พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. ผันทนชาดก ว่าด้วยการผูกเวรของหมีและไม้ตะคร้อ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ส.ค. 2564
หมายเลข  35938
อ่าน  485

[เล่มที่ 60] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 223

๒. ผันทนชาดก

ว่าด้วยการผูกเวรของหมีและไม้ตะคร้อ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 60]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 223

๒. ผันทนชาดก

ว่าด้วยการผูกเวรของหมีและไม้ตะคร้อ

[๑๗๓๘] ท่านเป็นบุรุษถือขวาน มาสู่ป่ายืนอยู่ ดูก่อนสหาย เราถามท่าน ท่านจงบอกแก่เรา ท่านต้องการจะตัดไม้หรือ.

[๑๗๓๙] เจ้าเป็นหมี เที่ยวอยู่ทั่วไปทั้งที่ทึบและที่โปร่ง ดูก่อนสหาย เราถามเจ้า ขอเจ้าจงบอกแก่เรา ไม้อะไรที่จะทำเป็นกงรถได้มั่นคงดี.

[๑๗๔๐] ไม้รังก็ไม่มั่นคง ไม้ตะเคียนก็ไม่มั่นคง ไม้หูกวางจะมั่นคงที่ไหนเล่า แต่ว่าตัดต้นไม้ชื่อว่า ต้นตะคร้อ นั่นแหละ ทำเป็นกงรถมั่นคงดีนัก.

[๑๗๔๑] ต้นตะคร้อนั้นใบเป็นอย่างไร อนึ่ง ลำต้นเป็นอย่างไร ดูก่อนสหาย เราถามเจ้า ขอเจ้าจงบอกแก่เรา เราจะรู้จักไม้ตะคร้อได้อย่างไร.

[๑๗๔๒] กิ่งทั้งหลายแห่งต้นไม้ใด ย่อมห้อยลงด้วย ย่อมน้อมลงด้วย แต่ไม่หัก ต้นไม้นั้นชื่อว่า ต้นตะคร้อ ที่เรายืนอยู่ใกล้โคนต้นนี่.

[๑๗๔๓] ต้นไม้นี้แหละชื่อว่า ต้นตะคร้อ เป็นต้นไม้ควรแก่การงานของท่านทุกอย่าง คือควรแก่กำ ล้อ ดุม งอนและกงรถ.

[๑๗๔๔] เทวดาผู้สิงอยู่ที่ต้นตะคร้อได้กล่าวดังนี้ว่า ดูก่อนภารทวาชะ แม้ถ้อยคำของเรามีอยู่ เชิญท่านฟังถ้อยคำของเราบ้าง.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 224

[๑๗๔๕] ท่านจงลอกหนังประมาณ ๔ นิ้ว จากคอแห่งหมีตัวนี้ แล้วจงเอาหนังนั้นหุ้มกงรถ เมื่อทำได้อย่างนั้น กงรถของท่านก็จะพึงเป็นของมั่นคง.

[๑๗๔๖] เทวดาผู้สิงอยู่ที่ต้นตะคร้อ จองเวรได้สำเร็จ นำความทุกข์มาให้แก่หมีทั้งหลายที่เกิดแล้วและยังไม่เกิด ด้วยประการนี้.

[๑๗๔๗] ไม้ตะคร้อฆ่าหมี และหมีก็ฆ่าไม้ตะคร้อ ต่างก็ฆ่ากันและกัน ด้วยการวิวาทกัน ด้วยประการฉะนี้.

[๑๗๔๘] ในหมู่มนุษย์ ความวิวาทเกิดขึ้น ณ ที่ใด มนุษย์ทั้งหลายในที่นั้น ย่อมฟ้อนรำดังนกยูงรำแพนหาง เหมือนหมีและไม้ตะคร้อ ฉะนั้น.

[๑๗๔๙] เพราะเหตุนั้น อาตมภาพขอถวายพระพรแก่บพิตรทั้งหลาย ขอความเจริญจงมีแก่บพิตรทั้งหลายเท่าที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้ ขอบพิตรทั้งหลาย จงร่วมบันเทิงใจ อย่าวิวาทกัน อย่าเป็นดังหมีและไม้ตะคร้อเลย.

[๑๗๕๐] ขอบพิตรทั้งหลาย จงศึกษาความสามัคคี ความสามัคคีนั้นแหละ พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงสรรเสริญแล้ว บุคคลผู้ยินดีในสามัคคีธรรม ตั้งอยู่ในธรรม ย่อมไม่คลาดจากธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ.

จบผันทนชาดกที่ ๒

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 225

อรรถกถาผันทนชาดก

พระศาสดา เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ ฝั่งแม่น้ำโรหิณี ทรงพระปรารภการทะเลาะแห่งพระญาติ จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "กุาริหตฺโถ ปุริโส" ดังนี้.

ก็เนื้อความจักมีแจ้งในกุณาลชาดก. (๑) แต่ในครั้งนั้น พระศาสดาตรัสเรียกหมู่ญาติมาตรัสว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตรทั้งหลาย.

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ ณ กรุงพาราณสี ได้มีบ้านช่างไม้อยู่ภายนอกพระนคร ในบ้านนั้นมีพราหมณ์ช่างไม้ผู้หนึ่ง หาไม้มาจากป่า ทำรถเลี้ยงชีวิต ครั้งนั้น ในหิมวันตประเทศ มีต้นตะคร้อใหญ่ มีหมีตัวหนึ่งเที่ยวหากินแล้ว มานอนที่โคนไม้ตะคร้อนั้น ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง เมื่อลมระดมพัด กิ่งแห้งกิ่งหนึ่งของต้นตะคร้อหักตกถูกคอหมีนั้น มันพอกิ่งไม้ทิ่มคอหน่อยก็สะดุ้งตกใจลุกขึ้นวิ่งไป หวนกลับมาใหม่มองดูทางที่วิ่งมา ไม่เห็นอะไร คิดว่า สีหะหรือพยัคฆ์อื่นๆ ที่จะติดตามมามิได้มีเลย ก็แต่เทพยดาที่เกิด ณ ต้นไม้นี้ ชะรอยจะไม่ทนดูเราผู้นอน ณ ที่นี้ เอาเถิดคงได้รู้กัน แล้วผูกโกรธ ในที่มิใช่ฐานะแล้วทุบฉีกต้นไม้ ตะคอกรุกขเทวดาว่า ข้าไม่ได้กินใบต้นไม้ของเจ้าเลยทีเดียว ข้าไม่ได้หักกิ่ง ทีมฤคอื่นๆ พากันนอนที่ตรงนี้เจ้าทนได้ ทีข้าละก็เจ้าทนไม่ได้ โทษอะไรของข้าเล่า รอสักสองสามวันต่อไปเถิด ข้าจักให้เขาขุดต้นไม้ของเจ้าเสียทั้งรากทั้งโคน แล้วให้ตัดเป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่จงได้ เที่ยวสอดส่องหาบุรุษผู้หนึ่งเรื่อยไป ครั้งนั้น พราหมณ์ช่างไม้ผู้นั้น พามนุษย์ ๒ - ๓ คนไปถึงประเทศตรงนั้นโดยยานน้อยเพื่อต้องการไม้ทำรถ จอดยานน้อยไว้ ณ ที่แห่งหนึ่ง ถือพร้าและขวานเลือกเฟ้นต้นไม้ ได้เดินไป


(๑) ดูพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก แปล เล่มที่ ๔ ภาคที่ ๑ หน้า ๕๑๔.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 226

จนใกล้ไม้ตะคร้อ หมีพบเข้าแล้วคิดว่า วันนี้ น่าที่เราจะได้เห็นหลังปัจจามิตร ได้มายืนอยู่ที่โคนต้น ฝ่ายนายช่างไม้เล่า มองดูทางโน้นทางนี้ ผ่านไปใกล้ต้นตะคร้อ หมีนั้นคิดว่า เราต้องบอกเขาทันทีที่เขายังไม่ผ่านไป ดังนี้แล้ว จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า.

"ท่านเป็นบุรุษถือขวานมาสู่ป่ายืนอยู่ ดูก่อนสหาย เราถามท่าน ท่านจงบอกแก่เรา ท่านต้องการจะตัดไม้หรือ".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุริโส ความว่า ท่านผู้เป็นบุรุษคนหนึ่ง มือถือขวาน หยั่งลงสู่ป่านี้ยืนอยู่.

เขาฟังคำของมันแล้ว คิดว่า ผู้เจริญน่าอัศจรรย์จริง มฤคพูดภาษามนุษย์ เราไม่เคยพบมาก่อนจากนี้เลย เจ้านี่คงจะรู้จักไม้ที่เหมาะแก่การทำรถ ต้องถามมันดูก่อน จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า.

"เจ้าเป็นหมี เที่ยวอยู่ทั่วไปทั้งป่าทึบและป่าโปร่ง ดูก่อนสหาย เราถามเจ้า ขอเจ้าจงบอกแก่เรา ไม้อะไรที่จะทำกงรถได้มั่นคงดี".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อีโส ความว่า แกเล่าเป็นหมีตัวหนึ่ง ท่องเที่ยวไปในป่า เจ้าคงรู้จักไม้ที่ควรจะทำรถได้.

หมีได้ฟังดังนั้น คิดว่า บัดนี้ มโนรถของข้าจักถึงที่สุด ดังนี้แล้ว จึงกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า.

"ไม้รังก็ไม่มั่นคง ไม้ตะเคียนก็ไม่มั่นคง ไม้หูกวางจะมั่นคงที่ไหนเล่า แต่ว่าต้นไม้ชื่อว่า ต้นตะคร้อ นั่นแหละ ทำเป็นกงรถมั่นคงดีนัก".

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 227

เขาฟังคำของมันนั้นแล้ว เกิดโสมนัสว่า วันนี้เป็นวันดีจริงเทียวละ ที่เราเข้าป่า สัตว์ดิรัจฉานบอกไม้อันเหมาะที่จะกระทำรถแก่เรา โอ ดีนัก เมื่อจะถามจึงกล่าวคาถาที่ ๔ ว่า.

"ต้นตะคร้อนั้นใบเป็นอย่างไร อนึ่ง ลำต้นเป็นอย่างไร ดูก่อนสหาย เราถามเจ้า ขอเจ้าจงบอกแก่เรา เราจะรู้จักไม้ตะคร้อได้อย่างไร".

ลำดับนั้น หมีเมื่อจะบอกแก่เขา ได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า.

"กิ่งทั้งหลายแห่งต้นไม้ใด ย่อมห้อยลงด้วย ย่อมน้อมลงด้วย แต่ไม่หัก ต้นไม้นั้นชื่อว่า ต้นตะคร้อ ที่เรายืนอยู่ใกล้โคนต้นนี่".

"ต้นไม้นี้แหละชื่อว่า ต้นตะคร้อ เป็นต้นไม้ควรแก่การงานของท่านทุกอย่าง คือควรทำล้อ ดุม งอนและกงรถ".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อารานํ (* กำ) ความว่า หมีนั้นคิดว่า บางคราว คนนี้จะไม่พึงถือเอาต้นไม้นี้ก็ได้ เราต้องบอกแม้ซึ่งคุณของต้นไม้นั้นไว้บ้าง จึงได้กล่าวคำนี้ว่า ทำกำดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อีสานเนมิรถสฺสจ ความว่า ต้นตะคร้อนี้จักควรแก่การงาน คือจักเหมาะแก่การงานที่จะกระทำงอนรถ กงรถและเครื่องรถที่เหลือทุกๆ อย่างของท่าน.

หมีนั้นครั้นบอกอย่างนี้แล้ว ดีใจ เดินเที่ยวไปเสียข้างหนึ่ง ช่างไม้เล่า ก็เตรียมการที่จะตัดต้นไม้ รุกขเทวดาคิดว่าอะไรๆ เราก็มิได้ให้ตกใส่บนตัวหมีนั้น มันผูกอาฆาตในอันมิใช่เหตุเลย กำลังจะทำลายวิมานของเราเสียและตัวเราก็จักพลอยย่อยยับไปด้วย ต้องล้างผลาญไอ้หมีตัวนี้ด้วยอุบายอย่างหนึ่งให้ได้ จำแลงเป็นคนทำงานในป่า มาสู่สำนักของช่างไม้นั้น แล้วถามว่า บุรุษผู้เจริญ

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 228

ท่านได้ต้นไม้ที่เหมาะใจแล้ว ท่านจักตัดต้นไม้นี้ไปทำอะไร ตอบว่า จักกระทำกงรถด้วยต้นไม้นี้ จักเป็นตัวรถก็ได้ ถามว่า ใครบอกท่าน ตอบว่า หมีตัวหนึ่งบอก รุกขเทวดาจึงกล่าวว่า ดีละ ดีแล้ว ที่หมีนั้นบอก รถจักงามด้วยไม้นี้ แต่เมื่อท่านลอกหนังคอหมีประมาณ ๔ นิ้วแล้วเอาหนังนั้นหุ้มกงรถดุจหุ้มด้วยแผ่นเหล็ก กงรถก็จะแข็งแรง และท่านจักได้ทรัพย์มาก ถามว่า ข้าพเจ้า จักได้หนังหมีมาจากไหนเล่า ตอบว่า ท่านเป็นคนโง่ ต้นไม้นี้ตั้งต้นอยู่ในป่า ไม่หนีหายไปดอกนะ ท่านจงไปสู่สำนักไอ้หมีตัวที่มันบอกต้นไม้นั้น หลอกมันว่า นายเอ๋ย ข้าพเจ้าจะตัดต้นไม้ที่ท่านชี้ให้ ตรงไหนเล่า พามันมา ขณะที่มันหมดระแวงกำลังยื่นจงอยปากบอกอยู่ว่า ตัดตรงนี้และตรงนั้น ท่านจงฟันเสียด้วยขวานใหญ่อันคมให้ถึงสิ้นชีวิต ถลกหนังกินเนื้อที่ดีๆ แล้วค่อยตัดต้นไม้ เป็นอันรุกขเทวดาจองเวรสำเร็จ.

พระศาสดาเมื่อจะประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า.

"เทวดาผู้สิงอยู่ที่ต้นตะคร้อได้กล่าวดังนี้ว่า ดูก่อน ภารทวาชะ แม้ถ้อยคำของเรามีอยู่ เชิญท่านฟังถ้อยคำของเราบ้าง".

"ท่านจงลอกหนังประมาณ ๔ นิ้ว จากคอแห่งหมีตัวนี้ แล้วจงเอาหนังนั้นหุ้มกงรถ เมื่อทำได้อย่างนั้น กงรถของท่านก็จะพึงเป็นของมั่นคง".

"เทวดาผู้สิงอยู่ต้นตะคร้อ จองเวรได้สำเร็จ นำความทุกข์มาให้แก่หมีทั้งหลาย ที่เกิดแล้วและยังไม่เกิด ด้วยประการฉะนี้".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภารทฺวาช เป็นคำที่เทวดาเรียกเขาโดยโคตร.

บทว่า อุปกฺขนฺธมฺหา แปลว่า จากลำคอ.

บทว่า อุกฺกจฺจ แปลว่า ตัดออก.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 229

ช่างไม้ฟังคำของรุกขเทวดา คิดว่า โอ้โอ วันนี้เป็นวันมงคลของเรา ฆ่าหมี ตัดต้นไม้ แล้วหลีกไป.

พระศาสดาเมื่อจะประกาศเนื้อความนั้นจึงตรัสคาถาว่า.

"ไม้ตะคร้อฆ่าหมี และหมีก็ฆ่าไม้ตะคร้อ ต่างก็ฆ่ากันและกัน ด้วยการวิวาทกัน ด้วยประการฉะนี้".

"ในหมู่มนุษย์ ความวิวาทเกิดขึ้น ณ ที่ใด มนุษย์ทั้งหลายในที่นั้น ย่อมฟ้อนรำดังนกยูงรำแพน เหมือนหมีและไม้ตะคร้อ ฉะนั้น".

"เพราะเหตุนั้น อาตมภาพขอถวายพระพรแก่บพิตรทั้งหลาย ขอความเจริญจงมีแก่บพิตรทั้งหลายเท่าที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้ ขอบพิตรทั้งหลาย จงร่วมบันเทิงใจ อย่าวิวาทกัน อย่าเป็นดังหมีและไม้ตะคร้อเลย".

"ขอบพิตรทั้งหลาย จงศึกษาความสามัคคี ความสามัคคีนั้นแหละ พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงสรรเสริญแล้ว บุคคลผู้ยินดีในสามัคคีธรรม ตั้งอยู่ในธรรม ย่อมไม่คลาดจากธรรม อันเป็นแดนเกษมจากโยคะ".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อฆาตยุํ แปลว่า ต่างฝ่ายต่างฆ่ากัน.

บทว่า มยุรนจฺจํ นจฺจนฺติ ความว่า ดูก่อนมหาบพิตร บรรดามนุษย์วิวาทเกิดมีในที่ใด ฝูงคนในที่นั้นต่างก็จะร่ายรำเหมือนนกยูงรำแพน กระทำที่ๆ ควรปกปิด คือที่ๆ ลี้ลับให้ปรากฏ ฉันใด มนุษย์นั้นก็ฉันนั้น เมื่อประกาศโทษแห่งกันและกัน ชื่อว่า ฟ้อนรำเหมือนการรำแพนแห่งนกยูง.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 230

บทว่า ตํ โว ความว่า เพราะเหตุนั้น อาตมภาพขอถวายพระพร บพิตรทั้งหลาย ขอความเจริญจงมีแก่มหาบพิตรทั้งหลาย.

บทว่า ยาวนฺเตตฺถ ความว่า เท่าที่มาประชุมกัน ณ ที่นี้ อย่าพากันเป็นหมีและไม้ตะคร้อเลย.

บทว่า สามคฺยเมว ความว่า บพิตรทั้งหลาย จงศึกษาความเป็นผู้พร้อมเพรียงกันอย่างเดียวเถิด นี้เป็นข้อที่พุทธาทิบัณฑิตทั้งหลายสรรเสริญแล้ว.

บทว่า ธมฺมฏฺโ ความว่า ตั้งอยู่ในสุจริตธรรม.

บทว่า โยคกฺเขมา ความว่า ท่านผู้ยินดีในสามัคคีธรรม ย่อมไม่แคล้วจากธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ คือพระนิพพาน.

บทว่า น ธํสติ ความว่า ย่อมไม่เสื่อม.

พระศาสดาทรงถือเอายอดแห่งเทศนาด้วยพระนิพพาน ด้วยประการฉะนี้.

พระราชาทั้งหลาย ทรงสดับธรรมกถาของพระองค์แล้ว ต่างก็ทรงสมัครสมานกันได้.

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า ก็แลเทวดาผู้สิงอยู่ในราวป่านั้น ฟังเรื่องราวนั้นในครั้งนั้น คือเราตถาคตแล.

จบอรรถกถาผันทนชาดก