๓. ชวนหังสชาดก ว่าด้วยรักกันอยู่ไกลก็เหมือนอยู่ใกล้
[เล่มที่ 60] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 231
๓. ชวนหังสชาดก
ว่าด้วยรักกันอยู่ไกลก็เหมือนอยู่ใกล้
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 60]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 231
๓. ชวนหังสชาดก
ว่าด้วยรักกันอยู่ไกลก็เหมือนอยู่ใกล้
[๑๗๕๑] ดูก่อนหงส์ เชิญเกาะที่ตั่งทองนี้เถิด การได้เห็นท่านชื่นใจฉันจริง ท่านเป็นอิสระในสถานที่นี้ ท่านมาถึงแล้ว รังเกียจสิ่งใดที่มีอยู่ในนิเวศน์นี้ จงบอกสิ่งนั้นให้ทราบเถิด.
[๑๗๕๒] คนบางพวก ย่อมเป็นที่รักของบุคคลบางพวกเพราะได้ฟัง อนึ่ง ความรักของบุคคลบางพวกย่อมหมดสิ้นไปเพราะได้เห็น คนบางพวกย่อมเป็นที่รักเพราะได้เห็นและเพราะได้ฟัง ท่านรักใคร่ฉันเพราะได้เห็นบ้างไหม.
[๑๗๕๓] ท่านเป็นที่รักของฉันเพราะได้ฟัง และเป็นที่รักของฉันยิ่งนักเพราะอาศัยการเห็น ดูก่อนพญาหงส์ ท่านน่ารักน่าดูอย่างนี้ เชิญอยู่ในสำนักของฉันเถิด.
[๑๗๕๔] ข้าพระองค์ทั้งหลายได้รับการสักการบูชาแล้วเป็นนิตย์ พึงอยู่ในพระราชนิเวศน์ของพระองค์ แต่บางครั้งพระองค์ทรงเมาน้ำจัณฑ์แล้ว จะพึงตรัสสั่งว่า จงย่างพญาหงส์ให้ฉันที.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 232
[๑๗๕๕] การดื่มน้ำเมา ซึ่งเป็นที่รักของฉันยิ่งกว่าท่าน ฉันติเตียนการดื่มน้ำเมานั้น เอาเถอะ ตลอดเวลาที่ท่านยังอยู่ในนิเวศน์ของฉัน ฉันจักไม่ดื่มน้ำเมาเลย.
[๑๗๕๖] ข้าแต่พระราชา เสียงของสุนัขจิ้งจอกทั้งหลายก็ดี ของนกทั้งหลายก็ดี รู้ได้ง่าย แต่เสียงของมนุษย์รู้ได้ยากกว่านั้น.
[๑๗๕๗] อนึ่ง ผู้ใดเมื่อก่อนเป็นผู้ใจดี คนทั้งหลายนับถือว่าเป็นญาติ เป็นมิตรหรือเป็นสหาย ภายหลังผู้นั้นกลับกลายเป็นศัตรูไปก็ได้ ใจของมนุษย์รู้ได้ยากอย่างนี้.
[๑๗๕๘] ใจจดจ่ออยู่ในบุคคลใด แม้บุคคลนั้นจะอยู่ไกลก็เหมือนกับอยู่ใกล้ ใจเหินห่างจากบุคคลใด แม้บุคคลนั้นจะอยู่ใกล้ก็เหมือนกับอยู่ไกล.
[๑๗๕๙] ถ้ามีจิตเลื่อมใสรักใคร่กัน ถึงแม้จะอยู่คนละฝั่งสมุทร ก็เหมือนอยู่ใกล้ชิดกัน ถ้ามีจิตคิดประทุษร้ายกัน ถึงแม้จะอยู่ใกล้ชิดกัน ก็เหมือนกับอยู่กันคนละฝั่งสมุทร.
[๑๗๖๐] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ คนที่เป็นศัตรูกันถึงจะอยู่ร่วมกันก็เหมือนกับอยู่ห่างไกลกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมิ่งขวัญแห่งรัฐ คนที่รักกันถึงแม้จะอยู่ห่างไกลกัน ก็เหมือนกับอยู่ร่วมกันด้วยหัวใจ.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 233
[๑๗๖๑] ด้วยการอยู่ร่วมกันนานเกินควร คนรักกันย่อมกลายเป็นคนไม่รักกันก็ได้ ข้าพระองค์ขอทูลลาพระองค์ไป ก่อนที่ข้าพระองค์จะกลายเป็นผู้ไม่เป็นที่รักของพระองค์.
[๑๗๖๒] เมื่อเราวิงวอนอยู่อย่างนี้ ถ้าท่านมิได้รู้ถึงความนับถือของเรา ท่านก็มิได้ทำตามคำวิงวอนของเรา ซึ่งจะเป็นผู้ปรนนิบัติท่าน เมื่อเป็นอย่างนี้ เราขอวิงวอนท่านว่า ท่านพึงหมั่นมาที่นี่บ่อยๆ นะ.
[๑๗๖๓] ข้าแต่พระมหาราชผู้เป็นมิ่งขวัญแห่งรัฐ ถ้าเรายังอยู่กันเป็นปกติอย่างนี้ อันตรายจักยังไม่มีทั้งแก่พระองค์และแก่ข้าพระองค์ เป็นอันแน่นอนว่า เราทั้งสองคงได้พบเห็นกัน ในเมื่อวันคืนผ่านไปเป็นแน่.
จบชวนหังสชาดกที่ ๓
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 234
อรรถกถาชวนหังสชาดก
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภพระเทศนาทัฬหธัมมธนุคคหสูตร ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "อิเธว หํส นิปต" ดังนี้.
ความพิสดารว่า จำเดิมแต่วันที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระสูตรนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนนายขมังธนูมีธรรมมั่นคง ๔ นาย ฝึกฝนดีแล้ว มีมือได้ฝึกปรือแล้ว ยิงแม่นยำ ยืน ๔ ทิศ ลำดับนั้น บุรุษคนหนึ่งมา เขาจักจับลูกศรของนายขมังธนูผู้มีธรรมมั่นคง ๔ นายเหล่านี้ ที่ฝึกฝนดีแล้ว มีมือได้ฝึกปรือแล้ว ยิงแม่นยำ ยิงไปทั้ง ๔ ทิศไม่ทันตกถึงดินเลย แล้วนำมาให้ได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นอย่างไร บุรุษผู้วิ่งไปด้วยความเร็ว ต้องประกอบด้วยความเร็วอย่างยอดเยี่ยม เมื่อภิกษุทั้งหลาย กราบทูลรับว่า อย่างนั้นพระเจ้าข้า จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเร็วของบุรุษจะเป็นปานใด ความเร็วของดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ยังเร็วกว่านั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเร็วของบุรุษนั้นจะเร็วปานใดเล่า อนึ่งเล่า ฝูงเทวดาย่อมเหาะไปข้างหน้าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ ความเร็วของหมู่เทวดานั้น เร็วยิ่งกว่าความเร็วของดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเร็วของบุรุษนั้น ความเร็วของหมู่เทวดาเหล่านั้นปานใด อายุสังขารย่อมสิ้นไปเร็วกว่านั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกในข้อนั้น อย่างนี้ว่า พวกเราต้องละความกระหายด้วยอำนาจความกำหนัดในกามทั้งหลาย ที่บังเกิดแล้วเสียให้ได้ อนึ่ง จิตของพวกเราต้องไม่ตั้งยึดความกระหายด้วยอำนาจความกำหนัดในกามทั้งหลายไว้เลย พวกเราต้องเป็นผู้ไม่ประมาท ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอต้องสำเหนียกอย่างนี้ทีเดียว ดังนี้ ในวันที่ ๒
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 235
พวกภิกษุสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย พระศาสดาทรงดำรงในพุทธวิสัยของพระองค์ ทรงชี้แจงถ้วนถี่ถึงอายุสังขารของสัตว์เหล่านี้ กระทำให้เป็นของชั่วประเดี๋ยว ทรพล ให้พวกภิกษุที่เป็นปุถุชนพากันถึงความสะดุ้งใจอย่างล้นพ้น โอ ธรรมดาพระพุทธพลอัศจรรย์นะ พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่น่าอัศจรรย์เลย ที่เรานั้นบรรลุสัพพัญญุตญาณแล้วในบัดนี้ ชี้แจงถึงอายุสังขารในหมู่สัตว์ เป็นภาวะชั่วประเดี๋ยว แสดงธรรมให้พวกภิกษุสลดใจได้ เพราะในปางก่อน ถึงเราจะบังเกิดในกำเนิดหงส์เป็นอเหตุกสัตว์ ก็เคยชี้แจงความที่สังขารทั้งหลาย เป็นสภาวะชั่วคราว แสดงธรรมให้บริษัททั้งสิ้น ตั้งต้นแต่พระเจ้าพาราณสี สลดได้แล้ว ทรงนำอดีตนิทานมาดังต่อไปนี้.
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดชวนหงส์ มีหงส์เก้าหมื่นเป็นบริวาร อาศัยอยู่ ณ ภูเขาจิตตกูฏ วันหนึ่ง พระโพธิสัตว์พร้อมด้วยบริวารเคี้ยวกินข้าวสาลีเกิดเองในสระแห่งหนึ่ง ณ พื้นชมพูทวีป บินไปสู่เขาจิตตกูฏ ด้วยการบินไปอันงดงามระย้าระยับทางเบื้องบนแห่งกรุงพาราณสีกับบริวารเป็นอันมาก ประหนึ่งบุคคลลาดลำแพนทองไว้บนอากาศฉะนั้นทีเดียว ครั้งนั้น พระเจ้าพาราณสีทอดพระเนตรเห็นพระโพธิสัตว์นั้น ตรัสแก่พวกอำมาตย์ว่า อันหงส์ แม้นี้คงเป็นพระราชาเหมือนเรา บังเกิดพระสิเนหาในพระโพธิสัตว์นั้น ทรงถือดอกไม้ของหอมและเครื่องประเทืองผิว ทอดพระเนตรดูพระโพธิสัตว์นั้น พลางรับสั่งให้ประโคมดนตรีทุกอย่าง พระมหาสัตว์เห็นท้าวเธอทรงกระทำสักการะแก่ตน จึงถามฝูงหงส์ว่า พระราชาทรงกระทำสักการะเห็นปานนี้แก่เรา
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 236
ทรงพระประสงค์อะไรเล่า ฝูงหงส์พากันตอบว่า ข้าแต่สมมติเทพ ทรงพระประสงค์มิตรภาพกับพระองค์ พระเจ้าข้า พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น มิตรภาพของพวกเราจงมีแก่พระราชาเถิด กระทำมิตรภาพแก่พระราชาแล้ว หลีกไป.
อยู่มาวันหนึ่ง ในเวลาที่พระราชาเสด็จสู่พระอุทยาน พระโพธิสัตว์บินไปสู่สระอโนดาต ใช้ปีกข้างหนึ่งนำน้ำมา ข้างหนึ่งนำผงจันทน์มา ให้พระราชาทรงสรงสนานด้วยน้ำนั้น โปรยผงจันทน์ถวาย เมื่อมหาชนกำลังดูอยู่นั่นแหละ ได้พาบริวารบินไปสู่เขาจิตตกูฏ จำเดิมแต่นั้น พระราชาปรารถนาจะเห็นพระมหาสัตว์ ก็ประทับทอดพระเนตรทางที่มา ด้วยทรงพระอาโภค ว่า สหายของเราคงมาวันนี้ ครั้งนั้น ลูกหงส์สองตัวเป็นน้องเล็กของพระมหาสัตว์ ปรึกษากันว่า เราจักบินแข่งกับพระอาทิตย์ บอกแก่พระมหาสัตว์ว่า ฉันจักบินแข่งกับดวงอาทิตย์ พระมหาสัตว์กล่าวว่า พ่อเอ๋ย อันความเร็วของดวงอาทิตย์เร็วพลัน เธอทั้งสองจักไม่สามารถบินแข่งกับดวงอาทิตย์ได้ดอก จักต้องย่อยยับเสียในระหว่างทีเดียว อย่าพากันไปเลยนะ หงส์เหล่านั้นพากันอ้อนวอนถึงสองครั้งสามครั้ง แม้พระโพธิสัตว์ก็คงห้ามหงส์ทั้งสองนั้นตลอดสามครั้งเหมือนกัน หงส์ทั้งสองนั้น ดื้อดันด้วยมานะ ไม่รู้กำลังของตน ไม่บอกแก่พระมหาสัตว์เลย คิดว่า เราจักบินแข่งกับดวงอาทิตย์ เมื่อดวงอาทิตย์ยังไม่ทันขึ้นไปเลย พากันบินไปจับอยู่ ณ ยอดเขายุคนธร พระมหาสัตว์ ไม่เห็นหงส์ทั้งสองนั้น ถามว่า หงส์ทั้งสองนั้นไปไหนกันเล่า ได้ฟังเรื่องนั้นแล้วคิดว่า หงส์ทั้งสองนั้นไม่อาจแข่งกับดวงอาทิตย์ จักพากันย่อยยับเสียระหว่างทางเป็นแม่นมั่น เราต้องให้ชีวิตทานแก่หงส์ทั้งสองนั้น แม้พระมหาสัตว์ก็บินไปจับอยู่ที่ยอดเขายุคนธรเช่นเดียวกัน ครั้นเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว หงส์ทั้งคู่ก็บินถลาขึ้นไปกับดวงอาทิตย์ ฝ่ายพระมหาสัตว์เล่าก็บินไปกับ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 237
หงส์ทั้งสองนั้น น้องเล็กแข่งไปได้เพียงเวลาสายก็อิดโรย ได้เป็นดุจเวลาที่จุดไฟขึ้นที่ข้อต่อแห่งปีกทั้งหลาย น้องเล็กนั้นจึงให้สัญญาแก่พระโพธิสัตว์ให้ทราบว่า พี่จ๋า ฉันบินไม่ไหวแล้ว.
ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ปลอบเธอว่าอย่ากลัวเลยนะ ฉันจักให้ชีวิตแก่เธอ ประคองไว้ด้วยอ้อมปีก ให้เบาใจไปสู่เขาจิตตกูฏ มอบไว้ท่ามกลางฝูงหงส์ บินไปอีก ทันดวงอาทิตย์แล้วบินชลอไปกับน้องกลาง บินแข่งกับดวงอาทิตย์ไปจนถึงเวลาจวนเที่ยง ก็อิดโรย. ได้เป็นดุจเวลาที่ จุดไฟขึ้นที่ข้อต่อแห่งปีกทั้งหลาย ลำดับนั้น ก็ให้สัญญาแก่พระโพธิสัตว์ ให้ทราบว่า พี่จ๋า ฉันไปไม่ไหวละ พระมหาสัตว์ปลอบโยนหงส์แม้นั้นโดยทำนองเดียวกัน ประคองด้วยอ้อมปีกไปสู่เขาจิตตกูฏ ขณะนั้นดวงอาทิตย์ถึงท่ามกลางฟ้าพอดี ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ดำริว่า วันนี้เราจักทดลองกำลังแห่งสรีระของเราดู แล้วบินไปด้วยความเร็วรวดเดียวเท่านั้น จับยอดเขายุคนธร ถลาขึ้นจากนั้น ใช้กำลังรวดเดียวเหมือนกันทันดวงอาทิตย์ บางคราวก็แข่งไปข้างหน้า บางคราวก็ไล่หลัง ได้คิดว่า อันการบินแข่งกับดวงอาทิตย์ของเรา ไร้ประโยชน์ เกิดประดังจากการทำในใจโดยไม่แยบคาย เราจะต้องการอะไร ด้วยประการนี้ เราจักไปสู่พระนครพาราณสี กล่าวถ้อยคำประกอบด้วยอรรถประกอบด้วยธรรม แก่พระราชาสหายของเรา พระมหาสัตว์นั้นหันกลับ เมื่อดวงอาทิตย์ยังไม่ทันโคจรผ่านท่ามกลางฟ้าไปเลย บินเลียบตามท้องจักรวาลทั้งสิ้น โดยที่สุดถึงที่สุดลดความเร็วลง บินเลียบชมพูทวีปทั้งสิ้น โดยที่สุดถึงที่สุด ถึงกรุงพาราณสี พระนครทั้งสิ้นอันมีบริเวณได้ ๑๒ โยชน์ ได้เป็นดุจหงส์กำบังไว้ ชื่อว่า ระยะทางไม่ปรากฏเลย ครั้นความเร็วลดลงโดยลำดับ ช่องในอากาศจึงปรากฏได้ พระมหาสัตว์ผ่อนความเร็วลง ร่อนลงจากอากาศ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 238
ได้จับอยู่ ณ ที่เฉพาะช่องพระสีหบัญชร พระราชาตรัสว่า สหายของเรามา ตรัสสั่งให้จัดตั้งตั่งทอง เพื่อให้พระโพธิสัตว์เกาะ ตรัสว่า สหายเอ๋ย เชิญท่านเข้ามาเถิด เกาะที่ตรงนี้เถิด ดังนี้ตรัสพระคาถาที่ ๑ ว่า.
"ดูก่อนหงส์ เชิญเกาะที่ตั่งทองนี้เถิด การได้เห็นท่านชื่นใจฉันจริง ท่านเป็นอิสระในสถานที่นี้ ท่านมาถึงแล้ว รังเกียจสิ่งใดที่มีอยู่ในนิเวศน์นี้ จงบอกสิ่งนั้นให้ทราบเถิด".
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิธ แปลว่า ที่ตรงนี้พระราชาตรัสหมายเอาตั่งทอง.
บทว่า นิปต แปลว่า เชิญจับอยู่.
ด้วยบทว่า อิสฺสโรสิ นี้ พระราชาตรัสว่า ท่านเป็นผู้ใหญ่ เป็นเจ้าของที่นี้มาแล้ว.
บทว่า ยํ อิธตฺถิ ความว่า สิ่งใดมีอยู่ในนิเวศน์นี้ ท่านไม่ต้องเกรงใจ จงบอกแก่ฉันถึงสิ่งนั้นเถิด.
พระมหาสัตว์จับอยู่ที่ตั่งทอง พระราชารับสั่งให้คนทาช่องปีกของ พระมหาสัตว์นั้น ด้วยน้ำมันที่หุงซ้ำๆ ได้แสนครั้ง รับสั่งให้เอาข้าวตอกคลุกด้วยน้ำผึ้งและน้ำตาลกรวด ใส่จานทองพระราชทาน ทรงกระทำปฏิสันถารอันอ่อนหวาน ตรัสถามว่า สหายเอ๋ย ท่านมาลำพังผู้เดียวไปไหนมาเล่า.
พระมหาสัตว์นั้นเล่าเรื่องนั้นโดยพิสดาร ลำดับนั้น พระราชาตรัสกะพระมหาสัตว์นั้นว่า สหายเอ๋ย เชิญท่านแสดงความเร็วชนิดที่แข่งกับดวงอาทิตย์ ให้ฉันดูบ้างเถิด พระมหาสัตว์จึงทูลว่า ข้าแต่พระมหาราช หม่อมฉันไม่สามารถที่จะแสดงความเร็วชนิดนั้นได้ พระราชาตรัสว่า ถ้าเช่นนั้นเชิญเธอแสดงเพียงขนาดที่พอเห็นสมกันแก่ฉันเถิด พระมหาสัตว์ทูลว่า ได้ซิ มหาราช
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 239
หม่อมฉันจักแสดงความเร็วขนาดที่พอเห็นสมถวาย พระองค์โปรดดำรัสสั่งให้ นายขมังธนูผู้ยิงรวดเร็วประชุมกันเถิด พระราชาทรงให้นายขมังธนูประชุมกันแล้ว พระมหาสัตว์คัดนายขมังธนูได้ ๔ นาย ซึ่งเป็นเยี่ยมกว่าทุกๆ คน ลงจากพระราชนิเวศน์ ให้ฝังเสาศิลา ณ ท้องพระลานหลวง ให้ผูกกระดิ่งที่คอของตนจับอยู่ที่ยอดเสา ส่วนนายขมังธนูทั้ง ๔ นาย ให้ยืนพิงเสาศิลาผินหน้าไป ๔ ทิศ ทูลว่า ข้าแต่พระมหาราช คน ๔ คนเหล่านี้ จงยิงลูกศร ๔ ลูก ตรงไปทางทิศทั้ง ๔ โดยประดังพร้อมกัน หม่อมฉันจะเก็บลูกศรเหล่านั้นมา มิให้ทันตกดินเลย แล้วทิ้งลงแทบเท้าของคนเหล่านั้น พระองค์พึงทรงทราบ การที่หม่อมฉันไปเก็บลูกศรด้วยสัญญาแห่งเสียงกระดิ่ง แต่หม่อมฉันจักไม่ปรากฏเลย แล้วเก็บลูกศรที่นายขมังธนูทั้ง ๔ ยิงไปพร้อมกันทันทีที่หลุดพ้นไปจากสายแล้ว มาทิ้งลงตรงใกล้ๆ เท้าของนายขมังธนูเหล่านั้น แสดงตนจับอยู่ ณ ยอดแห่งเสาศิลานั้นเอง กราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราช ความเร็วของหม่อมฉันนี้ มิใช่ความเร็วอย่างสูงสุดดอก มิใช่ความเร็วปานกลาง เป็นความเร็วขนาดเลวชั้นโหล่ ข้าแต่มหาราช ความเร็วของหม่อมฉันพึงเป็นเช่นนี้นะ พระเจ้าข้า.
ลำดับนั้น พระราชาทรงถามว่า สหายเอ๋ย ก็และความเร็วอย่างอื่น ที่เร็วกว่าความเร็วของท่านน่ะ ยังมีหรือ พระมหาสัตว์กราบทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า อายุสังขารของสัตว์เหล่านี้ ย่อมสิ้น ย่อมสลาย ย่อมถึงความสิ้นเร็วพลันกว่าแม้แต่ความเร็วขนาดสูงสุดของหม่อมฉัน ตั้งร้อยเท่าพันทวีแสนทวี พระมหาสัตว์แสดงความสลายแห่งอรูปธรรมทั้งหลาย ด้วยสามารถความดับอันเป็นไปทุกๆ ขณะด้วยประการฉะนี้ พระราชาทรงสดับคำของพระมหาสัตว์ ทรงกลัวต่อมรณภัย ไม่สามารถดำรงพระสติไว้ได้
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 240
ซวนพระกายล้มเหนือแผ่นดิน มหาชนพากันถึงความสยดสยอง พวกอำมาตย์ต้องเอาน้ำสรงพระพักตร์พระราชา ช่วยให้พระองค์ทรงกลับฟื้นคืนพระสติ ลำดับนั้น พระมหาสัตว์กราบทูลเตือนว่า ข้าแต่พระมหาราช พระองค์อย่าได้ทรงหวาดเกรงเลย เชิญทรงเจริญมรณสติไว้เถิด ทรงประพฤติธรรมไว้เถิด ทรงกระทำบุญมีให้ทานเป็นต้นไว้เถิด พระองค์อย่าประมาทเถิด พระเจ้าข้า ลำดับนั้น พระราชาเมื่อทรงอ้อนวอนว่า ฉันจักไม่สามารถที่จะอยู่แยกกับอาจารย์ผู้สมบูรณ์ด้วยญาณเช่นท่านชั่วระยะกาลอันใกล้ได้ ท่านไม่ต้องไปสู่เขาจิตตกูฎ ชี้แจงธรรมแก่ฉัน เป็นอาจารย์ให้โอวาทอยู่ ณ ที่นี้เลยเถิดนะ จึงตรัสพระคาถา ๒ คาถาว่า.
"คนบางพวก ย่อมเป็นที่รักของบุคคลบางคนเพราะได้ฟัง อนึ่ง ความรักของบุคคลบางคน ย่อมหมดสิ้นไปเพราะได้เห็น คนบางพวกย่อมเป็นที่รักเพราะได้เห็นและเพราะได้ฟัง ท่านรักใคร่ฉันเพราะได้เห็นบ้างไหม".
"ท่านเป็นที่รักของฉันเพราะได้ฟัง และเป็นที่รักของฉันยิ่งนักเพราะอาศัยการเห็น ดูก่อนพญาหงส์ ท่านน่ารักน่าดูอย่างนี้ เชิญอยู่ในสำนักของฉันเถิด".
คาถาเหล่านั้นมีอธิบายว่า ดูก่อนสหายพญาหงส์ บุคคลจำพวกหนึ่ง ย่อมน่ารักด้วยการฟัง คือดูดดื่มใจด้วยได้ฟัง เพราะได้ยินว่ามีคุณอย่างนี้ แต่จำพวกหนึ่งพอเห็นเท่านั้น ความพอใจหมดไปเลย คือความรักหายไปหมด ปรากฏเหมือนพวกยักษ์ที่พากันมาเพื่อกัดกิน จำพวกหนึ่งเล่า เป็นผู้น่ารักได้
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 241
ทั้ง ๒ สถาน คือทั้งได้เห็น ทั้งได้ฟัง เหตุนั้นฉันขอถามท่าน เพราะเห็นฉัน ท่านจึงรักฉันบ้างหรือไร คือท่านยังจะพึงใจฉันบ้างหรือไม่ แต่สำหรับฉัน ท่านเป็นที่รักด้วยได้ยิน แน่ละ ยิ่งมาเห็นยิ่งรักนักเทียว ท่านเป็นที่รักน่าดูของฉันเช่นนี้ อย่าไปสู่เขาจิตตกูฏ จงอยู่ในสำนักของฉันนี้เถิด.
พระโพธิสัตว์กราบทูลด้วยคาถาว่า.
"ข้าพระองค์ทั้งหลายได้รับการสักการบูชาแล้วเป็นนิตย์ พึงอยู่ในพระราชนิเวศน์ของพระองค์ แต่บางครั้งพระองค์ทรงเมาน้ำจัณฑ์แล้ว จะพึงตรัสสั่งว่า จงย่างพญาหงส์ให้ฉันที".
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มตฺโต จ เอกทา ความว่า ข้าแต่พระมหาราช พวกหม่อมฉันได้รับบูชาเป็นนิตย์ ก็น่าจะอยู่ในพระราชวังของพระองค์ แต่บางครั้งพระองค์ทรงเมาสุราแล้ว พึงตรัสได้ว่า จงย่างพญาหงส์ให้ข้าเถิด ดังนี้ เพื่อจะได้เสวยมังสะ ทีนั้นพวกข้าเฝ้าของพระองค์ ก็จะพึงฆ่าหม่อมฉันย่างเสียด้วยประการฉะนั้น ครั้งนั้นหม่อมฉันจักกระทำอย่างไรได้.
ลำดับนั้น พระราชาเพื่อจะประทานพระปฏิญญาแก่พระโพธิสัตว์นั้นว่า ถ้าเช่นนั้น ฉันจักไม่ดื่มน้ำเมาเป็นเด็ดขาด จึงตรัสพระคาถานี้ว่า.
"การดื่มน้ำเมา ซึ่งเป็นที่รักของฉันยิ่งกว่าท่าน ฉันติเตียนการดื่มน้ำเมานั้น เอาเถอะ ตลอดเวลาที่ท่านยังอยู่ในนิเวศน์ของฉัน ฉันจักไม่ดื่มน้ำเมาเลย".
ต่อจากนั้น พระโพธิสัตว์กล่าวคาถา ๖ คาถาว่า.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 242
"ข้าแต่พระราชา เสียงของสุนัขจิ้งจอกทั้งหลายก็ดี ของนกทั้งหลายก็ดี รู้ได้ง่าย แต่เสียงของมนุษย์ รู้ได้ยากกว่านั้น".
"อนึ่ง ผู้ใดเมื่อก่อนเป็นผู้ใจดี คนทั้งหลายนับถือว่าเป็นญาติ เป็นมิตรหรือเป็นสหาย ภายหลังผู้นั้นกลับกลายเป็นศัตรูไปก็ได้ ใจของมนุษย์รู้ได้ยากอย่างนี้".
"ใจจดจ่ออยู่ในบุคคลใด แม้บุคคลนั้นจะอยู่ไกลก็เหมือนกับอยู่ใกล้ ใจเหินห่างจากบุคคลใด แม้บุคคลนั้นจะอยู่ใกล้ก็เหมือนกับอยู่ไกล".
"ถ้ามีจิตเลื่อมใสรักใคร่กัน ถึงแม้จะอยู่กันคนละฝั่งสมุทร ก็เหมือนอยู่ใกล้ชิดกัน ถ้ามีจิตประทุษร้ายกัน ถึงแม้จะอยู่ใกล้ชิดกัน ก็เหมือนกับอยู่คนละฝั่งสมุทร".
"ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ คนที่เป็นศัตรูกัน ถึงจะอยู่ร่วมกันก็เหมือนกับอยู่ห่างไกลกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมิ่งขวัญแห่งรัฐ คนที่รักกัน ถึงแม้จะอยู่ห่างไกลกันก็เหมือนกับอยู่ร่วมกันด้วยหัวใจ".
"ด้วยการอยู่ร่วมกันนานเกินควร คนรักกันย่อมกลายเป็นคนไม่รักกันก็ได้ ข้าพระองค์ขอทูลลาพระองค์ไป ก่อนที่ข้าพระองค์จะกลายเป็นผู้ไม่เป็นที่รักของพระองค์".
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วสฺสิตํ ความว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า เป็นความจริง ฝูงสัตว์เดียรัจฉานมีหัวใจตรง เพราะเหตุนั้นเสียงร้องของฝูงสัตว์
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 243
เดียรัจฉานนั้น จึงเข้าใจได้ง่าย แต่ฝูงคนกักขฬะ เหตุนั้นคำพูดของฝูงคนนั้น จึงเข้าใจได้ยากกว่า.
บทว่า โย ปุพฺเพ ความว่า บุคคลใด มีใจดีกันก่อนทีเดียว ก็พอจะนับถือกันอย่างนี้ว่า เธอเป็นญาติของฉัน เป็นมิตรของฉัน เป็นสหายคู่ชีวิตของฉัน ภายหลังคนนั้นเองกลายเป็นผู้เกลียดชัง เป็นไพรีไปก็ได้ หัวใจมนุษย์เข้าใจยากเช่นนี้.
บทว่า นิวิสติ ความว่า ข้าแต่พระมหาราช ใจจดจ่อด้วยอำนาจความรักในบุคคลใด บุคคลนั้นถึงจะอยู่ไกลสุดไกล ก็แม้นกับอยู่ในที่ไม่ไกลเลยทีเดียว แต่ใจเหินห่างออกไปในบุคคลใด บุคคลนั้นถึงอยู่ใกล้ๆ ก็เหมือนอยู่ไกล.
บทว่า อนฺโตปิ โส โหติ ความว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ผู้ใดเป็นสหาย มีจิตเลื่อมใส ผู้นั้นถึงจะอยู่คนละฝั่งทะเล ก็ย่อมเป็นเหมือนอยู่ใกล้ชิด เพราะมีจิตประสานกัน ผู้ใดมีจิตคิดประทุษร้าย ผู้นั้นก็ชื่อว่า อยู่คนละฝั่งทะเล เพราะจิตไม่ประสานกัน.
บทว่า เย ทิสา เต ความว่า คนเหล่าใดเป็นผู้มีเวรเป็นข้าศึกกัน ถึงจะอยู่ร่วมกัน คนเหล่านั้นก็เหมือนอยู่ไกลกัน แต่ปวงบัณฑิตผู้สงบระงับ แม้สถิต ณ ที่ห่างไกล คำนึงถึงกันอยู่ด้วยใจอันอบรมด้วยเมตตาก็ชื่อว่า เหมือนอยู่ ณ ที่ใกล้.
บทว่า ปุรา เต คจฺฉามิ ความว่า หม่อมฉันยังเป็นผู้น่ารักของพระองค์ตราบใด ก็จะขอบังคมลาพระองค์ไปตราบนั้นทีเดียว.
ลำดับนั้น พระราชาตรัสกะพระโพธิสัตว์นั้นว่า.
"เมื่อเราวิงวอนอยู่อย่างนี้ ถ้าท่านมิได้รู้ถึงความนับถือของเรา ท่านก็มิได้ทำตามคำวิงวอนของเรา ซึ่งจะเป็นผู้ปรนนิบัติท่าน เมื่อเป็นอย่างนี้ เราขอวิงวอนท่านว่า ท่านพึงหมั่นมาที่นี้บ่อยๆ นะ".
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอวํ เจ ความว่า ดูก่อนพญาหงส์ ถ้าท่าน จะไม่ยินยอมตามคำวิงวอนของพวกเราผู้ประคองอัญชลีขออยู่เช่นนี้ มิได้กระทำ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 244
ตามถ้อยคำของพวกเรา ผู้จะปรนนิบัติท่าน เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเราจึงขอร้องท่านอย่างนี้.
บทว่า ปุน กยิราสิ ปริยายํ ความว่า ท่านพึงกำหนดวาระแห่งการมา ณ ที่นี้ ตามกาลอันสมควร.
ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์จึงกราบทูลว่า.
"ข้าแต่พระมหาราชาเจ้าผู้เป็นมิ่งขวัญแห่งรัฐ ถ้าเราอยู่กันเป็นปกติอย่างนี้ อันตรายจักยังไม่มีทั้งแก่พระองค์และแก่ข้าพระองค์ เป็นอันแน่นอนว่า เราทั้งสองคงได้พบเห็นกันในเมื่อวันคืนผ่านไปเป็นแน่".
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอวํ เจ โน ความว่า ข้าแต่พระมหาราชผู้เป็นมิ่งขวัญแห่งแคว้น พระองค์อย่าทรงเสียพระหทัยเลย เมื่อเราคงอยู่เป็นปกติ อันตรายแห่งชีวิตจักไม่มี อันเชื่อได้แน่นอนว่า เราทั้งสองคงต้องพบกันแน่ อีกนัยหนึ่ง พระองค์ทรงตั้งพระโอวาทที่หม่อมฉันถวายทั้งหมดนั้น ไว้ในฐานะแห่งหม่อมฉัน มิได้ทรงประมาทในโลกสันนิวาส อันมีความเป็นอยู่ชั่วครู่เช่นนี้ ทรงกระทำบุญมีให้ทานเป็นอาทิ มิได้ทรงละเมิดทศพิธราชธรรม ดำรงราชย์โดยธรรม เป็นอันแน่นอนว่า เมื่อพระองค์ทรงกระทำตามโอวาทของหม่อมฉันเช่นนี้ ก็จักเห็นหม่อมฉันเรื่อยทีเดียว.
พระมหาสัตว์ถวายโอวาทพระราชาอย่างนี้แล้ว ก็บินไปเขาจิตตกูฏแล.
พระศาสดา ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในปางก่อน ถึงเราจะเกิดในกำเนิดดิรัจฉาน ก็เคยชี้แจงความทรพลของอายุสังขาร แสดงธรรมได้เหมือนกันด้วยประการฉะนี้ ประชุมชาดกว่า พระราชาในครั้งนั้น ได้มาเป็นอานนท์ น้องเล็ก ได้มาเป็นโมคคัลลานะ น้องกลาง ได้มาเป็นสารีบุตร ฝูงหงส์ที่เหลือ ได้มาเป็นพุทธบริษัท ส่วนชวนหงส์ คือเราตถาคตแล.
จบอรรถกถาชวนหังสชาดก