พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. สุปปารกชาดก ว่าด้วยทะเล ๖ ประการ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ส.ค. 2564
หมายเลข  35926
อ่าน  417

[เล่มที่ 60] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 95

๙. สุปปารกชาดก

ว่าด้วยทะเล ๖ ประการ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 60]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 95

๙. สุปปารกชาดก

ว่าด้วยทะเล ๖ ประการ

[๑๕๘๘] พวกมนุษย์จมูกแหลม ดำผุดดำว่ายอยู่ พวกข้าพเจ้าขอถามท่านสุปปารกะ ทะเลนี้ชื่ออะไร.

[๑๕๘๙] เมื่อท่านทั้งหลาย ผู้เป็นพ่อค้าแสวงหาทรัพย์ ออกจากท่าชื่อ ภรุกัจฉะ ครั้นเรือแล่นไปผิดทาง มาถึงทะเลตอนนี้เขาเรียกกันว่า ขุรมาลี.

[๑๕๙๐] ทะเลนี้ ปรากฏเหมือนกองไฟและพระอาทิตย์ ข้าพเจ้าขอถามท่านสุปปารกะ ทะเลนี้ชื่ออะไร.

[๑๕๙๑] เมื่อท่านทั้งหลาย ผู้เป็นพ่อค้าแสวงหาทรัพย์ ออกจากท่าชื่อ ภรุกัจฉะ ครั้นเรือเล่นไปผิดทาง มาถึงทะเลตอนนี้เขาเรียกว่า อัคคิมาลี.

[๑๕๙๒] ทะเลนี้ ปรากฏเหมือนนมส้มและนมสด พวกข้าพเจ้าขอถามท่านสุปปารกะ ทะเลนี้ชื่ออะไร.

[๑๕๙๓] เมื่อท่านทั้งหลาย ผู้เป็นพ่อค้าแสวงหาทรัพย์ ออกจากท่าชื่อ ภรุกัจฉะ ครั้นเรือแล่นไปผิดทาง มาถึงทะเลตอนนี้เขาเรียกกันว่า ทธิมาลี.

[๑๕๙๔] ทะเลนี้ ปรากฏเหมือนหญ้าคาและข้าวกล้า พวกข้าพเจ้าขอถามท่านสุปปารกะ ทะเลนี้ชื่ออะไร.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 96

[๑๕๙๕] เมื่อท่านทั้งหลาย ผู้เป็นพ่อค้าแสวงหาทรัพย์ ออกจากท่าชื่อ ภรุกัจฉะ ครั้นเรือแล่นไปผิดทาง มาถึงทะเลตอนนี้เขาเรียกกันว่า กุสมาลี.

[๑๕๙๖] ทะเลนี้ ปรากฏเหมือนไม้อ้อและไม้ไผ่ พวกข้าพเจ้าขอถามท่านสุปปารกะ ทะเลนี้ชื่ออะไร.

[๑๕๙๗] เมื่อท่านทั้งหลาย ผู้เป็นพ่อค้าแสวงหาทรัพย์ ออกจากท่าชื่อ ภรุกัจฉะ ครั้นเรือแล่นไปผิดทาง ถึงทะเลตอนนี้เขาเรียกกันว่า นฬมาลี.

[๑๕๙๘] เสียงน่ากลัวมาก น่าสยดสยอง ฟังเหมือนเสียงอมนุษย์ และทะเลนี้ปรากฏเหมือนบึงและเหว พวกข้าพเจ้าขอถามท่านสุปปารกะ ทะเลนี้ชื่ออะไร.

[๑๕๙๙] เมื่อท่านทั้งหลาย ผู้เป็นพ่อค้าแสวงหาทรัพย์ ออกจากท่าชื่อ ภรุกัจฉะ ครั้นเรือแล่นไปผิดทาง มาถึงทะเลตอนนี้เขาเรียกกันว่า พลวามุขี.

[๑๖๐๐] ตั้งแต่ข้าพเจ้าระลึกถึงตนได้ ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสา ข้าพเจ้าไม่เคยรู้สึกแกล้งเบียดเบียนสัตว์แม้สักตัวหนึ่งเลย ด้วยสัจจวาจานี้ ขอเรือจงกลับได้โดยสวัสดี.

จบสุปปารกชาดกที่ ๙

จบเอกาทสนิบาต

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 97

อรรถกถาสุปปารกชาดก

พระศาสดา เมื่อเสด็จประทับ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงพระปรารภพระปัญญาบารมี ตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า "อุมฺมุชฺชนฺติ นิมุชฺชนฺติ ดังนี้.

เรื่องพิสดารมีว่า วันหนึ่งเพลาเย็น พวกภิกษุพากันรอพระตถาคตเสด็จออกแสดงธรรม นั่งในธรรมสภา ต่างพรรณนาพระมหาปัญญาบารมีของพระทศพลว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย อัศจรรย์ยิ่งนัก พระศาสดาทรงมีพระปรีชามาก มีพระปรีชาหนักหนา มีพระปรีชาแจ่มใส มีพระปรีชาว่องไว มีพระปรีชาคมคาย มีพระปรีชาหลักแหลม ทรงประกอบด้วยพระปรีชาอันเป็นอุบายในกรณียะนั้นๆ หนักหนาเสมอด้วยแผ่นดิน ลึกซึ้งประหนึ่งมหาสมุทร กว้างขวางไม่สิ้นสุดดุจดังอากาศ ปัญหาที่ตั้งขึ้นกันในชมพูทวีป ที่จะได้นามว่า ผ่านพ้นพระทศพลไปได้ไม่มีเลยทีเดียว เหมือนคลื่นที่ตั้งขึ้นในมหาสมุทร พอถึงฝั่งเท่านั้นก็แตกกระจายไป ฉันใด ปัญหาอันใดอันหนึ่งที่ตั้งขึ้น ก็มิได้ผ่านพ้นพระทศพลไปได้ ถึงบาทมูลพระศาสดาแล้ว ย่อมแตกฉานไปทีเดียว ฉันนั้น พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่ตถาคตมีปัญญา แม้ในครั้งก่อนตถาคตก็เป็นผู้มีปัญญาด้วยญาณอันไม่แก่กล้า ถึงจะเป็นคนตาบอดก็ยังรู้ได้ว่า ในสมุทรตอนนี้มีรัตนะนามนี้ ด้วยการกำหนดน้ำในมหาสมุทร ทรงนำอดีตนิทานมาดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาลพระเจ้ากุรุราช เสวยราชสมบัติ ณ แคว้นกุรุ ได้มีบ้านอันเป็นท่าเรือนามว่า ภรุกัจฉะ ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นบุตรของหัวหน้าต้นหนในบ้านกุรุกัจฉะ เป็นคนน่าเลื่อมใส ผิวพรรณเพียงดังทอง หมู่ญาติได้ขนานนามให้ท่านว่า สุปารกกุมาร

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 98

ทำจำเริญด้วยบริวารมาก ในกาลที่มีอายุ ๑๖ นั่นแล สำเร็จศิลปะของต้นหนแล้ว ต่อมาพอบิดาล่วงลับไป ก็ได้เป็นหัวหน้าต้นหน ทำหน้าที่ต้นหน ได้เป็นบัณฑิตสมบูรณ์ด้วยญาณ บรรดาเรือที่ท่านขึ้นไปแล้ว เป็นไม่มีเรื่องที่เรียกว่าอับปางเลย ต่อมานัยน์ตาทั้งคู่ของท่านกระทบน้ำเค็มนัก เลยเสียไป ตั้งแต่บัดนั้น ถึงท่านจะเป็นหัวหน้าต้นหนอยู่ ก็ทำหน้าที่ต้นหนไม่ได้ คิดว่า เราพึ่งพระราชาเลี้ยงชีวิตเถอะ แล้วเข้าไปเฝ้าพระราชา ครั้งนั้น พระราชาทรงแต่งตั้งท่านไว้ในหน้าที่พนักงานตีราคา ตั้งแต่บัดนั้น ท่านก็คอยประเมินราคาช้างแก้ว ม้าแก้ว และก้อนแก้วมุกดาแก้วมณีเป็นต้น.

ครั้งนั้น วันหนึ่ง คนทั้งหลายนำช้างตัวหนึ่ง มีสีดำเหมือนสีหน่อหิน ทูลถวายแด่พระราชา ด้วยคิดว่าจักเป็นมงคลหัตถี พระราชาทอดพระเนตรช้างนั้นแล้ว ตรัสว่า เจ้าทั้งหลายจงให้ท่านบัณฑิตมาดู ครั้นพวกนั้นนำช้างนั้นไปสู่สำนักของท่านแล้ว ท่านใช้มือลูบสรีระของมันทั่วๆ ไป กล่าวว่า ช้างตัวนี้ไม่สมควรจะเป็นมงคลหัตถี มันค่อมอยู่หน่อยที่เท้าหลังทั้งสองข้าง เพราะแม่ช้างตกลูกช้างตัวนี้ ไม่อาจรับไว้ทันด้วยบั้นขาได้ เหตุนั้นมันเลยตกลงถึงแผ่นดิน ขาหลังทั้งคู่จึงค่อมไปเสีย คนเหล่านั้นพากันถามพวกที่นำช้างนั้นมา พวกนั้นกล่าวว่าท่านบัณฑิตพูดจริง พระราชาทรงสดับเหตุนั้น ทรงร่าเริงดีพระทัย โปรดให้พระราชทานทรัพย์แก่ท่าน ๘ กระษาปณ์.

อยู่มาอีกวันหนึ่ง มีคนนำม้าตัวหนึ่งมาทูลถวายแด่พระราชาว่า จักเป็นม้ามงคลได้ พระราชาทรงส่งม้านั้นไปสู่สำนักของท่าน ท่านใช้มือลูบคลำมันเหมือนกัน แล้วบอกว่าม้าตัวนี้ไม่สมควรจะเป็นม้ามิ่งมงคลได้ เพราะในวันที่มันเกิดนั้นแล แม่มันตายเสียแล้ว เพราะเหตุนั้น มันไม่ได้นมแม่จึงไม่เจริญเท่าที่ควร พวกมนุษย์ที่จูงม้ามาพากันกล่าวว่า ถ้อยคำของท่านทั้งนั้นเป็นความจริง พระราชาทรงสดับแม้เรื่องนั้นก็ทรงดีพระทัย โปรดพระราชทาน ๘ กระษาปณ์เหมือนกัน.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 99

ครั้นวันหนึ่ง มีคนนำรถมาถวายแด่พระราชาว่า จักเป็นรถมงคล พระราชาทรงส่งรถแม้นั้นไปสู่สำนักของท่าน ท่านคงใช้มือลูบคลำรถคันนั้นทั่วแล้ว กล่าวว่า รถคันนี้สร้างด้วยต้นไม้เป็นโพรง เหตุนั้นไม่ควรแด่พระราชา ถ้อยคำของท่านแม้นั้นก็ได้เป็นความจริง พระราชาทรงสดับเรื่องแม้นั้น ก็ทรงยินดีโปรดพระราชทาน ๘ กระษาปณ์.

ครั้งนั้นมีคนนำผ้ากัมพลราคามากมาถวายพระราชาพระองค์นั้น พระองค์ทรงส่งผ้านั้นไปให้แก่ท่านเหมือนกัน ท่านใช้มือลูบผ้านั้นไปทั่วผืน กล่าวว่า ผ้าผืนนี้มีรอยหนูกัดอยู่แห่งหนึ่ง คนเหล่านั้นซักฟอกดูเห็นรอยนั้น พากันกราบทูลแด่พระราชา พระราชาทรงสดับเรื่องนั้น (*ยัง) คงพระราชทาน ๘ กระษาปณ์เท่านั้น ท่านดำริว่า พระราชาองค์นี้ เห็นข้ออัศจรรย์ถึงเพียงนี้ คงประทาน ๘ กระษาปณ์ รางวัลเท่านี้เป็นรางวัลสำหรับช่างกัลบก พระองค์คงมีเผ่าช่างกัลบกเป็นแน่ เราจะมัวมาบำรุงพระราชาเช่นนี้ทำไมกัน ไปสู่ที่อยู่ของตนตามเดิมดีกว่า ท่านเลยกลับท่าเรือภรุกัจฉะดังเดิม เมื่อท่านพำนักอยู่ในบ้านนั้น พวกพ่อค้าจัดแจงเรือปรึกษากันว่า จักกระทำใครให้เป็นต้นหน เห็นพ้องกันว่า เรือที่ท่านสุปารกบัณฑิตขึ้นไปแล้ว ไม่อัปปางเลย ท่านผู้นี้เป็นบัณฑิตฉลาดในอุบายถึงจะเป็นคนตาบอด ท่านสุปารกบัณฑิตก็ยังเป็นผู้สูงสุด พากันเข้าไปหาท่านบอกว่า ขอเชิญท่านเป็นต้นหนของพวกข้าพเจ้า เมื่อท่านกล่าวว่า พ่อคุณทั้งหลาย ฉันเป็นคนตาบอด จักกระทำหน้าที่ต้นหนได้อย่างไร พากันอ้อนวอนบ่อยๆ ว่า นายขอรับ ทั้งที่ท่านตาบอดนั้นแหละ ก็ยังสูงสุดกว่าพวกข้าพเจ้า ท่านรับคำว่า ตกลงพ่อคุณทั้งหลาย ฉันจักเป็นต้นหนได้ด้วยข้อกำหนดที่พวกเธอเคยบอก แล้วขึ้นเรือของพวกนั้น พวกนั้นพากันแล่นเรือไปสู่มหาสมุทร

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 100

เรือปลอดภัยไปได้ ๗ วัน ลำดับนั้น ลมมิใช่กาลบังเกิดพัดผันขึ้นแล้ว เรือลอยไปเหนือสมุทรตลอด ๔ เดือนทีเดียว จึงถึงสมุทรตอนที่มีชื่อว่า ขรุมาลี ในสมุทรตอนชื่อว่าขรุมาลีนั้น ฝูงปลามีสรีระคล้ายคน มีจมูกแหลม พากันดำผุดดำว่ายอยู่ในน้ำ พวกพ่อค้าเห็นฝูงปลานั้นแล้ว เมื่อจะถามชื่อสมุทรตอนนั้นกะพระมหาสัตว์ กล่าวคาถาที่ ๑ ว่า.

"พวกมนุษย์จมูกแหลม ดำผุดดำว่ายอยู่ พวกข้าพเจ้าขอถามท่านสุปปารกะ ทะเลนี้ชื่ออะไร".

พระมหาสัตว์ถูกพวกนั้นพากันถามอย่างนี้แล้ว เทียบทานดูตามตำรับต้นหน จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า.

"เมื่อท่านทั้งหลาย ผู้เป็นพ่อค้าแสวงหาทรัพย์ ออกจากท่าชื่อ ภรุกัจฉะ ครั้นเรือแล่นไปผิดทาง มาถึงทะเลตอนนี้เขาเรียกกันว่า ขุรมาลี".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปยาตานํ ความว่า เมื่อพวกเธอซึ่งเป็นพ่อค้าพากันออกเรือจากท่าภรุกัจฉะ.

บทว่า ธเนสินํ ความว่า พวกเธอผู้เป็นพ่อค้าไปแสวงหาทรัพย์.

บทว่า นาวาย วิปฺปนฏฺาย ความว่า พ่อคุณทั้งหลาย ครั้นเรือของพวกเธอลำนี้ถูกกรรมบังคับแล่นไปผิดประเทศสมุทรตอนที่ผ่านพ้นสมุทรปกติซึ่งถึงเข้านี้ ท่านเรียกว่า ขุรมาลี บัณฑิตทั้งหลาย ท่านแสดงสมุทรตอนนี้ไว้อย่างนี้.

ก็แลในสมุทรตอนนั้น มีเพชรพร้อมมูล พระมหาสัตว์คิดว่า ถ้าเราบอกแก่พวกเหล่านั้นอย่างนี้ ตอนนี้เป็นสมุทรมีเพชร พวกนี้จักพากันเอาแต่เพชรให้มากด้วยความโลภ ถึงให้เรือจมเสียก็ได้ จะไม่ยอมบอกเลย ให้ชะลอเรือไว้ ใช้อุบายให้จับเชือกทิ้งข่ายลงไป โดยทำนองที่จะจับปลา ขนก้อนเพชรขึ้นใส่ในเรือ

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 101

ให้ทิ้งข้าวของที่มีค่าน้อยเสีย เรือผ่านสมุทรตอนนั้นไปถึงตอนที่อัคคิมาลีถัดไป สมุทรตอนนั้นเปล่งแสงแจ่มจ้า ปรากฏเหมือนกองเพลิงที่ลุกโพลงและเหมือนพระอาทิตย์เมื่อยามเที่ยง พวกพ่อค้าพากันถามท่านด้วยคาถาว่า.

"ทะเลนี้ ปรากฏเหมือนกองไฟและพระอาทิตย์ ข้าพเจ้าถามท่านสุปปารกะ ทะเลนี้ชื่ออะไร".

ฝ่ายพระมหาสัตว์ก็บอกเรื่องนั้นแก่พวกนั้น ด้วยคาถาต่อไปว่า.

"เมื่อท่านทั้งหลาย ผู้เป็นพ่อค้าแสวงหาทรัพย์ ออกจากท่าชื่อ ภรุกัจฉะ ครั้นเรือแล่นไปผิดทาง มาถึงทะเลตอนนี้เขาเรียกว่า อัคคิมาลี".

ก็แลในท้องทะเลตอนนั้น มีทองมากมาย ฝ่ายพระมหาสัตว์ก็ให้พวกนั้นถือเอาทองแม้จากท้องทะเลนั้นบรรทุกเรือ โดยนัยก่อนเหมือนกัน ฝ่ายเรือแล่นพ้นท้องทะเลตอนนั้นไป ถึงท้องทะเลตอนที่เปล่งสีเหมือนนมสดและนมส้ม อันมีชื่อ ทธิมาลี พวกพ่อค้าพากันถามชื่อของท้องทะเลตอนนั้น ด้วยคาถานี้ว่า.

"ทะเลนี้ ปรากฏเหมือนนมส้มและนมสด พวกข้าพเจ้าขอถามท่านสุปปารกะ ทะเลนี้ชื่ออะไร".

พระมหาสัตว์บอกแก่พวกเหล่านั้น ด้วยคาถาต่อไปว่า.

"เมื่อท่านทั้งหลาย ผู้เป็นพ่อค้าแสวงหาทรัพย์ ออกจากท่าชื่อว่า ภรุกัจฉะ ครั้นเรือแล่นไปผิดทาง มาถึงทะเลตอนนี้เขาเรียกกันว่า ทธิมาลี".

ก็แลในท้องทะเลตอนนั้น มีเงินมากมาย ครั้งนั้นท่านก็ให้พวกนั้น ขนเงินบรรทุกเรือโดยอุบาย เรือแล่นผ่านท้องทะเลตอนนั้น บรรลุท้องทะเล

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 102

สีเขียว ส่องแสงเหมือนหญ้าคาสีเขียวและเหมือนข้าวกล้าที่กำลังงอกงาม อันมีชื่อว่า กุสมาลี พวกพ่อค้าพากันถามชื่อท้องทะเลตอนนั้นด้วยคาถาว่า.

"ทะเลนี้ ปรากฏเหมือนหญ้าคาและข้าวกล้า พวกข้าพเจ้าขอถามท่านสุปปารกะ ทะเลนี้ชื่ออะไร".

ท่านบอกด้วยคาถาต่อไปว่า

"เมื่อท่านทั้งหลาย ผู้เป็นพ่อค้าแสวงหาทรัพย์ ออกจากท่าชื่อว่า ภรุกัจฉะ ครั้นเรือแล่นไปผิดทาง มาถึงทะเลตอนนี้เขาเรียกกันว่า กุสมาลี".

ก็ในทะเลตอนนั้น มีแก้วนิลมณีมากมาย แม้ท่านก็คงให้พวกนั้นขนเอาแก้วนั้นใส่เรือด้วยอุบาย เรือคงแล่นผ่านท้องทะเลตอนนั้นไปถึงท้องทะเล อันปรากฏเหมือนป่าอ้อและป่าไผ่ อันมีชื่อว่า นฬมาลี พวกพ่อค้าพากันถามชื่อของท้องทะเลตอนนั้นด้วยคาถาว่า.

"ทะเลนี้ ปรากฏเหมือนไม้อ้อและไม้ไผ่ พวกข้าพเจ้าขอถามท่านสุปปารกะ ทะเลนี้ชื่ออะไร".

พระมหาสัตว์บอกท้องทะเลตอนนั้น ด้วยคาถาต่อไปว่า.

"เมื่อท่านทั้งหลาย ผู้เป็นพ่อค้าแสวงหาทรัพย์ ออกจากท่าชื่อ ภรุกัจฉะ ครั้นเรือแล่นไปผิดทาง มาถึงทะเลตอนนี้เขาเรียกกันว่า นฬมาลี".

ก็ในทะเลตอนนั้น มีมรกตและไพฑูรย์มากมาย ท่านคงให้ขนใส่เรือด้วยอุบายดุจกัน.

อีกนัยหนึ่ง บทว่า นโฬ คือไม้อ้อแมลงป่อง ไม้อ้อปูก็เรียก ไม้อ้อชนิดนั้นมีสีแดง ส่วนที่ว่าไม้ไผ่นั้นเป็นชื่อของแก้วประพาฬนั่นเอง และ

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 103

ท้องทะเลตอนนั้น มากมายด้วยแก้วประพาฬ จึงได้มีแสงแดงฉาย เหตุนั้นพวกพ่อค้าจึงพากันถามว่า เหมือนไม้อ้อและไม้ไผ่.

พระมหาสัตว์ คงให้พวกนั้นขนแก้วประพาฬจากท้องทะเลตอนนั้น พวกพ่อค้าครั้นผ่านพ้นท้องทะเลตอนนฬมาลีไปแล้ว พบท้องทะเลตอนที่ชื่อว่า พลวามุข น้ำในท้องทะเลตอนนั้น เดือดพล่านพุ่งขึ้นโดยเป็นพืดตลอดไป น้ำที่พุ่งขึ้นโดยเป็นพืดตลอดไปในท้องทะเลตอนนั้น ปรากฏเป็นเหมือนเหวใหญ่ใกล้หน้าผาขาดโดยส่วนทั่วไป เมื่อคลื่นพุ่งขึ้น ก็เป็นเหมือนเหวติดต่อกันไป เสียงน่าสะพรึงกลัวบังเกิดขึ้น ปานจะทำลายหูทั้งสองเสีย และปานจะผ่าหทัยเสีย พวกพ่อค้าเห็นท้องทะเลตอนนั้นแล้ว พากันกลัวสะทกสะท้าน ถามชื่อของสมุทรตอนนั้นด้วยคาถาว่า.

"เสียงน่ากลัวมาก น่าสยดสยอง ฟังเหมือนเสียงอมนุษย์ และทะเลนี้ ปรากฏเหมือนบึงและเหว พวกข้าพเจ้าขอถามท่านสุปปารกะ ทะเลนี้ชื่ออะไร".

พระมหาสัตว์บอกชื่อของท้องทะเลตอนนั้นด้วยคาถาว่า.

"เมื่อท่านทั้งหลาย ผู้เป็นพ่อค้าแสวงหาทรัพย์ ออกจากท่าชื่อว่า ภรุกัจฉะ ครั้นเรือแล่นไปผิดทาง มาถึงทะเลตอนนี้เขาเรียกกันว่า พลวามุขี".

พระโพธิสัตว์ ครั้นบอกชื่อของท้องทะเลตอนนั้นด้วยคาถาตามลำดับ กล่าวว่า พ่อทั้งหลาย บรรดาเรือที่ถึงท้องทะเลพลวามุขนี้ อันสามารถกลับได้ ไม่มีเลย ท้องทะเลตอนนี้ ยังเรือที่ตกเข้าไปแล้วให้จมถึงความแตกสลาย ก็แลพวกมนุษย์ประมาณ ๗๐๐ คนพากันขึ้นเรือนั้นไป พวกนั้นทั้งหมดพากันกลัวต่อมรณภัย ต่างเปล่งเสียงโอดครวญร่ำไห้ประดังเป็นเสียงเดียวกัน เหมือน

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 104

ฝูงสัตว์ที่กำลังหมกไหม้อยู่ในอเวจีนรกฉะนั้น พระมหาสัตว์ดำริว่า เว้นเราเสียแล้ว คนอื่นที่จะชื่อว่า สามารถทำความปลอดภัยให้แก่พวกนี้ไม่มีเลย เราต้องตั้งสัตย์กระทำความปลอดภัยให้แก่พวกเขา เรียกพวกนั้นมากล่าวว่า พ่อทั้งหลาย พวกเธอจงให้เราอาบน้ำด้วยน้ำหอมให้นุ่งผ้าใหม่ เตรียมถาดน้ำวางไว้ที่แอกเรือโดยเร็วเถิด พ่อค้าเหล่านั้นพากันทำตามนั้น พระมหาสัตว์ถือถาดเต็มด้วยน้ำด้วยมือทั้งสองข้าง ยืนที่แอกเรือ เมื่อกระทำสัจจกิริยาจึงกล่าวคาถาที่สุดว่า.

"ตั้งแต่ข้าพเจ้าระลึกถึงตนได้ ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสา ข้าพเจ้าไม่เคยรู้สึกแกล้งเบียดเบียนสัตว์ แม้สักตัวเดียวเลย ด้วยสัจจวาจานี้ ขอเรือจงกลับได้โดยสวัสดี".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยโต ความว่า ข้าพเจ้าระลึกตนได้จำเดิมแต่กาลใด และข้าพเจ้าได้เป็นผู้บรรลุวิญญูภาพแล้วจำเดิมแต่กาลใด.

บทว่า เอกปาณํปิ หิํสิตุํ ความว่า ในระหว่างนี้ ข้าพเจ้าไม่เคยสำนึกเลยที่จะแกล้งเบียดเบียนแม้สัตว์คือมดดำมดแดง เพียงตัวเดียว บทนี้เป็นเพียงการเทศนาเท่านั้น ก็พระโพธิสัตว์ได้กระทำสัจจกิริยาด้วยอำนาจแห่งศีล ๕ อย่างนี้ว่า สิ่งของผู้อื่นกำหนดแม้เพียงเส้นหญ้า ก็ไม่เคยหยิบฉวยเลย ภรรยาของผู้อื่น ก็ไม่เคยมองดูด้วยอำนาจความโลภ คำพูดเท็จก็ไม่เคยพูด น้ำเมาก็ไม่เคยดื่มแม้แต่จะหยดด้วยยอดหญ้า.

ก็แลครั้นกระทำสัจจกิริยาแล้ว ก็รดน้ำในถาดที่เต็มลงที่แอกเรือ เรืออันแล่นไปผิดทิศทางตลอด ๔ เดือน ก็บ่ายหัวกลับ ได้ไปถึงท่าภรุกัจฉะ

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 105

เพียงวันเดียวเท่านั้น ด้วยอานุภาพแห่งสัจจะ ประหนึ่งท่านผู้มีฤทธิ์บันดาล ครั้นถึงแล้วยังแล่นไปบนบกได้ประมาณ ๘ อุสภะ หยุดที่ประตูเรือนของนายเรือพอดี พระมหาสัตว์แบ่งทองเงินแก้วมณีแก้วประพาฬและเพชร ให้แก่พวกพ่อค้าเหล่านั้น ให้โอวาทแก่พวกนั้นว่า รัตนะเพียงเท่านี้ ก็เป็นการพอแล้วสำหรับเธอทั้งหลาย พวกเธออย่าเข้าไปสู่ท้องทะเลกันอีกเลย ทำบุญต่างๆ มีให้ทานเป็นต้น จนตลอดชีพ ได้ไปเพิ่มจำนวนเมืองสวรรค์แล้ว.

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสย้ำว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในครั้งก่อน ตถาคตก็มีปัญญามากอย่างนี้เหมือนกัน ทรงประชุมชาดกว่า บริษัทของท่านสุปปารกะผู้บอดในครั้งนั้น ได้มาเป็นพุทธบริษัท ส่วนสุปปารกบัณฑิต ได้มาเป็นเราแล.

จบอรรถกถาสุปปารกชาดก

จบอรรถกถาเอกาทสนิบาต

รวมชาดกที่มีในเอกาทสนิบาตนี้ คือ

๑. มาตุโปสกชาดก ๒. ชุณหชาดก ๓. ธรรมเทวปุตตชาดก ๔. อุทยชาดก ๕. ปานียชาดก ๖. ยุธัญชัยชาดก ๗. ทสรถชาดก ๘. สังวรชาดก ๙. สุปปารกชาดก และอรรถกถา.