พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. ปัญจุโปสถิกชาดก ว่าด้วยรักษาอุโบสถด้วยความคิดต่างๆ กัน

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ส.ค. 2564
หมายเลข  35955
อ่าน  500

[เล่มที่ 60] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 440

๗. ปัญจุโปสถิกชาดก

ว่าด้วยรักษาอุโบสถด้วยความคิดต่างๆ กัน


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 60]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 440

๗. ปัญจุโปสถิกชาดก

ว่าด้วยรักษาอุโบสถด้วยความคิดต่างๆ กัน

[๑๙๕๑] ดูก่อนนกพิราบ เพราะเหตุไร บัดนี้เจ้าจึงมีความขวนขวายน้อย ไม่ต้องการอาหาร อดกลั้นความหิวกระหายมารักษาอุโบสถ.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 441

[๑๙๕๒] แต่ก่อนนี้ข้าพเจ้าบินไปกับนางนกพิราบ เราทั้ง ๒ ชื่นชมยินดีกันอยู่ในป่าประเทศนั้น ทันใดนั้นเหยี่ยวได้โฉบเอานางนกพิราบไปเสีย ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาจะพลัดพรากจากนางไป แต่จำต้องพลัดพรากจากนาง เพราะพลัดพรากจากนาง ข้าพเจ้าได้เสวยเวทนาทางใจ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงรักษาอุโบสถ ด้วยคิดว่า ความรักอย่าได้กลับมาหาเราอีกเลย.

[๑๙๕๓] ดูก่อนงูผู้ไปไม่ตรง เลื้อยไปด้วยอก มีลิ้น ๒ ลิ้น เจ้ามีเขี้ยวเป็นอาวุธ มีพิษร้ายแรง เพราะเหตุไร เจ้าจึงอดกลั้นความหิวกระหายมารักษาอุโบสถ.

[๑๙๕๔] โคของนายอำเภอ กำลังเปลี่ยว มีหนอกกระเพื่อม มีลักษณะงาม มีกำลัง มันได้เหยียบข้าพเจ้า ข้าพเจ้าโกรธจึงได้กัดมัน มันก็ถูกทุกขเวทนาครอบงำ ถึงความตาย ณ ที่นั้นเอง ลำดับนั้นชนทั้งหลายก็พากันออกมาจากบ้านร้องไห้คร่ำครวญ หาได้พากันหลบหลีกไปไม่ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงรักษาอุโบสถ ด้วยคิดว่า ความโกรธอย่าได้มาถึงเราอีกเลย.

[๑๙๕๕] ดูก่อนสุนัขจิ้งจอก เนื้อของคนที่ตายแล้ว มีอยู่ในป่าช้าเป็นอันมาก อาหารชนิดนี้เป็นที่พอใจของเจ้า เพราะเหตุไร เจ้าจึงอดกลั้นความหิวกระหายมารักษาอุโบสถ.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 442

[๑๙๕๖] ข้าพเจ้าได้เข้าไปสู่ท้องช้างตัวใหญ่ ยินดีในซากศพ ติดใจในเนื้อช้าง ลมร้อนและแสงแดดอันกล้าได้แผดเผาทวารหนักของช้างนั้นให้แห้ง ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งผอมทั้งเหลือง ไม่มีทางจะออกได้ ต่อมา มีฝนห่าใหญ่ตกลงมาโดยพลัน ชะทวารหนักของช้างตัวนั้นให้เปียกชุ่ม ดูก่อนท่านผู้เจริญ ทีนั้นข้าพเจ้าจึงออกมาได้ ดังดวงจันทร์พ้นจากปากแห่งราหู ฉะนั้น เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงรักษาอุโบสถ ด้วยคิดว่า ความโลภอย่ามาถึงเราอีกเลย.

[๑๙๕๗] ดูก่อนหมี แต่ก่อนนี้เจ้าขย้ำกินตัวปลวกในจอมปลวก เพราะเหตุไร เจ้าจึงอดกลั้นความหิวกระหายมารักษาอุโบสถเล่า.

[๑๙๕๘] ข้าพเจ้าดูหมิ่นถิ่นที่เคยอยู่ของตน ได้ไปยังปัจจันตคามแคว้นมลรัฐ เพราะความเป็นผู้อยากมากเกินไป ครั้งนั้นชนทั้งหลายก็พากันออกจากบ้าน รุมตีข้าพเจ้าด้วยคันธนู ข้าพเจ้าศีรษะแตกเลือดอาบ ได้กลับมาสู่ถิ่นที่เคยอยู่อาศัยของตน เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงรักษาอุโบสถ ด้วยคิดว่า ความอยากมากเกินไปอย่าได้มาถึงเราอีกเลย.

[๑๙๕๙] ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อความอันใด ท่านก็ได้ถามพวกข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าทั้งหมดก็ได้พยากรณ์ข้อความอันนั้นตามที่ได้รู้เห็นมา ข้าแต่ท่านผู้เป็น

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 443

วงศ์พรหมผู้เจริญ พวกข้าพเจ้าจะขอถามท่านบ้างละ เพราะเหตุไร ท่านจึงรักษาอุโบสถเล่า.

[๑๙๖๐] พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปหนึ่ง ผู้ไม่แปดเปื้อนด้วยกิเลส นั่งอยู่ในอาศรมของฉันครู่หนึ่ง ท่านได้บอกให้ฉันทราบถึงที่ไปที่มา นามโคตรและจรณะทุกอย่าง ถึงอย่างนั้น ฉันก็มิได้กราบไหว้เท้าทั้ง ๒ ของท่าน อนึ่ง ฉันก็มิได้ถามถึงนามและโคตรของท่านเลย เพราะเหตุนั้น ฉันจึงรักษาอุโบสถ ด้วยคิดว่า มานะอย่าได้มาถึงฉันอีกเลย.

จบปัญจุโปสถิกชาดกที่ ๗

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 444

อรรถกถาปัญจอุโปสถชาดก

พระศาสดา เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงพระปรารภอุบาสก ๕๐๐ ผู้รักษาอุโบสถ ตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า "อปฺโปสฺสุโกทานิ ตุวํ กโปต" ดังนี้.

มีเรื่องย่อว่า ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งเหนือพระพุทธอาสน์อันอลงกต ท่ามกลางบริษัทสี่ในธรรมสภา ทอดพระเนตรดูบริษัท ด้วยพระหฤทัยอันอ่อนโยน ทรงทราบว่า วันนี้เทศนาจักตั้งเรื่องขึ้นเพราะอาศัยถ้อยคำแห่งพวกอุบาสกเป็นแท้ จึงตรัสเรียกพวกอุบาสกมา ตรัสถามว่า ดูก่อนอุบาสกทั้งหลาย พวกเธอพากันบำเพ็ญวัตรแห่งผู้รักษาอุโบสถหรือ ครั้นอุบาสกเหล่านั้น กราบทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ตรัสว่า พวกเธอกระทำดีแล้ว อันอุโบสถนี้เป็นเชื้อสายแห่งหมู่บัณฑิตแต่ครั้งก่อน ที่จริงบัณฑิตแต่ครั้งก่อนพากันอยู่จำอุโบสถเพื่อข่มกิเลสมีราคะเป็นต้น อุบาสกเหล่านั้นพากันกราบทูลอาราธนา ทรงนำอดีตนิทานมาดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล ได้มีประเทศอันเป็นดงน่ารื่นรมย์ยิ่งนัก อยู่ระหว่างพรมแดนแห่งแคว้นทั้งสาม มีแคว้นมคธเป็นต้น พระโพธิสัตว์บังเกิดในสกุลพราหมณ์มหาศาลในแคว้นมคธ เจริญวัยแล้ว ละกามทั้งหลาย ปลีกตนเข้าไปสู่ดงนั้น สร้างอาศรมบทบวชเป็นฤาษี พำนักอาศัยอยู่ ก็ในที่ไม่ไกลอาศรมของท่าน นกพิราบกับภรรยาอาศัยอยู่ที่พุ่มไผ่แห่งหนึ่ง งูอาศัยที่จอมปลวกจอมหนึ่ง ที่ละเมาะป่าแห่งหนึ่งหมาจิ้งจอกอาศัยอยู่ ที่ละเมาะป่าอีกแห่งหนึ่งเล่า หมีอาศัยอยู่ ทั้งสี่สัตว์เหล่านั้น ต่างก็เข้าไปหาพระฤาษี ฟังธรรมตามกาลอันเป็นโอกาส อยู่มาวันหนึ่ง นกพิราบกับภรรยาออกจากรังไปหากิน

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 445

เหยี่ยวตัวหนึ่งจับนางนกพิราบตัวบินไปข้างหลังนกพิราบนั้นแล้วบินหนีไป นกพิราบได้ยินเสียงร้องของนางนกพิราบนั้น เหลียวกลับมองดู เห็นนางนกพิราบนั้นกำลังถูกเหยี่ยวนั้นโฉบไป ฝ่ายเหยี่ยวเล่าก็ฆ่านางนกพิราบนั้นทั้งๆ ที่กำลังร้องอยู่นั่นเองตาย แล้วจิกกินเสีย นกพิราบกลุ้มใจเพราะพลัดพรากจากนางนกนั้น ดำริว่า ความรักนี้ทำให้เราลำบากเหลือเกิน คราวนี้เรายังข่มความรักไม่ได้แล้ว จักไม่ขอออกไปหากิน มันตัดขาดทางโคจรเลยไปสู่สำนักพระดาบส สมาทานอุโบสถเพื่อข่มราคะนอนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง.

กล่าวถึงงู คิดจักแสวงหาเหยื่อ ออกจากที่อยู่ เที่ยวแสวงหาเหยื่อ ในสถานเป็นที่เที่ยวไปของแม่โคในบ้านชายแดน ครั้งนั้นโคผู้อันเป็นมงคลขาวปลอดของนายอำเภอ กินหญ้าแล้วก็คุกเข่าที่เชิงจอมปลวกแห่งหนึ่ง เอาเขาขวิดดินเล่นอยู่ งูเล่าก็กลัวเสียงฝีเท้าของแม่โคทั้งหลาย เลื้อยไปเพื่อจะเข้าจอมปลวกนั้น ทีนั้นโคผู้ก็เหยียบมันด้วยเท้า มันโกรธโคนั้นจึงกัด โคผู้ถึงสิ้นชีวิตตรงนั้นเอง พวกชาวบ้านได้ยินข่าวว่า โคผู้ตายแล้ว ทุกคนพากันมารวมกันร้องไห้ บูชาโคผู้ตัวนั้นด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น พากันขุดหลุมฝังแล้วหลีกไป เวลาพวกนั้นพากันกลับแล้ว งูก็เลื้อยออกมา คิดว่า เราอาศัยความโกรธฆ่าโคผู้ตัวนี้เสีย ทำให้มหาชนพากันเศร้าโศก ทีนี้เราข่มความโกรธนี้ไม่ได้แล้ว จักไม่ออกหากินละ กลับไปสู่อาศรมนั้น นอนสมาทานอุโบสถเพื่อข่มความโกรธ.

ฝ่ายหมาจิ้งจอกเที่ยวแสวงหาอาหาร เห็นช้างตายตัวหนึ่ง ดีใจว่าเราได้เหยื่อชิ้นใหญ่แล้ว วิ่งไปกัดที่งวง ได้เป็นเหมือนเวลากัดเสา ไม่ได้ความยินดีที่ตรงงวงนั้น กัดงาต่อไป ได้เป็นอย่างแกะแท่นหิน ปรี่เข้ากัดท้อง ได้เป็นอย่างกระด้ง ตรงเข้ากัดหาง ได้เป็นอย่างกัดสาก กรากเข้ากัดช่องทวารหนัก ได้เป็นเหมือนกับขนมหวาน มันตั้งหน้าขย้ำอยู่ด้วยอำนาจความโลภ เลยเข้าไปภายใน

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 446

ท้อง เวลาหิวก็กินเนื้อในท้องนั้น เวลากระหายก็ดื่มเลือด เวลานอนก็นอนทับไส้และปอด มันคิดว่าทั้งข้าวทั้งน้ำมีเสร็จแล้วในที่นี้ทีเดียว กูจักทำอะไรในแห่งอื่นเล่า แสนรื่นรมย์อยู่ในท้องช้างนั้นแห่งเดียว ไม่ออกข้างนอกเลย คงอยู่ในท้องช้างเท่านั้น จำเนียรกาลต่อมา ซากช้างก็แห้งด้วยลมและแดด ช่องทวารหนักก็ปิด หมาจิ้งจอกนอนอยู่ภายในท้อง กลับมีเนื้อและเลือดน้อย ร่างกายผ่ายผอมมองไม่เห็นทางออกได้ ครั้นวันหนึ่ง เมฆมิใช่ฤดูกาลให้ฝนตก ช่องทวารหนักชุ่มชื้นอ่อนตัว ปรากฏช่องให้เห็น หมาจิ้งจอกพอเห็นช่อง คิดว่า กูลำบากนานนัก ต้องหนีออกช่องนี้จงได้ แล้วเอานิ้วดันช่องทวารหนัก เมื่อมันมีสรีระยุ่ยดันออกจากที่แคบโดยเร็ว ขนเลยติดอยู่ที่ช่องทวารหนักหมด มันมีตัวโล้นเหมือนจาวตาลหลุดออกมาได้ มันคิดว่า เพราะอาศัยความโลภ กูต้องเสวยทุกข์นี้ ทีนี้กูข่มความโลภไม่ได้ จักไม่ขอหากินละ ไปสู่อาศรมนั้น สมาทานอุโบสถ เพื่อข่มความโลภนอนอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง.

กล่าวถึงหมีออกจากป่าแล้ว ถูกความอยากยิ่งครอบงำ จึงไปสู่บ้านชายแดนในแคว้นมัลละ พวกชาวบ้านได้ยินว่า หมีมาแล้ว ต่างถือธนูและพลองเป็นต้นพากันออกไปล้อมละเมาะที่หมีนั้นเข้าไป มันรู้ว่าถูกมหาชนล้อมไว้ จึงออกหนี เมื่อมันกำลังหนีอยู่นั้นเอง ฝูงชนพากันยิงด้วยธนู ตีด้วยพลอง มันหัวแตกเลือดไหลอาบไปที่อยู่ของตน ได้คิดว่า ทุกข์นี้เกิดเพราะอำนาจความโลภ คือความอยากยิ่งของกู ทีนี้กูข่มความโลภ คือความอยากยิ่งนี้ไว้มิได้แล้ว จักไม่หากินละ ไปสู่อาศรมนั้น สมาทานอุโบสถ เพื่อข่มความอยากยิ่ง หมอบอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง.

ฝ่ายดาบสเล่า ก็อาศัยชาติของตน ตกไปในอำนาจมานะ ไม่สามารถจะยังฌานให้บังเกิดได้ ครั้งนั้นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ทราบความที่ดาบสนั้นมีมานะ ดำริว่า สัตว์ผู้นี้มิใช่อื่นเลย ที่แท้เป็นหน่อ

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 447

เนื้อแห่งพระพุทธเจ้า จักบรรลุความเป็นพระสัพพัญญูในกัลป์นี้เองแหละ เราต้องกระทำการข่มมานะของสัตว์นี้เสียแล้ว กระทำให้สมาบัติบังเกิดจงได้ จึงมาจากป่าหิมพานต์ตอนเหนือ ขณะเมื่อดาบสนั้นกำลังนอนอยู่ในบรรณศาลานั้นเอง นั่งเหนือแผ่นกระดานหินของดาบสนั้น ดาบสนั้นออกมาเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นนั่งเหนืออาสนะของตน ก็ขุ่นใจเพราะความมีมานะ ปรี่เข้าไปหาท่านแล้วตบมือตวาดว่า ฉิบหายเถิด ไอ้ถ่อย ไอ้กาลกรรณี ไอ้สมณะหัวโล้น มึงมานั่งเหนือแผ่นกระดานของกูทำไม.

ครั้งนั้นพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นกล่าวกะท่านว่า พ่อคนดี เหตุไร พ่อจึงมีแต่มานะ ข้าพเจ้าบรรลุปัจเจกพุทธญาณแล้วนะ ในกัลป์นี้เอง พ่อก็จักเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า พ่อเป็นหน่อเนื้อพระพุทธเจ้านะ พ่อบำเพ็ญบารมีมาแล้ว รอกาลเพียงเท่านี้ ข้างหน้าผ่านไป จักเป็นพระพุทธเจ้า พ่อดำรงในความเป็นพระพุทธเจ้าจักมีชื่อว่า สิทธัตถะ บอกนามตระกูลโคตรและพระอัครสาวกเป็นต้นแล้วได้ประทานโอวาทว่า พ่อยังจะมัวเอาแต่มานะ เป็นคนหยาบคาย เพื่ออะไรเล่า นี้ไม่สมควรแก่พ่อเลย ดาบสนั้นแม้เมื่อท่านกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็ยังคงไม่ไหว้ท่านอยู่นั่นเอง มิหนำซ้ำไม่ถามเสียด้วยว่า ข้าจักเป็นพระพุทธเจ้าเมื่อไร ครั้นพระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวว่า เธอไม่รู้ถึงความใหญ่หลวงแห่งชาติและความใหญ่โตแห่งคุณของเรา หากเธอสามารถ ก็จงเที่ยวไปในอากาศเหมือนเรา แล้วเหาะไปในอากาศ โปรยฝุ่นที่เท้าของตนลงในมณฑลชฎาของดาบสนั้น ไปสู่หิมพานต์ตอนเหนือดังเดิม พอท่านไปแล้ว ดาบสถึงสลดใจคิดว่า ท่านผู้นี้เป็นสมณะเหมือนกัน มีสรีระหนัก ไปในอากาศได้ดุจปุยนุ่นที่ทิ้งไปในช่องลม เพราะถือชาติ เรามิได้กราบเท้าทั้งคู่ของพระปัจเจกพุทธเจ้าเห็นปานฉะนี้ มิหนำซ้ำไม่ถามเสียด้วยว่า เราจักเป็นพระพุทธเจ้าเมื่อไร ขึ้นชื่อว่า ชาตินี้ จักกระทำ

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 448

อะไรได้ ศีลและจรณะเท่านั้นเป็นใหญ่ในโลกนี้ ก็แต่ว่ามานะของเรานี้แล จำเริญอยู่ จักพาไปหานรกได้ ทีนี้เรายังข่มมานะนี้มิได้แล้วจักไม่ไปหาผลาผล เข้าสู่บรรณศาลา สมาทานอุโบสถ เพื่อข่มมานะเสีย นั่งเหนือกระดานเลียบ เป็นกุลบุตรผู้มีญาณใหญ่ ข่มมานะเสียได้ เจริญกสิณ ยังอภิญญาและสมาบัติ ๘ ให้บังเกิดได้แล้ว จึงออกไปนั่งที่แผ่นกระดานหินท้ายที่จงกรม ครั้งนั้นสัตว์มีนกพิราบเป็นต้น พากันเข้าไปหาท่าน ไหว้แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง พระมหาสัตว์จึงถามนกพิราบว่า ในวันอื่นๆ เจ้าไม่ได้มาเวลานี้ เจ้าคงไม่ได้หาอาหาร ในวันนี้เจ้าเป็นผู้รักษาอุโบสถหรือไฉนเล่า นกพิราบกราบเรียนว่า ขอรับกระผม ครั้งนั้นเมื่อท่านจะถามมันว่า ด้วยเหตุไรเล่า กล่าวคาถาเป็นประถมว่า.

"ดูก่อนนกพิราบ เพราะเหตุไร บัดนี้เจ้าจึงมีความขวนขวายน้อย ไม่ต้องการอาหาร อดกลั้นความหิวกระหายมารักษาอุโบสถ".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปฺโปสฺสุโก ได้แก่ ผู้ปราศจากความอาลัย.

บทว่า น ตุว ความว่า วันนี้ท่านไม่มีความต้องการด้วยโภชนะ.

นกพิราบได้ฟังดังนั้นแล้ว ได้กล่าว ๒ คาถาว่า

"แต่ก่อนนี้ข้าพเจ้าบินไปกับนางนกพิราบ เราทั้ง ๒ ชื่นชมยินดีกันอยู่ในป่าประเทศนั้น ทันใดนั้นเหยี่ยวได้โฉบนางนกพิราบไปเสีย ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาจะพลัดพรากจากนางไป แต่จำต้องพลัดพรากจากนาง เพราะพลัดพรากจากนาง ข้าพเจ้าได้เสวยเวทนาทางใจ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงรักษาอุโบสถ ด้วยคิดว่า ความรักอย่าได้กลับมาหาเราอีกเลย".

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 449

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า รมาม ความว่า พวกเราย่อมยินดีด้วยความยินดีในกาม.

บทว่า สากุณิโก แปลว่า นกเหยี่ยว.

เมื่อนกพิราบแถลงอุโบสถกรรมของตนแล้ว พระมหาสัตว์จึงถามงู เป็นต้นทีละตัวๆ แม้สัตว์เหล่านั้นก็พากันแถลงความจริง เมื่อจะถามงู ท่านกล่าวว่า.

"ดูก่อนผู้ไปไม่ตรง เลื้อยไปด้วยอก มีลิ้น ๒ ลิ้น เจ้ามีเขี้ยวเป็นอาวุธ มีพิษร้ายแรง เพราะเหตุไร เจ้าจึงอดกลั้นความหิวกระหายมารักษาอุโบสถ".

งูกล่าวว่า.

"โคของนายอำเภอ กำลังเปลี่ยว มีหนอกกระเพื่อม มีลักษณะงาม มีกำลัง มันได้เหยียบข้าพเจ้า ข้าพเจ้าโกรธจึงได้กัดมัน มันก็ถูกทุกขเวทนาครอบงำ ถึงความตาย ณ ที่นั้น ลำดับนั้นชนทั้งหลายก็พากันออกมาจากบ้านร้องไห้คร่ำครวญ หาได้พากันหลบหลีกไปไม่ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงได้รักษาอุโบสถ ด้วยคิดว่า ความโกรธอย่าได้มาถึงเราอีกเลย".

พระมหาสัตว์เมื่อจะถามสุนัขจิ้งจอก จึงกล่าวคาถาว่า.

"ดูก่อนสุนัขจิ้งจอก เนื้อของคนที่ตายแล้ว อยู่ในป่าช้าเป็นอันมาก อาหารชนิดนี้เป็นที่พอใจของเจ้า เพราะเหตุไร เจ้าจึงอดกลั้นความกระหายมารักษาอุโบสถ".

สุนัขจิ้งจอกกล่าวว่า.

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 450

"ข้าพเจ้าได้เข้าไปสู่ท้องช้างตัวใหญ่ ยินดีในซากศพ ติดใจในเนื้อช้าง ลมร้อนและแสงแดดอันกล้าได้แผดเผาทวารหนักช้างนั้นให้แห้ง ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งผอมทั้งเหลือง ไม่มีทางจะออกได้ ต่อมามีฝนห่าใหญ่ตกลงมาโดยพลัน ชะทวารหนักของช้างนั้นให้เปียกชุ่ม ดูก่อนท่านผู้เจริญ ทีนั้น ข้าพเจ้าจึงออกมาได้ดั่งดวงจันทร์พ้นจากปากราหู ฉะนั้น เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงรักษาอุโบสถ ด้วยคิดว่า ความโลภอย่ามาถึงเราอีกเลย".

เมื่อจะถามหมีจึงกล่าวว่า.

"ดูก่อนหมี แต่ก่อนนี้ เจ้าขยี้กินตัวปลวกในจอมปลวก เพราะเหตุไร เจ้าจึงอดกลั้นความหิวกระหายมารักษาอุโบสถเล่า".

หมีกล่าวว่า

"ข้าพเจ้าดูหมิ่นถิ่นที่เคยอยู่ของตน ได้ไปยังปัจจันตคามแคว้นมลรัฐ เพราะความเป็นผู้อยากมากเกินไป ครั้งนั้นชนทั้งหลายก็พากันออกจากบ้าน รุมตีข้าพเจ้าด้วยคันธนู ข้าพเจ้าศีรษะแตกเลือดอาบ ได้กลับมาอยู่ถิ่นที่เคยอยู่อาศัยของตน เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงรักษาอุโบสถ ด้วยคิดว่า ความอยากมากเกินไปอย่าได้มาถึงเราอีกเลย".

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 451

ในคาถานั้น พระมหาสัตว์เรียกงูนั้น ด้วยคำว่า อนุชฺชคามิ เป็นต้น.

บทว่า จลกฺกกุโธ ความว่า โคนั้นมีหนอกกระเพื่อม.

บทว่า ทุกฺขาภิตนฺโน ความว่า โคนั้นถูกทุกข์บีบคั้นยิ่งนัก กระสับกระส่าย.

บทว่า พหู แปลว่า มาก.

บทว่า ปาวิสํ แปลว่า เข้าไปแล้ว.

บทว่า รสฺมิโย แปลว่า แสงแห่งพระอาทิตย์ (แสงแดด).

บทว่า นิกฺขมิสฺสํ แปลว่า ออกไปแล้ว.

บทว่า กิปิลฺลิกานิ แปลว่า ปลวกทั้งหลาย.

บทว่า นิปฺโปถยนฺโต แปลว่า ขยี้ขยำ.

บทว่า อติเหฬยาโน แปลว่า ดูหมิ่น นินทา ติเตียน.

บทว่า โกทณฺฑเกน ได้แก่ ด้วยไม้คันธนูและไม้พลอง.

ครั้นสัตว์ทั้ง ๔ นั้น พรรณนาอุโปสถกรรมของตนอย่างนี้แล้ว ก็ชวนกันลุกขึ้นไหว้พระมหาสัตว์ เมื่อจะถามบ้างว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ วันอื่นๆ ในเวลานี้ พระคุณเจ้าเคยไปหาผลาผล วันนี้ เหตุไร พระคุณเจ้าจึงไม่ไป กระทำอุโปสถกรรมอยู่ จึงกล่าวคาถาว่า.

"ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อความอันใด ท่านก็ได้ถามพวกข้าพเจ้า ข้าพเจ้าทั้งหมดก็ได้พยากรณ์ข้อความอันนั้นตามที่ได้รู้เห็นมา ข้าแต่ท่านผู้เป็นวงศ์พรหมผู้เจริญ พวกข้าพเจ้าจะขอถามท่านบ้างละ เพราะเหตุไร ท่านจึงรักษาอุโบสถเล่า".

ฝ่ายพระโพธิสัตว์นั้น ก็แถลงแก่พวกนั้นว่า.

"พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปหนึ่ง ผู้ไม่แปดเปื้อนด้วยกิเลส นั่งอยู่ในอาศรมของฉันครู่หนึ่ง ท่านได้บอกให้ฉันทราบถึงที่ไปที่มา นามโคตรและจรณะทุกอย่าง ถึงอย่างนั้น ฉันก็มิได้กราบไหว้เท้าทั้ง ๒ ของท่าน

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 452

อนึ่ง ฉันก็มิได้ถามถึงนามและโคตรของท่านเลย เพราะเหตุนั้น ฉันจึงรักษาอุโบสถ ด้วยคิดว่ามานะอย่าได้มาถึงฉันอีกเลย".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยํ โน ความว่า ท่านได้ถามถึงความใดกะพวกข้าพเจ้า.

บทว่า ยถาปชานํ ความว่า พวกข้าพเจ้าได้แถลงเรื่องนั้น ตามที่ตนได้รู้มา.

บทว่า อนูปลิตฺโต ความว่า อันกิเลสทุกอย่างจะไม่เข้าไปไล้ทาจิตได้เลย.

บทว่า โส มํ อเวทิ ความว่า ท่านได้บอกให้ทราบ ข้ารู้ แสดงแก่ข้าทุกอย่าง ถึงฐานะที่ข้าควรดำเนิน ฐานะที่ข้าดำเนินไปแล้วในบัดนี้ และเรื่องนามโคตรและจรณะของข้าในอนาคต เช่นนี้ว่า เธอจักมีนามอย่างนี้ จักมีโคตรอย่างนี้ เธอจักมีศีลและจรณะเห็นปานนี้.

บทว่า เอวมหํ นิคฺคหิํ ความว่า เมื่อท่านแสดงถึงอย่างนี้ ข้ามิได้กราบบาทยุคลของท่าน เพราะอาศัยมานะของตน.

พระมหาสัตว์แถลงการกระทำอุโบสถของตนอย่างนี้แล้ว ตักเตือนสัตว์เหล่านั้นแล้วส่งไป กลับเข้าบรรณศาลา สัตว์เหล่านั้นเล่าต่างพากันไปที่อยู่ของตน พระมหาสัตว์มีฌานไม่เสื่อม ได้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า สัตว์พวกนั้นตั้งอยู่ในโอวาทของท่าน ได้ไปสวรรค์ตามๆ กัน.

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้ ตรัสย้ำว่า อุบาสกทั้งหลาย อันอุโบสถนี้เป็นเชื้อแถวแห่งหมู่บัณฑิตแต่เก่าก่อนด้วยประการฉะนี้ อุโบสถเป็นอันควรจะบำเพ็ญ.

แล้วทรงประชุมชาดกว่า นกพิราบในครั้งนั้น ได้มาเป็นอนุรุทธะ หมี ได้มาเป็นกัสสปะ หมาจิ้งจอก ได้มาเป็นโมคคัลลานะ งู ได้มาเป็นสารีบุตร ส่วนดาบส ได้มาเป็นเราตถาคตแล.

จบอรรถกถาปัญจอุโบสถชาดก