๙. รุรุมิคชาดก ว่าด้วยน้ําใจของพญาเนื้อรุรุ
[เล่มที่ 60] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 313
๙. รุรุมิคชาดก
ว่าด้วยน้ำใจของพญาเนื้อรุรุ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 60]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 313
๙. รุรุมิคชาดก
ว่าด้วยน้ำใจของพญาเนื้อรุรุ
[๑๘๓๙] ใครบอกมฤคซึ่งสูงสุดกว่ามฤคทั้งหลายนั้นแก่เราได้ เราจะให้บ้านส่วยและหญิงที่ประดับประดาแล้วแก่ผู้นั้น.
[๑๘๔๐] ขอได้โปรดพระราชทานบ้านส่วยและหญิงที่ประดับประดาแล้วแก่ข้าพระองค์เถิด ข้าพระองค์จะกราบทูลมฤคซึ่งสูงสุดกว่ามฤคทั้งหลายแก่พระองค์.
[๑๘๔๑] ณ ไพรสณฑ์นั้น มีต้นมะม่วงและต้นรังทั้งหลาย ดอกบานสะพรั่ง พื้นที่แห่งไพรสณฑ์นั้นดารดาษไปด้วยติณชาติมีสีเหมือนแมลงค่อมทอง มฤคตัวนั้นอยู่ที่ไพรสณฑ์นั้น.
[๑๘๔๒] พระเจ้าพาราณสีทรงโก่งธนูสอดใส่ลูกศรไว้ เสด็จเข้าไปแล้ว ส่วนมฤคเห็นพระราชาแล้ว ได้ร้องกราบทูลไปแต่ไกลว่า ข้าแต่พระมหาราชาผู้ประเสริฐ โปรดทรงรอก่อน อย่าเพิ่งทรงยิงข้าพระบาทเสียเลย ใครหนอได้กราบทูลความเรื่องนี้แก่พระองค์ว่า มฤคตัวนี้อยู่ ณ ไพรสณฑ์นี้.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 314
[๑๘๔๓] ดูก่อนสหาย บุรุษผู้มีมารยาทอันเลวทราม ยืนอยู่ห่างๆ นั่น บุรุษคนนั้นแหละได้บอกความเรื่องนี้แก่เราว่า มฤคตัวนี้อยู่ ณ ไพรสณฑ์นี้.
[๑๘๔๔] ได้ยินว่า คนบางพวกในโลกนี้ กล่าวความจริงไว้อย่างนี้ว่า ไม้ลอยน้ำยังดีกว่า คนบางคนไม่ดีเลย.
[๑๘๔๕] ดูก่อนพญามฤค เธอติเตียนพวกไหนแน่ ติเตียนพวกมฤค พวกนกหรือพวกมนุษย์ เรามีความกลัวไม่น้อย เพราะได้ฟังเจ้าพูดภาษามนุษย์ได้.
[๑๘๔๖] ข้าพระองค์ช่วยยกขึ้นซึ่งบุรุษคนใดผู้ลอยไปในห้วงน้ำคงคา มีน้ำมากไหลเชี่ยว ภัยมาถึงข้าพระองค์แล้วเพราะบุรุษผู้นั้นเป็นเหตุ ข้าแต่พระมหาราชา การสมาคมกับอสัตบุรุษทั้งหลาย นำทุกข์มาให้โดยแท้.
[๑๘๔๗] เรานั้นจะปล่อยลูกศร ๔ ปีกนี้แหวกไปในอากาศ ให้ไปตัดตรงหัวใจ เราจะฆ่ามันผู้ประทุษร้ายมิตร ผู้ไม่ทำกิจที่ควรทำ ไม่รู้จักผู้กระทำคุณให้เช่นท่าน.
[๑๘๔๘] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งประชาชน สัตบุรุษทั้งหลายไม่สรรเสริญการฆ่าบัณฑิตและคนพาลเลย คนผู้มีธรรมอันลามกจงกลับไปสู่เรือนของเขาตามปรารถนาเถิด อนึ่ง ขอได้โปรดพระราชทานค่าจ้างตามที่พระองค์ตรัสไว้แก่เขาด้วยเถิด อนึ่ง ข้าพระองค์ขอทำความปรารถนาของพระองค์.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 315
[๑๘๔๙] ดูก่อนพญามฤค ท่านผู้ไม่ประทุษร้ายต่อมนุษย์ผู้ประทุษร้าย นับเป็นผู้หนึ่งในจำนวนสัตบุรุษทั้งหลายเป็นแน่ คนผู้มีธรรมอันลามกจงกลับไปสู่เรือนของตนตามความปรารถนา อนึ่ง เราจะให้ค่าจ้างที่เราพูดไว้แก่เขา และเราขอให้บ้านส่วยแก่ท่าน.
[๑๘๕๐] ข้าแต่พระราชา เสียงของสุนัขจิ้งจอกก็ดี ของนกก็ดี รู้ได้ง่าย เสียงของมนุษย์รู้ได้ยากยิ่งกว่านั้น อนึ่ง ผู้ใดเมื่อก่อนเป็นคนใจดี คนทั้งหลายนับถือว่าเป็นญาติ เป็นมิตรหรือเป็นสหาย ภายหลังผู้นั้นกลับกลายเป็นศัตรูไปก็ได้ ใจของมนุษย์รู้ได้ยากอย่างนี้.
[๑๘๘๑] ชาวชนบทและชาวนิคมทั้งหลายมาประชุมพร้อมกันร้องทุกข์ว่า ฝูงเนื้อพากันมากินข้าว ขอพระองค์จงตรัสห้ามฝูงเนื้อนั้นเสียบ้าง พระเจ้าข้า.
[๑๘๘๒] ชนบทอย่าได้มี แม้แว่นแคว้นจะพินาศไปก็ตามทีเถิด เราให้อภัยแก่ฝูงเนื้อและนกยูงแล้ว ไม่ขอประทุษร้ายพญาเนื้อรุรุเป็นอันขาด.
[๑๘๘๓] ชาวชนบทของเราจะไม่มีก็ตาม ชาวชนบทจะไม่พูดกะเราก็ตาม เราได้ให้พรแก่พญาเนื้อไว้แล้ว จะไม่พูดเท็จเป็นอันขาด.
จบรุรุมิคชาดกที่ ๙
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 316
อรรถกถารุรุชาดก (๑)
พระศาสดา เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภพระเทวทัต ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "ตสฺส คามวรํ ทมฺมิ" ดังนี้.
เล่ากันมาว่า พระเทวทัตนั้น เมื่อพวกภิกษุพากันพูดว่า เทวทัตผู้มีอายุ พระศาสดาทรงมีอุปการะเป็นอันมากแก่ท่าน ทั้งท่านได้บวช ได้เรียนพระไตรปิฎก ร่ำรวยลาภสักการะ เพราะอาศัยพระตถาคตเจ้า กลับกล่าวว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย พระศาสดามิได้ทรงทำอุปการะแก่ผมแม้มาตรว่า ปลายเส้นหญ้า ผมบวชเองทีเดียว เรียนพระไตรปิฎกก็ด้วยตนเองแหละ ร่ำรวยลาภสักการะก็ตนเอง ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมสภากล่าวโทษของพระเทวทัตนั้นทีเดียวว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย พระเทวทัตเป็นผู้อกตัญญูอกตเวที พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบ จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่พระเทวทัตเป็นคนอกตัญญู แม้ในครั้งก่อนก็เป็นคนอกตัญญูเหมือนกัน แล้วตรัสว่า แม้ในกาลก่อนพระเทวทัตนี้ แม้เมื่อเราให้ชีวิตแล้ว ก็ยังไม่รู้แม้เพียงคุณของเราดังนี้แล้ว จึงได้นำอดีตนิทานมาดังต่อไปนี้.
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี เศรษฐีมีสมบัติ ๘๐ โกฏิ ได้บุตรขนานนามเธอว่า มหาชนกะ คิดว่าเมื่อบุตรเราเรียนศิลปะจักต้องลำบาก จึงไม่ยอมให้เรียนศิลปะอะไรๆ เลย เธอไม่รู้อะไรๆ นอกจากหากินอันได้มาจากการขับร้องฟ้อนรำและประโคม เมื่อเธอเจริญวัยแล้ว มารดาบิดาก็จัดแจงตบแต่งให้มีภรรยาตามสมควร แล้วก็ล่วงลับไป.
(๑) บาลีเป็น รุรมิคชาดก.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 317
พอท่านทั้งสองล่วงลับไป เขาก็แวดล้อมไปด้วยพวกนักเลงหญิงและนักเลงเล่นการพนันเป็นต้น ทำลายทรัพย์ทั้งหมดเสียด้วยทางฉิบหายต่างๆ ต้องกู้หนี้ยืมสิน เมื่อไม่อาจใช้หนี้ทั้งหมดนั้นได้ ก็ถูกเจ้าหนี้รุมกันทวง ดำริว่า เราจะอยู่ไยเล่า เราก็เกิดมาด้วยร่างกายอันหนึ่งเหมือนคนอื่นๆ ตายเสียดีกว่า เมื่อถูกเจ้าหนี้ทวงถาม ก็กล่าวว่า ทรัพย์ของตระกูลของเราที่ฝังที่ฝั่งแม่น้ำคงคา ยังมีอยู่ ผมจักใช้ทรัพย์นั้นให้พวกท่าน เจ้าหนี้เหล่านั้นก็ไปกับเขา เขาทำเป็นเหมือนบอกที่ขุมทรัพย์ว่า ทรัพย์มีที่นี้ แล้วหนีไปด้วยคิดว่าเราจักโดดลงคงคาตายเสีย แล้วก็โดดลงแม่น้ำคงคาไป เขาถูกกระแสน้ำเชี่ยวพัดลอยไป ก็ร้องคร่ำครวญ ชวนให้สงสาร.
ครั้งนั้น พระมหาสัตว์บังเกิดในกำเนิดรุรุมฤค (* กวางทอง) ทิ้งบริวารเสียพำนักอยู่ที่ป่ามะม่วงอันมีช่องดงาม ผสมกับดงรังอันน่ารื่นรมย์ตรงวังวนแห่งแม่น้ำคงคา ลำพังตัวเดียวเท่านั้น เพื่อประสงค์จะกระทำการรักษาอุโบสถ ผิวแห่งสรีระของพญารุรุมฤคนั้น มีสีเหมือนแผ่นกระดาษทองที่ขัดมัน เท้าทั้งสี่มีสีประดุจดังย้อมด้วยน้ำครั่ง หางก็ประหนึ่งหางแห่งจามรี เขาทั้งหลายเช่นเดียวกับช่อเงิน นัยน์ตาทั้งคู่ประหนึ่งเม็ดทับทิมที่เจียระไนแล้ว ปากเปรียบดังลูกข่างที่หุ้มด้วยผ้ากัมพลแดง รูปร่างของพญารุรุมฤคนั้น มีรูปเห็นปานฉะนี้ เวลากลางคืน พญารุรุมฤคนั้นได้ยินเสียงน่าสงสารของเขา ดำริว่า เราได้ยินเสียงมนุษย์ เมื่อเรายังดำรงอยู่ อย่าตายเสียเลย เราต้องช่วยชีวิตเขาไว้ แล้วลุกจากที่นอนเดินไป ณ ฝั่งแม่น้ำ ปลอบว่า บุรุษผู้เจริญ อย่ากลัวเลย ข้าจักช่วยชีวิตท่าน พลางว่ายตัดกระแสน้ำไป รับเขาขึ้นหลัง พาถึงฝั่งนำไปที่อยู่ของตน ทำให้เขาโปร่งใจล่วงมาได้สองสามวันก็กล่าวว่า บุรุษผู้เจริญ ข้าจักพาท่านออกจากป่านี้ ส่งให้ถึงทางไปพาราณสี ท่านจักไปโดยสวัสดี ก็แต่ขอสักอย่างหนึ่ง ท่านจงอย่าบอกเราแก่พระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระราชา เพราะเหตุมุ่งทรัพย์ว่า ณ ที่ตรงโน้น กวางทองพำนักอยู่
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 318
ดังนี้เลยนะ เขารับคำว่า ดีละ พระมหาสัตว์รับปฏิญญาของเขาแล้ว ก็ให้เขาขึ้นหลังตนพาไปส่งถึงทางไปกรุงพาราณสีแล้วจึงกลับ ในวันที่เขาเข้าไปถึงกรุงพาราณสีนั่นเอง พระอัครมเหสีของพระราชาพระนามว่า เขมาเทวี ทรงฝันเห็นกวางทองแสดงธรรมกถาถวายพระนางในพระสุบินเมื่อใกล้รุ่ง ทรงพระดำริว่า ถ้ามฤคเห็นปานนี้ ไม่พึงมีไซร้ เราไม่น่าฝันเห็นเขาได้เลย คงจักมีแน่ ต้องกราบทูลแด่พระราชา พระนางเข้าเฝ้าพระราชา กราบทูลว่า ข้าแต่พระทูลกระหม่อม หม่อมฉันปรารถนาจะเห็นกวางทอง ประสงค์จะฟังธรรมกถาของกวางทอง ถ้าจักได้ หม่อมฉันจักคงมีชีวิตอยู่ ถ้าไม่ได้ ชีวิตของหม่อมฉันจักไม่มี พระราชาทรงปลอบพระนาง พลางตรัสว่า ขอให้มีในมนุษยโลกเถอะน่ะ เธอต้องได้แน่ ดังนี้แล้วรับสั่งให้หาพวกพราหมณ์มาเฝ้า ตรัสถามว่า ธรรมดามฤคที่มีสีเหมือนสีทองยังจะมีอยู่หรือ ทรงสดับว่า ข้าแต่สมมติเทพ มีอยู่พระเจ้าข้า ก็รับสั่งให้บรรจุถุงเงิน ๑,๐๐๐ กระษาปณ์ลงในผอบทอง วางไว้ ณ คอช้างที่ประดับเสร็จแล้ว มีพระประสงค์จะประทานช้างนั้นกับผอบทองที่ใส่ถุงเงิน ๑,๐๐๐ กระษาปณ์และสิ่งของที่ยิ่งกว่านี้แก่ผู้ที่บอกเรื่องกวางทองได้ แล้วรับสั่งให้เขียนคาถาลงในแผ่นทอง ให้หาอำมาตย์ผู้หนึ่งมาเฝ้า มีดำรัสตรัสว่า มาเถิด เจ้าจงแจ้งคาถานี้ตามคำของเราแก่ชาวพระนครนะพ่อ แล้วตรัสพระคาถาที่ ๑ ในชาดกนี้ว่า.
"ใครบอกมฤคซึ่งสูงสุดกว่ามฤคทั้งหลายนั้นแก่เราได้ เราจะให้บ้านส่วยและหญิงที่ประดับประดาแล้วแก่ผู้นั้น".
อำมาตย์ถือแผ่นทองเที่ยวป่าวร้องไปในพระนครทั่วทุกแห่ง ลำดับนั้นแลเศรษฐีบุตรก็เข้าไปสู่กรุงพาราณสี ฟ้งถ้อยคำนั้นแล้วไปสู่สำนักอำมาตย์
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 319
กล่าวว่า ข้าพเจ้าจักทูล (* เรื่อง) มฤคนั้นแด่พระราชา ได้เชิญแสดงข้าพเจ้าแด่พระราชาเถิด อำมาตย์ลงจากช้างพาเขาไปสู่สำนักของพระราชา กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ได้ยินว่า ผู้นี้จักกราบทูลถึงมฤคนั้นได้ พระเจ้าข้า พระราชาตรัสถามว่า จริงหรือ บุรุษผู้เจริญ เมื่อเขากราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราช เป็นความจริง พระเจ้าข้า ขอพระองค์โปรดประทานยศนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด พระเจ้าข้า กล่าวคาถาที่ ๒ ว่า.
"ขอได้โปรดพระราชทานบ้านส่วยและหญิงที่ประดับประดาแล้วแก่ข้าพระองค์เถิด ข้าพระองค์จะกราบทูลมฤคซึ่งสูงสุดกว่ามฤคทั้งหลายแก่พระองค์".
พระราชาทรงสดับคำนั้นแล้ว โปรดปรานแก่ผู้ประทุษร้ายมิตรนั้น จึงตรัสถามว่า พ่อเฮ้ย มฤคนั้นพำนักอยู่ที่ไหน เมื่อเขากราบทูลว่า ณ ที่โน้น พระเจ้าข้า ก็ทรงกระทำเขาให้เป็นมัคคุเทศก์ เสด็จไปสู่สถานนั้นด้วยราชบริพารขบวนใหญ่ ลำดับนั้น คนประทุษร้ายมิตร กราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ พระองค์โปรดสั่งให้เสนาหยุดได้ พระเจ้าข้า เมื่อเสนาหยุดเรียบร้อยแล้ว ก็กราบทูลเชิญเสด็จ เมื่อจะยกมือชี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ สุวรรณมฤคนั้นพำนักอยู่ ณ ที่ตรงนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า.
"ณ ไพรสณฑ์นั้น มีต้นมะม่วงและต้นรังทั้งหลาย ดอกบานสะพรั่ง พื้นที่แห่งไพรสณฑ์นั้น ดารดาษไปด้วยติณชาติมีสีเหมือนแมลงค่อมทอง มฤคตัวนั้นอยู่ที่ไพรสณฑ์นั้น".
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อินฺทโคปกสญฺฉนฺนา ความว่า คนผู้ประทุษร้ายต่อมิตรนั้น กราบทูลแสดงว่า ภาคพื้นแห่งไพรสณฑ์ตรงนั้น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 320
ดาดาษไปด้วยติณชาติมีสัมผัสเป็นสุข มีสีแดงเหมือนสีแมลงค่อมทอง อ่อนนุ่มประหนึ่งข้าวกล้าอ่อน ณ ไพรสณฑ์อันน่ารื่นรมย์นี้นั้น กวางทองนั้นพำนักอยู่ พระเจ้าข้า.
พระราชาทรงสดับคำของเขาแล้ว ตรัสสั่งหมู่อำมาตย์ว่า เธอทั้งหลายกับคนที่ถืออาวุธ จงพากันล้อมไพรสณฑ์ไว้โดยเร็ว มิให้มฤคนั้นหนีไปได้ พวกเหล่านั้นได้กระทำตามพระดำรัสนั้น แล้วพากันร้องขึ้น พระราชาประทับยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่งกับคนสองสามคน บุรุษนั้นก็ยืนอยู่ไม่ห่าง พระมหาสัตว์ฟังเสียงนั้นแล้วดำริว่า เสียงของหมู่พลกองหลวง อันภัยของเราต้องเกิดจากบุรุษนั้น พระมหาสัตว์นั้นลุกขึ้นมองทั่วบริษัทเห็นสถานที่ประทับยืนแห่งพระราชานั้น คิดว่า ความสวัสดียังจักมีแก่เราได้ ควรที่เราจะไป ณ ที่นั้นที่เดียว แล้วเดินมุ่งหน้าเฉพาะพระราชา พระราชาทอดพระเนตรเห็นมฤคนั้นกำลังเดินมา ทรงพระดำริว่า มฤคมีกำลังดังพญาช้าง น่าจะถาโถมมาได้ ต้องสอดลูกศรไว้คอยขู่ให้มฤคนี้สะดุ้ง ถ้าหนีไป จักยิง ทำให้ทรพลแล้วค่อยจับเอา ทรงยกธนูขึ้นเล็งตรงพระโพธิสัตว์.
พระศาสดา เมื่อจะประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสพระคาถาสองคาถาว่า.
"พระเจ้าพาราณสีทรงโก่งธนูสอดใส่ลูกศรไว้ เสด็จเข้าไปแล้ว ส่วนมฤคเห็นพระราชาแล้ว ได้ร้องกราบทูลไปแต่ไกลว่า ข้าแต่พระมหาราชผู้ประเสริฐ โปรดทรงรอก่อน อย่าเพิ่งทรงยิงข้าพระบาทเสียเลย ใครหนอได้กราบทูลความเรื่องนี้แก่พระองค์ว่า มฤคตัวนี้อยู่ ณ ไพรสณฑ์นี้".
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อทชฺฌํ ความว่า ทรงโก่งธนูพร้อมกับสายและลูกศรไว้.
บทว่า สนฺนยฺห แปลว่า สอดไว้แล้ว.
บทว่า อาคเมหิ ความว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 321
พญามฤคกล่าวด้วยวาจาอันไพเราะว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์จงรอก่อน จงอย่ายิงข้าพระบาทเลย จงไว้ชีวิตข้าพระบาทเถิด.
พระราชาทรงติดพระหฤทัยในมธุรกถาของพระโพธิสัตว์นั้น ทรงลดธนูลงประทับยืนด้วยพระอาการอันน่าเคารพ พระมหาสัตว์ก็เข้าไปใกล้พระราชา ทรงกระทำมธุรปฏิสันถาร แล้วยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง ฝ่ายมหาชนก็พากันวางอาวุธทั้งปวงเสีย ต่างมาแวดล้อมพระราชา ขณะนั้นพระมหาสัตว์กราบทูลถามพระราชาด้วยเสียงอันไพเราะ ประหนึ่งคนสั่นกระดิ่งทองว่า
"ข้าแต่พระมหาราชเจ้า โปรดทรงรอก่อน ข้าแต่พระจอมรถ โปรดอย่าเพิ่งยิงข้าพระบาทเลย ใครหนอกราบทูลข้อนี้แด่พระองค์ว่า พญามฤคนั้นพำนักอยู่ ที่นี้".
ขณะนั้นคนใจบาปถอยไปหน่อยหนึ่ง แล้วยืนอยู่ตรงนั้นเอง พระราชาเมื่อจะตรัสบอกว่า ผู้นี้แสดงแก่เรา จึงตรัสพระคาถาที่ ๖ ว่า.
"ดูก่อนสหาย บุรุษผู้มีมารยาทอันเลวทราม ยืนอยู่ห่างๆ นั่น บุรุษคนนั้นแหละได้บอกความเรื่องนี้แก่เราว่า มฤคตัวนี้อยู่ ณ ไพรสณฑ์นี้".
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปาปจโร แปลว่า ผู้มีมารยาทเลวทราม.
พระมหาสัตว์ ครั้นติเตียนคนประทุษร้ายมิตรแล้ว เมื่อจะเจรจาปราศรัยกับพระราชา จึงกล่าวคาถาที่ ๗ ว่า.
"ได้ยินว่า คนบางพวกในโลกนี้ กล่าวความจริงไว้อย่างนี้ว่า ไม้ลอยน้ำยังดีกว่า คนบางคนไม่ดีเลย".
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิปาวตํ แปลว่า ถูกช่วยเหลือไว้.
บทว่า เอกจฺจิโย ความว่า แต่บุคคลบางคนสันดานบาป มักประทุษร้ายมิตร แม้
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 322
กำลังจะตายในน้ำ ได้รับการช่วยเหลือขึ้นมาได้ ก็ยังหาประเสริฐไม่ เพราะท่อนไม้ยังเป็นไปเพื่ออุปการะโดยประการต่างๆ ส่วนคนประทุษร้ายมิตร มีแต่จะล้างผลาญ เพราะเหตุนั้น ท่อนไม้ประเสริฐกว่าคนนั้นหนักหนา แต่ข้าพระบาทมิได้กระทำตามคำของท่านเหล่านั้น.
พระราชาทรงสดับดังนั้นแล้ว จึงตรัสพระคาถาต่อไปว่า.
"ดูก่อนพญามฤค เธอติเตียนพวกไหนแน่ ติเตียนพวกมฤค พวกนกหรือพวกมนุษย์ เรามีความกลัวไม่น้อย เพราะได้ฟังเจ้าพูดภาษามนุษย์ได้".
บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า มิคานํ พระราชาตรัสถามว่า เธอติเตียนพวกมฤคตัวใดตัวหนึ่ง หรือพวกนก หรือพวกมนุษย์.
บทว่า ภยํ หิ มํ วนฺทติ ความว่า เธอติเตียนเราผู้กลัวอยู่ เราออกจะครั่นคร้ามอยู่ไม่น้อย.
บทว่า อนปฺปรูปํ ได้แก่ มาก.
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เมื่อจะแสดงว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ข้าพระบาทมิได้ติเตียนมฤคเป็นต้น แต่ติเตียนพวกมนุษย์ กล่าวคาถาที่ ๙ ว่า.
"ข้าพระองค์ช่วยยกขึ้นซึ่งบุรุษคนใด ผู้ลอยไปในห้วงน้ำคงคา มีน้ำมากไหลเชี่ยว ภัยมาถึงข้าพระบาทแล้วเพราะบุรุษผู้นั้นเป็นเหตุ ข้าแต่พระมหาราชา การสมาคมกับอสัตบุรุษทั้งหลายนำทุกข์มาให้โดยแท้".
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วหเน ความว่า ในห้วงน้ำแม่น้ำคงคา อันสามารถที่จะพัดพาผู้ที่ตกแล้วๆ ไปได้.
บทว่า มโหทเก สลิเล ความว่า มีน้ำมาก คือมีกระแสเชี่ยว พระมหาสัตว์แสดงห้วงน้ำคงคานั่นแหละ ว่ามีน้ำมากด้วยบททั้งสอง.
บทว่า ตโตนิทานํ ความว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 323
บุคคลใดเล่าที่พระองค์ทรงชี้ให้ข้าพระบาทดูนั้น กำลังลอยล่องไปในแม่น้ำคงคา ร้องไห้คร่ำครวญน่าสงสารอยู่ในเวลาเที่ยงคืน ข้าพระบาทช่วยเขาขึ้นไว้ได้ วันนี้ภัยมาถึงข้าพระบาท เพราะเขาเป็นต้นเหตุ ข้าแต่มหาราชเจ้า ขึ้นชื่อว่า การสมาคมกับคนเลวๆ ลำบาก พระเจ้าข้า.
พระราชาทรงสดับดังนั้นแล้ว ทรงกริ้วเขา ทรงพระดำริว่า มันช่างไม่รู้คุณของมหาสัตว์นี้ ชื่อว่ามีอุปการะมากเช่นนี้ ต้องยิงมันเสียให้ตาย แล้วตรัสพระคาถาที่ ๑๐ ว่า.
"เรานั้นจะปล่อยลูกศร ๔ ปีกนี้แหวกไปในอากาศ ให้ไปตัดตรงหัวใจ เราจักฆ่ามันผู้ประทุษร้ายมิตร ผู้ไม่ทำกิจที่ควรทำ ไม่รู้จักผู้กระทำคุณให้เช่นท่าน".
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จตุปตฺตํ ความว่า ประกอบด้วยลูกศร ๔ ปีก.
บทว่า วิหงฺคมํ แปลว่า แหวกไปทางอากาศ.
บทว่า คุจฺฉิทํ แปลว่า เชือดเอาร่างกาย.
บทว่า โอสชฺชามิ ความว่า เราจักปล่อยลูกศรไปตรงหัวใจเขา.
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ดำริว่า ผู้นี้จงอย่าวอดวายเสียเพราะเราเลย จึงกล่าวคาถาที่ ๑๑ ว่า.
"ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งประชาชน สัตบุรุษทั้งหลายไม่สรรเสริญการฆ่าบัณฑิตและคนพาลเลย คนผู้มีธรรมอันลามกจงกลับไปสู่เรือนของเขาตามปรารถนาเถิด อนึ่ง ขอได้โปรดพระราชทานค่าจ้างตามที่พระองค์ตรัสไว้แก่เขาด้วยเถิด อนึ่ง ข้าพระองค์ขอทำความปรารถนาของพระองค์".
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 324
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กามา ความว่า เขาจงไปบ้านเรือนของตนตามปรารถนา ตามความพอใจเถิด.
บทว่า ยญฺจสฺส ภตฺตํ ตเทตสฺส เทหิ ความว่า โปรดจงประทานสิ่งที่พระองค์ตรัสไว้ว่า เราจักให้สิ่งนี้นั้นแก่เขาด้วยเถิด.
บทว่า กามกโร ความว่า ข้าพระองค์ขอเป็นผู้ทำตามประสงค์ คือพระองค์ทรงปรารถนาสิ่งใด ก็จงกระทำสิ่งนั้นเถิด หมายความว่า จะเสวยเนื้อข้าพระองค์ก็ได้ จะกระทำข้าพระองค์ให้เป็นมฤคสำหรับกีฬาก็ได้ ข้าพระองค์จะปฏิบัติตามประสงค์ของพระองค์ทุกประการ.
พระราชาครั้นทรงสดับดังนั้นแล้ว ทรงพอพระหฤทัย เมื่อจะทรงชมเชยพระมหาสัตว์ จึงตรัสพระคาถาต่อไปว่า.
"ดูก่อนพญามฤค ท่านผู้ไม่ประทุษร้ายต่อมนุษย์ผู้ประทุษร้าย นับเป็นผู้หนึ่งในจำนวนสัตบุรุษทั้งหลายเป็นแน่ คนผู้มีธรรมอันลามกจงกลับไปสู่เรือนของตนตามความปรารถนา อนึ่ง เราจะให้ค่าจ้างที่เราพูดไว้แก่เขา และเราขอให้บ้านส่วยแก่ท่าน".
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สตํ โส ความว่า เธอต้องเป็นผู้หนึ่งในบรรดาบัณฑิตทั้งหลายแน่นอน.
บทว่า คามวรํ ความว่า พระราชาทรงประทานพรแก่พระมหาสัตว์ว่า เราเลื่อมใสในธรรมกถาของเธอ จะให้บ้านส่วย ให้อภัยแก่ท่าน ตั้งแต่นี้ไป ขอท่านจงปลอดภัยเที่ยวไปตามความชอบใจ.
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เมื่อจะลองหยั่งท้าวเธอดูว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ธรรมดามนุษย์ปากพูดไปอย่างหนึ่ง กระทำไปอย่างหนึ่ง ได้กล่าวคาถาสองคาถาว่า.
"ข้าแต่พระราชา เสียงของสุนัขจิ้งจอกก็ดี ของนกก็ดี รู้ได้ง่าย เสียงของมนุษย์ รู้ได้ยากยิ่งกว่านั้น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 325
อนึ่ง ผู้ใดเมื่อก่อนเป็นคนใจดี คนทั้งหลายนับถือว่าเป็นญาติ เป็นมิตรหรือเป็นสหาย ภายหลังผู้นั้นกลับกลายเป็นศัตรูไปก็ได้ ใจของมนุษย์รู้ได้ยากอย่างนี้".
พระราชาทรงสดับดังนั้นแล้ว ตรัสว่า พญามฤคอย่าได้หมิ่นฉันอย่างนี้ ฉันน่ะแม้จะละทิ้งราชสมบัติ ก็จักไม่ขอละทิ้งพรที่ให้แก่เธอเลย เชื่อเถิด จงรับพรของฉันเถิด พระมหาสัตว์เมื่อรับพรจากสำนักของท้าวเธอ ขอรับพร คืออภัยทานแก่สรรพสัตว์ตั้งต้นแต่ตนไป ฝ่ายพระราชาก็โปรดประทานพร แล้วพาพระมหาสัตว์สู่พระนคร ตรัสสั่งให้ประดับพระนครและพระมหาสัตว์ เชิญให้แสดงธรรมแก่พระเทวี พระมหาสัตว์แสดงธรรมแก่พระราชาและราชบริษัทตั้งต้นแต่พระเทวีด้วยภาษามนุษย์อย่างไพเราะ ตักเตือนพระราชาด้วยทศพิธราชธรรม สั่งสอนมหาชนแล้วเข้าป่า แวดล้อมไปด้วยหมู่มฤค พำนักอาศัยอยู่ พระราชาทรงสั่งคนให้เที่ยวตีกลองร้องประกาศไปในพระนครว่า เราให้อภัยแก่สรรพสัตว์ ฝูงเนื้อกินข้าวกล้าของหมู่คน ใครๆ ก็ไม่อาจห้ามได้ มหาชนพากันไปสู่ท้องพระลานหลวงร้องทุกข์ขึ้น.
พระศาสดาเมื่อทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสพระคาถานี้ว่า.
"ชาวชนบทและชาวนิคมทั้งหลายมาประชุมพร้อมกันร้องทุกข์ว่า ฝูงเนื้อพากันมากินข้าว ขอพระองค์จงตรัสห้ามฝูงเนื้อนั้นเสียบ้าง พระเจ้าข้า".
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เทโว ความว่า ขอพระองค์จงตรัสห้ามหมู่เนื้อนั้น.
พระราชาทรงสดับดังนั้นแล้ว จึงตรัสสองพระคาถาว่า.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 326
"ชนบทอย่าได้มี แม้แว่นแคว้นจะพินาศไปก็ตามทีเถิด เราให้อภัยแก่ฝูงเนื้อและนกยูงแล้ว ไม่ขอประทุษร้ายพญาเนื้อรุรุเป็นอันขาด".
"ชาวชนบทของเราจะไม่มีก็ตาม ชาวชนบทจะไม่พูดกะเราก็ตาม เราได้ให้พรแก่พญาเนื้อไว้แล้ว จะไม่พูดเท็จเป็นอันขาด".
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มาสิ ความว่า ชาวชนบทของเราจะไม่มีก็ตามที.
บทว่า รุรุํ ความว่า เราได้ให้พรแก่พญาเนื้อชื่อว่ารุรุ ตัวมีสีดังทองคำ จักไม่ประทุษร้ายต่อนกทั้งหลายเลย.
มหาชนได้ฟังพระดำรัสของพระราชาแล้ว เมื่อไม่อาจจะกล่าวคำอะไรๆ ได้จึงพากันหลีกไป ถ้อยคำนั้นได้แพร่กระจายไปแล้ว พระมหาสัตว์ได้ฟังเรื่องนั้นแล้ว จึงเรียกให้ฝูงเนื้อมาประชุมกัน กล่าวสอนว่า ตั้งแต่นั้นไปเจ้าทั้งหลายอย่าพากันกินข้าวกล้าของพวกมนุษย์เลย แล้วบอกแก่พวกมนุษย์ว่า จงพากันผูกหุ่นหญ้าไว้ในไร่นาของตนๆ เถิด มนุษย์เหล่านั้นพากันทำตามนั้น ด้วยเครื่องหมายนั้น ฝูงเนื้อไม่กินข้าวกล้าจนถึงทุกวันนี้.
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในครั้งก่อนเทวทัตก็อกตัญญูเหมือนกัน ทรงประชุมชาดกว่า เศรษฐีบุตรในครั้งนั้น ได้มาเป็นเทวทัต พระราชา ได้มาเป็นอานนท์ ส่วนเนื้อรุรุ คือเราตถาคตแล.
จบอรรถกถารุรุชาดก