พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. กามชาดก ว่าด้วยกามและโทษของกาม

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ส.ค. 2564
หมายเลข  35930
อ่าน  474

[เล่มที่ 60] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 144

๔. กามชาดก

ว่าด้วยกามและโทษของกาม


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 60]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 144

๔. กามชาดก

ว่าด้วยกามและโทษของกาม

[๑๖๓๗] เมื่อบุคคลปรารถนากาม ถ้าสิ่งที่ปรารถนาของบุคคลนั้นย่อมสำเร็จได้ สัตว์ปรารถนาสิ่งใดได้สิ่งนั้นแล้ว ย่อมมีใจอิ่มเอิบแท้.

[๑๖๓๘] เมื่อบุคคลปรารถนากาม ถ้าสิ่งที่ปรารถนาของบุคคลนั้นย่อมสำเร็จได้ ครั้นสิ่งที่ปรารถนานั้นสำเร็จ บุคคลยังปรารถนาต่อไปอีก ก็ย่อมได้ประสบกามตัณหา เหมือนบุคคลที่ถูกลมแดดแผดเผาในฤดูร้อน ย่อมเกิดความกระหายใคร่จะดื่มน้ำ ฉะนั้น.

[๑๖๓๙] ตัณหาก็ดี ความกระหายก็ดี ของคนพาลมีปัญญาน้อยไม่รู้อะไร ย่อมเจริญยิ่งขึ้นทุกที เหมือนเขาโคย่อมเจริญขึ้นตามตัว ฉะนั้น.

[๑๖๔๐] แม้จะให้ทรัพย์สมบัติ ข้าวสาลี ข้าวเหนียว โค ม้า ข้าทาสหญิงชายหมดทั้งแผ่นดิน ก็ยังไม่พอแก่คนๆ เดียว รู้อย่างนี้แล้ว พึงประพฤติธรรมสม่ำเสมอ.

[๑๖๔๑] พระราชา ทรงปราบปรามชนะทั่วแผ่นดิน ทรงครอบครองแผ่นดินใหญ่มีมหาสมุทรเป็นขอบเขต ทรงครอบครองมหาสมุทรฝั่งนี้แล้ว มีพระทัยไม่อิ่ม ยังปรารถนาแม้มหาสมุทรฝั่งโน้นต่อไปอีก.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 145

[๑๖๔๒] เมื่อยังระลึกถึงกามอยู่ตราบใด ก็ไม่ได้ความอิ่มด้วยใจตราบนั้น ชนเหล่าใดบริบูรณ์ด้วยปัญญา มีกายและใจหลีกเว้นจากกามทั้งหลาย เห็นโทษด้วยญาณ ชนเหล่านั้นแลชื่อว่า เป็นผู้อิ่ม.

[๑๖๔๓] บรรดาความอิ่มทั้งหลาย ความอิ่มด้วยปัญญาประเสริฐ เพราะผู้อิ่มด้วยปัญญานั้น ย่อมไม่เดือดร้อนด้วยกามทั้งหลาย คนผู้อิ่มด้วยปัญญา ตัณหาย่อมกระทำให้อยู่ในอำนาจไม่ได้.

[๑๖๔๔] ไม่พึงสั่งสมกามทั้งหลาย พึงเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย ไม่มีความละโมบ บุรุษผู้มีปัญญาเปรียบด้วยมหาสมุทร ย่อมไม่เดือดร้อนด้วยกามทั้งหลาย.

[๑๖๔๕] ช่างทำรองเท้าหนังเลี้ยงชีพ เมื่อประกอบรองเท้า ส่วนใดควรเว้นก็เว้น เลือกเอาแต่ส่วนที่ดีๆ มาทำรองเท้า ขายได้ราคาแล้วย่อมมีความสุข ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณาด้วยปัญญาแล้ว ละทิ้งส่วนแห่งกามเสีย ย่อมถึงความสุข ถ้าพึงปรารถนาความสุขทั้งปวง ก็พึงละกามทั้งปวงเสีย.

[๑๖๔๖] คาถาทั้งหมด ๘ คาถา ที่ท่านกล่าวแล้ว ขอท่านจงรับเอาทรัพย์ ๘ พันนี้เถิด คำที่ท่านกล่าวนี้ เป็นคำยังประโยชน์ให้สำเร็จ.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 146

[๑๖๔๗] ข้าพระบาทไม่ต้องการด้วยทรัพย์ร้อย ทรัพย์พันหรือทรัพย์หมื่น เมื่อข้าพระบาทกล่าวคาถาสุดท้าย ใจของข้าพระบาทไม่ยินดีในกาม.

[๑๖๔๘] มาณพใดเป็นบัณฑิต กำหนดรู้ตัณหา อันยังความทุกข์ให้เกิดแล้ว นำออกได้ มาณพนี้เป็นคนดี เป็นมุนีผู้รู้แจ้งโลกทั้งปวง.

จบกามชาดกที่ ๔

อรรถกถากามชาดก

พระศาสดา เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่ง ตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า "กามํ กามยมานสฺส" ดังนี้.

เรื่องมีว่า พราหมณ์ชาวเมืองสาวัตถีผู้หนึ่ง หักร้างป่าเพื่อต้องการทำเป็นไร่ พระศาสดาทรงเห็นอุปนิสัยของเขา เมื่อเสด็จเข้าไปโปรดสัตว์ในพระนครสาวัตถี ทรงแวะลงจากทาง กระทำปฏิสันถารกับเขา ตรัสว่า เธอทำอะไรเล่าพราหมณ์ ครั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์หักร้างที่ไร่ พระเจ้าข้า ตรัสว่า ดีละพราหมณ์ กระทำการงานไปเถิด แล้วเสด็จเลยไป พระองค์ได้เสด็จไปทำปฏิสันถารกับเขาบ่อยๆ คือในเวลาที่เขาขนต้นไม้ที่ตัดแล้วและชำระที่ไร่ ในเวลาก่อคัน ในเวลาหว่าน โดยอุบายอย่างนี้นั้นแล วันรุ่งขึ้นพราหมณ์นั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ วันนี้เป็นมงคลใน

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 147

การหว่านข้าวของข้าพระองค์ ข้าพระองค์จักถวายมหาทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธองค์เป็นประมุขในเมื่อข้าวกล้านี้สำเร็จแล้ว พระศาสดาทรงรับด้วยทรงดุษณีภาพ เสด็จหลีกไป รุ่งขึ้นวันหนึ่งพราหมณ์ยืนดูข้าวกล้าอยู่ พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า พราหมณ์ เธอกำลังทำอะไรอยู่ตรงนั้น เมื่อเขากราบทูลว่า ข้าแต่พระสมณโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์กำลังดูข้าวกล้า ตรัสว่า ดี พราหมณ์ แล้วเสด็จหลีกไป ในครั้งนั้นพราหมณ์คิดว่า พระสมณโคดมมาเนืองๆ คงมีความต้องการภัตร อย่างไม่ต้องสงสัย เราจักถวายภัตรแก่ท่าน ในวันที่พราหมณ์คิดอย่างนี้ แล้วไปสู่เรือน ถึงพระศาสดาก็ได้เสด็จไป ณ ที่นั้น ครั้งนั้น ความพิศวาสเกิดขึ้นแก่พราหมณ์ล้นเหลือ ต่อมาครั้นข้าวกล้าแก่แล้ว เมื่อพราหมณ์ตกลงใจว่า พรุ่งนี้เราจักเกี่ยวไร่ แล้วนอน ฝนลูกเห็บตกตลอดคืนทางเหนือของแม่น้ำอจิรวดี ห้วงน้ำใหญ่ไหลมาพัดเอาข้าวกล้าทั้งหมดเข้าไปสู่ทะเล ไม่เหลือไว้ให้แม้มาตรว่าทะนานเดียว เมื่อห้วงน้ำเหือดแห้งลงแล้ว พราหมณ์มองดูความย่อยยับแห่งข้าวแล้ว ไม่สามารถจะดำรงอยู่โดยภาวะของตนได้ ถูกความเสียใจอย่างแรงครอบงำ ยกมือตีอกคร่ำครวญไปถึงเรือน แล้วลงนอนบ่นพร่ำ.

ในเวลาใกล้รุ่ง พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์ถูกความเสียใจครอบงำ ทรงดำริว่า เราต้องเป็นที่พึ่งของพราหมณ์ รุ่งขึ้นเสด็จเที่ยวโปรดสัตว์ในพระนครสาวัตถี ภายหลังจากเสวยเสร็จ เสด็จกลับจากบิณฑบาต ทรงส่งพวกภิกษุไปสู่พระวิหาร เสด็จไปสู่ประตูเรือนของเขากับด้วยสมณะติดตาม พราหมณ์ได้ยินความที่พระศาสดาเสด็จมา กล่าวว่า สหายของเราคงมาเยี่ยมเยียน ค่อยได้ความโปร่งใจ จัดแจงอาสนะไว้ พระศาสดาเสด็จเข้าไปประทับนั่งเหนืออาสนะที่จัดไว้ ตรัสถามว่า ดูก่อนพราหมณ์ เหตุไรจึงเศร้าหมองไปล่ะ ท่านไม่สบายอะไรเล่า กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระองค์ย่อม

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 148

ทรงทราบการงานที่ข้าพระองค์กระทำ จำเดิมแต่ตัดต้นไม้ที่ฝั่งแม่น้ำอจิรวดี ข้าพระองค์เคยกราบทูลไว้ว่า เมื่อข้าวกล้านี้สำเร็จแล้ว ข้าพระองค์จักถวายทานแด่พระองค์ บัดนี้ห้วงน้ำใหญ่พัดข้าวกล้าของข้าพระองค์ไปสู่ทะเลเสียหมดเกลี้ยงทีเดียว ข้าวกล้าไม่มีเหลือสักหน่อย ข้าวเปลือกประมาณ ๑๐๐ เกวียน เสียหายหมด เหตุนั้นความโศกอย่างใหญ่โตจึงเกิดแก่ข้าพระองค์ ตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ ก็เมื่อท่านเศร้าโศกอยู่ สิ่งที่เสียหายไปแล้วจะกลับคืนมาได้หรือ กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้อนั้นเป็นไปไม่ได้แน่นอน พระเจ้าข้า ตรัสว่า แม้เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านเศร้าโศกเพราะเหตุไร ขึ้นชื่อว่า ทรัพย์และข้าวเปลือกของสัตว์เหล่านี้ ถึงคราวเกิดก็บังเกิด ถึงคราวเสียหายก็เสียหาย สิ่งไรๆ ที่ถึงการปรุงแต่ง จะชื่อว่า ไม่มีความเสียหายเป็นธรรมดาน่ะ ไม่มีดอก ท่านอย่าคิดไปเลย พระศาสดาทรงปลอบเขาด้วยประการฉะนี้ เมื่อทรงแสดงธรรมอันเป็นที่สบายแก่เขา ตรัสกามสูตร เมื่อพระสูตรถึงปริโยสาน พราหมณ์ดำรงในโสดาปัตติผล พระศาสดาทรงทำให้เขาสร่างโศก เสด็จลุกจากอาสนะไปสู่พระวิหาร.

ชาวพระนครทั้งสิ้นรู้ทั่วกันว่า พระศาสดาทรงกระทำพราหมณ์ผู้โน้น ผู้เพียบแปล้ด้วยโศกศัลย์ ให้สร่างโศก ให้ดำรงในโสดาปัตติผลได้ พวกภิกษุพากันยกเรื่องขึ้นสนทนากันในธรรมสภาว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย พระทศพล ทรงทำไมตรีกับพราหมณ์จนคุ้นเคยกัน ทรงแสดงธรรมแก่เขาผู้เพียบแปล้ไปด้วยความโศก ด้วยอุบายครั้งเดียว ทรงทำให้เขาสร่างโศกได้ ให้ประดิษฐานในโสดาปัตติผลได้ พระศาสดาเสด็จมา ตรัสถามว่า เมื่อกี้พวกเธอกำลังสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อพากันกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อนเราก็ได้กระทำให้พราหมณ์นี้สร่างโศกแล้วเหมือนกัน ทรงนำอดีตนิทานมา ดังต่อไปนี้.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 149

ในอดีตกาล พระเจ้าพรหมทัต (* เสวยราชสมบัติ) ณ พระนครพาราณสี มีพระโอรส ๒ พระองค์ ท้าวเธอประทานที่อุปราชแก่พระโอรสองค์ใหญ่ พระราชทานตำแหน่งเสนาบดีแก่พระโอรสองค์เล็ก ครั้นต่อมาพระเจ้าพรหมทัตสิ้นพระชนม์ พวกอำมาตย์พากันตั้งการอภิเษกแก่พระองค์ใหญ่ ท้าวเธอตรัสว่า ฉันไม่ต้องการครองราชสมบัติ พวกท่านจงพากันให้แก่น้องชายของฉันเถิด แม้ได้รับคำทูลวิงวอนบ่อยๆ ก็ทรงห้ามเสีย ครั้นพวกอำมาตย์ทำการอภิเษกถวายพระเจ้าน้องแล้ว ทรงดำริว่า เราไม่ต้องการความเป็นเจ้าเป็นใหญ่ ไม่ทรงปรารถนาแม้แต่ตำแหน่งอุปราชเป็นอาทิ ถึงเมื่อพระราชาตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น เชิญเสวยโภชนะที่มีรสดีๆ ประทับอยู่ในพระนครนี้เถิด ตรัสว่า ฉันไม่มีเรื่องที่ต้องกระทำในพระนครนี้ เสด็จออกจากพระนครพาราณสีไปสู่ชนบทปลายแดน อาศัยสกุลเศรษฐีตระกูลหนึ่ง ทรงกระทำการงานด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง ประทับอยู่.

ครั้นกาลต่อมา พวกเหล่านั้นรู้ความที่ท้าวเธอเป็นพระราชกุมาร ก็พากันไม่ยอมให้ทำการงาน พากันห้อมล้อมท้าวเธอด้วยการบริหารในฐานเป็นพระราชกุมารทีเดียว จำเนียรกาลนานมา พวกข้าราชการพากันไปสู่ชนบทปลายแดน ได้ไปถึงบ้านนั้นเพื่อรังวัดเขต ท่านเศรษฐีเข้าไปเฝ้าพระราชกุมาร กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้านาย พวกข้าพระองค์พากันบำรุงเลี้ยงพระองค์ ขอพระองค์ทรงส่งหนังสือถึงพระเจ้าน้องให้ทรงลดส่วยแก่พวกข้าพระองค์เถิด พระเจ้าข้า ท้าวเธอทรงรับว่า ได้ซี ทรงส่งหนังสือไปว่า ฉันอาศัยสกุลเศรษฐีชื่อโน้นพำนักอยู่ โปรดเห็นแก่ฉันยกเว้นส่วยแก่พวกเหล่านั้นเถิด พระราชารับสั่งว่า ดีแล้ว ทรงโปรดให้กระทำอย่างนั้น ครั้งนั้น พวกชาวบ้านทั้งหมดบ้าง ชาวชนบทบ้าง ชาวบ้านอื่นๆ บ้าง พากันเข้าไปเฝ้าท้าวเธอ ทูลว่า พวกข้าพระองค์จักถวายส่วยแด่พระองค์เท่านั้น โปรดให้

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 150

พระราชาทรงยกเว้นแก่พวกข้าพระองค์บ้างเถิด ท้าวเธอทรงส่งหนังสือไป เพื่อช่วยเหลือพวกเหล่านั้น ให้พระราชาทรงยกเว้นส่วยให้ ตั้งแต่บัดนั้น พวกเหล่านั้นก็พากันถวายส่วยแก่ท้าวเธอ จึงบังเกิดลาภสักการะใหญ่แก่ท้าวเธอ ด้วยเหตุนั้น ความอยากของท้าวเธอก็พลอยเติบใหญ่ไปด้วย กาลต่อมา ท้าวเธอทูลขอชนบทนั้นแม้ทั้งหมด แล้วทูลขอราชสมบัติกึ่งหนึ่ง แม้พระเจ้าน้องก็ได้ประทานแก่ท้าวเธอทั้งนั้น ท้าวเธอเมื่อความอยากพอกพูน ไม่ทรงพอพระทัยด้วยราชสมบัติเพียงกึ่งนั้น ทรงดำริจะยึดราชสมบัติแวดล้อมด้วยชาวชนบท เสด็จไปสู่พระนครนั้น หยุดทัพอยู่ภายนอกพระนคร ทรงส่งหนังสือแก่พระเจ้าน้องว่า จงให้ราชสมบัติแก่เรา หรือจะรบกันก็ได้.

พระเจ้าน้องทรงดำริว่า พระพี่นี้เป็นพาล เมื่อก่อนทรงห้ามราชสมบัติ แม้กระทั่งตำแหน่งอุปราชก็ทรงห้าม คราวนี้ตรัสว่า จักยึดเอาด้วยการรบ ก็ถ้าว่าเราจักฆ่าพระพี่นี้ให้ตายด้วยการรบ ความครหาจักมีแก่เราได้ เราจะต้องการอะไรด้วยราชสมบัติ จึงทรงส่งสาส์นแด่ท้าวเธอว่า ไม่ต้องรบดอก เชิญทรงครองราชสมบัติเถิดพระเจ้าข้า ท้าวเธอทรงครองราชสมบัติประทานที่อุปราชแก่พระเจ้าน้อง จำเดิมแต่นั้น ทรงครองราชสมบัติ ทรงตกอยู่ในอำนาจแห่งตัณหา มิได้ทรงพอพระหทัยด้วยราชสมบัติพระนครเดียว ทรงปรารถนาราชสมบัติ ๒ - ๓ นคร ไม่ทรงเห็นที่สุดแห่งความอยากเลย ครั้งนั้น ท้าวสักกเทวราชทรงตรวจดูว่า ในโลก ชนเหล่าไหนบ้างล่ะ ที่บำรุงมารดาบิดา เหล่าไหนทำบุญต่างๆ มีให้ทานเป็นต้น เหล่าไหนตกอยู่ในอำนาจตัณหา ทรงทราบความที่ท้าวเธอเป็นไปในอำนาจตัณหา ทรงดำริว่า พระราชาองค์นี้เป็นพาล ไม่ทรงพอพระหทัยแม้ด้วยราชสมบัติในพระนครพาราณสี เราต้องให้ท้าวเธอศึกษาบ้าง จำแลงเพศเป็นมาณพประทับยืนที่พระทวารหลวง ให้กราบทูลว่า มาณพผู้ฉลาดในอุบาย

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 151

ผู้หนึ่ง ยืนอยู่ที่พระทวารหลวง ครั้นรับสั่งว่า เข้ามาเถิด ก็เสด็จเข้าไป กราบทูลถวายชัยพระราชา เมื่อตรัสว่าเจ้ามาด้วยเหตุไร กราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ข้อที่ข้าพระองค์กราบทูลมีอยู่หน่อย ข้าพระองค์ต้องการที่รโหฐานพระเจ้าข้า ด้วยอานุภาพท้าวสักกะ ฝูงคนพากันหลบไปหมด ทันใดนั้นเอง ครั้งนั้นมาณพกราบทูลท้าวเธอว่า ข้าแต่พระมหาราช ข้าพระองค์เห็นพระนคร ๓ แห่ง มั่งคั่งมีฝูงคนแออัด สมบูรณ์ด้วยพลและพาหนะ ข้าพระองค์จักยึดราชสมบัติทั้งสามด้วยอานุภาพของตนถวายแด่พระองค์ ควรที่พระองค์จะไม่ทรงชักช้ารีบเสด็จไปเถอะ พระเจ้าข้า พระราชานั้นทรงตกอยู่ในอำนาจแห่งความโลภ ทรงรับว่า ดีละ แต่ด้วยอานุภาพแห่งท้าวสักกะ มิได้ทรงถามว่า เจ้าเป็นใคร หรือเจ้ามาจากไหน หรือว่าควรที่เจ้าจะได้สิ่งไร ท้าวสักกะนั้นเล่าตรัสเพียงเท่านี้แล้ว ก็ได้เสด็จไปดาวดึงส์พิภพทีเดียว.

พระราชาตรัสให้พวกอำมาตย์มาเฝ้า ตรัสว่า มาณพผู้หนึ่งกล่าวว่าจักยึดราชสมบัติ ๓ นครให้พวกเรา พวกเธอจงเรียกมาณพนั้นมาทีเถิด จงนำกลองไปเที่ยวตีประกาศในพระนคร เรียกประชุมพลกาย พวกเราต้องยึดครองราชสมบัติ ๓ นคร ไม่ต้องชักช้า เมื่อพวกอำมาตย์พากันกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ก็พระองค์ทรงกระทำสักการะแก่มาณพนั้นอย่างไร หรือทรงถามที่อยู่อาศัยของมาณพนั้นไว้อย่างไร ตรัสว่า เราไม่ได้ทำสักการะเลย ไม่ได้ถามที่พักอาศัยไว้เลย พวกเธอจงพากันไปค้นหาเขาเถิด พวกอำมาตย์พากันค้น ไม่เห็นเขา กราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พวกข้าพระองค์ไม่เห็นมาณพนั้นทั่วพระนคร พระเจ้าข้า ทรงสดับคำนั้นแล้ว พระราชาทรงเกิดโทมนัส ทรงพระดำริเรื่อยๆ ว่า ราชสมบัติในพระนครทั้ง ๓ เสื่อมหายแล้ว เราเสื่อมเสียจากยศอันใหญ่ มาณพคงโกรธเราว่า ไม่ให้เสบียงแก่เรา แล้วก็ไม่ให้ที่อยู่อาศัยด้วย เลยไม่มา

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 152

ครั้งนั้น ความร้อนบังเกิดขึ้นในพระกายแห่งพระองค์ผู้ทรงตกอยู่ในอำนาจตัณหา เมื่อสรีระทุกส่วนเร่าร้อนอยู่ กริยาที่วิ่งพล่านแห่งโลหิต ก็ทำท้องให้กำเริบแล้วพลุ่งขึ้น ภาชนะอันหนึ่งเข้าอันหนึ่งออก พวกแพทย์สุดฝีมือที่จะถวายการรักษาได้ ครั้งนั้นการที่ท้าวเธอถูกความเจ็บป่วยเบียดเบียนได้เลื่องลือไปทั้งพระนคร.

กาลนั้น พระโพธิสัตว์เรียนศิลปะสำเร็จจากเมืองตักกศิลา มาสู่สำนักบิดามารดาในพระนครพาราณสี ฟังเรื่องของพระราชานั้น คิดว่า เราต้องถวายการรักษา ไปสู่พระราชทวาร ให้กราบทูลว่า ได้ยินว่า มาณพผู้หนึ่ง มาจะถวายการรักษาพระองค์ พระราชาตรัสว่า แม้ถึงพวกแพทย์ผู้ทิศาปาโมกข์ใหญ่ๆ ยังไม่สามารถรักษาเราได้ มาณพหนุ่มจักสามารถได้อย่างไร พวกท่านพากันให้เสบียง แล้วปล่อยเขาไปเสียเถิด มาณพฟังพระดำรัสนั้นแล้ว กล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่มีเรื่องที่ต้องทำด้วยค่ากำนัลหมอเลย ข้าพเจ้าจักขอถวายการรักษา โปรดให้เพียงค่ายาเท่านั้นแหละ พระราชาทรงสดับคำนั้น แล้วตรัสว่า ลองดูที รับสั่งให้เรียก มาณพตรวจดูพระราชาแล้ว กราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์อย่าทรงกลัวเลย ข้าพระองค์จักถวายการรักษา ก็แต่ว่าพระองค์ทรงโปรดบอกสมุฏฐานแห่งโรคแก่ข้าพระองค์เถิด พระเจ้าข้า พระราชาทรงพอพระหทัยตรัสว่า เจ้าจักเอาสมุฏฐานไปทำไม จงบอกยาเท่านั้นเถิด กราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราช ธรรมดาหมอทราบว่า ความเจ็บนี้เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุนี้ ย่อมการทำยาให้ถูกต้องกับความเจ็บนั้นได้ พระเจ้าข้า พระราชาตรัสว่า ถูกต้องละพ่อ เมื่อตรัสสมุฏฐานได้ตรัสเรื่องทั้งหมดตั้งต้นแต่ที่มาณพคนหนึ่งมาบอกว่า จักเอาราชสมบัติในสามพระนครมาให้ แล้วตรัสว่า แน่ะพ่อ เราเจ็บคราวนี้เพราะตัณหา ถ้าเจ้าพอจะรักษาได้ ก็จงรักษาเถิด มาณพทูลถามว่า ข้าแต่พระมหาราช พระองค์อาจได้พระนครเหล่านั้นด้วยการเศร้าโศกหรือ ตรัสว่า ไม่อาจดอกพ่อ กราบทูลว่า ถ้าเช่นนั้น เหตุไรพระองค์จึงทรงเศร้าโศก

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 153

พระเจ้าข้า ธรรมดาสัตว์ทั้งหลายย่อมละร่างกายของตนเป็นต้น ตลอดถึงสวิญญาณกทรัพย์และอวิญญาณกทรัพย์ทั้งหมดไป แม้พระองค์จะยึดครองราชสมบัติในพระนครทั้งสี่ได้ พระองค์ก็เสวยพระกระยาหารในสุวรรณภาชนะทั้งสี่ บรรทมเหนือพระที่ทั้งสี่ ทรงเครื่องประดับทั้งสี่พร้อมกันคราวเดียวไม่ได้ พระองค์ไม่ควรตกอยู่ในอำนาจตัณหา เพราะตัณหานี้ เมื่อเจริญขึ้น ย่อมไม่ปล่อยให้พ้นจากอุบายทั้งสี่ไปได้ พระมหาสัตว์ครั้นถวายโอวาทพระราชาดังนี้แล้ว เมื่อจะแสดงธรรมแก่พระราชา ได้กล่าวคาถาทั้งหลายว่า.

"เมื่อบุคคลปรารถนากาม ถ้าสิ่งที่ปรารถนาของบุคคลนั้น ย่อมสำเร็จได้ สัตว์ปรารถนาสิ่งใดได้สิ่งนั้นแล้ว ย่อมมีใจอิ่มเอิบแท้".

"เมื่อบุคคลปรารถนากาม ถ้าสิ่งที่ปรารถนาของบุคคลนั้น ย่อมสำเร็จได้ ครั้นสิ่งที่ปรารถนานั้นสำเร็จ บุคคลยังปรารถนาต่อไปอีก ก็ย่อมได้ประสบกามตัณหา เหมือนบุคคลที่ถูกลมแดดแผดเผาในฤดูร้อน ย่อมจะเกิดความกระหายใคร่จะดื่มน้ำ ฉะนั้น".

"ตัณหาก็ดี ความกระหายก็ดีของคนพาล มีปัญญาน้อย ไม่รู้อะไร ย่อมเจริญยิ่งขึ้นทุกที เหมือนเขาโคย่อมเจริญขึ้นตามตัว ฉะนั้น.

"แม้จะให้สมบัติ ข้าวสาลี ข้าวเหนียว โค ม้า ข้าทาสหญิงชายหมดทั้งแผ่นดิน ก็ยังไม่พอแก่คนคนเดียว รู้อย่างนี้แล้วพึงประพฤติธรรมสม่ำเสมอ".

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 154

"พระราชาทรงปราบชนะทั่วแผ่นดิน ทรงครอบครองแผ่นดินใหญ่มีมหาสมุทรเป็นขอบเขต ทรงครองมหาสมุทรฝั่งนี้แล้ว มีพระทัยไม่อิ่ม ยังปรารถนาแม้มหาสมุทรฝั่งโน้นต่อไปอีก".

"เมื่อยังระลึกถึงกามอยู่ตราบใด ก็ไม่ได้ความอิ่มด้วยใจตราบนั้น ชนเหล่าใดบริบูรณ์ด้วยปัญญา มีกายและใจหลีกเว้นจากกามทั้งหลาย เห็นโทษด้วยญาณ ชนเหล่านั้นนั่นแลชื่อว่า เป็นผู้อิ่ม".

"บรรดาความอิ่มทั้งหลาย ความอิ่มด้วยปัญญาประเสริฐ เพราะผู้อิ่มด้วยปัญญานั้น ย่อมไม่เดือดร้อนด้วยกามทั้งหลาย คนผู้อิ่มด้วยปัญญา ตัณหาย่อมกระทำให้อยู่ในอำนาจไม่ได้".

"ไม่พึงสั่งสมกามทั้งหลาย พึงเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย ไม่มีความละโมบ บุรุษผู้มีปัญญาเปรียบด้วยมหาสมุทร ย่อมไม่เดือดร้อนเพราะกามทั้งหลาย".

"ช่างทำรองเท้าหนังเลี้ยงชีพ เมื่อประกอบรองเท้าส่วนใดควรเว้นก็เว้น เลือกเอาแต่ส่วนที่ดีๆ มาทำรองเท้า ขายได้ราคาแล้ว ย่อมมีความสุข เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณาด้วยปัญญาแล้ว ละทิ้งส่วนแห่งกามเสีย ย่อมถึงความสุข ถ้าพึงปรารถนาความสุขทั้งปวง ก็พึงละกามทั้งปวงเสีย".

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 155

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กามํ ได้แก่ ทั้งวัตถุกาม ทั้งกิเลสกาม.

บทว่า กามยมานสฺส แปลว่า ปรารถนาอยู่.

บทว่า ตสฺส เจ ตํ สมิชฺฌติ ความว่า สิ่งที่เขาปรารถนาย่อมสำเร็จ และย่อมเผล็ดผลแก่บุคคลนั้น.

บทว่า นํ ในคำว่า ตโต นํ อปรํ กาเม นี้เป็นเพียงนิบาต.

บทว่า อปรํ เป็นบทแสดงส่วนอื่น.

บทว่า กาเม เป็นพหุวจนะ ใช้ในอรรถแห่งทุติยาวิภัตติ ท่านอธิบายคำนี้ไว้ว่า ถ้าเมื่อเขาปรารถนากาม สิ่งที่เขาปรารถนานั้น ย่อมสำเร็จแก่เขาสมประสงค์ เมื่อสิ่งนั้นสำเร็จแล้ว เขายังปรารถนาต่อไปอีก บุคคลนั้นเมื่อปรารถนาอยู่ ย่อมประสบ คือได้รับกาม กล่าวคือตัณหา เหมือนบุคคลที่ถูกลมแดดแผดเผาในฤดูร้อน ย่อมเกิดความอยาก คือได้รับความกระหายน้ำฉะนั้น ตัณหามีรูปตัณหาเป็นต้นย่อมเจริญแก่บุคคลนั่นแล.

บทว่า ควํว แปลว่า เหมือนรูปโค.

บทว่า สิงคิโน ได้แก่ เขาสัตว์ที่ผ่ายอดแล้วยกขึ้น.

บทว่า มนฺทสฺส แปลว่า ผู้มีปัญญาอ่อน.

บทว่า พาลสฺส ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยพาลธรรม ท่านกล่าวอธิบายคำนี้ไว้ว่า เขาโคย่อมเติบโตพร้อมกับร่างของลูกโคตัวกำลังเติบโต ฉันใด กามตัณหาที่ยังไม่มาถึงก็ดี ความกระหายในกามที่มาถึงแล้วก็ดี ย่อมเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปสำหรับอันธพาลชน.

บทว่า สาลิยวกํ ได้แก่ นาข้าวสาลีและนาข้าวเหนียว ด้วยบทนี้ ท่านแสดงธัญชาติทั้งหมด มีข้าวสาลีและข้าวเหนียวเป็นต้น ด้วยบทที่ ๒ ท่านแสดงถึงสัตว์ ๒ เท้าและ สัตว์ ๔ เท้า หรือด้วยบทที่ ๑ ท่านแสดงถึงสิ่งที่ไม่มีวิญญาณทั้งหมด ด้วยบทนอกนี้ ท่านแสดงถึงสิ่งที่มีวิญญาณทั้งสิ้น.

บทว่า ทตฺวาปิ แปลว่า แม้ให้แล้ว ท่านอธิบายคำนี้ไว้ว่า อาณาจักรทั้ง ๓ จงยกไว้ ถ้าว่า มาณพนั้นให้สิ่งอื่นๆ หรือแผ่นดินทั้งสิ้น ที่มีวิญญาณและไม่มีวิญญาณ ทั้งรัตนบุรีแก่ใครแล้วไป สิ่งแม้มีประมาณเท่านี้ ย่อมไม่สิ้นสุดแก่บุคคลคนเดียวเท่านั้น

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 156

นี้ชื่อว่า ตัณหาให้เต็มได้โดยยากด้วยประการฉะนี้.

บทว่า อิติ วิทฺธา สมํ จเร ความว่า บุรุษเมื่อรู้อย่างนี้ เป็นผู้ไม่เป็นไปในอำนาจแห่งตัณหา บำเพ็ญกายสุจริตเป็นต้นให้บริบูรณ์ พึงประพฤติให้สม่ำเสมอ.

บทว่า โอรํ ได้แก่ ถึงส่วนอันมีในภายใน ด้วยบทนั้น บุคคลนั้นชื่อว่า ยังไม่อิ่ม พึงปรารถนาแม้ฝั่งแห่งสมุทรอีก ด้วยอาการอย่างนี้ท่านแสดงว่า ขึ้นชื่อว่า สัตว์ผู้เป็นไปในอำนาจแห่งตัณหาเป็นอันเต็มได้โดยยาก.

บทว่า ยาว เป็นบทกำหนดนับตามอนิยม.

บทว่า อนุสฺสรํ แปลว่า ระลึกถึงอยู่.

บทว่า นาชฺฌคา แปลว่า ย่อมไม่ประสบ ท่านอธิบายคำนี้ไว้ว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า บุรุษมีใจระลึกถึงกามทั้งหลาย แม้อันหาที่สุดไม่ได้ ย่อมไม่ประสบความอิ่ม ปรารถนาจะบรรลุถึงอยู่นั้นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ ตัณหาในกามทั้งหลาย ย่อมเจริญแก่สัตว์ทั้งหลายอยู่นั่นเอง.

บทว่า ตโต นิวตฺตา ความว่า บุคคลเหล่าใดมีจิตและกายกลับจากวัตถุกามและกิเลสกามแล้ว เห็นโทษด้วยญาณนั่นแล อิ่มเอิบบริบูรณ์ด้วยปัญญา บุคคลเหล่านั้นแลชื่อว่า ย่อมอิ่ม.

บทว่า ปญฺาย ติตฺตีนํ เสฏฺํ คือความอิ่มด้วยปัญญานี้ ย่อมเป็นของประเสริฐเต็มที่ อีกอย่างหนึ่ง บาลีก็อย่างนี้เหมือนกัน.

บทว่า น โส กาเมหิ ตปฺปติ นี้ บาลีว่า ย่อมไม่ถูกกามทั้งหลายแผดเผา อธิบายว่า เพราะเหตุที่บุรุษผู้อิ่มด้วยปัญญา ย่อมไม่ถูกกามแผดเผา.

บทว่า น กุรุเต วสํ ความว่า เพราะตัณหาไม่อาจยังบุรุษเช่นนั้นให้อยู่ในอำนาจได้ ก็บุรุษนั้นนั่นแลเห็นโทษแห่งตัณหาแล้ว ย่อมไม่เป็นไปในอำนาจแห่งตัณหา เหมือนวังวนแห่งสายน้ำและเหมือนพระเจ้าอัฑฒมาสก.

บทว่า อปจิเนเถว แปลว่า พึงกำจัดเสียเลย.

บทว่า สมุทฺทมตฺโต คือมีประมาณสมุทร เพราะประกอบด้วยปัญญาอันใหญ่ บุรุษนั้นย่อมไม่เดือดร้อน คือไม่รุ่มร้อนด้วยกิเลสกามทั้งหลาย เหมือนสมุทรไม่ร้อนแม้เพราะไฟใหญ่ฉะนั้น. บทว่า รถกาโร

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 157

บทว่า รถกาโร แปลว่า ช่างหนัง.

บทว่า ปริกนฺตํ แปลว่า ตัดแล้ว ท่านอธิบายคำนี้ไว้ว่า ช่างหนังตัดรองเท้า เว้นที่ที่หนังไม่เข้าลักษณะที่ถือเอาได้ ทำให้เป็นรองเท้า ได้ค่ารองเท้า ย่อมได้รับความสุขฉันใด บัณฑิตก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณาด้วยปัญญาอันเสมือนกับศาสตราของช่างรองเท้า พึงถึงความสุขทางกายกรรม วจีกรรมและมโนกรรมนั้น ที่เว้นจากแดนแห่งกาม อันเป็นเหตุให้ตนละแดนกาม ปรารถนาเฉพาะสุขมีกายกรรมเป็นต้น ทุกอย่างที่ปราศจากความเร่าร้อน พึงเจริญกสิณยังฌานให้เกิดละกามทั้งปวงเสีย.

ก็เมื่อพระมหาสัตว์กำลังกล่าวคาถานี้อยู่ ได้เกิดฌานมีโอทาตกสิณเป็นอารมณ์ เพราะหน่วงเอาพระเศวตฉัตรของพระราชาเป็นอารมณ์ แม้พระราชาก็ทรงหายจากโรค พระองค์ทรงมีความยินดี เสด็จลุกจากพระที่บรรทม มีพระดำรัสว่า พวกแพทย์เท่านี้ยังไม่อาจรักษาได้ แต่มาณพผู้เป็นบัณฑิต ได้ทำเราให้ปราศจากโรคด้วยญาณวิสัยของตนได้ เมื่อจะทรงปราศรัยกับพระโพธิสัตว์ ได้ตรัสพระคาถาที่ ๑๐ ว่า.

"คาถาทั้งหมด ๘ คาถา ที่ท่านกล่าวแล้ว ขอท่านจงรับเอาทรัพย์ทั้ง ๘,๐๐๐ นี้เถิด คำที่ท่านกล่าวนี้ เป็นคำยังประโยชนให้สำเร็จ".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อฏฺ ได้แก่ คาถา ๘ คาถา ที่ประกอบด้วยโทษแห่งกาม ตั้งต้นแต่คาถาที่ ๒ ไป.

บทว่า สหสฺสิยา แปลว่า ควรแก่ ๑,๐๐๐.

บทว่า ปฏิคฺคณฺห ความว่า จงรับเอาทรัพย์ ๘,๐๐๐.

บทว่า สาเธตํ ตว ภาสิตํ ความว่า คำที่ท่านกล่าวนี้ยังประโยชน์ให้สำเร็จ.

พระมหาสัตว์ได้สดับดังนั้นแล้ว จึงกล่าวคาถาที่ ๑๑ ว่า.

"ข้าพระบาทไม่ต้องการด้วยทรัพย์ร้อย ทรัพย์พันหรือทรัพย์หมื่น เมื่อข้าพระบาทกล่าวคาถาสุดท้าย ใจของข้าพระบาทไม่ยินดีในกาม".

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 158

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปจฺฉิมํ นี้เป็นคาถาสุดท้ายว่า รถกาโรว จมฺมสฺส.

บทว่า กาเม เม นิรโต มโน ความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เมื่อข้าพระองค์กำลังกล่าวคาถาอยู่นั่นแล ใจไม่ยินดีทั้งในวัตถุกาม ทั้งกิเลสกาม เพราะข้าพเจ้านั้น เมื่อกล่าวคาถายังฌานให้บังเกิดด้วยธรรมเทศนาของตนแล.

พระราชาทรงยินดีอย่างเหลือประมาณ ในเมื่อจะทรงสรรเสริญพระมหาสัตว์ ได้ตรัสคาถาสุดท้ายว่า.

"มาณพใดเป็นบัณฑิต กำหนดรู้ตัณหา อันยังความทุกข์ให้เกิดแล้ว นำออกได้ มาณพนี้เป็นคนดี เป็นมุนีผู้รู้แจ้งโลกทั้งปวง".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทุกฺขชนนิํ ได้แก่ ยังทุกข์ในวัฏฏะทั้งสิ้นให้เกิด. บทว่า ปริชานาติ ได้แก่ กำหนดรู้แล้ว คือกำหนดตัด ตัดขาด นำออกไป เมื่อสรรเสริญพระโพธิสัตว์จึงได้ตรัสอย่างนี้.

พระโพธิสัตว์ถวายโอวาทพระราชาว่า ข้าแต่พระมหาราช ขอพระองค์จงเป็นผู้ไม่ประมาทประพฤติธรรมเถิด แล้วเหาะไปยังหิมวันตประเทศ บวชเป็นฤาษีเจริญพรหมวิหารอยู่จนตลอดชนมายุ แล้วไปเกิดในพรหมโลก.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในกาลก่อน เราก็ได้ทำให้พราหมณ์นี้คลายความเศร้าโศกด้วยประการดังนี้ แล้วทรงประชุมชาดกว่า พระราชาในครั้งนั้น ได้มาเป็นพราหมณ์นี้ ส่วนมาณพผู้เป็นบัณฑิต ได้มาเป็นเราตถาคตแล.

จบอรรถกถากามชาดก