พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. มหาอุกกุสชาดก ว่าด้วยสัตว์ ๔ สหาย

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ส.ค. 2564
หมายเลข  35951
อ่าน  450

[เล่มที่ 60] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 373

๓. มหาอุกกุสชาดก

ว่าด้วยสัตว์ ๔ สหาย


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 60]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 373

๓. มหาอุกกุสชาดก

ว่าด้วยสัตว์ ๔ สหาย

[๑๘๙๑] พวกพรานชาวชนบท พากันมัดคบเพลิงอยู่บนเกาะ ปรารถนาจะกินลูกน้อยของเรา ข้าแต่พญาเหยี่ยว ท่านจงบอกมิตรและสหาย จงแจ้งความพินาศแห่งหมู่ญาติของเรา.

[๑๘๙๒] ข้าแต่พญานกออก ท่านเป็นนกที่ประเสริฐกว่านกทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอยึดท่านเป็นที่พึ่ง พวกพรานชาวชนบทปรารถนาจะกินลูกน้อยของข้าพเจ้า ขอท่านจงช่วยให้ข้าพเจ้าได้รับความสุขเถิด.

[๑๘๙๓] บัณฑิตทั้งหลาย ผู้แสวงหาความสุขทั้งในกาลและมิใช่กาล ย่อมทำบุคคลให้เป็นมิตรสหาย ดูก่อนเหยี่ยว ฉันจะกระทำประโยชน์อันนี้แก่ท่านจงได้ ที่จริง อริยชนย่อมกระทำกิจให้แก่อริยชน.

[๑๘๙๔] กิจอันใด ที่อริยชนผู้มีความอนุเคราะห์ จะพึงกระทำแก่อริยชน กิจอันนั้น ชื่อว่าอันท่านกระทำแล้ว ขอท่านจงรักษาตัวเถิด อย่ารีบร้อนไปนักเลย เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ เราก็จะได้ลูกคืนมาเป็นแน่.

[๑๘๙๕] ฉันกระทำการรักษาป้องกันนั้น แม้ถึงตัวจะตายก็มิได้สะดุ้งเลย แท้จริงสหายทั้งหลายผู้ยอม

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 374

สละชีวิต กระทำเพื่อสหายทั้งหลาย นี่เป็นธรรมดาของสัตบุรุษทั้งหลาย.

[๑๘๙๖] นกออกตัวนี้ซึ่งเป็นอัณฑชะ ได้กระทำกรรมที่ทำได้แสนยาก เพื่อประโยชน์แก่ลูกเหยี่ยว ตั้งแต่ยามครึ่งจนถึงเที่ยงคืนไม่หยุดหย่อน.

[๑๘๙๗] แท้จริง คนบางพวก ถึงจะเคลื่อนคลาดพลาดพลั้งจากการงานของตน ก็ยังตั้งตัวได้ด้วยความอนุเคราะห์ของมิตรทั้งหลาย พวกลูกทั้งหลายของข้าพเจ้าเดือดร้อน ข้าพเจ้าจึงรีบมาหาท่านเพื่อขอให้ท่านเป็นที่พึ่งอาศัย ดูก่อนเต่าผู้เป็นสหาย ขอท่านช่วยบำเพ็ญประโยชน์แก่ข้าพเจ้าเถิด.

[๑๘๙๘] บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมทำบุคคลให้เป็นมิตรสหายด้วยทรัพย์ ข้าวเปลือกและด้วยตน ดูก่อนเหยี่ยว ข้าพเจ้าจะกระทำประโยชน์นี้แก่ท่านให้จงได้ เพราะอริยชนย่อมทำกิจแก่อริยชน.

[๑๘๙๙] คุณพ่อครับ ขอคุณพ่อจงมีความขวนขวายน้อยอยู่เฉยๆ เถิด บุตรย่อมบำเพ็ญสิ่งที่เป็นประโยชน์เพื่อบิดา ผมเองจักป้องกันลูกทั้งหลายของพญาเหยี่ยว จักบำเพ็ญประโยชน์เพื่อคุณพ่อ.

[๑๙๐๐] ลูกเอ๋ย บุตรพึงบำเพ็ญสิ่งที่เป็นประโยชน์เพื่อบิดา นี้เป็นธรรมของสัตบุรุษทั้งหลายโดยแท้แล พวกพรานทั้งหลายแล เห็นพ่อผู้มีกายอันใหญ่โต ที่ไหนเลยจะเบียดเบียนลูกทั้งหลายของพญาเหยี่ยวได้.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 375

[๑๙๐๑] ข้าแต่พญาราชสีห์ ผู้ประเสริฐด้วยความแกล้วกล้า สัตว์และมนุษย์เมื่อตกอยู่ในภัยแล้ว ย่อมเข้าไปหาผู้ประเสริฐ พวกบุตรของข้าพเจ้าเดือดร้อน ข้าพเจ้าจึงรีบมาหาท่านเพื่อขอให้ท่านเป็นที่พึ่งอาศัย ท่านเป็นเจ้านายของข้าพเจ้า ขอท่านได้โปรดช่วยให้ข้าพเจ้าได้รับความสุขด้วยเถิด.

[๑๙๐๒] ดูก่อนพญาเหยี่ยวผู้สหาย ฉันจะบำเพ็ญประโยชน์นี้เพื่อท่านให้จงได้ เรามาไปด้วยกันเพื่อกำจัดหมู่ศัตรูของท่านนั้นเสีย วิญญูชนรู้ว่าภัยเกิดขึ้นแก่มิตร จะไม่พยายามเพื่อคุ้มครองมิตรอย่างไรได้.

[๑๙๐๓] บุคคลพึงคบมิตรสหายและเจ้านายไว้ เพื่อได้รับความสุข เรากำจัดศัตรูได้ด้วยกำลังแห่งมิตร เป็นผู้พร้อมเพรียงด้วยบุตรทั้งหลาย บันเทิงอยู่ เหมือนเกราะที่บุคคลสวมแล้ว ป้องกันลูกศรทั้งหลายได้ ฉะนั้น.

[๑๙๐๔] ลูกน้อยทั้งหลายของเรา เปล่งเสียงอันจับใจร้องรับเราผู้ร้องหาอยู่ ด้วยการกระทำของพญาเนื้อผู้เป็นมิตรสหายของตนซึ่งมิได้หนีไป.

[๑๙๐๕] แน่ะเธอผู้ต้องการสิ่งที่น่าปรารถนา บัณฑิตได้มิตรสหายแล้ว ย่อมปกปักรักษาบุตร ปศุสัตว์

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 376

และทรัพย์ไว้ได้ ฉัน บุตรและสามีของฉันด้วย เป็นผู้พร้อมเพรียงกันเพราะความอนุเคราะห์ของมิตรทั้งหลาย บุคคลผู้มีพระราชาและมีมิตรผู้กล้าหาญ สามารถจะบรรลุถึงประโยชน์ได้ เพราะสหายเหล่านี้ย่อมมีแก่ผู้มีมิตรธรรมอันบริบูรณ์ บุคคลผู้มีมิตรสหาย มียศ มีตนอันสูงส่ง ย่อมบันเทิงใจอยู่ในโลกนี้ด้วย.

[๑๙๐๖] ข้าแต่พญาเหยี่ยว มิตรธรรมทั้งหลาย แม้ผู้ที่ยากจนก็ควรทำ ดูซีท่าน เราพร้อมด้วยหมู่ญาติ เป็นผู้พร้อมเพรียงกันด้วยความอนุเคราะห์ของมิตร นกตัวใดผูกมิตรไว้กับผู้กล้าหาญ มีกำลัง นกตัวนั้นย่อมมีความสุขเหมือนฉันกับเธอฉะนั้น.

จบมหาอุกกุสชาดกที่ ๓

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 377

อรรถกถามหาอุกกุสชาดก

พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระมหาวิหารเชตวัน ทรงพระปรารภอุบาสกผู้ผูกมิตร ตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า "อุกฺกา มิลาจา พนฺธนฺติ" ดังนี้.

ได้ยินว่า อุบาสกนั้นเป็นบุตรแห่งตระกูลเก่าแก่ในพระนครสาวัตถี ส่งสหายไป ให้ขอกุลธิดาคนหนึ่ง กุลธิดานั้นถามว่า ก็มิตรและสหายที่สามารถแบ่งเบากิจที่เกิดขึ้นของเขามีไหมละ ตอบว่า ไม่มี ครั้นกุลธิดานั้นกล่าวคำว่า ถ้าเช่นนั้น เขาต้องผูกมิตรไว้ก่อนเถิด เขาตั้งอยู่ในคำตักเตือนนั้น เริ่มกระทำไมตรีกับคนเฝ้าประตูทั้งสี่ก่อน แล้วได้กระทำไมตรีกับหน่วยคุ้มกันพระนครและอิสรชนมีมหาอำมาตย์เป็นต้น แม้กับท่านเสนาบดีและกับพระอุปราช ก็กระทำไมตรีไว้ด้วย ครั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับชนเหล่านั้นได้ ก็กระทำไมตรีกับพระราชาโดยลำดับ ต่อจากนั้น ก็ได้กระทำไมตรีกับพระมหาเถระ ๘๐ องค์ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้กับพระอานนท์ ก็ได้กระทำไมตรีกับพระตถาคตเจ้า ทีนั้น พระศาสดาก็ทรงโปรดให้เขาดำรงในสรณะและศีล พระราชาเล่าก็โปรดประทานอิสริยยศแก่เขา เขาเลยปรากฏนามว่า มิตตคันถกะ นั่นแหละ ครั้งนั้น พระราชาประทานเรือนหลังใหญ่แก่เขา โปรดให้กระทำอาวาหมงคล มหาชนตั้งต้นแต่พระราชาส่งบรรณาการให้เขา ครั้งนั้น ภรรยาของเขาก็ส่งบรรณาการที่พระราชาทรงประทาน ไปถวายแด่พระอุปราช ส่งบรรณาการที่พระอุปราชทรงประทาน ไปให้แก่เสนาบดีเป็นลำดับไป ด้วยอุบายนี้แหละ ได้ผูกพันชาวพระนครทั่วหน้าไว้ได้ ในวันที่เจ็ด จัดมหาสักการะเชิญเสด็จพระทศพล ถวายมหาทานแก่ภิกษุสงฆ์ประมาณ ๕๐๐ รูป มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 378

เวลาเสร็จภัตกิจ ฟังพระดำรัสอนุโมทนาที่พระศาสดาตรัส คู่สามีภรรยาก็ดำรงในโสดาปัตติผล พวกภิกษุพากันยกเรื่องขึ้นสนทนากันในธรรมสภาว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย อุบาสกมิตตคันถกะ อาศัยภรรยาของตน ฟังคำของนาง ทำไมตรีกับคนทั้งปวง ได้สมบัติมากจากสำนักพระราชา ทำไมตรีกับพระตถาคตเจ้า ก็ดำรงในโสดาปัตติผลทั้งคู่ พระศาสดาเสด็จมา ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อกี้เธอนั่งสนทนาด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่อุบาสกนี้อาศัยมาตุคามถึงยศใหญ่ แม้ในครั้งก่อนเขาบังเกิดในกำเนิดดิรัจฉาน กระทำไมตรีกับสัตว์เป็นอันมากตามคำของนาง พ้นจากความโศกเพราะบุตรได้ ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลอาราธนา ทรงนำอดีตนิทานมาดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล ครั้งหนึ่งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ ในนครพาราณสี ชาวปัจจันตชนบทเหล่านั้นได้เนื้อมากๆ ในที่ใดๆ ก็พากันตั้งบ้านขึ้นในที่นั้นๆ แล้วพากันเที่ยวในป่าฆ่ามฤคเป็นต้น ขนเนื้อมาเลี้ยงลูกเมีย ในไม่ไกลจากบ้านของพวกนั้น มีสระใหญ่เกิดเองอยู่ ด้านขวาของสระนั้น มีเหยี่ยวตัวหนึ่ง ด้านหลังมีนางเหยี่ยวตัวหนึ่ง ด้านเหนือมีราชสีห์ ด้านตะวันออกมีพญานกออกอาศัยอยู่ ส่วนในที่ตื้นกลางสระเต่าอาศัยอยู่ ครั้งนั้น เหยี่ยวกล่าวกับนางเหยี่ยวว่า เป็นภรรยาข้าเถิด นางเหยี่ยวจึงกล่าวกะเขาว่า ก็แกมีเพื่อนบ้างไหมล่ะ ตอบว่า ไม่มีเลย นางกล่าวว่า เมื่อภัยหรือทุกข์บังเกิดแก่เรา เราต้องได้มิตรหรือสหายช่วยแบ่งเบาจึงจะควร แกต้องผูกมิตรก่อนเถิด ถามว่า นางผู้เจริญ เราจะทำไมตรีกับใครเล่า ตอบว่า แกจงทำไมตรีกับพญานกออกที่อยู่ด้านตะวันออก กับราชสีห์ที่อยู่ด้านเหนือ กับเต่าที่อยู่กลางสระ เขาฟังคำของนางแล้วรับคำ ได้กระทำตามนั้น ครั้งนั้น เหยี่ยวทั้งคู่ก็ได้จัดแจงที่อยู่ เขาพากันทำรัง อาศัยอยู่ ณ ต้นกระทุ่ม อันอยู่บนเกาะแห่งหนึ่งในสระนั้นเอง มีน้ำล้อมรอบ.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 379

ครั้นต่อมาเหยี่ยวทั้งคู่ก็ได้ให้กำเนิดลูกน้อยสองตัว ขณะที่ลูกเหยี่ยวทั้งสองยังไม่มีขนปีกนั้นเอง วันหนึ่ง ชาวชนบทเหล่านั้นพากันตระเวนป่าตลอดวัน ไม่ได้เนื้ออะไรๆ เลย คิดกันว่า พวกเราไม่อาจไปเรือนอย่างมือเปล่าได้ ต้องจับปลาหรือเต่าไปให้ได้ พากันลงสระไปถึงเกาะนั้น นอนที่โคนต้นกระทุ่มต้นนั้น เมื่อถูกยุงเป็นต้นรุมกัด ก็ช่วยกันสีไฟก่อไฟ ทำควันเพื่อไล่ยุงเป็นต้นเหล่านั้น ควันก็ขึ้นไปรมนกทั้งหลาย ลูกนกก็พากันร้อง ชาวชนบทได้ยินเสียงต่างกล่าวว่า ชาวเราเอ๋ย เสียงลูกนก ขึ้นซี มัดคบเถิด หิวจนทนไม่ไหว กินเนื้อนกแล้วค่อยนอนกัน พลางก่อไฟให้ลุกแล้วช่วยกันมัดคบ แม่นกได้ยินเสียงพวกนั้น คิดว่า คนพวกนี้ต้องการจะกินลูกของเรา เราผูกมิตรไว้เพื่อกำจัดภัยทำนองนี้ ต้องส่งผัวไปหาพญานกออก แล้วกล่าวว่า ไปเถิดนายจ๋า ภัยบังเกิดแก่ลูกของเราแล้วละ จงบอกแก่พญานกออกเถิด พลางกล่าวคาถาต้นว่า.

"พรานชาวชนบท พากันมัดคบเพลิงอยู่บนเกาะ ปรารถนาจะกินลูกน้อยของเรา ข้าแต่พญาเหยี่ยว ท่านจงบอกมิตรและสหาย จงแจ้งความพินาศแห่งหมู่ญาติของเรา".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มิลาจา แปลว่า ชาวชนบท.

บทว่า ทีเป แปลว่า ในเกาะน้อย.

บทว่า ปชา มมํ ได้แก่ บุตรของเรา แม่นกเรียกนกเหยี่ยวโดยชื่อว่า เสนกะ.

บทว่า าติพฺยสนํ ทิชานํ ความว่า แม่นกกล่าวว่า ท่านจงไปบอกความวอดวายของนกที่เป็นญาติของเรานี้แก่พญานกออก.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 380

พ่อเหยี่ยวนั้นบินไปที่อยู่ของพญานกออกโดยเร็ว แล้วขันบอกให้รู้การที่ตนมา ได้รับโอกาส ก็เข้าไปไหว้ ถูกถามว่า เจ้ามาทำไม เมื่อแสดงเหตุที่ต้องมา กล่าวคาถาที่ ๒ ว่า.

"ข้าแต่พญานกออก ท่านเป็นนกประเสริฐกว่านกทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอยึดท่านเป็นที่พึ่ง พวกพรานชาวชนบทปรารถนาจะกินลูกน้อยของข้าพเจ้า ขอท่านจงช่วยให้ข้าพเจ้าได้รับความสุขเถิด".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทิโช ความว่า ท่านเป็นนกที่ประเสริฐกว่านกทั้งหลาย.

พญานกออกปลอบเหยี่ยวว่า อย่ากลัวเลย แล้วกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า.

"บัณฑิตทั้งหลาย ผู้แสวงหาความสุขทั้งในกาลและไม่ใช่กาล ย่อมทำบุคคลให้เป็นมิตรสหาย ดูก่อนเหยี่ยว ฉันจะกระทำประโยชน์อันนี้แก่ท่านจงได้ ที่จริง อริยชนย่อมกระทำกิจให้แก่อริยชน".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กาเล อกาเล ได้แก่ ในกลางวันและกลางคืน.

อาจาระในบทว่า อริโย นี้ท่านประสงค์เอาอริยะผู้ประเสริฐ พญานกออกกล่าวว่า ในที่นี้อะไรเรียกว่า อริยะ จริงอยู่ ผู้สมบูรณ์ด้วยอาจาระย่อมทำกิจของผู้สมบูรณ์ด้วยอาจาระเท่านั้น.

ลำดับนั้น พญานกออกถามเหยี่ยวว่า พวกคนป่าพากันขึ้นต้นไม้แล้วหรือสหาย ก็ตอบว่า ตอนนั้นยังไม่ได้ขึ้น กำลังพากันมัดคบเท่านั้น บอกว่า ถ้าเช่นนั้น เจ้าจงรีบไปปลอบแม่สหายของเรา บอกถึงการมาของเราไว้เถิด เหยี่ยวทำอย่างนั้น ฝ่ายพญานกออกก็บินมาจับที่ยอดไม้ต้นหนึ่ง มองดูทางขึ้น

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 381

ของพวกชาวป่าไม่ไกลต้นกระทุ่ม เวลาที่ชาวป่าคนหนึ่งขึ้นต้นกระทุ่ม ใกล้จะถึงรังก็ดำลงในสระ เอาน้ำมาด้วยปีกและด้วยปาก รดราดบนคบเสีย คบนั้นก็ดับ พวกชาวป่ากล่าวว่า พวกเราต้องกินเหยี่ยวตัวนี้ด้วย กินลูกของมันด้วยแล้วถอยลง จุดคบให้ลุก พากันปีนขึ้นไปใหม่ พญานกออกก็เอาน้ำมาดับเสียอีก เมื่อพญานกออกใช้อุบายนี้ดับคบที่ผูกแล้วๆ เวลาก็ล่วงไปถึงเที่ยงคืน พญานกออกเหน็ดเหนื่อยยิ่งนัก พังผืดภายใต้ท้องหย่อน ตาทั้งคู่แดงก่ำ แม่เหยี่ยวเห็นแล้ว กล่าวกะผัวว่า นายจ๋า พญานกออกลำบากเหลือเกินแล้วพี่ เจ้าจงไปบอกพญาเต่าเถิด เพื่อให้พญานกออกพักผ่อนได้บ้าง พ่อเหยี่ยวฟังคำนั้นเข้าไปหาพญานกออก พลางเชื้อเชิญด้วยคาถาว่า.

"กิจอันใด ที่อริยชนผู้มีความอนุเคราะห์ จะพึงกระทำแก่อริยชน กิจอันนั้น ชื่อว่าอันท่านกระทำแล้ว ขอท่านจงรักษาตัวเถิด อย่ารีบร้อนไปนักเลย เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ เราก็จะได้ลูกคืนมาเป็นแน่".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตยิทํ ตัดเป็น ตยา อิทํ บาลีก็เหมือนกันแล.

พญานกออกฟังคำของเหยี่ยวนั้นแล้ว เมื่อจะบันลือสีหนาทกล่าวคาถาที่ ๕ ว่า.

"ฉันกระทำการรักษาป้องกันนั้น แม้ถึงตัวจะตาย ก็ไม่ได้สะดุ้งเลย แท้จริงสหายทั้งหลายผู้ยอมสละชีวิต กระทำเพื่อสหายทั้งหลาย นี่เป็นธรรมดาของสัตบุรุษทั้งหลาย".

ก็พระศาสดาเป็นอภิสัมพุทธ เมื่อทรงพรรณนาคุณของพญานกออกนั้น จึงตรัสคาถาที่ ๖ ว่า.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 382

"นกออกตัวนี้ซึ่งเป็นอัณฑชะ ได้กระทำกรรมที่ทำได้แสนยากเพื่อประโยชน์แก่ลูกเหยี่ยว ตั้งแต่ยามครึ่งจนถึงเที่ยงคืนไม่หยุดหย่อน".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กุรุโร แปลว่า พญานกออก (หรือเหยี่ยวดำ).

บทว่า ปุตฺเต ความว่า รักลูกของเหยี่ยวอยู่เพื่อประโยชน์แก่ลูกของเหยี่ยวเหล่านั้น.

บทว่า อฑฺฒรตฺเต อนาคเต ความว่า กระทำความพยายามจนถึงยามที่สอง จัดว่ากระทำได้ยาก.

ฝ่ายพ่อเหยี่ยว กล่าวว่า ข้าแต่พญานกออกผู้สหาย เชิญท่านพักสักหน่อยเถิด แล้วไปหาเต่า ปลุกเต่าลุกขึ้น เมื่อเต่ากล่าวว่า มาทำไม เพื่อนเอ๋ย ก็บอกว่า ภัยเห็นปานนี้บังเกิดแล้ว พญานกออกพยายามมาตั้งแต่ยามต้นจนเหนื่อย เหตุนั้นแหละ ข้าพเจ้าจึงต้องมาหาท่าน แล้วกล่าวคาถาที่ ๗ ว่า.

"แท้จริง คนบางพวก ถึงจะเคลื่อนคลาดพลาดพลั้งจากการงานของตน ก็ยังตั้งตัวได้ด้วยความอนุเคราะห์ของมิตรทั้งหลาย พวกลูกทั้งหลายของข้าพเจ้าเดือดร้อน ข้าพเจ้าจึงรีบมาหาท่านเพื่อขอให้เป็นที่พึ่งอาศัย ดูก่อนเต่าผู้เป็นสหาย ขอท่านช่วยบำเพ็ญประโยชน์แก่ข้าพเจ้าเถิด".

ความแห่งคาถานั้นมีว่า นายเอ๋ย จริงอยู่ บุคคลบางพวกถึงจะคลาดเคลื่อนจากยศหรือจากทรัพย์ ถึงจะพลาดพลั้งจากการงานของตน ย่อมตั้งตนได้ด้วยความอนุเคราะห์ของเพื่อนฝูง ก็บุตรของข้าพเจ้ากำลังจะถูกกิน เดือดร้อน เหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงมากระทำท่านให้เป็นคติ ให้เป็นที่พำนัก เชิญท่านช่วยให้ชีวิตทานแก่บุตรของข้าพเจ้า บำเพ็ญประโยชน์แก่ข้าพเจ้าเถิด.

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 383

เต่าฟังคำนั้นแล้วกล่าวคาถาต่อไปว่า.

"บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมทำบุคคลให้เป็นมิตรสหาย ด้วยทรัพย์ ข้าวเปลือกและด้วยตน ดูก่อนเหยี่ยว ข้าพเจ้าจะกระทำประโยชน์นี้แก่ท่านให้จงได้ เพราะอริยชนย่อมทำกิจแก่อริยชน".

ครั้งนั้น บุตรของเต่านอนอยู่ไม่ไกล ฟังคำบิดา คิดว่าบิดาของเราอย่าลำบากเลย เราจักกระทำกิจเอง กล่าวคาถาที่ ๙ ว่า.

"คุณพ่อครับ ขอคุณพ่อจงมีความขวนขวายน้อยอยู่เฉยๆ เถิด บุตรย่อมบำเพ็ญสิ่งที่เป็นประโยชน์เพื่อบิดา ผมเองจักป้องกันลูกทั้งหลายของพญาเหยี่ยว จักบำเพ็ญประโยชน์เพื่อคุณพ่อ".

ครั้งนั้นบิดาได้กล่าวโต้ด้วยคาถาว่า.

"ลูกเอ๋ย บุตรพึงบำเพ็ญสิ่งที่เป็นประโยชน์เพื่อบิดา นี่เป็นธรรมของสัตบุรุษทั้งหลายโดยแท้แล พวกพรานทั้งหลายแลเห็นพ่อผู้มีกายอันใหญ่โต ที่ไหนเลยจะเบียดเบียนลูกทั้งหลายของพญาเหยี่ยวได้".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สตเมส ธมฺโม ความว่า นี่เป็นธรรมของบัณฑิตทั้งหลาย.

บทว่า ปุตฺตา น ความว่า พวกพรานชนบทไม่พึงเบียดเบียนพวกลูกๆ ของเหยี่ยว.

เต่าใหญ่ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็ส่งเหยี่ยวไปล่วงหน้า ด้วยคำว่า เพื่อนเอ๋ย อย่ากลัว เจ้าจงไปก่อน ข้าจักไปเดี๋ยวนี้ พลางโดดลงน้ำ กวาดเปือกตมและสาหร่ายมา ถึงเกาะแล้ว ก็ดับไฟเสีย หมอบอยู่.

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 384

พวกชาวป่าพูดกันว่า พวกเราจะไปมัวต้องการลูกนกทำไม กลับมาฆ่าไอ้เต่าบอดตัวนี้เถิด มันถึงจะพอแก่เราทุกคน พลางดึงเถาวัลย์เป็นสาย แก้ผ้านุ่งผูกไว้ ณ ที่นั้นๆ ก็ไม่อาจพลิกเต่าได้ เต่าเล่าก็พาพวกนั้นไปโดดลงน้ำตรงที่ลึกๆ พวกเหล่านั้น ต่างตามไปด้วยเพราะอยากได้เต่า ต่างก็มีท้องเต็มไปด้วยน้ำลำบากไปตามๆ กัน ครั้นผละได้แล้วพูดกันว่า พวกเราเหวย นกออกตัวหนึ่งคอยดับคบของเราเสียตั้งครึ่งคืน คราวนี้โดนเต่านี้ให้ตกน้ำ ดื่มน้ำท้องกางไปตามๆ กัน ก่อไฟกันใหม่เถอะ แม้อรุณจะขึ้นแล้ว ก็ต้องกินลูกเหยี่ยวเหล่านี้จงได้ แล้วเริ่มก่อไฟ แม่นกฟังคำของพวกนั้น กล่าวว่า นายเอ๋ย พวกเหล่านั้นจักต้องกินลูกของเราให้ได้ในเวลาใดเวลาหนึ่ง แล้วจึงจะพากันไป เธอจงไปหาราชสีห์ที่เป็นสหายของเราเถิด เหยี่ยวนั้นไปถึงสำนักราชสีห์ทันทีทันใด เมื่อราชสีห์พูดว่า เป็นอะไรเล่า จึงได้มาในเวลาอันไม่ควร ก็แจ้งเรื่องนั้นตั้งแต่ต้น แล้วกล่าวคาถาที่ ๑๑ ว่า.

"ข้าแต่ราชสีห์ที่ประเสริฐด้วยความแกล้วกล้า สัตว์และมนุษย์เมื่อตกอยู่ในภัยแล้ว ย่อมเข้าไปหาผู้ประเสริฐ พวกบุตรของข้าพเจ้าเดือดร้อน ข้าพเจ้าจึงรีบมาหาท่านเพื่อขอให้ท่านเป็นที่พึ่งอาศัย ท่านเป็นเจ้านายของข้าพเจ้า ขอท่านได้โปรดช่วยให้ข้าพเจ้า ได้รับความสุขด้วยเถิด".

บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า ปสู เหยี่ยวนั้นกล่าวหมายเอาสัตว์ดิรัจฉานทั้งหลาย ท่านกล่าวอธิบายคำนี้ว่า ดูก่อนนาย ในบรรดาหมู่มฤค ท่านเป็นผู้ประเสริฐกว่าด้วยความเพียร ทั้งสัตว์ดิรัจฉานทั้งมนุษย์ ทั้งหมดในโลกยามประสบภัย ย่อมพากันเข้าหาท่านผู้ประเสริฐ ก็แลพวกบุตรของข้าพเจ้า

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 385

กำลังเดือดร้อน ข้าพเจ้านั้นจึงมาพึ่งพาท่าน ท่านเป็นราชาแห่งพวกข้าพเจ้า ก็ขอจงเป็นเพื่อความสุขของข้าพเจ้าเถิด.

ราชสีห์ ได้ฟังดังนั้นจึงกล่าวคาถาว่า.

"ดูก่อนพญาเหยี่ยวผู้สหาย ฉันจะบำเพ็ญประโยชน์นี้เพื่อท่านให้จงได้ เรามาด้วยกันเพื่อกำจัดหมู่ศัตรูของท่านนั้นเสีย วิญญูชนรู้ว่าภัยเกิดขึ้นแก่มิตร จะไม่พยายามเพื่อคุ้มครองมิตรอย่างไรได้".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตํ ทิสตํ ได้แก่ หมู่แห่งศัตรูนั้น อธิบายว่า หมู่แห่งศัตรูของท่านนั้น.

บทว่า ปหุ ความว่า สามารถเพื่อกำจัดหมู่อมิตร.

บทว่า สมฺปชาโน ความว่า รู้อยู่ซึ่งความเกิดขึ้นแห่งภัยของมิตร.

บทว่า อตฺตชนสฺส ได้แก่ ชนผู้เป็นมิตรผู้เสมอกับตน คือผู้เสมอกับอวัยวะ.

ก็แลครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ราชสีห์ก็ส่งเหยี่ยวนั้นไปว่า เจ้าจงไป จงคอยปลอบลูกไว้เถิด แล้วเดินลุยน้ำอันมีสีเหมือนแก้วมณีไป พวกชาวป่าเห็นราชสีห์นั้นกำลังเดินมา พากันพูดว่า ครั้งแรกนกออกคอยดับไฟของพวกเราเสีย เต่ามาทำพวกเรามิให้เหลือผ้านุ่ง คราวนี้ราชสีห์จักทำให้พวกเราถึงสิ้นชีวิต ต่างกลัวตายเป็นกำลัง พากันวิ่งหนีกระเจิงไป ราชสีห์มาถึงโคนกระทุ่มนั้น ไม่เห็นใครๆ ที่โคนต้นไม้เลย ครั้งนั้นนกออก เต่าและเหยี่ยว ก็พากันเข้าไปหา กราบกรานราชสีห์นั้น ราชสีห์นั้นก็กล่าวอานิสงส์แห่งมิตรแก่สัตว์เหล่านั้น ตักเตือนว่า ตั้งแต่นี้ไป เจ้าทั้งหลายจงอย่าทำลายมิตรธรรม ต่างไม่ประมาทไว้เถิด แล้วก็หลีกไป สัตว์แม้เหล่านั้นก็พากันไปสู่ที่อยู่ของตน แม่เหยี่ยวมองดูลูกของตนแล้ว คิดว่า เพราะอาศัยหมู่มิตร เราจึงได้ลูกๆ ไว้.

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 386

ครั้นถึงสมัยที่นั่งกันอยู่อย่างสบาย เมื่อจะเจรจากับพ่อเหยี่ยว จึงกล่าวคาถา ๖ คาถา มีชื่อว่า คาถาประกาศมิตรธรรม ว่า.

"บุคคลพึงคบมิตรสหายและเจ้านายไว้ เพื่อได้รับความสุข เรากำจัดศัตรูได้ด้วยกำลังแห่งมิตร เป็นผู้พร้อมเพรียงด้วยบุตรทั้งหลาย บันเทิงอยู่ เหมือนเกราะที่บุคคลสวมแล้ว ป้องกันลูกศรทั้งหลายได้ ฉะนั้น".

"ลูกน้อยทั้งหลายของเรา เปล่งเสียงอันจับใจ ร้องรับเราผู้ร้องหาอยู่ ด้วยการกระทำของพญาเนื้อ ผู้เป็นมิตรสหายของตนซึ่งมิได้หนีไป".

"แน่ะเธอผู้ต้องการสิ่งที่น่าปรารถนา บัณฑิตได้มิตรสหายแล้ว ย่อมปกปักรักษาบุตร ปศุสัตว์และทรัพย์ไว้ได้ ฉัน บุตรและสามีของฉันด้วยเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน เพราะความอนุเคราะห์ของมิตรทั้งหลาย บุคคลผู้มีพระราชาและมีมิตรผู้กล้าหาญ สามารถจะบรรลุถึงประโยชน์ได้ เพราะสหายเหล่านี้ย่อมมีแก่ผู้มีมิตรธรรมอันบริบูรณ์ ท่านกามกามิ บุคคลผู้มีมิตรสหาย มียศ มีตนอันสูงส่ง ย่อมบันเทิงใจอยู่ในโลกนี้".

"ข้าแต่พญาเหยี่ยว มิตรธรรมทั้งหลาย แม้ผู้ที่ยากจนก็ควรทำ ดูซิท่าน เราพร้อมด้วยหมู่ญาติเป็นผู้พร้อมเพรียงกันด้วยความอนุเคราะห์ของมิตร นกตัวใด ผูกมิตรไว้กับผู้กล้าหาญมีกำลัง นกตัวนั้น ย่อมมีความสุขเหมือนฉันกับเธอ ฉะนั้น".

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 387

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มิตฺตญฺจ ได้แก่ มิตรของตนอย่างใดอย่างหนึ่ง.

บทว่า สุหทยญฺจ ความว่า จงกระทำการคบมิตรผู้มีใจดี ผู้มีตำแหน่งเป็นเจ้านายและมิตรอันสูงส่ง.

พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า นิวตฺถโกโชว สเรภิหนฺตฺวา นี้ ดังต่อไปนี้ ด้วยบทว่า โกโช ท่านกล่าวเกราะ คือเกราะที่บุคคลสวมไว้แล้วย่อมกำจัด คือย่อมห้ามลูกศรทั้งหลายเสียได้ชื่อ ฉันใด แม้เราทั้งหลายก็ฉันนั้น ย่อมกำจัดข้าศึกทั้งหลายด้วยกำลังแห่งมิตร บันเทิงกับบุตรทั้งหลาย.

บทว่า สกมิตฺตสฺส กมฺเมน ความว่า เพราะความบากบั่นแห่งมิตรของตน.

บทว่า สหายสฺสาปลายิโน ได้แก่ พญาเนื้อผู้เป็นสหายไม่หนีหน้า.

บทว่า โลมหํสา ความว่า ปักษีทั้งหลายเป็นลูกน้อยของเรา จึงเปล่งเสียงขันขานจับใจไพเราะกะเราผู้ขันเรียกอยู่ได้.

บทว่า สมงฺคิภูตา คือตั้งอยู่ในฐานะเดียวกัน.

บทว่า ราชวตา สุรวตา จ อตฺโถ ความว่า บุคคลผู้สามารถจะบรรลุประโยชน์ได้ ด้วยคุณเครื่องความเป็นพระราชาเช่นอย่างราชสีห์ และคุณเครื่องความเป็นผู้แกล้วกล้าเช่นนกออกและเต่าซึ่งเป็นมิตรที่กล้าหาญ.

บทว่า ภวนฺติ เหเต ความว่า และคุณเครื่องความเป็นผู้กล้าหาญเป็นต้นเหล่านี้ ย่อมชักนำให้เป็นสหายของผู้ที่มีเนื้อฝูงสมบูรณ์ คือมีมิตรธรรมสมบูรณ์.

บทว่า อุคฺคตตฺโต ได้แก่ ความเป็นผู้มีมิตรมียศเฟื่องฟูด้วยสิริเสาวภาคย์.

บทว่า อิมสฺมิญฺจ โลเก ความว่า ย่อมบันเทิงในโลกนี้ กล่าวคืออิธโลก (* น. โลกนี้).

นางร้องเรียกสามีว่า กามกามิ ผู้ใคร่ในกาม จริงอยู่ สามีนั้นใคร่ในกาม ชื่อว่า กามกามิ.

บทว่า สมคฺคมฺหา ความว่า เราเกิดเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน.

บทว่า สาตเก ความว่า พร้อมกับญาติและบุตรทั้งหลาย.

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 388

นางเหยี่ยวแสดงคุณของมิตรธรรมด้วยคาถาทั้ง ๖ ด้วยประการฉะนี้ แม้สัตว์เหล่านั้นทั้งหมดก็คงเป็นสหายกัน ไม่ทำลายมิตรธรรม ดำรงอยู่ตลอดอายุแล้ว ต่างไปตามยถากรรม.

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่ในบัดนี้เท่านั้นที่อุบาสกนี้อาศัยภรรยามีความสุข แม้ในกาลก่อนก็มีความสุขเพราะอาศัยภรรยาแล้วเหมือนกัน ดังนี้แล้ว ทรงประชุมชาดกว่า พ่อเหยี่ยวแม่เหยี่ยวในครั้งนั้น ได้มาเป็นคู่สามีภรรยา ลูกเต่า ได้มาเป็นราหุล พ่อเต่า ได้มาเป็นมหาโมคคัลลานะ นกออก ได้มาเป็นสารีบุตร ส่วนราชสีห์ คือเราตถาคตแล.

จบอรรถกถามหาอุกกุสชาดก