๑๑. สาธินราชชาดก ว่าด้วยพระเจ้าวิเทหราชประพาสดาวดึงส์
[เล่มที่ 60] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 494
๑๑. สาธินราชชาดก
ว่าด้วยพระเจ้าวิเทหราชประพาสดาวดึงส์
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 60]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 494
๑๑. สาธินราชชาดก
ว่าด้วยพระเจ้าวิเทหราชประพาสดาวดึงส์
[๑๙๙๔] อัศจรรย์จริงหนอ ขนพองสยองเกล้าเกิดขึ้นแล้วในโลก รถทิพย์ได้ปรากฏแก่พระเจ้าวิเทหราชผู้เรืองยศ.
[๑๙๙๕] มาตลีเทพบุตรเทพสารถีผู้มีฤทธิ์มาก ได้เชื้อเชิญพระเจ้าวิเทหราชผู้ครองมิถิลานครว่า ข้าแต่พระราชาผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ผู้เป็นใหญ่ทั่วทิศ ขอเชิญพระองค์เสด็จขึ้นทรงรถนี้เถิด ด้วยว่าทวยเทพชนดาวดึงส์พร้อมด้วยสมเด็จอมรินทราธิราช ใคร่จะเห็นพระองค์ ทวยเทพเหล่านั้นประชุมพร้อมกันอยู่ ณ สุธรรมาเทวสภา ลำดับนั้นแล พระเจ้าวิเทหราชพระนามว่า สาธินะ ผู้ครองมิถิลานคร เสด็จทรงรถอันเทียมด้วยม้าพันหนึ่งได้เสด็จไปยังสำนักของเทวดาทั้งหลาย (พระมหาราชาทรงประทับยืนบนทิพยานอันเทียมด้วยม้าพันหนึ่ง ซึ่งม้าพาลากไป เสด็จไปอยู่ ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวสภานี้) ทวยเทพเห็นพระราชาเสด็จมาดังนั้น ก็พากันชื่นชมยินดีกระทำปฏิสันถารเชื้อเชิญว่า ข้าแต่พระมหาราชา พระองค์เสด็จมาดีแล้ว อนึ่ง ชื่อว่าพระองค์มิได้เสด็จมาร้าย ข้าแต่พระราชาผู้แสวงหาคุณใหญ่ ขอพระองค์ทรง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 495
ประทับใกล้ๆ กับท้าวเทวราชเสียแต่บัดนี้เถิด ฝ่ายท้าววาสวสักกเทวราชทรงชื่นชมยินดี เชื้อเชิญพระเจ้าสาธินราชผู้ครองมิถิลานครด้วยทิพยกามารมณ์และอาสนะว่า ข้าแต่พระราชฤาษี เป็นการดีแล้วที่พระองค์เสด็จมาถึงที่อยู่ของทวยเทพผู้บันดาลให้เป็นไปในอำนาจได้ ขอเชิญพระองค์ประทับอยู่ในหมู่ทวยเทพผู้ให้สำเร็จทิพยกามารมณ์ทุกอย่าง ขอเชิญพระองค์ทรงเสวยกามคุณอันมิใช่ของมนุษย์ในหมู่ทวยเทพชาวดาวดึงส์เถิด.
[๑๙๙๖] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐกว่าจอมเทพ เมื่อก่อนหม่อมฉันมาถึงสวรรค์แล้ว ย่อมยินดีด้วยการฟ้อนรำขับร้องและเครื่องประโคมทั้งหลาย บัดนี้ หม่อมฉันไม่ยินดีอยู่ในสวรรค์เลย จะหมดอายุหรือใกล้จะตายหรือว่าหม่อมฉันหลงใหลไป.
[๑๙๙๗] ข้าแต่พระองค์ผู้แกล้วกล้ากว่านรชนผู้ประเสริฐ พระชนมายุของพระองค์ยังไม่หมดสิ้น ความสิ้นพระชนม์ก็ยังห่างไกล อนึ่ง พระองค์จะได้ทรงหลงใหลไปก็หาไม่ แต่ว่าวิบากแห่งบุญกุศลของพระองค์ที่ได้ทรงเสวยในเทวโลกนี้มีน้อยไป ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐ ผู้เป็นใหญ่ทั่วทิศ ขอเชิญพระองค์ประทับอยู่เสวยกามคุณอันมิใช่ของมนุษย์ในหมู่ทวยเทพชาวดาวดึงส์ด้วยเทวานุภาพต่อไปเถิด.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 496
[๑๙๙๘] ขอยืมยานเขามาขับ ขอยืมทรัพย์เขามาใช้ฉันใด การที่ได้เสวยความสุข เป็นความสุขที่ผู้อื่นยื่นให้ ก็เปรียบกันได้ฉะนั้นแล ก็แลการได้เสวยความสุข โดยเป็นความสุขที่ผู้อื่นยื่นให้ หม่อมฉันไม่ปรารถนาเลย บุญทั้งหลายอันหม่อมฉันทำเองแล้วนั้น ย่อมเป็นทรัพย์อันอาจติดตามหม่อมฉันไปได้ หม่อมฉันไปในมนุษยโลกแล้ว จักได้ทำกุศลให้มาก ที่บุคคลกระทำแล้วได้รับความสุขและไม่ต้องเดือดร้อนในภายหลัง ด้วยทาน ด้วยการประพฤติสม่ำเสมอ ด้วยการสำรวม ด้วยการฝึกตน.
[๑๙๙๙] ที่ตรงนี้เป็นไร่นา ที่ตรงนี้ตรงร่องน้ำตรงดี ที่ตรงนี้เป็นภูมิภาค มีหญ้าแพรกเขียวสะพรั่ง ที่ตรงนี้เป็นแม่น้ำไหลอยู่ไม่ขาดสาย ที่ตรงนี้เป็นสระโบกขรณีอันน่ารื่นรมย์ มีฝูงนกจากพรากร้องเสียงระงม เปี่ยมไปด้วยน้ำใสสะอาด ดารดาษไปด้วยดอกปทุมและดอกอุบล พวกเข้าเฝ้าและนักสนมพากันยึดถือสถานเหล่านี้ว่าเป็นของเรา เขาเหล่านั้นพากันไปเสียทิศทางใดหนอ ดูก่อนพ่อนารทะ ไร่นาเหล่านั้น ภูมิภาคตรงนั้น และอุปจารแห่งสวนและป่าไม้ยังคงมีอยู่ดังเดิม เมื่อเราไม่เห็นหมู่ชนเหล่านั้น ทิศทั้งหลายก็ปรากฏว่า ว่างเปล่าแก่เรา.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 497
[๒๐๐๐] วิมานทั้งหลายอันโอภาสทั่วทั้งสี่ทิศ ฉันได้เห็นแล้วเฉพาะพระพักตร์ของท้าวสักกเทวราช และเฉพาะหน้าของทวยเทพชาวไตรทศภพ ที่ฉันอยู่ก็เป็นทิพย์ กามทั้งหลายอันมิใช่ของมนุษย์ฉันได้บริโภคแล้ว ในทวยเทพชาวไตรทศภพที่ฉันอยู่ก็เป็นทิพย์ กามทั้งหลายอันมิใช่ของมนุษย์ฉันได้บริโภคแล้ว ในทวยเทพชาวดาวดึงส์ ผู้ให้สำเร็จสิ่งที่น่าปรารถนาทุกอย่าง ฉันนั้นละสมบัติเช่นนั้นเสียแล้วมาในมนุษยโลกนี้ เพื่อต้องการทำบุญเท่านั้น ฉันจักประพฤติแต่ธรรมเท่านั้น ฉันไม่มีความต้องการด้วยราชสมบัติ ฉันจักดำเนินไปตามทางที่ท่านผู้ไม่มีอาชญาพากันท่องเที่ยวไป อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ซึ่งเป็นทางสำหรับไปของท่านผู้มีวัตรงามทั้งหลาย.
จบสาธินราชชาดกที่ ๑๑
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 498
อรรถกถาสาธินราชชาดก
พระศาสดา เมื่อเสด็จประทับ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงพระปรารภพวกอุบาสกรักษาอุโบสถ ตรัสเรื่องนี้มีคำขึ้นต้นว่า "อพฺภูโต วต โลกสฺมิํ" ดังนี้.
มีเรื่องย่อว่า ครั้งนั้นพระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนอุบาสกทั้งหลาย บัณฑิตแต่ครั้งก่อน อาศัยอุโบสถกรรมของตนไปสู่เทวโลกอยู่สิ้นกาลนานด้วยสรีระแห่งมนุษย์นั่นแล ทรงนำอดีตนิทานมา ดังต่อไปนี้.
ในอดีตกาล พระราชาทรงพระนาม สาธินะ ทรงครองราชสมบัติโดยธรรม ณ พระนครมิถิลา ท้าวเธอได้สร้างโรงทานไว้ ๖ แห่ง คือที่ประตูพระนครทั้ง ๔ ที่กลางพระนครและที่ประตูราชนิเวศน์ ทรงบำเพ็ญมหาทาน กระทำชมพูทวีปทุกแห่งหนให้เก็บไถได้ พระราชทานทรัพย์ประมาณหกแสนกระษาปณ์ เป็นราชทรัพย์ที่ทรงใช้จ่ายทุกๆ วัน ทรงรักษาศีล ๕ ทรงถืออุโบสถ ชาวแว่นแคว้นเล่าก็พากันตั้งอยู่ในโอวาทของท้าวเธอ ต่างกระทำบุญมีให้ทานเป็นต้น ตายแล้วๆ บังเกิดในเมืองเทวดาทั้งนั้น ฝูงเทพพากันนั่งแน่นเทวสภาชื่อ สุธรรมา ต่างพรรณนาพระคุณมีศีลเป็นต้นของพระราชาเท่านั้น เทพที่เหลือฟังเรื่องนั้นแล้ว ก็มีปรารถนาที่จะเห็นพระราชาไปตามๆ กัน ท้าวสักกเทวราชทรงทราบใจของเทพเหล่านั้น ตรัสว่า พวกเธอปรารถนาจะเห็นพระเจ้าสาธินราชหรือ พวกเทพพากันกราบทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าแต่พระผู้เป็นเทพเจ้า ท้าวเธอจึงตรัสสั่งเทพบุตรมาตลีว่า เธอจงไปจัดเวชยันตรถ รับพระเจ้าสาธินราชมา เทพบุตรมาตลีรับเทวบัญชาว่า สาธุ แล้วจัดรถไปสู่แคว้นวิเทหะ ครั้งนั้นเป็นวันเพ็ญ เวลาที่พวกมนุษย์บริโภค
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 499
อาหารเย็นแล้วนั่งสนทนากันด้วยสุขกถาที่ประตูเรือน มาตลีเทพบุตรก็ขับรถพร้อมกับจันทรมณฑล ฝูงชนพากันกล่าวว่า พระจันทร์ขึ้นสองดวง แต่ครั้นเห็นทั้งรถทั้งจันทรมณฑลวิ่งมา พากันชื่นชมโสมนัสว่า นี่ไม่ใช่ดวงจันทร์ นี่เป็นรถ ทั้งเทพบุตรก็ปรากฏ รถทิพย์เทียมด้วยสินธพมโนมัยคันนี้มารับใคร ไม่มีคนอื่นละ ต้องเป็นพระราชาของพวกเรา เพราะว่าพระราชาของพวกเรา ทรงธรรมเป็นพระธรรมราชา แล้วต่างยืนประคองอัญชลีกล่าวคาถาเป็นปฐมว่า.
"อัศจรรย์จริงหนอ ขนพองสยองเกล้าเกิดขึ้นแล้วในโลก รถทิพย์ได้ปรากฏแก่พระเจ้าวิเทหราชผู้เรืองยศ".
คำอันเป็นคาถานั้น มีอธิบายว่า พระจอมวิเทหะผู้เรืองพระยศ ราชาของพวกเรานั้นเป็นผู้น่าอัศจรรย์ จริงละ ความขนพองสยองเกล้าเกิดแล้วในโลก ตรงที่รถทิพย์ปรากฏเพื่อพระองค์.
มาตลีเทพบุตรนำรถมาถึง เมื่อฝูงชนพากันบูชาด้วยดอกไม้เป็นต้น ก็กระทำประทักษิณพระนคร ๓ รอบ แล้วไปสู่ทวารวังของพระราชากลับรถจอดไว้ใกล้ธรณีช่องพระแกลทางส่วนด้านหลัง ยืนเตรียมรับเสด็จ วันนั้นเล่าพระราชาตรวจโรงทาน ตรัสสั่งว่า สูทั้งหลายจงให้ทานโดยทำนองนี้ทีเดียว ทรงสมาทานอุโบสถ ประทับยับยั้งอยู่ตลอดวัน มีหมู่อำมาตย์แวดล้อม ประทับนั่งผันพระพักตร์เฉพาะช่องพระแกลด้านตะวันออก ตรัสกถาอันประกอบด้วยธรรมอยู่ ณ ท้องพระโรงอันอลงกต ครั้งนั้นมาตลีเทพบุตรก็ทูลเชิญพระองค์เสด็จขึ้นสู่รถพาไป.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 500
พระศาสดาเมื่อทรงประกาศเนื้อความนั้น ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า.
"มาตลีเทพบุตรเทพสารถีผู้มีฤทธิ์มาก ได้เชื้อเชิญพระเจ้าวิเทหราชผู้ครองมิถิลานครว่า ข้าแต่พระราชา ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ผู้เป็นใหญ่ทั่วทิศ ขอเชิญพระองค์เสด็จทรงรถนี้เถิด ด้วยว่าทวยเทพชั้นดาวดึงส์พร้อมด้วยสมเด็จอมรินทราธิราช ใคร่จะเห็นพระองค์ ทวยเทพเหล่านั้นประชุมพร้อมกันอยู่ ณ สุธรรมาเทวสภา ลำดับนั้นแลพระเจ้าวิเทหราชพระนามว่า สาธินะ ผู้ครองมิถิลานคร เสด็จทรงรถอันเทียมด้วยม้าพันหนึ่ง ได้เสด็จไปยังสำนักเทวดาทั้งหลาย (พระมหาราชาทรงประทับยืนบนทิพยานอันเทียมด้วยม้าพันหนึ่งซึ่งม้าลากไป เสด็จไปอยู่ ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวสภานี้) ทวยเทพเห็นพระราชาเสด็จมาดังนั้น ก็พากันชื่นชมยินดี กระทำปฏิสันถารเชื้อเชิญว่า ข้าแต่พระมหาราชา พระองค์เสด็จมาดีแล้ว อนึ่ง ชื่อว่าพระองค์มิได้เสด็จมาร้าย ข้าแต่พระราชาผู้แสวงหาคุณใหญ่ ขอพระองค์ทรงประทับใกล้ๆ กับท้าวเทวราชเสียแต่บัดนี้เถิด ฝ่ายท้าววาสวสักกเทวราชทรงชื่นชมยินดี เชื้อเชิญพระเจ้าสาธินราชผู้ครองมิถิลานครด้วยทิพยกามารมณ์และอาสนะว่า ข้าแต่พระราชฤาษี เป็นการดีแล้วที่พระองค์เสด็จมาถึงที่อยู่ของทวยเทพผู้บันดาลให้เป็นไปในอำนาจได้ ขอเชิญพระองค์
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 501
ประทับอยู่ในหมู่ทวยเทพผู้ให้สำเร็จทิพยกามารมณ์ทุกอย่าง ขอเชิญพระองค์ทรงเสวยกามคุณอันมิใช่ของมนุษย์ในหมู่ทวยเทพชั้นดาวดึงส์เถิด".
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมจฺฉเร แปลว่า ย่อมปรารถนา.
บทว่า อคา เทวาน สนฺติเก ความว่า ได้ครรไลไป ณ สำนักแห่งหมู่เทพ แท้จริงเมื่อพระเจ้าสาธินราชเสด็จรถประทับเรียบร้อยแล้ว รถก็ออกแล่นไปสู่อากาศ แล้วหายวับไปทั้งๆ ที่มหาชนกำลังแหงนดูอยู่นั่นแล เทพบุตรมาตลีนำเสด็จพระราชาสู่เทวโลก หมู่เทวดาและท้าวสักกะเห็นท้าวเธอต่างร่าเริงดีใจพากันลุกขึ้นรับกระทำปฏิสันถาร เพื่อแสดงความข้อนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระคาถามีคำว่า ตํ เทวา เป็นอาทิ.
ในพระคาถานั้น บทว่า ปฏินนฺทิํสุ ความว่า ยินดีเนืองๆ.
บทว่า อาสเนน จ ความว่า ท้าวสักกะทรงสวมกอดพระราชา ทรงเชื้อเชิญด้วยบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของท้าวสักกะว่า เชิญประทับนั่งตรงนี้ และทรงเชื้อเชิญด้วยสิ่งน่าปรารถนาทั้งหลาย แบ่งเทวราชสมบัติให้กึ่งหนึ่ง ให้ประทับร่วมอาสนะกัน.
เมื่อพระเจ้าสาธินราชพระองค์นั้น ทรงเสวยราชสมบัติอันท้าวสักกเทวราชทรงแบ่งเทพนครมีประมาณหมื่นโยชน์ และนางเทพอัปสรสองโกฏิกึ่ง กับเวชยันตปราสาทประทานให้ครึ่งหนึ่ง กาลเวลาล่วงไปถึง ๗๐๐ ปี ด้วยการนับตามปีมนุษย์ พระองค์ประทับอยู่ในเทวโลกด้วยอัตภาพนั้น เมื่อเวลาสิ้นบุญ พระองค์เกิดเบื่อหน่าย เพราะฉะนั้น เมื่อท้าวเธอจะตรัสสนทนากับท้าวสักกะ จึงตรัสพระคาถาว่า.
"ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐกว่าจอมเทพ เมื่อหม่อมฉันมาถึงสวรรค์แล้ว ย่อมยินดีด้วยการฟ้อนรำ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 502
ขับร้องและเครื่องประโคมทั้งหลาย บัดนี้ หม่อมฉันนั้นไม่ยินดีอยู่ในสวรรค์เลย จะหมดอายุหรือใกล้จะตายหรือว่าหม่อมฉันหลงใหลไปเสียแล้ว".
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อายุนฺนุ ขีณํ ความว่า พระเจ้าสาธินราชทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้ประเสริฐกว่าจอมนรชนและเทพทั้งหลาย ชีวิตินทรีย์ในสรีระของหม่อมฉันสิ้นแล้วหรือไฉนเล่าหรือว่าชีวิตินทรีย์เกิดจะใกล้ต่อมรณะด้วยอำนาจกรรมอันจะตัดรอน.
ลำดับนั้น ท้าวสักกะตรัสท้าวเธอว่า.
"ข้าแต่พระองค์ ผู้แกล้วกล้ากว่านรชนผู้ประเสริฐ พระชนมายุของพระองค์ยังไม่หมดสิ้น ความสิ้นพระชนม์ก็ยังห่างไกล อนึ่ง พระองค์จะได้ทรงหลงใหลไปก็หาไม่ แต่ว่าวิบากแห่งบุญกุศลของพระองค์ที่ได้ทรงเสวยในเทวโลกนี้มีน้อยไป ข้าแต่พระราชา ผู้ประเสริฐ ผู้เป็นใหญ่ทั่วทิศ ขอเชิญพระองค์ประทับอยู่ เสวยกามคุณอันมิใช่ของมนุษย์ในหมู่ทวยเทพชาวดาวดึงส์ด้วยเทวานุภาพต่อไปเถิด".
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปริตฺตกานิ นี้ ท้าวสักกะทรงหมายถึง บุญอันให้วิบากในเทวโลกด้วยอัตภาพนั้น จึงตรัสดังนี้ แต่ว่าบุญของพระสาธินราชนอกจากนี้หาประมาณมิได้ ประดุจฝุ่นในแผ่นดินฉะนั้น.
บทว่า วส เทวานุภาเวน ความว่า หม่อมฉันขอแบ่งบุญทั้งหลายของตนถวายแด่พระองค์ เชิญพระองค์ประทับอยู่ด้วยอานุภาพของหม่อมฉันเถิด พระเจ้าข้า.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 503
ท้าวสักกะเมื่อทรงปลอบพระเจ้าสาธินราชนั้น จึงตรัสพระคาถาว่า.
"เป็นการดีนักแล ที่พระองค์เสด็จถึงที่อยู่แห่งเทพผู้ทรงอำนาจ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นราชาเพียงดังฤาษี เชิญประทับอยู่ในหมู่เทพผู้มีความปรารถนาทุกอย่างสำเร็จได้ เชิญบริโภคกามอันมิใช่ของมนุษย์ในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์เถิด".
พระมหาสัตว์เมื่อจะทรงห้ามท้าวเธอเสียจึงตรัสพระคาถาว่า.
"ขอยืมยานเขามาขับ ขอยืมทรัพย์เขามาใช้ฉันใด การที่ได้เสวยความสุขเป็นความสุขที่ผู้อื่นยื่นให้ ก็เปรียบกันได้ฉะนั้นแล ก็แลการได้เสวยความสุขโดยเป็นความสุขที่ผู้อื่นยื่นให้ หม่อมฉันไม่ปรารถนาเลย บุญทั้งหลายอันหม่อมฉันทำเองแล้วนั้นย่อมเป็นทรัพย์อันอาจติดตามหม่อมฉันไปได้ หม่อมฉันไปในมนุษย์แล้ว จักได้ทำกุศลให้มาก ที่บุคคลกระทำแล้วได้รับความสุขและไม่ต้องเดือดร้อนในภายหลัง ด้วยทาน ด้วยการประพฤติสม่ำเสมอ ด้วยการสำรวม ด้วยการฝึกตน".
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยํ ปรโต ทานปจฺจยา ความว่า สิ่งใดที่ได้เพราะผู้อื่นให้ สิ่งนั้นเป็นเช่นเดียวกันกับของที่ขอยืมนั่นเอง เพราะว่า บุคคลย่อมให้ยืมกันได้ในเวลาที่ดีกัน ในเวลาที่โกรธกันก็ยื้อแย่งเอาไปได้ หม่อมฉันกระทำกรรมที่บุคคลการทำแล้วมีความสุขด้วย ไม่ต้องเดือดร้อนในภายหลังด้วยเช่นนั้นเหมือนกัน.
บทว่า สมจริยาย คือ ด้วยการไม่ทำบาปด้วยกายเป็นต้น.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 504
บทว่า สํยเมน คือ ความสำรวมในศีล.
บทว่า ทเมน คือ ด้วยการฝึกอินทรีย์.
บทว่า ยํ กตฺวา ความว่า การฝึกตนที่บุคคลทำแล้วได้รับความสุข และไม่ตามเดือดร้อนในภายหลัง.
ครั้นท้าวสักกะทรงสดับพระดำรัสของพระเจ้าสาธินราชนั้นแล้ว ทรงสั่งเทพบุตรมาตลีว่า ไปเถิด นำเสด็จพระเจ้าสาธินราชไปสู่มิถิลาให้เสด็จลงในพระอุทยาน มาตลีเทพบุตรนั้นได้กระทำตามเทวบัญชา พระราชาเสด็จพระจงกรมอยู่ในพระอุทยานนั่นเอง ครั้งนั้นนายอุทยานบาลเห็นพระองค์แล้ว ก็ไปกราบทูลแด่พระราชานารทะ ฝ่ายพระเจ้านารทะนั้นทรงสดับการเสด็จมาของพระราชาแล้ว ตรัสว่า นายอุทยานบาล เจ้าจงล่วงหน้าไปเตรียมอุทยาน จัดตั้งอาสนะไว้ ๒ ที่ สำหรับพระราชานั้นที่ ๑ สำหรับเราที่ ๑ ทรงส่งนายอุทยานบาลนั้นไป เขาได้กระทำตามพระบัญชา ที่นั้นพระราชาจึงตรัสถามเขาว่า เจ้าจัดตั้งอาสนะ ๒ ที่ เพื่อใครเล่า กราบทูลว่าเพื่อพระองค์ที่ ๑ เพื่อพระราชาของพวกข้าพระองค์ที่ ๑ พระเจ้าข้า ครั้งนั้นพระราชาตรัสว่า สัตว์อื่นใครเล่าจักนั่งเหนืออาสนะในสำนักของเรา แล้วประทับนั่งเหนืออาสนะ ๑ วางพระบาททั้งคู่เหนืออาสนะ ๑ พระราชานารทะเสด็จมาถวายบังคมพระบาทยุคลของพระองค์แล้ว ประทับนั่ง ณ ที่อันสมควรข้างหนึ่ง ได้ยินว่า พระเจ้านารทะเป็นพระนัดดาของพระเจ้าสาธินราชองค์ที่ ๗ ทีเดียว ข่าวว่าครั้งนั้น พระเจ้านารทะทรงพระชนมายุได้ ๑๐๐ พรรษาแล้ว แต่พระมหาสัตว์ทรงพระชนม์ยืนนานตลอดกาลเพียงนี้ ด้วยกำลังบุญของพระองค์ พระองค์ทรงจูงพระหัตถ์ของพระเจ้านารทะ เสด็จเที่ยวไปในพระอุทยาน ได้ตรัสพระคาถา ๓ คาถาว่า.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 505
"ที่ตรงนี้เป็นไร่นา ที่ตรงนี้ตรง ร่องน้ำตรงดี ที่ตรงนี้เป็นภูมิภาคมีหญ้าแพรกเขียวสะพรั่ง ที่ตรงนี้เป็นแม่น้ำไหลอยู่ไม่ขาดสาย ที่ตรงนี้เป็นสระโบกขรณีอันน่ารื่นรมย์ มีฝูงนกจากพรากร้องเสียงระงม เปี่ยมไปด้วยน้ำใสสะอาด ดารดาษไปด้วยดอกปทุมและดอกอุบล พวกข้าเฝ้าและนางสนมพากันยึดถือสถานที่เหล่านี้ว่าเป็นของเรา เขาเหล่านั้นพากันไปเสียทางทิศใดหนอ ดูก่อนพ่อนารทะ ไร่นาเหล่านั้น ภูมิภาคตรงนั้น และอุปจารแห่งสวนและป่าไม้ยังคงมีอยู่ดังเดิม เมื่อเราไม่เห็นหมู่ชนเหล่านั้น ทิศทั้งหลายก็ปรากฏว่า ว่างเปล่าแก่เรา".
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เขตฺตานิ นี้ ตรัสหมายถึงภูมิภาคทั้งหลาย.
บทว่า อิมํ นิกฺขํ คือที่นี้เป็นทางระบายนี้ คงเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน.
บทว่า สุกุณฺฑลํ คือที่มีคลองหลอดอันส่งน้ำเข้าถึงโรงสูบอันงดงาม.
บทว่า หริตานุปา ความว่า ในสองฝั่งแห่งทางระบายน้ำ มีพื้นดินเป็นสนามดาดาษด้วยหญ้าแพรกเขียวชอุ่ม.
บทว่า ยสฺสิมานิ มมายิํสุ ความว่า พ่อนารทะเอ๋ย บรรดาข้าเฝ้าและนักสนมของเราที่พากันเที่ยวเล่นกับเราด้วยยศอันใหญ่หลวงในอุทยานนี้ ต่างพากันยึดจองรักใคร่สถานที่เหล่านี้.
บทว่า กตรํ นุ เต ทิสํ คตา ความว่า พ่อได้ส่งคนเหล่านั้นไป ณ ที่ไหนล่ะ.
บทว่า ตานิ เขตฺตานิ ได้แก่ ที่อันเป็นที่สำหรับเพาะปลูกพืชพรรณอย่างงอกงาม.
บทว่า เต เม อารามวนูปจารา คือพื้นที่เป็นที่ตั้งแห่งที่อยู่เหล่านั้นเป็นอุปจารแห่งสวนและป่ายังอยู่ที่นั้นแล.
ครั้งนั้นพระเจ้านารทะกราบทูลท้าวเธอว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 506
"ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ เมื่อพระองค์เสด็จไปเทวโลกกำหนดได้ ๗๐๐ ปีเข้านี้แล้ว หม่อมฉันเป็นหลานคนที่ ๗ ของพระองค์ อุปัฏฐากของพระองค์สิ้นพระชนม์ไปหมดแล้ว ขอเชิญพระองค์เสวยราชสมบัติอันเป็นส่วนของพระองค์เถิด พระเจ้าข้า".
พระราชาตรัสว่า พ่อนารทะเอ๋ย ฉันมาที่นี้ มิได้มาเพื่อต้องการราชสมบัติ มาเพื่อต้องการทำบุญ ฉันจักทำบุญเท่านั้น จึงตรัสพระคาถาว่า.
"วิมานทั้งหลายอันสว่างไสวทั้งสี่ทิศ ฉันได้เห็นแล้วเฉพาะพระพักตร์ของท้าวสักกเทวราชและเฉพาะหน้าของทวยเทพชาวไตรทศ ภพที่ฉันเห็นอยู่เป็นทิพย์ กามทั้งหลายอันมิใช่ของมนุษย์ฉันได้บริโภคแล้วในทวยเทพของชาวไตรทศ ภพที่ฉันอยู่ก็เป็นทิพย์ กามทั้งหลายอันมิใช่ของมนุษย์ฉันได้บริโภคแล้ว ในทวยเทพชาวดาวดึงส์ผู้สำเร็จสิ่งที่น่าปรารถนาทุกอย่าง ฉันนั้นละสมบัติเช่นนั้นเสียแล้วมาในมนุษยโลกนี้ เพื่อต้องการทำบุญเท่านั้น ฉันจักประพฤติแต่ธรรมเท่านั้น ฉันไม่มีความต้องการด้วยราชสมบัติ ฉันจักดำเนินไปตามทางที่ท่านผู้ไม่มีอาชญาพากันท่องเที่ยวไป อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ซึ่งเป็นทางสำหรับไปของท่านผู้มีวัตรงามทั้งหลาย".
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วุตฺถํ เม ภวนํ ทิพฺยํ นี้ พระเจ้าสาธินราชตรัสหมายถึง เวชยันตปราสาท.
บทว่า โสหํ เอตาทิสํ ความว่า พ่อนารทะเอ๋ย ฉันนั้นต้องทอดทิ้งความพร้อมมูลแห่งกามคุณ ที่พระพุทธญาณ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 507
ไม่พึงกำหนดเห็นปานฉะนี้มา ณ ที่นี้ เพื่อต้องการทำบุญ.
บทว่าอทณฺฑาวจรํ ความว่า หนทางมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิเป็นเบื้องหน้า ที่มวลท่านผู้ไม่มีอาชญา วางท่อนไม้และศาสตราเสียแล้ว พึงดำเนิน.
บทว่า สุพฺพตา ความว่า ท่านผู้มีวัตรดีงาม ได้แก่ พระสัพพัญญูพุทธเจ้าทั้งหลายทรงดำเนินโดยทางใด แม้ฉันก็จักขอนั่งเหนือพื้นแห่งโพธิ เพื่อไปถึงทิศที่ไม่เคยไป จักดำเนินไปสู่หนทางนั้นเหมือนกัน.
พระโพธิสัตว์ตรัสคาถาเหล่านั้นใส่ไว้ในพระสัพพัญญุตญาณด้วยประการฉะนี้ ครั้งนั้นพระราชานารทะกราบทูลย้ำกะพระองค์อีกว่า เชิญพระองค์ทรงครองราชสมบัติสืบไปเถิด พระเจ้าข้า ตรัสว่า พ่อเอ๋ย ฉันไม่ต้องการราชสมบัติ จะขอให้ทานฉลอง ๗๐๐ ปี เพียง ๗ วันเท่านั้นแหละ พระราชานารทะทรงรับพระดำรัสของพระองค์ว่า เชิญเถิด พระเจ้าข้า ทรงเตรียมมหาทาน พระราชาทรงให้มหาทานตลอด ๗ วัน ในวันที่ ๗ สิ้นพระชนม์ บังเกิดในภพชั้นดาวดึงส์นั้นเอง.
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงแสดงว่า ดูก่อน อุบาสกทั้งหลาย อันอุโบสถกรรมควรที่จะพึงบำเพ็ญด้วยประการฉะนี้ แล้วทรงประกาศสัจจะทั้งหลาย เมื่อจบสัจจะบรรดาอุบาสกผู้รักษาอุโบสถเหล่านั้น บางพวกดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล บางพวกในสกทาคามิผล บางพวกในอนาคามิผล บางพวกในอรหัตตผล แล้วประชุมชาดกว่า พระราชานารทะในครั้งนั้น ได้มาเป็นสารีบุตร เทพบุตรมาตลี ได้มาเป็นพระอานนท์ ท้าวสักกะ ได้มาเป็นอนุรุทธะ บริษัทที่เหลือได้มาเป็นพุทธบริษัท ส่วนพระเจ้าสาธินราช ได้มาเป็นเราแล.
จบอรรถกถาสาธินราชชาดก