พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. จิตตสัมภูตชาดก ว่าด้วยผลของกรรม

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ส.ค. 2564
หมายเลข  35965
อ่าน  517

[เล่มที่ 61] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 31

๒. จิตตสัมภูตชาดก

ว่าด้วยผลของกรรม


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 61]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 31

๒. จิตตสัมภูตชาดก

ว่าด้วยผลของกรรม

[๒๐๕๔] กรรมทุกอย่างที่นรชนสั่งสมไว้แล้ว ย่อมมีผลเสมอไป ขึ้นชื่อว่ากรรม แม้จะเล็กน้อย ที่จะไม่ให้ผลเป็นไม่มี เราได้เห็นตัวของเรา ผู้ชื่อว่าสัมภูตะ มีอานุภาพมาก อันบังเกิดขึ้นด้วยผลบุญ เพราะกรรมของตนเอง กรรมทุกอย่างที่นรชนสั่งสมไว้แล้ว ย่อมมีผลเสมอไป ขึ้นชื่อว่ากรรมแม้จะเล็กน้อย ที่จะไม่ให้ผลเป็นไม่มี มโนรถของเราสำเร็จ แม้ฉันใด มโนรถแม้ของจิตตบัณฑิต พระเชษฐาของเรา ก็คงสำเร็จแล้วฉันนั้น กระมังหนอ.

[๒๐๕๕] ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ กรรมทุกอย่างที่นรชนสั่งสมไว้แล้ว ย่อมมีผลเสมอไป ขึ้นชื่อว่ากรรมแม้จะเล็กน้อย ที่จะไม่ให้ผลเป็นอันไม่มี มโนรถของพระองค์สำเร็จแล้ว แม้ฉันใด ขอพระองค์ โปรดทราบเถิดว่า มโนรถของจิตตบัณฑิตก็สำเร็จแล้ว ฉันนั้น เหมือนกัน.

[๒๐๕๖] เจ้าหรือคือจิตตะ เจ้าได้ฟังคำนี้มาจากคนอื่น หรือว่าใครบอกเนื้อความนี้แก่เจ้า คาถานี้ เจ้าขับดีแล้วเราไม่มีความสงสัย เราจะให้บ้านส่วย ร้อยตำบลแก่เจ้า.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 32

[๒๐๕๗] ข้าพระพุทธเจ้า หาใช่จิตตะไม่ ข้าพระพุทธเจ้าฟังคำนี้มาจากคนอื่น และฤๅษีได้บอกเนื้อความนี้แก่ข้าพระพุทธเจ้า แล้วสั่งว่า เจ้าจงไปขับคาถานี้ถวายตอบพระราชา พระราชาทรงพอพระทัยแล้ว จะพึงพระราชทานบ้านส่วยให้แก่เจ้าบ้างกระมัง.

[๒๐๕๘] ราชบุรุษทั้งหลายจงเทียมรถของเรา จัดแจงให้ดี ผูกรัดจัดสรรให้งดงามวิจิตร จงผูกรัดสายประคนมงคลหัตถี นายหัตถาจารย์จงขึ้นประจำคอ จงนำเอาเภรีตะโพนสังข์มาตระเตรียม เจ้าหน้าที่ทั้งหลายจงเทียมยานพาหนะโดยเร็ว วันนี้แล เราจักไปเยี่ยมเยียนพระฤๅษี ซึ่งนั่งอยู่ ณ อาศรมสถานให้ถึงที่ทีเดียว.

[๒๐๕๙] ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้ลาภดีแล้วหนอ คาถาอันข้าพเจ้าขับดีแล้วในท่ามกลางบริษัท ข้าพเจ้าได้พบพระฤๅษีผู้สมบูรณ์ด้วยศีลพรต เป็นผู้มีความชื่นชมยินดีปีติโสมนัสยิ่งนัก.

[๒๐๖๐] ขอเชิญท่านผู้เจริญ โปรดรับอาสนะ น้ำ และรองเท้าของข้าพเจ้าทั้งหมดเถิด ข้าพเจ้ายินดีต้อนรับท่านผู้เจริญ ในสิ่งของอันมีราคาคู่ควรแก่การต้อนรับ ขอท่านผู้เจริญเชิญรับสักการะอันมีค่าของข้าพเจ้าทั้งหลายด้วยเถิด.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 33

[๒๐๖๑] ขอเชิญพระเชษฐาทรงสร้างปรางค์ปราสาท อันเป็นที่อยู่น่ารื่นรมย์ สำหรับพระองค์เถิด จงทรงบำรุงบำเรอด้วยหมู่นารีทั้งหลาย โปรดให้โอกาสเพื่ออนุเคราะห์แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด แม้เราทั้งสองก็จะครอบครองอิสริยสมบัตินี้ร่วมกัน.

[๒๐๖๒] ดูก่อนมหาบพิตร พระองค์ทรงเห็น ผลแห่งสุจริตอย่างเดียว ส่วนอาตมภาพเห็นผลแห่งสุจริต และทุจริตที่สั่งสมไว้แล้ว เป็นวิบากใหญ่ จึงสำรวมตนเท่านั้น มิได้ปรารถนาบุตร ปศุสัตว์ หรือทรัพย์. ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ มีกำหนดร้อยปีเป็นอย่างมาก ไม่เกินกำหนดนั้นไปได้เลย ย่อมจะเหือดแห้งไป เหมือนไม้อ้อที่ถูกตัดแล้ว มีแต่จะเหี่ยวแห้งไปฉะนั้น. จะมัวเพลิดเพลินไปไย จะมัวเล่นคึกคะนองไปทำไม ความยินดีจะเป็นประโยชน์อะไร ประโยชน์อะไรด้วยการแสวงหาทรัพย์ จะมีประโยชน์อะไรด้วยบุตรและ ภรรยาสำหรับอาตมา. ดูก่อนมหาบพิตร อาตมาพ้นแล้วจากเครื่องผูก อาตมารู้ชัดอย่างนี้ว่า มัจจุราชจะไม่รังควานเราเป็นไม่มี เมื่อบุคคลถูกมัจจุราชครอบงำแล้ว ความยินดีจะเป็นประโยชน์อะไร จะมีประโยชน์อะไรด้วยการแสวงหาทรัพย์ ดูก่อนมหาบพิตร ผู้เป็นจอมนระ ชาติกำเนิดของคนเราไม่สม่ำเสมอกัน กำเนิดแห่งคนจัณฑาลจัดว่าเลวทรามในระหว่างมนุษย์

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 34

เมื่อชาติก่อน เราทั้งสองได้อยู่ร่วมกันในครรภ์แห่งนางจัณฑาลี เพราะกรรมอันชั่วช้าของตน เราทั้งสองได้เกิดเป็นคนจัณฑาล ในกรุงอุชเชนี อวันตีชนบท ครั้นจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ได้เกิดเป็นเนื้อสองตัวพี่น้อง อยู่ที่ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ครั้นจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ไปเกิดเป็นนกเขาสองตัวพี่น้อง อยู่ฝั่งน้ำรัมมทานที ครั้นจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว คราวนี้ อาตมาภาพ เกิดเป็นพราหมณ์ มหาบพิตรทรงสมภพเป็นกษัตริย์.

[๒๐๖๓] ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ถูกชรานำเข้าไปสู่ความตาย อายุของสัตว์ทั้งหลายเป็นของน้อย เมื่อนรชนถูกชรานำเข้าไปสู่ความตาย ย่อมไม่มีผู้ต้านทาน ดูก่อนพระเจ้าปัญจาลราช มหาบพิตรจงทรงทำตามคำของอาตมา อย่าทรงทำกรรมทั้งหลายอันมีทุกข์เป็นกำไรเลย ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ถูกชรานำเข้าไปสู่ความตาย อายุของสัตว์ทั้งหลายเป็นของน้อย เมื่อนรชนถูกชรานำเข้าไปสู่ความตาย ย่อมไม่มีผู้ต้านทาน ดูก่อนพระเจ้าปัญจาลราช มหาบพิตรจงทรงทำตามคำของอาตมาภาพ อย่าทรงทำกรรมทั้งหลาย อันมีทุกข์เป็นผลเลย ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ถูกชรานำเข้าไปสู่ความตาย อายุของสัตว์ทั้งหลายเป็นของน้อย เมื่อนรชนถูกชรานำเข้าไปสู่ความตาย ย่อมไม่มีผู้ต้านทาน ดูก่อนพระเจ้าปัญจาลราช มหาบพิตรจงทรงทำตามคำของอาตมาภาพ อย่าทรงทำกรรมทั้ง

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 35

หลาย อันมีศีรษะเกลือกกลั้วไปด้วยกิเลสธุลี ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายอันชรานำเข้าไปสู่ความตาย อายุของสัตว์ทั้งหลายเป็นของน้อย ชราย่อมกำจัดวรรณะของนรชนผู้แก่เฒ่า ดูก่อนพระเจ้าปัญจาลราช มหาบพิตรจงทำตามคำของอาตมภาพ อย่าทรงทำกรรมที่ให้เข้าถึงนรกเลย.

[๒๐๖๔] ข้าแต่ภิกษุ ถ้อยคำของพระคุณเจ้านี้ เป็นคำจริงแท้ทีเดียว พระฤๅษีกล่าวไว้ฉันใด คำนี้ก็เป็นฉันนั้น แต่ว่ากามทั้งหลายของข้าพเจ้ายังมีอยู่มาก กามเหล่านั้น คนเช่นข้าพเจ้าสละได้ยาก. ช้างจมอยู่ ท่ามกลางหล่มแล้ว ย่อมไม่อาจถอนตนไปสู่ที่ดอนได้ด้วยตนเอง ฉันใด ข้าพเจ้าจมอยู่ในหล่มคือกามกิเลส ก็ยังไม่สามารถปฏิบัติตนตามทางของภิกษุได้ ฉันนั้น. ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ อนึ่ง บุตรจะมีความสุขได้ด้วยวิธีใด มารดาบิดาก็พร่ำสอนบุตรด้วยวิธีนั้น ฉันใด ข้าพเจ้าละจากโลกนี้ไปแล้ว จะพึงเป็นผู้มีความสุขยืนนานด้วยวิธีใด ขอพระคุณเจ้าโปรดพร่ำสอนข้าพเจ้าด้วยวิธีนั้น ฉันนั้นเถิด.

[๒๐๖๕] ดูก่อนมหาบพิตรผู้จอมนรชน ถ้ามหาบพิตรไม่สามารถจะละกามของมนุษย์เหล่านี้ได้ไซร้ มหาบพิตรจงทรงเริ่มตั้งพลีกรรมอันชอบธรรมเถิด แต่การกระทำอันไม่เป็นธรรม ขออย่าได้มีใน

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 36

รัฐสีมาของมหาบพิตรเลย. ทูตทั้งหลายจงไปยังทิศทั้ง ๔ นิมนต์สมณพราหมณ์ทั้งหลายมา มหาบพิตรจงทรงทะนุบำรุงสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ด้วยข้าว น้ำ ผ้า เสนาสนะ และคิลานปัจจัย มหาบพิตรจงเป็นผู้มีกมลจิตอันผ่องใส ทรงอังคาสสมณพราหมณ์ให้อิ่มหนำสำราญ ด้วยข้าว น้ำ ได้บริจาคทานตามสติกำลัง และทรงเสวยแล้ว เป็นผู้อันเทวดาและมนุษย์ ทั้งหลายไม่ติเตียน จงเสด็จเข้าถึงสวรรคสถานเถิด. ดูก่อนมหาบพิตร ก็ถ้าความเมาจะพึงครอบงำ ซึ่งมหาบพิตร ผู้อันหมู่นารีทั้งหลายแวดล้อมอยู่ มหาบพิตร จงทรงมนสิการคาถานี้ไว้ แล้วพึงตรัสคาถานี้ในท่ามกลางบริษัทว่า เมื่อชาติก่อนเราเป็นคนนอนอยู่กลางแจ้ง อันมารดาจัณฑาลีเมื่อจะไปป่า ให้ดื่มน้ำนมมาแล้ว นอนคลุกคลีอยู่กับสุนัขทั้งหลายจนเติบโต มาบัดนี้ คนนั้นใครๆ เขาเรียกกันว่า "พระราชา."

จบ จิตตสัมภูตชาดกที่ ๒

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 37

อรรถกถาจิตตสัมภูตชาดก

พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภ ภิกษุ ๒ รูป ซึ่งอยู่ร่วมกันด้วยความรัก และเป็นสัทธิวิหาริก ของท่านพระมหากัสสปะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า กรรมทุกอย่างที่นรชนสั่งสมไว้แล้วย่อมมีผลเสมอไป (สพฺพํ นรานํ สผลํ สุจิณฺณํ) ดังนี้.

ได้ยินว่า ภิกษุสองรูปนั้น ใช้สอยสมณบริขารร่วมกัน มีความคุ้นเคยสนิทกันอย่างยิ่ง แม้เมื่อเที่ยวบิณฑบาตก็ไปร่วมกัน ไม่สามารถที่จะพรากจากกันได้. ภิกษุทั้งหลายนั่งสรรเสริญความคุ้นเคยกันของภิกษุทั้งสองรูปนั้นแหละในธรรมสภา. พระศาสดาเสด็จมา ตรัสถามว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร" เมื่อภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การที่ภิกษุสองรูปนี้เป็นผู้คุ้นเคยกันในอัตภาพนี้ ไม่น่าอัศจรรย์เลย ก็โบราณกบัณฑิตทั้งหลาย แม้ถึงจะท่องเที่ยวไประหว่างสามสี่ภพ ก็ไม่ละทิ้งความสนิทสนมกันฐานมิตรเลยเหมือนกัน" แล้วทรงนำอดีตนิทานมาแสดงดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล พระเจ้าอวันตีมหาราช เสวยราชสมบัติในกรุงอุชเชนี แคว้นอวันตี ในกาลนั้น ด้านนอกกรุงอุชเชนีมีหมู่บ้านคนจัณฑาลตำบลหนึ่ง. พระมหาสัตว์บังเกิดในหมู่บ้านนั้น ต่อมา คัพภเสยยกสัตว์ แม้อื่น ก็มาเกิดเป็นบุตรแห่งน้าหญิงของพระมหาสัตว์นั้นเหมือนกัน. ในกุมารทั้งสองนั้นคนหนึ่งซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ ชื่อจิตตกุมาร คนหนึ่งซึ่งเป็นบุตรน้าสาวชื่อสัมภูตกุมาร. กุมารแม้ทั้งสองเหล่านั้น ครั้นเจริญวัยแล้ว เรียน ศิลปศาสตร์ ชื่อว่า จัณฑาลวังสโธวนะ วันหนึ่งชักชวนกันว่า "เราทั้งสอง จักแสดงศิลปศาสตร์ ที่ใกล้ประตูพระนครอุชเชนี" คนหนึ่งแสดงศิลปะที่ประตู

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 38

ด้านทิศเหนือ อีกคนหนึ่งแสดงศิลปะที่ประตูด้านทิศใต้ . ก็ในพระนครนั้น ได้มีนางทิฏฐมังคลิกาสองคน คนหนึ่งเป็นธิดาของท่านเศรษฐี อีกคนหนึ่ง เป็นธิดาของท่านปุโรหิตาจารย์. นางทั้งสองได้ให้บริวารชน ถือเอาของขบเคี้ยว และของบริโภคทั้งระเบียบดอกไม้และของหอมเป็นต้นเป็นอันมากไป ด้วยคิดว่า จักเล่นในอุทยาน คนหนึ่งออกทางประตูด้านทิศเหนือ อีกคนหนึ่งออกทาง ประตูด้านทิศใต้ . นางทิฎฐมังคลิกากุมารีทั้งสองนั้น เห็นบุตรของคนจัณฑาล สองพี่น้องแสดงศิลปะอยู่ จึงถามว่า "คนเหล่านี้เป็นใคร" ได้ฟังว่า เป็นบุตรของคนจัณฑาล จึงคิดว่า เราทั้งหลายได้เห็นบุคคลที่ไม่สมควรจะเห็นแล้วหนอ แล้วเอาน้ำหอมล้างตาพากันกลับ. มหาชนที่ไปด้วยพากันโกรธ กล่าวว่า เฮ้ย ไอ้คนจัณฑาลชาติชั่ว เพราะอาศัยเจ้าทั้งสอง พวกเราจึงไม่ได้ดื่มสุราและ กับแกล้มที่ไม่ต้องซื้อหา แล้วพากันโบยตีพี่น้องแม้ทั้งสองเหล่านั้น ให้ถึงความบอบช้ำย่อยยับ พี่น้องทั้งสองเหล่านั้นกลับได้สติฟื้นขึ้นมา จึงลุกขึ้นเดินไปยัง สำนักของกันแลกัน มาพร้อมกัน ณ สถานที่แห่งหนึ่ง แล้วบอกเล่าความทุกข์ ที่เกิดขึ้นนั้นสู่กันฟัง ต่างร้องไห้คร่ำครวญ ปรึกษากันว่า เราทั้งสองจักทำ อย่างไรกันดี แล้วพูดกันว่า เพราะอาศัยชาติกำเนิด ความทุกข์นี้จึงเกิดแก่เราทั้งสอง พวกเราไม่สามารถจะกระทำงานของคนจัณฑาลได้ จึงตกลงกันว่า เราทั้งสองปกปิดชาติกำเนิดแล้ว ปลอมแปลงเพศเป็นพราหมณ์มาณพ ไปสู่เมืองตักกศิลา เล่าเรียนศิลปวิทยากันเถิด ดังนี้แล้ว เดินทางไปในพระนครตักกศิลานั้น เป็นธัมมันเตวาสิกเริ่มเรียนศิลปศาสตร์ ในสำนักของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เล่าลือกันไปทั่วชมพูทวีปว่า ได้ยินว่า คนจัณฑาลสองพี่น้อง ปกปิดชาติกำเนิด หนีไปเรียนศิลปศาสตร์.

ในพี่น้องทั้งสองคนนั้น จิตตบัณฑิตเล่าเรียนศิลปศาสตร์สำเร็จ แต่ สัมภูตกุมารยังเรียนไม่สำเร็จ อยู่มาวันหนึ่ง พราหมณ์ชาวบ้านผู้หนึ่ง มาเชิญ

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 39

อาจารย์ทิศาปาโมกข์ว่า "ข้าพเจ้าจักกระทำการสวดมนต์ (ในพิธีมงคล) " ในคืนวันนั้นเอง ฝนตกเอ่อล้นท่วมตามตรอกซอกซอยในหนทาง. อาจารย์จึงเรียกจิตตบัณฑิต มาแต่เช้าตรู่ ส่งไปแทนตน โดยสั่งว่า "พ่อมหาจำเริญ เราไม่สามารถจะไปได้ เธอจงไปสวดมงคลกถาพร้อมด้วยมาณพทั้งหลาย บริโภคอาหารส่วนที่พวกเธอได้รับ แล้วนำอาหารส่วนที่เราได้มาให้ด้วย" จิตตบัณฑิตรับคำอาจารย์แล้วพามาณพทั้งหลายมาแล้ว. คนทั้งหลายคดข้าวปายาสตั้งไว้ หมายว่า กว่ามาณพทั้งหลายจะอาบน้ำล้างหน้าเสร็จ ก็จะเย็นพอดี เมื่อข้าวปายาสยังไม่ทันเย็น มาณพทั้งหลายพากันมานั่งในเรือนแล้ว. มนุษย์ทั้งหลายจึงให้น้ำทักษิโณทก ยกสำรับมาตั้งไว้ข้างหน้าของมาณพเหล่านั้น. สัมภูตมาณพ เป็นเหมือนคนมีนิสัยละโมบในอาหาร รีบตักก้อนข้าวปายาสใส่ปาก ด้วยสำคัญว่าเย็นดีแล้ว ก้อนข้าวปายาสซึ่งร้อนระอุเหมือนเหล็กแดง ก็ลวกปากของเขา. เขาสะบัดหน้า สั่นไปทั้งร่าง ตั้งสติไม่อยู่ มองดูจิตตบัณฑิตเผลอกล่าวเป็นภาษาจัณฑาลไป อย่างนี้ว่า "ขลุ ขลุ". ฝ่ายจิตตบัณฑิต ก็ตั้งสติไว้ไม่ได้เหมือนกัน ส่งภาษา จัณฑาลตอบไปอย่างนี้ว่า "นิคคละ นิคคละ" มาณพทั้งหลายต่างมองหน้า แล้วพูดกันว่า "นี้ภาษาอะไรกัน" จิตตบัณฑิตกล่าวมงคลกถาอนุโมทนาแล้ว. มาณพทั้งหลาย จึงออกไปภายนอก แล้วนั่งวิพากย์วิจารณ์ภาษากันอยู่ในที่นั้นๆ เป็นพวกๆ พอรู้ว่าเป็นภาษาจัณฑาลแล้วจึงด่าว่า "เฮ้ย! ไอ้คนจัณฑาลชาติชั่ว พวกเจ้าหลอกลวงว่าเป็นพราหมณ์มาตลอดเวลามีประมาณเท่านี้" แล้วช่วยกัน โบยตีมาณพทั้งสอง.

ลำดับนั้น สัตบุรุษผู้หนึ่งจึงห้ามว่า "ท่านทั้งหลายจงหลีกไป" แล้วกันสองมาณพออกมา แล้วส่งไปโดยพูดว่า "นี้เป็นโทษแห่งชาติกำเนิดของท่านทั้งสอง จงพากันไปบวชเลี้ยงชีพ ณ ประเทศแห่งใดแห่งหนึ่งเถิด" มาณพ

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 40

ทั้งหลายกลับมาแจ้งเรื่องที่มาณพทั้งสองเป็นจัณฑาลให้อาจารย์ทราบทุกประการ แม้มาณพทั้งสองก็เข้าป่า บวชเป็นฤาษี ต่อมาไม่นานนักก็จุติจากอัตภาพนั้นไปบังเกิดในท้องของแม่เนื้อ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา จำเดิมแต่คลอดจากท้องแม่เนื้อแล้ว มฤคโปดกทั้งสองพี่น้องก็เที่ยวไปด้วยกัน ไม่อาจพรากจากกันได้. วันหนึ่ง นายพรานผู้หนึ่ง มาเห็นมฤคโปดกทั้งสอง คาบเหยื่อกลับมา แล้วยืนเอาหัวต่อหัว เอาเขาต่อเขา เอาปากต่อปากจรดติดชิดกัน ยืนขนชัน ตั้งอยู่ ณ ที่โคนไม้แห่งหนึ่ง จึงพุ่งหอกไปที่สัตว์ทั้งสองให้สิ้นชีวิต ด้วยการประหารทีเดียวเท่านั้น. ครั้นมฤคโปดกทั้งคู่จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ไปบังเกิดในกำเนิดนกเขา อยู่ที่ริมฝั่งน้ำรัมมทานที. แม้ในอัตภาพนั้นก็มีนายพรานดักนกผู้หนึ่งมาเห็นลูกนกเขาทั้งสองเหล่านั้นซึ่งเจริญวัยแล้ว ไปเที่ยวคาบเหยื่อ แล้วมายืนเอาหัวซบหัว เอาจะงอยปากต่อจะงอยปากแนบสนิทชิดเรียงยืนเคียงกัน จึงเอาข่ายครอบฆ่าให้ตายด้วยการประหารทีเดียวเท่านั้น. ก็ครั้นจุติจากอัตภาพนี้แล้ว จิตตบัณฑิตเกิดเป็นบุตรของปุโรหิตในพระนครโกสัมพี. สัมภูตบัณฑิตไปเกิดเป็นโอรสของพระเจ้าอุตตรปัญจาลราช. จำเดิมแต่กาลที่ถึงวันขนานนาม กุมารเหล่านั้น ก็ระลึกชาติหนหลังของตนๆ ได้. สัมภูตบัณฑิต ราชกุมาร ไม่สามารถระลึกชาติในระหว่างได้ คงระลึกได้เฉพาะชาติที่ ๔ ซึ่งเกิดเป็นคนจัณฑาลเท่านั้น ส่วนจิตตบัณฑิตกุมาร ระลึกได้ตลอด ๔ ชาติ โดยลำดับ. ในเวลาที่มีอายุได้ ๑๖ ปี จิตตบัณฑิตออกจากเรือนเข้าไปสู่หิมวันต์ประเทศ บวชเป็นฤาษี ยังฌานและอภิญญาให้เกิดแล้ว เสวยความสุขอันเกิดแต่ฌานอยู่แล้ว. ฝ่ายสัมภูตราชกุมารเมื่อพระชนกสวรรคตแล้ว ให้ยกเศวตฉัตรขึ้นเสวยราชสมบัติแทน ได้ตรัสพระคาถา ๒ คาถา ด้วยความเบิกบานพระราชหฤทัย กระทำให้เป็นเพลงขับเฉลิมฉลองมงคล ท่ามกลาง

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 41

มหาชน ในวันเฉลิมฉัตรมงคลนั่นเอง. นางสนมกำนัลก็ดี นักฟ้อนรำทั้งหลายก็ดี ได้สดับคาถาเพลงขับนั้นแล้ว คิดว่า ได้ยินว่า นี้เป็นเพลงขับเฉลิมฉลองเนื่องในวันมงคลของพระราชาของเราทั้งหลาย จึงพากันขับร้องบทเพลงพระราชนิพนธ์นั้นทั่วกัน ประชาชนชาวพระนครแม้ทั้งหมดทราบว่า เพลงขับนี้เป็นที่โปรดปราน พอพระราชหฤทัยของพระราชา ก็พากันขับร้องบทพระราชนิพนธ์นั่นแหละ ต่อๆ กันไปโดยลำดับ. ฝ่ายพระจิตตบัณฑิตดาบสอยู่ในหิมวันตประเทศนั่นแล ใคร่ครวญพิจารณาดูว่า สัมภูตบัณฑิตผู้น้องชายของเรา ได้ครอบครองเศวตฉัตรแล้ว หรือว่ายังไม่ได้ครอบครอง ทราบว่าได้ครอบครองแล้ว จึงคิดว่า บัดนี้เรายังไม่สามารถเพื่อจะไปสั่งสอนพระราชา ซึ่งได้เสวยราชสมบัติใหม่ ให้ทรงรู้แจ้งซึ่งธรรมวิเศษได้ก่อน เราจักเข้าไปหา ท้าวเธอในเวลาที่ทรงพระชราภาพ กล่าวธรรมกถา แล้วชักนำให้บรรพชา ดังนี้แล้วจึงมิได้เสด็จไปตลอดระยะเวลา ๕๐ ปี ในเวลาที่พระราชาทรงเจริญ ด้วยพระโอรสและพระธิดาแล้ว จึงเหาะมาทางอากาศด้วยฤทธานุภาพ ลงที่พระราชอุทยาน นั่งพักอยู่บนแท่นมงคลศิลาอาสน์ราวกับพระปฏิมาทองคำ. ขณะนั้นมีเด็กคนหนึ่ง ขับเพลงบทพระราชนิพนธ์ เก็บฟืนอยู่. จิตตบัณฑิตดาบสเรียกเด็กนั้นมา เด็กก็มาไหว้พระดาบสแล้วยืนอยู่. ทีนั้นจิตตบัณฑิตดาบส จึงกล่าวกะเด็กนั้นว่า "ตั้งแต่เช้ามา เจ้าขับเพลงขับบทเดียวนี้เท่านั้น ไม่รู้จักเพลงอย่างอื่นบ้างเลยหรือ" เด็กตอบว่า "ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมรู้บทเพลงแม้อย่างอื่นเป็นอันมาก แต่บทเพลงทั้งสองบทนี้ เป็นบทที่พระราชาทรงโปรดปราน พอพระราชหฤทัย เพราะฉะนั้น กระผมจึงขับร้องเฉพาะเพลงบทนี้เท่านั้น" พระดาบสถามต่อไปว่า "ก็มีใครๆ ขับร้องเพลงขับตอบบทพระราชนิพนธ์บ้างหรือไม่" เด็กตอบว่า "ไม่มีเลยขอรับ". พระดาบสจึงกล่าวว่า

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 42

"ก็เจ้าเล่า จักสามารถเพื่อจะขับบทเพลงตอบอยู่หรือ" เด็กตอบว่า "เมื่อกระผมรู้ ก็จักสามารถ". พระดาบสกล่าวว่า "ถ้าเช่นนั้น เมื่อพระราชาทรงขับบทเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งสองแล้ว เจ้าจงจำเอาบทเพลงขับที่สามนี้ไปร้องขับตอบเถิด" แล้วสอนเพลงขับนั้นให้เด็กแล้วส่งไป พร้อมกับสั่งว่า "เจ้าไปขับร้องในสำนักของพระราชา พระราชาทรงเลื่อมใสจักพระราชทานยศยิ่งใหญ่แก่เจ้า". เด็กนั้นรีบ ไปยังสำนักของมารดาให้ช่วยประดับตกแต่งตนแล้ว ไปยังประตูพระราชนิเวศน์ สั่งราชบุรุษให้กราบทูลพระราชาว่า "ได้ยินว่า มีเด็กคนหนึ่งจักมาขับร้องบทเพลงตอบด้วยพระองค์" ครั้นเมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้วจึงเข้าไปถวายบังคม พระราชาตรัสถามว่า "พ่อเด็กน้อย เขาว่าเจ้าจักมาร้องเพลง ตอบกับเราหรือ" ก็กราบทูลว่า "ขอเดชะพระอาญาไม่พ้นเกล้า เป็นความจริงพระเจ้าข้า" แล้วกราบทูลให้พระราชามีพระราชโองการ ให้ราชบริษัททั้งหลาย มาประชุมกัน เมื่อราชบริษัทประชุมพร้อมกันแล้ว จึงกราบทูลพระราชาว่า "ขอพระองค์โปรดทรงขับร้องเพลงบทพระนิพนธ์ของพระองค์ก่อนเถิด ข้าพระพุทธเจ้าจักขับบทเพลงถวายตอบทีหลัง". พระราชาได้ตรัสพระคาถา ๒ คาถา ความว่า

กรรมทุกอย่างที่นรชนสั่งสมไว้แล้ว ย่อมมีผลเสมอไป ขึ้นชื่อว่ากรรมแม้จะเล็กน้อย ที่จะไม่ให้ผล เป็นไม่มี เราได้เห็นตัวของเรา ผู้ชื่อว่าสัมภูตะ มีอานุภาพมาก อันบังเกิดขึ้นด้วยผลบุญ เพราะกรรมของตนเอง กรรมทุกอย่างที่นรชนสั่งสมไว้แล้ว ย่อมมีผลเสมอไป ขึ้นชื่อว่ากรรมแม้จะเล็กน้อยที่จะไม่ให้ผลเป็นไม่มี มโนรถของเราสำเร็จแล้ว แม้ฉันใด มโนรถแม้ของจิตตบัณฑิต พระเชษฐาของเรา ก็คงสำเร็จแล้วฉันนั้น กระมังหนอ ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 43

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กรรมแม้จะเล็กน้อย ที่จะไม่ให้ผลเป็นไม่มี (น กมฺมุนา กิญฺจน โมฆมตฺถิ) นี้ พระราชาตรัสหมายถึง อปราปรเวทนียกรรม ว่าในกรรมที่บุคคลทำแล้วทั้งดี และชั่ว กรรมแม้เล็กน้อยเพียงอย่างเดียว ที่จะชื่อว่าเป็นโมฆะไม่มี คือจะไร้ผลเสียเลย หามิได้ ต้องให้ผลก่อนจึงจักพ้นไปได้.

บทว่า สัมภูตะ (สมฺภูตํ) ความว่า พระเจ้าสัมภูตบัณฑิต ตรัสเรียกพระองค์เองว่า เราเห็นตัวเองซึ่งมีชื่อว่า สัมภูตะ.

บทว่า อันบังเกิดขึ้นด้วยผลบุญเพราะกรรมของตนเอง (สกมฺมุนา ปุญฺผลูปปนฺนํ) ความว่า ข้าพเจ้าเห็นตัวข้าพเจ้า ผู้บังเกิดขึ้นด้วยผลแห่งบุญเพราะกรรมของตน คือบังเกิดขึ้นด้วยผลแห่งบุญ เพราะอาศัยกรรมของตนเป็นเหตุเป็นปัจจัย.

บทว่า ของจิตตบัณฑิต... กระมังหนอ (กจฺจินุ จิตฺตสฺสปิ) ความว่า แท้จริง เราทั้งสองได้รักษาศีลร่วมกันมา ไม่นานนักข้าพเจ้าก็ถึงซึ่งยศใหญ่ ด้วยผลแห่งศีลนั่นเองก่อนฉันใด มโนรถแม้แห่งจิตตบัณฑิตเชษฐภาดาของเรา จะสำเร็จสมความมุ่งหมายฉันนั้นเหมือนกัน ดังมโนรถของเราหรือไม่หนอ.

เมื่อพระเจ้าสัมภูตะขับเพลงคาถาสองบทจบลง กุมารเมื่อจะขับเพลง ตอบถวาย จึงกล่าวคาถาที่ ๓ ความว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ กรรมทุกอย่างที่นรชนสั่งสมไว้แล้วย่อมมีผลเสมอไป ขึ้นชื่อว่ากรรมแม้จะเล็กน้อย ที่จะไม่ให้ผลเป็นอันไม่มี มโนรถของพระองค์สำเร็จแล้ว แม้ฉันใด ขอพระองค์โปรดทราบเถิดว่า มโนรถของจิตตบัณฑิตก็สำเร็จแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน.

พระราชาทรงสดับคาถานั้นแล้ว จึงตรัสพระคาถาที่ ๔ ความว่า

เจ้าหรือคือจิตตะ เจ้าได้ฟังคำนี้มาจากคนอื่น หรือว่าใครบอกเนื้อความนี้แก่เจ้า คาถานี้เจ้าขับดีแล้ว เราไม่มีความสงสัย เราจะให้บ้านส่วยร้อยตำบลแก่เจ้า.

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 44

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เจ้าได้ฟังคำนี้มาจากคนอื่น (สุตมญฺโต เม) ความว่า ถ้อยคำที่ว่า "เราชือว่าจิตตบัณฑิตเป็นพระเชษฐภาดาของพระเจ้าสัมภูตะ" นี้ เจ้าได้ยินมาแต่สำนักจิตตบัณฑิตคนนั้น ผู้กล่าวอยู่หรือ

บทว่า ใครบอกเนื้อความนั้น (โกจิ นํ) ความว่า หรือว่าใครบอกเนื้อความนี้แก่เจ้าว่า "จิตตบัณฑิตผู้พระภาดาของพระเจ้าสัมภูตราชเราเห็นแล้ว".

บทว่า ขับดีแล้ว (สุคีตา) ความว่า คาถานี้เจ้าขับดีแล้วแม้โดยประการทั้งปวง เราไม่มีความเคลือบแคลงสงสัยในเพลงขับนี้.

บทว่า บ้านส่วยร้อยตำบล (คามวรํ สตญฺจ) ความว่า พระเจ้าสัมภูตราชตรัสว่า "เราจะให้บ้านส่วยร้อยตำบลเป็นรางวัลแก่เจ้า".

ลำดับนั้น กุมารจึงกล่าวคาถาที่ ๕ ความว่า

ข้าพระพุทธเจ้าหาใช่จิตตะไม่ ข้าพระพุทธเจ้าฟังคำนี้มาจากคนอื่น และฤๅษีได้บอกเนื้อความนี้แก่ข้าพระพุทธเจ้า แล้วสั่งว่า เจ้าจงไปขับคาถานี้ถวายตอบพระราชา พระราชาทรงพอพระทัยแล้ว จะพึงพระราชทานบ้านส่วยให้แก่เจ้าบ้างกระมัง.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เนื้อความนี้ (เอตมตฺถํ) ความว่า พระฤๅษีรูปหนึ่ง นั่งอยู่ในพระอุทยานของพระองค์ บอกเนื้อความนี้แก่ข้าพเจ้า.

พระเจ้าสัมภูตราชทรงสดับถ้อยคำนั้นแล้ว ทรงพระดำริว่า ชะรอยพระดาบสนั้น จักเป็นจิตตบัณฑิตผู้เชษฐภาดาของเรา เราจักไปพบพระเชษฐภาดาของเรานั้นในบัดนี้ทีเดียว เมื่อจะตรัสใช้ให้ราชบุรุษเตรียมกระบวน จึงตรัสพระคาถา ๒ คาถา ความว่า

ราชบุรุษทั้งหลาย จงเทียมราชรถของเรา จัดแจงให้ดี ผูกรัดจัดสรรให้งดงามวิจิตร จงผูกรัด สายประคนมงคลหัตถี นายหัตถาจารย์จงขึ้นประจำคอ

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 45

จงนำเอาเภรีตะโพนสังข์มาตระเตรียม เจ้าหน้าที่ ทั้งหลายจงเทียมยานพาหนะโดยเร็ว วันนี้แลเราจักไปเยี่ยมเยียนพระฤๅษี ซึ่งนั่งอยู่ ณ อาศรมสถานให้ถึงที่ทีเดียว.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นำมา (หญฺนฺตุ) แปลว่า จงนำมาเตรียมไว้.

บทว่า อสฺสมนฺตํ ตัดบทเป็น อสฺสมํ ตํ แปลว่า ยังอาศรมบทนั้น.

พระเจ้าสัมภูตราช ครั้นดำรัสสั่งอย่างนี้แล้ว เสด็จขึ้นทรงรถพระที่นั่ง เสด็จไปโดยพลัน จอดราชรถไว้ที่ประตูพระราชอุทยาน แล้วเสด็จเข้าไปหาดาบสจิตตบัณฑิต นมัสการแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง มี พระราชหฤทัยชื่นชมโสมนัส ตรัสพระคาถาที่ ๘ ความว่า

ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้ลาภดีแล้วหนอ คาถาอันข้าพเจ้าขับดีแล้วในท่ามกลางบริษัท ข้าพเจ้าได้พบพระฤๅษี ผู้สมบูรณ์ด้วยศีลพรต เป็นผู้มีความชื่นชมยินดี ปีติโสมนัสยิ่งนัก.

พระคาถานี้มีอรรถาธิบายว่า คาถาที่ข้าพเจ้าขับกล่อมในท่ามกลางบริษัท ในวันฉัตรมงคลของข้าพเจ้านั้น เป็นอันขับดีแล้วหนอ (และ) เป็นเหตุให้ข้าพเจ้าได้พบพระฤๅษี ผู้เข้าถึงศีลและพรตแล้ว ถึงความปีติโสมนัสหาที่เปรียบมิได้ นับว่าข้าพเจ้าได้ลาภอันดียิ่งทีเดียว.

จําเดิมแต่ได้พบจิตตบัณฑิตดาบสแล้ว พระเจ้าสัมภูตราช ทรงชื่นชมโสมนัสยิ่ง เมื่อจะมีพระราชดำรัสตรัสสั่ง ซึ่งราชกิจมีอาทิว่า "ท่านทั้งหลายจงลาดบัลลังก์เพื่อเชษฐภาดาของเรา" จึงตรัสคาถาที่ ๙ ความว่า

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 46

ขอเชิญท่านผู้เจริญ โปรดรับอาสนะ น้ำ และ รองเท้าของข้าพเจ้าทั้งหมดเถิด ข้าพเจ้ายินดีต้อนรับ ท่านผู้เจริญ ในสิ่งของอันมีราคาคู่ควรแก่การต้อนรับ ขอท่านผู้เจริญ เชิญรับสักการะอันมีค่าของข้าพเจ้า ทั้งหลายด้วยเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ขอเชิญ ( อคฺเฆ) ความว่า ข้าพเจ้าขอต้อนรับ ท่านผู้เจริญ ในสิ่งของอันมีราคาควรเพื่อการต้อนรับแขก.

บทว่า ต้อนรับท่านผู้เจริญ ( กุรุเต โน) ความว่า ขอเชิญท่านผู้เจริญจงรับประเคน สิ่งอันมีค่านี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย ด้วยเถิด.

ครั้นพระเจ้าสัมภูตบัณฑิต ทรงทำการปฏิสันถาร ด้วยพระดำรัสอัน อ่อนหวานอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงแบ่งราชสมบัติถวายกึ่งหนึ่งจึงตรัสพระคาถา นอกนี้ ความว่า

ขอเชิญพระเชษฐาทรงสร้างปรางค์ปราสาท อันเป็นที่อยู่น่ารื่นรมย์สำหรับพระองค์เถิด จงทรงบำรุง บำเรอด้วยหมู่นารีทั้งหลาย โปรดให้โอกาสเพื่ออนุ- เคราะห์แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด แม้เราทั้งสองก็จะครอบครองอิสริยสมบัตินี้ร่วมกัน.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิสริยสมบัตินี้ ( อิมํ อิสฺสริยํ) ความว่า เราจะเป็นกษัตริย์ กันทั้งสององค์ แบ่งราชสมบัติกันคนละครึ่ง แล้วเสวยราชย์ครอบครองอยู่ ในอุตตรปัญจาลนคร แคว้นกปิลรัฐ.

พระจิตตบัณฑิตดาบสฟังพระดำรัส ของพระเจ้าสัมภูตราชแล้ว เมื่อจะแสดงธรรมเทศนาถวาย จึงกล่าวคาถา ๖ คาถา ความว่า

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 47

ดูก่อนมหาบพิตร พระองค์ทรงเห็นผลแห่งสุจริตอย่างเดียว ส่วนอาตมาภาพเห็นผลแห่งสุจริตและ ทุจริตที่สั่งสมไว้แล้ว เป็นวิบากใหญ่จึงสำรวมตนเท่านั้น มิได้ปรารถนาบุตร ปศุสัตว์หรือทรัพย์.

ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ มีกำหนดร้อยปีเป็นอย่างมาก ไม่เกินกำหนดนั้นไปได้เลย ย่อมจะเหือดแห้งไปเหมือนไม้อ้อที่ถูกตัดแล้วมีแต่จะเหี่ยวแห้งไปฉะนั้น.

ในช่วงชีวิตอันจะต้องเหือดแห้งไปนั้น จะมัวเพลิดเพลินไปไย จะมัวเล่นคึกคะนองไปทำไม ความยินดีจะเป็นประโยชน์อะไร ประโยชน์อะไรด้วยการแสวงหาทรัพย์ จะมีประโยชน์อะไรด้วยบุตรและภรรยาสำหรับอาตมา ดูก่อนมหาบพิตร อาตมาพ้นแล้วจากเครื่องผูก.

อาตมารู้ชัดอย่างนี้ว่า มัจจุราชจะไม่รังควานเราเป็นอันไม่มี เมื่อบุคคลถูกมัจจุราชครอบงำแล้ว ความยินดีจะเป็นประโยชน์อะไร จะมีประโยชน์อะไรด้วยการแสวงหาทรัพย์ ดูก่อนมหาบพิตร ผู้เป็นจอมนระ ชาติกำเนิดของคนเราไม่สม่ำเสมอกัน กำเนิดแห่งคนจัณฑาลจัดว่าเลวทรามในระหว่างมนุษย์ เมื่อชาติก่อนเราทั้งสองได้อยู่ร่วมกันในครรภ์แห่งนางจัณฑาลี เพราะกรรมอันชั่วช้าของตน เราทั้งสอง ได้เกิดเป็นคนจัณฑาล ในกรุงอุชเชนีอวันตีชนบท ครั้นจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ได้เกิดเป็นเนื้อสองตัว

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 48

พี่น้อง อยู่ที่ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ครั้นจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ได้เกิดเป็นนกเขาสองตัวพี่น้อง อยู่ฝั่งแม่น้ำรัมมทานที ครั้นจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว คราวนี้ อาตมภาพเกิดเป็นพราหมณ์ มหาบพิตรทรงสมภพเป็นกษัตริย์.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทุจริต (ทุจฺจริตสฺส) ความว่า ดูก่อนมหาบพิตร พระราชสมภารเจ้า พระองค์ทรงเห็นแต่ผลแห่งสุจริตอย่างเดียว ส่วนอาตมภาพ เห็นทั้งผลแห่งทุจริตและสุจริตทีเดียว ด้วยว่าเราทั้งสองได้บังเกิดในกำเนิดคนจัณฑาล ในอัตภาพที่ ๔ แต่อัตภาพนี้ ด้วยผลแห่งทุจริต พากันรักษาศีลอยู่ในอัตภาพนั้นไม่นาน ด้วยผลแห่งศีลอันสุจริตนั้น พระองค์ทรงบังเกิดในตระกูลกษัตริย์ อาตมภาพเกิดในตระกูลพราหมณ์ เพราะอาตมภาพเห็นผลแห่งทุจริตและสุจริตอันเคยสั่งสมดีแล้ว ว่าเป็นวิบากใหญ่อย่างนี้ จึงจักสำรวมตนเท่านั้น ด้วยความสำรวมคือศีล จะปรารถนาบุตร ปศุสัตว์ หรือธนสารสมบัติก็หามิได้.

บทว่า มีกำหนดร้อยปีเป็นอย่างมาก ( ทเสวิมา วสฺสทสา) ความว่า ดูก่อนมหาราชเจ้า เพราะชีวิตของสัตว์ทั้งหลายในมนุษยโลกนี้ มีกำหนด ๑๐ ปี ๑๐ หน คือ ๑๐๐ ปีเท่านั้นด้วยสามารถแห่งหมวดสิบเหล่านี้ คือ มันททสกะ สิบปีแห่งความเป็นเด็กอ่อน ๑ ขิฑฑาทสกะ สิบปีแห่งการเล่นคึกคะนอง ๑ วัณณทสกะ สิบปีแห่งความ สวยงาม ๑ พลทสกะ สิบปีแห่งความมีกำลังสมบูรณ์ ๑ ปัญญาทสกะ สิบปี แห่งความมีปัญญารอบรู้ ๑ หานิทสกะ สิบปีแห่งความเสื่อม ๑ ปัพภารทสกะ สิบปีแห่งความมีกายเงื้อมไปข้างหน้า ๑ วังกทสกะ สิบปีแห่งความมีกายคดโกง ๑ โมมูหทสกะ สิบปีแห่งความหลงเลอะเลือน ๑ สยนทสกะ สิบปีแห่งการนอนอยู่กับที่ ๑. ชีวิตนี้ย่อมไม่ถึงขั้นลำดับทสกะเหล่านี้ครบทั้งหมด ตามที่

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 49

กำหนดไว้. โดยที่แท้ยังไม่ทันถึงเขตที่กำหนดนั้นเลย ก็ซูบซีดเหี่ยวแห้งไป ดังไม้อ้อที่ถูกตัดแล้ว มีแต่จะเหี่ยวแห้งไปฉะนั้น ถึงแม้สัตว์เหล่าใดมีอายุอยู่ได้ครบ ๑๐๐ ปีบริบูรณ์ รูปธรรมและอรูปธรรมของสัตว์แม้เหล่านั้น อันเป็นไปในมันททสกะถูกตัดแล้ว ย่อมผันแปรเหือดแห้งอันตรธานไป ในระยะมันททสกะนั่นเอง ดุจไม้อ้อที่เขาตัดแล้วตากไว้ที่แดดฉะนั้น. ที่จะล่วงเลยกำหนดนั้น จนถึงขั้นขิฑฑาทสกะ หามิได้ วัณณทสกะเป็นต้น อันเป็นไปแล้วในขิฑฑาทสกะเป็นต้นก็อย่างเดียว กัน.

บทว่า ในช่ วงชีวิตอันจะต้องเหือดแห้งไปนั้น ( ตตฺถ) ความว่า เมื่อชีวิตนั้นต้องซูบซีดเหี่ยวแห้งไปด้วยอาการอย่างนี้ ความเพลิดเพลินยินดีเพราะอาศัยเบญจกามคุณจะมีประโยชน์อะไร การเล่นคึกคะนองด้วยสามารถแห่งการเล่นทางกายเป็นต้น จะมีประโยชน์อะไร ความยินดีด้วยสามารถแห่งความโสมนัส จะมีประโยชน์อะไร การแสวงหาธนสารสมบัติจะมีประโยชน์อะไร ประโยชน์อะไร ด้วยบุตร ด้วยภรรยาของอาตมภาพ อาตมภาพหลุดพ้นแล้วจากเครื่องผูกคือบุตรและภรรยานั้น.

บทว่า ถูกมัจจุราชครอบงำแล้ว (อนฺตเกนาธิปนฺนสฺส) ความว่า อันมฤตยูผู้กระทำที่สุดแห่ง ชีวิตครอบงำแล้ว.

บทว่า เลวทรามในระหว่างมนุษย์ ( ทฺวิปทกนิฏฺา) ความว่า (กำเนิดคนจัณฑาล) นับเป็นกำเนิดต่ำต้อย ในระหว่างมวลมนุษย์ผู้มีสองเท้าด้วยกัน.

บทว่า อยู่ร่วมกัน ( อวสิมฺหา) ความว่า เราแม้ทั้งสองคนได้เคยอยู่ร่วมกันมา.

บทว่า เป็นคนจัณฑาล ( จณฺฑลาหุมฺหา) ความว่า ดูก่อนมหาราชเจ้า เมื่อก่อน นับถอยหลังจากนี้ไป ๔ ชาติ เราทั้งสองได้เกิดเป็นคนจัณฑาลอยู่ในพระนคร อุชเชนี แคว้นอวันตีรัฐ เคลื่อนจากอัตภาพนั้นแล้ว เราแม้ทั้งสองคนได้เกิด เป็นมฤคโปดก อยู่ที่ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรานที มีนายพรานผู้หนึ่งฆ่าเราแม้ทั้งสอง ซึ่งยืนพิงกันอยู่ที่โคนต้นไม้ต้นหนึ่ง ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรานั้น จนสิ้นชีวิต เคลื่อนจากอัตภาพนั้นแล้วไปเกิดเป็นนกเขา อยู่ร่วมกันที่ฝั่งแม่น้ำรัมมทานที

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 50

มีนายพรานผู้หนึ่งดักข่ายทำลายเราให้ถึงตายด้วยการประหารคราวเดียวเท่านั้น ครั้นเคลื่อนจากอัตภาพนั้น มาในชาตินี้ เราทั้งสองเกิดเป็นพราหมณ์ และกษัตริย์ คือ อาตมภาพเกิดในตระกูลพราหมณ์ในพระนครโกสัมพี พระองค์เกิดเป็นกษัตริย์ในพระนครนี้ ครั้นพระโพธิสัตว์ประกาศชาติกำเนิดอันต่ำต้อยที่ผ่านมาแล้ว แก่พระเจ้าสัมภูตราชนั้น ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล้วแสดงว่า อายุสังขาร แม้ในชาตินี้มีเวลาเล็กน้อย ให้พระเจ้าสัมภูตราชทรงเกิดอุตสาหะในบุญกุศลทั้งหลาย ได้กล่าวคาถา ๔ คาถา ติดต่อกันไป ความว่า

ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายถูกชรานำเข้าไปสู่ความตาย อายุของสัตว์ทั้งหลายเป็นของน้อย เมื่อนรชนถูกชรานำเข้าไปสู่ความตาย ย่อมไม่มีผู้ต้านทาน ดูก่อนพระเจ้าปัญจาลราช มหาบพิตรจงทรงทำตามคำของอาตมภาพ อย่าทรงทำกรรมทั้งหลายมีทุกข์เป็นกำไรเลย.

ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายถูกชรานำเข้าไปสู่ความตาย อายุของสัตว์ทั้งหลายเป็นของน้อย เมื่อนรชนถูกชรานำเข้าไปสู่ความตาย ย่อมไม่มีผู้ต้านทาน ดูก่อนพระเจ้าปัญจาลราช มหาบพิตรจงทรงทำตามคำของอาตมภาพ อย่าทรงทำกรรมทั้งหลาย อันมีทุกข์เป็นผลเลย.

ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ถูกชรานำเข้าไปสู่ความตาย อายุของสัตว์ทั้งหลายเป็นของน้อย เมื่อนรชนถูกชรานำเข้าไปสู่ความตาย ย่อมไม่มีผู้ต้านทาน ดูก่อนพระเจ้าปัญจาลราช มหาบพิตรจงทรงทำตามคำของอาตมภาพ อย่าทรงทำกรรมทั้งหลาย อันมีศีรษะ

 
  ข้อความที่ 21  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 51

เกลือกกลั้วด้วยกิเลสธุลี.

ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายถูกชรานำเข้าไปสู่ความตาย อายุของสัตว์ทั้งหลายเป็นของน้อย ชราย่อมกำจัดวรรณะของนรชนผู้แก่เฒ่า ดูก่อนพระเจ้าปัญจาลราช มหาบพิตรจงทรงทำตามคำของ อาตมาภาพ อย่าทรงทำกรรมที่ให้เข้าถึงนรกเลย.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นำเข้าไป ( อุปนียติ) ความว่า ดูก่อนมหาราชเจ้า ชีวิตแม้นี้ย่อมเข้าไปใกล้ความตาย เพราะอายุของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นนี้มีน้อย ชื่อว่า นิดหน่อยเพราะแล่นไปได้น้อยบ้าง เพราะดำรงอยู่ได้น้อยบ้าง เป็นเช่นเดียวกับหยาดน้ำค้างที่ติดอยู่ปลายหญ้า อันเหือดแห้งด้วยแสงพระอาทิตย์อุทัยฉะนั้น.

บทว่า ย่อมไม่มีผู้ต้านทาน ( น สนฺติ ตาณา) ความว่า เพราะว่าเมื่อนรชนอันชรานำเข้าไปใกล้ความตายแล้ว ปิยชนทั้งหลายมีบุตรเป็นต้น จะเป็นผู้ที่ต้านทาน ป้องกันไว้ได้ ก็หามิได้.

บทว่า คำของอาตมภาพ ( มเมว วากฺยํ) ความว่า ซึ่งถ้อยคำของ อาตมาภาพนี้.

บทว่า อย่าทรงทำ ( มากาสิ) ความว่า อย่าได้ถึงความประมาทมัวเมา เพราะเหตุแห่งกามคุณมีรูปเป็นต้น แล้วกระทำกรรมที่มีทุกข์เป็นกำไรอันเป็นเครื่องให้เจริญด้วยทุกข์ในอบายมีนรกเป็นต้น.

บทว่า อันมีทุกข์เป็นผล ( ทุกฺขผลานิ) ได้แก่ กรรมที่มีทุกข์เป็นผล.

บทว่า อันมีศีรษะเกลือกกลั้วไปด้วยกิเลสธุลี ( รชสฺสิรานิ) ได้แก่ กรรม อันเป็นเหตุให้ ศีรษะเกลือกกลั้วด้วยธุลี คือกิเลส.

บทว่า วรรณะ ( วณฺณํ) ความว่า ชราย่อมกำจัดวรรณะแห่งสรีระของนรชนผู้เสื่อมวัยทรุดโทรม.

บทว่า เข้าถึงนรก ( นิรยูปปตฺติยา) ความว่า อย่าได้สร้างกรรมเพื่อจะไปบังเกิดในนรก อันหาความยินดีมิได้เลย.

เมื่อพระมหาสัตว์เจ้ากล่าวอยู่อย่างนี้ พระเจ้าสัมภูตราชทรงรู้สึกพระองค์ แล้วตรัสพระคาถา ๓ คาถา ความว่า

 
  ข้อความที่ 22  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 52

ข้าแต่ภิกษุ ถ้อยคำของพระคุณเจ้านี้เป็นคำจริงแท้ทีเดียว พระฤๅษีกล่าวไว้ฉันใด คำนี้ก็เป็นฉันนั้น แต่ว่ากามทั้งหลายของข้าพเจ้ายังมีอยู่มาก กามเหล่านั้น คนเช่นข้าพเจ้าสละได้ยาก.

ช้างจมอยู่ท่ามกลางหล่มแล้ว ย่อมไม่อาจถอนตนไปสู่ที่ดอนได้ด้วยตนเอง ฉันใด ข้าพเจ้าจมอยู่ในหล่มคือกามกิเลส ก็ยังไม่สามารถปฏิบัติตนตามทางของภิกษุได้ฉันนั้น.

ข้าแต่ พระคุณเจ้าผู้เจริญ อนึ่ง บุตรจะมีความสุขได้ด้วยวิธีใด มารดาบิดาพร่ำสอนบุตรด้วยวิธีนั้นฉันใด ข้าพเจ้าละจากโลกนี้ไปแล้วจะพึงเป็นผู้มีความสุขยืนนานได้ด้วยวิธีใด ขอพระคุณเจ้าโปรดพร่ำสอนข้าพเจ้าด้วยวิธีนั้น ฉันนั้นเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยังมีอยู่มาก ( อนปฺปรูปา) ความว่า กามกิเลสทั้งหลายของข้าพเจ้า ยังมีชาติมิใช่นิดหน่อย คือมากมาย หาประมาณมิได้.

บทว่า กามเหล่านั้นคนเช่นข้าพเจ้าสละได้ยาก ( เต ทุจฺจชา มาทิสเกน) ความว่า ข้าแต่ภิกษุผู้เชษฐภาดา ท่านละกิเลส ทั้งหลายดำรงตนอยู่ได้แล้ว ส่วนข้าพเจ้ายังจมอยู่ในเปือกตม คือกามกิเลส เพราะเหตุนั้น คนเช่นข้าพเจ้าละกามกิเลสเหล่านั้นได้ยากยิ่ง.

บทว่า ช้าง... ฉันใด ( นาโค ยถา) ความว่า พระเจ้าสัมภูตราชทรงแสดงถึงความที่ พระองค์จมลงในเปือกตมคือกามกิเลส.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จมอยู่ ( พฺยสนฺโน) ความว่า ข้าพเจ้าจมลงแล้ว คือ ลื่นไหลลงแล้ว ได้แก่ถลำลงไปแล้ว. อีกอย่างหนึ่งปาฐะ ก็อย่างนี้เหมือนกัน.

บทว่า ทาง ( มคฺคํ) ได้แก่ มรรคาแห่งโอวาทานุสาสนีของท่าน.

บทว่า ไม่สามารถ ( นานุพฺพชามิ) ความว่า ข้าพเจ้าไม่สามารถ

 
  ข้อความที่ 23  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 53

จะบรรพชาได้ ขอท่านจงโปรดให้โอวาทแก่ข้าพเจ้าผู้ดำรงอยู่ในฆราวาสวิสัยนี้ เท่านั้นเถิด.

บทว่า พร่ำสอน ( อนุสาสเร) แปลว่า ย่อมพร่ำสอน.

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์กล่าวกะพระเจ้าสัมภูตราชนั้นว่า

ดูก่อนมหาบพิตรผู้จอมนรชน ถ้ามหาบพิตรไม่สามารถละกามของมนุษย์เหล่านี้ได้ไซร้ มหาบพิตรจงทรงเริ่มตั้งพลีกรรมอันชอบธรรมเถิด แต่การกระทำอันไม่เป็นธรรม ขออย่าได้มีในรัฐสีมาของมหาบพิตรเลย.

ทูตทั้งหลายจงไปยังทิศทั้ง ๔ นิมนต์สมณพราหมณ์ทั้งหลายมา มหาบพิตรจงทรงบำรุงสมณพราหมณ์ทั้งหลายด้วยข้าว น้ำ ผ้า เสนาสนะ และ คิลานปัจจัย.

มหาบพิตรจงเป็นผู้มีกมลจิตอันผ่องใส ทรงอังคาสสมณพราหมณ์ให้อิ่มหนำสำราญด้วยข้าวน้ำ ได้ทรงบริจาคทานตามสติกำลัง และทรงเสวยแล้ว เป็นผู้อันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายไม่ติเตียน จงเสด็จเข้าถึงสวรรคสถานเถิด.

ดูก่อนมหาบพิตร ก็ถ้าความเมาจะพึงครอบงำมหาบพิตรผู้อันหมู่นารีทั้งหลายแวดล้อมอยู่ มหาบพิตรจงทรงมนสิการคาถานี้ไว้ แล้วพึงตรัสคาถานี้ในท่ามกลางบริษัทว่า เมื่อชาติก่อนเราเป็นคนนอนอยู่กลางแจ้ง อันมารดาจัณฑาลีเมื่อจะไปป่า ให้ดื่มน้ำนมมาแล้ว นอนคลุกคลีอยู่กับสุนัขทั้งหลาย จนเติบโต มาบัดนี้ คนนั้นใครๆ เขาก็เรียกกันว่า "พระราชา".

 
  ข้อความที่ 24  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 54

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ไม่สามารถ ( น อุตฺสาหเส) ความว่า ถ้าหาก พระองค์จะไม่สามารถ.

บทว่า พลีกรรมอันชอบธรรม ( ธมฺมพลึ) ความว่า จงยึดเหนี่ยวเอาธรรมิกพลี อย่าให้บกพร่องโดยธรรมสม่ำเสมอ.

บทว่า การกระทำอันไม่ชอบธรรม... ของมหาบพิตร ( อธมฺมกาโร เต) ความว่า อย่าทำลายวินิจฉัยธรรมอันโบราณกษัตริย์ทั้งหลายตั้งไว้ ประพฤติธรรมจรรยา.

บทว่า นิมนต์ ( นิมนฺติตา) ความว่า เชื้อเชิญอาราธนาสมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรมมา.

บทว่า ตามสติกำลัง ( ยถานุภาวํ) ความว่า ตามสติกำลังของตน.

บทว่า คาถานี้ ( อิมเมว คาถํ) พระโพธิสัตว์กล่าวหมายถึงข้อความคาถาที่จะกล่าวต่อไป ณ บัดนี้.

ในคาถานั้น มีอธิบายดังนี้ ดูก่อนมหาราชเจ้า ถ้าหากความมัวเมาจะพึงครอบงำพระองค์ คือ ถ้าหากความมานะถือตัว ปรารภกามคุณมีรูป เป็นต้น หรือปรารภความสุขเกิดแต่ราชสมบัติจะพึงบังเกิดขึ้นแก่พระองค์ ผู้ห้อมล้อมด้วยหมู่สนมนารีทั้งหลายไซร้ ทันทีนั้นพระองค์พึงทรงจินตนาการว่า ในชาติปางก่อนเราเกิดในกำเนิดจัณฑาล ได้หลับนอนในที่ซึ่งเป็นอัพโภกาส (กลางแจ้ง) เพราะไม่มีแม้เพียงกระท่อมมุงด้วยหญ้ามิดชิด ก็แลในกาลนั้น นางจัณฑาลีผู้เป็นมารดาของเรา เมื่อจะไปสู่ป่า เพื่อหาฟืนและผักเป็นต้น ให้เรานอนกลางแจ้งท่ามกลางหมู่ลูกสุนัข ให้เราดื่มนมของตนแล้วไป เรานั้นแวดล้อมไปด้วยลูกสุนัข ดื่มนมแห่งแม่สุนัข พร้อมด้วยลูกสุนัขเหล่านั้น จึงเจริญวัยเติบโต เราเป็นผู้มีเชื้อชาติต่ำช้ามาอย่างนี้ แต่วันนี้เกิดเป็นผู้ที่ประชาชน เรียกว่ากษัตริย์ ดูก่อนมหาราชเจ้า เพราะเหตุนี้แล เมื่อพระองค์จะทรงสอนตนเองด้วยเนื้อความนี้ พึงตรัสคาถาว่า "ในชาติปางก่อนเราเป็นสัตว์นอนอยู่ในอัพโภกาส (กลางแจ้ง) เมื่อนางจัณฑาลีผู้มารดาไปสู่ป่า เที่ยวไปทางโน้นบ้าง ทางนี้บ้าง เป็นผู้อันแม่สุนัขสงสาร ให้ดื่มนม คลุกคลีอยู่กับพวกสุนัข จึงเจริญเติบโตมาได้ แต่วันนี้ เรานั้นอันใครๆ เขาเรียกกันว่าเป็นกษัตริย์ ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 25  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 55

พระมหาสัตว์ครั้นให้โอวาทแก่พระเจ้าสัมภูตราชอย่างนี้แล้วจึงกล่าวว่า "อาตมาภาพถวายโอวาทแก่พระองค์แล้ว บัดนี้พระองค์จงทรงผนวชเสียเถิด อย่าทรงเสวยวิบากแห่งกรรมของตนด้วยตนเลย" แล้วเหาะขึ้นไปในอากาศ ยังละอองธุลีพระบาทให้ตกเหนือเศียรเกล้าของพระราชา แล้วเหาะไปยังหิมวันตประเทศทันที. ฝ่ายพระราชาทอดพระเนตรดูพระดาบสนั้นไปแล้ว เกิดความสังเวชสลดพระทัย ยกราชสมบัติให้แก่ราชโอรสองค์ใหญ่ ตรัสสั่งให้พลนิกายกลับไปแล้ว บ่ายพระพักตร์เสด็จไปยังหิมวันตประเทศ (เพียงองค์เดียว) พระมหาสัตว์เจ้าทรงทราบการเสด็จมาของพระราชาแล้ว แวดล้อมด้วยหมู่ฤๅษีเป็นบริวาร มาต้อนรับพระราชาให้ทรงผนวชแล้วสอนกสิณบริกรรม. พระสัมภูตดาบสบำเพ็ญฌานและอภิญญาให้เกิดแล้ว. พระดาบสทั้งสองแม้เหล่านั้น ได้เป็นผู้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ด้วยประการฉะนี้.

พระศาสดาครั้นนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โปราณกบัณฑิต แม้จะท่องเที่ยวไป ๓ - ๔ ภพ ก็ยังเป็นผู้มีความ คุ้นเคยรักใคร่สนิทสนม มั่นคงอย่างนี้โดยแท้" แล้วทรงประชุมชาดกว่า สัมภูตดาบส ในครั้งนั้นได้มาเป็น พระอานนท์ ส่วน จิตตบัณฑิตดาบส ได้มาเป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.

จบอรรถกถาจิตตสัมภูตชาดก