี้เสียแล้ว ต่อจากนั้นย่อมเป็นอื่นไปไม่ได้ ฉะนั้น.
บทว่า สมฺปสฺสโต ได้แก่ เห็นโลกนี้และโลกหน้าอันมีความพลัดพรากจากกันเป็นสภาวะโดยชอบ.
บทว่า อญฺาย ธมฺมํ ได้แก่ เพราะรู้โลกธรรม ๘ ประการ.
บทว่า หทยํ มนญฺจ นี้ ทั้ง ๒ บท เป็นชื่อของจิต นั่นเอง ท่านกล่าวคำอธิบายไว้ดังนี้ว่า.
"โปฏฐปาทะเอ๋ย ธรรมในมวลมนุษย์เหล่านี้ คือมีลาภ ไม่มีลาภ มียศ ไม่มียศ นินทา สรรเสริญ สุขและทุกข์ เป็นของไม่เที่ยง เธออย่าเศร้าโศก เธอจะเศร้าโศกไปทำไม ดังนี้".
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 83
ความเศร้าโศกแม้จะใหญ่หลวง ซึ่งมีบุตรที่เป็นที่รักตายไปเป็นวัตถุ ย่อมปรากฏทางจิตด้วยโลกธรรม ๘ ประการอย่างใดอย่างหนึ่งนี้ และย่อมไม่แผดเผาหทัยของธีรชนผู้ดำรงอยู่ เพราะได้รู้ถึงสภาวธรรมอันนั้นว่าเป็นของไม่เที่ยง อีกนัยหนึ่ง พึงเห็นความในข้อนี้ อย่างนี้ว่า ความเศร้าโศกแม้ว่าจะใหญ่หลวงก็จะแผดเผาหทัยวัตถุและใจของธีรชนไม่ได้ เพราะมาทราบโลกธรรม ๘ ประการนี้.
บทว่า โสหํ ยสญฺจ โภคญฺจ ความว่า พ่อภรตะเอ๋ย การร้องไห้ร่ำไห้เหมือนของพวกคนอันธพาล ไม่สมควรแก่เราเลย แต่เราเมื่อพระราชบิดาล่วงลับไปดำรงอยู่ในฐานะของพระองค์นั่นแล จะให้ทานแก่คนที่ควรให้ มีพวกคนกำพร้าเป็นต้น ให้ตำแหน่งแก่ผู้ที่ควรให้ตำแหน่ง ให้ยศแก่ผู้ที่ควรจะให้ยศ บริโภคอิสริยยศโดยนัยที่พระราชบิดาของเราทรงบริโภค ทรงเลี้ยงหมู่ญาติ จะคุ้มครองคนที่เหลือ คือคนภายในและคนที่เป็นบริวาร จักกระทำการปกป้องและคุ้มครองกันโดยธรรมแก่สมณะและพราหมณ์ผู้ทรงธรรม เพราะทั้งนี้เป็นกิจอันสมควรของผู้รู้ คือผู้เป็นบัณฑิต.
ฝูงชนฟังธรรมเทศนาอันประกาศความไม่เที่ยง ของพระรามบัณฑิตนี้แล้ว พากันสร่างโศก ต่อจากนั้น พระภรตกุมารบังคมพระรามบัณฑิตทูลว่า เชิญพระองค์ทรงรับราชสมบัติในพระนครพาราณสีเถิด ดูก่อนพ่อ (*ภรตะ) ท่านจงพาพระลักขณ์และสีดาเทวีไปครองราชสมบัติกันเถิด ทูลถามว่า ก็พระองค์เล่า พระเจ้าข้า ตรัสว่า พ่อเอ๋ย พระบิดาของฉัน ได้ตรัสไว้กะฉันว่า ต่อล่วง ๑๒ ปี เจ้าค่อยมาครองราชสมบัติ เมื่อฉันจะไป ณ บัดนี้เล่า ก็เป็นอันชื่อว่า ไม่กระทำตามพระดำรัสของพระองค์ แต่ครั้นพ้นจาก ๓ ปีอื่นไปแล้ว ฉันจักยอมไป ทูลถามว่า ตลอดกาลเพียงนี้ ใครจักครองราชสมบัติเล่า (*ตรัสว่า) พวกเธอครองซี ทูลว่า หากหม่อมฉันไม่ครอง ตรัสว่า ถ้าเช่นนั้นรองเท้าคู่นี้จักครองจนกว่าฉันไป แล้วทรงถอดฉลองพระบาททำด้วยหญ้าของพระองค์ประทานให้ กษัตริย์ทั้ง ๓ พระองค์รับฉลอง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 84
พระบาท บังคมพระรามบัณฑิต แวดล้อมด้วยมหาชนเสด็จไปสู่พระนครพาราณสี ฉลองพระบาทครองราชสมบัติตลอด ๓ ปี พวกอำมาตย์พากันวางฉลองพระบาทหญ้าเหนือราชบังลังก์ แล้วพากันตัดสินคดี ถ้าตัดสินไม่ดี ฉลองพระบาทก็กระทบกัน ด้วยสัญญานั้น ต้องพากันตัดสินใหม่ เวลาที่ตัดสินชอบแล้ว ฉลองพระบาทปราศจากเสียงและคงเงียบอยู่ ต่อนั้นสามปี พระรามบัณฑิตจึงเสด็จออกจากป่าบรรลุถึงพระนครพาราณสี เสด็จเข้าสู่พระราชอุทยาน พระกุมารทั้งหลายทรงทราบความที่พระองค์เสด็จมา มีหมู่อำมาตย์แวดล้อมเสด็จไปพระอุทยาน ทรงกระทำนางสีดาเป็นอัครมเหสีแล้วอภิเษกทั้งคู่ พระมหาสัตว์ทรงปราบดาภิเษกแล้ว ประทับเหนือราชรถอันอลงกต เสด็จเข้าสู่พระนครด้วยบริวารขบวนใหญ่ ทรงเลียบพระนครแล้วเสด็จขึ้นสู่ท้องพระโรงแห่งพระสุนันทนปราสาท ตั้งแต่นั้น ทรงครองราชสมบัติโดยธรรมตลอดหมื่นหกพันปี ในเวลาสิ้นพระชนมายุ ทรงยังเมืองสวรรค์ให้เนืองแน่นแล้ว อภิสัมพุทธคาถานี้ว่า.
"พระเจ้ารามผู้มีพระศอดุจกลองทอง มีพระพาหาใหญ่ ทรงครอบครองราชสมบัติอยู่ตลอด ๑๖,๐๐๐ ปี".
ดังนี้ ย่อมประกาศเนื้อความนั้น.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กมฺพุคิโว ความว่า มีพระศอ เช่นกับแผ่นทองคำ จริงอยู่ ทองคำเรียกว่า กัมพุ.
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจจะ ในเวลาจบสัจจะ กุฎุมพีดำรงในโสดาปัตติผล ทรงประชุมชาดกว่า พระทสรถมหาราชครั้งนั้น ได้มาเป็นสุทโธทนมหาราช พระมารดา ได้มาเป็นพระมหามายา สีดา ได้มาเป็นมารดาของราหุล เจ้าภรตะ ได้มาเป็นอานนท์ เจ้าลักขณ์ ได้มาเป็นสารีบุตร บริษัท ได้มาเป็นพุทธบริษัท ส่วนรามบัณฑิต ได้มาเป็นเราตถาคตแล.
จบอรรถกถาทสรถชาดก