พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. มหาโมรชาดก ว่าด้วยพญานกยูงพ้นจากบ่วง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ส.ค. 2564
หมายเลข  35956
อ่าน  445

[เล่มที่ 60] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 453

๘. มหาโมรชาดก

ว่าด้วยพญานกยูงพ้นจากบ่วง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 60]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 453

๘. มหาโมรชาดก

ว่าด้วยพญานกยูงพ้นจากบ่วง

[๑๙๖๑] ดูก่อนสหาย ก็ถ้าแหละท่านจับข้าพเจ้า เพราะเหตุแห่งทรัพย์แล้ว ท่านอย่าฆ่าข้าพเจ้าเลย จงจับเป็นนำข้าพเจ้าไปถวายพระราชาเถิด เข้าใจว่าท่านจะได้ทรัพย์ไม่ได้น้อยเลย.

[๑๙๖๒] เราผูกสอดลูกธนูใส่เข้าในแล่ง มิได้หมายมั่นว่าจะฆ่าท่านในวันนี้เลย แต่เราจักตัดบ่วงที่ผูกรัดเท้าท่าน พญานกยูงจงไปตามสบายเถิด.

[๑๙๖๓] เหตุไร ท่านจึงเพียรดักข้าพเจ้ามาถึง ๗ ปี สู้อดกลั้นความหิวกระหายทั้งกลางคืนและกลางวัน เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านปรารถนาจะปลดปล่อยข้าพเจ้าผู้ติดบ่วงเสียจากบ่วงเพื่ออะไร วันนี้ ท่านงดเว้นจากปาณาติบาตหรือ หรือว่าท่านให้อภัยในสัตว์ทั้งปวง เหตุไร ท่านจึงปรารถนาจะปลดปล่อยข้าพเจ้าผู้ติดบ่วงออกจากบ่วงเสียเล่า.

[๑๙๖๔] ดูก่อนพญานกยูง ขอท่านจงบอกว่า ผู้ใดเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต และให้อภัยในสัตว์ทั้งปวง ข้าพเจ้าขอถามความข้อนั้นกะท่าน ผู้นั้นจุติจากโลกนี้แล้วจะได้ความสุขอะไร.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 454

[๑๙๖๕] ข้าพเจ้าขอบอกว่า ผู้ใดเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต และให้อภัยในสัตว์ทั้งปวง ผู้นั้นย่อมได้รับความสรรเสริญในปัจจุบัน และเมื่อตายไปย่อมไปสู่สวรรค์.

[๑๙๖๖] สมณพราหมณ์พวกหนึ่งกล่าวว่า เทวดาทั้งหลายไม่มี ชีพย่อมเข้าถึงความดับสูญในโลกนี้ ผลของกรรมดีและกรรมชั่วก็ไม่มีเหมือนกัน และกล่าวว่า ทานอันคนโง่บัญญัติไว้ ข้าพเจ้าเชื่อถ้อยคำของพระอรหันต์เหล่านั้น ฉะนั้น จึงเบียดเบียนนกทั้งหลาย.

[๑๙๖๗] ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ทั้ง ๒ เห็นกันได้ง่ายๆ ส่องสว่างไปในอากาศ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ทั้ง ๒ นั้น อยู่ในโลกนี้หรือในโลกอื่น สมณพราหมณ์เหล่านั้น กล่าวถึงดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ในมนุษยโลก อย่างไรหรือ.

[๑๙๖๘] ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ทั้ง ๒ เห็นกันได้ง่ายๆ ส่องสว่างไปในอากาศ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ทั้ง ๒ นั้น มีอยู่ในโลกอื่น ไม่มีในโลกนี้ สมณพราหมณ์เหล่านั้น กล่าวถึงดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ว่าเป็นเทวดาในมนุษยโลก.

[๑๙๖๙] สมณพราหมณ์เหล่าใด มีวาทะว่าหาเหตุมิได้ ไม่กล่าวถึงกรรม ไม่กล่าวถึงผลแห่งกรรมดี

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 455

กรรมชั่ว และกล่าวถึงทานว่าคนโง่บัญญัติไว้ สมณพราหมณ์เหล่านั้น เป็นผู้มีวาทะเลวทราม ถูกท่านกำจัดเสียแล้ว เพราะการพยากรณ์นี้แหละ.

[๑๙๗๐] คำของท่านนี้เป็นคำจริงแท้ทีเดียว ไฉนทานจะไม่พึงมีผลเล่า ผลของกรรมดีกรรมชั่วก็เหมือนกัน ไฉนจะไม่มีผล อนึ่ง ทานนี้จะว่าคนโง่บัญญัติขึ้นอย่างไรได้ ดูก่อนพญานกยูง ข้าพเจ้าจะทำอย่างไร จะทำอะไร ประพฤติอะไร เสพสมาคมอะไร ด้วยตบะคุณอะไร อย่างไรจึงจะไม่ต้องไปตกนรก ขอท่านจงบอกเนื้อความนี้แก่ข้าพเจ้าเถิด.

[๑๙๗๑] มีสมณะเหล่าใดเหล่าหนึ่ง นุ่งห่มผ้าย้อมด้วยน้ำฝาด ประพฤติเป็นผู้ไม่มีเรือน เที่ยวไปบิณฑบาตในเวลาเช้าในกาล เว้นจากการเที่ยวไปในเวลาวิกาล ผู้สงบระงับ มีอยู่ในแผ่นดินนี้แน่ ท่านจงเข้าไปหาสมณะเหล่านั้นในเวลาอันควร ณ ที่นั้น แล้วจงถามข้อความตามความพอใจของท่าน สมณะเหล่านั้นก็จะชี้แจงประโยชน์โลกนี้และโลกหน้าให้แก่ท่าน ตามความรู้ความเห็น.

[๑๙๗๒] ความเป็นพรานนี้ เราละได้แล้ว เหมือนงูลอกคราบเก่าของตน หรือเหมือนต้นไม้อันเขียวชอุ่มผลัดใบเหลืองทิ้ง ฉะนั้น วันนี้เราละความเป็นพรานได้.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 456

[๑๙๗๓] อนึ่ง มีนกเหล่าใดที่เราขังไว้ในนิเวศน์ ประมาณหลายร้อย วันนี้เราให้ชีวิตแก่นกเหล่านั้น ขอนกเหล่านั้นจงพ้นจากการกักขัง ไปสู่สถานที่อยู่เดิมของตนเถิด.

[๑๙๗๔] นายพรานถือบ่วงเที่ยวไปในราวป่า เพื่อดักพญานกยูงตัวเรืองยศ ครั้นดักพญานกยูงตัวเรืองยศได้แล้ว ก็ได้พ้นจากทุกข์เหมือนเราพ้นแล้ว ฉะนั้น.

จบมหาโมรชาดกที่ ๘

อรรถกถามหาโมรชาดก

พระศาสดาเสด็จประทับ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงพระปรารภ ภิกษุผู้กระสันรูปหนึ่ง ตรัสเรื่องนี้มีคำเริ่มต้นว่า "สเจ หิ ตฺยาหํ ธนเหตุ คหิโต" ดังนี้.

เรื่องย่อมีว่า พระศาสดาตรัสถามภิกษุนั้นว่า จริงหรือ ที่ข่าวว่าเธอกระสันจะสึก ครั้นเธอรับสารภาพว่า จริงพระเจ้าข้า ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ความกำหนัดด้วยความสามารถชื่นใจนี้ ไฉนจักไม่ให้บุคคลอย่างเธอวุ่นวายได้เล่า มีอย่างหรือ ลมที่จะสามารถพลิกภูเขาสุเนรุได้ ไม่ทำให้ใบไม้เก่าๆ ใกล้ๆ กระจัดกระเจิงไป ในปางก่อนนั่นนะ แม้สัตว์ผู้บริสุทธิ์คอยหักห้ามความฟุ้งซ่านของกิเลสในภายในอยู่ ๗๐๐ ปี ก็ยังโดนความกำหนัดด้วยสามารถความชื่นใจนี้ ทำให้วุ่นวายได้เลย ทรงนำอดีตนิทานมาดังต่อไปนี้.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 457

ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ ณ พระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้ถือปฏิสนธิในท้องนางนกยูงในประเทศชายแดน เมื่อครรภ์แก่เต็มที่แล้ว นางนกยูงผู้มารดาตกฟอง ณ ที่หากิน แล้วบินไป ก็ธรรมดาว่าฟองไข่ เมื่อมารดาไม่มีโรคและไม่มีอันตรายอื่นๆ เป็นต้นว่าทีฆชาติ (* งู) รบกวน ย่อมไม่เสีย เหตุนั้น ฟองไข่นั้นจึงเป็นเหมือนดอกกรรณิการ์ตูมๆ มีสีเหมือนสีทอง เมื่อเวลาครบกำหนดก็แตกโดยธรรมดาของตน ลูกนกยูงมีสีเป็นทองออกมาแล้ว ลูกนกยูงทองนั้น มีนัยน์ตาทั้งคู่คล้ายผลกระพังโหม มีจะงอยปากสีเหมือนแก้วประพาฬ มีสร้อยสีแดงสามชั้นวงรอบคอผ่านไปกลางหลัง ครั้นยูงทองเจริญวัย มีร่างกายเติบใหญ่ขนาดดุมเกวียน รูปงามยิ่งนัก ฝูงนกยูงเขียวๆ ทั้งหมดประชุมกันยกให้นกยูงทองเป็นเจ้านาย พากันแวดล้อมเป็นบริวาร วันหนึ่งนกยูงทองดื่มน้ำในกระพังน้ำ เห็นรูปสมบัติของตน คิดว่า เรามีรูปงามล้ำเลิศกว่านกยูงทั้งหมด ถ้าเราจักอยู่ในแดนมนุษย์กับฝูงนกยูงเหล่านี้ อันตรายคงบังเกิดแก่เรา เราต้องไปป่าหิมพานต์อาศัยอยู่ ณ ที่อันสำราญลำพังผู้เดียวจึงจะดี เมื่อฝูงนกยูงพากันแนบรังนอนในราตรีกาล ก็มิได้บอกให้ใครรู้เลย โผขึ้นบินเข้าป่าหิมพานต์ ผ่านทิวเขาไป ๓ ทิวถึงทิวที่ ๔ มีสระธรรมชาติขนาดใหญ่ดาดาษไปด้วยปทุมอยู่ในป่าตอนหนึ่ง ไม่ไกลสระนั้น มีต้นไทรใหญ่เกิดอาศัยภูเขาลูกหนึ่ง ก็ลงเร้นกายที่กิ่งไทรนั้น อนึ่งเล่า ที่ตรงกลางภูเขานั้นยังมีถ้ำอันน่าเจริญใจ พญายูงทองมุ่งจะอยู่ในถ้ำนั้นจึงลงเกาะที่พื้นภูเขาตรงหน้าถ้ำนั้น ก็แลที่ตรงนั้น ผู้อยู่ข้างล่างไม่อาจขึ้นไปได้เลย ผู้อยู่ข้างบนเล่าก็ไม่อาจลงไปได้ เป็นที่ปลอดภัยจากแมว งู มนุษย์ พญานกยูงทอง ดำริว่า ตรงนี้เป็นที่อันสำราญของเรา คงพักอยู่ตรงนั้นเองตลอดวันนั้น ต่อรุ่งขึ้นก็ลุกออกจากถ้ำ เกาะที่ยอดเขา หันหน้าไปทางทิศ

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 458

ตะวันออก เห็นสุริยมณฑลกำลังอุทัย ก็สวดปริตรเพื่อขอความคุ้มครองป้องกันตนในเวลากลางวันว่า อุเทตยญฺจกฺขุมา เอกราชา (พระเจ้าองค์เอก ทรงพระจักษุพระองค์นี้ กำลังอุทัย) ดังนี้เป็นต้น แล้วร่อนลง ณ ที่หากิน เที่ยวหากิน ตอนเย็นจึงมาเกาะที่ยอดเขา บ่ายหน้าทางทิศตะวันตก เพ่งดูสุริยมณฑลอันอัสดง สวดพระปริตรเพื่อขอความคุ้มครองป้องกันในเวลากลางคืนว่า อเปตยญฺจกฺขุมา เอกราชา (พระเจ้าองค์เอก ทรงพระจักษุพระองค์นี้ กำลังเสด็จลับไป) ดังนี้เป็นต้น พำนักอยู่ด้วยอุบายนี้.

ครั้น ณ วันหนึ่ง ลูกนายพรานผู้หนึ่งท่องเที่ยวไปในราวป่า เห็นพญายูงทองนั้นจับอยู่เหนือยอดเขา จึงมาที่อยู่ของตน เมื่อจวนจะตายบอกลูกไว้ว่า พ่อเอ๋ย ในราวป่าตรงทิวเขาที่ ๔ มีนกยูงทอง ถ้าพระราชาตรัสถาม ก็กราบทูลให้ทรงทราบ อยู่มาวันหนึ่ง พระอัครมเหสีของพระเจ้าพาราณสี ทรงพระนามว่า เขมา ทรงเห็นพระสุบินในเวลาใกล้รุ่ง พระสุบินได้มีเรื่องราวอย่างนี้ นกยูงมีสีเหมือนสีทองกำลังแสดงธรรม พระนางทรงให้ สาธุการ สดับธรรม นกยูงครั้นแสดงธรรมเสร็จ ก็ลุกขึ้นบินไป พระนางทอดพระเนตรเห็นพญายูงทองกำลังบินไป ก็ตรัสสั่งให้คนทั้งหลายช่วยกันจับพญานกยูงนั้นให้ได้ ขณะที่กำลังตรัสอยู่นั่นแหละ ทรงตื่นเสีย ครั้นทรงตื่นแล้วจึงทรงทราบว่าเป็นความฝัน ทรงดำริต่อไปว่า ครั้นจะกราบทูลว่าฝันไป ที่ไหนพระราชาจะทรงเอาพระหฤทัยเอื้อเฟื้อ แล้วทรงบรรทมประหนึ่งทรงแพ้พระครรภ์ ครั้งนั้น พระราชาเสด็จเข้ามาใกล้พระนางตรัสถามว่า นางผู้เจริญใจ เธอไม่สบายเป็นอะไรไปเล่า กราบทูลว่า ความแพ้ครรภ์บังเกิดขึ้นแก่หม่อมฉัน พระเจ้าค่ะ ตรัสถามว่า เธอต้องการสิ่งใดเล่าจ๊ะ นางผู้เจริญ กราบทูลว่า ข้าแต่ทูลกระหม่อม เกล้ากระหม่อมฉันปรารถนาจะฟังธรรมของพญานกยูงทอง พระเจ้าค่ะ รับสั่งว่า นางผู้เจริญใจเอ๋ย ฉันจักหาพญายูงทองอย่างนี้ได้จากไหนเล่า

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 459

กราบทูลว่า ข้าแต่ทูลกระหม่อม แม้เกล้ากระหม่อมฉันมิได้สมปรารถนา ชีวิตของเกล้ากระหม่อมฉันเป็นอันไม่มีละ พระเจ้าค่ะ ตรัสปลอบว่า นางผู้เจริญใจ อย่าเสียใจเลยนะ ถ้ามันมีอยู่ ณ ที่ไหน เธอต้องได้แน่นอน แล้วเสด็จประทับนั่งเหนือพระราชอาสน์ ตรัสถามหมู่อำมาตย์ว่า แน่ะพ่อเอ๋ย เทวีปรารถนาจะฟังธรรมของนกยูงทอง อันนกยูงมีสีเหมือนสีทองน่ะ มีอยู่หรือไม่ พวกอำมาตย์กราบทูลว่า ขอเดชะ พวกพราหมณ์คงจักทราบ พระเจ้าข้า พระราชาตรัสให้หาพวกพราหมณ์มาเฝ้าแล้วมีพระดำรัสถาม พวกพราหมณ์พากันกราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระมหาราช สัตว์เดียรัจฉานเหล่านั้น คือในจำพวกสัตว์น้ำ ปลา เต่า ปู ในจำพวกสัตว์บก มฤค หงส์ นกยูง นกกระทา มีสีเหมือนสีทอง มีอยู่ แม้มนุษย์ทั้งหลายเล่า ก็มีสีเหมือนสีทองมีอยู่ ทั้งนี้ มีมาในคัมภีร์ลักษณมนต์ของข้าพระองค์ทั้งหลาย พระเจ้าข้า.

พระราชาทรงเรียกพวกบุตรพรานในแว่นแคว้นของพระองค์มาประชุมกัน รับสั่งว่า นกยูงทองพวกเธอเคยเห็นบ้างไหม คนที่บิดาเคยเล่าให้ฟังกราบทูลว่า ถึงข้าพระองค์จะไม่เคยเห็น แต่บิดาของข้าพระองค์บอกไว้ว่า นกยูงทองมีอยู่ในสถานที่ตรงโน้น พระเจ้าข้า ครั้งนั้นพระราชาตรัสกะเขาว่า สหายเอ๋ย เธอจักเป็นคนให้ชีวิตแก่ฉันและเทวีได้ละ เพราะฉะนั้น เธอจงไปที่นั้น จับมัดนกยูงทองนั้นนำมาเถิด ประทานทรัพย์เป็นอันมากส่งไป เขาให้ทรัพย์แก่ลูกเมีย แล้วไป ณ ที่นั้น เห็นพระมหาสัตว์ ก็ทำบ่วงดักรอว่า วันนี้คงติด วันนี้คงติด ก็ไม่ติดสักที จนตายไป พระเทวีเล่าเมื่อไม่ได้ดังพระปรารถนา ก็สิ้นพระชนม์ไป พระราชาทรงกริ้วว่า เพราะอาศัยนกยูงทองตัวนี้เป็นเหตุ เมียรักของเราต้องสิ้นพระชนม์ ทรงมีพระหฤทัยเป็นไปในอำนาจแห่งเวร ทรงให้จารึกไว้ในแผ่นทองว่า ที่ทิวเขาที่สี่ในป่าหิมพานต์ มีนกยูงทองอาศัยอยู่ บุคคลได้กินเนื้อ

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 460

ของยูงทองแล้วนั้น จะไม่แก่ไม่ตาย แล้วบรรจุหนังสือนั้นไว้ในหีบไม้แก่น เสด็จสวรรคตไป ครั้นกษัตริย์องค์อื่นได้เป็นพระราชาแล้ว ท้าวเธอทอดพระเนตรเห็นอักษรในแผ่นทองก็ทรงดำริว่า เราจักเป็นผู้ไม่แก่ไม่ตาย ทรงส่งให้พรานผู้หนึ่งไปเพื่อจับพญายูงทองนั้น แม้พรานผู้นั้น ก็ตายเสียที่นั้นดุจกัน โดยทำนองนี้ ล่วงไปถึง ๖ รัชกาลแล้ว ลูกพรานทั้ง ๖ ตายในป่าหิมพานต์นั้นเอง ถึงพรานคนที่ ๗ ซึ่งพระราชาองค์ที่ ๗ ทรงใช้ไป คิดว่า เราจักจับนกยูงทองนั้นได้ในวันนี้ ในวันนี้แน่นอน ล่วงไปถึง ๗ ปี ก็ไม่สามารถจะจับนกยูงทองตัวนั้นได้ ดำริว่า ทำไมเล่าหนอ บ่วงจึงไม่รูดรัดเท้าของพญายูงทองนี้ คอยกำหนดดูพญานกยูงทองนั้น เห็นเจริญพระปริตรทุกเย็นทุกเช้า ก็กำหนดได้โดยนัยว่า ในสถานที่นี้นกยูงตัวอื่นไม่มีเลย อันพญายูงทองตัวนี้คงประพฤติพรหมจรรย์ ด้วยอานุภาพแห่งพรหมจรรย์และด้วยอานุภาพแห่งพระปริตร บ่วงจึงไม่ติดเท้าของพญายูงทอง แล้วจึงไปสู่ปัจจันตชนบท ดักนางนกยูงได้ตัวหนึ่ง ฝึกฝนให้ขันในเวลาดีดนิ้วมือ ให้ฟ้อนในเวลาตบมือ แล้วพาไปก่อนเวลาที่พระโพธิสัตว์จะเจริญพระปริตรทีเดียว ดักบ่วงไว้ ดีดนิ้วมือให้นางนกยูงขัน เมื่อพญายูงทองได้ฟังเสียงของนางนกยูง กิเลสที่ราบเรียบ ไปตลอดเวลา ๗๐๐ ปี ก็ฟุ้งขึ้นทันทีทันใด เป็นเหมือนอสรพิษที่ถูกตีด้วยท่อนไม้ แผ่พังพานฉะนั้น เธอกระวนกระวายด้วยอำนาจกิเลส จนไม่สามารถจะเจริญพระปริตรได้ทีเดียว บินไปยังสำนักนางนกยูงโดยเร็ว ถลาลงโดยอากาศ สอดเท้าเข้าไปในบ่วงเสียเลย บ่วงที่ไม่เคยรูดตลอด ๗๐๐ ปี ก็รูดรัดเท้าในขณะนั้นแล ทีนั้นลูกนายพรานเห็นพญายูงทองนั้นห้อยต่องแต่งอยู่ที่ปลายคันแร้ว คิดว่า ลูกนายพราน ๖ คน ไม่สามารถที่จะดักพญายูงทองนี้ได้ ถึงตัวเราก็ไม่สามารถดักได้ ๗ ปี วันนี้เวลาอาหารเช้า พญานกยูงอาศัยนางนกยูง เป็นสัตว์กระวนกระวายด้วยอำนาจกิเลส ถึงไม่อาจเจริญพระปริตร มาติดบ่วงแขวนต่องแต่งเอาหัวลงอยู่

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 461

เป็นสัตว์มีศีลเห็นปานฉะนี้ ถูกเรากระทำให้ลำบากเสียแล้ว การน้อมนำสัตว์เช่นนี้เข้าไปเพื่อเป็นบรรณาการแด่พระราชา ไม่ควรเลย เราจะต้องการอะไรด้วยสักการะที่พระราชาทรงพระราชทาน จักปล่อยเธอเสียเถอะ หวนคิดว่า พญานกยูงนี้มีกำลังดังช้างสาร สมบูรณ์ด้วยเรี่ยวแรง เมื่อเราเข้าไปใกล้ คงคิดว่า ผู้นี้จักมาฆ่าเรา แล้วเลยกลัวตายอย่างเหลือล้น ดิ้นรนไป ทำลายเท้าหรือปีกเสียได้ ก็ครั้นเราไม่เข้าไปใกล้ คงซุ่มตัดบ่วงให้ขาดด้วยคมศร แต่นั้นเธอก็จักไปตามพอใจโดยลำพังตนเอง เขาคงยืนอยู่ในที่ซ่อน ยกธนูขึ้นสอดลูกศรยืนจ้องอยู่ ฝ่ายพญานกยูงดำริว่า พรานผู้นี้ทราบการที่ต้องทำให้เรากระวนกระวาย ด้วยอำนาจกิเลสแล้ว จึงดักได้ง่ายดาย ไม่เห็นกระตือรือร้นเลย เขาซุ่มอยู่ตรงไหนเล่านะ มองดูรอบๆ ข้าง เห็นยืนจ้องธนูสำคัญว่า คงจักปรารถนาฆ่าเราให้ตาย แล้วก็สะดุ้งกลัวต่อความตายเป็นล้นพ้น เมื่อจะวอนขอชีวิต จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า.

"ดูก่อนสหาย ก็ถ้าแหละท่านจักฆ่าข้าพเจ้า เพราะเหตุแห่งทรัพย์แล้ว ท่านอย่าฆ่าข้าพเจ้าเลย จงจับเป็นนำข้าพเจ้าไปถวายพระราชาเถิด เข้าใจว่า ท่านจักได้ทรัพย์มิใช่น้อยเลย".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สเจ หิ ตฺยาหํ ตัดเป็น สเจ หิ เต อหํ.

บทว่า อุปนฺติ เน หิ แปลว่า จงเข้าไปใกล้.

บทว่า ลจฺฉสินปฺปรูปํ ความว่า ท่านจักได้ทรัพย์ไม่น้อยเป็นแน่.

ลูกนายพรานได้ยินคำนั้นแล้ว ดำริว่า พญานกยูงคงเข้าใจว่า พรานนี้สอดใส่ลูกศรเพื่อต้องการจะยิง ต้องปลอบเธอเถอะ เมื่อจะปลอบจึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 462

"เราผูกสอดลูกธนูใส่เข้าในแล่ง มิได้หมายมั่นว่าจะฆ่าท่านในวันนี้เลย แต่เราจักตัดบ่วงที่ผูกรัดเท้า ท่านพญานกยูงจงไปตามสบายเถิด".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อธิปาตยิสฺสํ แปลว่า เราจักตัด.

ลำดับนั้น พญายูงได้กล่าวสองคาถาว่า.

"เหตุไร ท่านจึงเพียรดักข้าพเจ้ามาถึง ๗ ปี สู้อดกลั้นความหิวกระหายทั้งกลางคืนและกลางวัน เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านปรารถนาจะปลดปล่อยข้าพเจ้าผู้ติดบ่วงเสียจากบ่วง เพื่ออะไร วันนี้ท่านงดเว้นจากปาณาติบาตหรือ หรือว่าท่านให้อภัยในสัตว์ทั้งปวง เหตุไรท่านจึงปรารถนาจะปลดปล่อยข้าพเจ้าผู้ติดบ่วง ออกจากบ่วงเสียเล่า".

ในสองคาถานั้น บทว่า ยํ มีอธิบายบางบทว่า ท่านเพียรดักข้าพเจ้ามาตลอดถึงเพียงนี้ เพราะเหตุใด เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอถามท่าน เมื่อเป็นเช่นนั้นท่านยังจะปรารถนาเพื่อจะปลดปล่อยข้าพเจ้า ผู้ซึ่งท่านนำเข้าในอำนาจแห่งบ่วงจนได้.

บทว่า วิรโต นุสชฺช ความว่า ในวันนี้ ท่านงดเว้นจากปาณาติบาตกระมัง.

บทว่า สพฺพภูเตสุ ความว่า ท่านได้ให้อภัยแก่ฝูงสัตว์ทั้งปวงได้แล้วละซิ.

ต่อจากนี้ไป พึงทราบความสัมพันธ์แห่งการโต้ตอบดังนี้ นายพรานถามว่า.

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 463

"ดูก่อนพญานกยูง ขอท่านจงบอกว่า ผู้ใดเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาตและให้อภัยในสัตว์ทั้งปวง ข้าพเจ้าขอถามความนั้นกะท่าน ผู้นั้นจุติจากโลกนี้แล้ว จะได้ความสุขอะไร".

"ข้าพเจ้าขอบอกว่า ผู้ใดเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาตและให้อภัยในสัตว์ทั้งปวง ผู้นั้นย่อมได้รับความสรรเสริญในปัจจุบัน และเมื่อตายไปย่อมไปสู่สวรรค์".

"สมณพราหมณ์พวกหนึ่งกล่าวว่า เทวดาทั้งหลายไม่มี ชีพย่อมเข้าถึงความดับสูญในโลกนี้ ผลของกรรมดีและกรรมชั่วก็ไม่มีเหมือนกัน และกล่าวว่า ทานอันคนโง่บัญญัติไว้ ข้าพเจ้าเชื่อถ้อยคำของพระอรหันต์เหล่านั้น ฉะนั้น จึงเบียดเบียนนกทั้งหลาย".

คาถาที่ร้อยกรองมีความง่ายๆ เหล่านี้ พึงทราบตามนัยแห่งพระบาลีนั้นนั่นแล บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิจฺจาหุ เอเก ความว่า สมณพราหมณ์บางพวกได้กล่าวอย่างนี้.

บทว่า เตสํ วโจ อรหตํ สทฺทหาโน ขยายความว่า ได้ยินว่า พวกชีเปลือยผู้มีวาทะว่าขาดสูญ เป็นพวกใกล้ชิดสกุลของนายพรานนั้น พวกเหล่านั้นพากันชวนนายพราน ผู้เป็นสัตว์แม้จะพร้อมด้วยอุปนิสัยแห่งปัจเจกโพธิญาณ ให้ยึดถืออุจเฉทวาทเสียได้ เพราะสังสรรค์กับพวกชีเปลือยนั้น นายพรานนั้นจึงยึดเอาว่า ผลแห่งกุศลและอกุศลไม่มี จึงฆ่าฝูงนกเสียนักหนา อันการคบหากับคนผู้มีใช่สัตบุรุษนี้ มีโทษใหญ่หลวงถึงเพียงนี้ และพรานนี้สำคัญว่า พวกนั้นเท่านั้นเป็นอรหันต์ จึงกล่าวอย่างนี้ (ข้าพเจ้าเชื่อถือถ้อยคำของพวกอรหันต์เหล่านั้น).

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 464

พระมหาสัตว์ฟังคำนั้นแล้ว ดำริว่า เราต้องกล่าวถึงความที่ปรโลกมีอยู่แก่เขา ทั้งๆ ที่ห้อยศีรษะลงอยู่ปลายคันแล้ว (*บ่วง) นั่นแหละ กล่าวคาถาว่า.

"ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ทั้ง ๒ เห็นกันได้ง่ายๆ ส่องสว่างไปในอากาศ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ทั้งสองนั้น อยู่ในโลกนี้หรือในโลกอื่น สมณพราหมณ์เหล่านั้น กล่าวถึงดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ว่าเป็นเทวดาในมนุษยโลก อย่างไรหรือ".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิมสฺส ความว่า ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ทั้งสองเป็นของมีอยู่ในโลกนี้หรือ หรือเป็นของมีในโลกเหล่าอื่น.

คำว่า ปรโลกสฺส เป็นฉัฏฐีวิภัตติ ลงในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติ.

บทว่า กถนฺนุ เต ความว่า พระอรหันต์นั้น กล่าวไว้อย่างไรเล่า ในวิมานเหล่านี้ ได้แก่เทวบุตรหรือพระจันทร์และพระอาทิตย์ มีอยู่หรือไม่มีเล่า เป็นเทวดาหรือเป็นมนุษย์เล่า.

ลูกนายพรานกล่าวคาถาว่า.

"ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ทั้ง ๒ เห็นกันได้ง่ายๆ ส่องสว่างไปในอากาศ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ทั้ง ๒ นั้น มีอยู่ในโลกอื่น ไม่มีในโลกนี้ สมณพราหมณ์เหล่านั้นกล่าวถึงดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ว่า เป็นเทวดาในมนุษยโลก".

ครั้งนั้น พระมหาสัตว์กล่าวคาถาว่า.

"สมณพราหมณ์เหล่าใด มีวาทะว่า หาเหตุมิได้ ไม่กล่าวถึงกรรม ไม่กล่าวถึงผลแห่งกรรมดีกรรมชั่ว และกล่าวถึงทานว่าคนโง่บัญญัติไว้ สมณพราหมณ์เหล่านั้น เป็นผู้มีวาทะเลวทราม ถูกท่านกำจัดเสียแล้ว เพราะการพยากรณ์นี้แหละ".

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 465

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอตฺเถว เต นีหตา ความว่า ถ้าพระจันทร์พระอาทิตย์สถิตอยู่ในเทวโลก มิใช่สถิตอยู่ในมนุษยโลก และถ้าพระจันทร์พระอาทิตย์เหล่านั้นเป็นเทวดา มิใช่เป็นมนุษย์เลยไซร้ ตอนนี้เอง คือในการพยากรณ์เพียงเท่านี้ สมณพราหมณ์เหล่านั้น ที่เป็นผู้ใกล้ชิดตระกูลของท่าน เป็นพวกมีวาทะเลวๆ เป็นอันถูกท่านกำจัดเสียแล้ว.

บทว่า อเหตุกา ความว่า สมณพราหมณ์พวกใดมีวาทะอย่างนี้ว่า กรรมอันเป็นตัวเหตุแห่งความผุดผ่องและความเศร้าหมองไม่มี ชื่อว่าพวกไม่มีเหตุ.

บทว่า ทตฺตุปญฺตฺตํ ความว่า และพวกที่กล่าวถึงทานว่า คนโง่ๆ พากันบัญญัติไว้.

เมื่อพระมหาสัตว์กล่าวเรื่อยๆ ไป เขากำหนดได้แล้วกล่าวคาถาว่า.

"คำของท่านนี้เป็นคำจริงแท้ทีเดียว ไฉนทานจะไม่พึงมีผลเล่า ผลของกรรมดีกรรมชั่วก็เหมือนกัน ไฉนจะไม่มีผล อนึ่ง ทานนี้จะว่าคนโง่บัญญัติขึ้นอย่างไรได้ ดูก่อนพญานกยูง ข้าพเจ้าจะทำอย่างไร จะทำอะไร ประพฤติอะไร เสพสมาคมอะไร ด้วยตบะคุณอะไร อย่างไรจึงจะต้องไม่ไปตกนรก ขอท่านจงบอกเนื้อความนี้แก่ข้าพเจ้าเถิด".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทตฺตุปญฺตฺตญฺจ ความว่า ทานชื่อว่า อันคนเซอะบัญญัติแล้ว พึงมีผลอย่างไร.

บทว่า กถงฺกโร ความว่า กระทำกรรมไฉน.

บทว่า กินฺติกโร ความว่า เพราะเหตุไร เมื่อเราทำกรรม จึงไม่ไปสู่นรก คำนอกนี้ เป็นไวพจน์ของคำนั้นนั่นแล.

พระมหาสัตว์ฟังคำนั้นแล้ว ดำริว่า ถ้าเราจักไม่กล่าวแก้ปัญหานี้ โลกมนุษย์จักเกิดเป็นดุจว่างเปล่า เราจักกล่าวความที่สมณพราหมณ์ผู้ทรงธรรมมีอยู่ในโลกมนุษย์นั่นเองแก่เขา ได้ภาษิตสองคาถาว่า.

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 466

"มีสมณะเหล่าใดเหล่าหนึ่ง นุ่งห่มผ้าย้อมด้วยน้ำฝาด ประพฤติเป็นผู้ไม่มีเรือน เที่ยวไปบิณฑบาตในเวลาเช้าในกาล เว้นจากการเที่ยวไปในเวลาวิกาล ผู้สงบระงับอยู่ในแผ่นดินนี้แน่ ท่านจงเข้าไปหาสมณะเหล่านั้นในเวลาอันควร ณ ที่นั้น แล้วจงถามข้อความตามความพอใจของท่าน สมณะเหล่านั้นก็จะชี้แจงประโยชน์ในโลกนี้และโลกหน้าให้แก่ท่านตามความรู้ความเห็น".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สนฺโต คือท่านบัณฑิตผู้มีบาปอันระงับแล้ว ได้แก่ พระปัจเจกพุทธเจ้า.

บทว่า ยถาปชานํ ความว่า สมณะเหล่านั้น จักบอกแก่ท่านตามทำนองที่ตนทราบ คือจักกล่าวคำกำจัดความสงสัยของท่านเสียได้.

บทว่า ปรสฺส จตฺถํ ความว่า สมณะเหล่านั้นจักชี้แจงประโยชน์โลกนี้และโลกอื่นอย่างนี้ว่า ด้วยกรรมชื่อนี้ จะบังเกิดในโลกมนุษย์ ด้วยกรรมนี้ จะบังเกิดในเทวโลก ด้วยกรรมนี้ จะบังเกิดในนรกเป็นต้น เชิญถามสมณะเหล่านั้นเถิด.

ก็แลครั้นพญานกยูงกล่าวอย่างนี้แล้ว ขู่ให้กลัวภัยในนรก ก็เขาเป็นพระปัจเจกโพธิสัตว์ผู้มีบารมีบำเพ็ญเต็มแล้ว มีญาณอันแก่กล้าแล้ว เป็นเหมือนดอกปทุมที่แก่แล้วชูก้านรอการถูกต้องของแสงอาทิตย์ ฉะนั้น เมื่อฟังธรรมกถาของพญานกยูง ยืนอยู่ด้วยท่าเดิมนั้นแหละ กำหนดสังขารทั้งหลาย พิจารณาไตรลักษณ์ บรรลุปัจเจกโพธิญาณแล้ว.

การบรรลุของท่านและการพ้นจากบ่วงของพระมหาสัตว์ ได้มีในขณะเดียวกันแล พระปัจเจกพุทธเจ้าทำลายกิเลสทั้งหลายแล้ว ดำรงอยู่ ณ สุดแดนของภพทีเดียว เมื่อจะเปล่งอุทาน จึงกล่าวคาถาว่า.

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 467

"ความเป็นพรานนี้ เราละได้แล้ว เหมือนงูลอกคราบเก่าของตน หรือเหมือนต้นไม้อันเขียวชอุ่มผลัดใบเหลืองทิ้ง ฉะนั้น วันนี้เราละความเป็นพรานได้".

ความแห่งคาถานั้น มีอธิบายว่า งูลอกทิ้งหนังเก่าที่คร่ำคร่าฉันใด และต้นไม้ที่ยังเขียวชอุ่มอยู่ ผลัดใบเหลืองๆ ที่ติดอยู่แห่งใดแห่งหนึ่งทิ้งเสียได้ฉันใด แม้เราก็ฉันนั้น สละเสียได้ซึ่งความเป็นพรานในวันนี้ ทีนี้ความเป็นพรานนั่นนั้นเป็นอันเราละทิ้งได้แล้ว เราสละความเป็นพรานแล้วในวันนี้ บทว่า ชหามหํ ความว่า เราละเสียแล้ว.

ครั้นท่านเปล่งอุทานนี้แล้ว ดำริว่า เราพ้นจากเครื่องพัวพัน คือกิเลสทั้งปวงได้แน่นอน แต่ในที่อยู่ของเรายังมีนกถูกกักขังอยู่มาก เราจักปลดปล่อยนกเหล่านั้นได้อย่างไร จึงถามพระมหาสัตว์ว่า พญานกยูงเอ๋ย ในที่อยู่ของข้าพเจ้า มีนกถูกกักขังอยู่เป็นอันมาก ข้าพเจ้าจักปลดปล่อยนกเหล่านั้นได้อย่างไรละ อันที่จริง ญาณในการกำหนดอุบายของพระสัพพัญญูโพธิสัตว์ทั้งหลาย ย่อมใหญ่โตกว่าพระปัจเจกพุทธเจ้า เหตุนั้น พญายูงจึงกล่าวกะท่านว่า ปัจเจกโพธิญาณที่ท่านทำลายกิเลสทั้งปวงเสียแล้ว บรรลุด้วยโพธิมรรคใด โปรดปรารภโพธิมรรคนั้น กระทำสัจจกิริยาเถิด ธรรมดาสัตว์อันต้องจองจำในชมพูทวีปทั้งสิ้นก็จักไม่มี ท่านดำรงในฐานะที่พระโพธิสัตว์กล่าวแล้ว เมื่อจะทำสัจจกิริยา จึงกล่าวคาถาว่า.

"อนึ่ง มีนกเหล่าใดที่เรากักขังไว้ในนิเวศน์ ประมาณหลายร้อย วันนี้เราให้ชีวิตแก่นกเหล่านั้น ขอนกเหล่านั้นจงพ้นจากการกักขัง ไปสู่สถานที่อยู่เดิมของตนเถิด".

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 468

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โมกฺขญฺจ เต ปตฺโต ความว่า ถ้าเราบรรลุโมกขธรรมแล้ว คือบรรลุปัจเจกโพธิญาณแล้ว ขอสงเคราะห์สัตว์เหล่านั้น ในอันให้ชีวิตเป็นทาน ด้วยสัจจะนี้.

บทว่า สกํ นิเกตํ ความว่า ขอสัตว์แม้ทั้งปวงจงพากันไปสู่ที่อยู่ของตนเถิด.

ลำดับนั้น นกทั้งปวงก็พ้นจากที่กักขัง พอดีกันกับเวลาที่พระปัจเจกโพธินั้นกระทำสัจจกิริยานั่นเอง ต่างร้องร่าเริงบินไปที่อยู่ของตนทั่วกัน ก็แลในขณะนั้น บรรดาสัตว์ในเหย้าเรือนทุกหนแห่งตั้งต้นแต่แมวเป็นต้นในชมพูทวีปทั้งสิ้น ที่จักได้ชื่อว่า สัตว์ต้องกักขังมิได้มีเลย พระปัจเจกพุทธเจ้ายกมือลูบศีรษะ ทันใดนั่นเอง เพศคฤหัสถ์ก็หายไป เพศบรรพชิตปรากฏแทน ท่านเป็นเหมือนพระเถระมีพรรษา ๖๐ สมบูรณ์ด้วยมรรยาท ทรงอัฏฐบริขาร กล่าวว่า ท่านนั้นเทียวได้เป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า ประคองอัญชลีแก่พญานกยูงกระทำประทักษิณ เหาะขึ้นอากาศไปสู่เงื้อมผาชื่อ นันทมูล ฝ่ายพญายูงก็โดดจากปลายคันแร้ว หาอาหาร ไปสู่ที่อยู่ของตนดังเดิม.

บัดนี้ พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศความที่นายพรานแม้จะถือบ่วงเที่ยวไปตั้ง ๗ ปี อาศัยพญายูงพ้นจากทุกข์ได้ จึงตรัสพระคาถาสุดท้ายว่า.

"นายพรานถือบ่วงเที่ยวไปในราวป่า เพื่อดักพญานกยูงตัวเรืองยศ ครั้นดักพญานกยูงตัวเรืองยศได้แล้ว ก็ได้พ้นจากทุกข์ เหมือนเราพ้นแล้วฉะนั้น".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พาเธตุ แปลว่า เพื่อจะดัก บาลีก็อย่างนี้เหมือนกัน อธิบายว่า ครั้นดักพญานกยูงได้แล้ว ยืนฟังธรรมกถาของพญานกยูงนั้น ก็ได้ความสลดใจ.

บทว่า ยถาหํ ความว่า นายพรานนั้นหลุดพ้นจากทุกข์ได้ เหมือนเราหลุดพ้นได้ด้วยสยัมภูญาณ ฉะนั้นแล.

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 469

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจจธรรม เวลาจบสัจจธรรม ภิกษุผู้กระสันดำรงในพระอรหัต แล้วทรงประชุมชาดกว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าในครั้งนั้นปรินิพพาน ส่วนพญานกยูง ได้มาเป็นเราตถาคตแล.

จบอรรถกถามหาโมรชาดก