พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. จันทกินนรชาดก ว่าด้วยนางจันทกินรี

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ส.ค. 2564
หมายเลข  35950
อ่าน  614

[เล่มที่ 60] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 360

๒. จันทกินนรชาดก

ว่าด้วยนางจันทกินรี


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 60]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 360

๒. จันทกินนรชาดก

ว่าด้วยนางจันทกินรี

[๑๘๘๓] ดูก่อนนางจันทา ชีวิตของพี่ใกล้จะขาดอยู่แล้ว พี่กำลังเมาเลือด จันทาเอ๋ย พี่เห็นจะละชีวิตไป แม้ในวันนี้ ลมปราณของพี่กำลังจะดับ ชีวิตของพี่กำลังจะจม ความทุกข์กำลังเผาผลาญหัวใจพี่ พี่ลำบากยิ่งนัก ความโศกของพี่ครั้งนี้ เป็นความโศกยิ่งใหญ่กว่าความโศกเหล่าอื่น เพราะเหตุแห่งเจ้าจันทา ผู้จะเศร้าโศกถึงพี่โดยแท้ พี่จะเหี่ยวแห้งเหมือนต้นหญ้าที่ถูกทิ้งไว้บนแผ่นหินร้อน เหมือนต้นไม้มีรากอันขาด

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 361

พี่จะเหือดหายเหมือนแม่น้ำที่ขาดห้วง ความโศกของพี่ครั้งนี้ เป็นความโศกยิ่งใหญ่กว่าความโศกเหล่าอื่น เพราะเหตุแห่งเจ้าจันทาผู้จะเศร้าโศกถึงพี่โดยแท้ น้ำตาของพี่ไหลออกเรื่อยๆ เหมือนน้ำฝนที่ตกลงที่เชิงบรรพตไหลไปไม่ขาดสายฉะนั้น ความโศกของพี่ครั้งนี้ เป็นความโศกยิ่งใหญ่กว่าความโศกเหล่าอื่น เพราะเหตุแห่งเจ้าจันทาผู้จะเศร้าโศกถึงพี่โดยแท้.

[๑๘๘๔] พระราชบุตรใด ยิงสามีผู้เป็นที่ปรารถนาของเรา เพื่อให้เป็นหม้ายที่ชายป่า พระราชบุตรนั้นเป็นคนเลวทรามแท้ สามีของเรานั้นถูกยิงแล้วนอนอยู่ที่พื้นดิน พระราชบุตรเอ๋ย มารดาของท่านจงได้รับสนองความโศกในดวงหทัยของข้าผู้เพ่งมองดูกินนรผู้สามีนี้ ชายาของท่านจงได้รับสนองความโศกในดวงหทัยของข้าผู้เพ่งมองดูกินนรผู้สามีนี้ พระราชบุตรเอ๋ย ท่านได้ฆ่ากินนรผู้ไม่ประทุษร้าย เพราะความรักใคร่ในเรา ขอมารดาของท่านอย่าได้พบเห็นบุตรและสามีเลย ท่านได้ฆ่ากินนรผู้ไม่ประทุษร้าย เพราะความรักใคร่ในเรา ขอชายาของท่านจงอย่าได้พบเห็นบุตรและสามีเลย.

[๑๘๘๕] ดูก่อนนางจันทา ผู้มีนัยน์ตาบานดังดอกไม้ในป่า เธออย่าร้องไห้อย่าเศร้าโศกเลย เธอจักได้เป็นอัครมเหสีของฉัน มีเหล่านารีในราชสกุลบูชา.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 362

[๑๘๘๖] พระราชบุตร ถึงแม้ว่าเราจักต้องตาย แต่เราจักไม่ขอยอมเป็นของท่าน ผู้ฆ่ากินนรสามีของเราผู้มิได้ประทุษร้าย เพราะความรักใคร่ในเรา.

[๑๘๘๗] แน่ะนางกินรีผู้ขี้ขลาด มีความรักใคร่ต่อชีวิต เจ้าจงไปสู่ป่าหิมพานต์เถิด มฤคอื่นๆ ที่บริโภคกฤษณาและกระลำพัก จักยังรักใคร่ยินดีต่อเจ้า.

[๑๘๘๘] ข้าแต่กินนร ภูเขาเหล่านั้น ซอกเขาเหล่านั้นและถ้ำเหล่านั้น ตั้งอยู่ ณ ที่นั้น ฉันไม่เห็นท่านในที่นั้นๆ จะกระทำอย่างไร ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่เทือกเขา ซึ่งเราเคยร่วมอภิรมย์กัน จะกระทำอย่างไร ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่แผ่นผาอันลาดด้วยใบไม้เป็นที่น่ารื่นรมย์ พวกมฤคร้ายกล้ำกลาย จะทำอย่างไร ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่แผ่นผาอันลาดด้วยดอกไม้เป็นที่น่ารื่นรมย์ พวกมฤคร้ายกล้ำกลาย จะทำอย่างไรข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ลำธารอันมีน้ำใสไหลอยู่เรื่อยๆ มีกระแสเกลื่อนกล่นไปด้วยดอกโกสุม จะกระทำอย่างไร ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ยอดเขาหิมพานต์อันมีสีเขียวน่าดูน่าชม จะกระทำอย่างไร ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ยอดเขาหิมพานต์อันมีสีเหลืองอร่ามน่าดูน่าชม จะกระทำอย่างไร ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ยอดเขาหิมพานต์อันมีสีแดงน่าดูน่าชม จะกระทำอย่างไร ข้าแต่กินนร

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 363

เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ยอดเขาหิมพานต์อันสูงตระหง่านน่าดูน่าชม จะกระทำอย่างไร ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ยอดเขาหิมพานต์อันมีสีขาวน่าดูน่าชม จะกระทำอย่างไร ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ยอดเขาหิมพานต์อันงามวิจิตรน่าดูน่าชม จะกระทำอย่างไร ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่เขาคันธมาทน์อันดารดาษไปด้วยยาต่างๆ เป็นถิ่นที่อยู่ของหมู่เทพเจ้า จะกระทำอย่างไร ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ภูเขาคันธมาทน์อันดารดาษไปด้วยโอสถทั้งหลาย จะกระทำอย่างไร.

[๑๘๘๙] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ผู้เป็นเจ้า ฉันขอไหว้เท้าทั้งสองของท่านผู้มีความเอ็นดู มารดสามีผู้ที่ดิฉันซึ่งเป็นกำพร้าปรารถนายิ่งนักด้วยน้ำอมฤต ดิฉันได้ชื่อว่า เป็นผู้พร้อมเพรียงด้วยสามีผู้เป็นที่รักยิ่งแล้ว.

[๑๘๙๐] บัดนี้ เราทั้งสองจักเที่ยวไปสู่ลำธาร อันมีกระแสสินธุ์อันเกลื่อนกล่นด้วยดอกโกสุม ดารดาษไปด้วยบุบผชาติต่างๆ เราทั้งสองจะกล่าววาจาเป็นที่รักแก่กันและกัน.

จบจันทกินนรชาดกที่ ๒

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 364

อรรถกถาจันทกินนรชาดก

พระศาสดาเมื่อทรงอาศัยกรุงกบิลพัสดุ์ ประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ทรงพระปรารภพระมารดาของพระราหุล ตรัสเรื่องนี้ในพระราชนิเวศน์ มีคำเริ่มต้นว่า "อุปนียติทํ มญฺเ" ดังนี้.

ที่จริงชาดกนี้ควรจะกล่าวตั้งแต่ทูเรนิทาน ก็แต่นิทานกถานี้นั้น จนถึงพระอุรุเวลกัสสปบันลือสีหนาทในลัฏฐิวัน กล่าวไว้ในอปัณณกชาดก ต่อจากนั้นจนถึงเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ จักแจ้งในเวสสันดรชาดก.

ก็แลพระศาสดาประทับนั่งในพระนิเวศน์ของพุทธบิดา ในเวลากำลังเสวย ตรัสมหาธัมมปาลชาดก เสวยเสร็จทรงดำริว่า เราจักนั่งในนิเวศน์ของมารดาราหุล กล่าวถึงคุณของเธอ แสดงจันทกินนรชาดก ให้พระราชาทรงถือบาตรเสด็จไปที่ประทับแห่งพระมารดาของพระราหุล กับพระอัครสาวกทั้งสอง ครั้งนั้น นางระบำ ๔๐,๐๐๐ ของพระนาง พากันอยู่พร้อมหน้า บรรดานางทั้งนั้นที่เป็นขัตติยกัญญาถึง ๑,๐๙๐ นาง พระนางทรงทราบว่าพระตถาคตเสด็จมา ตรัสบอกแก่นางเหล่านั้นว่า จงพากันนุ่งผ้าย้อมน้ำฝาดทั่วกันทีเดียว นางเหล่านั้นพากันกระทำอย่างนั้น พระศาสดาเสด็จมาประทับนั่งเหนือพระแท่นที่เตรียมไว้ ครั้งนั้น พวกนางเหล่านั้นทั้งหมดก็พากันร้องไห้ประดังขึ้นเป็นเสียงเดียวกันอื้ออึงไป เสียงร่ำไห้ขนาดหนักได้มีแล้ว ฝ่ายพระมารดาของพระราหุลเล่า ก็ทรงกันแสง ครั้นทรงบรรเทาความโศกได้ ก็ถวายบังคมพระศาสดา ประทับนั่งด้วยความนับถือมาก เป็นไปกับความเคารพอันมีในพระราชา ครั้งนั้น พระราชาทรงพระปรารภคุณกถาของพระนาง ได้ตรัสเล่าพรรณนาคุณของพระนางด้วยประการต่างๆ เช่น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สะใภ้ของโยม

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 365

ฟังว่าพระองค์ทรงนุ่งกาสาวพัสตร์ ก็นุ่งกาสาวพัสตร์เหมือนกัน ฟังว่า พระองค์เลิกทรงมาลาเป็นต้น ก็เลิกทรงมาลาเป็นต้น ฟังว่าทรงเลิกบรรทมเหนือพระยี่ภู่อันสูงอันใหญ่ ก็บรรทมเหนือพื้นเหมือนกัน ในระยะกาลที่พระองค์ทรงผนวชแล้ว นางยอมเป็นหญิงหม้าย มิได้รับบรรณาการที่พระราชาอื่นๆ ส่งมาให้เลย นางมีจิตมิได้เปลี่ยนแปลงในพระองค์ถึงเพียงนี้ พระศาสดาตรัสว่า มหาบพิตร ไม่น่าอัศจรรย์เลย ที่นางมีความรักไม่เปลี่ยนแปลงในอาตมภาพ อย่างไม่ไยดีในผู้อื่นเลยในอัตภาพสุดท้ายของอาตมภาพครั้งนี้ แม้บังเกิดในกำเนิดดิรัจฉาน ก็ยังได้มีจิตไม่เปลี่ยนแปลงในอาตมภาพอย่างไม่ไยดีในผู้อื่นเลย แล้วทรงรับอาราธนานำอดีตนิทานมาดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดกินนร ในหิมวันตประเทศ ภรรยาของเธอนามว่า จันทา ทั้งคู่เล่าก็อยู่ที่ภูเขาเงินชื่อว่า จันทบรรพต ครั้งนั้น พระเจ้าพาราณสีมอบราชสมบัติแก่หมู่อำมาตย์ ทรงผ้าย้อมฝาดสองผืน ทรงสอดพระเบญจาวุธ เข้าสู่ป่าหิมพานต์ลำพังพระองค์เดียวเท่านั้น ท้าวเธอเสวยเนื้อที่ทรงล่าได้เป็นกระยาหาร เสด็จท่องเที่ยวไปถึงลำน้ำน้อยๆ สายหนึ่ง โดยลำดับ ก็เสด็จขึ้นไปถึงต้นสาย ฝูงกินนรที่อยู่ ณ จันทบรรพต เวลาฤดูฝน ก็ไม่ลงมา พากันอยู่ที่ภูเขานั่นแหละ ถึงฤดูแล้งจึงพากันลงมา ครั้งนั้น จันทกินนรลงมากับภรรยาของตน เที่ยวเก็บเล็มของหอมในที่นั้นๆ กินเกษรดอกไม้ นุ่งห่มด้วยสาหร่ายดอกไม้ เหนี่ยวเถาชิงช้าเป็นต้น เล่นพลางขับร้องไปพลาง ด้วยเสียงจะแจ้วเจื้อยจนถึงลำน้ำน้อยสายนั้น หยุดลงตรงที่เป็นคุ้งแห่งหนึ่ง โปรยปรายดอกไม้ลงในน้ำ ลงเล่นน้ำแล้วนุ่งห่มสาหร่ายดอกไม้ จัดแจงแต่งที่นอนด้วยดอกไม้ เหนือหาดทรายซึ่งมีสีเพียงแผ่นเงิน ถือขลุ่ยเลาหนึ่ง

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 366

นั่งเหนือที่นอน ต่อจากนั้น จันทกินนรก็เป่าขลุ่ยขับร้องด้วยเสียงอันหวานฉ่ำ จันทกินรีก็ฟ้อนหัตถ์อันอ่อนยืนอยู่ในที่ใกล้สามี ฟ้อนไปบ้างขับร้องไปบ้าง พระราชานั้นทรงสดับเสียงของกินนรกินรีนั้น ก็ทรงย่องเข้าไปค่อยๆ ยืนแอบในที่กำบัง ทรงทอดพระเนตรกินนรเหล่านั้น ก็ทรงมีจิตปฏิพัทธ์ในกินรี ทรงดำริว่า จักยิงกินนรนั้นเสียให้ถึงสิ้นชีวิต ถึงสำเร็จการอยู่ร่วมกินรีนี้ แล้วทรงยิงจันทกินนร เธอเจ็บปวด รำพันกล่าวคาถา ๔ คาถาว่า.

"ดูก่อนนางจันทา ชีวิตของพี่ใกล้จะขาดอยู่แล้ว พี่กำลังเมาเลือด จันทาเอ๋ย พี่เห็นจะละชีวิตไปแม้ในวันนี้ ลมปราณของพี่กำลังจะดับ ชีวิตของพี่กำลังจะจม ความทุกข์กำลังเผาผลาญหัวใจพี่ พี่ลำบากยิ่งนัก ความโศกของพี่ครั้งนี้ เป็นความโศกยิ่งใหญ่กว่าความโศกเหล่าอื่น เพราะเหตุแห่งเจ้าจันทาผู้จะเศร้าโศกถึงพี่โดยแท้ พี่จะเหี่ยวแห้ง เหมือนต้นหญ้าที่ถูกทิ้งไว้บนแผ่นหินร้อน เหมือนต้นไม้มีรากอันขาด พี่จะเหือดหาย เหมือนแม่น้ำที่ขาดห้วง ความโศกของพี่ครั้งนี้ เป็นความโศกยิ่งใหญ่กว่าความโศกเหล่าอื่น เพราะเหตุแห่งเจ้าจันทาผู้จะเศร้าโศกถึงพี่โดยแท้ น้ำตาของพี่ไหลออกเรื่อยๆ เหมือนน้ำฝนที่ตกลงที่เชิงบรรพตไหลไปไม่ขาดสายฉะนั้น ความโศกของพี่ครั้งนี้ เป็นความโศกยิ่งใหญ่กว่าความโศกเหล่าอื่น เพราะเหตุแห่งเจ้าจันทาผู้จะเศร้าโศกถึงพี่โดยแท้".

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 367

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุปนียติ ความว่า ชีวิตของพี่ใกล้จะขาดอยู่แล้ว.

บทว่า อิทํ ได้แก่ ชีวิต.

บทว่า ปาณา ความว่า ดูก่อนจันทา ลมปราณ คือชีวิตของพี่ย่อมจะดับ.

บทว่า โอสธิ เม ความว่า ชีวิตของพี่ย่อมจะจมลง.

บทว่า นิตมานิ แปลว่า พี่ย่อมลำบากอย่างยิ่ง.

บทว่า ตว จนฺทิยา ความว่า นี้เป็นความทุกข์ของพี่.

บทว่า น นํ อญฺเหิ โสเกหิ ความว่า โดยที่แท้นี้ เป็นเหตุแห่งความโศกของเธอผู้ชื่อว่า จันที เมื่อกำลังเศร้าโศกอยู่ เพราะเหตุที่เธอเศร้าโศก เพราะความพลัดพรากของเรา.

ด้วยบทว่า ติณมิว มิลายามิ เธอกล่าวว่า ข้าจะเหี่ยวเฉา เหมือนต้นหญ้าที่ถูกทอดทิ้งบนแผ่นหินอันร้อน เหมือนป่าไม้ที่ถูกตัดราก ฉะนั้น.

บทว่า สเร ปาเท ความว่า เหมือนสายฝนที่ตกบนเชิงเขาไหลซ่านไปไม่ขาดสายฉะนั้น.

พระมหาสัตว์คร่ำครวญด้วยคาถาสี่เหล่านี้ นอนเหนือที่นอนดอกไม้นั่นเอง ชักดิ้นสิ้นสติ ฝ่ายพระราชายังคงยืนอยู่ จันทากินรีเมื่อพระมหาสัตว์รำพัน กำลังเพลิดเพลินเสียด้วยความรื่นเริงของตน มิได้รู้ว่าเธอถูกยิง แต่ครั้นเห็นเธอไร้สัญญานอนดิ้นไป ก็ใคร่ครวญว่า ทุกข์ของสามีเราเป็นอย่างไรหนอ พอเห็นเลือดไหลออกจากปากแผล ก็ไม่อาจสะกดกลั้นความโศกอันมีกำลังที่เกิดขึ้นในสามีที่รักไว้ได้ ร่ำไห้ด้วยเสียงดัง พระราชาทรงดำริว่า กินนรคงตายแล้ว ปรากฏพระองค์ออกมา จันทาเห็นท้าวเธอ หวั่นใจว่าโจรผู้นี้คงยิงสามีที่รักของเรา จึงหนีไปอยู่บนยอดเขา พลางบริภาษพระราชา ได้กล่าวคาถา ๕ คาถา ดังนี้.

"พระราชบุตรใด ยิงสามีผู้เป็นที่ปรารถนาของเรา เพื่อให้เป็นหม้ายที่ชายป่า พระราชบุตรนั้นเป็นคนเลวทรามแท้ สามีของเรานั้นถูกยิงแล้วนอนอยู่ที่พื้นดิน

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 368

พระราชบุตรเอ๋ย มารดาของท่านจงได้รับสนองความโศกในดวงหทัยของข้า ผู้เพ่งมองดูกินนรผู้สามีนี้ ชายาของท่านจงได้รับสนองความโศกในดวงหทัยของข้า ผู้เพ่งมองดูกินนรผู้สามีนี้ พระราชบุตรเอ๋ย ท่านได้ฆ่ากินนรผู้ไม่ประทุษร้าย เพราะความรักใคร่ในเรา ขอมารดาของท่านอย่าได้พบเห็นบุตรและสามีเลย ท่านได้ฆ่ากินนรผู้ไม่ประทุษร้าย เพราะความรักใคร่ในเรา ขอชายาของท่านจงอย่าได้พบเห็นบุตรและสามีเลย".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วรากิยา แปลว่า ผู้กำพร้า.

บทว่า ปฏิมุจฺจตุ ได้แก่ จงกลับได้ คือถูกต้องบรรลุ.

บทว่า มยฺหํ กามาหิ ได้แก่ เพราะความรักใคร่ในฉัน.

พระราชาเมื่อจะตรัสปลอบนาง ผู้ยืนร่ำไห้เหนือยอดภูเขาด้วย ๕ คาถา จึงตรัสคาถาว่า.

"ดูก่อนนางจันทา ผู้มีนัยน์ตาเบิกบานดังดอกไม้ในป่า เธออย่าร้องไห้ไปเลย เธอจักได้เป็นอัครมเหสีของฉัน มีเหล่านารีในราชสกุลบูชา".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จนฺเท ความว่า เพราะได้สดับชื่อของพระโพธิสัตว์เวลาคร่ำครวญ จึงได้ตรัสอย่างนั้น.

บทว่า วนติมิรมตฺตกฺขิ แปลว่า ผู้มีนัยน์ตาเสมอด้วยดอกไม้ที่มืดมัวในป่า.

บทว่า ปูชิตา ความว่า เธอจะได้เป็นอัครมเหสี ผู้เป็นหัวหน้าของบรรดาหญิง ๑๖,๐๐๐ คน.

นางจันทากินรี ฟังคำของท้าวเธอแล้ว กล่าวว่า ท่านพูดอะไร เมื่อจะบันลือสีหนาทจึงกล่าวคาถาต่อไปว่า.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 369

"ถึงแม้ว่าเราจักต้องตาย แต่เราจักไม่ขอยอมเป็นของท่าน ผู้ฆ่ากินนรสามีของเรา ผู้มิได้ประทุษร้าย เพราะความรักใคร่ในเรา".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปิ นูนาหํ ความว่า ถึงแม้เราจักต้องตายอย่างแน่นอนทีเดียว.

ท้าวเธอฟังคำของนางแล้วหมดความรักใคร่ ตรัสคาถาต่อไปว่า.

"แน่ะนางกินรีผู้ขี้ขลาด มีความรักใคร่ต่อชีวิต เจ้าจงไปสู่ป่าหิมพานต์เถิด มฤคอื่นๆ ที่บริโภคกฤษณาและกระลำพัก จักยังรักใคร่ยินดีต่อเจ้า".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปิ ภีรุเก แปลว่า ผู้มีชาติขลาดเป็นอย่างยิ่ง.

บทว่า ตาลิสตคฺครโภชนา ความว่า มฤคอื่นๆ ที่บริโภคใบกฤษณาและใบกระลำพัก จักยังรักษาความยินดีต่อเจ้า ท้าวเธอได้กล่าวกะนางว่า เจ้าไม่สมควรในราชสกุล จงไปเถิด.

ก็แลครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว ก็เสด็จหลีกไปอย่างหมดเยื่อใย นางทราบว่า ท้าวเธอไปแล้ว ก็ลงมากอดพระมหาสัตว์ อุ้มขึ้นสู่ยอดภูเขา ให้นอนเหนือยอดภูเขา ยกศีรษะวางไว้เหนือขาของตน พลางพร่ำไห้เป็นกำลัง จึงกล่าว คาถา ๑๒ คาถาว่า.

"ข้าแต่กินนร ภูเขาเหล่านั้น ซอกเขาเหล่านั้นและถ้ำเหล่านั้นตั้งอยู่ ณ ที่นั้น ฉันไม่เห็นท่านในที่นั้นๆ จะกระทำอย่างไร ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่เทือกเขา ซึ่งเราเคยร่วมอภิรมย์กัน จะกระทำอย่างไร ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่แผ่นผาอัน

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 370

ลาดด้วยใบไม้เป็นที่น่ารื่นรมย์ พวกมฤคร้ายกล้ำกลาย จะทำอย่างไร ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่แผ่นผาอันลาดด้วยดอกไม้เป็นที่น่ารื่นรมย์ พวกมฤคร้ายกล้ำกลาย จะทำอย่างไร ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ลำธารอันมีน้ำใสไหลอยู่เรื่อยๆ มีกระแสเกลื่อนกล่นไปด้วยดอกโกสุม จะกระทำอย่างไร ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ยอดเขาหิมพานต์อันมีสีเขียวน่าดูน่าชม จะกระทำอย่างไร ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ยอดเขาหิมพานต์อันมีสีเหลืองอร่ามน่าดูน่าชม จะกระทำอย่างไร ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ยอดเขาหิมพานต์อันมีสีแดงน่าดูน่าชม จะกระทำอย่างไร ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ยอดเขาหิมพานต์อันสูงตระหง่านน่าดูน่าชม จะกระทำอย่างไร ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ยอดเขาหิมพานต์อันมีสีขาวน่าดูน่าชม จะกระทำอย่างไร ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ยอดเขาหิมพานต์อันงามวิจิตรน่าดูน่าชม จะกระทำอย่างไร ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่เขาคันธมาทน์อันดารดาษไปด้วยยาต่างๆ เป็นถิ่นที่อยู่ของหมู่เทพเจ้า จะกระทำอย่างไร ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ภูเขาคันธมาทน์อันดารดาษไปด้วยโอสถทั้งหลาย จะกระทำอย่างไร".

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 371

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เต ปพฺพตา ความว่า ภูเขาเหล่านั้น ซอกเขาเหล่านั้นและถ้ำเขาเหล่านั้น ที่เราเคยขึ้นร่วมอภิรมย์ ตั้งอยู่ ณ ที่นั้นนั่นแล บัดนี้ เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่เทือกเขานั้น เราจะทำอย่างไรเล่า เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่แผ่นผาลาดอันงดงามไปด้วยใบไม้ ดอกและผลเป็นต้น ร่ำไรอยู่ว่า เราจะอดกลั้นได้อย่างไร.

บทว่า ปณฺณสณฺตา ความว่า ดารดาษด้วยกลิ่นและใบ ของใบกฤษณาเป็นต้น.

บทว่า อจฺฉา ได้แก่ มีน้ำใสสะอาด.

บทว่า นีลานิ ได้แก่ สำเร็จด้วยแก้วมณี.

บทว่า ปีตานิ ได้แก่ สำเร็จด้วยทองคำ.

บทว่า ตมฺพานิ ได้แก่ สำเร็จด้วยมโนศิลา.

บทว่า ตุงฺคานิ ความว่า มีปลายคมสูง.

บทว่า เสตานิ ได้แก่ สำเร็จด้วยเงิน.

บทว่า จตฺรานิ ได้แก่ เจือด้วยรัตนะ ๗ ประการ.

บทว่า ยกฺขคณเสวิเต ความว่า อันภุมเทวดาเสพแล้ว.

นางร่ำไห้ด้วยคาถาสิบสองบทด้วยประการฉะนี้แล้ว วางมือลงตรงอุระพระมหาสัตว์ รู้ว่ายังอุ่นอยู่ ก็คิดว่า พี่จันท์ ยังมีชีวิตเป็นแน่ เราต้องกระทำการเพ่งโทษเทวดา ให้ชีวิตของเธอคืนมาเถิด แล้วได้กระทำการเพ่งโทษเทวดาว่า เทพเจ้าที่ได้นามว่า ท้าวโลกบาลน่ะ ไม่มีเสียหรือไรเล่า หรือหลบไปเสียหมดแล้ว หรือตายหมดแล้ว ช่างไม่ดูแลผัวรักของข้าเสียเลย ด้วยแรงโศกของนาง พิภพท้าวสักกะเกิดร้อน ท้าวสักกะทรงดำริทราบเหตุนั้น แปลงเป็นพราหมณ์ ถือกุณฑีน้ำมาหลั่งรดพระมหาสัตว์ ทันใดนั้นเอง พิษก็หายสิ้น แผลก็เต็ม แม้แต่รอยที่ว่าถูกยิงตรงนี้ก็มิได้ปรากฏ พระมหาสัตว์สบายลุกขึ้นได้ จันทาเห็นสามีที่รักหายโรค แสนจะดีใจ ไหว้แทบเท้าของท้าวสักกะ กล่าวคาถาเป็นลำดับว่า.

"ข้าแต่ท่านพราหมณ์ผู้เป็นเจ้า ฉันขอไหว้เท้าทั้งสองของท่าน ผู้มีความเอ็นดู มารดสามีผู้ที่ดิฉัน

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 372

ซึ่งเป็นกำพร้าปรารถนายิ่งนักด้วยน้ำอมฤต ดิฉันได้ชื่อว่า เป็นผู้พร้อมเพรียงด้วยสามีผู้เป็นที่รักยิ่งแล้ว".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อมเตน ความว่า นางจันทากินรีสำคัญว่า เป็นน้ำอมฤต จึงกล่าวอย่างนั้น.

บทว่า ปิยตเมน แปลว่า น่ารักกว่า บาลีก็อย่างนั้นเหมือนกัน.

ท้าวสักกะได้ประทานโอวาทแก่กินนรทั้งคู่นั้นว่า ตั้งแต่บัดนี้ เธอทั้งสองอย่าลงจากจันทบรรพตไปสู่ถิ่นมนุษย์เลย จงพากันอยู่ที่นี้เท่านั้นนะ ครั้นแล้ว ก็เสด็จไปสู่สถานที่ของท้าวเธอ.

ฝ่ายจันทากินรีก็กล่าวว่า พี่เจ้าเอ๋ย เราจะต้องการอะไรด้วยสถานที่อันมีภัยรอบด้านนี้เล่า มาเถิดค่ะ เราพากันไปสู่จันทบรรพตเลยเถิดคะ แล้วกล่าวคาถาสุดท้ายว่า.

"บัดนี้ เราทั้งสองจักเที่ยวไปสู่ลำธารอันมีกระแสสินธุ์อันเกลื่อนกล่นด้วยดอกโกสุม ดารดาษไปด้วยบุบผชาติต่างๆ เราทั้งสองจะกล่าววาจาเป็นที่รักแก่กันและกัน".

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในครั้งก่อนนางก็ไม่ได้เอาใจออกห่างเรา มิใช่หญิงที่ผู้อื่นจะนำไปได้เหมือนกัน ทรงประชุมชาดกว่า พระราชาในครั้งนั้น ได้มาเป็นเทวทัต ท้าวสักกะ ได้มาเป็นอนุรุทธะ จันทากินรี ได้มาเป็นมารดาเจ้าราหุล ส่วนจันทกินนร ได้มาเป็นเราตถาคตแล.

จบอรรถกถาจันทกินนรชาดก