พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. จุลลนารทกัสสปชาดก ว่าด้วยพิษ เหว เปือกตมและอสรพิษ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ส.ค. 2564
หมายเลข  35940
อ่าน  436

[เล่มที่ 60] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 245

๔. จุลลนารทกัสสปชาดก

ว่าด้วยพิษ เหว เปือกตมและอสรพิษ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 60]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 245

๔. จุลลนารทกัสสปชาดก

ว่าด้วยพิษ เหว เปือกตมและอสรพิษ

[๑๗๖๔] ฟืนเจ้าก็มิได้หัก น้ำเจ้าก็มิได้ตักเอามา แม้กองไฟเจ้าก็มิได้ก่อให้ลุกโพลง เหตุไรหนอ เจ้าจึงเป็นเหมือนคนโง่เขลานอนซบเซาอยู่.

[๑๗๖๕] ข้าแต่คุณพ่อกัสสปะ ผมอดทนอยู่ในป่าไม่ได้ ผมจะขอลาคุณพ่อไป การอยู่ในป่าลำบาก ผมปรารถนาจะไปสู่บ้านเมือง.

[๑๗๖๖] ข้าแต่คุณพ่อผู้เป็นดุจพรหม ผู้ออกจากป่านี้ไปอยู่ ณ ชนบทใดๆ จะพึงศึกษาขนบธรรมเนียมที่ชาวชนบทเขาประพฤติกันอย่างไร ขอคุณพ่อจงพร่ำสอนขนบธรรมเนียมนั้นแก่ผมด้วยเถิด.

[๑๗๖๗] ถ้าเจ้าละป่า เหง้ามันและผลไม้ในป่า พึงพอใจอยู่ในบ้านเมือง เจ้าจงสำเหนียกจารีตของชนบทนั้นของเราไว้.

[๑๗๖๘] เจ้าจงอย่าเสพของมีพิษ จงเว้นเหวโดยเด็ดขาด อย่าจมอยู่ในเปือกตม ในที่ใกล้อสรพิษ จงเตรียมตัวให้พร้อม.

[๑๗๖๙] ผมขอถาม คุณพ่อกล่าวอะไรว่าเป็นพิษ เป็นเหว เป็นเปือกตม เป็นอสรพิษของพรหมจรรย์

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 246

ผมถามแล้ว ขอคุณพ่อโปรดบอกความข้อนั้นแก่ผมเถิด.

[๑๗๗๐] ดูก่อนพ่อนารทะ น้ำดองในโลกเขาเรียกชื่อว่า สุรา สุรานั้นทำใจให้ฮึกเหิม มีกลิ่นหอม ทำให้พูดมาก มีรสหวานแหลมปานน้ำผึ้ง พระอริยะทั้งหลายกล่าวสุรานั้นว่า เป็นพิษของพรหมจรรย์.

[๑๗๗๑] ดูก่อนพ่อนารทะ หญิงในโลกย่อมย่ำยีบุรุษผู้ประมาทแล้ว หญิงเหล่านั้นย่อมจูงจิตของบุรุษไป เหมือนลมพัดปุยนุ่นที่หล่นจากต้นไป ฉะนั้น นี่บัณฑิตกล่าวว่า เป็นเหวของพรหมจรรย์.

[๑๗๗๒] ดูก่อนพ่อนารทะ ลาภ สรรเสริญ สักการะและการบูชาในตระกูลอื่นๆ นี่บัณฑิตกล่าวว่า เป็นเปือกตมของพรหมจรรย์.

[๑๗๗๓] ดูก่อนพ่อนารทะ พระราชาผู้เป็นใหญ่ครอบครองแผ่นดินนี้ เจ้าอย่าเข้าไปใกล้พระราชาผู้เป็นใหญ่ เป็นจอมมนุษย์เช่นนั้น.

[๑๗๗๔] ดูก่อนพ่อนารทะ เจ้าอย่าเที่ยวไปใกล้บาทมูลแห่งพระราชาทั้งหลาย ผู้เป็นอิสระและเป็นอธิบดีเหล่านั้น พระราชานั้นบัณฑิตกล่าวว่า เป็นอสรพิษของพรหมจรรย์.

[๑๗๗๕] บุคคลผู้ต้องการอาหารในเวลาอาหาร พึงเข้าไปใกล้เรือนใด พึงรู้กุศล คืออโคจร ๕ ที่ควรเว้นในสกุลนั้น

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 247

แล้วพึงเที่ยวแสวงหาอาหารในเรือนนั้น บุคคลเข้าไปสู่ตระกูลอื่นเพื่อปานะหรือโภชนะแล้ว พึงรู้จักประมาณ บริโภคแต่พอควรและไม่พึงใส่ใจในรูปหญิง.

[๑๗๗๖] เจ้าจงเว้นให้ห่างไกลซึ่งการตั้งคอกโค ร้านขายสุรา คนเกเรที่ประชุมและขุมทรัพย์ทั้งหลาย เหมือนบุคคลผู้ไปด้วยยาน เว้นหนทางอันไม่ราบเรียบ ฉะนั้น.

จบจุลลนารทกัสสปชาดกที่ ๔

อรรถกถาจุลลนารทกัสสปชาดก

พระศาสดา เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภการประเล้าประโลมของสาวเทื้อ จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "น เต กฏฺานิ ภินฺนานิ" ดังนี้.

เล่ากันมาว่า ธิดาของสกุลชาวกรุงสาวัตถีผู้หนึ่ง มีอายุประมาณ ๑๕ - ๑๖ ปี เป็นหญิงมีรูปเลอโฉม แต่ไม่มีใครสู่ขอนาง ลำดับนั้น มารดาของนางคิดว่า ธิดาของเราเป็นสาวแล้ว แต่ไม่มีใครสู่ขอนางเลย เราต้องใช้นางล่อประเล้าประโลมภิกษุของพระศากยะรูปหนึ่ง เหมือนล่อปลาด้วยเหยื่อ ให้สึกเสียจนได้ แล้วจักอาศัยเธอเลี้ยงชีพ ครั้งนั้น กุลบุตรชาวกรุงสาวัตถีผู้หนึ่ง บวชถวายชีวิตในพระศาสนา ตั้งแต่กาลที่อุปสมบทแล้ว ก็ละทิ้งสิกขาบท

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 248

เกียจคร้าน มัวแต่ประดับสรีระอยู่ มหาอุบาสิกาจัดแจงยาคูและข้าว ขาทนียโภชนียะไว้ในเรือน ยืนที่ประตูเรือนใคร่ครวญบรรดาภิกษุที่พากันเดินไปในระหว่างถนนสักรูปหนึ่ง ซึ่งมีท่าทางที่นางสามารถจะเกี้ยวได้ด้วยรสตัณหา เมื่อขบวนพระผู้ทรงพระไตรปิฎก ผู้ทรงพระอภิธรรม ผู้ทรงพระวินัย พากันเดินไปกับบริวารเป็นอันมาก ก็ยังไม่เห็นรูปไรๆ ในกลุ่มที่พอจะเกาะไว้ได้ ในกลุ่มแห่งพระธรรมกถึกผู้กล่าวธรรมไพเราะก็ดี ในกลุ่มแห่งพระผู้สมาทานปิณฑบาตเป็นวัตรผู้เช่นกับวลาหกอันกระจายฝอยก็ดี ผู้เดินไปภายหลังแห่งภิกษุกลุ่มนั้น ก็คงยังไม่เห็นสักรูปหนึ่งเลย ครั้นเห็นภิกษุรูปหนึ่งหยอดยาตาจนถึงขอบตา นุ่งอันตรวาสกทำด้วยผ้าทุกูลพัสตร์ ห่มจีวรเนื้อเกลี้ยงเป็นมันระยับ ประคองบาตรสีเหมือนแก้วมณี กั้นร่มอันชวนใจให้ยินดี ปล่อยอินทรีย์ร่างกายล่ำสันอันใหญ่โตกำลังเดินมา คิดว่า เราอาจเกี้ยวภิกษุนี้ได้ จึงเดินไปไหว้รับบาตร กล่าวว่า นิมนต์มาเถิดเจ้าข้า พามาเรือนให้นั่งแล้วเลี้ยงดูด้วยข้าวยาคูเป็นต้น กล่าวกะภิกษุนั้น ผู้ฉันเสร็จว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ตั้งแต่บัดนี้ไป พระคุณเจ้าพึงมาที่นี้เท่านั้นนะเจ้าคะ ตั้งแต่นั้น ภิกษุนั้นก็ไปบ้านนั้นเป็นประจำ ต่อมาได้คุ้นเคยกัน.

อยู่มาวันหนึ่ง มหาอุบาสิกายืนอยู่ในระยะพอที่เธอจะได้ยิน กล่าวว่า ในเรือนนี้มีเครื่องอุปโภคบริโภคพอประมาณ แต่ลูกชายหรือลูกเขยอย่างนั้น ที่สามารถจะตรวจตราเหย้าเรือนไม่มีเลย เธอฟังคำของนาง คิดว่า นางพูดเพื่อประโยชน์อะไรเล่านะ ได้เป็นเหมือนถูกเจาะที่หัวใจเข้าไปหน่อย นางกล่าวกะธิดาว่า เจ้าจงยั่วยวนภิกษุนี้ให้เป็นไปในอำนาจของเจ้าให้ได้เถิด ตั้งแต่นั้นมา นางก็ประดับกายพริ้มเพรา ยั่วยวนเธอด้วยกะบิดกระบวนสตรีต่างๆ ก็ที่เรียกนางสาวเทื้อนั้น ไม่พึงเห็นว่ามีร่างกายอ้วน จะอ้วนหรือผอมก็ตาม คงเรียกว่า

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 249

สาวเทื้อได้ เพราะหนาไปด้วยราคะประกอบด้วยกามคุณ ๕ ประการ ก็แลเธอยังหนุ่ม ยังตกอยู่ในอำนาจกิเลส คิดว่า บัดนี้เราคงไม่อาจดำรงอยู่ในพระพุทธศาสนาได้ กล่าวว่า ฉันต้องไปวิหาร มอบบาตรและจีวรแล้ว จักไปที่ตรงโน้น เธอจงส่งผ้าของฉันไปที่นั้น แล้วไปสู่วิหารมอบบาตรจีวร กราบเรียนพระอาจารย์อุปัชฌาย์ว่า ผมจะสึกละครับ ท่านเหล่านั้นพาเธอไปสู่สำนักพระศาสดา กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุนี้จะสึก พระเจ้าข้า พระศาสดาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุ ข่าวว่าเธอจะสึกจริงหรือ เมื่อกราบทูลให้ทรงทราบว่า จริงพระเจ้าข้า จึงตรัสว่า เหตุอะไรให้เธอสึก เมื่อเธอกราบทูลให้ทรงทราบว่า นางสาวเทื้อ พระเจ้าข้า ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ แม้ในครั้งก่อน นางคนนี้ก็เคยกระทำอันตรายแก่พรหมจรรย์ ก่อความเสื่อมเสียอย่างมหันต์แก่เธอผู้อยู่ในป่า เธอยังจะอาศัยนางนี้คนเดียวกันสึกเสียอีก เพราะเหตุไรเล่า พวกภิกษุพากันกราบทูลอาราธนา จึงทรงนำอดีตนิทานมาแสดงดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในสกุลพราหมณ์มีสมบัติมากในแคว้นกาสี เรียนศิลปะ สำเร็จตั้งหลักฐาน ลำดับนั้น ภรรยาของท่านคลอดบุตรคนหนึ่ง ได้ถึงแก่กรรมไป ท่านได้คิดว่า ความตายมีได้แก่ภรรยาที่รักของเรา ฉันใด ความตายจักต้องมาถึงเรา ฉันนั้น เราจะต้องการอะไรด้วยฆราวาส บวชเถอะน่ะ ละกามทั้งหลาย พาลูกชายเข้าสู่หิมพานต์ บวชเป็นฤาษีกับลูกชายนั้น ยังฌานอภิญญาให้เกิด ได้มีเผือกมันและผลไม้ในป่าเป็นอาหารอยู่ในราวป่า ครั้งนั้น พวกโจรชาวปัจจันตคามเข้าสู่ชนบทปล้นบ้าน จับคนเป็นเชลย ให้ขนข้าวของเดินทางไปสู่ชายแดน ในกลุ่มเชลยนั้น หญิงสาวผู้หนึ่งงามประกอบด้วยปรีชาในเชิงล่อลวง นางคิดว่า โจรเหล่านั้นจับพวกเราไป คงจักใช้สอยอย่าง

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 250

ใช้ทาส เราต้องหาอุบายอันหนึ่งหนีไปเสียให้ได้ นางจึงกล่าวว่า นายเจ้าข้า ดิฉันประสงค์จะกระทำสรีรกิจ โปรดหยุดรอสักหน่อยเถิดเจ้าคะ แล้วลวงพวกโจรหนีไป เมื่อท่องเที่ยวไปในป่า บรรลุถึงอาศรมในเวลาเช้า ตอนที่พระโพธิสัตว์ให้ลูกชายเฝ้าอาศรมแล้วไปหาผลาผล จึงยั่วยวนดาบสเด็กนั้นด้วยการยินดีในกาม ทำลายศีลเขาเสีย ให้ตกอยู่ในอำนาจตนแล้ว กล่าวว่า เธอจะมาอยู่ในป่าทำอะไร มาเถิดนะ เราพากันไปสู่บ้าน เพราะในถิ่นบ้านนั้น กามคุณมีรูปเป็นต้นหาได้ง่าย ฝ่ายเขาก็รับคำว่าดี แล้วกล่าวว่า พ่อของฉันไปหาผลาผลมาจากป่า เราทั้งสองพบท่านแล้ว ค่อยไปพร้อมกันเลย นางคิดว่า ดาบสนี้เป็นเด็กรุ่นไม่รู้จักอะไร แต่บิดาของเขาคงบวชเมื่อแก่ เขามาแล้วคงโบยตีเราว่า มึงทำอะไรที่นี้ จักตีเราฉุดไปโยนทิ้งเสียในป่าก็ได้ เมื่อเขายังไม่มานั่นแหละ เราต้องหนีไปเสีย ครั้งนั้น นางจึงกล่าวกะเขาว่า ฉันจะไปล่วงหน้า เธอพึงไปภายหลังนะ แล้วบอกที่หมายในหนทาง หลบไป ตั้งแต่กาลที่นางไปแล้ว เขาเกิดโทมนัส ไม่กระทำวัตรอะไรๆ เหมือนแต่ก่อน คลุมศีรษะซบเซาอยู่ภายในบรรณศาลา พระมหาสัตว์นำผลาผลมา เห็นรอยเท้าของนาง คิดอยู่ว่า นี้เป็นรอยเท้าของมาตุคาม ศีลของลูกชายเราคงถูกทำลายแล้วเป็นแน่ พลางเข้าสู่บรรณศาลา วางผลาผลลงเรียบร้อย เมื่อจะถามลูกชาย จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า.

"ฟืนเจ้าก็มิได้หัก น้ำเจ้าก็มิได้ตักมา แม้กองไฟเจ้าก็มิได้ก่อให้ลุกโพลง เหตุไรหนอ เจ้าจึงเหมือนคนโง่เขลานอนซบเซาอยู่".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อคฺคิปิ เต น หาสิโต ความว่า ทั้งกองไฟ เจ้าก็มิได้ก่อให้ลุกสว่าง.

บทว่า มนฺโทว ความว่า เจ้าเป็นคนไม่มีปัญญา ซบเซาเหมือนคนโง่.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 251

เขาได้ยินคำของบิดาแล้ว ลุกขึ้นกราบบิดา เมื่อจะเรียนให้ทราบเพื่อจะไปสู่ที่อยู่ของมนุษย์จากที่อยู่ในป่า ด้วยความเคารพ จึงกล่าวคาถา ๒ คาถาว่า.

"ข้าแต่คุณพ่อกัสสปะ ผมอดทนอยู่ในป่าไม่ได้ ผมจะขอลาคุณพ่อไป การอยู่ในป่าลำบาก ผมปรารถนาจะไปสู่บ้านเมือง".

"ข้าแต่คุณพ่อผู้เป็นดุจพรหม ผู้ออกจากป่านี้ไปอยู่ ณ ชนบทใดๆ จะพึงศึกษาขนบธรรมเนียมที่ชาวชนบทเขาประพฤติกันอย่างไร ขอคุณพ่อจงพร่ำสอนขนบธรรมเนียมนั้นแก่ผมด้วยเถิด".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กสฺสปามนฺตยานิ ตํ ความว่า ข้าแต่คุณพ่อกัสสปะ ผมขอบอกกะคุณพ่อ.

บทว่า คนฺตเว แปลว่า เพื่อจะไป.

บทว่า อาจารํ ความว่า ผมอยู่ในชนบทใด เมื่ออยู่ในชนบทนั้น ต้องศึกษา ต้องทราบข้อที่ต้องประพฤติ คือแบบธรรมเนียมของชนบทอย่างใด โปรดสั่งสอน โปรดตักเตือนธรรมนั้นเถิด.

พระมหาสัตว์กล่าวว่า ดีละพ่อ ฉันแสดงจารีตของประเทศแก่เจ้า แล้วกล่าวคาถา ๒ คาถาว่า.

"ถ้าเจ้าละป่า เหง้ามันและผลไม้ในป่า พึงพอใจอยู่ในบ้านเมือง เจ้าจงสำเหนียกจารีตของชนบทนั้นของเราไว้".

"เจ้าจงอย่าเสพของมีพิษ จงเว้นเหวโดยเด็ดขาด อย่าจมอยู่ในเปือกตม ในที่ใกล้อสรพิษ จงเตรียมตัวให้พร้อม".

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 252

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺมํ ความว่า ถ้าเจ้าชอบใจอยู่ในแว่นแคว้น เจ้าจงสำเหนียกธรรม คือจารีตของชนบท.

บทว่า ยตฺโต อาสีวิเส ความว่า เจ้าพึงประพฤติสำรวม เตรียมพร้อมเที่ยวไปใกล้อสรพิษ เมื่ออาจ ก็พึงเว้นอสรพิษเสียให้ห่างไกล.

ดาบสกุมารเมื่อไม่รู้เนื้อความของคำที่บิดากล่าวไว้โดยย่อ จึงถามว่า.

"ผมขอถาม คุณพ่อกล่าวอะไรว่า เป็นพิษ เป็นเหว เป็นเปือกตม เป็นอสรพิษ ของพรหมจรรย์ ผมถามแล้ว คุณพ่อโปรดบอกความข้อนั้นแก่ผมเถิด".

ฝ่ายดาบสโพธิสัตว์ ได้พยากรณ์แก่บุตรว่า.

"ดูก่อนนารทะ น้ำดองในโลกเขาเรียกว่า สุรา สุรานั้น ทำใจให้ฮึกเหิม มีกลิ่นหอม ทำให้พูดมาก มีรสหวานแหลมปานน้ำผึ้ง พระอริยะทั้งหลายกล่าวสุรานั้นว่า เป็นพิษของพรหมจรรย์".

"ดูก่อนนารทะ หญิงทั้งหลายในโลก ย่อมย่ำยีบุรุษผู้ประมาทแล้ว หญิงเหล่านั้นย่อมจูงจิตของบุรุษไป เหมือนลมพัดปุยนุ่นที่หล่นจากต้นไป ฉะนั้น นี่บัณฑิตกล่าวว่า เป็นเหวของพรหมจรรย์".

"ดูก่อนนารทะ ลาภ สรรเสริญ สักการะและการบูชาในตระกูลอื่น นี่บัณฑิตกล่าวว่า เป็นเปือกตมของพรหมจรรย์".

"ดูก่อนนารทะ พระราชาเป็นใหญ่ครอบครองแผ่นดินนี้ เจ้าอย่าเข้าไปใกล้พระราชาผู้เป็นใหญ่ เป็นจอมแห่งมนุษย์เช่นนั้น".

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 253

"ดูก่อนนารทะ เจ้าอย่าเที่ยวไปใกล้บาทมูลแห่งพระราชาทั้งหลาย ผู้เป็นอิสระและเป็นอธิบดีเหล่านั้น พระราชานั้น บัณฑิตกล่าวว่า เป็นอสรพิษของพรหมจรรย์".

"บุคคลผู้ต้องการอาหารในเวลาอาหาร พึงเข้าไปใกล้เรือนใด พึงรู้กุศล คืออโคจร ๕ ที่ควรเว้นในสกุลนั้น แล้วพึงเที่ยวแสวงหาอาหารในเรือนนั้น บุคคลเข้าไปสู่ตระกูลอื่นเพื่อปานะหรือโภชนะแล้ว พึงรู้จักประมาณบริโภคแต่พอควรและไม่พึงใส่ใจในรูปหญิง".

"เจ้าจงเว้นให้ห่างไกลซึ่งการตั้งคอกโค ร้านขายสุรา คนเกเร ที่ประชุมและขุมทรัพย์ทั้งหลาย เหมือนบุคคลผู้ไปด้วยยานเว้นหนทางอันไม่ราบเรียบ ฉะนั้น".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาสโว ได้แก่ ยาพิษอันเป็นเช่นกับน้ำดองดอกไม้เป็นต้น.

บทว่า ตทาหุ ความว่า พระอริยเจ้าทั้งหลายกล่าวสุรานั้นกล่าวคือน้ำดองว่า เป็นพิษแห่งพรหมจรรย์.

บทว่า ปมตฺตํ ได้แก่ ผู้มีสติหลงลืม.

บทว่า ตูลภฏฺํว ความว่า เปรียบดังปุยนุ่นที่ถูกลมพัดจากต้นร่วงลงมา.

บทว่า อกฺขาโต แปลว่า อันบัณฑิตมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ตรัสแล้ว.

บทว่า สิโลโก ได้แก่ เกียรติคุณ.

บทว่า สกฺกาโร ได้แก่ กรรมมีอัญชลีกรรม เป็นต้น.

บทว่า ปูชา ได้แก่ การบูชาด้วยสักการะมีของหอมและระเบียบดอกไม้เป็นต้น.

บทว่า ปงฺโก ความว่า บัณฑิตทั้งหลายกล่าวเปือกตม เพราะอรรถว่า ทำให้จมลง.

บทว่า มหนฺเต แปลว่า ถึงความเป็นผู้มีอานุภาพมาก.

บทว่า น เตสํ ปาทโต จเร ความว่า ไม่พึงเที่ยวไปใกล้พระบาทของพระราชาเหล่านั้น คือไม่พึงเข้าถึงราชสกุล จริงอยู่ พระราชาทั้งหลายทรงกริ้วแล้ว

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 254


ย่อมให้ถึงความวอดวายโดยครู่เดียวเท่านั้น เหมือนอสรพิษ ฉะนั้น อีกอย่างหนึ่ง บัณฑิตพึงทราบความด้วยอำนาจโทษดังกล่าวแล้วในการเข้าไปภายในพระราชวัง.

บทว่า ภตฺตตฺโถ ความว่า เป็นผู้มีความต้องการด้วยภัต.

บทว่า ยนฺเตตฺถ กุสลํ ความว่า ในบรรดาเรือนที่เจ้าพึงเข้าไป เรือนใดเป็นกุศล คือไม่มีโทษ เจ้าพึงรู้เรือนที่เว้นจากอโคจร ๕ ประการ พึงเที่ยวแสวงหาอาหารในเรือนนั้น.

บทว่า น จ รูเป มนํ กเร ความว่า เจ้าพึงเป็นผู้รู้จักประมาณในตระกูล แม้เมื่อบริโภคเล่าก็อย่าไว้วางใจในรูปสตรีในตระกูลนั้น อย่าลืมตายึดเอานิมิตในรูปหญิง.

บาลีในคัมภีร์ทั้งหลายว่า คุฏฺํ มชฺชํ กิราสญฺจ ดังนี้ แต่ในอรรถกถา ท่านกล่าว โคฏฺํ มชฺชํ กิราสญฺจ แล้วกล่าวว่า บทว่า โคฏฺํ ได้แก่ ที่โคทั้งหลายพักอยู่.

บทว่า มชฺชํ ได้แก่ โรงสุรา.

บทว่า กิราสํ ได้แก่ คนผู้เป็นนักเลงและคนเกเร.

บทว่า สภาธิกรณานิ จ ได้แก่ ที่ประชุม ที่ขุมทรัพย์แห่งเงินและทอง.

บทว่า อารกา ความว่า เจ้าพึงเว้นสิ่งทั้งหมดนั้นเสียให้ห่างไกล.

บทว่า ยานีว ความว่า เหมือนบุคคลมียานอันเต็มด้วยเนยใสและน้ำมันไปสู่หนทางอันราบเรียบ ฉะนั้น.

เมื่อบิดากำลังกล่าวสอนอยู่นั้นเอง มาณพกลับได้สติกล่าวว่า ข้าแต่พ่อ ข้าพเจ้าไม่ควรไปแดนมนุษย์ ลำดับนั้น บิดาได้สอนวิธีเจริญเมตตาเป็นต้นแก่ดาบสกุมารๆ ตั้งอยู่ในโอวาทของบิดายังฌานและอภิญญาให้บังเกิด โดยไม่นานนัก สองดาบสพ่อลูกมิได้เสื่อมจากฌาน ได้บังเกิดในพรหมโลก.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า นางกุมาริกานี้ ได้มาเป็นนางสาวเทื้อนี้ ดาบสกุมาร ได้เป็นภิกษุผู้กระสัน ส่วนดาบสบิดา คือเราตถาคตนั่นเองแล.

จบอรรถกถาจุลลนารทกัสสปชาดก