พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. อุททาลกชาดก ว่าด้วยจรณธรรม

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ส.ค. 2564
หมายเลข  35952
อ่าน  503

[เล่มที่ 60] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 389

๔. อุททาลกชาดก

ว่าด้วยจรณธรรม


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 60]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 389

๔. อุททาลกชาดก

ว่าด้วยจรณธรรม

[๑๙๐๗] ชฎิลเหล่าใดครองหนังเสือพร้อมทั้งเล็บ ฟันเขลอะ รูปร่างเลอะเทอะ ร่ายมนต์อยู่ ชฎิลเหล่านั้นเป็นผู้รู้การประพฤติตบะและการสาธยายมนต์นี้ ในความเพียรที่มนุษย์จะพึงทำกัน จะพ้นจากอบายได้ละหรือ.

[๑๙๐๘] ข้าแต่พระราชา ถ้าบุคคลเป็นพหูสูต ไม่ประพฤติธรรม ก็จะพึงกระทำกรรมอันลามกทั้งหลายได้ แม้จะมีเวทตั้งพันอาศัยแต่ความเป็นพหูสูต ยังไม่บรรลุจรณธรรม จะพ้นจากทุกข์ไปไม่ได้เลย.

[๑๙๐๙] แม้บุคคลผู้มีเวทตั้งพัน อาศัยแต่ความเป็นพหูสูตนั้น ยังไม่บรรลุจรณธรรมแล้ว จะพ้นจากทุกข์ไปไม่ได้ อาตมภาพย่อมสำคัญว่าเวททั้งหลายก็ย่อมไม่มีผล จรณธรรมอันมีความสำรวมเท่านั้นเป็นความจริง.

[๑๙๑๐] เวททั้งหลายจะไม่มีผลก็หามิได้ จรณธรรมอันมีความสำรวมนั่นแลเป็นความจริง แต่บุคคลเรียนเวททั้งหลายแล้ว ย่อมได้รับเกียรติคุณ ท่านผู้ฝึกฝนตนด้วยจรณธรรมแล้วย่อมบรรลุถึงสันติ.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 390

[๑๙๑๑] บุตรที่เกิดแต่มารดาบิดาและเผ่าพันธุ์ใด อันบุตรจะต้องเลี้ยงดู อาตมภาพเป็นคนๆ นั้นแหละมีชื่อว่า อุททาลก เป็นเชื้อสายของวงศ์ตระกูลโสตถิยะแห่งท่านผู้เจริญ.

[๑๙๑๒] ดูก่อนท่านผู้เจริญ บุคคลเป็นพราหมณ์ได้อย่างไร เป็นพราหมณ์เต็มที่ได้อย่างไร ความดับรอบจะมีได้อย่างไร ผู้ที่ตั้งอยู่ในธรรม บัณฑิตเรียกว่ากระไร.

[๑๙๑๓] บุคคลเป็นพราหมณ์ ต้องบูชาไฟเป็นนิตย์ ต้องรดน้ำ เมื่อบูชายังต้องยกเสาเจว็ด ผู้กระทำอย่างนี้จึงเป็นพราหมณ์ผู้เกษม ด้วยเหตุนั้น ชนทั้งหลายจึงได้พากันสรรเสริญว่า เป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม.

[๑๙๑๔] ความหมดจด ย่อมไม่มีด้วยการรดน้ำ อนึ่ง พราหมณ์จะเป็นพราหมณ์เต็มที่ด้วยการรดน้ำก็หาไม่ ขันติและโสรัจจะย่อมมีไม่ได้ ทั้งผู้นั้นจะเป็นผู้ดับรอบก็หามิได้.

[๑๙๑๕] ดูก่อนท่านผู้เจริญ บุคคลเป็นพราหมณ์ได้อย่างไร และเป็นพราหมณ์เต็มที่ได้อย่างไร ความดับรอบจะมีได้อย่างไร ผู้ที่ตั้งอยู่ในธรรม บัณฑิตเรียกว่ากระไร.

[๑๙๑๖] บุคคลผู้ไม่มีไร่นา ไม่มีพวกพ้อง ไม่ถือว่าเป็นของเรา ไม่มีความหวัง ไม่มีบาป คือความโลภสิ้นความละโมบในภพแล้ว ผู้กระทำอย่างนี้

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 391

ชื่อว่า เป็นพราหมณ์ผู้เกษม เพราะเหตุนั้น ชนทั้งหลายจึงได้พากันสรรเสริญว่า ผู้ตั้งอยู่ในธรรม.

[๑๙๑๗] กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คนจัณฑาล คนเทหยากเยื่อทั้งปวง เป็นผู้สงบเสงี่ยม ฝึกฝนตนแล้ว ย่อมดับรอบได้ทั้งหมด เมื่อคนทุกๆ คนเป็นผู้เย็นแล้ว ยังจะมีคนดีคนเลวอีกหรือไม่.

[๑๙๑๘] กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คนจัณฑาล คนเทหยากเยื่อทั้งปวง เป็นผู้สงบเสงี่ยม ฝึกฝนตนแล้ว ย่อมดับรอบได้ทั้งหมด เมื่อคนทุกๆ คนเป็นผู้เย็นแล้ว ย่อมไม่มีคนดีคนเลวเลย.

[๑๙๑๙] กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คนจัณฑาล คนเทหยากเยื่อทั้งปวง เป็นผู้สงบเสงี่ยม ฝึกฝนตนแล้ว ย่อมดับรอบได้ทั้งหมด เมื่อคนทุกๆ คนเป็นผู้เย็นแล้ว ย่อมไม่มีคนดีคนเลวเลย เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านชื่อว่า ทำลายความเป็นเชื้อสายแห่งตระกูลโสตถิยะ จะประพฤติเพศพราหมณ์ที่เขาสรรเสริญกันอยู่ทำไม.

[๑๙๒๐] วิมานที่เขาคลุมด้วยผ้ามีสีต่างๆ กัน เงาแห่งผ้าเหล่านั้นย่อมเป็นสีเดียวกันหมด สีที่ย้อมนั้นย่อมไม่เกิดเป็นสีฉันใด ในมนุษย์ทั้งหลายก็ฉันนั้น เมื่อใดมาณพบริสุทธิ์ เมื่อนั้นมาณพเหล่านั้น เป็นผู้มีวัตรดีเพราะรู้ทั่วถึงธรรม ย่อมละชาติของตนได้.

จบอุททาลกชาดกที่ ๔

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 392

อรรถกถาอุททาลกชาดก

พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระมหาวิหารเชตวัน ทรงพระปรารภภิกษุผู้หลอกลวงรูปหนึ่ง ตรัสเรื่องนี้มีคำเริ่มต้นว่า "ขราชินา ชฏิลา ปงฺกทนฺตา" ดังนี้.

เรื่องย่อมีว่า ภิกษุนั้น แม้บวชในพระศาสนาอันมีธรรมเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้แล้ว ก็ยังชอบประพฤติเรื่องหลอกลวง ๓ สถาน เพื่อต้องการปัจจัยทั้งสี่ ครั้งนั้น พวกภิกษุเมื่อจะประกาศโทษของเธอ ตั้งเรื่องสนทนากันในธรรมสภาว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุที่ชื่อโน้นบวชในพระศาสนา อันประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์เห็นปานนี้แล้ว ยังจะอาศัยการหลอกลวงเลี้ยงชีวิตอยู่เล่า พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อกี้พวกเธอสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อพวกภิกษุกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในครั้งก่อนเธอก็หลอกลวงเหมือนกัน ทรงนำอดีตนิทานมาดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ ณ พระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นปุโรหิต เป็นบัณฑิตเฉลียวฉลาด วันหนึ่งท่านไปเล่นอุทยาน เห็นหญิงแพศยารูปงามนางหนึ่ง ติดใจ สำเร็จการอยู่ร่วมกับนาง นางอาศัยท่านมีครรภ์ ครั้นรู้ว่าตนมีครรภ์ ก็บอกท่านว่า เจ้านาย ดิฉันตั้งครรภ์แล้วละ ในเวลาเด็กเกิด เมื่อดิฉันจะตั้งชื่อ จะขนานนามเขาว่าอย่างไรเจ้าคะ ท่านคิดว่า เพราะเด็กเกิดในท้องวัณณทาสีไม่อาจขนานนามตามสกุลได้ แล้วกล่าวว่า แม่นางเอ๋ย ต้นไม้ที่ป้องกันลมได้ต้นนี้ชื่อว่า ต้นคูน เพราะเราได้เด็กที่นี้ เธอควรตั้งชื่อเขาว่า อุททาลกะ (คูน) เถิด

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 393

แล้วได้ให้แหวนสวมนิ้วชี้ไป สั่งว่า ถ้าเป็นธิดา เธอพึงเลี้ยงดูเด็กนั้นด้วยแหวนนี้ ถ้าเป็นบุตรละก็ พึงส่งตัวเขาผู้เติบโตแล้วแก่ฉัน ต่อมานางคลอดบุตรชาย ได้ขนานนามว่า อุททาลกะ เขาเติบโตแล้ว ถามมารดาว่า แม่จ๋า ใครเป็นพ่อของฉัน นางตอบว่า ปุโรหิต พ่อ เขากล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นฉันต้องเรียนพระเวท แล้วรับแหวนและค่าคำนับอาจารย์จากมือมารดา เดินทางไปตักกศิลา เรียนศิลปะในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์อยู่ เห็นคณะดาบสคณะหนึ่ง คิดว่า ในสำนักของพวกนี้ คงมีศิลปะอันประเสริฐ เราจักเรียนศิลปะนั้น เพราะความโลภในศิลปะจึงบวช พอทำวัตรปฏิบัติแก่ดาบสเหล่านั้นแล้วก็ถามว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ทั้งหลาย โปรดให้ข้าพเจ้าศึกษาในศิลปะที่ท่านรู้เถิด ดาบสเหล่านั้นก็ให้เขาศึกษาตามทำนองที่ตนรู้ บรรดาดาบสทั้ง ๕๐๐ ไม่ได้มีเลยแม้แต่รูปเดียวที่ฉลาดยิ่งกว่าเขา เขาคนเดียวเป็นยอดของดาบสเหล่านั้นทางปัญญา ครั้งนั้น พวกดาบสเหล่านั้นจึงประชุมกันยกตำแหน่งอาจารย์ให้แก่เขา ครั้นแล้วเขากล่าวกะดาบสเหล่านั้นว่า ผู้นิรทุกข์ พวกคุณพากันบริโภคเผือก มันและผลไม้ในป่าเป็นอาหาร อยู่กันในป่า เหตุไรจึงไม่พากันไปสู่ถิ่นแดนมนุษย์เล่า พวกดาบสตอบว่า ผู้นิรทุกข์ ธรรมดาพวกมนุษย์ให้ทานมากๆ แล้ว ก็ขอให้ทำอนุโมทนา ขอให้กล่าวธรรมกถา พากันถามปัญหา พวกเราไม่ไปในถิ่นมนุษย์นั้นเพราะเกรงภัยนั้น เขากล่าวว่า แม้ถึงว่าจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ การพูดให้จับใจละก็ เป็นภาระของฉัน พวกท่านอย่ากลัวเลย จึงท่องเที่ยวไปกับพวกดาบสนั้น ลุถึงพระนครพาราณสีโดยลำดับ พักอยู่ในพระราชอุทยาน พอรุ่งขึ้นก็เที่ยวภิกษาไปตามประตูบ้านกับดาบสทั้งปวง พวกมนุษย์พากันให้มหาทาน รุ่งขึ้นพวกดาบสก็พากันเข้าสู่พระนคร พวกมนุษย์ได้พากันให้มหาทาน อุททาลกดาบสกระทำอนุโมทนา กล่าวมงคล วิสัชนาปัญหา พวกมนุษย์พากันเลื่อมใสได้ให้ปัจจัยมากมาย

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 394

ชาวเมืองทั่วหน้าพากันกราบทูลแด่พระราชาว่า ดาบสผู้ทรงธรรม เป็นบัณฑิต เป็นคณะศาสดามาถึงแล้ว พระราชาตรัสถามว่า อยู่ที่ไหน ทรงสดับว่า ในอุทยาน ก็ตรัสว่า ดีละ วันนี้เราจักไปพบดาบสเหล่านั้น ยังมีบุรุษผู้หนึ่งได้ไปบอกแก่อุททาลกะว่า ข่าวว่าพระราชาจักเสด็จมาเยี่ยมพระคุณเจ้าทั้งหลาย เขาเรียกคณะฤาษี บอกว่า ผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ข่าวว่าพระราชาจักเสด็จมา ธรรมดาท่านผู้เป็นใหญ่ ทำให้พอใจได้เสียวันหนึ่งแล้ว ก็พอใจไปตลอดชีพ พวกดาบสพากันถามว่า ท่านอาจารย์ครับ ก็พวกผมต้องทำอะไรกันเล่า เขากล่าวอย่างนี้ว่า ในพวกท่านบางพวกจงประพฤติวัคคุลิวัตร (ข้อปฏิบัติอย่างค้างคาว) บางพวกจงตั้งหน้านั่งกระโหย่ง บางพวกจงพากันนอนบนหนาม บางพวกจงผิงไฟ ๕ กอง บางพวกจงพากันแช่น้ำ บางพวกจงพากันสังวัธยายมนต์ในที่นั้นๆ พวกดาบสกระทำตามนั้น ฝ่ายตนเองชวนดาบสที่ฉลาดๆ มีวาทะคมคาย ๘ หรือ ๑๐ รูปไว้ วางคัมภีร์ที่สวยงามไว้บนกากะเยียที่ชวนดู แวดล้อมด้วยอันเตวาสิก นั่งเหนืออาสนะที่จัดไว้เป็นอันดี ขณะนั้นพระราชาตรัสชวนปุโรหิตเสด็จไปพระอุทยานกับบริวารขบวนใหญ่ ทอดพระเนตรเห็นดาบสเหล่านั้นพากันประพฤติตบะผิดๆ กันอยู่ ทรงเลื่อมใสว่า ท่านพวกนี้พ้นแล้วจากภัยในอบาย เสด็จถึงสำนักอุททาลกดาบส ทรงพระปฏิสันถารประทับนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง มีพระมนัสยินดี เมื่อตรัสสนทนากับท่านปุโรหิต ตรัสคาถาแรกว่า.

"ชฎิลเหล่าใดครองหนังเสือพร้อมเล็บ ฟันเขลอะ รูปร่างเลอะเทอะ ร่ายมนต์อยู่ ชฎิลเหล่านั้นเป็นผู้รู้การประพฤติตบะและการสาธยายมนต์นี้ ในความเพียรที่มนุษย์จะพึงทำกัน จะพ้นจากอบายได้ละหรือ".

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 395

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ขราชินา ความว่า ประกอบด้วยหนังเสือพร้อมด้วยเล็บ.

บทว่า ปงฺกทนฺตา ความว่า มีฟันอันมลทินจับแล้ว เพราะไม่เคี้ยวไม้สีฟัน.

บทว่า ทุมฺมกฺขรูปา ความว่า นัยน์ตาไม่หยอดตา ร่างกายมิได้ประดับ มีผ้าพาดสกปรก.

บทว่า มานุสเก จ โยเค ความว่า พวกมนุษย์ควรกระทำความเพียร.

บทว่า อิทํ วิทู ความว่า รู้อยู่ซึ่งการประพฤติตบะและการท่องมนต์นี้.

บทว่า อปายา ความว่า พระราชาตรัสถามว่า อาจารย์พ้นจากอบาย ๔ เหล่านี้ ได้อย่างไรหรือ.

ท่านปุโรหิต ได้ฟังพระดำรัสนั้นแล้ว ดำริว่า พระราชาพระองค์นี้ ทรงเลื่อมใสในฐานะอันไม่ควร เราจะนิ่งเสียไม่ได้ละ จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า.

"ข้าแต่พระราชา ถ้าบุคคลเป็นพหูสูต แต่ไม่ประพฤติธรรม ก็จะพึงกระทำกรรมอันลามกทั้งหลายได้ แม้จะมีเวทตั้งพัน อาศัยแต่ความเป็นพหูสูต ยังไม่บรรลุจรณธรรม จะพ้นจากทุกข์ไปไม่ได้เลย".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พหุสฺสุโต ความว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ถ้าบุคคลทะนงตนว่าเราเป็นพหูสูตดังนี้ แม้จะมีเวทเชี่ยวชาญ ไม่ประพฤติกุศลธรรมทั้ง ๑๐ ประการ ก็พึงกระทำบาปด้วยทวารทั้งสามได้เหมือนกัน เวททั้งสามยกเสียเถิด ต่อให้มีเวทตั้ง ๑,๐๐๐ มิได้บรรลุจรณธรรม คือสมาบัติ ๘ แล้ว จะอาศัยความเป็นพหูสูตนั้น พ้นจากอบายทุกข์ไม่ได้เลย.

อุททาลกะ ได้ฟังคำของท่านดังนั้นแล้ว คิดว่า พระราชาทรงเลื่อมใสคณะฤาษีตามพระอัธยาศัยแล้ว แต่พราหมณ์ผู้นี้มาขว้างโคที่กำลังเที่ยวไป ทิ้งหยากเยื่อลงในภัตที่เขาคิดไว้แล้วเสียได้ เราต้องพูดกับเขา เมื่อจะพูด จึงกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 396

"บุคคลผู้มีเวทตั้งพัน อาศัยแต่ความเป็นพหูสตนั้น ยังไม่บรรลุจรณธรรมแล้ว จะพ้นจากทุกข์ไปไม่ได้ อาตมภาพย่อมสำคัญว่า เวททั้งหลายก็ย่อมไม่มีผล จรณธรรมอันมีความสำรวมเท่านั้นเป็นความจริง".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อผลา ความว่า ในวาทะของท่าน เวททั้งหลายและศิลปะที่เหลือย่อมถึงความไม่มีผล เพราะฉะนั้น จะเรียนเวทและศิลปะเหล่านั้นไปทำไม จรณะกับการสำรวมศีลเท่านั้น จึงสำเร็จเป็นสัจจะอันหนึ่ง.

ลำดับนั้น ปุโรหิตกล่าวคาถาว่า.

"เวททั้งหลายจะไม่มีผลก็หามิได้ จรณธรรมอันมีความสำรวมนั้นนั่นแลเป็นความจริง แต่บุคคลเรียนเวททั้งหลายแล้ว ย่อมได้รับเกียรติคุณ ท่านผู้ฝึกฝนตนด้วยจรณธรรมแล้วย่อมบรรลุสันติ".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นาเหว ความว่า เราไม่ได้กล่าวว่า เวททั้งหลายไม่มีผล ก็แต่ว่าจรณธรรมพร้อมกันกับการสำรวม เป็นความจริงทีเดียว คือเป็นสภาวะอันสูงสุด เพราะเหตุนั้นแล จึงสามารถพ้นจากทุกข์ได้.

บทว่า สนฺติํ ปาปุณาติ ความว่า เมื่อบุคคลฝึกตนด้วยจรณธรรม กล่าวคือสมาบัติย่อมถึงพระนิพพาน อันกระทำความสงบแห่งหทัย.

อุททาลกะ ได้ฟังดังนั้นแล้วคิดว่า เราไม่อาจโต้กับปุโรหิตนี้ ด้วยอำนาจเป็นฝ่ายแย้งได้ ธรรมดาบุคคลที่จะไม่ทำความไยดีในคำที่ถูกกล่าวไม่มีเลย เราต้องบอกความเป็นลูกแก่เขา จึงกล่าวคาถาที่ ๕ ว่า.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 397

"บุตรที่เกิดแต่มารดาบิดาและเผ่าพันธุ์ใด อันบุตรจะต้องเลี้ยงดู อาตมภาพเป็นคนๆ นั้นแหละ มีชื่อว่า อุททาลกะ เป็นเชื้อสายของวงศ์ตระกูลโสตถิยะแห่งท่านผู้เจริญ".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภจฺจา ความว่า บิดามารดาและพวกพ้องที่เหลือ เป็นผู้ได้นามว่า เป็นผู้อันบุตรต้องเลี้ยงดู อาตมภาพก็เป็นบุตรผู้นั้นแหละ ที่จริงตนนั้นแหละย่อมเกิดเพื่อตนได้ แม้อาตมาภาพก็เกิดแล้วที่โคนไม้คูนเพราะท่าน ท่านกล่าวตั้งชื่อไว้แล้วทีเดียว อาตมภาพชื่อ อุททาลกะ นะท่านผู้เจริญ.

เมื่อท่านปุโรหิตถามว่า แน่หรือคุณชื่อ อุททาลกะ ท่านตอบว่า แน่ซิ ถามต่อไปว่า ข้าพเจ้าให้เครื่องหมายไว้แก่มารดาของท่าน เครื่องหมายนั้นไปไหนเล่า ตอบว่า นี่พราหมณ์ พลางวางแหวนลงในมือของท่าน พราหมณ์จำแหวนได้แต่ยังกล่าวว่า คุณเป็นพราหมณ์ตามโอกาสที่เลือกเรียน แต่จะรู้พราหมณธรรมละหรือ เมื่อจะถามพราหมณธรรม จึงกล่าวคาถาที่ ๖ ว่า.

"ดูก่อนท่านผู้เจริญ บุคคลเป็นพราหมณ์ได้อย่างไร เป็นพราหมณ์เต็มที่ได้อย่างไร ความดับรอบจะมีได้อย่างไร เป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม บัณฑิตเรียกว่ากระไร".

อุททาลกะเมื่อบอกแก่ท่านจึงกล่าวคาถาที่ ๗ ว่า.

"บุคคลเป็นพราหมณ์ ต้องบูชาไฟเป็นนิตย์ ต้องรดน้ำ เมื่อบูชายัญต้องยกเสาเจว็ด ผู้กระทำอย่างนี้จึงเป็นพราหมณ์ผู้เกษม ด้วยเหตุนั้น ชนทั้งหลายจึงพากันสรรเสริญว่า เป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม".

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 398

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิรํ กตฺวา อคฺคิมาทาย ความว่า บุคคลผู้เป็นพราหมณ์ต้องก่อไฟบำเรอไฟมิให้ขาดระยะ.

บทว่า อาโปสิญฺจํ ยชํ อสฺเสติ ยูปํ ความว่า เมื่อกระทำการรดน้ำ เมื่อจะบูชาสัมมาปาสยัญก็ดี วาจาเปยยัญก็ดี นิรัคคลยัญก็ดี ต้องให้ยกเจว็ดทองขึ้นทำ อย่างนี้จึงจะเป็นพราหมณ์ผู้ถึงความเกษม.

บทว่า เขมี ได้แก่ ถึงความเกษม.

บทว่า อมาปยิํสุ ความว่า ก็ด้วยเหตุนั้นนั่นแล ชนทั้งหลายย่อมพากันเรียกว่า ผู้ดำรงอยู่ในธรรม.

ปุโรหิตได้ฟังดังนั้นแล้ว เมื่อติเตียนพราหมณ์ตามที่เขากล่าว จึงกล่าวคาถาที่ ๘ ว่า.

"ความหมดจด ย่อมไม่มีด้วยการรดน้ำ อนึ่ง พราหมณ์จะเป็นพราหมณ์เต็มที่ ด้วยการรดน้ำก็หาไม่ ขันติและโสรัจจะย่อมมีไม่ได้ ทั้งผู้นั้นจะเป็นผู้ดับรอบก็หามิได้".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เสจเนน ความว่า ปุโรหิตแสดงพราหมณธรรมทั้งหลาย ที่เขากล่าวข้อเดียว คือด้วยการรดน้ำ ห้ามเสียทุกข้อไป ข้อนี้มีอธิบายว่า อันความหมดจดมีไม่ได้เลยด้วยการบำเรอไฟ ด้วยการรดน้ำหรือด้วยฆ่าสัตว์บูชายัญ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ จะเป็นพราหมณ์ผู้บริบูรณ์สิ้นเชิงก็มิได้ ความอดทน คือความอดกลั้นจะมีไม่ได้ ความสงบเสงี่ยม คือศีลจะมีไม่ได้และจะชื่อว่า เป็นผู้ดับโดยรอบเพราะความดับเสียรอบด้านซึ่งกิเลส ก็ไม่ได้.

ลำดับนั้น อุททาลกะ เมื่อจะถามว่า ถ้าว่าไม่เป็นพราหมณ์ด้วยอย่างนี้ละก็จะเป็นได้อย่างไรกัน จึงกล่าวคาถาที่ ๙ ว่า.

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 399

"ดูก่อนท่านผู้เจริญ บุคคลเป็นพราหมณ์ได้อย่างไร และเป็นพราหมณ์เต็มที่ได้อย่างไร ความดับรอบจะมีได้อย่างไร ผู้ที่ตั้งอยู่ในธรรม บัณฑิตเรียกว่ากระไร".

ฝ่ายปุโรหิต เมื่อจะกล่าวแก่เขาก็กล่าวคาถาต่อไปว่า.

"บุคคลผู้ไม่มีไร่นา ไม่มีพวกพ้อง ไม่ถือว่าเป็นของเรา ไม่มีความหวัง ไม่มีบาป คือความโลภ สิ้นความโลภในภพแล้ว ผู้กระทำอย่างนี้ชื่อว่า เป็นพราหมณ์ผู้เกษม เพราะเหตุนั้น ชนทั้งหลายจึงได้พากันสรรเสริญว่า ผู้ตั้งอยู่ในธรรม".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อกฺเขตฺตพนฺธุ ได้แก่ ผู้ไม่มีไร่นา ไม่มีพวกพ้อง อธิบายว่า ท่านผู้เว้นแล้วจากครอบครองไร่นา บ้าน ตำบล ชื่อว่า ผู้ไม่มีไร่นา เว้นขาดแล้วจากการปกครองพวกพ้องทางญาติ พวกพ้องทางมิตร พวกพ้องทางสหายและพวกพ้องทางศิลปะ ชื่อว่า ผู้ไม่มีพวกพ้อง ผู้เว้นแล้วจากการถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหาและทิฏฐิในสัตว์และสังขารทั้งหลาย ชื่อว่า ผู้ไม่ถือว่าของเรา ผู้เว้นแล้วจากความหวังในลาภ ในทรัพย์ ในบุตรและในชีวิต ชื่อว่า ผู้หมดความหวัง เว้นแล้วจากความโลภอันเป็นบาป ได้แก่ ความโลภในฐานะอันไม่สม่ำเสมอ ชื่อว่า ผู้หมดบาป คือความโลภ สิ้นความยินดีในภพแล้ว ชื่อว่า ผู้สิ้นความโลภในภพแล้ว.

ลำดับนั้น อุททาลกะกล่าวคาถาว่า.

"กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คนจัณฑาล คนเทหยากเยื่อทั้งปวง เป็นผู้สงบเสงี่ยม ฝึกฝนตนแล้ว ย่อมดับรอบได้ทั้งหมด เมื่อคนทุกๆ คนเป็นผู้เย็นแล้ว ยังจะมีคนดีคนเลวอีกหรือไม่".

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 400

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อตฺถิ เสยฺโยว ปาปิโย ความว่า อุททาลกะ ถามว่า กษัตริย์เป็นต้นเหล่านี้ ทุกคนย่อมมีคุณสมบัติ คือความเป็นผู้แช่มชื่นได้ทั้งนั้น ก็เมื่อเป็นอย่างนี้กันแล้ว ความต่ำความสูงอย่างนี้ว่า ผู้นี้ดีกว่า ผู้นี้เลวกว่า มีหรือไม่มี.

ลำดับนั้น เพื่อจะชี้แจงว่า จำเดิมแต่บรรลุพระอรหัตไป ขึ้นชื่อว่า ความต่ำความสูงย่อมไม่มีแก่เขา พราหมณ์กล่าวคาถาว่า.

"กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คนจัณฑาล คนเทหยากเยื่อทั้งปวง เป็นผู้สงบเสงี่ยม ฝึกฝนตนแล้ว ย่อมดับรอบได้ทั้งหมด เมื่อคนทุกๆ คนเป็นผู้เย็นแล้ว ย่อมไม่มีคนดีคนเลวเลย".

ลำดับนั้น เมื่ออุททาลกะจะติเตียนท่านปุโรหิตนั้น จึงกล่าวสองคาถาว่า.

"กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คนจัณฑาล คนเทหยากเยื่อทั้งปวง เป็นผู้สงบเสงี่ยม ฝึกฝนตนแล้ว ย่อมดับรอบได้ทั้งหมด เมื่อคนทุกๆ คนเป็นผู้เย็นแล้ว ย่อมไม่มีคนดีคนเลวเลย เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านชื่อว่า ทำลายความเป็นเชื้อสายแห่งตระกูลโสตถิยะ จะประพฤติเพศพราหมณ์ที่เขาสรรเสริญกันอยู่ทำไม".

คาถานั้นมีอรรถาธิบายว่า แม้นว่าความพิเศษของผู้มีคุณเหล่านั้นไม่มีเลยและย่อมเป็นวรรณะเดียวกันได้ละก็ เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านก็กำลังทำลายความเป็นผู้อุภโตสุชาตเสีย ชื่อว่า กำลังประพฤติทำลายความเป็นพราหมณ์ลงเสมอกับจัณฑาล ทำลายความเป็นเชื้อสายแห่งสกุลโสตถิยะเสียสิ้น.

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 401

ครั้งนั้น ท่านปุโรหิตจะเปรียบเทียบให้เขาเข้าใจ จึงกล่าวสองคาถาว่า.

"วิมานที่เขาคลุมด้วยผ้ามีสีต่างๆ กัน เงาแห่งผ้าเหล่านั้นย่อมเป็นสีเดียวกันหมด สีที่ย้อมนั้น ย่อมไม่เกิดเป็นสีฉันใด ในมนุษย์ทั้งหลายก็ฉันนั้น เมื่อใดมาณพบริสุทธิ์ เมื่อนั้นมาณพเหล่านั้นเป็นผู้มีวัตรดี เพราะรู้ทั่วถึงธรรม ย่อมละชาติของตนได้".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิมานํ มีอรรถาธิบายว่า วิมานหมายถึง เรือนหรือมณฑป.

บทว่า ฉายา ความว่า ที่มุงด้วยผ้าย้อมสีต่างๆ กัน แสงฉายของผ้าเหล่านั้นจะเหลื่อมกันไม่ได้ สีที่ย้อมต่างๆ กันนั้น ย่อมไม่เป็นสีวิจิตรไป แสงฉายทั้งหมดย่อมเป็นสีเดียวกันทั้งนั้น.

บทว่า เอวเมว ความ ว่า แม้ในหมู่มนุษย์ก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน พวกพราหมณ์ไม่มีความรู้บางพวกร่วมกันบัญญัติวัณณะ ๔ ไว้โดยหาการกระทำมิได้เลย เธออย่าถือว่าข้อนี้มีอยู่เลย กาลใดท่านผู้บัณฑิตในโลกนี้ ผุดผ่องด้วยอริยมรรค กาลนั้นบุรุษบัณฑิตมีวัตรดี คือมีศีลเพราะทราบนิพพานธรรมตามที่ท่านเหล่านั้นบรรลุแล้ว ท่านเหล่านั้นย่อมเปลื้องชาติของตนเสีย เพราะว่าตั้งแต่บรรลุพระนิพพานไป ขึ้นชื่อว่า ชาติก็หาประโยชน์มิได้เลย.

อุททาลกะไม่สามารถจะนำปัญหามาถามอีกได้ ก็นั่งจำนน ทีนั้น ท่านพราหมณ์จึงกราบทูลถึงเขากะพระราชาว่า ข้าแต่พระมหาราช พวกนี้ทั้งหมดเป็นผู้หลอกลวง จักพากันทำลายชมพูทวีปทั้งสิ้นเสียด้วยความหลอกลวงเป็นแท้ พระองค์โปรดให้อุททาลกะสึกเสีย ตั้งให้เป็นผู้ช่วยปุโรหิต ที่เหลือเล่า ก็โปรดให้สึกเสีย พระราชทานโล่และอาวุธ โปรดให้เป็นเสวกเสียเถิด พระราชาตรัสว่า ดีละ ท่านอาจารย์ ได้ทรงกระทำอย่างนั้นแล้ว อุททาลกะเป็นข้าเฝ้าพระราชา แล้วไปตามยถากรรม.

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 402

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในครั้งก่อนเธอก็เคยหลอกลวงเหมือนกัน ทรงประชุมชาดกว่า อุททาลกะในครั้งนั้น ได้มาเป็นภิกษุผู้หลอกลวง พระราชา ได้มาเป็นอานนท์ ส่วนปุโรหิต ได้มาเป็นเราตถาคตแล.

จบอรรถกถาอุททาลกชาดก