พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. สุรุจิชาดก ว่าด้วยการขอบุตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ส.ค. 2564
หมายเลข  35954
อ่าน  491

[เล่มที่ 60] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 421

๖. สุรุจิชาดก

ว่าด้วยการขอบุตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 60]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 421

๖. สุรุจิชาดก

ว่าด้วยการขอบุตร

[๑๙๔๒] ดิฉันถูกเชิญมาเป็นพระอัครมเหสีคนแรกของพระเจ้าสุรุจิตลอดเวลาหมื่นปี พระเจ้าสุรุจินำดิฉันมาผู้เดียว ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ดิฉันนั้นมิได้รู้สึกเลยว่า ได้ล่วงเกินพระเจ้าสุรุจิผู้เป็นจอมประชาชนชาววิเทหรัฐ ครองพระนครมิถิลา ด้วยกาย วาจา หรือใจ ทั้งในที่แจ้งหรือในที่ลับเลย ข้าแต่พระฤาษี

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 422

ด้วยการกล่าวคำสัตย์จริงนี้ ขอบุตรจงเกิดเถิด เมื่อดิฉันกล่าวคำเท็จ ขอศีรษะของดิฉันจงแตก ๗ เสี่ยง.

[๑๙๔๓] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ดิฉันเป็นที่พอใจของพระภัสดา พระชนนีและพระชนกของพระภัสดาก็เป็นที่รักของดิฉัน พระองค์ท่านเหล่านั้นทรงแนะนำดิฉันตลอดเวลาที่พระองค์ท่านยังทรงพระชนมชีพอยู่ ดิฉันนั้นยินดีในความไม่เบียดเบียน มีปกติประพฤติธรรมโดยส่วนเดียว มุ่งบำเรอพระองค์ท่านเหล่านั้นโดยเคารพ ไม่เกียจคร้านทั้งกลางคืนกลางวัน ข้าแต่พระฤาษี ด้วยการกล่าวคำสัตย์จริงนี้ ขอบุตรจงเกิดเถิด เมื่อดิฉันกล่าวคำเท็จ ขอศีรษะของดิฉันจงแตก ๗ เสี่ยง.

[๑๙๔๔] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ความริษยาหรือความโกรธในสตรีผู้เป็นพระราชเทวีร่วมกัน ๑๖,๐๐๐ คน มิได้มีแก่ดิฉันในกาลไหนๆ เลย ดิฉันชื่นชมด้วยความเกื้อกูลแก่พระราชเทวีเหล่านั้น และคนไหนที่จะไม่เป็นที่รักของดิฉันไม่มีเลย ดิฉันอนุเคราะห์หญิงผู้ร่วมพระสวามีทั่วกันทุกคน ในกาลทุกเมื่อ เหมือนอนุเคราะห์ตนฉะนี้ ข้าแต่พระฤาษี ด้วยการกล่าวคำสัตย์จริงนี้ ขอบุตรจงเกิดเถิด เมื่อดิฉันกล่าวคำเท็จ ขอศีรษะของดิฉันจงแตก ๗ เสี่ยง.

[๑๙๔๕] ดิฉันเลี้ยงดูทาสกรรมกรซึ่งจะต้องเลี้ยงดูและชนเหล่าอื่นผู้อาศัยเลี้ยงชีวิตโดยเหมาะสม

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 423

กับหน้าที่ ดิฉันมีอินทรีย์อันเบิกบานในกาลทุกเมื่อ ข้าแต่พระฤาษี ด้วยการกล่าวคำสัตย์จริงนี้ ขอบุตรจงเกิดเถิด เมื่อดิฉันกล่าวคำเท็จ ขอศีรษะของดิฉันจงแตก ๗ เสี่ยง.

[๑๙๔๖] ดิฉันมีฝ่ามืออันชุ่มเลี้ยงดูสมณพราหมณ์และแม้วณิพกเหล่าอื่นให้อิ่มหนำสำราญด้วยข้าวและน้ำทุกเมื่อ ข้าแต่พระฤาษี ด้วยการกล่าวคำสัตย์จริงนี้ ขอบุตรจงเกิดเถิด เมื่อดิฉันกล่าวคำเท็จ ขอศีรษะของดิฉันจงแตก ๗ เสี่ยง.

[๑๙๔๗] ดิฉันเข้าอยู่ประจำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ตลอดดิถีที่ ๑๔ ๑๕ และดิถีที่ ๘ แห่งปักษ์ และตลอดปาฏิหาริยปักษ์ ดิฉันสำรวมแล้วในศีลทุกเมื่อ ข้าแต่พระฤาษี ด้วยการกล่าวคำสัตย์จริงนี้ ขอบุตรจงเกิดเถิด เมื่อดิฉันกล่าวคำเท็จ ขอศีรษะของดิฉันจงแตก ๗ เสี่ยง.

[๑๙๔๘] ดูก่อนพระราชบุตรีผู้เรืองยศงดงาม คุณอันเป็นธรรมเหล่าใดในพระองค์ ที่พระองค์แสดงแล้ว คุณอันเป็นธรรมเหล่านั้นมีทุกอย่าง พระราชโอรสผู้เป็นกษัตริย์สมบูรณ์ด้วยพระชาติ เป็นอภิชาตบุตร เรืองพระยศ เป็นพระธรรมราชาแห่งชนชาววิเทหะ จงอุบัติแก่พระนาง.

[๑๙๔๙] ท่านผู้มีดวงตาน่ายินดี ทรงผ้าคลุกธุลี สถิตอยู่บนเวหาอันไม่มีสิ่งใดกั้น ได้กล่าววาจาเป็นที่

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 424

พอใจจับใจของดิฉัน ท่านเป็นเทวดามาจากสวรรค์ เป็นฤาษีผู้มีฤทธิ์มากหรือว่าเป็นใครมาถึงที่นี้ ขอท่านจงกล่าวความจริงให้ดิฉันทราบด้วย.

[๑๙๕๐] หมู่เทวดามาประชุมกันที่สุธรรมาสภา ย่อมกราบไหว้ท้าวสักกะองค์ใด ข้าพเจ้าเป็นท้าวสักกะองค์นั้น มีดวงตาพันหนึ่งมายังสำนักของท่าน หญิงเหล่าใดในชีวโลก เป็นผู้มีปกติประพฤติสม่ำเสมอ มีปัญญา มีศีล มีพ่อผัวแม่ผัวเป็นเทวดา ยำเกรงสามี เทวดาทั้งหลายผู้มิใช่มนุษย์มาเยี่ยมหญิงเช่นนั้น ผู้มีปัญญา มีกรรมอันสะอาด เป็นหญิงมนุษย์ ดูก่อนนางผู้เจริญ ท่านเกิดในราชสกุลนี้ พรั่งพร้อมไปด้วยสิ่งที่น่าปรารถนาทุกอย่าง ด้วยสุจริตธรรมที่ท่านประพฤติดีแล้วในปางก่อน ดูก่อนพระราชบุตรี ก็แหละข้อนี้เป็นชัยชนะในโลกทั้งสองของท่าน คือการอุบัติในเทวโลกและเกียรติในชีวิตนี้ ดูก่อนพระนางสุเมธา ขอให้พระนางจงมีสุขยั่งยืนนาน จงรักษาธรรมไว้ในตนให้ยั่งยืนเถิด ข้าพเจ้านี้ขอลาไปสู่ไตรทิพย์ การพบเห็นท่าน เป็นการพบเห็นที่ดูดดื่มใจของข้าพเจ้ายิ่งนัก.

จบสุรุจิชาดกที่ ๑

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 425

อรรถกถาสุรุจิชาดก

พระศาสดาเมื่อทรงอาศัยพระนครสาวัตถี ประทับอยู่ ณ ปุพพารามปราสาทของมิคารมารดา ทรงพระปรารภพร ๘ ประการ ที่มหาอุบาสิกาวิสาขาได้รับ ตรัสเรื่องนี้มีคำเริ่มต้นว่า "มเหสี รุจิโนภริยา" ดังนี้.

เรื่องพิสดารมีว่า วันหนึ่งนางวิสาขาฟังธรรมกถาในพระเชตวันวิหาร แล้วกราบทูลนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้ากับภิกษุสงฆ์ฉันเช้า แล้วกลับเรือน พอล่วงราตรีนั้นมหาเมฆอันเป็นไปในทวีปทั้งสี่ยังฝนให้ตก พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกพวกภิกษุมาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฝนตกในเชตวันอย่างใด ตกในทวีปทั้งสี่อย่างนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหาเมฆกลุ่มสุดท้ายพึงเปียกกายเราได้ ขณะที่ฝนกำลังตก ก็เสด็จหายไปจากพระเชตวันกับพวกภิกษุด้วยกำลังฤทธิ์ ปรากฏที่ซุ้มประตูของนางวิสาขา อุบาสิกายินดี ร่าเริง บันเทิงใจว่า อัศจรรย์นัก พ่อเจ้าพระคุณเอ๋ย พิศวงนัก พ่อมหาจำเริญเอ๋ย เพราะความที่พระตถาคตทรงมีฤทธิ์มาก ทรงอานุภาพมาก ในเมื่อห้วงน้ำเพียงเข่าก็มี เพียงเอวก็มี กำลังไหลไป เท้าหรือจีวรของภิกษุแม้รูปหนึ่งที่ชื่อว่าเปียก ไม่มีเลยแหละ แล้วอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธองค์เป็นประมุข ได้กราบทูลข้อนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงเสร็จภัตกิจแล้วว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอประทานพร ๘ ประการกะพระผู้มีพระภาคเจ้า พระเจ้าข้า ตรัสว่า วิสาขา พระตถาคตทั้งหลายผ่านพ้นพรไปแล้วละ กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พรใดๆ ควรแก่ข้าพระองค์และพรใดๆ ไม่มีโทษ ข้าพระองค์ทูลขอพรนั้นๆ พระเจ้าข้า ตรัสว่า กล่าวเถิดวิสาขา กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอ

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 426

ปรารถนาเพื่อจะถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่ภิกษุสงฆ์ตลอดชีพ ฯลฯ เพื่อจะถวายภัตแก่ภิกษุผู้มา ฯลฯ ภัตแก่ภิกษุผู้จะไป ฯลฯ ภัตรแก่ภิกษุไข้ ฯลฯ ภัตแก่ภิกษุผู้พยาบาลไข้ ฯลฯ ยาแก่ภิกษุผู้ไข้ ฯลฯ ข้าวยาคูประจำ เพื่อจะถวายผ้าอาบแด่ภิกษุณีสงฆ์ พระศาสดาตรัสถามว่า วิสาขา เธอเห็นอำนาจประโยชน์อะไรถึงขอพร ๘ ประการกะพระตถาคต เมื่อนางกราบทูลอานิสงส์ของพร ๘ ประการแล้ว ตรัสว่า ดีละ ดีละ วิสาขา เธอเห็นอานิสงส์เหล่านั้น ขอพร ๘ ประการ แล้วประทานพร ๘ ประการ ด้วยพระดำรัสว่า วิสาขา เราอนุญาตพร ๘ ประการแก่เธอ แล้วทรงอนุโมทนาเสร็จเสด็จหลีกไป อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อพระศาสดาเสด็จประทับอยู่ ณ ปุพพาราม พวกภิกษุพากันยกเรื่องขึ้นสนทนาในธรรมสภาว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย มหาอุบาสิกาวิสาขา แม้ดำรงในอัตภาพมาตุคาม ก็ยังได้พร ๘ ประการจากสำนักพระทศพล โอ นางมีคุณมาก พระศาสดาเสด็จมา ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อกี้พวกเธอสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อพวกภิกษุพากันกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่วิสาขาได้รับพรในสำนักของเรา แม้ในครั้งก่อนก็เคยได้รับแล้วเหมือนกัน ทรงนำอดีตนิทานมาดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล พระราชาทรงพระนามสุรุจิ เสวยราชสมบัติในพระนครมิถิลา ทรงได้พระราชโอรส ก็ได้ทรงขนานพระนามพระราชโอรสนั้นว่า สุรุจิกุมาร พระกุมารทรงเจริญวัย ทรงดำริว่า เราจักเรียนศิลปะในเมืองตักกศิลา เสด็จไปประทับนั่งพักที่ศาลาใกล้ประตูพระนคร ฝ่ายพระราชโอรสของพระเจ้าพาราณสี ทรงพระนามพรหมทัตกุมาร ก็เสด็จไปในที่นั้นเหมือนกัน ประทับนั่งพักเหนือแผ่นกระดานที่พระสุรุจิกุมารประทับนั่งนั้นแล พระกุมารทั้งสองทรงไต่ถามกันแล้ว มีความสนิทสนมกัน ไปสู่สำนักอาจารย์ร่วมกันทีเดียว ทรงให้ค่าคำนับอาจารย์ ตั้งต้นเรียนศิลปะ ไม่ช้านานนัก

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 427

ต่างก็สำเร็จศิลปะ พากันอำลาอาจารย์ เสด็จร่วมทางกันมาหน่อยหนึ่ง ประทับยืนที่ทางสองแพร่ง ทรงสวมกอดกันไว้ ต่างทรงกระทำกติกากัน เพื่อจะทรงรักษามิตรธรรมให้ยั่งยืนไปว่า ถ้าข้าพเจ้ามีโอรส ท่านมีพระธิดา หรือท่านมีพระโอรส ข้าพเจ้ามีธิดา เราจักกระทำอาวาหมงคลและวิวาหมงคล แก่โอรสและธิดาของเรานั้น ครั้นกุมารทั้งสองเสวยราชสมบัติ พระเจ้าสุรุจิมหาราชมีพระโอรส พระประยูรญาติขนานพระนามพระโอรสนั้นว่า สุรุจิกุมาร พระเจ้าพรหมทัตมีพระธิดา พระประยูรญาติขนานนามพระธิดานั้นว่า สุเมธา พระกุมารสุรุจิทรงจำเริญวัย เสด็จไปเมืองตักกศิลา ทรงเรียนศิลปะเสร็จเสด็จมา.

พระราชบิดามีพระประสงค์จะอภิเษกพระกุมารในราชสมบัติ ทรงพระดำริว่า ข่าวว่า พระเจ้าพาราณสีพระสหายของเรามีพระธิดา เราจักสถาปนานางนั้นแลให้เป็นอัครมเหสีของลูกเรา ทรงประทานบรรณาการเป็นอันมาก ทรงส่งพวกอำมาตย์ไปเพื่อต้องการพระนางนั้น ขณะที่พวกอำมาตย์เหล่านั้นยังมาไม่ถึง พระเจ้าพาราณสีตรัสถามพระเทวีว่า นางผู้เจริญ อะไรเป็นทุกข์อย่างยิ่งของมาตุคาม พระเทวีกราบทูลว่า ข้าแต่พระทูลกระหม่อม ความหึงหญิงที่ร่วมผัว เป็นความทุกข์ของมาตุคามเจ้าค่ะ ตรัสว่า นางผู้เจริญ ถ้าเช่นนั้น เราต้องช่วยกันเปลื้องสุเมธาเทวีลูกหญิงของเราจากทุกข์นั้น เราจักให้แก่ผู้ที่จักครองเธอแต่นางเดียวเท่านั้น เมื่ออำมาตย์เหล่านั้นพากันมาถึงทูลรับพระนามของพระนางแล้ว ท้าวเธอจึงตรัสว่า ดูราพ่อทั้งหลาย อันที่จริง เมื่อก่อนข้าพเจ้ากระทำปฏิญาณไว้กับพระสหายของข้าพเจ้า ถึงกระนั้นข้าพเจ้าก็มิได้ประสงค์เลยที่ส่งนางเข้าไปภายในกลุ่มสตรี เราประสงค์ที่ให้นางแก่ผู้ที่จะครองนางผู้เดียวเท่านั้น อำมาตย์เหล่านั้นพากันส่งข่าวสู่สำนักพระราชา พระราชาตรัสว่า ราชสมบัติของเราใหญ่หลวง มิถิลานครมีอาณาเขตถึง ๗ โยชน์ กำหนดแห่งราชัยถึง ๓๐๐ โยชน์อย่างต่ำสุด ควรจะได้สตรี ๑๖,๐๐๐ นาง แล้วมิได้ทรง

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 428

บอกไป แต่พระกุมารสุรุจิทรงสดับรูปสมบัติของพระนางสุเมธาแล้ว ก็ติดพระหทัยด้วยการเกี่ยวข้องโดยสดับ จึงส่งกระแสพระดำรัสถึงพระราชบิดามารดาว่า หม่อมฉันจักครองนางผู้เดียวเท่านั้น หม่อมฉันไม่ต้องการกลุ่มสตรี โปรดเชิญนางมาเถิด พระราชบิดามารดาไม่ทรงขัดพระหทัยของพระกุมาร ทรงส่งทรัพย์เป็นอันมาก เชิญพระนางมาด้วยบริวารขบวนใหญ่แล้วทรงอภิเษกร่วมกัน กระทำพระนางให้เป็นพระมเหสีของพระกุมาร พระกุมารนั้นทรงพระนามว่า สุรุจิมหาราช ทรงครองราชสมบัติโดยธรรม ทรงอยู่ร่วมกับพระนางด้วยความรัก ก็พระนางประทับอยู่ในพระราชวังของท้าวเธอตลอด ๑๐,๐๐๐ ปี ไม่ทรงได้พระโอรสหรือพระธิดาเลย.

ครั้งนั้นชาวเมืองประชุมกัน ชวนกันร้องขานขึ้นในท้องพระลานหลวง เมื่อท้าวเธอดำรัสว่า นี่อะไรกัน ก็กราบทูลว่า โทษของพระราชาไม่มี พระเจ้าข้า แต่พระโอรสผู้จะสืบวงศ์ของพระองค์ยังไม่มีเลย พระองค์ทรงมีพระเทวีพระนางเดียว ธรรมดาราชสกุลต้องมีหญิง ๑๖,๐๐๐ นางเป็นอย่างต่ำที่สุด พระองค์โปรดรับกลุ่มสตรีเถิดพระเจ้าข้า เผื่อบรรดาหญิงเหล่านั้นจักมีสักคนหนึ่งที่มีบุญ จักได้พระโอรส ถูกท้าวเธอตรัสห้ามเสียว่า พ่อคุณเอ๋ย พากันพูดอะไร เราได้ปฏิญาณไว้แล้วว่า จักไม่ครองหญิงอื่นเลย จึงได้เชิญหญิงนี้มาได้ เราไม่อาจมุสาวาทได้ เราไม่ต้องการกลุ่มแห่งสตรี เลยพากันหลีกไป พระนางสุเมธาทรงสดับพระดำรัสนั้น ดำริว่า พระราชามิได้ทรงนำสตรีอื่นๆ มาเลย เพราะทรงพระดำรัสตรัสจริงแน่นอน แต่เรานี่แหละจักหามาถวายแก่พระองค์ ทรงดำรงในตำแหน่งพระมเหสีเช่นพระมารดาของพระราชา จึงทรงนำมาซึ่งสตรี ๔,๐๐๐ นาง คือสาวน้อยเชื้อกษัตริย์ ๑,๐๐๐ เชื้อขุนนาง ๑,๐๐๐ เชื้อเศรษฐี ๑,๐๐๐ นางระบำผู้ชำนาญในกระบวนฟ้อนรำทุกอย่าง ๑,๐๐๐ คัดที่พอพระหฤทัยของพระนาง แม้พวกนั้นพากันอยู่ในราชสกุลตั้ง ๑๐,๐๐๐ ปี ก็ไม่ได้พระโอรสหรือธิดาดุจกัน พระนางคัดพวกอื่นๆ มาถวายคราวละ ๔,๐๐๐ ถึงสามคราว แม้พวกนั้นก็ไม่ได้พระโอรส

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 429

พระธิดา รวมเป็นหญิงที่พระนางนำมาถวาย ๑๖,๐๐๐ นาง เวลาล่วงไป ๔๐,๐๐๐ ปี รวมกับเวลาที่ทรงอยู่กับพระนางองค์เดียว ๑๐,๐๐๐ ปี เป็น ๕๐,๐๐๐ ปี ครั้งนั้น ชาวเมืองประชุมชวนกันร้องขานขึ้นอีก เมื่อท้าวเธอตรัสว่า เรื่องอะไรกันเล่า พากันกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์โปรดบังคับพระเทวีทั้งหลาย เพื่อปรารถนาพระโอรสเถิด พระเจ้าข้า พระราชาทรงรับว่า ดีแล้ว ตรัส (กะพระเทวี) ว่า พวกเธอปรารถนาบุตรเถิด ตั้งแต่นั้นพระเทวีเหล่านั้นเมื่อปรารถนาพระโอรส พากันนอบน้อมเทวดาต่างๆ พากันบำเพ็ญวัตรต่างๆ พระโอรสก็ไม่อุบัติอยู่นั่นเอง.

ครั้งนั้นพระราชาตรัสกะพระนางสุเมธาว่า นางผู้เจริญ เชิญเธอปรารถนาพระโอรสเถิด พระนางรับพระดำรัสว่า สาธุแล้ว ครั้นถึงดิถีที่ ๑๕ ทรงสมาทานอุโบสถ ประทับนั่งเหนือพระแท่นอันสมควร ทรงระลึกถึงศีลทั้งหลายอยู่ในพระตำหนักอันทรงสิริ พระเทวีที่เหลือพากันประพฤติวัตรอย่างแพะอย่างโคต่างไปสู่พระอุทยาน ด้วยเดชแห่งศีลของพระนางสุเมธา พิภพของท้าวสักกะหวั่นไหว ท้าวสักกะทรงนึกว่า นางสุเมธาปรารถนาพระโอรส เราต้องให้โอรสแก่เธอ แต่ว่าเราไม่อาจที่จะให้ตามมีตามได้ ต้องเลือกเฟ้นโอรสที่สมควรแก่เธอ เมื่อทรงเลือกเฟ้นก็ทรงเห็น เทพบุตรนฬการ แท้จริงเทพบุตรนฬการนั้นเป็นสัตว์ถึงพร้อมด้วยบุญ เมื่ออยู่ในนครพาราณสี ในอัตภาพครั้งก่อน ถึงเวลาหว่านข้าวไปไร่ เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ส่งพวกทาสและกรรมกรไปหว่านกัน ตนเองกลับพาพระปัจเจกพุทธเจ้าไปสู่เรือน ให้ฉันแล้วนิมนต์มาที่ฝั่งคงคา ร่วมมือกันกับลูกชายสร้างบรรณศาลา เอาไม้มะเดื่อเป็นเชิงฝา เอาไม้อ้อเป็นฝา ผูกประตู ทำที่จงกรม นิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าอยู่ ณ บรรณศาลานั้นแหละตลอดไตรมาส ท่านจำพรรษา

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 430

แล้ว พ่อลูกทั้งคู่ก็นิมนต์ให้ครองไตรจีวร แล้วส่งท่านไปด้วยทำนองนี้เอง ได้นิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าถึง ๗ องค์ ให้อยู่ ณ บรรณศาลานั้น แล้วให้ครองไตรจีวร บางอาจารย์กล่าวว่า พ่อลูกทั้งคู่เป็นช่างจักสานกำลังขนเอาไม้ไผ่ที่ฝั่งคงคา เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าจึงพากันกระทำเช่นนั้น ดังนี้ก็มี พ่อลูกทั้งคู่นั้น ครั้นทำกาลกิริยาบังเกิดในภพดาวดึงส์ เสวยอิสริยะแห่งเทวดาอันใหญ่ กลับไปกลับมาอยู่ในกามภพทั้ง ๖ ชั้น เทพบุตรทั้งคู่นั้นปรารถนาจะจุติจากชั้นนั้นไปบังเกิดในเทวโลกชั้นสูง.

ท้าวสักกะทรงทราบความเป็นอย่างนั้น เสด็จไปถึงประตูวิมานของเทพบุตรองค์หนึ่งในสององค์นั้น ตรัสกับเทพบุตรนั้นผู้มาบังคมแล้วยืนอยู่ว่า ดูราท่านผู้นิรทุกข์ ควรที่ท่านจะไปสู่มนุษยโลก เธอทูลว่า ข้าแต่มหาราช โลกมนุษย์น่ารังเกียจสกปรก ฝูงชนที่ตั้งอยู่ในโลกมนุษย์นั้นต่างทำบุญมีให้ทานเป็นต้นปรารถนาเทวโลก ข้าพระองค์จักไปในโลกมนุษย์นั้นทำไม ตรัสว่า ผู้นิรทุกข์ ท่านจักได้บริโภคทิพสมบัติที่เคยบริโภคในเทวโลกในโลกมนุษย์ จักได้อยู่ในปราสาทแก้วสูง ๒๕ โยชน์ ยาว ๙ โยชน์ กว้าง ๘ โยชน์ เชิญท่านรับคำเถิด เธอจึงรับ ท้าวสักกะทรงถือปฏิญญาของเธอแล้ว เสด็จไปสู่อุทยานด้วยแปลงเพศเป็นฤาษี จงกรมในอากาศเบื้องบนสตรีเหล่านั้น ทรงสำแดงพระองค์ให้ปรากฏ ตรัสว่า อาตมภาพจะให้โอรสผู้ประเสริฐแก่นางคนไหนเล่า นางคนไหนจักรับโอรสผู้ประเสริฐ สตรี ๑,๐๐๐ นางต่างยอหัตถ์วิงวอนว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ โปรดให้แก่ดิฉันๆ ทีนั้นท้าวสักกะก็ตรัสว่า อาตมภาพจะให้โอรสแก่หมู่สตรีที่มีศีล พวกเธอมีศีลอย่างไร มีอาจาระอย่างไรเล่า สตรีเหล่านั้นพากันลดมือที่ยกขึ้นลงหมดกล่าวว่า ถ้าพระคุณเจ้าปรารถนาจะให้แก่สตรีผู้มีศีล เชิญไปสู่สำนักของพระนางสุเมธาเถิด ท้าวเธอก็เหาะไปทางอากาศนั้นเอง ประทับยืนตรงช่องพระแกลใกล้พระทวารปราสาทของพระนาง ครั้งนั้นสตรีเหล่านั้นพากันกราบทูลแด่พระนางว่า

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 431

ทูลกระหม่อมแม่เจ้าขา เชิญพระแม่เจ้าเสด็จมาเถิด เทวราชพระองค์หนึ่งประสงค์จะถวายพระโอรสผู้ประเสริฐแด่พระแม่เจ้า เหาะมาทางอากาศกำลังสถิตที่ช่องพระแกล เจ้าข้า พระนางเสด็จไปด้วยท่าทางสนพระทัยยิ่งนัก ทรงเปิดพระแกลตรัสว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ได้ยินว่าพระคุณเจ้าจะให้โอรสผู้ประเสริฐแก่สตรีผู้มีศีล เป็นความจริงหรือ พระเจ้าข้า ท้าวเธอตรัสว่า ดูก่อนพระเทวี ขอถวายพระพร เป็นความจริง พระนางตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น ขอพระคุณเจ้าโปรดให้แก่ดิฉัน ตรัสถามว่า ก็ศีลของบพิตรเป็นอย่างไร เชิญตรัส ถ้าชอบใจอาตมภาพ อาตมภาพจักถวายพระโอรสผู้ประเสริฐ พระนางทรงสดับพระดำรัสของท้าวเธอแล้ว ตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น เชิญพระคุณเจ้าค่อยสดับเถิด เมื่อจะทรงแถลงศีลคุณของตน ได้ทรงภาษิตพระคาถา ๕ คาถาว่า.

"ดิฉันถูกเชิญมาเป็นพระอัครมเหสีคนแรกของพระเจ้าสุรุจิตลอดเวลาหมื่นปี พระเจ้าสุรุจินำดิฉันมาผู้เดียว ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ดิฉันนั้นมิได้รู้สึกเลยว่า ได้ล่วงเกินพระเจ้าสุรุจิ ผู้เป็นจอมประชาชนชาววิเทหรัฐครองพระนครมิถิลา ด้วยกาย วาจาหรือใจ ทั้งในที่แจ้งหรือในที่ลับเลย ข้าแต่พระฤาษี ด้วยการกล่าวคำสัตย์จริงนี้ ขอบุตรจงเกิดเถิด เมื่อดิฉันกล่าวคำเท็จ ขอศีรษะของดิฉันจงแตก ๗ เสี่ยง".

"ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ดิฉันเป็นที่พอใจของพระภัสดา พระชนนีและพระชนกของพระภัสดาก็เป็นที่รักของดิฉัน พระองค์ท่านเหล่านั้นทรงแนะนำดิฉันตลอดเวลาที่พระองค์ท่านยังทรงพระชนม์ชีพอยู่

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 432

ดิฉันนั้นยินดีในความไม่เบียดเบียน มีปกติประพฤติธรรมโดยส่วนเดียว มุ่งบำเรอพระองค์ท่านเหล่านั้นโดยเคารพ ไม่เกียจคร้านทั้งกลางคืนกลางวัน ข้าแต่พระฤาษี ด้วยการกล่าวคำสัตย์จริงนี้ ขอบุตรจงเกิดเถิด เมื่อดิฉันกล่าวคำเท็จ ขอศีรษะของดิฉันจงแตก ๗ เสี่ยง".

"ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ความริษยาหรือความโกรธในสตรีผู้เป็นราชเทวีร่วมกัน ๑๖,๐๐๐ คน มิได้มีแก่ดิฉันในกาลไหนๆ เลย ดิฉันชื่นชมด้วยความเกื้อกูลแก่พระราชเทวีเหล่านั้น และคนไหนที่จะไม่เป็นที่รักของดิฉันไม่มีเลย ดิฉันอนุเคราะห์หญิงผู้ร่วมสามีทั่วกันทุกคนในกาลทุกเมื่อ เหมือนอนุเคราะห์ตนฉะนั้น ข้าแต่พระฤาษี ด้วยการกล่าวคำสัตย์จริงนี้ ขอบุตรจงเกิดเถิด เมื่อดิฉันกล่าวคำเท็จ ขอศีรษะของดิฉันจงแตก ๗ เสี่ยง".

"ดิฉันเลี้ยงดูทาสกรรมกรซึ่งจะต้องเลี้ยงดูและชนเหล่าอื่นผู้อาศัยเลี้ยงชีวิต โดยเหมาะสมกับหน้าที่ ดิฉันมีอินทรีย์อันเบิกบานในกาลทุกเมื่อ ข้าแต่พระฤาษี ด้วยการกล่าวคำสัตย์จริงนี้ ขอบุตรจงเกิดเถิด เมื่อดิฉันกล่าวคำเท็จ ขอศีรษะของดิฉันจงแตก ๗ เสี่ยง".

"ดิฉันมีฝ่ามืออันชุ่มเลี้ยงดูสมณพราหมณ์และวณิพกเหล่าอื่น ให้อิ่มหนำสำราญด้วยข้าวและน้ำ

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 433

ทุกเมื่อ ข้าแต่พระฤาษี ด้วยการกล่าวคำสัตย์จริงนี้ ขอบุตรจงเกิดเถิด เมื่อดิฉันกล่าวคำเท็จ ขอศีรษะของดิฉันจงแตกเป็น ๗ เสี่ยง".

"ดิฉันเข้าอยู่ประจำอุโบสถ อันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ตลอดดิถีที่ ๑๔ ๑๕ และดิถีที่ ๘ แห่งปักษ์ และตลอดปาฏิหาริยปักษ์ ดิฉันสำรวมแล้วในศีลทุกเมื่อ ข้าแต่พระฤาษี ด้วยการกล่าวคำสัตย์จริงนี้ ขอบุตรจงเกิดเถิด เมื่อดิฉันกล่าวคำเท็จ ขอศีรษะของดิฉันจงแตก ๗ เสี่ยง".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มเหสี ได้แก่ พระอัครมเหสี.

บทว่า รุจิโน ได้แก่ พระราชา ทรงพระนามว่า สุรุจิ.

บทว่า ปมํ ความว่า ดิฉันได้มาเป็นอัครมเหสีคนแรกก่อนกว่าหญิงทั้งปวง บรรดาหญิง ๑๖,๐๐๐ คน.

บทว่า ยํ มํ ความว่า จำเดิมแต่พระเจ้าสุรุจิทรงนำดิฉันมาเพื่อความอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข ดิฉันได้เป็นหญิงผู้เดียวเท่านั้นที่ได้อยู่ในพระตำหนักนี้ตลอด ๑๐,๐๐๐ ปี.

บทว่า อติมญฺิตฺถ ความว่า ดิฉันนั้นไม่เคยทราบไม่เคยระลึกเลยว่า ดิฉันล่วงเกินพระราชาสุรุจิแล้วทั้งต่อหน้าหรือลับหลังแม้โดยครู่เดียว เธอเรียกฤาษีนั้นว่า อีเส.

บทวา เต มํ ความว่า พระชนกและพระชนนีของพระภัสดาทั้งสองพระองค์นั้น ทรงโปรดนำดิฉันมา.

บทว่า วิเนตาโร ความว่า ดิฉันได้รับแนะนำจากพระองค์ท่านทั้ง ๒ แล้ว พระองค์ท่านทั้ง ๒ นั้นยังทรงพระชนม์อยู่ตราบใด ก็คงจะทรงประทานพระโอวาทแก่ดิฉันไปตราบนั้น.

บทว่า อหิํสา รตินี ความว่า ดิฉันประกอบแล้วด้วยเจตนาอันเป็นเหตุงดเว้น กล่าวคือความไม่เบียดเบียน หมายความว่า ดิฉันไม่เคย

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 434

เบียดเบียนสัตว์อะไรตั้งต้นแต่มดดำมดแดงไปทีเดียว.

บทว่า กามสา แปลว่า มุ่งหน้าโดยส่วนเดียว.

บทว่า ธมฺมจารินี ความว่า ดิฉันบำเพ็ญในกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ.

บทว่า อุปฏฺาสิํ ความว่า ดิฉันทำกิจต่างๆ มีการบริกรรมพระบาทเป็นอาทิ ปรนนิบัติพระองค์ท่านทั้งสอง.

บทว่า สหภริยานิ ความว่า เป็นภรรยาแห่งสามีเดียวกันกับดิฉัน.

บทว่า นาหุ ความว่า ธรรม คือความริษยา หรือธรรม คือความโกรธ เพราะอาศัยกิเลส มิได้มีแก่ดิฉันเลย.

บทว่า หิเตน ความว่า กิจใดเป็นกิจเกื้อกูลแก่หญิงเหล่านั้น ดิฉันย่อมชื่นชมยินดีด้วยประโยชน์เกื้อกูลของหญิงเหล่านั้นแท้ๆ ดิฉันยินดีเห็นหญิงเหล่านั้นเป็นเหมือนบุตรธิดาในอ้อมอกฉะนั้น.

บทว่า กาจิ ความว่า บรรดาหญิงเหล่านั้น แม้เพียงคนเดียวที่จะชื่อว่าดิฉันไม่รักไม่มีเลย ดิฉันรักทุกคนทีเดียว.

บทว่า อนุกมฺปามิ ความว่า ดิฉันเอ็นดูหญิงทั้ง ๑๖,๐๐๐ นางนั้นทุกคน ด้วยจิตอ่อนโยนเหมือนเอ็นดูตนก็ปานกัน.

บทว่า สห ธมฺเมน ความว่า ดิฉันเลี้ยงดูตามหน้าที่ที่จะมอบให้เขาทำได้ หมายความว่า ผู้ใดสามารถจะทำกรรมใด ดิฉันก็ใช้ผู้นั้นในกรรมนั้น.

บทว่า ปทุทิตินฺทฺริยา ความว่า เมื่อใช้เล่าก็ยิ้มแย้มแจ่มใสเป็นนิตย์ทีเดียว ดิฉันไม่เคยใช้ใครๆ อย่างกราดเกรี้ยวว่า อีทาสอีตัวร้าย มึงจงทำการอันนี้ซิเว้ย ดังนี้เลยในกาลไหนๆ.

บทว่า ปยตปาณินี ความว่า เป็นผู้มีมืออันล้างแล้ว เหยียดมือออกแล้วทีเดียว.

บทว่า ปาริหาริยปกฺขญฺจ ความว่า ๔ วัน ด้วยอำนาจวันรับและวันส่ง คือวัน ๕ ค่ำ วัน ๘ ค่ำ วัน ๑๔ ค่ำ วัน ๑๕ ค่ำ.

บทว่า สทา ความว่า เป็นผู้สำรวมในศีล ๕ ตลอดกาลเป็นนิตย์ คือเป็นผู้มีอัตภาพอันศีลเหล่านั้นปกป้องคุ้มครองไว้แล้ว.

ธรรมดาว่าการประมาณของพระนาง ซึ่งแม้จะพรรณนา ๑๐๐ คาถา ๑,๐๐๐ คาถา ก็หาเพียงพอไม่ ด้วยประการฉะนี้.

ในเวลาที่พระนางพรรณนาคุณของตนได้ด้วยพระคาถา ๑๕ เท่านั้น

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 435

ท้าวสักกะก็ตัดพระดำรัสของพระนางเสีย เพราะท้าวเธอมีกิจที่ต้องกระทำมาก เมื่อจะทรงสรรเสริญพระนางว่า คุณของพระนางจริงทั้งนั้น จึงตรัส ๒ คาถาว่า.

"ดูก่อนราชบุตรี ผู้เรืองยศงดงาม คุณอันเป็นธรรมเหล่านั้นมีทุกอย่าง พระราชโอรสผู้เป็นกษัตริย์สมบูรณ์ด้วยพระชาติ เป็นอภิชาตบุตร เรืองพระยศ เป็นธรรมราชาแห่งชนชาววิเทหะ จงอุบัติแก่พระนาง".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺมคุณา ได้แก่ มีคุณตามความเป็นจริง คือมีคุณเป็นจริง.

บทว่า สํวิชฺชนฺติ ความว่า พระคุณเหล่าใดเล่าที่พระองค์ตรัสแล้ว พระคุณเหล่านั้นทั้งหมดทีเดียว สมบูรณ์เพียบพร้อมในพระองค์.

บทว่า อภิชาโต ความว่า พระราชโอรสผู้ทรงพระกำเนิดบริสุทธิ์ทั้ง ๒ ฝ่าย.

บทว่า ยสสฺสิมา ความว่า ทรงเพียบพร้อมด้วยสมบัติ คือยศ และสมบัติ คือบริวาร.

บทว่า อุปฺปชฺชเต ความว่า บุตรเห็นปานนี้จักบังเกิดแต่พระองค์ และอย่าทรงวิตกไปเลย.

พระนางทรงสดับพระดำรัสของท้าวเธอแล้ว ทรงโสมนัส เมื่อจะตรัสถามท้าวเธอได้ทรงภาษิต ๒ พระคาถาว่า

"ท่านผู้มีดวงตาน่ายินดี ทรงผ้าคลุกธุลี สถิตอยู่บนเวหาอันไม่มีสิ่งใดกั้น ได้กล่าววาจาอันเป็นที่พอใจจับใจของดิฉัน ท่านเป็นเทวดามาจากสวรรค์ เป็นฤาษีผู้มีฤทธิ์มาก หรือว่าเป็นใครมาถึงที่นี้ ขอท่านจงกล่าวความจริงให้ดิฉันทราบด้วย".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า รุมฺหิ ความว่า พระนางตรัสเรียกอย่างนี้ ก็เพราะท้าวสักกะทรงมีพระเนตรไม่กระพริบเลย เมื่อเสด็จมาก็เสด็จ

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 436

มาด้วยเพศเป็นดาบสอันน่ายินดี โดยเป็นบรรพชิต (ท่านมาสถิตในเวหา).

บทว่า อเฆ ได้แก่ ในที่ที่ไม่มีสิ่งใดกั้น.

บทว่า ยํ มยฺหํ ความว่า ท่านกำลังกล่าวคำอันน่าพอใจของดิฉันนี้นั้นน่ะ เป็นเทวดาจากสวรรค์มา ณ ที่นี้ หรือไม่อีกทีก็เป็นฤาษีผู้มีฤทธิ์มาก หรือในบรรดาเทพเจ้ามีท้าวสักกะเป็นต้น ท่านเป็นเทพเจ้าองค์ไรเล่า มาปรากฏแล้ว ณ ที่นี้.

บทว่า อตฺตานํ เม ปเวทยา พระนางตรัสว่า เชิญท่านบอกความจริงให้ดิฉันทราบเถิดเจ้าค่ะ.

ท้าวสักกะ เมื่อจะตรัสบอกแก่พระนาง จึงได้ตรัส ๖ พระคาถาว่า.

"หมู่เทวดามาประชุมกันที่สุธรรมาสภา ย่อมกราบไหว้ท้าวสักกะองค์ใด ข้าพเจ้าเป็นท้าวสักกะองค์นั้น มีดวงตาพันหนึ่งมายังสำนักของท่าน หญิงเหล่าใดในชีวโลกเป็นผู้มีปกติประพฤติสม่ำเสมอ มีปัญญา มีศีล มีพ่อผัวแม่ผัวเป็นเทวดา ยำเกรงสามี เทวดาทั้งหลายผู้มิใช่มนุษย์มาเยี่ยมหญิงเช่นนั้น ผู้มีปัญญา มีกรรมอันสะอาด เป็นหญิงมนุษย์ ดูก่อนนางผู้เจริญ ท่านเกิดในราชสกุลนี้ พรั่งพร้อมไปด้วยสิ่งที่น่าปรารถนาทุกอย่างด้วยสุจริตธรรมที่ท่านประพฤติดีแล้วในปางก่อน ดูก่อนพระราชบุตรี ก็แหละข้อนี้เป็นชัยชนะในโลกทั้งสองของท่าน คือการอุบัติในเทวโลกและเกียรติในชีวิตนี้ ดูก่อนพระนางสุเมธา ขอให้พระนางจงมีสุขยั่งยืนนาน จงรักษาธรรมไว้ในตนให้ยั่งยืนเถิด ข้าพเจ้านี้ขอลาไปสู่ไตรทิพย์ การพบเห็นท่าน เป็นการพบเห็นที่ดูดดื่มใจของข้าพเจ้ายิ่งนัก".

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 437

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สหสฺสกฺโข ความว่า ชื่อว่าเป็นผู้มีดวงตาตั้ง ๑,๐๐๐ ด้วยสามารถเล็งเห็นเรื่องที่คนตั้ง ๑,๐๐๐ คน คิดกันเพียงครู่เดียว.

บทว่า อิตฺถิโย ความว่า หญิงทั้งหลายผู้มีปกติประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประกอบด้วยการประพฤติสม่ำเสมอด้วยทวารทั้ง ๓.

บทว่า ตาทิสาย แปลว่า เห็นปานนั้น.

บทว่า สุเมธาย ได้แก่ ผู้มีปัญญาดี.

บทว่า อุภยตฺถ กฏคฺคโห ความว่า ข้อนี้เป็นการยึดถือชัยไว้ได้ของท่านทั้งในอัตภาพนี้และในอนาคต คือบรรดาโลกนี้และโลกหน้าเหล่านั้นในอนาคต ได้แก่การเข้าถึงเทวโลก ในชีวิตที่กำลังเป็นไปอยู่เล่าก็ได้เกียรติ เหตุนั้น ข้อนี้จึงชื่อว่า เป็นการถือเอาชัยไว้ได้ในโลกทั้งสอง สุเมธา ให้นางมีสุขยืนนานเถิด จงรักษาธรรม (คือคุณที่มีจริงอย่างนั้น) ไว้ในตนให้ยั่งยืนเถิด ข้าพเจ้านี้ขอลาไปสู่สรวงสวรรค์ การพบเห็นท่านเป็นการพบเห็นที่ดูดดื่มใจแก่ข้าพเจ้า.

ท้าวสักกะประทานโอวาทแก่พระนางว่า ก็กิจที่ต้องกระทำของข้าพเจ้ามีอยู่ในเทวโลก เหตุนั้น ข้าพเจ้าต้องไป ท่านจงไม่ประมาทเถิดนะ แล้วเสด็จหลีกไป ครั้นถึงเวลาใกล้รุ่ง นฬการเทพบุตรก็จุติถือปฏิสนธิในพระครรโภทรของพระนาง พระนางทรงทราบความที่พระองค์ทรงครรภ์ กราบทูลแก่พระราชา พระราชาประทานเครื่องผดุงครรภ์ ถ้วนกำหนดทศมาส พระนางก็ประสูติพระโอรส.

พระประยูรญาติทรงขนานพระนามพระโอรสว่า มหาปนาท ชาวแคว้นทั้งสอง (อังคะและมคธ) พากันทิ้งเหรียญกระษาปณ์ลงที่ท้องพระลานหลวงคนละ ๑ กระษาปณ์ เพื่อให้พระราชาทรงทราบว่า เป็นค่าน้ำนมของพระลูกเจ้าแห่งชาวเรา เหรียญกระษาปณ์ได้เป็นกองใหญ่โต แม้พระราชาจะตรัสห้าม ก็พากันกราบทูลว่า จักได้เป็นทุนรอนในเวลาที่พระลูกเจ้าของพวกข้าพระองค์ทรงพระเจริญ ต่างไม่รับคืนพากันหลีกไป.

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 438

พระกุมารทรงพระเจริญด้วยบริวารมากมาย ครั้นทรงถึงวัยมีพระชนม์ ๑๖ พรรษา ก็ทรงลุความสำเร็จในศิลปะทุกประการ พระราชาทรงตรวจดูพระชนม์ของพระโอรสแล้ว ตรัสกับพระเทวีว่า นางผู้เจริญ ในเวลาอภิเษกลูกของเราในราชสมบัติ จักสร้างปราสาทอันน่ารื่นรมย์ให้เธอแล้วถึงทำการอภิเษก พระนางรับพระโองการว่า ดีแล้ว พระเจ้าคะ พระราชารับสั่งให้หาอาจารย์ในวิชาพื้นที่มา ตรัสว่า พ่อทั้งหลาย จงคุมช่างให้สร้างปราสาทเพื่อลูกของเรา ณ ที่ไม่ห่างวังของเรา เราจักอภิเษกลูกของเรานั้นในราชสมบัติ พวกอาจารย์ในวิชาพื้นที่เหล่านั้น รับพระโองการว่า ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอรับใส่เกล้าฯ แล้วพากันตรวจภูมิประเทศ.

ขณะนั้นพิภพของท้าวสักกะสำแดงอาการร้อน ท้าวเธอทรงทราบเหตุนั้น ตรัสเรียกวิสสุกรรมเทพบุตรมา ตรัสสั่งว่า ไปเถิดพ่อเอ๋ย จงสร้างปราสาทแก้วยาว ๙ โยชน์ กว้าง ๘ โยชน์ สูง ๒๕ โยชน์ ให้แก่มหาปนาทราชกุมารเถิด วิสสุกรรมเทพบุตรแปลงเพศเป็นช่าง ไปสู่สำนักของพวกช่างแล้วส่งพวกช่างนั้นไปเสียด้วยคำว่า พวกคุณกินข้าวเช้าแล้วค่อยมาเถิด แล้วประหารแผ่นดินด้วยท่อนไม้ ทันใดนั้นเอง ปราสาท ๗ ชั้น มีขนาดดังกล่าวแล้ว ก็ผุดขึ้น มงคล ๓ ประการ คือมงคลฉลองปราสาท มงคลอภิเษกสมโภชเศวตฉัตร และอาวาหมงคลของพระกุมารมหาปนาทได้มีคราวเดียวกันแล.

ชาวแคว้นทั้งสองพากันประชุมในสถานมงคล ให้กาลเวลาล่วงไปถึง ๗ ปี ด้วยการมหรสพฉลองมงคล พระราชามิได้ทรงบอกให้พวกนั้นเลิกงานเลย สิ่งของทั้งหมดเป็นต้นว่าผ้า เครื่องประดับ ของเคี้ยวของกินของชนเหล่านั้น ได้เป็นสิ่งของของราชสกุลทั้งนั้นเลย ครั้นล่วง ๗ ปี ฝูงชนเหล่านั้นพากันร้องทุกข์ พระสุรุจิมหาราชตรัสถามว่า นี่อะไรกันเล่า ก็พากันกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราช เมื่อพวกข้าพระองค์พากันสมโภชการมงคล ๗ ปีผ่านไป

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 439

แล้ว ที่สุดของงานมงคลจะมีเมื่อไรเล่า พระเจ้าข้า ลำดับนั้น พระราชาตรัสว่า ตลอดกาลถึงเท่านี้ ลูกเราไม่เคยหัวเราะเลย เมื่อใดเธอหัวเราะ เมื่อนั้นพวกเจ้าทั้งหลายจงพากันไปเถิด ครั้งนั้น มหาชนเที่ยวตีกลองป่าวร้องเชิญนักฟ้อนของพระเจ้ามหาปนาทนั้นประชุม นักฟ้อน ๖,๐๐๐ พากันมาประชุม แบ่งกันเป็น ๗ ส่วน พากันรำฟ้อน ก็มิอาจที่จะให้พระราชาทรงพระสรวลได้ ทั้งนี้เพราะความที่ท้าวเธอเคยทอดพระเนตรกระบวนฟ้อนรำอันเป็นทิพย์มาช้านาน การฟ้อนของนักฟ้อนเหล่านั้นจึงมิได้เป็นที่ต้องพระหทัย.

ครั้งนั้นจอมนักฟ้อน ๒ นาย คือกัณฑกรรณและปัณฑุกรรณ คิดว่า พวกเราจะให้พระราชาทรงพระสรวลให้ได้ พากันเข้าไปในท้องพระลาน บรรดาจอมนักฟ้อนทั้งสองคนนั้น กัณฑกรรณให้ปลูกต้นมะม่วงใหญ่ชื่อ อตุละ ที่พระราชทวาร แล้วขว้างกลุ่มด้ายขึ้นไปให้คล้องที่กิ่งของต้นมะม่วงนั้น แล้วไต่ขึ้นไปตามเส้นด้าย ได้ยินว่า ไม้มะม่วงชื่อ อตุละ เป็นต้นมะม่วงของท้าวเวสวัณ ครั้งนั้นพวกทาสของท้าวเวสวัณก็พากันตัดกิ่งน้อยใหญ่ของต้นมะม่วงนั้นโค่นลงมา นักฟ้อนที่เหลือเก็บกิ่งเหล่านั้นกองไว้แล้วรดด้วยน้ำ กัณฑกรรณนั้นนุ่งห่มผ้ากรองดอกไม้ลุกขึ้นฟ้อนรำไป พระเจ้ามหาปนาททอดพระเนตรเห็นเขาแล้ว ก็มิได้ทรงพระสรวลเลย ปัณฑุกรรณได้ทำเชิงตะกอนไม้ในท้องพระลานหลวง แล้วเดินเข้าสู่กองไฟกับบริษัทของตน ครั้นไฟดับแล้ว นักฟ้อนทั้งหลายเอาน้ำรดเชิงตะกอน ปัณฑุกรรณนั้นกับบริษัทนุ่งห่มผ้ากรองดอกไม้ลุกขึ้นฟ้อนรำ พระราชาทรงทอดพระเนตรการนั้นแล้ว คงมิได้ทรงพระสรวลอยู่นั่นเอง เมื่อสุดฝีมือที่จะให้พระราชาพระองค์นั้นทรงพระสรวล ฝูงคนก็พากันระส่ำระสายด้วยประการฉะนี้ ท้าวสักกะทรงทราบเหตุนั้น จึงทรงส่งนักฟ้อนเทวดาไปด้วยพระเทวบัญชาว่า ไปเถิดพ่อเอ๋ย จงทำให้พระมหาปนาทะทรงพระสรวลเสด็จอุฎฐาการ (* ลุกขึ้น) จงได้เถิด เทพนักฟ้อนนั้น

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 440

มายืนอยู่บนอากาศในท้องพระลานหลวง แสดงขบวนฟ้อนที่เรียกว่า อุปัฑฒังคะ มือข้างเดียวเท่านั้น เท้าก็ข้างเดียว ตาก็ข้างเดียว แม้คิ้วก็ข้างเดียว ฟ้อนไป ร่ายรำไป เคลื่อนไหวไป ที่เหลือคงนิ่งไม่หวั่นไหวเลย พระเจ้ามหาปนาททอดพระเนตรเห็นการนั้นแล้ว ทรงพระสรวลหน่อยหนึ่ง แต่มหาชนเมื่อหัวเราะ ก็สุดที่จะกลั้นความขบขันไว้ สุดที่จะดำรงสติไว้ได้ ปล่อยอวัยวะหมดเลย ล้มกลิ้งไปในท้องพระลานหลวง มงคลเป็นอันเลิกได้ตอนนั้น ข้อความที่เหลือในเรื่องนี้ พรรณนาไว้ในมหาปนาทชาดกที่มีคำว่า "ปนาโท นาเมโส ราชา ยสฺส ยูโป สุวณฺณมโย" เป็นต้น.

พระราชามหาปนาททรงกระทำบุญถวายทานเป็นต้น เมื่อสิ้นพระชนม์ ก็เสด็จไปสู่เทวโลกนั่นเอง.

พระศาสดาทรงนำธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า มหาปนาทในครั้งนั้น ได้มาเป็นภัททชิ สุเมธาเทวี ได้มาเป็นวิสาขา วิสสุกรรม ได้มาเป็นอานนท์ ส่วนท้าวสักกะ ได้มาเป็นเราตถาคตแล.

จบอรรถกถาสุรุจิชาดก