๑๓. ภิกษุปรัมปรชาดก ว่าด้วยการให้ทานในท่านใด มีผลมาก
[เล่มที่ 60] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 530
๑๓. ภิกษุปรัมปรชาดก
ว่าด้วยการให้ทานในท่านใด มีผลมาก
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 60]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 530
๑๓. ภิกษุปรัมปรชาดก
ว่าด้วยการให้ทานในท่านใด มีผลมาก
[๒๐๒๔] ข้าพระพุทธเจ้าได้เห็นพระองค์ ผู้ทรงเป็นสุขุมาลชาติ เคยประทับในพระตำหนักอันประเสริฐ ทรงบรรทมเหนือพระยี่ภู่อันใหญ่โต เสด็จจากแว่นแคว้นมาสู่ดง จึงได้ทูลถวายข้าวสุกอย่างดีแห่งข้าวสาลี เป็นภัตอันวิจิตร มีแกงเนื้ออันสะอาด ด้วยความรักต่อพระองค์ พระองค์ทรงรับภัตนั้นแล้ว มิได้เสวยด้วยพระองค์เอง ได้พระราชทานแก่พราหมณ์ ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายบังคมพระองค์ ข้อนี้เป็นธรรมอะไรของพระองค์.
[๒๐๒๕] พราหมณ์เป็นอาจารย์ของฉัน เป็นผู้ขวนขวายในกิจน้อยกิจใหญ่ ทั้งเป็นครูและเป็นผู้คอยตักเตือน ฉันควรให้โภชนะ.
[๒๐๒๖] บัดนี้ ข้าพเจ้าขอถามท่านพราหมณ์ ผู้โคดมอันพระราชาทรงบูชา พระราชาทรงพระราชทานภัต อันมีแกงเนื้ออย่างสะอาดแก่ท่าน ท่านรับภัตนั้นแล้วได้ถวายโภชนะแก่ฤาษี ชะรอยท่านจะรู้ว่า ตนมิได้เป็นเขตแห่งทาน ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแก่ท่าน ธรรมข้อนี้เป็นธรรมอะไรของท่าน.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 531
[๒๐๒๗] ข้าพเจ้ายังกำหนัดอยู่ในเรือนทั้งหลาย ต้องเลี้ยงบุตรและภรรยา ถวายอนุศาสน์แก่พระราชา เชิญให้เสวยกามอันเป็นของมนุษย์ ข้าพเจ้าควรถวายโภชนะแก่ฤาษี ผู้อยู่ในป่าสิ้นกาลนาน ผู้เรืองตบะ เป็นวุฒิบุคคลอบรมตนแล้ว.
[๒๐๒๘] บัดนี้ ข้าพเจ้าขอถามท่านฤาษี ผู้ซูบผอม สะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น มีเล็บและขนรักแร้งอกยาว ฟันเขลอะ มีธุลีบนศีรษะ ท่านอยู่ในป่าผู้เดียวไม่ห่วงใยชีวิต ภิกษุที่ท่านถวายโภชนะนั้นดีกว่าท่านด้วยคุณข้อไหน.
[๒๐๒๙] อาตมภาพยังขุดเผือก มันมือเสือ มันนก ยังเก็บข้าวฟ่างและลูกเดือยมาตากตำ เที่ยวหาฝักบัว เหง้าบัว น้ำผึ้ง เนื้อสัตว์ พุทราและมะขามป้อมมาบริโภค ความยึดถือนั้นของอาตมายังมีอยู่ เมื่ออาตมายังหุงต้ม ก็ควรถวายโภชนะแก่ท่านผู้ไม่หุงต้ม ยังมีกังวล ก็ควรถวายโภชนะแก่ผู้ไม่มีความห่วงใย ยังมีความถือมั่น ก็ควรถวายโภชนะแก่ท่านผู้ไม่มีความถือมั่น.
[๒๐๓๐] บัดนี้ กระผมขอถามท่านภิกษุผู้นั่งนิ่ง มีวัตรอันดี พระฤาษีถวายภัตตาหารอันปรุงด้วยเนื้อสะอาดแก่ท่านดังนั้น ท่านรับภัตตาหารนั้นแล้วนั่งนิ่ง ฉันอยู่องค์เดียว ไม่เชื้อเชิญใครๆ อื่น กระผมขอนมัสการแด่พระคุณท่าน นี้เป็นธรรมอะไรของพระคุณท่าน.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 532
[๒๐๓๑] อาตมาไม่ได้หุงต้มเอง ไม่ได้ให้ใครหุงต้ม ไม่ได้ตัดเอง ไม่ได้ให้ใครตัด ฤาษีรู้ว่าอาตมาไม่มีความกังวล เป็นผู้ห่างไกลจากบาปทั้งปวง จึงถือภิกษาหารด้วยมือซ้าย ถือเต้าน้ำด้วยมือขวา ถวายภัตตาหารอันปรุงด้วยเนื้อสะอาดแก่อาตมา บุคคลเหล่านี้ยังมีความห่วงใย ยังมีความยึดถือ จึงสมควรจะให้ทาน อาตมาเข้าใจเอาว่า การที่บุคคลเชื้อเชิญผู้ให้นั้นเป็นการผิด.
[๒๐๓๒] วันนี้ พระราชาผู้ประเสริฐเสด็จมา ณ ที่นี้เพื่อประโยชน์แก่ข้าพระพุทธเจ้าหนอ ข้าพระพุทธเจ้าเพิ่งทราบชัดวันนี้เองว่า ทานที่ให้ในท่านผู้ใด จะมีผลมาก พระราชาทั้งหลายทรงกังวลอยู่ในแว่นแคว้น พราหมณ์ทั้งหลายกังวลอยู่ในกิจน้อยกิจใหญ่ ฤาษีกังวลอยู่ในเหง้ามันและผลไม้ ส่วนพวกภิกษุหลุดพ้นได้แล้ว.
จบภิกษาปรัมปรชาดกที่ ๑๓
จบปกิณณกนิบาตชาดก
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 533
อรรถกถาภิกขาปรัมปรชาดก
พระศาสดา เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงพระปรารภกุฎุมพีผู้ใดผู้หนึ่ง ตรัสเรื่องนี้มีคำเริ่มต้นว่า "สุขุมาลรูปํ" ดังนี้.
เรื่องมีว่า กุฎุมพีนั้นเป็นผู้มีสัทธาเลื่อมใส กระทำมหาสักการะแด่พระตถาคตเจ้าและแด่พระสงฆ์เนืองๆ ครั้นวันหนึ่ง เขาได้คิดว่า เราถวายโภชนะอันประณีตและเนื้อละเอียดแด่พระพุทธรัตนะและพระสงฆ์กระทำมหาสักการะเนืองๆ คราวนี้ต้องกระทำมหาสักการะแก่พระธรรมรัตนะบ้าง เมื่อกระทำสักการะแก่พระธรรมรัตนะนั้นต้องทำอย่างไรเล่าหนอ เขาถือของหอมและมาลาเป็นต้น (* จำนวน) มาก ไปสู่พระวิหารเชตวัน ถวายบังคมพระศาสดา กราบทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ปรารถนาจะกระทำสักการะแก่พระธรรมรัตนะนั้น ควรกระทำอย่างไรเล่า พระเจ้าข้า ครั้งนั้น พระศาสดาตรัสกะเขาว่า ถ้าเธอปรารถนาจะกระทำสักการะแก่พระธรรมรัตนะไซร้ จงกระทำสักการะแก่อานนท์ ผู้เป็นคลังพระธรรมเถิด เขากราบทูลว่า สาธุ นิมนต์พระเถระในวันรุ่งขึ้น นำไปสู่เรือนของตนด้วยสักการะใหญ่ ให้ท่านนั่งเหนืออาสนะมีค่ามาก บูชาด้วยของหอมและมาลาเป็นต้น ถวายโภชนะมีรสเลิศต่างๆ แล้วได้ถวายผ้าราคาแพงพอแก่ไตรจีวร พระเถรเจ้าก็ดำริว่า สักการะทั้งนี้กุฎุมพีการทำแก่พระธรรมรัตนะ ไม่สมควรแก่เรา สมควรแก่พระธรรมเสนาบดี จึงนำบิณฑบาตและผ้าไปสู่พระวิหาร ถวายแด่พระสารีบุตรเถรเจ้า พระคุณท่านนั้นเล่าก็ดำริว่า สักการะทั้งนี้เขากระทำแก่พระธรรมรัตนะ ควรแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นเจ้าของแห่งพระธรรมพระองค์เดียวโดยแท้ จึงถวายแด่พระทศพล พระศาสดาไม่ทรงเห็นผู้ยิ่งกว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 534
พระองค์ จึงเสวยบิณฑบาต ทรงรับผ้าจีวร พวกภิกษุยกเรื่องขึ้นสนทนาในธรรมสภาว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย กุฎุมพีชื่อโน้นคิดจะกระทำสักการะแก่พระธรรมรัตนะ ได้ถวายแด่พระอานนท์เถรเจ้าผู้เป็นคลังพระธรรม พระเถรเจ้าดำริว่า นี้ไม่สมควรแก่ตน ได้ถวายแด่พระธรรมเสนาบดี ถึงท่านนั้นก็ดำริว่า นี้ไม่สมควรแก่ตน ได้ถวายแด่พระตถาคต ทีนั้นพระตถาคตมิได้ทรงเห็นผู้อื่นที่ยิ่งกว่าพระองค์ ทรงพระดำริว่า สักการะนั้นสมควรแก่เราเท่านั้น และทรงรับผ้าเพื่อจีวร ด้วยอาการอย่างนี้ บิณฑบาตบรรลุถึงพระบาทมูลของพระธรรมสามีทีเดียว เพราะพระองค์เป็นผู้สมควร พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อกี้พวกเธอสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อพวกภิกษุกราบทูลให้ทรงทราบแล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่ในบัดนี้เท่านั้นที่บิณฑบาตไปต่อๆ กันจนถึงผู้ที่สมควรจนได้ ในครั้งก่อนแม้เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่อุบัติก็ได้ถึงแล้วเหมือนกัน พวกภิกษุพากันกราบทูลอาราธนา ทรงนำอดีตนิทานมาดังต่อไปนี้.
ในอดีตกาล พระเจ้าพรหมทัตทรงละการลุอคติ ไม่ให้พระราชธรรมทั้ง ๑๐ ประการเสื่อมเสีย เสวยราชสมบัติโดยธรรม ณ พระนครพาราณสี เมื่อเป็นเช่นนี้ การวินิจฉัยของพระองค์ไม่ต้องมี เป็นดุจว่างเปล่า พระราชาทรงแสวงหาโทษของพระองค์ ทรงกำหนดดูแม้ทั้งภายในพระราชนิเวศน์เป็นต้น มิได้ทรงเห็นผู้กล่าวถึงโทษของพระองค์ในภายในพระราชวัง ในภายในพระนครและในหมู่บ้านใกล้ประตูพระนคร ทรงดำริว่า จักต้องแสวงหาในชนบท ทรงมอบราชสมบัติให้แก่มวลอำมาตย์ ปลอมพระองค์จาริกไปในกาสิกรัฐกับท่านปุโรหิต ไม่ทรงพบผู้ที่กล่าวโทษของพระองค์เลยสักคน เสด็จไปถึงนิคมหนึ่งในชายแดน ประทับนั่งที่ศาลานอกประตู ขณะนั้นกุฎุมพี
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 535
ผู้มีสมบัติ ๘๐ โกฏิ ชาวนิคมไปสู่ท่าน้ำกับบริวารมากมาย เห็นพระราชาผู้มีพระสรีระละเอียดอ่อน มีผิวพรรณเพียงดังทองคำ ประทับนั่งที่ศาลา เกิดความสิเนหา เข้าไปสู่ศาลากระทำปฏิสันถารแล้วทูลว่า เชิญท่านอยู่ตรงนี้เท่านั้นเถิดนะ ไปเรือนจัดแจงโภชนะมีรสเลิศต่างๆ ให้บริวารมากคนถือภาชนะใส่ภัตไป ขณะนั้นดาบสผู้อยู่ในหิมวันตประเทศได้อภิญญา ๕ มานั่ง ณ ศาลานั้นเหมือนกัน ยังมีพระปัจเจกพุทธเจ้ามาทางอากาศจากเงื้อมเขานันทมูลกะ นั่ง ณ ศาลานั้นอีกองค์หนึ่ง กุฎุมพีถวายน้ำชำระพระหัตถ์แก่พระราชา เตรียมถาดใส่ภัตพร้อมแกงและกับมีรสเลิศต่างๆ พลางน้อมเข้าไปถวาย พระราชาทรงรับภัตนั้นแล้ว พระราชทานแก่ปุโรหิต พราหมณ์รับถาดภัตนั้นแล้ว ถวายแด่ดาบส ดาบสรับถาดภัตนั้นแล้ว ไปสู่สำนักของพระปัจเจกพุทธเจ้า ถือถาดภัตไว้ด้วยหัตถ์เบื้องซ้าย ถือเต้าน้ำด้วยหัตถ์เบื้องขวา ถวายทักษิโณทกแล้ว ใส่ภัตลงในบาตร ท่านมิได้เชื้อเชิญ มิได้ไต่ถามใครๆ ฉันแล้ว ในเวลาที่ท่านเสร็จภัตกิจ กุฎุมพีดำริว่า เราถวายภัตแก่พระราชา พระราชาพระราชทานภัตแก่ปุโรหิต ปุโรหิตถวายแด่ดาบส ดาบสถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า ไม่ไต่ถามใครเลยทีเดียวฉันแล้ว อะไรเล่าหนอเป็นเหตุบังคับแห่งการให้ของท่านเหล่านี้ ผู้มีเท่านี้ อะไรเล่าเป็นเหตุบังคับให้มิต้องไต่ถามใครๆ ฉันเลยของพระปัจเจกพุทธเจ้านี้ เราต้องถามท่านเหล่านั้นตามลำดับ เขาเข้าไปหาทีละท่าน ไหว้แล้วถาม แม้ท่านเหล่านั้นก็บอกเขาดังต่อไปนี้.
"ข้าพระพุทธเจ้าได้เห็นพระองค์ผู้ทรงเป็นสุขุมาลชาติ เคยประทับในพระตำหนักอันประเสริฐ ทรงบรรทมเหนือพระยี่ภู่อันใหญ่โต เสด็จจากแว่นแคว้นมาสู่ดง จึงได้ทูลถวายข้าวสุกอย่างดีแห่งข้าว
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 536
สาลี เป็นภัตอันวิจิตร มีแกงเนื้ออันสะอาดด้วยความรักต่อพระองค์ พระองค์ทรงรับภัตนั้นแล้วมิได้เสวยด้วยพระองค์เอง ให้พระราชทานแก่พราหมณ์ ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายบังคมพระองค์ ข้อนี้เป็นธรรมอะไรของพระองค์".
"พราหมณ์เป็นอาจารย์ของฉัน เป็นผู้ขวนขวายในกิจน้อยกิจใหญ่ทั้งเป็นครูและผู้คอยตักเตือน ฉันควรให้โภชนะ".
"บัดนี้ ข้าพเจ้าขอถามท่านพราหมณ์ผู้โคดมอันพระราชาทรงบูชา พระราชาทรงพระราชทานภัต อันมีแกงเนื้ออย่างสะอาดแก่ท่าน ท่านรับภัตนั้นแล้วได้ถวายโภชนะแก่ฤาษี ชะรอยท่านจะรู้ว่าตนมิได้เป็นเขตแห่งทาน ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแก่ท่าน ธรรมข้อนี้เป็นธรรมอะไรของท่าน".
"ข้าพเจ้ายังกำหนัดอยู่ในเรือนทั้งหลาย ต้องเลี้ยงบุตรและภรรยา ถวายอนุศาสน์แก่พระราชา เชิญให้เสวยกามอันเป็นของมนุษย์ ข้าพเจ้าควรถวายโภชนะแก่ฤาษี ผู้อยู่ในป่าสิ้นกาลนาน ผู้เรืองตบะเป็นวุฒิบุคคลอบรมตนแล้ว".
"บัดนี้ ข้าพเจ้าขอถามท่านฤาษีผู้ซูบผอมสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น มีเล็บและขนรักแร้งอกยาว ฟันเขลอะ มีธุลีบนศีรษะ ท่านอยู่ในป่าผู้เดียวไม่ห่วงใยชีวิต ภิกษุที่ท่านถวายโภชนะนั้นดีกว่าท่านด้วยคุณข้อไหน".
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 537
"อาตมภาพยังขุดเผือก มันมือเสือ มันนก ยังเก็บข้าวฟ่างและลูกเดือยมาตากตำ เที่ยวหาฝักบัว เหง้าบัว น้ำผึ้ง เนื้อสัตว์ พุทราและมะขามป้อมมาบริโภค ความยึดถือนั้นของอาตมายังมีอยู่ เมื่ออาตมายังหุงต้ม ก็ควรถวายโภชนะแก่ท่านผู้ไม่หุงต้ม ยังมีกังวล ก็ควรถวายโภชนะแก่ผู้ไม่มีความห่วงใย ยังมีความถือมั่น ก็ควรถวายโภชนะแก่ท่านผู้ไม่มีความถือมั่น".
"บัดนี้ กระผมขอถามท่านภิกษุผู้นั่งนิ่ง มีวัตรอันดี พระฤาษีถวายภัตตาหารอันปรุงด้วยเนื้อสะอาดแก่ท่านดังนั้น ท่านรับภัตตาหารนั้นแล้วนั่งนิ่ง ฉันอยู่องค์เดียว ไม่เชื้อเชิญใครๆ อื่น กระผมขอนมัสการแก่พระคุณท่าน นี้เป็นธรรมอะไรของพระคุณท่าน".
"อาตมาไม่ได้หุงต้มเอง ไม่ได้ให้ใครหุงต้ม ไม่ได้ตัดเอง ไม่ได้ให้ใครตัด ฤาษีรู้ว่าอาตมาไม่มีความกังวล เป็นผู้ห่างไกลจากบาปทั้งปวง จึงถือภิกษาหารด้วยมือซ้าย ถือเต้าน้ำด้วยมือขวา ถวายภัตตาหารอันปรุงด้วยเนื้อสะอาดแก่อาตมา บุคคลเหล่านี้ยังมีความห่วงใย ยังมีความยึดถือ จึงสมควรจะให้ทาน อาตมาเข้าใจเอาว่า การที่บุคคลเชื้อเชิญผู้ให้นั้นเป็นการผิด".
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิวนํ ความว่า เคยเสด็จมาสู่ชายแดนนี้ อันเป็นเสมือนป่าที่หาน้ำมิได้.
บทว่า กูฏาคารวรูเปตํ ความว่า เคยเสด็จเข้าไปแต่พระตำหนักอันประเสริฐ คือเคยประทับอยู่ในพระตำหนักอันประเสริฐ.
บทว่า มหาสยนมุปาสิตํ คือเคยเสด็จเข้าสู่พระแท่นสิริยาสน์อันตกแต่งไว้
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 538
เป็นอันดี ในพระตำหนักนั้นเอง.
บทว่า ตสฺส เต ความว่า ข้าพระองค์เห็นพระองค์ผู้เห็นปานนี้.
บทว่า เปมเกน ความว่า ความจงรักอันมีต่อพระองค์นั้น.
บทว่า วฑฺฒโมทนํ ได้แก่ ข้าวสุกอย่างดี.
บทว่า วิจิตฺตํ ความว่า อันหุงด้วยข้าวสารอันงดงามปราศจากเม็ดหักและเม็ดดำ.
บทว่า อทาปยิ แปลว่า ได้ถวายแล้ว.
บทว่า อตฺตานํ แปลว่า ด้วยพระองค์ อีกอย่างหนึ่งบาลีก็อย่างนี้เหมือนกัน.
บทว่า อนสิตฺวาน แปลว่า มิได้เสวยแล้ว.
บทว่า โกยํ ธมฺโม ความว่า ข้อนี้เป็นสภาวธรรมอะไรของพระองค์ พระเจ้าข้า.
บทว่า นมตฺถุ เต ความว่า ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายบังคมแด่พระองค์ ผู้มิได้เสวยด้วยตนแล้วพระราชทานแก่ผู้อื่น.
บทว่า อาจริโย ความว่า ดูก่อนกุฎุมพี พราหมณ์ผู้นี้เป็นอาจารย์ผู้ฝึกสอนอาจาระของฉัน.
บทว่า ปาวโต แปลว่า ผู้ขวนขวาย.
บทว่า อามนฺตนิโก ความว่า ควรที่ฉันจะพึงเชื้อเชิญ คือเหมาะที่จะถือเอาสิ่งที่ฉันให้.
บทว่า ทาตุมรหามิ ความว่า เพราะเหตุนั้น ฉันจึงควรให้โภชนะแก่อาจารย์เห็นปานนี้ ทั้งนี้พระราชาทรงพรรณนาคุณของพราหมณ์.
บทว่า อเขตฺตญฺญูสิ ความว่า ชะรอยว่าท่านจะทราบเขตของทานโดยแท้ คือการให้ในตนมิใช่เขตเช่นนี้ว่า สิ่งที่ให้แล้วในเรา มิได้มีผลมากเลย.
บทว่า อนุสาสามิ ความว่า ท่านปุโรหิตกล่าวถึงโทษในตนอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าละทิ้งประโยชน์ตน ถวายอนุสาสน์อรรถและธรรมแด่พระราชา.
บทว่า อารญฺิกสฺส คือปุโรหิตกล่าวคุณของพระฤาษี.
บทว่า อิสิโน ได้แก่ ผู้แสวงหาคุณมีศีลเป็นต้น.
บทว่า ตปสฺสิโน คือผู้บำเพ็ญตบะ.
บทว่า วุฑฺฒสฺส ได้แก่ ผู้เป็นบัณฑิตเจริญด้วยคุณธรรม.
บทว่า นาวกงฺขสิ ความว่า ทั้งตนเองก็หาโภชนะได้ยาก ยังให้โภชนะเช่นนี้แก่ผู้อื่น ไม่ห่วงใยในชีวิตของตนเลยหรือ.
บทว่า ภิกฺขุ เกน คือภิกษุนี้ประเสริฐกว่าท่านด้วยคุณข้อไหน.
บทว่า ขณมาลุกลมฺพานิ ความว่า อาตมายังขุดเผือกมัน.
บทว่า พิลาลิตกฺกลานิ จ ความว่า มันมือเสือ และมันนก.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 539
บทว่า ธุนิสามากนิวารํ ความว่า ยังสลัดข้าวฟ่างและลูกเดือย.
บทว่า สสาทิยํ ปสาทิยํ ความว่า เมื่อสลัดข้าวฟ่างและลูกเดือยเหล่านั้นได้ ก็ผึ่งแดดแล้วซ้อมที่แห้งแล้วอีก ฟัดด้วยกระด้ง ตำเป็นข้าวสารนำมาหุงต้มบริโภค.
บทว่า สากํ ได้แก่ ผักชนิดหนึ่งที่เป็นกับข้าวได้.
บทว่า มํสํ ได้แก่ เนื้อ มีเนื้ออันเป็นเดนราชสีห์และเสือโคร่งเป็นต้น.
บทว่า ตานิ อาหตฺถ ความว่า นำผักเป็นต้นเหล่านั้นมา.
บทว่า อมมสฺส ได้แก่ ผู้หมดความห่วงใยว่าของเราด้วยอำนาจตัณหาและทิฏฐิ.
บทว่า สกิญฺจโน ได้แก่ ยังมีความห่วงใย.
บทว่า อนาทานสฺส ได้แก่ ผู้ไม่ยึดถือ.
บทว่า ทาตุมรหามิ ความว่า ย่อมควรเพื่อจะให้โภชนะที่ตนได้แล้วแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าเห็นปานนี้.
บทว่า ตุณฺหิมาสินํ คือนั่งไม่พูดกะใครๆ.
บทว่า อกิญฺจนํ คือผู้เว้นจากความห่วงใยด้วยอำนาจราคะเป็นต้น.
บทว่า อารนํ ได้แก่ เว้นขาดแล้ว คือละบาปทั้งปวงตั้งอยู่.
บทว่า กมณฺฑลุํ ได้แก่ ลักจั่น.
บทว่า เอเต หิ ความว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าท่านเหยียดมือชี้ว่า คนทั้ง ๓ มีพระราชาเป็นต้นเหล่านี้.
บทว่า ทาตุมรหนฺติ ความว่า ย่อมควรที่จะให้แก่บุคคลเช่นเรา.
บทว่า ปจฺจนีกํ ความว่า ความจริงการเชื้อเชิญผู้ให้นะ เป็นปฏิปทาที่ผิด คือนี้เป็นการเลี้ยงชีวิตด้วยการแสวงหาปิณฑะตอบแทนบิณฑะ อย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาอเนสนา ๒๑ อย่าง ย่อมชื่อว่าเป็นมิจฉาปฏิบัติ.
กุฎุมพีฟังคำนั้นของท่านแล้วดีใจ กล่าวคาถาสุดท้าย ๒ คาถาว่า.
"วันนี้ พระราชาผู้ประเสริฐเสด็จมา ณ ที่นี้ เพื่อประโยชน์แก่ข้าพระพุทธเจ้าหนอ ข้าพระพุทธเจ้าเพิ่งทราบชัดวันนี้เองว่า ทานที่ให้ในท่านผู้ใดจักมีผลมาก พระราชาทั้งหลายทรงกังวลอยู่ในแว่นแคว้น พราหมณ์ทั้งหลายกังวลอยู่ในกิจน้อยกิจใหญ่ ฤาษีกังวลอยู่ในเหง้ามันและผลไม้ ส่วนพวกภิกษุหลุดพ้นได้แล้ว".
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้า 540
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า รเถสโภ พระจอมรถ กุฎุมพีพูดหมายความถึงพระราชา.
บทว่า กิจฺจากิจฺเจสุ คือในกิจของพระราชาที่ตนพึงกระทำ.
บทว่า ภิกฺขโว ความว่า แต่พระภิกษุผู้ปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายพ้นได้แล้วจากภพทั้งปวง.
พระปัจเจกพุทธเจ้าแสดงธรรมแก่เขาแล้ว ก็กลับไปสู่สถานแห่งตนทีเดียว ดาบสก็เหมือนกัน ส่วนพระราชาทรงพักอยู่ในสำนักของเขาสองสามวัน แล้วเสด็จไปสู่พระนครพาราณสีเหมือนกัน.
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสย้ำว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่บิณฑบาตไปถึงที่สมควรจนได้ แม้ในครั้งก่อนก็ได้ไปถึงแล้วเหมือนกัน ทรงประชุมชาดกว่า กุฎุมพีผู้บูชาธรรมครั้งนั้น ได้มาเป็นกุฎุมพีผู้ทำสักการะแก่พระธรรมรัตนะ พระราชา ได้มาเป็นอานนท์ ปุโรหิต ได้มาเป็นสารีบุตร พระปัจเจกพุทธเจ้า ได้ปรินิพพานแล้ว ส่วนดาบสจากหิมพานต์ ได้มาเป็นเราตถาคตแล.
จบอรรถกถาภิกขาปรัมปรชาดก
จบอรรถกถาปกิณณกนิบาตชาดก
รวมชาดกที่มีในปกิณณกนิบาตนี้ คือ
๑. สาลิเกทารชาดก ๒. จันทกินนรชาดก ๓. มหาอุกกุสชาดก ๔. อุททาลกชาดก ๕. ภิสชาดก ๖. สุรุจิชาดก ๗. ปัญจุโปสถิกชาดก ๘. มหาโมรชาดก ๙. ตัจฉสูกรชาดก ๑๐. มหาวาณิชชาดก ๑๑. สาธินราชชาดก ๑๒. ทสพราหมณชาดก ๑๓. ภิกขาปรัมปรชาดก และอรรถกถา.