พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. มิตตามิตตชาดก ว่าด้วยลักษณะของผู้เป็นมิตรและมิใช่มิตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ส.ค. 2564
หมายเลข  35936
อ่าน  404

[เล่มที่ 60] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 203

๑๐. มิตตามิตตชาดก

ว่าด้วยลักษณะของผู้เป็นมิตรและมิใช่มิตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 60]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 17 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 203

๑๐. มิตตามิตตชาดก

ว่าด้วยลักษณะของผู้เป็นมิตรและมิใช่มิตร

[๑๗๑๓] บุรุษผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญา ได้เห็นและได้ฟังซึ่งบุคคลผู้ทำกรรมอย่างไร จึงจะรู้ได้ว่าผู้นี้ไม่ใช่มิตร วิญญูชนจะพึงพยายามอย่างไรจึงจะรู้ได้ว่า ผู้นี้ไม่ใช่มิตร.

[๑๗๑๔] บุคคลผู้มิใช่มิตรเห็นเพื่อนแล้ว ไม่ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ร่าเริงต้อนรับเพื่อน ไม่แลดูเพื่อน กล่าวคำย้อนเพื่อน.

[๑๗๑๕] บุคคลผู้มิใช่มิตร คบหาศัตรูของเพื่อน ไม่คบหามิตรของเพื่อน ห้ามผู้ที่กล่าวสรรเสริญเพื่อน สรรเสริญผู้ที่ด่าเพื่อน.

[๑๗๑๖] บุคคลผู้มิใช่มิตร ไม่บอกความลับแก่เพื่อน ไม่ช่วยปกปิดความลับของเพื่อน ไม่สรรเสริญการงานของเพื่อน ไม่สรรเสริญปัญญาของเพื่อน.

[๑๗๑๗] บุคคลผู้มิใช่มิตร ยินดีในความฉิบหายของเพื่อน ไม่ยินดีในความเจริญของเพื่อน ได้อาหารที่ดีมีรสอร่อยมาแล้ว ก็มิได้นึกถึงเพื่อน ไม่ยินดีอนุเคราะห์เพื่อนว่า อย่างไรหนอ เพื่อนของเราพึงได้ลาภจากที่นี้บ้าง.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 17 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 204

[๑๗๑๘] บัณฑิตได้เห็นและได้ฟังแล้วพึงรู้ว่า ไม่ใช่มิตรด้วยอาการเหล่าใด อาการดังกล่าวมา ๑๖ ประการนี้ มีอยู่ในบุคคลผู้มิใช่มิตร.

[๑๗๑๙] บัณฑิตมีปัญญา ได้เห็นและได้ฟังบุคคลผู้กระทำกรรมอย่างไร จึงจะรู้ได้ว่า ผู้นี้เป็นมิตร วิญญูชนจะพึงพยายามอย่างไร จึงจะรู้ได้ว่า ผู้นี้เป็นมิตร.

[๑๗๒๐] บุคคลผู้เป็นมิตรนั้น ย่อมระลึกถึงเพื่อนผู้อยู่ห่างไกล ย่อมยินดีต้อนรับเพื่อนผู้มาหา ถือว่าเป็นเพื่อนของเราจริง รักใคร่จริง ทักทายปราศรัยด้วยวาจาอันไพเราะ.

[๑๗๒๑] คนที่เป็นมิตร ย่อมคบหาผู้ที่เป็นมิตรของเพื่อน ไม่คบหาผู้ที่ไม่ใช่มิตรของเพื่อน ห้ามปรามผู้ที่ด่าติเตียนเพื่อน สรรเสริญผู้ที่พรรณนาคุณความดีของเพื่อน.

[๑๗๒๒] คนที่เป็นมิตร ย่อมบอกความลับแก่เพื่อน ปิดความลับของเพื่อน สรรเสริญการงานของเพื่อน สรรเสริญปัญญาของเพื่อน.

[๑๗๒๓] คนที่เป็นมิตร ย่อมยินดีในความเจริญของเพื่อน ไม่ยินดีในความเสื่อมของเพื่อน ได้อาหารมีรสอร่อยย่อมระลึกถึงเพื่อน ยินดีอนุเคราะห์เพื่อนว่า อย่างไรหนอ เพื่อนของเราจะพึงได้ลาภจากที่นี้บ้าง.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 17 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 205

[๑๗๒๔] บัณฑิตได้เห็นแล้ว ได้ฟังแล้ว พึงรู้ว่า เป็นมิตรด้วยอาการเหล่าใด อาการดังกล่าวมา ๑๖ ประการนี้ มีอยู่ในบุคคลผู้เป็นมิตร.

จบมิตตามิตตชาดกที่ ๑๐

จบทวาทสนิบาต

อรรถกถามิตตามิตตชาดก

พระศาสดา เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภอำมาตย์ผู้ประพฤติประโยชน์ของพระเจ้าโกศล ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "กานิ กมฺมานิ กุพฺพานํ" ดังนี้.

ได้ยินว่า อำมาตย์ผู้นั้นได้มีอุปการะแด่พระราชาเป็นอันมาก พระราชาก็ได้ประทานสักการสัมมานะแก่เขาอย่างเหลือเฟือ พวกอำมาตย์ที่เหลือทนดูอยู่ไม่ได้ จึงพากันทูลยุยงว่า ข้าแต่พระองค์ อำมาตย์คนโน้นจะทำความพินาศแก่พระองค์ พระราชาทรงกำหนดพิจารณาดูอำมาตย์นั้น ก็ไม่เห็นโทษอะไรๆ ทรงพระดำริว่า เราไม่เห็นโทษอะไรๆ ของอำมาตย์นี้ ทำอย่างไรหนอ เราจึงจะสามารถรู้ว่า อำมาตย์นี้เป็นมิตรหรือมิใช่มิตร ทรงคิดได้ว่า เว้นพระตถาคตเสียแล้ว คนอื่นไม่สามารถรู้ปัญหานี้ได้ เราจักไปทูลถาม พอเสวยพระกระยาหารเช้าเสร็จแล้ว ก็เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทำอย่างไรหนอ คนเราจึงจะสามารถรู้ว่า ใครเป็นมิตรหรือมิใช่มิตรของตน.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 17 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 206

ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะพระราชาว่า ดูก่อนมหาบพิตร แม้บัณฑิตในครั้งก่อน ก็คิดปัญหานี้ แล้วถามพวกบัณฑิต รู้ได้โดยที่บัณฑิตเหล่านั้นบอก เว้นพวกที่มิใช่มิตรเสีย คบแต่มิตรเท่านั้น พระราชาทูลอาราธนาให้ตรัสเรื่องราว พระองค์ทรงนำอดีตนิทานมาตรัสเล่า ดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นอำมาตย์ สอนอรรถธรรมแด่พระราชา ครั้งนั้นในพระนครพาราณสีมีอำมาตย์คนหนึ่ง ประพฤติประโยชน์แด่พระราชา พวกอำมาตย์ที่เหลือพากันทูลยุยงพระราชา พระราชาไม่ทรงเห็นโทษของอำมาตย์นั้น ทรงพระดำริว่า ทำอย่างไรหนอ เราจึงจะสามารถรู้ว่าอำมาตย์นี้ เป็นมิตรหรือมิใช่มิตร เมื่อจะตรัสถามพระมหาสัตว์ ได้ตรัสพระคาถาที่ ๑ ว่า.

"บุรุษผู้เป็นบัณฑิตผู้มีปัญญา ได้เห็นและได้ฟังซึ่งบุคคลผู้ทำกรรมอย่างไร จึงจะรู้ได้ว่า ผู้นี้มิใช่มิตร วิญญูชนจะพึงพยายามอย่างไร จึงจะรู้ได้ว่า ผู้นี้มิใช่มิตร".

คำอันเป็นคาถานั้นมีอธิบายว่า บุรุษผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญา เห็นคนผู้กระทำการงานเช่นไรด้วยจักษุ ได้ฟังเรื่องนั้นด้วยหู พึงรู้ว่า ผู้นี้ไม่ใช่มิตรของเรา วิญญูชนพึงพยายามอย่างไร เพื่อรู้จักผู้นั้น.

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เมื่อจะตรัสบอกลักษณะของผู้ที่มิใช่มิตรแก่พระราชา ได้ตรัสพระคาถาว่า.

"บุคคลผู้มิใช่มิตรเห็นเพื่อนๆ แล้ว ไม่ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ร่าเริงต้อนรับเพื่อน ไม่ดูแลเพื่อน กล่าวคำย้อนเพื่อน".

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 17 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 207

"บุคคลมิใช่มิตร คบหาศัตรูของเพื่อน ไม่คบหามิตรของเพื่อน ห้ามผู้ที่กล่าวสรรเสริญเพื่อน สรรเสริญผู้ที่ด่าเพื่อน".

"บุคคลผู้มิใช่มิตร ไม่บอกความลับแก่เพื่อน ไม่ช่วยปกปิดความลับของเพื่อน ไม่สรรเสริญการงานของเพื่อน ไม่สรรเสริญปัญญาของเพื่อน".

"บุคคลผู้มิใช่มิตร ยินดีในความฉิบหายของเพื่อน ไม่ยินดีในความเจริญของเพื่อน ได้อาหารที่ดีมีรสอร่อยมาแล้ว ก็มิได้นึกถึงเพื่อน ไม่ยินดีอนุเคราะห์เพื่อนว่า อย่างไรหนอ เพื่อนของเราพึงได้ลาภจากที่นี้บ้าง".

"บัณฑิตได้เห็นและได้ฟังแล้วพึงรู้ว่า มิใช่มิตร ด้วยอาการเหล่าใด อาการดังกล่าวมา ๑๖ ประการนี้ มีอยู่ในบุคคลผู้มิใช่มิตร".

พระมหาสัตว์ตรัสพระคาถา ๕ คาถาเหล่านี้แล้ว อันพระราชาตรัสถามถึงลักษณะของมิตรด้วยพระคาถานี้อีกว่า.

"บัณฑิตมีปัญญา ได้เห็นและได้ฟังผู้กระทำกรรมอย่างไร จึงจะรู้ไว้ว่า ผู้นี้เป็นมิตร วิญญูชนจะพึงพยายามอย่างไร จึงจะรู้ได้ว่า ผู้นี้เป็นมิตร".

จึงตรัสคาถาที่เหลือว่า.

"บุคคลผู้เป็นมิตรนั้น ย่อมระลึกถึงเพื่อนผู้อยู่ห่างไกล ย่อมยินดีต้อนรับเพื่อนผู้มาหา ถือว่าเป็นเพื่อนของเราจริง รักใคร่จริง ทักทายปราศรัยด้วยวาจาอันไพเราะ".

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 17 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 208

"คนที่เป็นมิตร ย่อมคบหาผู้ที่เป็นมิตรของเพื่อน ไม่คบหาผู้ที่ไม่ใช่มิตรของเพื่อน ห้ามปรามผู้ที่ด่าติเตียนเพื่อน สรรเสริญผู้ที่พรรณนาคุณความดีของเพื่อน".

"คนที่เป็นมิตร ย่อมบอกความลับแก่เพื่อน ปิดความลับของเพื่อน สรรเสริญการงานของเพื่อน สรรเสริญปัญญาของเพื่อน".

"คนที่เป็นมิตร ย่อมยินดีในความเจริญของเพื่อน ไม่ยินดีในความเสื่อมของเพื่อน ได้อาหารมีรสอร่อยย่อมระลึกถึงเพื่อน ยินดีอนุเคราะห์เพื่อนว่า อย่างไรหนอ เพื่อนของเราพึงจะได้ลาภจากที่นี้บ้าง".

"บัณฑิตเห็นแล้วได้ฟังแล้วพึงรู้ว่า มิตรด้วยอาการเหล่าใด อาการดังกล่าวมา ๑๖ ประการนี้ มีอยู่ในบุคคลผู้เป็นมิตร".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น นํ อุมฺหยเต ความว่า คนที่มิใช่มิตร เห็นมิตรปฏิรูป ไม่กระทำความยิ้มแย้ม ไม่แสดงอาหารร่าเริง.

บทว่า น จ นํ ปฏินนฺทติ ความว่า เมื่อรับถ้อยคำของเขาแล้ว ไม่ชื่นชม ไม่ยินดี.

บทว่า จกฺขูนิ จสฺส ททา ความว่า เมื่อเพื่อนแลดูตัว ตัวก็ไม่แลดูเสีย.

บทว่า ปฏิโลมญฺจ ความว่า กล่าวย้อนถ้อยคำเพื่อน คือเป็นศัตรู.

บทว่า วณฺณกาเม ความว่า เมื่อกล่าวสรรเสริญคุณเพื่อน.

บทว่า นกฺขาติ ความว่า คนมิใช่มิตร ย่อมไม่บอกความลับของตนแก่เพื่อน.

บทว่า กมฺมนฺตสฺส ความว่า ย่อมพรรณนากรรมที่เพื่อนนั้นทำ.

บทว่า ปญฺสฺส ความว่า ไม่สรรเสริญปัญญาของเพื่อน ไม่สรรเสริญเพื่อนผู้ที่สมบูรณ์ด้วยญาณ.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 17 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 209

บทว่า อภเว แปลว่า ไม่เจริญ.

บทว่า ตสฺส นุปฺปชฺชเต ความว่า มิตรปฏิรูป ย่อมไม่เกิดสติขึ้นว่า เราจักให้แม้แก่มิตรของเราแต่ที่นี้.

บทว่า นานุกมฺปติ ความว่า ย่อมไม่คิดด้วยจิตอ่อนโยน.

บทว่า ลเภยฺยิโต ความว่า เพื่อนพึงได้ลาภแต่ที่นี้.

บทว่า อาการา ได้แก่ เหตุการณ์.

บทว่า ปวุตฺถํ แปลว่า ไปต่างถิ่น.

บทว่า เกลายิโก ความว่า คนที่เป็นมิตร ย่อมรักใคร่ นับถือว่าเป็นเพื่อนเรา เริ่มตั้งรักใคร่ปรารถนา.

บทว่า วาจาย ความว่า เมื่อจะเปล่งถ้อยคำกะเพื่อนด้วยถ้อยคำอันไพเราะ ย่อมยินดี คำที่เหลือพึงทราบโดยนัย เป็นปฏิปักษ์ต่อคำที่กล่าวแล้วนั่นแล.

พระราชามีพระทัยชื่นชมถ้อยคำของพระมหาสัตว์ ได้พระราชทานยศอันยิ่งใหญ่แก่พระมหาสัตว์แล้ว.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนมหาบพิตร ปัญหานี้ได้ตั้งขึ้นแม้ในกาลก่อนอย่างนี้ บัณฑิตทั้งหลายกล่าวถึงปัญหานี้ว่า คนที่มิใช่มิตรและคนที่เป็นมิตร จะพึงรู้ได้ด้วยอาการสามสิบสองเหล่านี้ แล้วทรงประชุมชาดกว่า พระราชาในกาลนั้น ได้มาเป็นพระอานนท์ ส่วนอำมาตย์ผู้เป็นบัณฑิต ได้มาเป็นเราตถาคตแล.

จบอรรถกถามิตตามิตตชาดก

จบอรรถกถาทวาทสนิบาต ประดับด้วยชาดก ๑๐ ชาดกในชาตกัฏฐกถา

ด้วยประการฉะนี้.

รวมชาดกที่มีในทวาทสนิบาตนี้ คือ

๑. จุลลกุณาลชาดก ๒. ภัททสาลชาดก ๓. สมุททวาณิชชาดก ๔. กามชาดก ๕. ชนสันธชาดก ๖. มหากัณหชาดก ๗. โกสิยชาดก ๘. เมณฑกปัญหาชาดก ๙. มหาปทุมชาดก ๑๐. มิตตามิตตชาดก และ อรรถกถา.