๙. ตัจฉสูกรชาดก ว่าด้วยหมูพร้อมใจกันสู้เสือ
[เล่มที่ 60] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 469
๙. ตัจฉสูกรชาดก
ว่าด้วยหมูพร้อมใจกันสู้เสือ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 60]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 469
๙. ตัจฉสูกรชาดก
ว่าด้วยหมูพร้อมใจกันสู้เสือ
[๑๙๗๕] ข้าพเจ้าเที่ยวแสวงหาหมู่ญาติใด ตามภูเขาและราวป่าทั้งหลาย ค้นหาหมู่ญาติมากมาย หมู่ญาตินั้นเราพบแล้ว รากไม้และผลไม้นี้ก็มีมากมาย อนึ่ง ภักษาหารนี้ก็มิใช่น้อย ทั้งห้วยละหานนี้ก็น่ารื่นรมย์ คงเป็นที่อยู่สุขสบาย ข้าพเจ้าจักขออยู่กับญาติทั้งมวลในที่นี้แหละ จักเป็นผู้ขวนขวายน้อย ไม่มีความระแวงภัย ไม่มีความเศร้าโศก ไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ.
[๑๙๗๖] ดูก่อนตัจฉะ เจ้าจงไปหาที่ซ่อนเร้นแห่งอื่นเถิด ในที่นี้ศัตรูของพวกเรามีอยู่ มันมาในที่นี้แล้ว ก็ฆ่าหมูแต่ล้วนตัวที่อ้วนพีเสีย.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 470
[๑๙๗๗] ใครหนอเป็นศัตรูของพวกเราในที่นี้ ใครมากำจัดญาติทั้งหลายผู้พร้อมเพรียงกัน ซึ่งยากที่จะกำจัดได้ เราถามท่านแล้ว ขอจงบอกความข้อนั้นแก่เราเถิด.
[๑๙๗๘] ดูก่อนตัจฉะ พญาเนื้อตัวหนึ่งลายพาดขึ้น เป็นเนื้อมีกำลัง มีเขี้ยวเป็นอาวุธ มันมาในที่นี้แล้ว ก็ฆ่าหมูแต่ล้วนตัวที่อ้วนพีเสีย.
[๑๙๗๙] พวกเราไม่มีเขี้ยวหรือ กำลังกายไม่พรั่งพร้อมหรือ พวกเราทั้งหมดพร้อมใจกันแล้ว ก็จะจับมันตัวเดียวเท่านั้นให้อยู่ในอำนาจได้.
[๑๙๘๐] ดูก่อนตัจฉะ ท่านกล่าววาจาจับอกจับใจ เพราะหู แม้ตัวใดหนีไปเวลารบ พวกเราจักฆ่ามันเสียในภายหลัง.
[๑๙๘๑] ดูก่อนพญาเนื้อที่เก่งกล้า วันนี้เจ้าคงจะงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ละซิหนอ ท่านให้อภัยในสัตว์ทั้งปวงเสียแล้วหรือ หรือเขี้ยวของเจ้าคงไม่มี เจ้ามาถึงกลางฝูงสุกรแล้วจึงซบเซาอยู่ ดังคนกำพร้าฉะนั้น.
[๑๙๘๒] มิใช่ว่าเขี้ยวของข้าพเจ้าไม่มี กำลังกายของข้าพเจ้าก็มีอยู่พรั่งพร้อม แต่ข้าพเจ้าเห็นสุกรทั้งหลายที่เป็นญาติกัน ร่วมใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 471
เหตุฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงซบเซาอยู่แต่ผู้เดียวในป่า เมื่อก่อนสุกรเหล่านี้ พอข้าพเจ้าลืมตาแลดูเท่านั้น ต่างก็กลัวตายหาที่หลบซ่อนวิ่งกระเจิดกระเจิงไปตามทิศานุทิศ บัดนี้ พวกมันมาประชุมพร้อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในภูมิภาคที่พวกมันยืนอยู่นั้น ข้าพเจ้าข่มพวกมันได้ยากในวันนี้ พวกมันคงมีขุนพล จึงพรักพร้อมกัน คงเป็นเสียงเดียวกัน คงร่วมมือร่วมใจกันเบียดเบียนข้าพเจ้า เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ปรารถนาสุกรเหล่านั้น.
[๑๙๘๓] พระอินทร์องค์เดียวเท่านั้น ยังเอาชนะอสูรทั้งหลายได้ เหยี่ยวตัวเดียวเท่านั้น ย่อมข่มฆ่านกทั้งหลายได้ เสือโคร่งตัวเดียวเหมือนกัน ไปถึงท่ามกลางฝูงสุกรแล้ว ก็ย่อมฆ่าสุกรตัวพีๆ ได้ เพราะกำลังของมันเป็นเช่นนั้น.
[๑๙๘๔] จะเป็นพระอินทร์ จะเป็นเหยี่ยว แม้จะเป็นเสือโคร่งที่เป็นใหญ่กว่าเนื้อ ก็ทำญาติผู้พร้อมเพรียงกันมั่นคง ซึ่งเป็นเช่นกับเสือโคร่ง ไว้ในอำนาจไม่ได้ทั้งนั้นแหละ.
[๑๙๘๕] ฝูงนกตัวน้อยๆ มีชื่อ กุมภิลกะ เป็นนกมีพวก เที่ยวไปเป็นหมวดหมู่ ร่าเริงบันเทิงใจ โผผิน บินร่อนไปเป็นกลุ่มๆ ก็เมื่อฝูงนกเหล่านั้นบินไป บรรดานกเหล่านั้น คงมีสักตัวหนึ่งที่แตกฝูงไป
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 472
เหยี่ยวย่อมโฉบจับนกตัวนั้นได้ นี่เป็นคติของเสือโคร่งทั้งหลายโดยแท้.
[๑๙๘๖] เสือโคร่งเป็นสัตว์มีเขี้ยว ถูกชฎิลผู้หยาบช้าเห็นแก่อามิสปลุกใจให้ฮึกเหิม สำคัญว่าจะทำได้เหมือนเมื่อครั้งก่อน จึงวิ่งเข้าในฝูงสุกรตัวมีเขี้ยว.
[๑๙๘๗] ญาติทั้งหลายมีมากด้วยกัน ย่อมยังประโยชน์ให้สำเร็จ ถึงต้นไม้ทั้งหลายที่เกิดในป่าก็เหมือนกัน สุกรทั้งหลายพร้อมเพียงกันเข้าฆ่าเสือโคร่งเสียได้ เพราะประพฤติร่วมใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน.
[๑๙๘๘] สุกรทั้งหลายช่วยกันฆ่าพราหมณ์และเสือโคร่งทั้ง ๒ ได้แล้ว ต่างร่าเริงบันเทิงใจ พากันบันลือศัพท์สำเนียงเสียงสนั่น.
[๑๙๘๙] สุกรเหล่านั้นมาประชุมพร้อมกันที่โคนต้นมะเดื่อ อภิเษกตัจฉสูกรด้วยคำว่า ท่านเป็นราชา เป็นเจ้าเป็นใหญ่ของพวกเรา.
จบตัจฉสูกรชาดกที่ ๙
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 473
อรรถกถาตัจฉกสุกรชาดก
พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภพระเถระแก่ ๒ รูป ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "ยเทสมานา วิจริมฺหา" ดังนี้.
เล่ากันมาว่า พระเจ้ามหาโกศลทรงประทานพระธิดาแก่พระเจ้าพิมพิสาร ได้ประทานกาสิกคามแก่พระธิดาเพื่อเป็นมูลค่าเครื่องสนานกาย ครั้นพระเจ้าอชาตศัตรูปลงพระชนม์พระราชบิดาเสียแล้ว พระเจ้าปเสนทิก็ทรงชิงบ้านคืน เมื่อพระราชาทั้ง ๒ พระองค์ ทรงรบกันเพื่อชิงบ้านนั้น คราวแรกพระเจ้าอชาตศัตรูทรงมีชัย พระเจ้าโกศลทรงพ่ายแพ้ ตรัสถามพวกอำมาตย์ว่า เราจะใช้อุบายอะไรเล่าหนอ ถึงจะจับอชาตศัตรูได้ พวกอำมาตย์พากันกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราช ธรรมดาว่าภิกษุทั้งหลายย่อมเป็นผู้ฉลาดในความคิดอ่าน ควรที่พระองค์จะส่งคนสอดแนมไปคอยกำหนดถ้อยคำของหมู่ภิกษุดู พระเจ้าข้า พระราชาทรงรับรองว่า ดีแล้ว ตรัสใช้ราชบุรุษไปด้วยพระดำรัสว่า มานี่ เจ้าทั้งหลาย พวกเจ้าจงพากันไปสู่พระวิหารซุ่มซ่อนตัวเสีย คอยกำหนดเอาถ้อยคำของพระคุณเจ้าทั้งหลายมาจงได้ ในพระเชตวันวิหารเล่า ก็มีพวกราชบุรุษบวชอยู่เป็นอันมาก บรรดาท่าน (* พระคุณเจ้า) เหล่านั้นพระเถระแก่ ๒ รูป อยู่ที่บรรณศาลาท้ายพระวิหาร รูปหนึ่งนามว่า ธนุคคหติสสเถระ รูปหนึ่งชื่อว่า มันตทัตตเถระ ท่านทั้ง ๒ หลับตลอดคืน ตื่นเมื่อย่ำรุ่ง ท่านธนุคคหติสสเถระก่อไฟให้ลุก กล่าวว่า พระคุณเจ้ามันตทัตตเถระผู้เจริญขอรับ ท่านมันตทัตตเถระ ถามว่า อะไรกันขอรับ กลับถามว่า คุณกำลังหลับหรือ ตอบว่า ผมไม่หลับดอก ต้องทำอะไรล่ะครับ กล่าวว่า คุณขอรับ พระราชาปเสนทิโกศลองค์นี้ช่างโง่
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 474
จริงๆ ทรงทราบแต่จะเสวยกระยาหารประมาณ ๑ ถาดเท่านั้นเอง ถามว่า นั่นมันเรื่องอะไรกันเล่าคุณ กล่าวว่า พระราชาพ่ายแพ้ศัตรูผู้เป็นเพียงตัวหนอนในพระอุทรของพระองค์ก็ว่าได้ ถามว่า ก็ควรจะทรงทำอย่างไรเล่าคุณ ตอบว่า มันตทัตตเถระผู้เจริญ ธรรมดาว่าการรบมี ๓ ขบวน คือ สกฏพยุหะ จักกพยุหะและปทุมพยุหะ ในขบวนรบทั้ง ๓ นั้น ต้องตั้งขบวนสกฏพยุหะจึงจะจับได้ แล้วแถลงต่อไปว่า ช่องเขาตรงโน้นๆ เหมาะที่จะวางพลไว้ ๒ ข้าง (ล่อให้ตีเข้ามา) พอรู้ว่าเข้ามาภายในแล้ว ก็โห่ร้องก้องสนั่นล้อมไว้ กระทำให้อยู่ในกำมือแล้วก็จับเอา เหมือนจับปลาที่เข้าไซแล้วฉะนั้น ผู้ที่พระราชาทรงใช้ไปสืบ ฟังถ้อยคำนั้นแล้ว พากันกราบทูลแด่พระราชา พระราชาเสด็จไปด้วยกองทัพใหญ่ ทรงกระทำอย่างนั้น จับพระเจ้าอชาตศัตรูได้ ทรงจองจำด้วยโซ่ตรวน กระทำให้หายเมาอำนาจเสีย ๒ - ๓ วัน ตรัสปลอบว่า ต่อไป อย่ากระทำอย่างนี้เลยนะ ทรงแก้จองจำแล้ว พระราชทานพระธิดาพระนามว่า วชิรกุมารี แก่ท้าวเธอ ทรงปลดปล่อยไปพร้อมด้วยราชบริพารเป็นอันมาก เรื่องราวที่ว่าพระเจ้าโกศลทรงจับพระเจ้าอชาตศัตรูได้ด้วยการจัดแจงของพระธนุคคหติสสเถระโด่งดังไปในกลุ่มภิกษุ พวกภิกษุพากันยกเรื่องนั้นแหละขึ้นสนทนาในธรรมสภา พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อกี้พวกเธอกำลังสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อพวกภิกษุพากันกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ถึงในครั้งก่อน ธนุคคหติสสเถระก็เป็นผู้ฉลาดในการจัดขบวนรบ แล้วทรงนำอดีตนิทานมา ดังต่อไปนี้.
ในอดีตกาล ช่างไม้ผู้หนึ่งอยู่ ณ บ้านใกล้ประตูพระนครพาราณสี เข้าไปสู่ป่าเพื่อหาไม้ของตน พบลูกหมูตัวหนึ่งตกอยู่ในหลุม จึงนำมาเลี้ยง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 475
ตั้งชื่อให้ว่า ตัจฉกสุกร มันได้เป็นอุปการะแก่เขา เอาจะงอยปากพลิกไม้ให้ก็ได้ เอาเส้นบรรทัดพันจมูกลากไปให้ก็ได้ เอาปากคาบขวานสิ่วค้อนมาให้ก็ได้ มันพ่วงพีมีกำลังมาก มีร่างกายใหญ่ ฝ่ายช่างไม้เล่า รักมันเหมือนลูก คิดว่า เมื่อมันอยู่ที่นี่เรื่อยไป คงมีใครข่มเหงมันได้เป็นแน่ เลยปล่อยเสียในป่า มันคิดว่า ในป่านี้เราไม่อาจอยู่ลำพังผู้เดียวได้ จำต้องเที่ยวค้นหาหมู่ญาติให้ได้ แล้วอยู่มีหมู่ญาติแวดล้อม เที่ยวเสาะหาฝูงหมูไปในป่าชัฏ พบหมูเป็นอันมากแล้วดีใจกล่าวคาถา ๓ คาถาว่า.
"ข้าพเจ้าเที่ยวแสวงหาหมู่ญาติใด ตามภูเขาและราวป่าทั้งหลาย ค้นหาหมู่ญาติมากมาย หมู่ญาตินั้นเราพบแล้ว รากไม้และผลไม้นี้ก็มีมากมาย อนึ่ง ภักษาหารนี้ก็มิใช่น้อย ทั้งห้วยละหานนี้ก็น่ารื่นรมย์ คงเป็นที่อยู่สุขสบาย ข้าพเจ้าจักขออยู่กับญาติทั้งมวลในที่นี้แหละ จักเป็นผู้ขวนขวายน้อย ไม่มีความระแวงภัย ไม่มีความเศร้าโศก ไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ ".
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยเทสมานา ความว่า ข้าพเจ้าเที่ยวแสวงหาหมู่ญาติใด.
บทว่า อนฺเวสํ ความว่า เที่ยวค้นหาตลอดกาลนานหนอ.
บทว่า เตเม ตัดเป็น เต เม ญาติเหล่านั้นเราพบแล้ว.
บทว่า ภิกฺโข ความว่า อนึ่ง ภักษาหารกล่าวคือ รากไม้และผลาผลนั้นนั่นแล.
บทว่า อปฺโปสฺสุกฺโก ความว่า เป็นผู้มีความขวนขวายน้อย.
พวกสุกรได้ฟังคำของมันแล้ว พากันกล่าวคาถาที่ ๔ ว่า.
"ดูก่อนตัจฉะ เจ้าจงไปหาที่ซ่อนเร้นแห่งอื่นเถิด ในที่นี้ศัตรูของพวกเรามีอยู่ มันมาในที่นี้แล้วก็ฆ่าหมูแต่ล้วนตัวที่อ้วนพีเสีย".
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 476
บรรดาบทเหล่านั้น มันเรียกสุกรนั้นว่า ตัจฉะ บทว่า วรํวรํ ความว่า มันฆ่าสุกรแต่ล้วนที่มีร่างกายอ้วนพีเสีย.
ต่อไปนี้พึงทราบคาถาที่ร้อยกรองไว้อย่างง่ายโดยนัยพระบาลีนั่นแล ตัจฉกสุกรถามว่า.
"ใครหนอเป็นศัตรูของพวกเราในที่นี้ ใครมากำจัดญาติทั้งหลายผู้พร้อมเพรียงกัน ซึ่งยากที่จะกำจัดได้ เราถามท่านแล้ว ขอท่านจงบอกความข้อนั้นแก่เราเถิด".
พวกหมูตอบว่า.
"ดูก่อนตัจฉะ พญาเนื้อตัวหนึ่งลายพาดขึ้น เป็นเนื้อ มีกำลัง มีเขี้ยวเป็นอาวุธ มันมาในที่นี้แล้ว ก็ฆ่าหมูแต่ล้วนตัวที่อ้วนพีเสีย".
ตัจฉกสุกรถามว่า.
"พวกเราไม่มีเขี้ยวหรือ กำลังกายไม่พรั่งพร้อมหรือ พวกเราทั้งหมดพร้อมใจกันแล้ว ก็จะจับมันตัวเดียวเท่านั้น ให้อยู่ในอำนาจได้".
พวกหมูพากันกล่าวว่า.
"ดูก่อนตัจฉะ ท่านกล่าววาจาจับอกจับใจ เพราะหู แม้ตัวใดหนีไปเวลารบ พวกเราจักฆ่ามันเสียในภายหลัง".
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โกนมฺหากํ ความว่า พอเราเห็นท่าน คิดว่า พวกหมูเหล่านี้มีเนื้อและโลหิตน้อย ชะรอยจะพึงมีภัยต่อพวกหมูเหล่านั้น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 477
เพราะฉะนั้น พวกท่านจงบอกเรา ใครหนอเป็นศัตรูแก่เราในที่นี้.
บทว่า อุทฺธคฺคราชี ความว่า มาพร้อมกับพญาเนื้อลายพาดขึ้น พวกหมูกล่าวหมายเอาเสือโคร่งนั่นเอง.
บทว่า โยปิ ความว่า ในบรรดาระหว่างพวกเรา แม้ตัวเดียวหนีไป พวกเราจักฆ่าตัวนั้นในภายหลัง.
ตัจฉกสุกร กระทำพวกหมูทั้งหมดให้มีใจเดียวกัน แล้วถามว่า เสือ จักมาเวลาไหน พวกหมูตอบว่า วันนี้ ตอนเช้าตรู่ มันมาจับไปตัวหนึ่งแล้ว คงมาในวันพรุ่งนี้เช้าเป็นแน่ ตัจฉกสุกรนั้นฉลาดในการรบรู้ชัยภูมิว่า ตั้งในฐานนี้ไม่อาจชนะได้ เหตุนั้นจึงตรวจดูประเทศแห่งหนึ่ง ให้พวกหมูหากินเสียแต่กลางคืนทีเดียว พอถึงเวลาค่อนรุ่งกล่าวว่า อันขบวนรบมี ๓ อย่าง ด้วยอำนาจขบวนรบรูปเกวียนเป็นต้น แล้วจัดแจงขบวนรบแบบดอกปทุม ตั้งพวกลูกหมูที่กำลังดื่มน้ำนมไว้ตรงกลาง วางแม่หมูเหล่านั้นล้อมไว้ คัดนางหมูรุ่นกลางล้อมแม่หมูเหล่านั้น ระหว่างนางหมูเหล่านั้นวางลูกหมูหย่านมแล้วล้อมไว้ ระหว่างลูกหมูเหล่านั้นวางหมูรุ่นๆ เขี้ยวตูมๆ ระหว่างนั้นวางพวกหมูเขี้ยวใหญ่ ระหว่างนั้นวางหมูที่แก่ๆ แล้วตั้งกองกำลังแบ่งเป็นพวกๆ พวกละ ๑๐ ตัว ๒๐ ตัวและ ๓๐ ตัว ไว้ในที่นั้นๆ ให้ขุดหลุมหลุมหนึ่งสำหรับตน ขุดหลุมอีกหลุมหนึ่งเพื่อดักเสือ กระทำให้เป็นตะพัก มีสัณฐานเหมือนกระด้ง ระหว่างหลุมทั้ง ๒ ให้กระทำตั่งสำหรับตนอยู่ ตัจฉกสุกรนั้น คุมพวกหมูสำหรับรบที่มีเรี่ยวแรงแข็งขัน เที่ยวปลุกใจฝูงหมูในที่นั้นๆ พอตัจฉกจัดการเรียบร้อย พอดีพระอาทิตย์ขึ้น ทีนั้นพญาเสือโคร่งออกจากอาศรมบทของชฎิลโกง ยืนสะบัดกายอยู่ที่พื้นภูเขา พวกหมูเห็นมันแล้วพากันบอกว่า เจ้าพ่อคุณเอ๋ย ไพรีของพวกเรามาแล้วละ ตัจฉกสุกรบอกว่า พวกเจ้าอย่ากลัว มันทำอาการใด พวกเจ้าจงทำอาการนั้น เป็นปฏิปักษ์กันทุกอย่าง เสือโคร่งสะบัดร่างกาย
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 478
ย่อตัวลงหน่อยหนึ่ง ถ่ายปัสสาวะ พวกหมูเล่าก็กระทำอย่างนั้นบ้าง เสือโคร่งมองดูพวกหมูแล้วคำรามเสียงดัง พวกหมูก็พากันกระทำอย่างนั้นบ้างเหมือนกัน มันเห็นกิริยาของพวกหมูนั้นคิดว่า หมูเหล่านี้ไม่เหมือนหมูก่อนๆ วันนี้พากันตั้งเป็นพวกๆ เป็นศัตรูต่อเรา เสนานายกของพวกมันที่เป็นผู้สั่งการคงจะมี วันนี้เราไม่ควรไปใกล้พวกมันเลย กลัวตายขึ้นมาหันกลับไปหาชฎิลโกง ครั้นชฎิลโกงนั้นเห็นมันมาเปล่าๆ จึงกล่าวคาถาที่ ๙ ว่า.
"ดูก่อนพญาเนื้อที่เก่งกล้า วันนี้เจ้าคงจะงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ละซิหนอ ท่านให้อภัยในสัตว์ทั้งปวงเสียแล้วหรือ หรือเขี้ยวของท่านคงไม่มี เจ้ามาถึงกลางฝูงสุกรแล้วจึงซบเซาอยู่ดังคนกำพร้าฉะนั้น".
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สงฺฆปฺปตฺโต ความว่า เจ้าได้อยู่ในหมู่แห่งสุกร ไม่ได้กินอาหารอะไรๆ ย่อมซบเซาเหมือนคนกำพร้าฉะนั้น.
ครั้งนั้น เสือโคร่งกล่าวคาถาว่า.
"มิใช่ว่าเขี้ยวของข้าพเจ้าไม่มี กำลังกายของข้าพเจ้าก็มีอยู่พรั่งพร้อม แต่ข้าพเจ้าเห็นสุกรทั้งหลายที่เป็นญาติกัน ร่วมใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เหตุฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงซบเซาแต่ผู้เดียวในป่า เมื่อก่อนสุกรเหล่านี้ พอข้าพเจ้าลืมตาแลดูเท่านั้น ต่างก็กลัวตายหาที่หลบซ่อนวิ่งกระเจิดกระเจิงไปตามทิศานุทิศ บัดนี้ พวกมันมาประชุมพร้อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในภูมิภาคที่พวกมันยืนอยู่นั้น ข้าพเจ้าข่มพวกมันได้ยากในวันนี้ พวกมันคงมีขุนพล จึงพรักพร้อมกัน คงเป็นเสียงเดียวกัน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 479
คงร่วมมือร่วมใจกันเบียดเบียนข้าพเจ้า เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ปรารถนาสุกรเหล่านั้น".
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมงฺคิ เอกโต ความว่า ผู้รวมใจกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว.
บทว่า อิมสฺสุทํ ความว่า แม้ในกาลก่อน พวกหมูเหล่านี้น่ะหรือ เพียงข้าพเจ้าลืมตาดูเท่านั้น ก็วิ่งกระเจิงไปทั่วทิศานุทิศ.
บทว่า วิสุํ วิสุํ แปลว่า คนละแผนก.
บทว่า ยตฺถ ิตา ความว่า มาประชุมกันอยู่ในภูมิภาคใด.
บทว่า ปรินายกสมฺปนฺนา ความว่า พวกมันสมบูรณ์ด้วยขุนพล.
บทว่า ตสฺมา เตสํ น ปฏฺเย ความว่า เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ปรารถนาพวกนั้น.
ชฎิลโกงฟังคำนั้นแล้ว เมื่อจะยุให้มันเกิดความอาจหาญขึ้น จึงกล่าวคาถาว่า.
"พระอินทร์องค์เดียวเท่านั้น ยังเอาชนะอสูรทั้งหลายได้ เหยี่ยวตัวเดียวเท่านั้น ย่อมข่มฆ่านกทั้งหลายได้ เสือโคร่งตัวเดียวเหมือนกัน ไปถึงท่ามกลางฝูงสุกรแล้ว ก็ย่อมฆ่าสุกรตัวพีๆ ได้ เพราะกำลังของมันเป็นเช่นนั้น".
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มิคสงฺฆปฺปตฺโต ความว่า เสือโคร่ง ไปถึงฝูงเนื้อแล้ว ย่อมฆ่าตัวดีๆ ได้.
บทว่า พลญฺหิ ตาทิสํ ความว่า เพราะกำลังของมันเป็นเช่นนั้น.
ลำดับนั้น เสือโคร่งจึงกล่าวคาถากะเขาว่า.
"จะเป็นพระอินทร์ จะเป็นเหยี่ยว แม้จะเป็นเสือโคร่งผู้เป็นใหญ่กว่าเนื้อ ก็ทำญาติผู้พร้อมเพรียง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 480
กันมั่นคง ซึ่งเป็นเช่นกับเสือโคร่ง ไว้ในอำนาจไม่ได้ทั้งนั้นแหละ".
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พยคฺโฆ น ความว่า เสือโคร่งไม่กระทำฝูงสุกรที่กระทำอาการเป็นต้นว่า สะบัดร่างกายเช่นกับเสือโคร่ง ไว้ในอำนาจได้ คือไม่สามารถให้เป็นไปในอำนาจของตนได้.
ชฎิลเมื่อจะปลุกมันให้อาจหาญอีก จึงได้กล่าว ๒ คาถาว่า.
"ฝูงนกตัวน้อยๆ มีชื่อว่า กุมภิลกะ เป็นนกมีพวกเที่ยวไปเป็นหมวดหมู่ ร่าเริงบันเทิงใจ โผผินบินร่อนไปเป็นกลุ่มๆ ก็เมื่อฝูงนกเหล่านั้นบินไป บรรดานกเหล่านั้นคงมีสักตัวหนึ่งที่แตกฝูงไป เหยี่ยวย่อมโฉบจับนกตัวนั้นได้ นี่เป็นคติของเสือโคร่งทั้งหลายโดยแท้".
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กุมฺภิลกา ได้แก่ ฝูงนกตัวน้อยๆ ซึ่งมีชื่ออย่างนั้น.
บทว่า อุปฺปตนฺติ ได้แก่ ไปเที่ยวหากิน.
บทว่า อุยฺยนฺติ จ ความว่า บินไปหากินทางอากาศ.
บทว่า เอเกตฺถ อปสกฺกติ ความว่า ในบรรดาฝูงนกเหล่านั้น มีตัวเดียวที่ล้าหลังหรือก็บินแยกไปทางหนึ่ง.
บทว่า นิตาเลติ ความว่า เหยี่ยวย่อมโฉบเอาไปได้.
บทว่า เวยฺยคฺฆิเยว สา คติ ความว่า คตินั้นชื่อว่า เป็นทำนองเดียวกับเสือโคร่ง เพราะเป็นคติของเสือโคร่งนั่นเอง คือแม้เมื่อพวกเสือโคร่งจะไปหาฝูงสัตว์ที่อยู่ร่วมกัน ก็มีคติทำนองนี้ จึงได้ชื่อว่า เป็นคติของเสือโคร่งแท้ๆ อันที่จริงทุกๆ ตัว ไม่อาจจะบินไปโดยกลุ่มเดียวกันได้ดอก เหตุนั้น ในฝูงนั้นตัวใดบินไปตัวเดียวอย่างนี้ ก็จับเอาตัวนั้นไป.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 481
ก็แลครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็ปลุกใจเสือโคร่งว่า พญาเสือโคร่งเอ๋ย เจ้ามิได้รู้กำลังของตน อย่ากลัวเลยน่ะ คำรามแล้ววิ่งปรี่เข้าไปท่าเดียวเท่านั้น พวกสุกรที่คุมกันอยู่เป็นกลุ่มได้ไม่มีเลยละ มันได้กระทำอย่างนั้น.
พระศาสดา เมื่อทรงประกาศเนื้อความนั้นจึงตรัสว่า.
"เสือโคร่งเป็นสัตว์มีเขี้ยว ถูกชฎิลผู้หยาบช้า เห็นแก่อามิส ปลุกใจให้ฮึกเหิม สำคัญจะทำได้เหมือนเมื่อครั้งก่อน จึงวิ่งเข้าไปในฝูงสุกรที่มีเขี้ยว".
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทาฑิ ความว่า เสือโคร่งที่มีเขี้ยวเป็นอาวุธเอง โถมเข้าไปในฝูงสุกรที่มีเขี้ยวเป็นอาวุธดุจกัน.
บทว่า ยถา ปุเร ความว่า เพราะสำคัญเสียว่าเหมือนในครั้งก่อนๆ.
เล่ากันมาว่า เสือโคร่งนั้นไปหยุดยืนที่พื้นภูเขา พวกหมูพากันบอกแก่ตัจฉกสุกรว่า นายเอ๋ย ไอ้โจรมันมาอีกแล้ว ตัจฉกสุกรปลอบใจพวกนั้นว่า พวกเจ้าอย่ากลัวเลย ลุกขึ้นยืนบนตั่งระหว่างหลุมทั้งสอง เสือโคร่งจึงเผ่นโผนโจนใส่ตัจฉกสุกร ตัจฉกสุกรหลบกลับหน้าเป็นหลัง ตกลงในหลุมแรก เสือโคร่งไม่ยั้งความเร็วไว้ได้ จึงไปตกในหลุมที่เป็นตะพักเหมือนกระด้งแน่นอัดเหมือนฟ่อนหญ้า ตัจฉกสุกรลุกขึ้นโดยเร็ว เผ่นจากหลุม จดเขี้ยวลงตรงขั้วไส้ของมัน ขวิดขาดไปจดหทัย กินเนื้อแล้วเอาปากคาบเหวี่ยงไปนอกหลุม บอกว่า พวกเจ้าจงพากันกินเนื้อซิ พวกหมูที่มาก่อนได้โอกาสเพียงจ่อจะงอยปากลงไปครั้งเดียวเท่านั้น ที่มาครั้งหลังไม่ได้เลย ต่างพูดกันว่า อันเนื้อเสือโคร่งรสชาติมันเป็นอย่างไรนะ ตัจฉกสุกรโดดขึ้นจากหลุมแล้ว มองดูพวกหมูทั้งหลาย กล่าวว่า เอ๊ะ อย่างไรเล่า พวกเจ้าจึงไม่ดีใจกัน พวกหมูพากันตอบว่า นายเอ๋ย พวกเราเพียงจับเสือโคร่งได้ตัวเดียวเท่านั้น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 482
ก็เท่ากับพวกเราจับเสือโคร่งตัวที่ประทุษร้ายได้ตัวหนึ่ง แต่นอกจากนี้ผู้ที่จะนำเสือโคร่งมาได้ยังมีอยู่ ถามว่า นั่นชื่อไร ตอบว่า ชฎิลโกงผู้คอยกินมังสะที่เสือโคร่งนำมาแล้วๆ กล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นพากันมาเถิด พวกเราต้องจับมันให้ได้ แล้ววิ่งแน่วไปกับพวกหมูเหล่านั้น กล่าวถึงชฎิลนึกว่าเสือโคร่งมัวช้าอยู่ มองดูทางมาของมัน เห็นพวกหมูเป็นอันมากกรูวิ่งมา คิดว่า ชะรอยพวกหมูเหล่านี้ฆ่าเสือโคร่งได้แล้ว พากันวิ่งมาเพื่อฆ่าเรา หนีขึ้นต้นมะเดื่อต้นหนึ่ง พวกหมูพากันร้องว่า มันขึ้นต้นไม้ไปแล้ว ตัจฉกสุกรถามว่า ต้นไม้อะไร ตอบว่า ต้นมะเดื่อ ตัจฉกสุกรกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นอย่าเสียใจเลย ประเดี๋ยวพวกเราต้องจับมันได้ พลางเรียกหมูหนุ่มๆ มา ให้ช่วยกันคุ้ยดินออกจากโคนต้นไม้ ให้แม่หมูทั้งหลายไปอมน้ำมา ให้พวกหมูที่มีเขี้ยวใหญ่ๆ ช่วยกันขวิดรากโดยรอบ จนเหลือแต่รากแก้วที่หยั่งลงไปตรงรากเดียวเท่านั้น ต่อจากนั้นก็ร้องบอกพวกหมูที่เหลือๆ ว่า พวกเจ้าพากันหลบเสียเถิด แล้วคุกเข่า เอาเขี้ยวขวิดตรงรากแก้ว ขาดไปเหมือนฟันด้วยขวาน ต้นไม้นั้นก็พลิก พอชฎิลโกงตกลงมาเท่านั้น พวกหมูก็พากันรับไว้แล้วรุมกินเนื้อเสีย รุกขเทวดา เห็นเหตุอัศจรรย์นั้น จึงกล่าวคาถาว่า.
"ญาติทั้งหลายมีมากด้วยกัน ย่อมยังประโยชน์ให้สำเร็จ ถึงต้นไม้ทั้งหลายที่เกิดในป่า ก็เหมือนกัน สุกรทั้งหลายพร้อมเพรียงกันเข้า ฆ่าเสือโคร่งเสียได้ เพราะประพฤติร่วมใจอันหนึ่งอันเดียวกัน".
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอกายเน หโต ความว่า ฆ่าเสือโคร่งเสียได้ เพราะมีความพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้นเอง.
พระศาสดา เมื่อทรงประกาศความที่พวกสุกรเหล่านั้นกำจัดศัตรูทั้ง ๒ เสียได้ จึงตรัสพระคาถาว่า.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 483
"สุกรทั้งหลาย ช่วยกันฆ่าพราหมณ์และเสือโคร่งทั้ง ๒ ได้แล้ว ต่างร่าเริงบันเทิงใจ พากันบันลือศัพท์สำเนียงเสียงสนั่น".
ตัจฉกสุกรถามอีกว่า ศัตรูของพวกเจ้าแม้อื่นๆ ยังมีหรือ พวกสุกรพากันตอบว่า ไม่มีละ นายเอ๋ย ตกลงกันว่า พวกเราต้องอภิเษกท่านให้เป็นพระราชา พากันเที่ยวหาน้ำ เห็นสังข์สำหรับตักน้ำดื่มของชฎิล สังข์นั้นเป็น สังข์ทักษิณาวัฏ (เวียนขวา) เป็นสังข์รัตนะ จึงตักน้ำมาเต็มสังข์ อภิเษกตัจฉกสุกร ณ โคนต้นมะเดื่อนั้นเอง แล้วพากันให้นางสุกรสรงน้ำอภิเษก เป็นมเหสีของพญาตัจฉกสุกรนั้น ตั้งแต่ครั้งนั้น การนั่งตั่งไม้มะเดื่อ รดน้ำด้วยสังข์ทักษิณาวัฏ ก็ได้รับประพฤติสืบมา.
พระศาสดา เมื่อทรงประกาศความแม้นั้น ตรัสพระคาถาสุดท้ายว่า.
"สุกรเหล่านั้นมาประชุมพร้อมกันที่โคนต้นมะเดื่อ อภิเษกตัจฉกสุกรด้วยคำว่า ท่านเป็นพระราชา เป็นเจ้า เป็นใหญ่ของพวกเรา".
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ถึงในครั้งก่อน ธนุคคหติสสะเคยฉลาดในการจัดขบวนรบเหมือนกัน ทรงประชุมชาดกว่า ชฎิลโกงในครั้งนั้น ได้มาเป็นเทวทัต ตัจฉกสุกร ได้มาเป็นธนุคคหติสสะ ส่วนรุกขเทวดา ได้มาเป็นเราตถาคตแล.
จบอรรถกถาตัจฉกสุกรชาดก