๙. มหาปทุมชาดก ว่าด้วยมหาปทุมกุมาร
[เล่มที่ 60] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 186
๙. มหาปทุมชาดก
ว่าด้วยมหาปทุมกุมาร
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 60]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 186
๙. มหาปทุมชาดก
ว่าด้วยมหาปทุมกุมาร
[๑๖๙๘] พระราชาผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ไม่เห็นโทษของผู้อื่นว่าน้อยหรือมากโดยประการทั้งปวง ไม่พิจารณาด้วยพระองค์เองก่อนแล้ว ไม่พึงลงอาชญา.
[๑๖๙๙] กษัตริย์พระองค์ใด ยังไม่ทันพิจารณา แล้วทรงลงพระราชอาชญา กษัตริย์พระองค์นั้นชื่อว่า ย่อมกลืนกินพระกระยาหารพร้อมด้วยหนาม เหมือนคนตาบอดกลืนกินอาหารพร้อมด้วยแมลงวัน ฉะนั้น.
[๑๗๐๐] กษัตริย์พระองค์ใด ทรงลงพระราชอาชญากับผู้ไม่ควรจะลงพระราชอาญา ไม่ทรงลงพระราชอาชญากับผู้ที่ควรลงพระราชอาญา กษัตริย์พระองค์นั้น เป็นเหมือนคนเดินทางไม่ราบเรียบ ไม่รู้ว่าทางเรียบหรือไม่เรียบ.
[๑๗๐๑] กษัตริย์พระองค์ใด ทรงเห็นเหตุที่ควรลงอาชญาและไม่ควรลงพระราชอาชญา และทรงเห็นเหตุนั้นโดยประการทั้งปวงเป็นอย่างดีแล้ว ทรงปกครองบ้านเมือง กษัตริย์พระองค์นั้นสมควรปกครองราชสมบัติ.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 187
[๑๗๐๒] กษัตริย์ผู้มีพระทัยอ่อนโยนโดยส่วนเดียว หรือมีพระทัยกล้าโดยส่วนเดียว ก็ไม่อาจที่จะดำรงพระองค์ไว้ในอิสริยยศที่สูงใหญ่ได้ เพราะเหตุนั้น กษัตริย์ไม่พึงประพฤติเหตุทั้งสอง คือพระทัยอ่อนเกินไปและกล้าเกินไป.
[๑๗๐๓] กษัตริย์ผู้มีพระทัยอ่อน ก็ถูกประชาราฏร์ดูหมิ่น กษัตริย์ผู้มีพระทัยแข็งนักก็มีเวร กษัตริย์ควรทราบเหตุทั้งสองอย่างแล้ว ประพฤติเป็นกลางๆ.
[๑๗๐๔] ข้าแต่พระราชา คนมีราคะย่อมพูดมาก แม้คนมีโทสะก็พูดมาก พระองค์ไม่ควรจะให้ปลงพระชนม์พระราชโอรส เพราะเหตุแห่งหญิงเลย.
[๑๗๐๕] ด้วยเหตุใด ประชาชนทั้งหมดจึงร่วมกันเป็นพวกพ้องของเจ้าปทุมกุมาร ส่วนพระมเหสีนี้ พระองค์เดียวเท่านั้นไม่มีพวกพ้อง ด้วยเหตุนั้น เราจักปฏิบัติตามคำของพระมเหสี ท่านทั้งหลายจงไป จงโยนเจ้าปทุมกุมารลงไปในเหวทีเดียว.
[๑๗๐๖] ท่านเป็นผู้อันเราให้โยนลงในเหวอันลึกหลายชั่วลำตาลเหมือนนรกยากที่จะขึ้นได้ เหตุไร ท่านจึงไม่ตายอยู่ในเหวนั้น.
[๑๗๐๗] พญานาคผู้มีกำลังเรี่ยวแรงเกิดที่ข้างภูเขา รับอาตมภาพในที่นั้นด้วยขนดหาง เพราะเหตุนั้น อาตมภาพจึงมิได้ตายในที่นั้น.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 188
[๑๗๐๘] ดูก่อนพระราชบุตร มาเถิด เราจักนำเจ้ากลับไปสู่พระราชวัง จะให้เจ้าครอบครองราชสมบัติ ขอความเจริญจงมีแก่เจ้าเถิด เจ้าจักมาทำอะไรอยู่ในป่าเล่า.
[๑๗๐๙] บุรุษกลืนกินเบ็ดแล้ว ปลดเบ็ดที่เปื้อนโลหิตออกได้แล้ว พึงมีความสุข ฉันใด อาตมภาพมองเห็นด้วยตนเอง ฉันนั้น.
[๑๗๑๐] เจ้ากล่าวอะไรหนอว่า เป็นเบ็ด เจ้ากล่าวอะไรหนอว่า เบ็ดเปื้อนโลหิต เจ้ากล่าวอะไรหนอว่า ปลดออกได้ เราถามแล้ว ขอเจ้าจงบอกความข้อนั้นแก่เรา.
[๑๗๑๑] ดูก่อนมหาบพิตร อาตมภาพกล่าวกามคุณว่า เป็นเบ็ด กล่าวช้างและม้าว่า เบ็ดเปื้อนโลหิต กล่าวถึงการสละได้ว่า ปลดออกได้ ขอมหาบพิตร จงทรงทราบอย่างนี้เถิด.
[๑๗๑๒] พระราชมารดา (แม่เลี้ยง) ของเรา คือนางจิญจมานวิกา พระราชบิดาของเรา คือพระเทวทัต พญานาคผู้บัณฑิต คือพระอานนท์ เทวดา คือพระสารีบุตร พระราชบุตรในกาลนั้น คือเราตถาคต ท่านทั้งหลายจงจำชาดกไว้อย่างนี้เถิด.
จบมหาปทุมชาดกที่ ๙
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 189
อรรถกถามหาปทุมชาดก
พระศาสดา เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร ทรงพระปรารภนางจิญจมาณวิกา ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "นาทิฏฺา ปรโต โทสํ" ดังนี้.
ความพิสดารว่า ครั้งปฐมโพธิกาล เมื่อพระสาวกของพระทศพลมีมากขึ้น เทวดาและมนุษย์หยั่งลงสู่อริยภูมิหาประมาณไม่ได้ คุณสมุทัยของพระศาสดาได้แผ่ไปทั่ว ลาภสักการะได้เกิดขึ้นมามากมาย พวกเดียรถีย์เสื่อมลาภสักการะ เหมือนหิ่งห้อยเวลาพระอาทิตย์ขึ้น จึงพากันเที่ยวยืนในระหว่างถนน ชักชวนคนทั้งหลายอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมเป็นพระพุทธเจ้าผู้เดียวเมื่อไร แม้พวกเราก็เป็นพระพุทธเจ้า ทานที่ถวายพระสมณโคดมมีผลมาก แม้ที่ถวายแก่พวกเราก็มีผลมากเหมือนกัน ขอท่านทั้งหลายจงทำทานแก่พวกเราบ้าง ดังนี้ ก็ไม่ได้ลาภสักการะ จึงประชุมลับหารือกันว่า พวกเราใช้อุบายอย่างไรดีหนอ จึงจะสร้างความผิดของพระสมณโคดมขึ้นในหมู่มนุษย์ แล้วทำลาภสักการะให้ฉิบหายได้.
ครั้งนั้น ในพระนครสาวัตถี มีนางปริพาชิกาคนหนึ่งชื่อ จิญจมาณวิกา มีรูปร่างงามเลิศดุจเทพอัปสร มีรัศมีซ่านออกจากร่างของนาง เดียรถีย์คนหนึ่งมีความคิดกล้า ได้กล่าวอย่างนี้ว่า พวกเราพึงอาศัยนางจิญจมาณวิกา สร้างความผิดขึ้นแก่พระสมณโคดม ทำลาภสักการะให้ฉิบหาย พวกเดียรถีย์ต่างรับว่า อุบายของท่านเข้าที ครั้งนั้น นางจิญจมาณวิกามาสู่อารามเดียรถีย์ ไหว้แล้วยืนอยู่ พวกเดียรถีย์มิได้พูดกับนาง นางจึงคิดว่า เรามีความผิดอย่างไรหนอ แล้วกล่าวว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย ดิฉันไหว้ ดังนี้ถึงสามครั้ง แล้วกล่าวว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 190
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย ดิฉันมีความผิดอย่างไรหนอ เหตุไร ท่านทั้งหลายจึงไม่พูดกับดิฉัน พวกเดียรถีย์กล่าวว่า ดูก่อนน้องหญิง เจ้าไม่รู้ดอกหรือว่าพระสมณโคดมเบียดเบียนพวกเรา เที่ยวทำให้พวกเราเสื่อมลาภสักการะ ดิฉันไม่รู้ เจ้าข้า ก็ดิฉันควรจะทำอย่างไรในเรื่องนี้ ดูก่อนน้องหญิง ถ้าเจ้าปรารถนาหาความสุขแก่พวกเรา จงใช้ตัวของเจ้าสร้างความไม่ดีขึ้นแก่พระสมณโคดม ทำลาภสักการะให้ฉิบหาย นางรับว่า ดีละ เจ้าข้า เรื่องนี้เป็นภาระของดิฉัน ขอท่านทั้งหลายอย่าวิตกไปเลยแล้วหลีกไป โดยที่นางเป็นผู้ฉลาดในมายาหญิง ตั้งแต่นั้นมา เวลาชาวพระนครสาวัตถีฟังธรรมกถาแล้วออกจากพระเชตวัน นางห่มผ้าสีดังแมลงค่อมทอง ถือของหอมแลดอกไม้เป็นต้น เดินตรงไปพระเชตวัน เมื่อมีคนถามว่า จะไปไหนเวลานี้ ก็กล่าวว่า ประโยชน์อะไรด้วยที่เป็นที่ไปของฉันสำหรับท่าน แล้วก็เข้าอารามเดียรถีย์ซึ่งอยู่ใกล้ๆ พระเชตวัน ครั้นเวลาเช้า เมื่อพวกอุบาสกออกจากพระนครเพื่อถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า นางก็ทำเป็นอยู่ในพระเชตวันแล้วเข้าพระนคร เมื่อมีใครถามว่า ท่านอยู่ที่ไหน นางก็กล่าวว่า ประโยชน์อะไรด้วยการอยู่ของเราสำหรับท่าน ครั้นล่วงไปเดือนสองเดือน ถูกถามอีก นางก็กล่าวว่า ฉันอยู่ร่วมคันธกุฎีกับพระสมณโคดมในพระเชตวัน ได้ทำความสงสัยแก่พวกปุถุชนว่า นางจิญจมาณวิกาพูดนี้ จริงหรือไม่หนอ ครั้นล่วงไปสามสี่เดือน นางก็เอาผ้าขี้ริ้วมาพันท้อง ทำเป็นหญิงมีท้อง เอาผ้าแดงคลุมข้างบน ทำให้พวกอันธพาลเชื่อว่า มีท้องกับพระสมณโคดม ครั้นล่วงไปแปดเก้าเดือน นางก็เอาไม้วงกลมผูกไว้ที่ท้องเอาผ้าคลุมข้างบน ให้พวกเดียรถีย์เอาไม้คางโคทุบหลังมือหลังเท้าให้บวมมีอินทรีย์ลำบาก ครั้นเวลาเย็น เมื่อพระตถาคต
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 191
นั่งแสดงธรรมบนธรรมาสน์ที่ตกแต่งไว้ นางไปธรรมสภา ยืนตรงพระพักตร์พระตถาคต เหมือนหญิงที่พยายามเอาก้อนคูถขว้างดวงจันทร์ ด่าพระตถาคต ในท่ามกลางบริษัททีเดียวว่า แน่ะมหาสมณะ ท่านแสดงธรรมแก่มหาชน เสียงของท่านไพเราะ ริมฝีปากสนิทดี แต่ฉันมีท้องเพราะท่าน เวลานี้ก็ครบกำหนดแล้ว ท่านยังไม่เตรียมเรือนคลอดแก่ฉัน เนยใสและน้ำมันเป็นต้นก็ยังไม่มี เมื่อท่านไม่ทำเอง ก็ไม่บอกแก่อุปัฏฐากของตนคนใดคนหนึ่งเช่นพระเจ้าโกศล อนาถบิณฑิกเศรษฐี มหาอุบาสิกาวิสาขา ว่าจงช่วยทำสิ่งที่ควรทำแก่นางจิญจมาณวิกานี้ ท่านรู้จักแต่อภิรมย์เท่านั้น ไม่รู้จักบริหารครรภ์ พระตถาคตได้ทรงสดับดังนั้น จึงหยุดธรรมกถามีอาการดุจพระยาสีหะ ทรงบันลือพระสุรสิงหนาทว่า น้องหญิง ฉันกับเธอสองคนเท่านั้น รู้คำที่เธอกล่าวว่า จริงหรือไม่จริง นางจิญจมาณวิกากล่าวว่า ถูกแล้ว พระสมณะ เรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะท่านกับฉันรู้กัน.
ขณะนั้น ภพของท้าวสักกะได้แสดงอาการเร่าร้อน ท้าวสักกะพิจารณาดู ก็ทรงทราบว่า นางจิญจมาณวิกาด่าพระตถาคต ด้วยเรื่องไม่เป็นจริง จึงทรงดำริว่า จักชำระเรื่องนี้ แล้วเสด็จมากับเทพบุตรสี่องค์ เทพบุตรเหล่านั้นแปลงเพศเป็นลูกหนู เข้าไปกัดเชือกผูกไม้วงกลมพร้อมกัน ได้มีลมพัดเปิดผ้าคลุมขึ้น ไม้วงกลมตกลงถูกหลังเท้านางจิญจมาณวิกา ปลายเท้าทั้งสองแตก พวกมนุษย์เห็นดังนั้น จึงกล่าวว่า อีกาลกรรณี มึงด่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และช่วยกันถ่มน้ำลายรดศีรษะ ถือก้อนดินท่อนไม้ขับออกจากพระเชตวัน พอนางจิญจมาณวิกาได้พ้นคลองจักษุพระตถาคต แผ่นดินใหญ่แยกเป็นช่อง เปลวไฟพลุ่งขึ้นจากอเวจี โอบอุ้มนางจิญจมาณวิกาเหมือนกับห่มผ้ากัมพลที่ตระกูลให้ไว้ จมลงไปในอเวจี ลาภสักการะของอัญเดียรถีย์ทั้งหลายก็เสื่อมไป แต่ของพระทศพลเจริญยิ่งขึ้นเหลือประมาณ.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 192
วันรุ่งขึ้น ภิกษุทั้งหลาย ยกเรื่องขึ้นสนทนาในธรรมสภาว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย นางจิญจมาณวิกาด่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นอัครทักขิไณยบุคคลอันโอฬาร ด้วยเรื่องไม่จริง ถึงความพินาศใหญ่ พระศาสดาเสด็จมา ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เธอทั้งหลาย นั่งสนทนากันถึงเรื่องอะไร เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่นางจิญจมาณวิกานี้ด่าเราด้วยเรื่องไม่จริงแล้วถึงความพินาศ แม้ในกาลก่อนนางก็ด่าเราด้วยเรื่องไม่จริงแล้วถึงความพินาศเหมือนกัน แล้วทรงนำอดีตนิทานมาตรัสเล่าดังต่อไปนี้.
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในครรภ์พระอัครมเหสีของพระเจ้าพรหมทัต พระญาติทั้งหลายถวายพระนามพระโพธิสัตว์ว่า ปทุมกุมาร เพราะมีพระพักตร์แลดูเหมือนดอกบัวบาน พระโพธิสัตว์นั้น ครั้นเจริญวัยแล้ว ไปเรียนศิลปวิทยาทั้งปวงสำเร็จแล้วกลับมา ลำดับนั้น พระชนนีของพระองค์สิ้นพระชนม์ พระราชาได้แต่งตั้งหญิงอื่นเป็นอัครมเหสี แล้วพระราชทานตำแหน่งอุปราชแก่พระโอรส ต่อมา พระราชาเสด็จไปปราบปัจจันตประเทศที่กำเริบขึ้น รับสั่งกะพระอัครมเหสีว่า น้องรัก เธอจงอยู่ที่นี้แหละ ฉันจะไปปราบปัจจันตประเทศ พระนางทูลว่า หม่อมฉันจะไม่อยู่ที่นี่ จักขอโดยเสด็จด้วย พระองค์ตรัสโทษในสนามรบให้ฟัง แล้วตรัสว่า เธอจงอย่ากระวนกระวาย อยู่จนกว่าฉันจะมา ฉันจะสั่งปทุมกุมารมิให้ลืมกิจการที่ควรกระทำแก่เธอ ดังนี้ แล้วทรงกระทำตามที่ตรัส แล้วเสด็จไปขับไล่ปัจจามิตร ทำชนบทให้สงบราบคาบแล้วเสด็จกลับมาตั้งค่ายพักอยู่นอกพระนคร.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 193
พระโพธิสัตว์ทราบว่า พระชนกเสด็จมา จึงให้ประดับพระนคร ตกแต่งพระราชมณเฑียร แล้วไปสำนักพระอัครมเหสีแต่พระองค์เดียว พระอัครมเหสีเห็นรูปสมบัติของพระโพธิสัตว์ ก็มีจิตรักใคร่ พระโพธิสัตว์ถวายบังคมพระนางแล้ว ทูลถามว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า พระแม่เจ้าประสงค์สิ่งใด หม่อมฉันจะทำถวาย ลำดับนั้น พระนางตรัสว่า เธออย่าเรียกฉันว่าแม่ เสด็จลุกขึ้นจูงมือพระโพธิสัตว์ ตรัสว่า เธอจงขึ้นบนพระที่เถิด ทูลถามว่า เพื่ออะไร ตรัสว่า เราทั้งสองจักรื่นรมย์ด้วยความยินดีในกิเลสชั่วเวลาที่พระราชายังไม่เสด็จมา ข้าแต่พระแม่เจ้า เสด็จแม่เป็นแม่ของหม่อมฉันด้วย ยังมีพระสวามีอยู่ด้วย ขึ้นชื่อว่า หญิงที่มีผู้หวงแหน หม่อมฉันไม่เคยทำลายอินทรีย์แลดูด้วยอำนาจกิเลสเลย หม่อมฉันจักทำกรรมที่เศร้าหมองถึงเพียงนี้กับพระแม่อย่างไรได้ พระนางได้ตรัสถึงสองสามครั้ง เมื่อพระโพธิสัตว์ไม่ปรารถนา พระนางจึงตรัสว่า เจ้าจะไม่ทำตามคำของเราหรือ ทูลว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า หม่อมฉันทำไม่ได้ ตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น เราจักกราบทูลแด่พระราชาอย่างนี้ แล้วให้ตัดศีรษะของท่านเสีย พระมหาสัตว์ตรัสว่า จงทำตามชอบของพระแม่เจ้าเถิด ได้ทำให้พระนางละอายพระทัยแล้วหลีกไป.
พระนางมีความสะดุ้งกลัว ทรงดำริว่า ถ้ากุมารนี้ไปกราบทูลพระบิดาก่อนเรา เราคงไม่รอดชีวิต เราจักกราบทูลเสียก่อน ทรงดำริเช่นนี้แล้ว ไม่เสวยกระยาหาร ทรงนุ่งห่มผ้าเศร้าหมอง แสดงรอยเล็บที่พระสรีระ แล้วให้สัญญาแก่พวกหญิงคนใช้ว่า เมื่อพระราชาตรัสถามว่า พระเทวีเสด็จไปไหน ท่านทั้งหลายทูลว่า เป็นไข้ แล้วก็ลวงว่าเป็นไข้บรรทมอยู่ พระราชาทรงทำประทักษิณพระนครแล้วเสด็จขึ้นพระราชนิเวศน์ เมื่อไม่เห็นเทวี จึงตรัสถามว่า พระเทวีไปไหน ทรงสดับว่าเป็นไข้ จึงเสด็จเข้าห้องบรรทม ตรัสถามว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 194
แน่ะพระเทวี พระน้องไม่สบายไปหรือ พระนางทำเป็นไม่ได้ยินดำรัสพระราชา แม้ถูกถามถึงสองสามครั้ง ก็นิ่งเสีย พระราชาตรัสถามว่า แน่ะพระเทวี เหตุไร จึงไม่พูดกับฉัน พระนางทูลว่า บรรดาหญิงที่มีสามีแล้วไม่มีใครเขาเป็นเหมือนหม่อมฉัน พระราชาตรัสถามว่า ใครเบียดเบียนพระน้องหรือ จงบอกพี่เร็ว พี่จักตัดหัวมันเสีย พระนางทูลว่า ข้าแต่พระมหาราช พระองค์ทรงตั้งใครรักษาพระนครแล้วเสด็จไป ตรัสว่า ตั้งเจ้าปทุมกุมารโอรสของเรา พระนางทูลว่า ปทุมกุมารมาที่อยู่ของหม่อมฉัน แม้หม่อมฉันจะกล่าวว่า แน่ะพ่อ เจ้าอย่าทำอย่างนี้ ฉันเป็นแม่ของเจ้า ปทุมกุมารกล่าวว่า นอกจากเรา คนอื่นชื่อว่าเป็นพระราชาไม่มี เราจักให้พระนางอยู่ในพระราชฐาน รื่นรมย์กันด้วยความยินดีแห่งกิเลส แล้วจับมวยผมของหม่อมฉันทึ้งไปมา เมื่อหม่อมฉันไม่ยอมทำตามคำของตน ก็ทุบตีแล้วออกไป.
พระราชาไม่ทรงพิจารณาก่อน ทรงพระพิโรธดังอสรพิษรับสั่งพวกราชบุรุษว่า พวกเจ้าจงไปมัดปทุมกุมารนำมา พวกราชบุรุษพากันไปวังปทุมกุมาร เหมือนอย่างกะแห่ไปเต็มเมือง จับปทุมกุมารทุบตีแล้วมัดมือไพล่หลังอย่างมั่นคง เอาโซ่คล้องคอกระทำเป็นนักโทษประหารชีวิต ทุบตีพลางนำไปพลาง พระโพธิสัตว์คิดว่า นี้เป็นการกระทำของเทวี จึงเดินบ่นมาว่า ดูก่อนบุรุษผู้เจริญทั้งหลาย เรามิได้ประทุษร้ายพระราชา เราไม่มีความผิดเลย ชาวพระนครทั้งสิ้นพากันเอิกเกริกกล่าวว่า ได้ยินว่า พระราชาเชื่อคำผู้หญิง รับสั่งให้ฆ่าพระมหาปทุมกุมาร ประชุมกันกลิ้งเกลือกแทบเท้าพระกุมารร่ำไรรำพัน ด้วยเสียงดังว่า ข้าแต่นาย กรรมนี้ไม่สมควรแก่ท่านเลย ขณะนั้นพวกราชบุรุษ นำพระกุมารไปแสดงแก่พระราชา พระราชาทอดพระเนตรแล้วไม่อาจข่มพระพิโรธได้ จึงมีรับสั่งว่า กุมารนี้ไม่ใช่พระราชาเลย ทำท่าทีเป็นพระราชา เป็นโอรสของเรา ผิดในพระอัครมเหสี ไปเถิด พวกท่านจงจับกุมารทิ้งในเหว
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 195
เป็นที่ทิ้งโจรให้ถึงความพินาศเสีย พระมหาสัตว์วิงวอนพระชนกว่า ข้าแต่เสด็จพ่อ หม่อมฉันไม่มีความผิดถึงเพียงนี้เลย ขอพระองค์อย่าได้ทรงเชื่อคำของผู้หญิง ทำให้หม่อมฉันพินาศเลย พระราชามิได้ทรงเชื่อถ้อยคำของพระโพธิสัตว์ ลำดับนั้น นางสนมหมื่นหกพันพากันร้องให้เซ็งแซ่ว่า พ่อมหาปทุมกุมาร พ่อได้รับกรรมอันนี้ ซึ่งไม่สมควรแก่ตนเลย พวกผู้ใหญ่ทั้งหมด มีกษัตริย์มหาศาลเป็นต้น ตลอดจนอำมาตย์ราชเสวกทั้งหลายพากันกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ พระกุมารนี้สมบูรณ์ด้วยคุณ คือศีลาจารวัตร เป็นรัชทายาทสืบสันตติวงศ์ ขอพระองค์อย่าได้ทรงเชื่อคำของผู้หญิง ไม่ทรงพิจารณาก่อนแล้วทำพระกุมารให้พินาศเสียเลย วิสัยพระราชา ต้องใคร่ครวญก่อนจึงกระทำลงไป แล้วกล่าวคาถา ๗ คาถาว่า.
"พระราชาผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ไม่เห็นโทษของผู้อื่นว่าน้อยหรือมากโดยประการทั้งปวง ไม่พิจารณาด้วยพระองค์เองก่อนแล้ว ไม่พึงลงอาชญา".
"กษัตริย์พระองค์ใด ยังไม่ทันพิจารณา แล้วทรงลงพระราชอาญา กษัตริย์พระองค์นั้นชื่อว่า ย่อมกลืนกินพระกระยาหารพร้อมด้วยหนาม เหมือนคนตาบอดกลืนกินอาหารพร้อมด้วยแมลงวัน ฉะนั้น".
"กษัตริย์พระองค์ใด ทรงลงพระราชอาชญากับผู้ไม่ควรจะลงพระอาญา กษัตริย์พระองค์นั้น เป็นเหมือนคนเดินทางไม่ราบเรียบ ไม่รู้ว่าทางเรียบหรือไม่เรียบ".
"กษัตริย์พระองค์ใด ทรงเห็นเหตุที่ควรลงพระราชอาญาและไม่ควรลงพระราชอาชญา และทรงเห็น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 196
เหตุนั้น โดยประการทั้งปวงเป็นอย่างดีแล้ว ทรงปกครองบ้านเมือง กษัตริย์พระองค์นั้นสมควรปกครองราชสมบัติ".
"กษัตริย์ผู้มีพระทัยอ่อนโยนโดยส่วนเดียว หรือมีพระทัยกล้าโดยส่วนเดียว ก็ไม่อาจที่จะดำรงพระองค์ไว้ในอิสริยยศที่สูงใหญ่ได้ เพราะเหตุนั้น กษัตริย์ไม่พึงประพฤติเหตุทั้งสอง คือพระทัยอ่อนเกินไปและกล้าเกินไป".
"กษัตริย์ผู้มีพระทัยอ่อน ก็ถูกประชาราษฎร์ดูหมิ่น กษัตริย์ผู้มีพระทัยแข็งนัก ก็มีเวร กษัตริย์ควรทราบเหตุทั้งสองอย่างแล้วประพฤติเป็นกลางๆ ".
"ข้าแต่พระราชา คนมีราคะย่อมพูดมาก แม้คนมีโทสะก็พูดมาก พระองค์ไม่ควรจะให้ปลงพระชนม์พระราชโอรส เพราะเหตุแห่งหญิงเลย".
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นาทิฏา แปลว่า ไม่เห็น.
บทว่า ปรสฺส แปลว่า ของผู้อื่น.
บทว่า สพฺพโส แปลว่า ทั้งปวง.
บทว่า อณุํถูลานิ ได้แก่ โทษน้อยและใหญ่.
บทว่า สามํ อปฺปฏิเวกฺขิยา ความว่า พระราชาผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ละทิ้งคำของผู้อื่น ไม่กระทำให้ประจักษ์แก่ตน ไม่ทรงปรับ คือไม่ทรงเริ่มตั้งอาชญา จริงอยู่ในรัชกาลแห่งพระเจ้าสมมติสัตว์ ชื่อว่า ผู้มีอาชญายิ่งย่อมไม่มี ชื่อว่า การพยายามในการตัดมือและเท้ายิ่งขึ้นไปกว่าตี การติเตียนและการขับไล่ย่อมไม่มี ภายหลังพวกอำมาตย์เหล่านั้นกล่าวหมายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยแห่งพระราชาผู้กักขฬะนั้นอย่างนี้ว่า การไม่พิจารณาเห็นโทษของผู้อื่นเองโดยส่วนเดียว ไม่สมควรเลย.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 197
บทว่า โย จ อปฺปฏิเวกฺขิตฺวา ความว่า ข้าแต่พระมหาราช พระราชาใด เมื่อพิจารณาปรับโทษอันสมควรแก่โทษอย่างนี้ ตั้งอยู่ในการลุอคติ ไม่พิจารณาเห็นโทษนั้น ลงอาญามีการตัดมือเป็นต้น พระราชานั้น เมื่อก่อเหตุให้แก่ตน ชื่อว่า กลืนพระกระยาหารพร้อมหนาม เหมือนคนตาบอดกลืนข้าวกับแมลงวันฉะนั้น.
บทว่า อทณฺฑิยํ ความว่า พระราชาใด ทรงลงอาญาผู้ที่ไม่ควรลงอาญาและไม่ลงอาญาผู้ควรลงอาญา ทำตามความชอบใจของตนเท่านั้น พระราชานั้น เป็นดังคนตาบอด แม้เดินทางเรียบ ก็ไม่รู้ว่าทางเรียบหรือไม่เรียบเดินไป เหมือนคนตาบอดลื่นลงที่แผ่นหินเป็นต้น ย่อมถึงทุกข์ใหญ่ในมหานรก ในอบายทั้ง ๔.
บทว่า เอตานิ านานิ ความว่า พระราชาใด ทรงเห็นเหตุที่ควรลงอาญาและไม่ควรลงอาญา และทรงเห็นโทษน้อยใหญ่ ในเหตุที่ควรลงอาญาทั้งหมดอย่างดีแล้ว ทรงปกครองบ้านเมือง พระราชาพระองค์นั้นแลสมควรเพื่อปกครองราชสมบัติ.
บทว่า อตฺตํ มหนฺเต เปตุํ ความว่า พระราชาผู้มีพระทัยอ่อนโยนโดยส่วนเดียว ไม่อาจยังโภคทรัพย์ที่ยังไม่เกิดเห็นปานนั้น ทำให้เกิดขึ้น คือให้มั่นคงถาวร ตั้งตนไว้ในความเป็นใหญ่อันโอฬาร.
บทว่า มุทุ ความว่า พระราชาผู้มีหทัยอ่อนโยน เป็นที่ดูหมิ่นของชาวแว่นแคว้น พระองค์ถูกเขาดูหมิ่น ย่อมไม่อาจทำราชสมบัติให้ปราศโจรได้.
บทว่า เวรวา ความว่า ก็ชาวแว่นแคว้นทั้งหมด เป็นผู้มีเวรต่อพระราชาผู้พระทัยกล้าแข็งเกินไป เพราะฉะนั้น พระองค์ชื่อว่า เป็นผู้มีเวร.
บทว่า อนุมชฺฌํ ความว่า เป็นพระราชา พึงประพฤติเป็นกลาง คือเป็นกลางของความอ่อนและกล้าแข็ง คือเป็นผู้ไม่อ่อนนัก ไม่กล้าแข็งนักครองราชสมบัติ.
บทว่า น อิตฺถิการณา ความว่า ข้าแต่พระมหาราช พระองค์ไม่ควรสั่งให้ประหารพระโอรสผู้เป็นรัชทายาทสืบสันตติวงศ์ เพราะอาศัยมาตุคามผู้ชั่วช้าลามก.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 198
แม้อำมาตย์ราชเสวกทั้งหลาย จะพากันกราบทูลด้วยเหตุต่างๆ อย่างนี้ ก็ไม่อาจให้พระราชาเชื่อถ้อยคำของตนได้ แม้พระโพธิสัตว์ก็วิงวอนอยู่ ก็ไม่อาจให้พระราชาเชื่อถ้อยคำของตนได้ ฝ่ายพระราชาผู้เป็นอันธพาล เมื่อจะทรงบังคับอำมาตย์ว่า ไปเถิด พวกท่านจงจับปทุมกุมารนั้นทิ้งลงในเหวทิ้งโจรได้ ตรัสพระคาถาที่ ๘ ว่า.
"ด้วยเหตุใด ชาวโลกทั้งหมดจึงร่วมกันเป็นพวกพ้องของเจ้าปทุมกุมาร ส่วนมเหสีนี้พระองค์เดียวเท่านั้น ไม่มีพวกพ้อง ด้วยเหตุนั้น เราจักปฏิบัติตามคำของมเหสี ท่านทั้งหลายจงไป จงโยนเจ้าปทุมกุมารนั้นลงในเหวทีเดียว".
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เตนาหํ ความว่า ด้วยเหตุใด ชาวโลกทั้งปวง จึงร่วมเป็นฝักฝ่ายแห่งพระกุมารดำรงอยู่ ส่วนพระมเหสีพระองค์เดียวเท่านั้น ไม่มีพวกพ้อง ด้วยเหตุนั้น เราจักปฏิบัติตามคำของพระนาง ไปเถิด ท่านทั้งหลายจงยกปทุมกุมารนั้นขึ้นสู่ภูเขาแล้วโยนไปในเหวเถิด.
เมื่อพระราชามีพระราชโองการตรัสอย่างนี้แล้ว นางพระสนมหมื่นหกพันสักคนหนึ่งก็ไม่อาจดำรงภาวะของตนอยู่ได้พากันร้องไห้คร่ำครวญ ชาวพระนครทั้งสิ้นกอดอกร้องไห้สยายผมพิลาปรำพันอยู่ พระราชาทรงดำริว่า คนเหล่านั้นจะพึงห้ามการทิ้งกุมารลงเหว จึงพร้อมด้วยบริวารเสด็จไป เมื่อมหาชนกำลังคร่ำครวญอยู่นั่นแล จึงรับสั่งให้จับปทุมกุมารเอาพระบาทขึ้นเบื้องบน เอาพระเศียรลงเบื้องล่าง แล้วให้โยนลงไปในเหว ทันใดนั้น ด้วยอานุภาพ เมตตาภาวนาของปทุมกุมาร เทวดาที่สิงสถิตอยู่ ณ ภูเขา ได้ปลอบโยนพระกุมารว่า อย่ากลัวเลย พ่อมหาปทุม แล้วกางมือทั้งสองออกรองรับไว้ที่หทัย
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 199
ให้ได้สัมผัสทิพยรส แล้วพาไปประทับ ณ ห้องพังพานของพญานาคในนาคพิภพ ซึ่งตั้งอยู่เชิงภูเขา พญานาคได้นำพระโพธิสัตว์ไปสู่นาคพิภพแล้ว แบ่งสมบัติของตนให้ครองครึ่งหนึ่ง พระโพธิสัตว์อยู่นาคพิภพได้หนึ่งปี กล่าวว่า เราจักไปแดนมนุษย์ พญานาคถามว่า ท่านจักไปที่ไหน เราจักไปบวช ณ หิมวันตประเทศ พญานาครับว่า สาธุ แล้วพาพระโพธิสัตว์ไปส่งถึงแดนมนุษย์ ให้บริขารบรรพชิตแล้วกลับไปที่อยู่ของตน.
ฝ่ายพระโพธิสัตว์เข้าหิมวันตประเทศ บวชเป็นฤาษี ยังฌานและอภิญญาให้เกิด มีเผือกมันผลไม้เป็นอาหารอาศัยอยู่ในที่นั้น ครั้งนั้น นายพรานชาวเมืองพาราณสีคนหนึ่ง ไปถึงที่นั้น จำพระโพธิสัตว์ได้จึงถามว่า ข้าแต่พระองค์ ท่านคือมหาปทุมกุมาร มิใช่หรือ เมื่อพระโพธิสัตว์ ตรัสว่า ถูกแล้ว สหาย ได้นมัสการพระโพธิสัตว์ อยู่ที่นั้นสองสามวันแล้วไปเมืองพาราณสี กราบทูลแด่พระราชาว่า ข้าแต่พระองค์ พระโอรสของพระองค์บวชเป็นฤาษีอยู่ในบรรณศาลา ณ หิมวันตประเทศ ข้าพระองค์ได้อาศัยอยู่ในสำนักพระโอรสนั้นสองสามวันแล้วลามา พระราชาตรัสถามว่า ท่านเห็นแน่ชัดแล้วหรือ กราบทูลว่า ถูกแล้วพระองค์ พระราชาแวดล้อมด้วยพลนิกายเป็นอันมาก เสด็จไป ณ ที่นั้น ตั้งค่ายพักพลอยู่ที่ชายป่า พระองค์แวดล้อมไปด้วยอำมาตย์เสด็จไปบรรณศาลา ทอดพระเนตรเห็นพระโพธิสัตว์มีสิริรุ่งโรจน์ประดุจรูปทอง ประทับนั่งอยู่ที่ประตูบรรณศาลา ถวายนมัสการแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พวกอำมาตย์นมัสการทำปฏิสันถารนั่งแล้ว พระโพธิสัตว์ทรงปฏิสันถารพระราชาด้วยผลไม้.
ลำดับนั้น พระราชาตรัสถามพระโพธิสัตว์ว่า แน่ะพ่อ เราให้เขาโยนท่านลงเหวลึก อย่างไรท่านจึงมีชีวิตอยู่ได้ ได้ตรัสพระคาถาที่ ๙ ว่า.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 200
"เราได้ให้เขาโยนท่านไปในซอกเขา ซึ่งเหมือนนรกลึกหลายชั่วลำตาล ยากที่จะขึ้นมาได้ เหตุไร ท่านจึงไม่ตายในที่นั้น".
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อเนกตาเล แปลว่า ประมาณหลายชั่วลำตาล.
บทว่า นามริ ตัดเป็น น อมริ.
พระกุมารทูลว่า.
"พญานาคผู้มีกำลังเรี่ยวแรงเกิดที่ข้างภูเขา รับอาตมภาพในที่นั้นด้วยขนดหาง เพราะเหตุนั้น อาตมภาพจึงมิตายในที่นั้น".
พระราชาตรัสว่า.
"ดูก่อนพระราชบุตร มาเถิด เราจักนำเจ้ากลับไปสู่พระราชวัง จะให้เจ้าครอบครองราชสมบัติ ขอความเจริญจงมีแก่เจ้าเถิด เจ้าจักมาทำอะไรอยู่ในป่าเล่า".
พระกุมารทูลว่า.
"บุรุษกลืนกินเบ็ดแล้ว ปลดเบ็ดที่เปื้อนโลหิตออกได้แล้ว พึงมีความสุข ฉันใด อาตมภาพมองเห็นด้วยตนเอง ฉันนั้น".
พระราชาทรงสดับดังนั้นแล้วตรัสว่า.
"เจ้ากล่าวอะไรหนอว่า เป็นเบ็ด เจ้ากล่าวอะไรหนอว่า เบ็ดเปื้อนโลหิต เจ้ากล่าวอะไรหนอว่า ปลดออกได้ เราถามแล้ว ขอเจ้าจงบอกความข้อนั้นแก่เรา".
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 201
ดาบสทูลว่า.
"ดูก่อนมหาบพิตร อาตมภาพกล่าวกามคุณว่า เป็นเบ็ด กล่าวช้างและม้าว่า ติดเปื้อนโลหิต กล่าวถึงการสละได้ว่า ปลดออกได้ ขอมหาบพิตรจงทราบอย่างนี้เถิด".
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปจฺจุคฺคหิ ความว่า พระกุมารทูลเรื่องทั้งหมดว่า ในกาลเมื่อข้าพระองค์ตกจากภูเขา พญานาคผู้มีกำลังเรี่ยวแรงรับข้าพระองค์อันเทวดาประคับประคองไว้แล้วปลอบโยนด้วยสัมผัสอันเป็นทิพย์นำเข้าไป ก็แลครั้นรับแล้ว นำไปยังนาคพิภพให้ยศใหญ่ เมื่อข้าพระองค์กล่าวว่า จงนำไปถิ่นมนุษย์ ก็นำข้าพระองค์มาส่งยังแดนมนุษย์ ข้าพระองค์นั้นมาบวชอยู่ในที่นี้ ข้าพระองค์ไม่ตายในที่นั้น เพราะอานุภาพของเทวดาและพญานาคนั้น ด้วยประการฉะนี้.
บทว่า เอหิ ความว่า พระราชาทรงสดับคำของเขาแล้ว ถึงความโสมนัส หมอบลงที่พระบาทตรัสว่า พ่อราชบุตร เราเชื่อ เราเชื่อคำของหญิงโดยภาวะเป็นคนเขลา เมื่อเป็นเช่นนี้ ชื่อว่า เราผิดในท่านผู้สมบูรณ์ด้วยคุณ คือศีลและอาจาระ ขอท่านจงงดโทษให้แก่เราเถิด เมื่อพระราชบุตรทูลว่า ลุกขึ้นเถิดมหาบพิตร ข้าพระองค์จะงดโทษให้แก่พระองค์ เบื้องหน้าแต่นี้ พระองค์อย่าพึงกระทำโดยมิได้พิจารณาอย่างนี้ต่อไป จึงตรัสอย่างนี้ว่า พ่อราชบุตร ท่านจงยกเศวตฉัตรขาวอันเป็นของตระกูลของตนแล้วครองราชสมบัติ เป็นอันชื่อว่า พระองค์งดโทษให้เรา.
บทว่า อทฺธริตฺวา ความว่า คนกลืนเบ็ดเข้าไป อันยังไม่ถึงหทัยและม้ามเป็นต้น พึงปลดเบ็ดนั้นออกได้ ชื่อว่า มีความสุข.
บทว่า อตฺตานํ ความว่า ข้าแต่มหาบพิตร ข้าพระองค์แลเห็นตนเหมือนบุรุษผู้กลืนเบ็ดถึงซึ่งความสวัสดีอีก.
บทว่า กินฺนุ ตฺวํ นี้ พระราชาตรัสถาม เพื่อทรงสดับคำนั้น โดยพิสดาร.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 202
ด้วยบทว่า กามาหํ นี้ เรากล่าวกามคุณ ๕ ว่าเป็นเหมือนช้างและม้าที่เปื้อนเลือด.
บทว่า จตฺตาหํ ตัดเป็น จตฺตํ อหํ ความว่า การสละทั้งหมดว่าเป็นการปลดออก ในกาลใด ในกาลบัดนี้ ข้าพระองค์กล่าวการสละทั้งหมดว่า เป็นการปลดออก.
พระมหาสัตว์ได้ถวายโอวาทแก่พระชนกว่า ข้าแต่พระมหาบพิตร กิจด้วยราชสมบัติไม่มีแก่อาตมา ขอพระองค์อย่ายังทศพิธราชธรรมให้กำเริบ จงละการลุอำนาจอคติเสีย ครองราชสมบัติโดยธรรมเถิด พระราชาทรงกันแสงคร่ำครวญเสด็จกลับพระนคร ในระหว่างทางได้ตรัสถามพวกอำมาตย์ว่า เราต้องพลัดพรากจากบุตรที่สมบูรณ์ด้วยอาจารคุณเห็นปานนี้เพราะใคร พวกอำมาตย์กราบทูลว่า เพราะพระอัครมเหสี พระเจ้าข้า พระราชามีรับสั่งให้จับพระอัครมเหสีเอาพระบาทขึ้นเบื้องบนโยนลงไปในเหวทิ้งโจร แล้วทรงครองราชสมบัติโดยธรรม.
พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในกาลก่อน นางจิญจมาณวิกานี้ก็ด่าเราแล้วถึงความพินาศมาแล้วอย่างนี้ ทรงประชุมชาดกด้วยคาถาสุดท้ายว่า.
พระราชมารดา (แม่เลี้ยง) ของเรา คือนางจิญจมาณวิกา พระราชบิดาของเรา คือพระเทวทัต พญานาคผู้บัณฑิต คืออานนท์ และเทวดา คือพระสารีบุตร พระราชบุตรในกาลนั้น คือเราตถาคต ท่านทั้งหลายจงจำชาดกไว้อย่างนี้เถิด.
จบอรรถกถามหาปทุมชาดก