พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. สมุททวาณิชชาดก ว่าด้วยพ่อค้าทางสมุทร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ส.ค. 2564
หมายเลข  35929
อ่าน  484

[เล่มที่ 60] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 130

๓. สมุททวาณิชชาดก

ว่าด้วยพ่อค้าทางสมุทร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 60]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 130

๓. สมุททวาณิชชาดก

ว่าด้วยพ่อค้าทางสมุทร

[๑๖๒๕] ชนทั้งหลายพากันไถ พากันหว่าน เป็นมนุษย์ผู้ต้องเลี้ยงชีพด้วยผลการงาน ไม่ถึงส่วนหนึ่งแห่งเกาะอันนี้ เกาะของเรานี้แหละ ดีกว่าชมพูทวีป.

[๑๖๒๖] ในวันพระจันทร์เพ็ญ ทะเลจักมีคลื่นจัด จะท่วมเกาะใหญ่นี้ให้จมลง คลื่นทะเลอย่าฆ่าท่านทั้งหลายเสียเลย ท่านทั้งหลายจงพากันไปหาที่พึ่งอาศัย ที่อื่นเถิด.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 131

[๑๖๒๗] คลื่นทะเล จะไม่เกิดท่วมเกาะใหญ่นี้ เหตุอันนั้นเราเห็นแล้วด้วยนิมิตเป็นอันมาก ท่านทั้งหลายอย่ากลัวเลย จะเศร้าโศกทำไม จงเบิกบานใจเถิด.

[๑๖๒๘] ท่านทั้งหลาย จงอยู่ยึดครองเกาะใหญ่นี้ อันมีอาหารเพียงพอ มีข้าวและน้ำมากมาย เป็นที่อยู่อาศัยเถิด เราไม่มองเห็นภัยอันใดอันหนึ่งซึ่งจะเกิดมีแก่ท่านทั้งหลายเลย ท่านทั้งหลาย จงเบิกบานใจอยู่ด้วยบุตรหลานเถิด.

[๑๖๒๙] เทพบุตรในทิศทักษิณนี้ ย่อมคัดค้านความเกษมสำราญ ถ้อยคำของเทพบุตรนั้นเป็นคำจริง เทพบุตรในทิศอุดรไม่รู้แจ้งภัยหรือมิใช่ภัย ท่านทั้งหลาย อย่ากลัวเลย จะเศร้าโศกไปทำไม จงเบิกบานใจเถิด.

[๑๖๓๐] เทวดาเหล่านี้ ย่อมกล่าวผิดกันอย่างไร เทวดาตนหนึ่งกล่าวว่า จะมีภัย ตนหนึ่งกล่าวว่า ปลอดภัย ดังเราขอเตือนท่านทั้งหลาย จงฟังถ้อยคำของเราเถิด เราทั้งหมดอย่าฉิบหายเสียเร็วพลันเลย.

[๑๖๓๑] เราทั้งปวง จงมาช่วยกันทำเรือใหญ่ให้มั่นคง ติดเครื่องยนต์ไว้พร้อมสรรพ ถ้าเทพบุตรในทิศทักษิณพูดจริง เทพบุตรในทิศอุดรก็พูดค้านเปล่าๆ.

[๑๖๓๒] เมื่ออันตรายเกิดมีขึ้น เรือของพวกเรานั้นก็จักไม่เสียหาย อนึ่ง เราจะไม่ละทิ้งเกาะนี้ ถ้าหากว่า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 132

เทพบุตรในทิศอุดรพูดจริง เทพบุตรในทิศทักษิณก็พูดค้านเปล่าๆ.

[๑๖๓๓] เราทุกคนพึงขึ้นสู่เรือนั้นทันที ข้ามไปถึงฝั่งโน้นโดยสวัสดีอย่างนี้ พวกเราไม่พึงเชื่อถือง่ายๆ ว่าคำจริงโดยคำแรก ไม่พึงเชื่อถือง่ายๆ ซึ่งถ้อยคำที่เทพบุตรกล่าวแล้วในภายหลังว่าเป็นจริง นรชนใดในโลกนี้ เลือกถือเอาส่วนกลางไว้ได้ นรชนนั้นย่อมเข้าถึงซึ่งฐานะอันประเสริฐ.

[๑๖๓๔] กุลบุตรผู้มีปัญญากว้างขวาง แทงตลอดประโยชน์ในอนาคตแล้ว ย่อมไม่ให้ประโยชน์นั้นผ่านพ้นไปแม้แต่น้อย เหมือนพวกพ่อค้าเหล่านั้น พากันไปในท่ามกลางทะเลโดยสวัสดี ด้วยกรรมของตน.

[๑๖๓๕] ส่วนพวกคนพาล มัวหมกมุ่นอยู่ในรสด้วยโมหะ ไม่แทงตลอดประโยชน์อันเป็นอนาคต เมื่อความต้องการเกิดขึ้นเฉพาะหน้า ย่อมพากันล่มจม เหมือนมนุษย์เหล่านั้น พากันล่มจมในท่ามกลางทะเล ฉะนั้น.

[๑๖๓๖] ชนผู้เป็นบัณฑิต พึงรีบทำกิจที่ควรทำก่อนเสียทีเดียว อย่าให้กิจที่ต้องทำ เบียดเบียนตัวได้ในเวลาที่ต้องการ กิจนั้นไม่เบียดเบียนบุคคลผู้รีบทำกิจที่ควรทำเช่นนั้นในเวลาที่ต้องการ.

จบสมุททวาณิชชาดกที่ ๓

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 133

อรรถกถาสมุททวาณิชชาดก

พระศาสดา เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภความที่พระเทวทัตพาสกุล ๕๐๐ เข้าไปในนรก ตรัสเรื่องนี้มีคำเริ่มต้นว่า "กสนฺติ วปนฺติ เต ชนา" ดังนี้.

เรื่องพิสดารมีว่า พระเทวทัตนั้น ครั้นพระอัครสาวกพาบริษัทหลีกไปแล้ว ไม่สามารถจะอดกลั้นความโศกได้ เมื่อเลือดอุ่นกระอักออกมาจากปาก ถูกเวทนาอันมีกำลังบีบคั้น หวนระลึกถึงพระคุณของพระตถาคตเจ้า คิดว่า เราคนเดียวคิดทำลายล้างพระตถาคตเจ้า แต่พระศาสดามิได้มีจิตคิดร้ายในเราเลย แม้พระเถระเจ้า ๘๐ องค์ ก็มิได้มีอาฆาตในเราเลย เราเองต้องไร้ที่พึ่ง บัดนี้ ด้วยกรรมที่เรากระทำ พระศาสดาเล่าก็ทรงทอดทิ้งเราเสีย พระมหาเถระทั้งหลายเล่าก็ทอดทิ้งเราแล้ว พระราหุลเถระญาติผู้ประเสริฐเล่าก็ทอดทิ้งบ้าง ถึงศากยราชสกุลก็พากันทอดทิ้งเราเสีย เราต้องไปกราบทูลขอขมากะพระศาสดา แล้วให้สัญญาแก่บริษัทให้ช่วยหามตนไปด้วยเตียง ค้างคืนค้างแรมไปจนลุถึงแคว้นโกศล พระอานนทเถระเจ้า กราบทูลแด่พระศาสดาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข่าวว่าพระเทวทัตกำลังเดินทางมาเพื่อให้พระองค์ทรงอดโทษ ตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ เทวทัตจักไม่ได้เห็นเรา ครั้งนั้น เมื่อพระเทวทัตบรรลุถึงประตูพระนครสาวัตถี พระเถระเจ้ากราบทูลอีก แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงมีพระดำรัสอย่างนั้นทีเดียว เมื่อพระเทวทัตมาถึงที่ใกล้สระโบกขรณีเชตวัน ใกล้ประตูพระวิหารเชตวัน บาปกรรมก็ถึงที่สุด ความร้อนบังเกิดขึ้นในร่างกาย พระเทวทัตปรารถนาจะอาบน้ำ ดื่มน้ำ จึงกล่าวว่า ผู้มีอายุทั้งหลายให้เราลงจากเตียงเถิด เราจักดื่มน้ำ พอพระเทวทัตนั้นก้าวลงเหยียบแผ่นดินเท่านั้น

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 134

ยังไม่ทันจะได้สมใจปองเลย มหาปฐพีได้แหวกช่องให้ ทันใดนั้นเอง เปลวเพลิงจากอเวจีก็พวยพุ่งขึ้นโอบอุ้มเอาตัวไป พระเทวทัตนั้นคิดว่า บาปกรรมของเราถึงที่สุดกันแล้ว หวนรำลึกถึงพระคุณของพระตถาคตเจ้า ดำรงในสรณะด้วยคาถานี้ว่า.

"ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า ผู้เป็นบุคคลเลิศ เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ เป็นสารถีแห่งคนที่ควรฝึก มีพระจักษุเห็นรอบด้าน ทรงบุญลักษณ์นับร้อย พระองค์นั้น ด้วยลมปราณกับกระดูกทั้งหลายเหล่านี้" ดังนี้

ได้บ่ายหน้าไปอเวจี ก็แลสกุลอุปัฏฐากของพระเทวทัตนั้นได้มีถึง ๕๐๐ ตระกูล แม้ตระกูลเหล่านั้นพากันเข้าข้างพระเทวทัตนั้น ด่าพระทศพล พากันไปในอเวจีทั้งนั้นเลย พระเทวทัตนั้นชักจูงตระกูล ๕๐๐ ไปไว้ในนรกอเวจี ด้วยประการฉะนี้.

ครั้นวันหนึ่ง พวกภิกษุพากันยกเรื่องขึ้นสนทนาในธรรมสภาว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย เทวทัตคนบาป ผูกความโกรธอันมิใช่ฐานะ ในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะหมกมุ่นในลาภสักการะ ไม่มองดูภัยในอนาคตเลย ต้องบ่ายหน้าไปสู่อเวจีกับสกุลทั้ง ๕๐๐ พระศาสดาเสด็จมาถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อกี้ พวกเธอประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไรกัน ครั้นพากันกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่เทวทัตหมกมุ่นในลาภและสักการะ ไม่มองดูภัยในอนาคต แม้ในกาลก่อนก็ไม่มองดูภัยในอนาคต ถึงความพินาศใหญ่หลวงกับพรรคพวก เพราะแสวงหาความสุขเฉพาะหน้า ดังนี้แล้วทรงนำอดีตนิทานมาดังต่อไปนี้.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 135

ในอดีตกาล ครั้นพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในพระนครพาราณสี ณ ที่อันไม่ไกลจากพระนครพาราณสี ได้มีบ้านช่างไม้หมู่ใหญ่ มีครอบครัวอาศัยอยู่พันครอบครัว ในที่นั้นพวกช่างไม้พากันกล่าวว่า พวกข้าพเจ้าจักกระทำเตียงให้แก่พวกท่าน จักกระทำตั่ง จักกระทำเรือนให้พวกท่าน ต่างกู้หนี้เป็นอันมากจากมือของฝูงคน แล้วไม่อาจจะทำอะไรๆ ได้เลย ฝูงคนพากันทวง พากันเร่งเร้ากะพวกช่างไม้ที่พบเข้าๆ พวกนั้นถูกพวกคนที่เป็นเจ้าหนี้เร่งรัดหนักเข้า พูดกันว่า พวกเราพากันไปต่างประเทศ ไปอยู่เสีย ณ ที่ใดที่หนึ่งเถอะ ชวนกันเข้าป่าตัดไม้ต่อเรือขนาดใหญ่ เข็นลงน้ำ นำมาจอดไว้ในที่กึ่งโยชน์กับ ๑ คาวุตจากบ้าน ถึงเวลากลางคืน พากันมาบ้านรับลูกเมียไปสู่ที่เรือจอด พากันขึ้นสู่เรือนั้น แล่นเข้ามหาสมุทรไปโดยลำดับ เมื่อเที่ยวไปด้วยอำนาจลม พากันบรรลุเกาะแห่งหนึ่งท่ามกลางมหาสมุทร ก็แลในเกาะนั้น ผลาผลต่างๆ หลายอย่าง มีข้าวสาลี อ้อย กล้วย มะม่วง ข้าว ขนุน ตาล มะพร้าว เกิดเองทั้งนั้นมีอยู่ อนึ่งเล่า ยังมีบุรุษเรืออับปางคนหนึ่ง ไปถึงเกาะนั้นก่อน บริโภคข้าวสาลี เคี้ยวกินอ้อยเป็นต้น มีร่างกายอ้วนท้วนเปลือยกาย มีผมและหนวดงอกงาม พำนักอยู่ที่เกาะนั้น ครั้งนั้น พวกช่างไม้แม้นั้นคิดกันว่า ถ้าเกาะนี้จักมีรากษสคุ้มครอง พวกเราแม้ทั้งหมดจะพากันถึงความพินาศ พวกเราต้องสำรวจดูมันก่อน ทีนั้นบุรุษ ๗ - ๘ คนที่กล้า มีกำลัง ผูกสอดอาวุธครบ ๕ ประการ จึงไปสำรวจเกาะ ขณะนั้น บุรุษนั้นบริโภคอาหารเช้าแล้ว ดื่มน้ำอ้อย แสนสุขสบาย นอนหงายในร่มอันเย็นเหนือพื้นทรายเช่นกับแผ่นเงิน ในประเทศอันน่ารื่นรมย์ เมื่อจะขับเพลงว่า ชาวชมพูทวีปพากันไถ พากันหว่าน ยังไม่ได้สุขเช่นนี้เลย เกาะน้อยของเรานี้เท่านั้นประเสริฐกว่าชมพูทวีป เปล่งอุทานนี้.

ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายเมื่อจะทรงแสดงว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษเปล่งอุทานนี้ แล้วตรัสพระปฐมคาถาว่า.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 136

"ชนทั้งหลาย พากันไถ พากันหว่าน เป็นมนุษย์ผู้ต้องเลี้ยงชีพด้วยผลการงาน ไม่ถึงส่วนหนึ่งแห่งเกาะอันนี้ เกาะของเรานี้แหละดีกว่าชมพูทวีป".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เต ชนา คือชนชาวชมพูทวีป.

บทว่า กมฺมผลูปชีวิโน ความว่า เป็นสัตว์ที่ต้องเลี้ยงชีพอาศัยผลแห่งกรรมต่างๆ.

ลำดับนั้น พวกคนที่สำรวจเกาะเหล่านั้น ฟังเสียงเพลงขับของเขา พูดกันว่า ที่พวกเราได้ยินดูเหมือนเสียงคน ต้องรู้เสียงนั้นให้ได้นะ พากันเดินตามกระแสเสียง เห็นบุรุษนั้น พากันกลัวว่าต้องเป็นยักษ์ ต่างสอดลูกศร ฝ่ายบุรุษนั้นเล่า เห็นคนเหล่านั้นด้วยความกลัวจะฆ่าตนเสีย วิงวอนว่า นายเอ๋ย ฉันไม่ใช่ยักษ์ดอกจ้า ฉันเป็นบุรุษ โปรดให้ชีวิตทานแก่ฉันเถิด ครั้นพวกนั้นกล่าวว่า ธรรมดาคนจะเป็นคนเปลือยอย่างเจ้าไม่มีเลย อ้อนวอนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ให้พวกนั้นรู้ความที่ตนเป็นมนุษย์จนได้ พวกนั้นพากันเข้าไปหาบุรุษนั้น ทำสัมโมทนียกถาแล้ว ถามถึงเรื่องที่บุรุษนั้นมาในเกาะนั้น แม้เขาก็เล่าเรื่องทั้งปวงแก่พวกนั้น แล้วกล่าวว่า พวกท่านพากันมา ณ ที่นี้ด้วยบุญสมบัติของตน เกาะนี้เป็นเกาะอุดม ในเกาะนี้คนไม่ต้องทำการงานด้วยมือตนเลย ก็พากันเป็นอยู่ได้ ข้าวสาลีเกิดเองและอ้อยเป็นต้นในเกาะนี้ไม่มีที่สิ้นสุดเลย เพราะเหตุนั้น เชิญพวกท่านอยู่กันอย่างไม่ต้องกระวนกระวายใจเถิด พวกเหล่านั้นต่างถามว่า ก็แม้อันตรายอย่างอื่นจะไม่มีแก่พวกเราผู้อยู่ในเกาะนี้บ้างหรือ ตอบว่า ภัยอย่างอื่นน่ะไม่มีดอกในเกาะนี้ แต่ว่าเกาะนี้ อมนุษย์ครอบครอง พวกอมนุษย์เห็นอุจจาระและปัสสาวะของพวกท่านแล้วพึงโกรธได้ เหตุนั้น เมื่อจะถ่ายอุจจาระปัสสาวะ พึงขุดทรายแล้วก็กลบเสียด้วยทราย ภัยในเกาะนี้มีเพียงเท่านี้ อย่างอื่นไม่มี พวกท่านพึงพากันไม่ประมาทเป็นนิตย์เทอญ พวกนั้นเข้าอาศัยอยู่ในเกาะนั้น ก็ในพันครอบครัวนั้น ได้มี

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 137

ช่างไม้ ๒ คน เป็นหัวหน้าคนละ ๕๐๐ ครอบครัว ในหัวหน้าทั้งสองนั้น คนหนึ่งเป็นพาลหมกมุ่นในรส คนหนึ่งเป็นบัณฑิตไม่หมกมุ่นในรสทั้งหลาย ในกาลต่อมา ครอบครัวเหล่านั้นแม้ทั้งหมด ต่างอยู่กันอย่างสบายในเกาะนั้น พากันมีร่างกายอ้วนพี คิดกันว่า สุราของพวกเราห่างเหินนักล่ะ พวกเราพากันกระทำเมรัยด้วยน้ำอ้อยดื่มกันเถอะ พวกนั้นช่วยกันทำเมรัยดื่ม พากันร้องรำเล่น ประมาทไปด้วยอำนาจที่เมามัน ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะไว้ในที่นั้นแล้วไม่กลบ กระทำเกาะให้สกปรกปฏิกูล ฝูงเทวดาโกรธว่า คนพวกนี้พากันทำสนามเล่นของเราให้สกปรก คิดกันว่า ต้องให้น้ำทะเลท่วมท้นขึ้นทำการล้างเกาะเสียเถอะ พากันกำหนดวันไว้ว่า วันนี้เป็นกาฬปักษ์ และสมาคมของพวกเราก็ถูกทำลายเสียแล้วในวันนี้ ในวันเพ็ญอุโบสถ วันที่ ๑๕ จากวันนี้ เวลาดวงจันทร์ขึ้นแล้ว พวกเราต้องให้น้ำทะเลท่วมฆ่าพวกนี้เสียให้หมดเลยคราวนี้ ครั้งนั้นในกลุ่มแห่งเทวดาเหล่านั้น เทพบุตรองค์หนึ่งเป็นผู้ทรงธรรม สงสารว่า พวกเหล่านี้ จงอย่าพินาศไปทั้งๆ ที่เราเห็นอยู่เลย เมื่อคนเหล่านั้นบริโภคอาหารเย็น นั่งสนทนากันสบายที่ประตูเรือน ประดับกายด้วยอาภรณ์ทั้งปวง กระทำเกาะทั้งหมดให้สว่างเป็นอันเดียวกัน ยืนอยู่บนอากาศทางทิศเหนือ กล่าวว่า ช่างไม้พ่อเอ่ย ฝูงเทวดาพากันโกรธพวกท่าน อย่าพากันอยู่ ณ ที่นี้เลย ก็ล่วงไปกึ่งเดือนแต่วันนี้ พวกเทวดาจักให้น้ำทะเลท่วมฆ่าพวกท่านเสียทั้งหมดทีเดียว พวกท่านจงพากันออกจากเกาะนี้ หนีไปเสียเถิด กล่าวคาถาที่ ๒ ว่า

"ในวันพระจันทร์เพ็ญ ทะเลจักมีคลื่นจัดจะท่วมเกาะใหญ่นี้ให้จมลง คลื่นทะเลอย่าฆ่าท่านทั้งหลายเสียเลย ท่านทั้งหลายจงพากันไปหาที่พึ่งอาศัยที่อื่นเถิด".

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 138

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุปาวสํ คือนองเข้าไป ได้แก่ ท่วมท้นเกาะนี้.

บทว่า มา โว วธิ ความว่า คลื่นแห่งสาครนั้นอย่าได้กำจัดพวกท่านเสียเลยนะ.

เทพบุตรนั้นให้โอวาทแก่พวกนั้นอย่างนี้แล้ว ก็ไปสู่สถานของตนทันที เมื่อเทพบุตรองค์นั้นไปแล้ว เทพบุตรอีกองค์หนึ่งเหี้ยมโหด กักขฬะ คิดว่า พวกนี้พึงเชื่อถือถ้อยคำของเทพบุตรองค์นี้พากันหนีไปเสีย เราต้องการห้ามการไปของพวกนั้นไว้ ต้องให้ถึงความพินาศทั้งหมดเลย ประดับด้วยอลังการอันเป็นทิพย์ กระทำบ้านทั้งหมดให้สว่างเป็นอันเดียวกัน มายืนอยู่ในอากาศทางทิศทักษิณ ถามว่า เทพบุตรองค์หนึ่งมาที่นี่หรือ ครั้นพวกนั้นตอบว่า มาเจ้าข้า กล่าวว่า เขาพูดอะไรกะเธอเล่า เมื่อพวกนั้นพากันตอบว่า เรื่องนี้เจ้าข้า กล่าวว่า เขาไม่อยากให้พวกเธออยู่ที่นี่หรือ พูดด้วยความเคียดแค้น พวกเธอไม่ต้องไปที่อื่นดอก พากันอยู่ที่นี่เช่นเดิมเถิด ได้กล่าวคาถาสองคาถาว่า.

"คลื่นทะเลจะไม่เกิดท่วมเกาะใหญ่นี้ เหตุอันนั้น เราเห็นแล้วด้วยนิมิตเป็นอันมาก ท่านทั้งหลายอย่ากลัวเลย จะเศร้าโศกทำไม จงเบิกบานใจเถิด".

"ท่านทั้งหลายจงอยู่ยึดครองเกาะใหญ่นี้ อันมีอาหารเพียงพอ มีข้าวและน้ำมากมาย เป็นที่อยู่อาศัยเถิด เราไม่มองเห็นภัยอันใดอันหนึ่ง ซึ่งจะเกิดมีแก่ท่านทั้งหลายเลย ท่านทั้งหลายจงเบิกบานใจอยู่ด้วยบุตรหลานเถิด".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น ชาตยํ ตัดเป็น น ชาตุ อยํ.

บทว่า มาเภถ แปลว่า อย่ากลัวเลย.

บทว่า ปโมทถโวฺห ความว่า ท่านทั้งหลาย

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 139

จงพากันบันเทิง เกิดปีติโสมนัส.

บทว่า อาปุตฺตปุตฺเตหิ ความว่า จงเบิกบานใจ ชั่วลูกชั่วหลานเถิด ในที่นี้ย่อมไม่มีภัยแก่พวกท่าน.

เทพบุตรนั้น ปลอบโยนพวกเหล่านั้นด้วยคาถาสองคาถาเหล่านี้แล้วหลีกไป ในเวลาที่เทพบุตรนั้นกลับไปแล้ว ช่างไม้ที่เป็นพาลฟังถ้อยคำของเทพบุตร ผู้ดำรงในความไม่เชื่อถือ ก็ตักเตือนช่างพวกที่เหลือว่า ชาวเราเอ๋ย เชิญฟังคำของข้าพเจ้า แล้วกล่าวคาถาที่ ๕ ว่า.

"เทพบุตรในทิศทักษิณนี้ ย่อมคัดค้าน ความเกษมสำราญ ถ้อยคำของเทพบุตรนั้นเป็นคำจริง เทพบุตรในทิศอุดรไม่รู้แจ้งภัย ท่านทั้งหลายอย่ากลัวเลย จะเศร้าโศกไปทำไม จงเบิกบานใจเถิด".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทกฺขิณสฺสํ แปลว่า ในทิศทักษิณ อีกอย่างหนึ่ง บาลีก็อย่างนี้เหมือนกัน.

พวกช่างไม้ ๕๐๐ ผู้หมกมุ่นในรส ฟังคำนั้นแล้ว เชื่อถือถ้อยคำของช่างไม้พาลชนนั้น ฝ่ายช่างไม้บัณฑิตอีกคนหนึ่ง ไม่ยอมเชื่อถือถ้อยคำของช่างไม้นั้น เรียกช่างไม้เหล่านั้นมา ได้กล่าวคาถา ๔ คาถาว่า.

"เทพยดาเหล่านี้ ย่อมกล่าวผิดกันอย่างไร เทวดาตนหนึ่งกล่าวว่าจะมีภัย ตนหนึ่งกล่าวว่าปลอดภัย ดังเราขอเตือน ท่านทั้งหลายจงฟังถ้อยคำของเราเถิด เราทั้งหมดอย่าฉิบหายเสียเร็วพลันเลย".

"เราทั้งปวง จงมาช่วยกันทำเรือใหญ่ให้มั่นคง ติดเครื่องยนต์ไว้พร้อมสรรพ ถ้าเทพบุตรในทิศทักษิณพูดจริง เทพบุตรในทิศอุดรก็พูดค้านเปล่าๆ ".

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 140

"เมื่ออันตรายเกิดมีขึ้น เรือของพวกเรานั้นก็จักไม่เสียหาย อนึ่ง เราจะไม่ละทิ้งเกาะนี้ ถ้าหากว่าเทพบุตรในทิศอุดรพูดจริง เทพบุตรในทิศทักษิณก็พูดค้านเปล่าๆ ".

"เราทุกคนพึงขึ้นสู่เรือนั้นทันที ข้ามไปถึงฝั่งโน้นโดยสวัสดีอย่างนี้ พวกเราไม่พึงเชื่อถือง่ายๆ ว่าคำจริงโดยคำแรก ไม่พึงเชื่อถือโดยง่ายๆ ซึ่งถ้อยคำที่เทพบุตรกล่าวแล้วในภายหลังว่าเป็นจริง นรชนใดในโลกนี้ เลือกถือเอาส่วนกลางไว้ได้ นรชนนั้นย่อมเข้าถึงฐานะอันประเสริฐ".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิปฺปวทนฺติ ความว่า กล่าวแย้งกันและกัน.

บทว่า ลหุํ เป็นบทแสดงถึงความก่อน.

บทว่า โทณิํ คือเป็นเรือขนาดใหญ่ลึก.

บทว่า สพฺพยนฺตูปปนฺนํ คือประกอบไปด้วยเครื่องยนต์ มีสายกลไกและถ่อเป็นต้นทุกๆ อย่าง.

บทว่า สา เจว โน โหหีติ อาปทตฺถ ความว่า เรือนั้นของพวกเรา เมื่ออันตรายเกิดขึ้นแต่ในภายหลัง ก็มิใช่จักไม่เป็นประโยชน์ และพวกเราก็ไม่ต้องทิ้งเกาะนี้.

บทว่า ตเรมุ แปลว่า พากัน ข้ามไป.

บทว่า น เว สุคณฺหํ คือเป็นอันว่าพวกเรามิได้เชื่อถือโดยง่ายโดยส่วนเดียว.

บทว่า เสฏฺํ คือสูงสุด แน่นอน แท้จริง.

บทว่า กนิฏฺํ ความว่า เทียบกับคำก่อนแล้วก็เป็นคำหลัง จึงชื่อว่าคำภายหลัง แม้ในคำนี้ก็ประกอบในข้อที่จะคล้อยตามคำว่า เป็นอันพวกเราไม่เชื่อถือง่ายๆ ดุจกัน ท่านอธิบายคำนี้ไว้ว่า ดูก่อนพวกช่างไม้ผู้เจริญ คำที่เทพบุตรองค์ก่อนองค์ใดองค์หนึ่งกล่าวแล้ว พวกเรามิได้เชื่อถือง่ายๆ ว่า คำนี้เท่านั้นประเสริฐแน่นอนจริงจังเสียทีเดียว

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 141

ก็และคำนั้นฉันใด แม้คำอันเป็นภายหลัง คือคำที่เทพบุตรกล่าวทีหลัง ก็ฉันนั้น พวกเรามิได้เชื่อถือว่า คำนี้เท่านั้นประเสริฐ เที่ยงแท้ จริงจัง ก็แต่ว่า คำใดถึงคลองแห่งโสตวิสัย บุรุษผู้เป็นบัณฑิตแห่งโลกนี้ถือเอาคำอันมาปรากฏนั้น แล้วเลือกเป็นคำก่อนและคำหลัง คือเลือกสรรพิจารณาเพ่งใกล้ชิด ย่อมถือเอาส่วนกลางได้ คือข้อใดเที่ยงแท้จริงจังเป็นตัวยั่งยืน ย่อมยึดเอาข้อนั้นนั่นแล ทำให้ประจักษ์ได้.

บทว่า สเว น เสฏฺมุเปติ านํ ความว่า นรชนนั้นย่อมเข้าถึง บรรลุ ประสบ กลับได้ฐานะอันสูงสุด.

ก็แลครั้นกล่าวเช่นนี้แล้ว กล่าวต่อไปว่า พ่อเอย พวกเราต้องทำตามคำของเทพบุตรทั้งสอง พวกเราพึงเตรียมเรือไว้ แต่นั้น ถ้าคำของเทพบุตรองค์ก่อนจักเป็นจริง พวกเราก็พากันขึ้นเรือหนีไป ครั้นคำของเทพบุตรอีกองค์หนึ่งจักเป็นจริง พวกเราก็จอดเรือไว้ข้างหนึ่ง คงอยู่ในเกาะนี้สืบไป ครั้นช่างไม้ผู้บัณฑิตกล่าวอย่างนี้ ช่างไม้ผู้พาลกล่าวว่า พ่อเอย ท่านเห็นจระเข้ในโอ่งน้ำ ช่างหลับตาเสียนานเหลือเกิน เทพบุตรองค์แรกพูดด้วยความเคียดแค้นในพวกเรา องค์หลังพูดด้วยความรัก พวกเราจักพากันทอดทิ้งเกาะอันประเสริฐปานฉะนี้นี่ไปไหนกันเล่า ก็ถ้าท่านอยากจะไป ก็จงควบคุมคนของท่านทำเรือเถิด พวกข้าพเจ้าไม่มีเรื่องที่จะใช้เรือ ช่างไม้บัณฑิตชวนบริษัทของตนเตรียมเรือ บรรทุกเครื่องอุปกรณ์พร้อมสรรพ พร้อมทั้งบริษัทพักอยู่ในเรือ ต่อจากวันนั้นถึงวันเพ็ญ พอเวลาดวงจันทร์ขึ้น คลื่นก็ซัดขึ้นจากท้องทะเล มีประมาณเพียงเข่า ซัดไปล้างเกาะ ผู้บัณฑิตทราบความคะนองแห่งท้องทะเล ก็ปล่อยเรือ แต่ครอบครัวทั้ง ๕๐๐ ซึ่งเป็นพวกช่างไม้พาล ต่างนั่งพูดกันเรื่อยไปว่า คลื่นจากท้องทะเลซัดสาดมาเพื่อจะล้างเกาะ เพียงนี้เท่านั้น ต่อจากนั้นคลื่นในท้องทะเล ก็ซัดสาดมาสู่เกาะน้อยเพียงเอว เพียงชั่วคน เพียงชั่วลำตาล บัณฑิตผู้ไม่ติด

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 142

ในรส เพราะเป็นผู้ฉลาดในอุบาย ไปได้โดยสวัสดี ช่างไม้ผู้พาลไม่มองดูภัยในภายหน้า เพราะหมกมุ่นในรส ถึงความพินาศพร้อมกับครอบครัวทั้ง ๕๐๐ แล.

อนุสาสนีต่อจากนี้ เป็นพระอภิสัมพุทธคาถา ๓ พระคาถาส่องความนั้น ดังต่อไปนี้.

"กุลบุตรผู้มีปัญญากว้างขวาง แทงตลอดประโยชน์ในอนาคตแล้ว ย่อมไม่ให้ประโยชน์นั้นผ่านพ้นไปแม้แต่น้อย เหมือนพวกพ่อค้าเหล่านั้น พากันไปในท่ามกลางทะเลโดยสวัสดี ด้วยกรรมของตน".

"ส่วนพวกคนพาลมัวหมกมุ่นอยู่ในรสด้วยโมหะ ไม่แทงตลอดประโยชน์อันเป็นอนาคต เมื่อความต้องการเกิดขึ้นเฉพาะหน้า ย่อมพากันล่มจม เหมือนมนุษย์เหล่านั้นพากันล่มจมในท่ามกลางทะเล ฉะนั้น".

"ชนผู้เป็นบัณฑิต พึงรีบทำกิจที่ควรทำก่อนเสียทีเดียว อย่าให้กิจที่ต้องทำเบียดเบียนตัวได้ในเวลาที่ต้องการ กิจนั้นไม่เบียดเบียนบุคคลผู้รีบทำกิจที่ควรทำเช่นนั้น ในเวลาที่ต้องการ".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สกมฺเมน ความว่า ด้วยกรรมของตนที่กระทำเสร็จไว้ก่อน เพราะเห็นภัยในอนาคต.

บทว่า โสตฺถิ วหิํสุ ความว่า พากันไปโดยความเกษม.

บทว่า วาณิชา ได้แก่ กล่าวถึงพ่อค้าโดยภาวะที่ท่องเที่ยวไปในท่ามกลางสมุทร.

บทว่า ปฏิวิชฺฌิยานํ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้มีปัญญากว้างขวางในโลกนี้ ยังทราบปรุโปร่งถึงประโยชน์ภายหน้า อันจะพึงทำไว้ก่อน ย่อมไม่ทำประโยชน์ของตนแม้มีประมาณน้อย ให้คลาดไปผ่านไป คือเสื่อมไป.

บทว่า อปฺปฏิวิชฺฌิตฺวา ความว่า คนพาลไม่หยั่งทราบปรุโปร่งถึงประโยชน์ คือไม่กระทำกิจที่ควรทำที่เสร็จก่อนทีเดียว.

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 143

บทว่า ปจฺจุปฺปนฺนํ ความว่า เมื่อใด กิจอนาคตนั้นบังเกิดเป็นความต้องการขึ้น เมื่อนั้นย่อมพากันล่มจม ในเมื่อเกิดความต้องการขึ้นในปัจจุบัน คือย่อมไม่ได้ที่พึ่งแก่ตน พากันถึงความพินาศ เหมือนพวกคนอันช่างไม้พาลเหล่านั้น ที่พากันล่มจมในสมุทรฉะนั้น.

บทว่า อนาคตํ ความว่า ภิกษุทั้งหลาย บุรุษบัณฑิตพึงเตรียมกระทำ คือพึงทำก่อนทีเดียว ซึ่งกิจอนาคตที่ต้องทำก่อน จะเป็นกิจอำนวยผลภายหน้า หรือกิจอำนวยผลปัจจุบัน ก็ตามที เพราะเหตุไรเล่า เพราะอย่าให้กิจเบียดเบียนเราได้ในคราวต้องการ ด้วยว่ากิจที่ต้องกระทำให้เสร็จก่อน เมื่อไม่ทำไว้ก่อน ตอนที่ถึงความเป็นปัจจุบันในภายหลัง ย่อมเบียดเบียนด้วยการเบียดเบียนกายจิตในเวลาที่ตนต้องการได้ เหตุนั้น บัณฑิตพึงกระทำกิจนั้นก่อนทีเดียว.

บทว่า ตํ ตาทิสํ คือที่ทำไว้เสร็จ ถึงความเป็นปัจจุบันในภายหลัง ย่อมไม่เบียดเบียนบีบคั้นบุรุษผู้ดำรงอยู่อย่างนั้น.

บทว่า ปฏิกตกิจฺจการิํ คือผู้รีบรัดทำกิจที่ควรทำทันที.

บทว่า ตํ กิจฺจํ กิจฺจกาเล ความว่า กิจอนาคตที่จะต้องทำ ถึงความเป็นปัจจุบันในภายหลัง ในเวลาที่กายและจิตอาพาธ ย่อมไม่เบียดเบียนบุรุษเช่นนั้น เพราะเหตุไร เพราะกระทำกิจเสร็จไว้ก่อนนั่นแล.

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อนเทวทัตมัวเกี่ยวเกาะสุขปัจจุบัน ไม่มองดูภัยในอนาคต ถึงความพินาศพร้อมทั้งบริษัท ทรงประชุมชาดกว่า ช่างไม้ผู้พาลในครั้งนั้น ได้มาเป็นเทวทัตผู้ติดสุขในปัจจุบัน เทพบุตรผู้ไม่ดำรงธรรม ที่สถิต ณ ภาคใต้ ได้มาเป็นโกกาลิกะ เทพบุตรผู้ทรงธรรม ที่สถิตทางทิศเหนือ ได้มาเป็นพระสารีบุตร ส่วนช่างผู้เป็นบัณฑิต ได้มาเป็นเราตถาคตแล.

จบอรรถกถาสมุททวาณิชชาดก