๑๓. หัตถิปาลชาดก ว่าด้วยกาลเวลาไม่คอยใคร
[เล่มที่ 61] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 239
๑๓. หัตถิปาลชาดก
ว่าด้วยกาลเวลาไม่คอยใคร
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 61]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 239
๑๓. หัตถิปาลชาดก
ว่าด้วยกาลเวลาไม่คอยใคร
[๒๒๔๕] นานทีเดียวข้าพเจ้าเพิ่งได้พบเห็นผู้มีผิวพรรณดังเทพเจ้า มุ่นชฎาใหญ่ ทรงไว้ซึ่งหาบคอน ผู้ทรมานกิเลสดังเปลือกตมแล้ว ผู้ย้อมเศียรเกล้า.
นานนักหนา ข้าพเจ้าเพิ่งได้เห็น พระฤาษีผู้ยินดี ในธรรมคุณ นุ่งห่มผ้าย้อมฝาด ครองผ้าคากรอง ปกปิดโดยรอบ.
ขอท่านผู้เจริญจงรับอาสนะ น้ำ ผ้าเช็ดหน้า และน้ำมันทาเท้าของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอต้อนรับท่าน ด้วยสิ่งของมีค่ามาก ได้กรุณารับของมีค่ามากของ ข้าพเจ้าเถิด.
[๒๒๔๖] (ปุโรหิต กล่าวว่า) หัตถิปาละลูกรัก เจ้าจงเรียนวิชา และจงแสวงหาทรัพย์ จงปลูกฝังบุตร และธิดา ให้ดำรงอยู่ในเรือนเสียก่อน แล้วจึงบริโภค กลิ่น รส และวัตถุกามทั้งปวงเถิด กิจที่จะอยู่ป่า เมื่อเวลาแก่สำเร็จประโยชน์ดี มุนีใด บวชในกาล เช่นนี้ได้ มุนีนั้น พระอริยเจ้าสรรเสริญ.
[๒๒๔๗] (หัตถิปาลกุมารกล่าวว่า) วิชาเป็นของ ไม่จริงและลาภคือทรัพย์ก็ไม่จริง ใครๆ จะห้ามความ ชราด้วยลาภคือบุตรไม่ได้เลย สัตบุรุษทั้งหลายสอน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 240
ให้ปล่อยวางคันธารมณ์ และรสารมณ์เสีย ความอุบัติ แห่งผลย่อมมีได้เพราะกรรมของตน.
[๒๒๔๘] (พระราชาตรัสว่า) คำของเจ้าที่ว่า ความอุบัติแห่งผลย่อมมีได้ เพราะกรรมของตนนั้น เป็นคำจริงแท้แน่นอน อนึ่ง มารดาบิดาของท่านนี้ แก่เฒ่าแล้ว หวังจะเห็นท่านมีอายุยืนร้อยปี ไม่มีโรค.
[๒๒๔๙] (หัตถิปาลกุมารทูลว่า) ข้าแต่พระราชา ผู้ประเสริฐกว่านรชน ความเป็นสหาย กับความ ตาย ความไมตรีกับความแก่ พึงมีแก่ผู้ใด หรือแม้ ผู้ใดจะพึงรู้ว่า เราจักไม่ตาย มารดาบิดาพึงเห็นผู้นั้น มีอายุยืนร้อยปี ไม่มีโรคเบียดเบียนได้ในบางคราว. บุรุษเอาเรือมาจอดไว้ที่ท่าน้ำ รับคนฝั่งนี้ ส่งถึง ฝั่งโน้น แล้วย้อนกลับมารับคนฝั่งโน้น พามาส่งถึง ฝั่งนี้ ฉันใด ชราและพยาธิ ก็ย่อมนำเอาชีวิตสัตว์ ไปสู่อำนาจแห่งมัจจุราชอยู่เนืองๆ ฉะนั้น.
[๒๒๕๐] (อัสสปาลกุมารทูลว่า) กามทั้งหลาย เป็นดังเปลือกตม เป็นเครื่องให้จมลง เป็นเครื่องนำ น้ำใจสัตว์ไป ข้ามได้ยาก เป็นที่ตั้งแห่งมฤตยู สัตว์ ทั้งหลายผู้ข้องอยู่ในกามอันเป็นดังเปลือกตม เป็น เครื่องให้จมลงนี้ เป็นสัตว์มีจิตเลวทราม ย่อมข้ามถึงฝั่ง ไม่ได้.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 241
เมื่อครั้งก่อน อัตภาพของข้าพระองค์นี้ ได้ กระทำกรรมอันหยาบช้า ผลแห่งกรรมนั้น อันข้าพระองค์ยึดไว้มั่นแล้ว ข้าพระองค์จะพ้นไปจากผล แห่งกรรมนี้ไม่ได้เลย ข้าพระองค์จักปิดกั้นรักษาอัตภาพนั้นอย่างรอบคอบ ขออัตภาพนี้ อย่าได้ทำกรรม อันหยาบช้านี้อีกเลย.
[๒๒๕๑] (โคปาลกุมาร ทูลว่า) ขอเดชะ พระราชาธิบดี บุรุษผู้เลี้ยงโค ไม่เห็นโคที่หายไปใน ป่าทึบมืดฉันใด ขอเดชะพระองค์ผู้ทรงพระนามว่า เอสุการี ประโยชน์ของข้าพระพุทธเจ้า ก็หายไปแล้ว ฉันนั้น อย่างไรเล่า ข้าพระพุทธเจ้าจักไม่แสวงหา ต่อไป.
[๒๒๕๒] บุรุษผู้กล่าว ผัดเพี้ยนการงานที่ ควรกระทำในวันนี้ว่า ควรทำในวันพรุ่งนี้ การงาน ที่ควรทำในวันพรุ่งนี้ ว่าควรทำในวันต่อไป ย่อม เสื่อมจากการงานนั้น ธีรชนคนใดรู้ว่าสิ่งใดเป็น อนาคต สิ่งนั้นไม่มีแล้ว พึงบรรเทาความพอใจที่เกิด ขึ้นเสีย.
[๒๒๕๓] (อชปาลกุมาร ทูลว่า) ข้าพระองค์ได้ เห็นหญิงสาวคนหนึ่ง รูปร่างงามพอประมาณ มี ดวงเนตรเหมือนดอกการะเกด มัจจุราชมาฉุดคร่าเอา
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 242
หญิงสาวคนนั้น ซึ่งกำลังตั้งอยู่ในปฐมวัย ยังมิทันได้ บริโภคโภคสมบัติไป.
อนึ่ง ชายหนุ่ม มีทรงงดงาม มีใบหน้าผ่องใส น่าดูน่าชม มีวรรณะเรืองรองดังทองคำ มีหนวดเครา ละเอียดอ่อน ดังเกสรดอกคำฝอย แม้ชายหนุ่มเห็นปาน นี้ก็ย่อมไปสู่อำนาจแห่งมฤตยู ขอเดชะ ข้าพระองค์จะ ละกามละเรือนเสียแล้ว จักบวช ขอได้โปรดทรง พระกรุณาอนุญาตข้าพระองค์บวชเถิด พระเจ้าข้า.
[๒๒๕๔] (พราหมณ์ปุโรหิต กล่าวว่า) ดูก่อน แม่วาเสฏฐิ ต้นไม้จะได้นามโวหารว่าต้นไม้ได้ ก็เพราะ มีกิ่งและใบ ชาวโลกเขาเรียกต้นไม้ที่ไม่มีกิ่งและใบว่า เป็นตอไม้ ทุกวันนี้ เราเป็นผู้มีบุตรละทิ้งไปเสียแล้ว ถึงเวลาที่เราจักบวชภิกษาจาร.
[๒๒๕๕] (นางพราหมณี กล่าวว่า) นกกระเรียน ทั้งหลาย บินไปในอากาศได้คล่องแคล่ว ฉันใด เมื่อ สิ้นฤดูฝนแล้ว หงส์ทั้งหลาย พึงทำลายใยที่แมลงมุม ทำไว้ไปได้ฉันนั้น บุตรและสามีของเราพากันไปหมด ไฉนเราจะไม่ปฏิบัติตามบุตรและสามีของเราเล่า.
[๒๒๕๖] (พระนางเทวี ตรัสว่า) ฝูงแร้งเหล่านี้ ครั้นกินเนื้อแล้ว ก็สำรอกออกเสีย จึงบินไปได้ ฝ่าย แร้งเหล่าใด กินเนื้อแล้วไม่สำรอกเนื้อออก แร้ง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 243
เหล่านั้นก็ตกอยู่ในเงื้อมมือของหม่อมฉัน ข้าแต่พระราชา พราหมณ์ได้คลายกามทั้งหลายออกทิ้งแล้ว ส่วนพระองค์นั้นกลับรับเอากามนั้นไว้บริโภคอีก บุรุษ ผู้บริโภคสิ่งที่ผู้อื่นคายออกแล้ว ไม่พึงได้รับความ สรรญเสริญเลย.
[๒๒๕๗] (พระราชา ตรัสว่า) ดูก่อนพระนาง ปัญจาลีผู้เจริญ บุรุษผู้มีกำลัง ช่วยฉุดบุรุษทุพพลภาพ ผู้จมอยู่ในเปลือกตมขึ้นได้ ฉันใด เธอก็ช่วยพยุงฉัน ให้ขึ้นจากกามได้ ด้วยคาถาอันเป็นสุภาษิตฉันนั้นแล.
[๒๒๕๘] (พระศาสดา ตรัสว่า) พระเจ้าเอสุการี มหาราช ผู้เป็นอธิบดีในทิศ ทรงภาษิตคาถานี้แล้ว ทรง สละราชสมบัติออกบรรพชา อุปมาดังนาคหัตถีตัว ประเสริฐ สลัดตัดเครื่องผูกไปได้ฉะนั้น.
[๒๒๕๙] (ชาวเมือง ทูลว่า) ก็พระราชาผู้กล้าหาญ ประเสริฐที่สุดกว่านรชน ทรงพอพระทัยในบรรพชาเพศ ละรัฐสีมาไปแล้ว ขอพระนางโปรดเป็นพระราชา แห่งข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเถิด พระนางเจ้าอันข้า พระพุทธเจ้าทั้งหลายคุ้มครองแล้ว โปรดทรงอนุศาสน์ เสวยราชสมบัติ เหมือนเช่นพระราชาเถิด.
[๒๒๖๐] (พระนางเทวี ตรัสว่า) ก็พระราชาผู้ กล้าหาญ ประเสริฐที่สุดกว่านรชน ทรงพอพระทัยใน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 244
บรรพชาเพศ ละรัฐสีมาไปแล้ว แม้เราก็จักละกาม ทั้งหลาย อันน่ารื่นรมย์ใจ เที่ยวไปในโลกแต่ผู้เดียว.
ก็พระราชาผู้กล้าหาญ ประเสริฐสุดกว่านรชน ทรงพอพระทัยในบรรพชาเพศ ละรัฐสีมาไปแล้ว แม้เราก็จักละกามทั้งหลาย อันตั้งอยู่เป็นถ่องแถวแล้ว เที่ยวไปในโลกแต่ผู้เดียว.
กาลย่อมล่วงไป ราตรีย่อมผ่านไป ชั้นแห่งวัย ย่อมละลำดับไป แม้เราก็จักละกามทั้งหลาย อันน่ารื่นรมย์ใจ เที่ยวไปในโลกแต่ผู้เดียว.
กาลย่อมล่วงไป ราตรีย่อมผ่านไป ชั้นแห่งวัย ย่อมละลำดับไป แม้เราก็จักละกามทั้งหลาย อันตั้งอยู่ เป็นถ่องแถว เที่ยวไปในโลกแต่ผู้เดียว.
กาลย่อมล่วงไป ราตรีย่อมผ่านไป ชั้นแห่งวัย ย่อมละลำดับไป แม้เราก็จักเป็นผู้เยือกเย็น ก้าวล่วง ความข้องทั้งปวง เที่ยวไปในโลกแต่ผู้เดียว.
จบหัตถิปาลชาดกที่ ๑๓
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 245
อรรถกถาหัตถิปาลชาดก
พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภ การออกมหาภิเนษกรมณ์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า จิรสฺสํ วต ปสฺสาม ดังนี้.
แท้จริงในครั้งนั้น พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ใช่แต่ ในชาตินี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้ในชาติก่อน ตถาคตก็ได้ออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ มาแล้วเหมือนกัน แล้วทรงนำอดีตนิทานมาตรัสดังนี้
ในอดีตกาล มีพระราชาทรงพระนามว่า เอสุการี ได้ครองราชสมบัติ อยู่ในพระนครพาราณสี พราหมณ์ปุโรหิตผู้หนึ่งเป็นปิยสหายของพระราชา นั้น ตั้งแต่ครั้งยังเยาว์อยู่ด้วยกัน แม้ทั้งสองนั้น หามีโอรสและบุตรผู้จะสืบสกุลไม่ ครั้นวันหนึ่งในยามที่มีความสุข พระราชากับพราหมณ์ปุโรหิต จึงปรึกษากันว่า อิสริยยศของเราทั้งสองมีมาก โอรสหรือธิดาไม่มีเลย เราทั้งสองควรจะทำ อย่างไรดี. ลำดับนั้น พระเจ้าเอสุการี ตรัสสั่งพราหมณ์ปุโรหิตว่า สหายรัก ถ้าหากว่าในเรือนของท่าน จักเกิดมีบุตรขึ้นไซร้ บุตรของท่านจักเป็นเจ้าของ ครอบครองราชสมบัติของเรา ถ้าว่าเราจักเกิดมีบุตรขึ้น บุตรของเราจักต้อง เป็นเจ้าของครอบครองโภคสมบัติในเรือนของท่านด้วย. ทั้งสองฝ่ายต่างได้ทำ การนัดหมายซึ่งกันแลกันไว้ด้วยอาการอย่างนี้. ต่อมาวันหนึ่ง พราหมณ์ปุโรหิต ไปยังบ้านส่วยของตน ในเวลาจะกลับ จึงเข้าสู่พระนครทางประตูด้านทิศทักษิณ พบสตรีเข็ญใจชื่อ พหุปุตติกะ คนหนึ่ง ในภายนอกพระนคร นางมีบุตรเจ็ด คนทั้งหมดไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ลูกชายคนหนึ่งถือกระเบื้องอันเป็นภาชนะหุงต้ม คนหนึ่งหอบเสื่อปูนอน คนหนึ่งเดินนำหน้า คนหนึ่งเดินตามหลัง คนหนึ่งเดิน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 246
เกาะนิ้วมือมารดาเดินไป คนหนึ่งอยู่ที่สะเอว อีกคนหนึ่งอยู่บนบ่า ลำดับนั้น พราหมณ์ปุโรหิต ถามหญิงผู้เป็นมารดาว่า แม่มหาจำเริญ บิดาของเด็กๆ เหล่านั้นอยู่ที่ไหน? ฝ่ายหญิงเข็ญใจนั้น ก็ตอบว่า บิดาของเด็กๆ เหล่านี้ จะได้มีอยู่ประจำก็หามิได้. ปุโรหิตจึงถามต่อไปว่า เจ้าทำอย่างไรถึงได้ลูกชาย มากถึงเจ็ดคนเช่นนี้ นางไม่เห็นหลักฐานอื่นเป็นเครื่องยืนยัน เห็นต้นไทร ต้นหนึ่ง ขึ้นอยู่ใกล้ประตูพระนคร จึงตอบไปว่า ข้าแต่นาย ดิฉันบวงสรวง ปรารถนาในสำนักของเทพยดา ซึ่งสิงอยู่ที่ต้นไทร จึงได้บุตรถึงเจ็ดคน เทพยดาที่สิงอยู่นี้ให้บุตรทั้งหมดแก่ดิฉัน.
ปุโรหิตพูดว่า ถ้าเช่นนั้นเจ้าจงไปเถิดแล้วลงจากรถตรงไปยังต้นไทร จับกิ่งไทรเขย่า พลางขู่รุกขเทพยดาว่า เทพยดาผู้เจริญ ท่านไม่ยอมให้ โอรสแก่พระราชาบ้างเลย อะไรบ้างที่ท่านไม่ได้จากสำนักพระราชา ทุกๆ ปีมา พระราชาทรงสละพระราชทรัพย์ถึงพันกหาปณะ ตรัสสั่งให้ทำพลีกรรม แก่ท่าน ท่านยังไม่ให้โอรสแก่พระองค์เลย หญิงเข็ญใจนี้ทำอุปการคุณ อะไรแก่ท่าน เหตุไรท่านจึงให้บุตรแก่นางถึงเจ็ดคน ถ้าหากว่าท่านไม่ให้ โอรสแก่พระราชาของเรา จากนี้ไปอีก ๗ วัน เราจักให้คนฟันต้นไทร โค่นลงทั้งราก สับให้เป็นท่อนๆ ดังนี้แล้วก็หลีกไป พอรุ่งขึ้นๆ ปุโรหิต ก็ไปยังต้นไทรนั้น แล้วกล่าวขู่โดยทำนองนี้ จนครบ ๖ วัน. แต่ในวันที่ ๖ ได้จับกิ่งไทรพูดว่า ดูก่อนรุกขเทวดา เหลืออีกเพียงราตรีเดียวเท่านั้น ถ้า ท่านไม่ยอมให้โอรสผู้ประเสริฐแก่พระราชาของเราไซร้ พรุ่งนี้เราจักให้ สำเร็จโทษท่าน. รุกขเทวดาคำนึงดูรู้เหตุผลนั้นแน่นอนแล้ว คิดว่า เมื่อ พราหมณ์ผู้นี้ไม่ได้บุตร คงจักทำลายวิมานของเราจนพินาศ เราควรให้บุตร แก่พราหมณ์ปุโรหิตนี้ ด้วยอุบายอย่างใดหนอ ดังนี้แล้วจึงไปยังสำนักของ ท้าวจาตุมหาราช แจ้งเนื้อความนั้นให้ทราบ ท้าวจาตุมหาราชกล่าวปฏิเสธว่า พวกเราไม่สามารถจะให้บุตรแก่พราหมณ์ปุโรหิตนั้นได้ รุกขเทวดาจึงไปยัง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 247
สำนักของยักขเสนาบดี ๒๘ ตน แจ้งเรื่องให้ทราบ. แม้ยักขเสนาบดีเหล่านั้น ก็กล่าวอย่างนั้นเหมือนกัน รุกขเทวดาจึงไปยังสำนักของท้าวสักกเทวราช กราบทูลให้ทรงทราบ ฝ่ายท้าวสักกเทวราชทรงใคร่ครวญดูว่า พระราชาจักได้ พระราชโอรสผู้สมควรหรือหาไม่ ทอดพระเนตรเห็นเทพบุตร ๔ องค์ผู้มีบุญ (ควรเกิดในราชตระกูล).
ได้ยินว่า ในภพก่อนๆ เทพบุตรทั้ง ๔ นั้นเกิดเป็นช่างหูกอยู่ใน เมืองพาราณสี แบ่งทรัพย์ที่หาได้จากการงานนั้นเป็น ๕ ส่วน บริโภคเสีย ๔ ส่วน ถือเอาส่วนที่ ๕ พร้อมกันทำบุญให้ทาน ช่างทอหูกทั้ง ๔ นั้น เคลื่อน จากภพนั้นแล้ว บังเกิดในดาวดึงสพิภพ ต่อแต่นั้น เลื่อนขึ้นไปบังเกิดใน พิภพยามา เที่ยวเสวยทิพยสมบัติอยู่ในเทวโลก ๖ ชั้น วนไปเวียนมาด้วย อาการอย่างนี้ ก็คราวนั้น ถึงวาระที่เทพบุตรเหล่านั้น จะเคลื่อนจากดาวดึงส พิภพไปเกิดยังพิภพยามา ท้าวสักกเทวราช จึงเสด็จไปยังสำนักของเทพบุตร เหล่านั้น ตรัสเรียกมาแล้ว มีเทวบัญชาว่า ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ควรที่พวกท่านจักไปบังเกิดยังมนุษยโลก พวกท่านจงบังเกิดในพระครรภ์ อัครมเหสี แห่งพระเจ้าเอสุการีราชเถิด.
เทพบุตรเหล่านั้น ได้ฟังพระดำรัสแห่งท้าวสักกเทวราชแล้ว พากัน กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ พะย่ะค่ะ พวกข้าพระบาทจักไปตาม เทวโองการ แต่ว่าพวกข้าพระบาทไม่มีความต้องการราชตระกูล จักพากันไป บังเกิดในเรือนของท่านปุโรหิต แล้วจักละกามสมบัติออกบวชในเวลาที่ยังเป็น หนุ่มอยู่นั่นเอง. ท้าวสักกเทวราชทรงรับปฏิญญาของเทพบุตรเหล่านั้นว่า ดีแล้ว จึงเสด็จมาบอกเนื้อความนั้นแก่รุกขเทวดา. รุกขเทวดาดีใจถวายบังคม ท้าวสักกเทวราช แล้วตรงไปยังวิมานของตนทันที. ครั้นในวันรุ่งขึ้น พราหมณ์ ปุโรหิตมีบัญชาให้บุรุษที่ล่ำสัน มีกำลังมาประชุมกัน แล้วให้ถือมีดและขวาน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 248
เป็นต้น ไปยังโคนต้นไม้ จับกิ่งไทรไว้แล้วพูดว่า ดูก่อนเทพยดาผู้เจริญ เราเพียรขอบุตรกะท่าน ครบ ๗ วันทั้งวันนี้ บัดนี้เป็นเวลาที่จะสำเร็จโทษ ท่านละ. ลำดับนั้น รุกขเทวดาจึงออกมาจากระหว่างต้นไทร ด้วยอานุภาพ อันยิ่งใหญ่ เชื้อเชิญปุโรหิตนั้นมาด้วยเสียงอันไพเราะ แล้วกล่าวว่า ดูก่อน พราหมณ์ บุตรคนเดียวจะเป็นไรไป เราจักให้บุตรแก่ท่าน ๔ คน พราหมณ์ ปุโรหิต ตอบว่า ข้าพเจ้าไม่มีความต้องการบุตร ท่านโปรดให้แก่พระราชา ของข้าพเจ้าเถิด. รุกขเทวดากล่าวว่า เราจักให้แก่ท่านเท่านั้น พราหมณ์ปุโรหิต ขอร้องว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านจงให้ข้าพเจ้าสองคน ให้พระราชาสองคนเถิด. รุกขเทวดาตอบว่า เราจะไม่ให้พระราชา จะให้ท่านผู้เดียวเท่านั้น แม้ทั้ง ๔ คน แต่บุตรทั้ง ๔ นั้น ท่านจักเป็นเพียงแต่สักว่าได้เท่านั้น (เพราะ) บุตรทั้ง ๔ นั้น จะไม่อยู่ครองเรือน จักพากันออกบวช แต่ในเวลาที่ยังเป็นหนุ่ม ทีเดียว. พราหมณ์ปุโรหิตอ้อนวอนไปว่า ท่านโปรดให้บุตรแก่พระราชา หมดทั้ง ๔ คนเถิด ส่วนเหตุที่จะไม่ให้บุตรทั้ง ๔ ออกบวช เป็นภาระของ ข้าพเจ้าเอง. รุกขเทวดา ประทานบุตรผู้ประเสริฐ แก่พราหมณ์ปุโรหิตนั้น แล้วเข้าไปยังพิภพของตน จำเดิมแต่นั้นมา ลาภสักการะ ก็เกิดแก่เทวดา อย่างนองเนือง.
เชษฐกเทพบุตร จุติมาบังเกิดในครรภ์นางพราหมณีภรรยา ของ พราหมณ์ปุโรหิต ในวันขนานนามกุมารนั้น มารดาบิดาพร้อมกัน ให้ชื่อว่า หัตถิปาลกุมาร แล้วมอบให้นายควาญช้างรับเลี้ยงไว้ เพื่อต้องการป้องกันมิให้ กุมารนั้นบวช. หัตถิปาลกุมารนั้น เจริญเติบโตในสำนักของนายควาญช้าง. ในกาลที่หัตถิปาลกุมารเดินไปมาได้ เทพบุตรองค์ที่สองก็จุติมาบังเกิดในครรภ์ ของนางพราหมณีอีก. กาลเมื่อกุมารนั้นเกิดแล้ว มารดาบิดาก็ขนานนามให้ว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 249
อัสสปาลกุมาร. อัสสปาลกุมารก็เจริญเติบโตในสำนักของคนเลี้ยงม้า. ในกาล ที่บุตรคนที่สามเกิดแล้ว มารดาบิดาขนานนามให้ว่าโคปาลกุมาร มอบให้นาย โคบาลเลี้ยงไว้ ในเวลาที่บุตรคนที่สี่เกิดแล้ว มารดาบิดาขนานนามให้ว่า อชปาลกุมาร มอบให้นายอชบาลเลี้ยงไว้. อชปาลกุมารเจริญเติบโตกับพวก อชบาล. ครั้นกุมารเหล่านั้นเจริญวัย เติบโตแล้ว ได้เป็นผู้มีรูปร่างงดงามยิ่งนัก.
ต่อมามารดาบิดาทั้งสองก็เชื้อเชิญบรรพชิตทั้งหลาย ออกไปเสียจาก พระราชอาณาเขต เพราะกลัวกุมารเหล่านั้นจะบวช. ในแคว้นกาสิกรัฐทั้งหมด จะมีบรรพชิตแม้องค์เดียวก็หามิได้. กุมารทั้ง ๔ เหล่านั้น เป็นผู้หยาบช้า กล้าแข็งยิ่งนัก จะไปสู่ทิศใดก็พากันแย่งชิงเอาสิ่งของที่เขานำจากทิศนั้นๆ. เมื่อหัตถิปาลกุมารอายุครบ ๑๖ ปี พระราชาและพราหมณ์ปุโรหิตได้เห็น สรีรสมบัติแล้ว จึงปรึกษากันว่า กุมารทั้ง ๔ เติบใหญ่แล้วเป็นสมัยที่จะยก เศวตฉัตรให้ครอบครองราชสมบัติ เราควรจะจัดการกับกุมารเหล่านั้นอย่างไร ดี แล้วคิดต่อไปว่า กุมารเหล่านั้น นับแต่ได้รับอภิเษกแล้ว คงจักหยาบช้า สาหัสยิ่งขึ้น ถ้าบรรพชิตทั้งหลายจักมาจากที่ต่างๆ ในเวลานี้ กุมารเหล่านี้ เห็นเข้า ก็จักพากันบวชเสีย เวลาที่กุมารเหล่านี้บวชแล้ว ชาวชนบทก็จะ รวนเร กำเริบ เราทั้งสองต้องทดลองดูก่อน จึงจักอภิเษกกุมารเหล่านั้น ต่อภายหลัง แล้วทั้งสองคนต่างแปลงเพศเป็นฤาษี (ทำเป็น) เที่ยวภิกษาจารไป จนถึงประตูนิเวศน์แห่งหัตถิปาลกุมาร หัตถิปาลกุมาร เห็นบรรพชิตจำแลงเหล่านั้นแล้ว ยินดี มีความเลื่อมใส เข้าไปใกล้ ถวายนมัสการแล้วกล่าว คาถา ๓ คาถา ความว่า
นานทีเดียว ข้าพเจ้าเพิ่งได้พบเห็นผู้มีผิวพรรณ ดังเทพยเจ้า มุ่นชฎาใหญ่ทรงไว้ซึ่งหาบคอน ผู้ทรมาน กิเลสดังเปลือกตมแล้ว ผู้ย้อมเศียรเกล้า.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 250
นานนักหนา ข้าพเจ้าเพิ่งได้เห็นพระฤาษีผู้ยินดี ในธรรมคุณ นุ่งห่มผ้าย้อมฝาด ครองผ้าคากรอง ปกปิดโดยรอบ.
ขอท่านผู้เจริญจงรับอาสนะ น้ำ ผ้าเช็ดเท้าและ น้ำมันทาเท้าของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอต้อนรับท่านด้วย สิ่งของมีค่ามาก ได้กรุณารับของมีค่ามากของข้าพเจ้า เถิด.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พฺราหฺมณํ ได้แก่ พราหมณ์ผู้ลอยบาป แล้ว. บทว่า เทววณฺณินํ ความว่า ผู้มีวรรณะอันประเสริฐ มีตบะกล้า มีอินทรีย์ผ่องใสน่านับถือ มีอัตภาพแห่งบรรพชิตมีตบธรรมอันสูงส่ง. บทว่า ขาริธรํ ความว่า ผู้ทรงไว้ซึ่งขาริภารภัณฑ์. บทว่า อิสึ ความว่า ผู้แสวงหา คุณธรรมมีกองศีลเป็นต้น ดำรงอยู่แล้ว. บทว่า ธมฺมคุเณรตํ ความว่า ผู้ยิน ดียิ่งแล้วในส่วนแห่งสุจริตธรรม.
บทว่า อาสนํ ความว่า หัตถิปาลกุมาร แต่งตั้งอาสนะนี้ไว้ เพื่อฤาษี เหล่านั้นนั่ง แล้วน้อมน้ำเจือด้วยน้ำหอม ผ้าเช็ดเท้า และน้ำมันสำหรับหยอดเข้า ไปถวายแล้วกล่าวเชื้อเชิญ. บทว่า อคฺเฆ ความว่า ข้าพเจ้ามอบอาสนะเป็นต้น อันมีค่ามาก ทั้งหมดเหล่านี้ กะท่านผู้เจริญ. บทว่า กุรุเต โน ความว่า ขอท่านผู้เจริญจงรับอาสนะเป็นต้นอันมีค่ามากเหล่านี้ ของข้าพเจ้าด้วยเถิด.
หัตถิปาลกุมาร กล่าวเชื้อเชิญบรรดาฤาษีทั้งสองเหล่านั้นเป็นรายรูป ต่างวาระกันอย่างนี้. ลำดับนั้น ปุโรหิตฤาษีแปลงแกล้งถามว่า แน่ะพ่อหัตถปาละ เจ้าสำคัญเราทั้งสองเป็นใครกัน จึงกล่าวอย่างนี้ หัตถิปาลกุมารตอบว่า ข้าพเจ้าสำคัญว่า พวกท่านเป็นฤาษีผู้อยู่ในหิมวันตประเทศ ปุโรหิตแปลงจึง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 251
ชี้แจงว่า พ่อคุณ พวกเรามิใช่พระฤาษี นี้คือราชาเอสุการี เราคือปุโรหิต ผู้เป็นบิดาของเจ้า. หัตถิปาลกุมารถามว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร บิดากับพระราชาจึงต้องปลอมเพศเป็นฤาษี?. ปุโรหิตตอบว่า เพื่อจะทดลอง เจ้าดู. หัตถิปาลกุมารถามว่า ทดลองข้าพเจ้าทำไม? พราหมณ์ปุโรหิตจึง กล่าวว่า ทดลองดูว่า ถ้าเจ้าเห็นพวกเราแปลงเป็นพระฤาษีแล้ว มิได้บวชไซร้ เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเราจึงมาเพื่ออภิเษกเจ้าให้เสวยราชสมบัติ. หัตถิปาลกุมาร กล่าวว่า ข้าแต่ท่านบิดา ข้าพเจ้าไม่มีความต้องการราชสมบัติเลย ข้าพเจ้า จักบวช. ลำดับนั้น ปุโรหิตผู้บิดาจึงกล่าวชี้แจงกะหัตถิปาลกุมารว่า หัตถิปาลกุมารลูกรัก เวลานี้ยังไม่ใช่เวลาที่เจ้าจะบวช เมื่อจะพร่ำสอนตามอัธยาศัย จึงกล่าวคาถาที่ ๔ ความว่า
หัตถิปาละลูกรัก เจ้าจงเรียนวิชา และจงแสวงหาทรัพย์ จงปลูกฝังบุตรและธิดาให้ดำรงอยู่ในเรือน เสียก่อน แล้วจงบริโภค กลิ่น รส และวัตถุกาม ทั้งปวงเถิด กิจที่จะอยู่ป่า เมื่อเวลาแก่สำเร็จประโยชน์ดี มุนีใด บวชในกาลเช่นนี้ได้ มุนีนั้น พระอริยเจ้า สรรเสริญ.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อธิจฺจ แปลว่า เล่าเรียนศึกษา. บทว่า ปุตฺเต ความว่า จงยกเศวตฉัตรให้พวกนาฏกชนเข้าอุปัฏฐากบำรุงโดยวาระ จนเจริญด้วยบุตรธิดา แล้วให้บุตรธิดาเหล่านั้น ครอบครองบ้านเมืองแทนตน. บทว่า สพพํ ความว่า เจ้าจงเสวยกลิ่นและรสเหล่านี้ ทั้งพัสดุกามที่เหลือ ทั้งหมดก่อน. บทว่า อรญฺํ สาธุ มุนิ โส ปสตฺโถ ความว่า ปุโรหิต กล่าวว่า การอยู่ป่าของผู้ที่บวชในเวลาแก่ภายหลัง ย่อมได้ประโยชน์สำเร็จดี
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 252
ผู้ใดบวชในเวลาดังกล่าวมานี้ ผู้นั้นเป็นคนมีความคิด อันอริยชนทั้งหลายมี พระพุทธเจ้าเป็นต้นสรรเสริญแล้ว.
ลำดับนั้น หัตถิปาลกุมารกล่าวคาถา ความว่า
วิชาเป็นของไม่จริง และลาภคือทรัพย์ก็ไม่จริง ใครๆ จะห้ามความชราด้วยลาภ คือ บุตรไม่ได้เลย สัตบุรุษทั้งหลาย สอนให้ปล่อยวางคันธารมณ์ และ รสารมณ์เสีย ความอุบัติแห่งผลย่อมมีได้ เพราะกรรม ของตน.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น สจฺจา ความว่า ชนทั้งหลายกล่าว วิทยาการอันใด ว่าเป็นสวรรค์ และเป็นมรรค แต่ก็หาใช่วิทยาการอันนั้น ให้สำเร็จประโยชน์ไม่ วิชาทั้งหลายเป็นของเปล่าประโยชน์ไร้สาระ หาผลมิได้. บทว่า วิตฺตลาโภ ความว่า แม้ลาภคือทรัพย์สมบัติ จะเป็นของมีสภาพเป็น อันเดียวไปทุกอย่างก็หามิได้มี เพราะเป็นของปัญจสาธารณ์. บทว่า น ชรํ ความว่า ข้าแต่ท่านบิดา ใครๆ จะชื่อว่าสามารถ เพื่อจะห้ามชรา หรือพยาธิ มรณะได้ด้วยลาภคือบุตรก็มิได้มี เพราะลาภคือบุตรเป็นต้นนี้ มีทุกข์เป็นมูล เป็นที่ตั้งแห่งอุปธิกิเลส. บทว่า คนฺเธ รเส ความว่า บัณฑิตทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ย่อมกล่าวสอนเฉพาะความปล่อยวางคันธารมณ์ รสารมณ์ และอารมณ์ที่เหลือทั้งหลายเท่านั้น. บทว่า สกมฺมุนา ความว่า ความบังเกิดแห่งผลคือความเผล็ดผล ย่อมเกิดแก่สัตว์ทั้งหลาย เพราะกรรม อันตนทำไว้เท่านั้น ข้าแต่ท่านบิดา เพราะสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน. พระราชาทรงสดับคำของกุมารแล้ว ตรัสพระคาถา ความว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 253
คำของเจ้าที่ว่า ความอุบัติแห่งผลย่อมมีได้ เพราะกรรมของตนนั้น เป็นคำจริงแท้แน่นอน อนึ่ง มารดาบิดาของท่านนี้ แก่เฒ่าแล้ว หวังจะเห็นท่านมี อายุยืนร้อยปี ไม่มีโรค.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วสฺสสตํ อโรคฺยํ ความว่า พระราชา ตรัสว่า มารดาบิดาของเจ้านั้น ประสงค์จะเห็นเจ้ามีอายุยืนร้อยปี ไม่มีโรคภัย เบียดเบียน เมื่อเจ้ามีชีวิตอยู่ถึงร้อยปี จักได้เลี้ยงดูมารดาบิดาบ้าง. หัตถิปาลกุมาร ฟังพระราชดำรัสแล้ว กราบทูลว่า ขอเดชะพระองค์ ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ เหตุไรพระองค์จึงตรัสเช่นนี้ แล้วกล่าวคาถา สองคาถา ความว่า
ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐกว่านรชน ความเป็น สหายกับความตาย ความไมตรีกับความแก่พึงมีแก่ ผู้ใด หรือแม้ผู้ใดจะพึงรู้ว่า เราจักไม่ตาย มารดาบิดา พึงเห็นผู้นั้นมีอายุยืนร้อยปี ไม่มีโรคเบียดเบียนได้ใน บางคราว.
บุรุษเอาเรือมาจอดไว้ที่ท่าน้ำ รับคนฝั่งนี้ส่งถึง ฝั่งโน้น แล้วย้อนกลับรับคนฝั่งโน้น พามาส่งถึงฝั่งนี้ ฉันใด ชรา และพยาธิ ก็ย่อมนำเอาชีวิตสัตว์ไปสู่ อำนาจแห่งมัจจุราชอยู่เนืองๆ ฉันนั้น.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สกฺขี ได้แก่ มิตรธรรม. บทว่า มรเณน ความว่า ความเป็นมิตรกับความตายโดยสมมติว่า นายทัตตะ นายมิตตะ ตาย ไปแล้ว. บทว่า ชราย ความว่า ก็มิตรไมตรีกับชราอันปรากฏพึงมีแก่ผู้ใด
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 254
อธิบายว่า มรณะนี้กับชราไม่เคยเป็นมิตรกับผู้ใดเลย. บทว่า เอเรติ เจนํ ความว่า ขอเดชะพระมหาราชเจ้า บุรุษจอดเรือไว้ที่ท่าน้ำแล้ว ให้คนที่จะ ข้ามไปฝั่งโน้นลงเรือ ถ้าเขาเอาถ่อยัน หรือฉุดไปด้วยใจรัก ย่อมให้เรือ หวั่นไหวติดต่อกันไป ทีนั้นก็นำผู้นั้นเข้าสู่ฝั่งโน้นได้ฉันใด ชรา และพยาธิ ย่อมนำสัตว์ทั้งหลายเข้าไปสู่อำนาจแห่งมฤตยู อันเป็นที่สุด (ของชีวิต) เป็นนิตย์ ฉันนั้น.
ครั้นหัตถิปาลกุมาร แสดงชีวิตและสังขารแห่งสัตว์เหล่านี้ ว่าเป็น ของนิดหน่อยอย่างนี้แล้ว จึงถวายโอวาทพระราชาว่า ขอเดชะพระมหาราชเจ้า ขอพระองค์ดำรงอยู่เป็นสุขเถิด ชรา พยาธิ และมรณะ ย่อมรุกรานเข้าใกล้ ข้าพระพุทธเจ้า ผู้กำลังกราบทูลสนทนาอยู่กับพระองค์ทีเดียว ขอพระองค์ อย่าได้ทรงประมาทมัวเมา แล้วถวายบังคมพระราชา กราบไหว้บิดาพาบริวาร ของตน ละทิ้งราชสมบัติในพระนครพาราณสี ออกไปด้วยตั้งใจว่า เราจัก บรรพชา. มหาชนออกไปพร้อมกับหัตถิปาลกุมาร ด้วยคิดว่า ขึ้นชื่อว่า บรรพชานี้ คงจะงดงามดี. ได้มีบริษัทติดตามไปประมาณหนึ่งโยชน์. หัตถิ- ปาลกุมารไปถึงฝั่งน้ำคงคา พร้อมด้วยบริษัทนั้น เพ่งดูน้ำในแม่น้ำคงคา เจริญกสิณบริกรรม ยังฌานให้บังเกิดแล้ว คิดว่า สมาคมนี้จักใหญ่ยิ่ง น้องชาย ของเราสามคน มารดาบิดาของเรา พระราชาและพระราชเทวี ท่านทั้งหมด เหล่านั้น พร้อมด้วยบริวารก็จักบวช เมืองพาราณสีจักว่างเปล่า เราจักอยู่ใน ที่นี้แหละ จนกว่าคนเหล่านั้นจะตามมา หัตถิปาลกุมาร นั่งให้โอวาทแก่มหาชน อยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคานั่นเอง.
ในวันรุ่งขึ้น พระเจ้าเอสุการี กับพราหมณ์ปุโรหิต คิดกันว่า เจ้า หัตถิปาลราชกุมารสละราชสมบัติ พามหาชนล่วงหน้าไปก่อน ด้วยคิดว่า จักบวช ดังนี้แล้ว นั่งพักอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคาแล้ว เราทั้งสองต้องทดลอง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 255
อัสสปาลกุมารดู จักได้อภิเษกให้ครองราชสมบัติ. คนทั้งสองจึงได้ไปยัง ประตูเรือนของอัสสปาลกุมาร ด้วยการจำแลงเพศเป็นฤาษีเหมือนกัน. ฝ่าย อัสสปาลกุมารครั้นเห็นแล้ว มีจิตเลื่อมใส เข้าไปใกล้แล้วกล่าวคำเป็นต้นว่า นานมาแล้วข้าพเจ้าเพิ่งจะได้เห็น แล้วปฏิบัติตามนัยที่กล่าวมาแล้วนั้น. แม้ ฤาษีจำแลงเหล่านั้น ก็บอกอัสสปาลกุมารอย่างที่กล่าวมาแล้วเหมือนกัน และ ได้แถลงเหตุที่ตนมาให้ทราบ. อัสสปาลกุมารถามว่า เมื่อหัตถิปาลกุมารพี่ชาย ของข้าพเจ้ายังอยู่ ไยเศวตฉัตรจะมาถึงข้าพเจ้าก่อนเล่า เมื่อบิดาตอบว่า ลูกรัก พี่ชายของเจ้าพูดว่า ไม่ต้องการราชสมบัติ จักบวช ออกไปบวชเสียแล้ว จึง ถามต่อไปว่า เดี๋ยวนี้พี่ชายของข้าพเจ้าอยู่ที่ไหน ครั้นบิดาบอกว่า พำนักอยู่ที่ ฝั่งแม่น้ำคงคา จึงพูดว่า ข้าแต่ท่านบิดา ข้าพเจ้าไม่มุ่งหมายราชสมบัติ ซึ่ง อุปมาดังก้อนเขฬะ อันพี่ชายของข้าพเจ้าบ้วนทิ้งแล้ว แท้จริงสัตว์ทั้งหลาย ผู้โง่เขลาเบาปัญญา ย่อมไม่อาจจะทิ้งกิเลสนั้นได้ แต่ข้าพเจ้าจักละ เมื่อจะ แสดงธรรมแก่พระราชาและบิดาของตน ได้กล่าวคาถา ๒ คาถา ความว่า
กามทั้งหลายเป็นดังเปลือกตม เป็นเครื่องให้จม ลง เป็นเครื่องนำน้ำใจสัตว์ไป ข้ามได้ยาก เป็นที่ตั้ง แห่งมฤตยู สัตว์ทั้งหลายผู้ข้องอยู่ในกามอันเป็นดัง เปลือกตม เป็นเครื่องให้จมลงนี้ เป็นสัตว์มีจิตเลวทราม ย่อมข้ามถึงฝั่งไม่ได้.
เมื่อครั้งก่อน อัตภาพของข้าพระองค์นี้ ได้ กระทำกรรมอันหยาบช้า ผลแห่งกรรมนั้น อันข้า พระองค์ยึดไว้มั่นแล้ว ข้าพระองค์จะพ้นไปจากผล แห่งกรรมนี้ไม่ได้เลย ข้าพระองค์จักปิดกั้นรักษา อัตภาพนั้นอย่างรอบคอบ ขออัตภาพนี้ อย่าได้ทำ กรรมอันหยาบช้านี้อีกเลย.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 256
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปงฺโก ได้แก่ เปลือกตมอย่างใดอย่างหนึ่ง. บทว่า ปลิโป ได้แก่ เปลือกตมละเอียด อันเจือด้วยทรายละเอียด. ใน สองอย่างนั้น ท่านกล่าวว่า กามชื่อปังกะ ด้วยอรรถว่า ยังสัตว์ให้ข้อง ชื่อว่า ปลิปะ ด้วยอำนาจยังสัตว์ให้จมลง. บทว่า ทุตฺตรา แปลว่า ก้าวล่วงได้ยาก. บทว่า มจฺจุเธยฺยา ได้แก่ เป็นที่ตั้งแห่งมฤตยู. เพราะว่า สัตว์ทั้งหลาย ทั้งข้องอยู่ ทั้งเข้าไปใกล้กามเหล่านี้ ไม่สามารถจะข้ามไปได้ ย่อมถึงทั้ง ความทุกข์และความตาย มีประการดังที่ท่านกล่าวไว้ ในทุกขักขันธปริยายสูตร ด้วยเหตุนั้น อัสสปาลกุมารจึงกล่าวว่า สัตว์ทั้งหลายผู้ส่ายซ่านไปในกามปังกะ กามปลิปะนี้แล้ว เป็นผู้มีสภาพแห่งจิตเลวทราม ย่อมข้ามฝั่งไม่ได้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิสนฺนา ความว่า ผู้ส่ายซ่านไป. ปาฐะว่า พฺยสนฺนา ดังนี้ก็มี ความก็อย่างเดียวกันนี้. บทว่า หีนตฺตรูปา ได้แก่ เป็นผู้มีสภาพแห่งจิตต่ำทราม. บทว่า ปารํ ความว่า ย่อมไม่สามารถจะไป สู่ฝั่งแห่งพระนิพพานได้. บทว่า อยํ ความว่า ขอเดชะพระมหาราชเจ้า อัตภาพของข้าพระพุทธเจ้านี้ เจริญเติบโตมากับพวกนายควาญม้า ได้กระทำ บาปกรรมอันหยาบช้าสาหัสเป็นอันมาก ด้วยสามารถแห่งการปล้น แย่งชิง เบียดเบียนมหาชนเป็นต้น. บทว่า สวายํ คหิโต ความว่า วิบากแห่งกรรม นี้นั้น ข้าพระพุทธเจ้ายึดไว้มั่นแล้ว. บทว่า น หิ โมกฺขิโต เม ความว่า เมื่อความเป็นไปแห่งสารวัฏยังมีอยู่ ความพ้นไปจากผลแห่งอกุศลกรรมนี้ ของข้าพระพุทธเจ้า จะมีอยู่ก็หามิได้. บทว่า โอรุนฺธิยา นํ ปริรกฺขิสฺสามิ ความว่า บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้าจักปิดกั้นกายทวาร วจีทวาร และมโนทวาร รักษาอัตภาพนั้นไว้โดยรอบคอบ เพราะเหตุไร. บทว่า มายํ ปุน ลุทฺทมกาสิ กมฺมํ ความว่า เพราะต่อแต่นี้ไป ข้าพระพุทธเจ้าจักไม่กระทำความชั่ว จัก กระทำแต่ความดีอย่างเดียวเท่านั้น.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 257
อัสสปาลกุมารให้โอวาทต่อไปว่า ขอพระองค์และท่านบิดา จงดำรง อยู่เป็นสุขเถิด ชรา พยาธิ และมรณะย่อมรุกรานข้าพระพุทธเจ้า ผู้กำลัง กล่าวสนทนากับท่านทั้งสองอยู่ทีเดียว แล้วพาบริษัทมีโยชน์หนึ่งเป็นกำหนด ออกไปยังสำนักของหัตถิปาลกุมาร. หัตถิปาลกุมารนั่งอยู่บนอากาศ แสดง ธรรมแก่อัสสปาลกุมารแล้วกล่าวว่า น้องรัก สมาคมนี้จักใหญ่ยิ่ง พวกเราจัก อยู่ในที่นี้ก่อน. ฝ่ายอัสสปาลกุมารก็รับคำ (แล้วอยู่ในที่นั้น). วันรุ่งขึ้น พระราชากับราชปุโรหิต พากันไปสู่นิเวศน์ของโคปาลกุมาร ด้วยอุบายอย่างนั้น เหมือนกัน อันโคปาลกุมารยินดีต้อนรับ เหมือนดังที่กล่าวมาแล้ว จึงแจ้งเหตุ แห่งการมาของตนให้ทราบ. แม้โคปาลกุมารก็ปฏิเสธเหมือนอัสสปาลกุมาร กล่าวว่า ข้าพเจ้าปรารถนาจะบวชมานานแล้ว. เที่ยวใคร่ครวญหาทางบรรพชา ดังคนหาโคที่หายไป ข้าพเจ้าเห็นทางที่พี่ชายทั้งสองของข้าพเจ้าไปแล้ว เหมือนคนพบรอยโคที่หายไป ฉะนั้นข้าพเจ้าเองก็จักไปตามทางนั้นเหมือนกัน แล้วกล่าวคาถา ความว่า
ขอเดชะพระราชาธิบดี บุรุษผู้เลี้ยงโคไม่เห็นโค ที่หายไปในป่าทึบมืด ฉันใด ขอเดชะพระองค์ผู้ทรง พระนามว่า เอสุการี ประโยชน์ของข้าพระพุทธเจ้า ก็หายไปแล้วฉันนั้น อย่างไรเล่า ข้าพระพุทธเจ้าจักไม่ แสวงหาต่อไป.
บรรดาบทเหล่านั้น โคปาลกุมารเรียกพระราชาว่า เอสุการี. บทว่า มมตฺโถ ความว่า ประโยชน์กล่าวคือบรรพชาของข้าพระพุทธเจ้าหายไป เหมือนโคหายไปในป่า. บทว่า โสหํ ความว่า วันนี้ ข้าพระพุทธเจ้าเห็น รอยทางแห่งบรรพชิตทั้งหลายแล้ว ไฉนจะไม่แสวงหาการบรรพชา ขอเดชะ พระนรินทรราชเจ้า ข้าพระพุทธเจ้า จักไปสู่ทางที่พี่ชายทั้งสองของข้าพระพุทธเจ้าไปแล้วเหมือนกัน.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 258
ลำดับนั้น พระราชาและปุโรหิตบิดา พากันกล่าวอ้อนวอนโคปาลกุมาร ว่า พ่อโคปาลกุมาร รออีกวันสองวันก่อนเถิด พอให้เราทั้งสองเบาใจแล้ว ภายหลังเจ้าจักได้บวช. โคปาลกุมารกราบทูลว่า ขอเดชะพระมหาราชเจ้า กรรมดีควรทำในวันนี้ ไม่ควรกล่าวผัดเพี้ยนว่า จักทำในวันพรุ่งนี้ ขึ้นชื่อว่า กรรมดีควรทำวันนี้ วันนี้เท่านั้น แล้วกล่าวคาถานอกนี้ ความว่า
บุรุษผู้กล่าวผัดเพี้ยนการงานที่ควรจะทำในวัน นี้ว่า ควรทำในวันพรุ่งนี้ การงานที่ควรจะทำในวัน พรุ่งนี้ว่า ควรทำในวันต่อไป ย่อมเสื่อมจากการงาน นั้น ธีรชนคนใดรู้ว่า สิ่งใดเป็นอนาคต สิ่งนั้นไม่มี แล้ว พึงบรรเทาความพอใจที่เกิดขึ้นเสีย.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า หิยฺโย ได้แก่ ในวันพรุ่งนี้. บทว่า ปเร ได้แก่ ในวันมะรืนนี้. มีคำอธิบายว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า บุรุษใด ผัดเพี้ยนการงานที่ควรทำในวันนี้ว่า ควรทำในวันพรุ่งนี้ การงานที่ควรทำใน วันพรุ่งนี้ ว่าควรทำในวันมะรืนนี้ แล้วไม่ทำการงาน บุรุษนั้นย่อมเสื่อมจาก การงานนั้น คือไม่สามารถจะทำการงานนั้นให้สำเร็จได้. โคปาลกุมารแสดง ถึงการงานชื่อ " ภัทเทกรัตตะ " มีราตรีเดียว เจริญด้วยอาการอย่างนี้. อรรถาอธิบายความข้อนี้ ควรกล่าวในภัทเทกรัตตสูตร. บทว่า อนาคตํ เนตมตฺถิ ความว่า บัณฑิตชนคนใดรู้ว่า สิ่งใดเป็นอนาคต สิ่งนั้นยังไม่มีไม่เป็นแล้ว พึงบรรเทาคือนำกุศลฉันทะที่เกิดขึ้นแล้วไป.
โคปาลกุมารแสดงธรรมด้วยคาถา ๒ คาถาอย่างนี้แล้วกล่าวว่า ขอ ท่านทั้งสองจงดำรงอยู่เป็นสุขเถิด ชรา พยาธิ มรณะเป็นต้น ย่อมคุกคาม ข้าพเจ้า ผู้กำลังกล่าวสนทนาอยู่กับท่านทั้งสองทีเดียว แล้วพาบริวารมีโยชน์
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 259
หนึ่งเป็นกำหนด ออกไปยังสำนักแห่งพี่ชายทั้งสอง. หัตถิปาลกุมารจึงแสดง ธรรมแก่โคปาลกุมาร. วันรุ่งขึ้นพระราชาและราชปุโรหิต ไปยังนิเวศน์ของ อชปาลกุมาร โดยอุบายอย่างนั้นเหมือนกัน แม้อชปาลกุมารนั้นก็ยินดีต้อนรับ ดังที่กล่าวมาแล้ว ท่านทั้งสองบอกเหตุที่ตนมาแล้วกล่าวว่า เราทั้งสองจะยก เศวตฉัตรมอบให้เจ้า. อชปาลกุมารถามว่า พี่ชาย ๓ คนของข้าพเจ้าไปไหน? พระราชาและราชปุโรหิตตอบว่า พี่ชายของเจ้าทั้ง ๓ คนนั้น กล่าวว่าไม่มี ความต้องการด้วยราชสมบัติ ทิ้งเศวตฉัตรไว้ แล้วพาบริวารมี ๓ โยชน์เป็น กำหนด ออกไปบวชพำนักอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคา. อชปาลกุมารกล่าวว่า ข้าพเจ้า จักเอาศีรษะทูลราชสมบัติ อันเปรียบเสมือนก้อนเขฬะ ที่พี่ชายของข้าพเจ้าทั้ง ๓ บ้วนทิ้งแล้ว เที่ยวไปอยู่หาได้ไม่ แม้ข้าพเจ้าก็จักบวช. พระราชาและ ราชปุโรหิตกล่าววิงวอนว่า พ่ออชปาลกุมาร เจ้ายังหนุ่มนัก เป็นภาระที่เรา ทั้งสองต้องอุ้มชู คงจักได้บวชในเวลาที่ถึงวัยอันสมควร. ลำดับนั้น อชปาลกุมารจึงกล่าวว่า ท่านทั้งสองพูดอย่างไร ธรรมดาสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ ย่อม ตายในเวลาเป็นเด็กก็มี ในเวลาแก่ก็มี มิใช่หรือ ไม่มีนิมิตเครื่องหมายที่มือ หรือที่เท้าของใครเลยว่า ผู้นี้จักตายในเวลาเป็นเด็ก ผู้นี้จักตายในเวลาแก่เฒ่า ข้าพเจ้าเองก็ไม่รู้เวลาตายของข้าพเจ้า เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจักบวชเสียเดี๋ยวนี้ ทีเดียว แล้วกล่าวคาถา ๒ คาถา ความว่า
ข้าพระองค์ได้เห็นหญิงสาวคนหนึ่ง รูปร่างงาม พอประมาณ มีดวงเนตรเหมือนดอกการะเกด มัจจุราช มาฉุดคร่าเอาหญิงสาวคนนั้น ซึ่งกำลังตั้งอยู่ในปฐมวัย ยังไม่ทันได้บริโภคโภคสมบัติไป.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 260
อนึ่ง ชายหนุ่มมีทรวดทรงงาม มีใบหน้าผ่องใส น่าดูน่าชม มีวรรณะเรืองรองดังทองคำ มีหนวดเครา ละเอียดอ่อนดังเกสรดอกคำฝอย แม้ชายหนุ่มเห็น ปานนี้ ก็ย่อมไปสู่อำนาจแห่งมฤตยู ขอเดชะ ข้าพระองค์จะละกามละเรือนเสียแล้ว จักบวช ขอได้ โปรดทรงพระกรุณา อนุญาตให้ข้าพระองค์บวชเถิด พระเจ้าข้า.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โว เป็นนิบาต. ความก็ว่าข้าพระองค์ เห็นอยู่ทีเดียว. บทว่า มตฺตูปมํ ความว่า สัญจรไปมา ด้วยลีลาการแย้มสรวล เจรจาไพเราะ เปรียบได้พอประมาณ. บทว่า เกตกปุปฺผเนตฺตํ ความว่า มีดวงเนตรหนากว้างคล้ายกลีบดอกการะเกด. บทว่า อภุตฺวา โภเค ความว่า ยังไม่ทันได้บริโภคโภคสมบัติเลยทีเดียว. บทว่า วชเต ความว่า มฤตยูมา ยึดเอาตัวนางกุมารี ผู้มีรูปทรงงดงาม กำลังตั้งอยู่ในปฐมวัย ยังไม่ทันได้ บริโภคโภคสมบัติเลยทีเดียว ไปเสียอย่างนี้ ยังความเศร้าโศกให้ตกใน เบื้องบนมารดาบิดาอย่างใหญ่หลวง. บทว่า สุชาโต ได้แก่ มีสรีรสัณฐาน ทรวดทรงงาม. บทว่า สุมุโข ความว่า มีพักตร์ผ่องใส ดังแว่นกรอบทอง และพระจันทร์ในวันเพ็ญ.
บทว่า สุทสฺสโน ความว่า สมบูรณ์ด้วยรูปอันอุดมน่าทัศนา. บทว่า สาโม ความว่า มีผิวกายเรืองรองเสมอด้วยทองธรรมชาติ. บทว่า กุสุมฺภ- ปริกิณฺณมสฺสุ ความว่า มีหนวดเคราละเอียดงดงามคล้ายเกสรดอกคำฝอย เพราะทั้งเรียบร้อยสนิท ทั้งละเอียดอ่อน. ด้วยบทนี้ อชปาลกุมารแสดงว่า เยาวกุมารแม้เห็นปานนี้ ยังไปสู่อำนาจของมฤตยุราชได้ เพราะมฤตยุราชไร้
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 261
ความกรุณาคร่าชีวิตแม้เยาวกุมารเห็นปานนี้ไป คล้ายกับบุคคลเพิกถอนภูเขา สิเนรุราช ฉะนั้น. บทว่า หิตฺวาน กาเม ปฏิคจฺฉ เคหํ อนุชานาถ มํ ปพฺพชิสฺสามิ เทว ความว่า ขอเดชะพระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ก็เมื่อเครื่องผูกคือบุตรและภรรยาเกิดแล้ว เครื่องผูกนั้นเป็นของตัดขาดได้ยาก ด้วยเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจักละกามและเหย้าเรือนเสียก่อนทีเดียว แล้วบวช เสียในบัดนี้ ขอได้โปรดทรงอนุญาตให้ข้าพระพุทธเจ้าบวชเถิด.
ก็แหละครั้นอชปาลกุมารกล่าวอย่างนี้แล้ว กล่าวต่อไปว่า ขอท่าน ทั้งสองจงดำรงอยู่เป็นสุขเถิด ชรา พยาธิและมรณะรุกรานข้าพเจ้า ผู้กำลังกล่าว สนทนากับท่านทั้งสองอยู่ทีเดียว ดังนี้แล้ว ไหว้กราบลาท่านทั้งสอง พาบริวาร มีโยชน์หนึ่งเป็นกำหนด ออกไปสู่ฝั่งแม่น้ำคงคาทีเดียว. หัตถิปาลกุมารนั่งอยู่ ในอากาศแสดงธรรม แม้แก่อชปาลกุมารนั้น แล้วพูดว่า สมาคมจักใหญ่ยิ่ง แล้ว นั่งลงพำนักอยู่ในที่นั้นต่อไป. วันรุ่งขึ้นพราหมณ์ปุโรหิตนั่งท่ามกลาง บัลลังก์ พลางคิดว่า บุตรทั้ง ๔ ของเราบวชแล้ว บัดนี้ เหลือแต่เราผู้เดียว เป็นเหมือนมนุษย์ตอไม้ แม้เราก็จักบวช. เขาจึงปรึกษากับนางพราหมณี กล่าวคาถา ความว่า
ดูก่อนแม่วาเสฏฐิ ต้นไม้จะได้นามโวหารว่า ต้นไม้ได้ ก็เพราะมีกิ่งและใบ ชาวโลกเขาเรียกต้นไม้ ที่ไม่มีกิ่งและใบว่า เป็นตอไม้ ทุกวันนี้ เราเป็นผู้มีบุตร ละทิ้งไปแล้ว ถึงเวลาที่เราจะบวชภิกษาจาร.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ลภเต สมญฺํ ความว่า อนุปาทินนกสังขาร ได้ชื่อว่าต้นไม้. พราหมณ์ปุโรหิตเรียกนางพราหมณีว่า วาเสฏฐี. บทว่า ภิกฺขาจริยาย ความว่า พราหมณ์ปุโรหิตกล่าวว่า แม้เราก็ถึงกาลที่ ควรจะบวช จักได้ไปสู่สำนักของบุตรทั้งสี่นั่นเทียว.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 262
ครั้นพราหมณ์ปุโรหิตกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงเรียกพราหมณ์หมื่นหกพัน คน มาประชุมกัน. ลำดับนั้นพราหมณ์ปุโรหิตจึงกล่าวกะพราหมณ์เหล่านั้นว่า พวกท่านจักทำอย่างไร? พราหมณ์เหล่านั้นย้อนถามว่า ท่านอาจารย์เล่า จักทำอย่างไร? พราหมณ์ปุโรหิตตอบว่า เราจักบวชในสำนักแห่งบุตรของเรา พราหมณ์เหล่านั้นจึงกล่าวว่า นรกเป็นของร้อนเฉพาะท่านผู้เดียวก็หามิได้ แม้เราทั้งหลายก็จักบวช. พราหมณ์ปุโรหิตมอบทรัพย์สมบัติ ๘๐ โกฏิ ให้แก่ นางพราหมณีผู้ภรรยาแล้ว พาพราหมณบริษัทมีโยชน์หนึ่งเป็นกำหนด ไปสู่ สำนักแห่งบุตรทั้ง ๔ ทันที. หัตถิปาลกุมารยืนอยู่ในอากาศ แสดงธรรมแก่ บริษัทแม้นั้น. ในวันรุ่งขึ้น นางพราหมณีคิดว่า บุตร ๔ คนของเราละทิ้ง เศวตฉัตรไป ด้วยคิดว่า จักบวช แม้พราหมณ์สามีของเราก็ทิ้งสมบัติ ๘๐ โกฏิ พร้อมด้วยตำแหน่งปุโรหิต ไปสู่สำนักบุตรทั้ง ๔ เหมือนกัน เราผู้เดียว เท่านั้น จักทำอะไรได้ เราก็จักไปตามทางที่บุตรของเราไปแล้วเหมือนกัน. นางพราหมณี เมื่อจะนำเอาเรื่องที่ผ่านมาแล้วเป็นอุทาหรณ์ จึงกล่าวอุทาน คาถา ความว่า
นกกระเรียนทั้งหลาย บินไปในอากาศได้คล่อง แคล่ว ฉันใด เมื่อสิ้นฤดูฝนแล้วหงส์ทั้งหลาย พึง ทำลายใยที่แมลงมุมทำไว้ไปได้ ฉันนั้น บุตรและสามี ของเราพากันไปหมด ไฉนเราจะไม่ปฏิบัติตามบุตร และสามีของเราเล่า.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อฆสฺมึ โกญฺจาว ยถา ความว่า นกกระเรียนทั้งหลาย บินไปได้ไม่ติดอยู่ในอากาศฉันใด. บทว่า หิมจฺจเย ความว่า เมื่อฤดูฝนล่วงไปแล้ว. บทว่า กตานิ ชาลานิ ปทาเลยฺยุ หํสา
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 263
ความว่า ได้ยินว่า ในอดีตกาล หงส์ทองเก้าหมื่นหกพัน พากันเก็บข้าวสาลีไว้ ในกาญจนคูหา ให้พอกินจนสิ้นฤดูฝน ไม่ออกไปภายนอก เพราะกลัวฝน อยู่ในถ้ำทองนั้นตลอด ๔ เดือนฤดูฝน ครั้งนั้น แมลงมุมจึงขึงข่าย ดักไว้ที่ ประตูถ้ำ ของหงส์เหล่านั้น. ในหงส์เหล่านั้น ดรุณหงส์สองตัว ตัดใยให้ขาด เป็นสองตอน. ดรุณหงส์เหล่านั้น ตัดใยได้ขาดเพราะเป็นสัตว์สมบูรณ์ด้วยกำลัง แล้ว บินไปข้างหน้าก่อนทีเดียว หงส์ที่เหลือก็บินไปตามที่ดรุณหงส์ไปแล้ว. นางพราหมณี เมื่อจะประกาศความนั้น จึงกล่าวคาถาอย่างนี้. ท่านกล่าวอธิบาย ไว้ดังนี้ นกกระเรียนบินไปในอากาศได้ไม่ขัดข้องฉันใด หงส์ทั้งหลายก็ฉันนั้น เมื่อล่วงเลยฤดูฝนแล้ว ดรุณหงส์สองตัว ทำลายข่ายที่แมลงมุมทำไว้ แล้วบินไป ทีนั้นหงส์อื่นๆ ก็บินไปตามทางที่ดรุณหงส์นั้นไป ก็บัดนี้บุตรของเราตัดข่าย คือกามไปแล้ว เหมือนดรุณหงส์ตัดข่ายแมลงมุมไปฉะนั้น แม้เราก็ควรจะไป ตามทางที่บุตรเหล่านั้นของเราไปแล้ว เพราะฉะนั้น นางพราหมณีเมื่อจะไปตาม ความตั้งใจนี้ จึงกล่าวว่า ลูกและผัวของเราพากันไปหมด ไฉนเราจะไม่พึง คล้อยตามเล่า ดังนี้.
นางพราหมณีตกลงใจว่า เมื่อเรารู้ชัดอย่างนี้ ไฉนจักไม่ออกบวช เราจักบวชแน่นอน ดังนี้แล้ว จึงเรียกนางพราหมณีทั้งหลายมาชี้แจง แล้ว กล่าวว่า ท่านทั้งหลายจักทำอย่างไร? นางพราหมณีเหล่านั้น ถามว่า ข้าแต่ แม่เจ้า ท่านเล่าจักทำอย่างไร? นางพราหมณีตอบว่า เราจักบวช. นางพราหมณีพากันพูดว่า ถึงพวกข้าพเจ้าก็จักบวช นางพราหมณีจึงสละละโภคสมบัตินั้น พาบริษัทมีโยชน์หนึ่งเป็นกำหนดไปสู่สำนักบุตรของตนทันที หัตถิ- ปาลกุมาร นั่งบนอากาศแสดงธรรมแก่บริษัทแม้นั้น. วันรุ่งขึ้น พระราชา ตรัสถามราชบุรุษว่า ปุโรหิตไปไหน? ราชบุรุษกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้สมมติเทพ ท่านปุโรหิตและนางพราหมณี ละทิ้งสมบัติทั้งหมด พาบริวาร
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 264
ของตนมีสองโยชน์เป็นกำหนด ไปสู่สำนักแห่งบุตรชายทั้ง ๔ แล้ว พระเจ้าข้า. พระราชาทรงพระดำริว่า ทรัพย์สมบัติที่ไม่มีเจ้าของปกครองย่อมตกเป็นของเรา แล้วตรัสสั่งให้ราชบุรุษ ไปขนเอาทรัพย์สมบัติมาจากเรือนของปุโรหิตทั้งหมด. ต่อมาพระอัครมเหสีของท้าวเธอตรัสถามราชบุรุษว่า พระราชาทรงทำอะไรอยู่ เมื่อราชบุรุษกราบทูลว่า พระราชาตรัสสั่งให้ขนทรัพย์มาจากเรือนของปุโรหิต จึงตรัสถามว่า ปุโรหิตไปไหน? ทรงสดับข่าวว่า ปุโรหิตพร้อมด้วยภรรยา ออกบวชเสียแล้ว จึงทรงดำริว่า พระราชสวามีของเรานี้ช่างหลงใหลด้วย โมหจริต ให้ไปขนเอาทรัพย์สมบัติที่เป็นเหมือนคบเพลิง อันพราหมณ์ปุโรหิต นางพราหมณีและบุตร ๔ คน ของเขาละทิ้ง และเป็นเหมือนก้อนเขฬะที่เขา บ้วนทิ้งแล้ว เอามาบรรจุไว้ในพระคลังหลวง เราจักให้ท้าวเธอทิ้งสมบัตินั้น เสีย ด้วยอุปมาข้อเปรียบเทียบ ดังนี้แล้ว รับสั่งให้คนไปขนเอาเนื้อสุนัขและ โค มากองไว้ที่หน้าพระลานหลวง จัดแจงทางให้ตรงแล้วรับสั่งให้ขึงตาข่าย ล้อมไว้โดยรอบ แร้งทั้งหลายเห็นเนื้อแต่ไกล จึงโผลงมาเพื่อจะกินเนื้อนั้น แร้งในจำนวนนั้น พวกที่มีปัญญารู้ว่าเขาขึงตาข่ายดักไว้ คิดว่า เรากินเนื้ออิ่ม หนักกาย ไม่อาจบินไปตรงๆ ได้ จึงคายสำรอกเนื้อที่ตนกินแล้วออกเสีย โผบินขึ้นไปตรงได้ หาติดข่ายไม่ ส่วนพวกที่โง่เขลาเบาปัญญา พากันกินเนื้อ ที่แร้งเหล่านั้น คายสำรอกทิ้งไว้ จนกายหนักไม่อาจบินเหินไปตรงๆ ได้ ก็พากันติดอยู่ในข่าย ราชบุรุษทั้งหลายจับแร้งได้ตัวหนึ่ง แล้วนำมาถวาย พระเทวี พระนางจึงนำแร้งตัวนั้น ไปสู่สำนักพระราชาทูลว่า ขอเดชะพระมหาราชเจ้า ขอเชิญเสด็จไปทอดพระเนตรกิริยาของแร้งตัวหนึ่ง ที่หน้า พระลานหลวงเถิด แล้วทรงเปิดพระแกลทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอเชิญ ทอดพระเนตรแร้งฝูงนี้เถิด พะย่ะค่ะ แล้วตรัสคาถา ๒ คาถา ความว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 265
ฝูงแร้งเหล่านี้ ครั้นกินเนื้อแล้วก็สำรอกออกเสีย จึงบินไปได้ ฝ่ายแร้งเหล่าใด กินเนื้อแล้วไม่สำรอก เนื้อออก แร้งเหล่านั้นก็ตกอยู่ในเงื้อมมือของหม่อมฉัน ข้าแต่พระราชา พราหมณ์ได้คลายกามทั้งหลายออก ทิ้งแล้ว ส่วนพระองค์นั้น กลับรับเอากามนั้นไว้บริโภค อีก บุรุษผู้บริโภคสิ่งที่ผู้อื่นคายออกแล้ว ไม่พึงได้รับ ความสรรเสริญเลย.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภุตฺวา วมิตฺวา จ ความว่า กินเนื้อแล้ว ก็สำรอกออกเสีย. บทว่า ปจฺจาวมิสฺสสิ ความว่า กลับรับเอามาบริโภค. บทว่า วนฺตาโท ความว่า ผู้ใดเคี้ยวกินสิ่งที่ผู้อื่นคายทิ้งแล้ว. บทว่า น ปสํสิโย ความว่า ผู้นั้นเป็นคนโง่ ตกอยู่ในอำนาจแห่งตัณหา เป็นผู้อัน บัณฑิตทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ไม่พึงสรรเสริญ.
พระราชาทรงสดับคำของพระเทวีแล้ว ได้เป็นผู้มีวิปฏิสาร ภพทั้ง สามปรากฏประหนึ่งไฟลุกโพลงแล้ว ท้าวเธอเกิดความสลดพระทัย รำพึงว่า ควรที่เราจะสละราชสมบัติบวชเสียวันนี้ทีเดียว เมื่อจะทรงชมเชยพระเทวี จึง ตรัสพระคาถา ความว่า
ดูก่อนพระนางปัญจาลีผู้เจริญ บุรุษผู้มีกำลัง ช่วยฉุดบุรุษทุพพลภาพ ผู้จมอยู่ในเปลือกตมขึ้นได้ ฉันใด เธอก็ช่วยพยุงฉันให้ขึ้นจากกามได้ด้วยคาถา อันเป็นสุภาษิต ฉันนั้นแล.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พฺยสนฺนํ แปลว่า จมลงแล้ว. ปาฐะว่า วิสนฺนํ ดังนี้ก็มี. บทว่า อุทฺธเรยฺย ความว่า บุรุษผู้มีกำลังยึดบุรุษทุพพลภาพ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 266
ที่ผมหรือที่มือแล้ว พยุงยกขึ้นบก. บทว่า อุทตารี ความว่า เธอก็ได้พยุง เราให้พ้นจากเปลือกตมคือกาม. ปาฐะว่า อุทตาสิ ดังนี้ก็มี. ความก็อย่าง เดียวกันนี้. ปาฐะว่า อุทฺธตาสิ บ้าง ความก็ว่ายกขึ้นแล้ว. บทว่า ปญฺจาลี ได้แก่ พระเทวีผู้เป็นพระราชธิดา ของพระเจ้าปัญจาละ.
ครั้นพระเจ้าเอสุการีราชตรัสอย่างนี้แล้ว ทรงมีพระราชประสงค์จะ บรรพชาทันที ในขณะนั้น จึงตรัสสั่งให้เรียกอำมาตย์ทั้งหลายมาเฝ้า ตรัสเล่า ให้ฟังแล้วตรัสถามว่า ท่านทั้งหลายจักทำอย่างไร? อำมาตย์ทั้งหลายก็กราบ ทูลว่า ขอเดชะ พระองค์เล่า พระเจ้าข้า? พระองค์ตรัสตอบว่า เราจักบวชใน สำนักของหัตถิปาลกุมาร อำมาตย์เหล่านั้นจึงกราบทูลว่า ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายก็จักบวช พระเจ้าข้า. พระเจ้าเอสุการีราช ทรงละทิ้งราชสมบัติในพระนครพาราณสี อันมีอาณาเขตถึง ๑๒ โยชน์ ทรงประกาศว่า ผู้ใดมีความต้องการราชสมบัติ จงให้ยกเศวตฉัตรขึ้นครองราชย์เถิด แล้วทรง แวดล้อมด้วยหมู่อำมาตย์ราชบริพาร พาบริษัทมีประมาณ ๓ โยชน์เป็นกำหนด เสด็จไปยังสำนักของหัตถิปาลกุมารเหมือนกัน หัตถิปาลกุมารนั่งอยู่บนอากาศ แสดงธรรมแก่บริษัทแม้นั้น พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศความเป็น บรรพชิตของพระราชา จึงตรัสพระคาถา ความว่า
พระเจ้าเอสุการีมหาราช ผู้เป็นอธิบดีในทิศ ทรง ภาษิตคาถานี้แล้ว ทรงสละราชสมบัติออกบรรพชา อุปมาดังนาคหัตถีปตัวประเสริฐ สลัดตัดเครื่องผูกไปได้ ฉะนั้น.
ในวันรุ่งขึ้น ประชาชนที่เหลืออยู่ในพระนคร ประชุมกันแล้วพากัน ไปยังประตูพระราชวัง ให้กราบทูลพระราชเทวีแล้ว พากันเข้าไปในพระราช นิเวศน์ ถวายบังคมพระราชเทวีแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง กล่าว คาถา ความว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 267
ก็พระราชาผู้กล้าหาญ ประเสริฐที่สุดกว่านรชน ทรงพอพระทัยในบรรพชาเพศ ละรัฐสีมาไปแล้ว ขอพระนางจงโปรดเป็นพระราชา แห่งข้าพระพุทธเจ้า ทั้งหลายเถิด พระนางเจ้าอันข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คุ้มครองแล้ว โปรดทรงอนุศาสน์ เสวยราชสมบัติ เหมือนเช่นพระราชาเถิด.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนุสาส ความว่า พระนางเจ้าเป็นผู้ ที่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายถวายอารักขาแล้ว โปรดเสวยราชสมบัติโดยทศพิธ ราชธรรม.
พระราชเทวีทรงสดับถ้อยคำของมหาชนแล้ว ได้ตรัสพระคาถาที่เหลือ ทั้งหลาย ความว่า
ก็พระราชาผู้กล้าหาญประเสริฐที่สุดกว่านรชน ทรงพอพระทัยในบรรพชาเพศ ละรัฐสีมาไปแล้ว แม้ เราก็จักละกามทั้งหลายอันน่ารื่นรมย์ใจ เที่ยวไปใน โลกแต่ผู้เดียว.
ก็พระราชาผู้กล้าหาญ ประเสริฐสุดกว่านรชน ทรงพอพระทัยในบรรพชาเพศ ละรัฐสีมาไปแล้ว แม้เราก็จักละกามทั้งหลาย อันตั้งอยู่เป็นถ่องแถวแล้ว เที่ยวไปในโลกแต่ผู้เดียว.
กาลย่อมล่วงไป ราตรีย่อมผ่านไป ชั้นแห่งวัย ย่อมละลำดับไป แม้เราก็จักละกามทั้งหลายอันน่า รื่นรมย์ใจ เที่ยวไปในโลกแต่ผู้เดียว.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 268
กาลย่อมล่วงไป ราตรีย่อมผ่านไป ชั้นแห่งวัย ย่อมละลำดับไป แม้เราก็จักละกามทั้งหลายอันตั้งอยู่ เป็นถ่องแถว เที่ยวไปในโลกแต่ผู้เดียว.
กาลย่อมล่วงไป ราตรีย่อมผ่านไป ชั้นแห่งวัย ย่อมละลำดับไป แม้เราก็จักเป็นผู้เยือกเย็น ก้าวล่วง ความข้องทั้งปวง เที่ยวไปในโลกแต่ผู้เดียว.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอกา ความว่า เราจักหลีกออกจาก กิเลสสัมภาระ คือ บุตรธิดา เป็นผู้ๆ เดียวเที่ยวไปในโลก. บทว่า กามานิ ได้แก่ กามคุณทั้งหลาย มีรูปเป็นต้น. บทว่า ยโถธิกานิ ความว่า กามคุณ ทั้งหลายตั้งอยู่โดยถ่องแถวใดๆ เราจักละเสียซึ่งกามคุณทั้งหลายอันตั้งอยู่โดย ถ่องแถวนั้นๆ อย่างนั้น คือเราจักไม่แตะต้องอะไรอีก. บทว่า อจฺเจนฺติ กาลา ความว่า กาลทั้งหลายมีเวลาเช้าเป็นต้น ย่อมล่วงไปๆ. บทว่า ตรยนฺติ ความว่า ราตรีย่อมผ่านไป คือมิได้ผ่านไปเปล่า ย่อมยังอายุสังขาร ให้สิ้นเปลืองไป เคี้ยวกินอายุสังขารไป. บทว่า วโยคุณา ความว่า วัยทั้งสามมีปฐมวัยเป็นต้นก็ดี ส่วนแห่งหมวดสิบ มีมันททสกะเป็นต้นก็ดี (ย่อมละลำดับไป). บทว่า อนุปุพฺพํ ชหนฺติ ความว่า หาถึงโกฏฐาสคือ ส่วนที่สูงๆ ขึ้นไปไม่ ย่อมดับไปเสียในระหว่างนั้นๆ นั่นเอง.
บทว่า สีติภูตา ความว่า แม้เราก็จักละกิเลสทั้งหลาย อันกระทำ ความร้อน คือมีความร้อนเป็นสภาพ เป็นผู้เยือกเย็น. บทว่า สพฺพมติจฺจ สงฺคํ ความว่า เราจักก้าวล่วงกิเลสเป็นเครื่องข้องทุกอย่าง มีกิเลสเป็นเครื่อง ข้องคือราคะเป็นต้น แล้วเป็นผู้เดียวเที่ยวไป ได้แก่จักไปสู่สำนักแห่งหัตถิ- ปาลกุมารแล้วบวช.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 269
พระนางเทวี ทรงแสดงธรรมแก่มหาชน ด้วยคาถาเหล่านี้ ด้วย ประการฉะนี้แล้ว มีรับสั่งให้เรียกภรรยาของอำมาตย์ทั้งหลายมาเฝ้า แล้วตรัส ว่า พวกเธอจักทำอย่างไร? เหล่าภรรยาของอำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลถามว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า พระองค์เล่าจักทรงทำอย่างไร? พระนางตรัสตอบว่า เรา จักบวช. ภรรยาของหมู่อำมาตย์ก็กราบทูลว่า แม้พวกกระหม่อมฉันก็จักบวช. พระนางเทวีมีพระเสาวนีย์ ว่าดีแล้วละ แม่คุณทั้งหลาย ดังนี้แล้ว มีรับสั่งให้เจ้า พนักงานเปิดประตูพระคลังทองเป็นต้นในพระราชนิเวศน์ รับสั่งให้จารึก พระสุพรรณบัฏว่า ขุมทรัพย์ใหญ่ ฝังไว้แล้วในที่โน้นบ้าง ในที่นี้บ้าง แล้ว ดำรัสว่า ใครมีความต้องการ ก็จงขนเอาทรัพย์ที่เราพระราชทานแล้วนี้ไปเถิด แล้วให้ผูกสุพรรณบัฏ แขวนไว้ที่เสาต้นใหญ่ ให้พนักงานเภรีตีกลองป่าวประกาศไปทั่วพระนคร แล้วทรงสละมหาสมบัติ เสด็จออกจากพระนคร.
ขณะนั้น ทวยนาครก็เดือดร้อนโกลาหลว่า พระราชาและนางเทวี ทรงสละราชสมบัติออกทรงผนวชแล้ว พวกเราจักทำอะไรในพระนครนี้. แต่นั้น ประชาชนทั้งหลายต่างก็ละทิ้งเคหสถาน ทั้งที่ยังมีสมบัติเต็มบริบูรณ์ จูงลูกหลานออกไป (โดยเสด็จพระราชเทวี). เรือนโรง ร้านตลาดก็มีสิ่งของ วางอยู่เกลื่อนกลาด โดยนิยามที่วางแบแผ่ไว้ จะมีผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งจะเหลียวกลับ มาแลดูก็มิได้มี. พระนครทั้งสิ้นว่างเปล่าปราศจากผู้คน. ฝ่ายพระนางเทวี ทรงพาบริวารมีประมาณ ๓ โยชน์เป็นกำหนด เสด็จไปในสำนักของหัตถิปาล กุมารนั่นแหละ. หัตถิปาลกุนารนั่งบนอากาศแสดงธรรม แม้แก่บริษัทนั้น แล้วพาบริษัทมีประมาณ ๑๒ โยชน์นั้น บ่ายหน้าไปสู่หิมวันตประเทศ ทวยนาครชาวกาสิกรัฐ ก็ระบือกันกระฉ่อนไปว่า ได้ยินว่า หัตถิปาลกุมาร รวบรวมบริษัทได้ถึง ๑๒ โยชน์ กระทำพระนครพาราณสีให้ว่างเปล่า พา มหาชนไปสู่หิมวันตประเทศ ด้วยคิดว่าจักบวช พวกเราจะอยู่ไปไยในเมืองนี้.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 270
ในเวลาต่อมาบริษัทก็ได้เพิ่มประมาณถึง ๓๐ โยชน์. หัตถิปาลกุมารก็ไปยังป่า หิมพานต์ พร้อมด้วยบริษัทนั้น. ท้าวสักกเทวราชทรงรำพึงดู รู้พฤติเหตุนั้น แล้วทรงดำริว่า หัตถิปาลกุมารออกสู่มหาภิเนษกรมณ์แล้ว จักเป็นสมาคม ใหญ่ยิ่ง ควรที่บริษัททั้งหลายจักได้ที่อยู่ จึงทรงบังคับวิสสุกรรมเทพบุตรว่า ไปเถิดวิสสุกรรมเทพบุตร เธอจงเนรมิตอาศรม ยาว ๓๖ โยชน์ กว้าง ๑๕ โยชน์ แล้วจัดแจงบริขารของบรรพชิตไว้ให้เสร็จบริบูรณ์. วิสสุกรรมเทพบุตร รับเทวบัญชาแล้ว ไปเนรมิตอาศรมบทขนาดยาวกว้าง ตามเทวบัญชา ไว้ใน ภูมิภาคอันรื่นรมย์ใกล้ฝั่งแม่น้ำคงคา แต่งตั้งอาสนะ มีอาสนะที่ลาดด้วยท่อนไม้ และใบไม้เป็นต้นไว้ แล้วเนรมิตบรรพชิตบริขาร ทั้งหมดไว้ในบรรณศาลา และที่ประตูบรรณศาลาแต่ละแห่ง ก็เนรมิตที่จงกรมไว้ แห่งละหนึ่งที่ มีที่ พักกลางคืนและที่พักกลางวันคั่นเป็นระยะ และมีกระดานที่พิงพัก ฉาบด้วย ปูนขาวสะอาด ในสถานที่ทุกแห่ง มีพุ่มดอกไม้ ดาดาษไปด้วยสุรภี และโกสุม ในแนวสวนหย่อมนานาพรรณ ในที่สุดแห่งที่จงกรมแต่ละแห่ง เนรมิตบ่อน้ำ ไว้บ่อหนึ่งๆ เต็มเปี่ยมไปด้วยน้ำ ในที่ใกล้บ่อน้ำนั้น เนรมิตต้นไม้มีผลไว้ ต้นหนึ่งๆ ต้นไม้แต่ละต้นก็เผล็ดผลตกทั่วถึงกัน. ทั้งหมดนี้ ได้สำเร็จขึ้นด้วย เทวานุภาพ. วิสสุกรรมเทพบุตร ครั้นเนรมิตอาศรมสถาน จัดตั้งบรรพชิตบริขารไว้ในบรรณศาลาเสร็จแล้ว จึงเอาชาดแลหรดาลจารึกอักษรไว้ที่ฝาว่า ใครๆ มีความประสงค์จะบวช จงถือเอาบริขารเหล่านี้เถิด แล้วขับไล่หมู่ มฤคและปักษีที่มีเสียงน่าหวาดกลัว ทั้งหมู่อมนุษย์ที่มีรูปชั่วร้ายให้หลีกไป ห่างไกล ด้วยอานุภาพของตน แล้วกลับไปยังทิพยวิมานสถานที่อยู่ของตนทันที.
หัตถิปาลกุมาร เข้าไปสู่อาศรมที่ท้าวสักกะประทาน โดยทางจรไป เฉพาะตนผู้เดียวก่อน เห็นอักษรที่จารึกไว้แล้วดำริว่า ท้าวสักกเทวราชคงจัก ทรงทราบความที่เราออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ ดังนี้แล้ว จึงเปิดประตูเข้าไปยัง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 271
บรรณศาลา บรรพชาเป็นฤาษีแล้วออกสู่ที่จงกรม เดินจงกรมไปมาอยู่สอง สามวาระแล้ว ยังหมู่ชนที่เหลือให้บรรพชา ตรวจตราดูอาศรมทั่วไป ให้ บรรณศาลาแก่สตรีแม่ลูกอ่อนอยู่ในท่ามกลาง. ถัดจากนั้นมาให้แก่สตรีชรา ถัดออกมาให้แก่สตรีที่มีวัยปานกลาง ส่วนชั้นนอกสุด ให้บุรุษทั้งหลายอยู่ รายรอบ. ครั้งนั้นมีพระราชาองค์หนึ่งทรงทราบว่า ในพระนครพาราณสีไม่มี พระราชาประทับอยู่ จึงเสด็จมาตรวจดูพระนคร อันประดับประดาตกแต่งไว้ ดีแล้ว เสด็จขึ้นสู่พระราชนิเวศน์ ทอดพระเนตรเห็นกองรัตนะในที่นั้นๆ ทรงดำริว่า จำเดิมแต่เวลาที่พระเจ้ากรุงพาราณสี ทรงสละพระนครเห็นปานนี้ ออกทรงผนวช ชะรอยบรรพชาเพศนี้ จักเป็นของมีคุณค่าโอฬารยิ่ง แล้วตรัส ถามหนทางกะพวกนักเลงสุรา เสด็จไปยังสำนักของหัตถิปาลดาบส. หัตถิปาล ดาบสทราบว่า พระราชาพระองค์นั้นเสด็จมาถึงแนวป่า จึงเดินสวนทางไป รับเสด็จ นั่งในอากาศแสดงธรรมแก่บริษัท แล้วนำไปสู่อาศรมบท ให้บริษัท ทั้งหมดบรรพชา. พระราชาแม้เหล่าอื่นทรงออกบรรพชา โดยอุบายนี้ถึง ๖ พระองค์. รวมพระราชาสละโภคัยมไหศวริยสมบัติ ออกบรรพชาเป็น ๗ พระองค์. อาศรมมีปริมณฑล ๓๖ โยชน์ เต็มบริบูรณ์หาที่ว่างมิได้. ดาบส องค์ใดตรึกวิตกอย่างใดอย่างหนึ่งมีกามวิตกเป็นต้น หัตถิปาลดาบสผู้มหาบุรุษ ก็แสดงธรรมแก่ดาบสนั้น บอกให้เจริญพรหมวิหารภาวนาบ้าง กสิณภาวนา บ้าง. ดาบสเหล่านั้นยังฌานและอภิญญาให้เกิดแล้วโดยมาก ในสามส่วนไป บังเกิดในพรหมโลกสองส่วน. แบ่งส่วนที่ ๓ ออกเป็น ๓ ประเภท ส่วนหนึ่ง บังเกิดในพรหมโลก ส่วนหนึ่ง บังเกิดในฉกามาวจรสวรรค์ ส่วนหนึ่งทำการ บำรุงบำเรอแก่ฤาษีทั้งหลาย แล้วบังเกิดในกุลสมบัติ ๓ (คือ กษัตริย์ พราหมณ์ และคฤหบดี) ในมนุษยโลก. คำสั่งสอนของหัตถิปาลดาบส ทำให้มหาชน ปราศจากทุคติคือนรก กำเนิดสัตว์เดียรัจฉาน ปิตติวิสัย และอสุรกาย ด้วยประการฉะนี้.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 272
สมาคมของกุททาลบัณฑิต สมาคมของมุคคผักกมหาบุรุษ สมาคม ของจุลลสุตตโสมมหาบุรุษ สมาคมของอโยฆรบัณฑิต และสมาคมของ หัตถิปาลดาบส ได้เป็นเช่นเดียวกับท่านที่ออกบรรพชาในภายหลังเขาทั้งหมด ในลังกาทวีปนี้ คือ พระปฐวีจาลกธัมมคุตตเถระ พระผุสสเทวเถระผู้อยู่ใน กตกัณฑการวิหาร พระมหาสังฆรักขิตเถระผู้อยู่ในภัคคิรีวิหาร พระมหาสิวเถระ ผู้อยู่ในคามันตปัพภารวิหาร พระมหานาคเถระผู้อยู่ในกาฬวัลลิมหามณฑป วิหาร. สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
บุคคลพึงขวนขวายในกรรมที่ดี พึงห้ามจิตเสีย จากความชั่ว เพราะเมื่อทำความดีช้า ใจย่อมยินดีใน ความชั่ว คนเราจึงควรกระทำความดี โดยเร็วพลัน ทีเดียว.
พระบรมศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในปางก่อน ตถาคตก็ออกสู่มหาภิเนษกรมณ์อย่างนี้ เหมือนกัน แล้วทรงประชุมชาดกว่า พระเจ้าเอสุการีในครั้งนั้น ได้มาเป็น พระเจ้าสุทโธทนมหาราชในบัดนี้ พระเทวีได้มาเป็นพระนางมหามายา ปุโรหิต ได้มาเป็นพระกัสสป นางพราหมณีได้มาเป็นนางภัททกาปิลานี อชปาลกุมาร ได้มาเป็นพระอนุรุทธะ โคปาลกุมารได้มาเป็นพระโมคคัลลานะ อัสสปาลกุมาร ได้มาเป็นพระสารีบุตร บริษัทที่เหลือได้มาเป็นพุทธบริษัท ส่วนหัตถิปาลกุมาร ได้แก่เราผู้ตถาคตนั่นเอง ฉะนี้แล.
จบอรรถกถาหัตถิปาลชาดก