พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. มหาทุกขักขันธสูตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  27 ส.ค. 2564
หมายเลข  36016
อ่าน  680

[เล่มที่ 18] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 113

๓. มหาทุกขักขันธสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 18]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 7 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 113

๓. มหาทุกขักขันธสูตร

[๑๙๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้นแล ภิกษุมากรูปด้วยกัน ในตอนเช้า นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี. ภิกษุเหล่านั้นต่างมีความคิดร่วมกันว่า ยังเช้าอยู่นัก อย่าเพิ่งเข้าไปบิณฑบาตในพระนครสาวัตถีเลย ทางที่ดี พวกเราควรเข้าไปยังอารามของพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์เถิด ดังนี้แล้ว. ต่างก็มุ่งตรงไปยังอารามของพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ ครั้นแล้วได้สนทนาปราศรัยกับพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น ได้กล่าวกะพวกภิกษุผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย พระสมณโคดมบัญญัติข้อควรกําหนดรู้กามได้ แม้พวกข้าพเจ้าก็บัญญัติข้อควรกําหนดรู้กามได้ พระสมณโคดมบัญญัติข้อควรกําหนดรู้รูปได้ แม้พวกข้าพเจ้าก็บัญญัติข้อควรกําหนดรู้รูปได้ พระสมณโคดมบัญญัติข้อควรกําหนดรู้เวทนาได้ แม้พวกข้าพเจ้าก็บัญญัติข้อควรกําหนดรู้เวทนาได้ ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย ในเรื่องนี้ อะไรเล่าเป็นข้อวิเศษ เป็นผลที่มุ่งหมาย หรือกระทําให้ต่างกันระหว่างพระสมณโคดมกับพวกข้าพเจ้า เช่นการแสดงธรรมกับการแสดงธรรม อนุสาสนีกับอนุสาสนี. พวกภิกษุเหล่านั้นไม่ยินดี ไม่คัดค้านคําที่พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นกล่าวแล้ว ครั้นแล้วลุกจากที่นั่งหลีกไปด้วยคิดว่า เราจักทราบข้อความแห่งภาษิตนี้ในสํานักของพระผู้มีพระภาคเจ้า.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 7 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 114

วาทะอัญญเดียรถีย์

[๑๙๕] ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นเที่ยวบิณฑบาตไปในพระนครสาวัตถี กลับจากบิณฑบาตในเวลาปัจฉาภัตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลคํานี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอประทานพระวโรกาส เช้าวันนี้ พวกข้าพระองค์นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี พวกข้าพระองค์ต่างมีความคิดร่วมกันว่า ยังเช้าอยู่นัก อย่าเพิ่งเข้าไปบิณฑบาตในพระนครสาวัตถีเลย ทางที่ดีพวกเราควรเข้าไปยังอารามของพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์เถิด. พวกข้าพระองค์ต่างก็มุ่งตรงไปยังอารามของพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ ครั้นแล้วได้สนทนาปราศรัยกับพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นได้กล่าวกะพวกข้าพระองค์ผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย พระสมณโคดมบัญญัติข้อควรกําหนดรู้กามได้ แม้พวกข้าพเจ้าก็บัญญัติข้อควรกําหนดรู้กามได้ พระสมณโคดมบัญญัติข้อควรกําหนดรู้รูปได้ แม้พวกข้าพเจ้าก็บัญญัติข้อควรกําหนดรู้รูปได้ พระสมณโคดมบัญญัติข้อควรกําหนดรู้เวทนาได้ แม้พวกข้าพเจ้าก็บัญญัติข้อควรกําหนดรู้เวทนาได้ ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย ในเรื่องนี้ อะไรเล่าเป็นข้อวิเศษ เช่นผลที่มุ่งหมาย หรือกระทําให้ต่างกัน ระหว่างพระสมณโคดมกับพวกข้าพเจ้า เช่นการแสดงธรรมกับการแสดงธรรม อนุสาสนีกับอนุสาสนี. พวกข้าพระองค์ไม่ยินดีไม่คัดค้านคําที่พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นกล่าวแล้ว ครั้นแล้วลุกจากที่นั่งหลีกไปด้วยคิดว่า เราจักทราบข้อความแห่งภาษิตนี้ในสํานักของพระผู้มีพระภาคเจ้า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 7 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 115

[๑๙๖] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ผู้มีวาทะอย่างนี้ พวกเธอพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ก็อะไรเล่าเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นการถ่ายถอนกามทั้งหลาย อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นการถ่ายถอนรูปทั้งหลาย อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นการถ่ายถอนเวทนาทั้งหลาย. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ถูกพวกเธอถามอย่างนี้ จักไม่พอใจเลย และจักต้องคับแค้นอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะข้อนั้นมิใช่วิสัย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นผู้ที่จะพึงยังจิตให้ยินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหาเหล่านี้ ในโลกเป็นไปกับด้วยเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์เป็นไปกับด้วยสมณะ พราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ เว้นไว้แต่ตถาคต หรือสาวกของตถาคต หรือมิฉะนั้นก็ฟังจากนี้.

[๑๙๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นคุณของกามทั้งหลาย. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กามคุณ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือรูปที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกําหนัด เสียงที่พึงรู้แจ้งด้วยโสต... กลิ่นที่พึงรู้แจ้งด้วยฆานะ... รสที่พึงรู้แจ้งด้วยชิวหา... โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งด้วยกาย น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกําหนัด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กามคุณ ๕ ประการเหล่านี้แล. ความสุข ความโสมนัสใดเล่า อาศัยกามคุณ ๕ เหล่านี้เกิดขึ้น นี้เป็นคุณของกามทั้งหลาย.

โทษของกาม

[๑๙๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นโทษของกามทั้งหลาย. กุลบุตรในโลกนี้เลี้ยงชีวิตด้วยความขยัน ประกอบศิลปะใด คือ ด้วยการนับ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 7 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 116

คะแนนก็ดี ด้วยการคํานวณก็ดี ด้วยการนับจํานวนก็ดี ด้วยการไถก็ดี ด้วยการค้าขายก็ดี ด้วยการเลี้ยงโคก็ดี ด้วยการยิงธนูก็ดี ด้วยการเป็นราชบุรุษก็ดี ด้วยศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ต้องตรากตรําต่อความหนาว ต้องตรากตรําต่อความร้อน งุ่นง่านอยู่ด้วยสัมผัสแต่เหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน ต้องตายด้วยความหิวระหาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้นี้เล่าก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่เห็นกันอยู่ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อกุลบุตรนั้นขยัน สืบต่อ พยายามอยู่อย่างนี้ โภคะเหล่านั้นก็ไม่สําเร็จผล เขาย่อมเศร้าโศก ลําบาก รําพัน ตีอก คร่ําครวญ ถึงความหลงเลือนว่า ความขยันของเราเป็นโมฆะหนอ ความพยายามของเราไม่มีผลหนอ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้นี้เล่าก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่เห็นกันอยู่ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อกุลบุตรนั้นขยัน สืบต่อ พยายามอยู่อย่างนี้ โภคะเหล่านั้นสําเร็จผล เขากลับเสวยทุกข์ โทมนัส ที่มีการคอยรักษาโภคะเหล่านั้นเป็นตัวบังคับว่า ทําอย่างไร พระราชาทั้งหลาย ไม่พึงริบโภคะเหล่านั้นไปได้ พวกโจรพึงปล้นไม่ได้ ไฟไม่พึงไหม้ น้ำไม่พึงพัดไป ทายาทอัปรีย์พึงนําไปไม่ได้. เมื่อกุลบุตรนั้นคอยรักษาคุ้มครองอยู่อย่างนี้ พระราชาทั้งหลายริบโภคะเหล่านั้นไปเสียก็ดี พวกโจรปล้นเอาไปเสียก็ดี ไฟไหม้เสียก็ดี น้ำพัดไปเสียก็ดี ทายาทอัปรีย์นําไปเสียก็ดี เขาย่อมเศร้าโศก ลําบาก รําพัน ตีอก คร่ําครวญ ถึงความหลงเลือนว่า สิ่งใดเล่าเคยเป็นของเรา แม้สิ่งนั้นก็ไม่เป็นของเรา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้นี้เล่าเป็นโทษของกาม

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 7 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 117

ทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่เห็นกันอยู่ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแล แม้พระราชาทั้งหลาย ก็วิวาทกันกับพระราชา แม้พวกกษัตริย์ก็วิวาทกันกับพวกกษัตริย์ แม้พวกพราหมณ์ก็วิวาทกันกับพวกพราหมณ์ แม้คฤหบดีก็วิวาทกันกับพวกคฤหบดี แม้มารดาก็วิวาทกับบุตร แม้บุตรก็วิวาทกับมารดา แม้บิดาก็วิวาทกับบุตร แม้บุตรก็วิวาทกับบิดา แม้พี่ชายน้องชายก็วิวาทกันกับพี่ชายน้องชาย แม้พี่ชายก็วิวาทกับน้องสาว แม้น้องสาวก็วิวาทกับพี่ชาย แม้สหายก็วิวาทกับสหาย ชนเหล่านั้นต่างถึงการทะเลาะ แก่งแย่ง วิวาทกันในที่นั้นๆ ทําร้ายซึ่งกันและกัน ด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยศัสตราบ้าง ถึงความตายไปตรงนั้นบ้าง ถึงทุกข์ปางตายบ้าง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้นี้เล่า ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่เห็นกันอยู่ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้ามีกามเป็นด้วยบังคับ เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแล ฝูงชนต่างถือดาบ และโล่สอดแล่งธนู วิ่งเข้าสู่สงคราม ปะทะกันทั้ง ๒ ฝ่าย เมื่อลูกศรทั้งหลายถูกยิงไปบ้าง เมื่อหอกทั้งหลายถูกพุ่งไปบ้าง เมื่อดาบทั้งหลายถูกกวัดแกว่งอยู่บ้าง ฝูงชนเหล่านั้นต่างก็ถูกลูกศรเสียบเอาบ้าง ถูกหอกแทงเอาบ้าง ถูกดาบตัดศีรษะเสียบ้างในที่นั้น พากันถึงตายไปตรงนั้นบ้าง ถึงทุกข์ปางตายบ้าง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้นี้เล่าก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่เห็นกันอยู่ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 7 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 118

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแล ฝูงชนถือดาบ และโล่สอดแล่งธนู ตรูกันเข้าไปสู่เชิงกําแพงที่ฉาบด้วยเปลือกตมร้อน เมื่อลูกศรถูกยิงไปบ้าง เมื่อหอกถูกพุ่งไปบ้าง เมื่อดาบถูกกวัดแกว่งบ้าง ชนเหล่านั้นต่างถูกลูกศรเสียบบ้าง ถูกหอกแทงบ้าง ถูกรดด้วยโคมัยร้อนบ้าง ถูกสับด้วยคราดบ้าง ถูกตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง ในที่นั้น พากันถึงตายไปตรงนั้นบ้าง ถึงทุกข์ปางตายบ้าง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้นี้เล่าก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่เห็นกันอยู่ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแล ฝูงชนตัดที่ต่อบ้าง ปล้นอย่างกวาดล้างบ้าง กระทําให้เป็นเรือนหลังเดียวบ้าง ดักทางบ้าง สมสู่ภรรยาคนอื่นบ้าง พระราชาทั้งหลายจับคนนั้นๆ ได้แล้ว ให้กระทํากรรมกรณ์ต่างๆ เฆี่ยนด้วยแซ่บ้าง เฆี่ยนด้วยหวายบ้าง ตีด้วยไม้ค้อนบ้าง ตัดมือเสียบ้าง ตัดเท้าเสียบ้าง ตัดทั้งมือทั้งเท้าเสียบ้าง ตัดหูเสียบ้าง ตัดจมูกเสียบ้าง ตัดทั้งหูทั้งจมูกเสียบ้าง กระทํากรรมกรณ์ ชื่อพิลังคถาลิกะ [หม้อเคี่ยวน้ำส้ม] บ้าง ชื่อสังขมุณฑกะ [ขอดสังข์] บ้าง ชื่อราหูมุข [ปากราหู] บ้าง ชื่อโชติมาลิกะ [พุ่มเพลิง] บ้าง ชื่อหัตถปัชโชติกะ [มือไฟ] บ้าง ชื่อเอรกวัตติกะ [นุ่งหนังช้าง] บ้าง ชื่อจีรกวาสิกะ [นุ่งสาหร่าย] บ้าง ชื่อเอเณยยกะ [ยืนกวาง] บ้าง ชื่อพลิสมังสิกะ [กระชากเนื้อด้วยเบ็ด] บ้าง ชื่อกหาปณกะ [ควักเนื้อทีละกหาปณะ] บ้าง ชื่อขาราปฏิจฉกะ [แปรงแสบ] บ้าง ชื่อปลิฆปริวัตตีกะ [วนลิ่ม] บ้าง ชื่อปลาลปีฐกะ [ตั่งฟาง] บ้าง รดด้วยน้ำมันที่ร้อนบ้าง ให้สุนัขกินบ้าง เสียบที่หลาวทั้งเป็นบ้าง ใช้ดาบตัด

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 7 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 119

ศีรษะเสียบ้าง คนเหล่านั้นถึงตายไปตรงนั้นบ้าง ถึงทุกข์ปางตายบ้าง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้นี้เล่า ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่เห็นกันอยู่ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแล ฝูงชนต่างประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ชนเหล่านั้น ครั้นประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้นี้เล่าก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ในสัมปรายภพ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น.

[๑๙๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นการถ่ายถอนกามทั้งหลาย. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การกําจัดฉันทราคะในกามทั้งหลาย การละฉันทราคะในกามทั้งหลายใดเล่า นี้เป็นการถ่ายถอนกามทั้งหลาย.

[๒๐๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง ไม่รู้ชัดคุณของกามทั้งหลาย โดยเป็นคุณ โทษของกามทั้งหลายโดยความเป็นโทษ และการถ่ายถอนกามทั้งหลาย โดยความเป็นการถ่ายถอน อย่างที่กล่าวนี้ตามความเป็นจริง พวกเหล่านั้นหรือ จักรอบรู้กามทั้งหลายด้วยตนเอง หรือว่าจักชักจูงผู้อื่น เพื่อความเป็นอย่างที่ผู้ปฏิบัติแล้วจักรอบรู้กามทั้งหลายได้ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งรู้ชัดคุณของกามทั้งหลายโดยเป็นคุณ โทษขอกามทั้งหลายโดยความเป็นโทษ และการถ่ายถอนกามทั้งหลายโดยความเป็นการถ่ายถอน อย่างที่กล่าวนี้ ตามความเป็นจริง พวกนั้นแล จักรอบรู้กามทั้งหลายด้วยตนเองได้ หรือ

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 7 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 120

จักชักจูงผู้อื่น เพื่อความเป็นอย่างที่ผู้ปฏิบัติแล้วจักรอบรู้กามทั้งหลายได้ ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้.

[๒๐๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นคุณของรูปทั้งหลาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า นางสาวเผ่ากษัตริย์ เผ่าพราหมณ์ หรือเผ่าคฤหบดี มีอายุระบุได้ว่า ๑๕ ปี หรือ ๑๖ ปี ไม่สูงเกินไป ไม่ต่ําเกินไป ไม่ผอมเกินไป ไม่อ้วนเกินไป ไม่ดําเกินไป ไม่ขาวเกินไป ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น นางคนนั้นงดงามเปล่งปลั่ง เป็นอย่างยิ่ง ใช่หรือไม่ พวกภิกษุพากันกราบทูลว่าเป็นเช่นนั้นพระเจ้าข้า. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความสุขความโสมนัสอันใดแล ที่บังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความงามเปล่งปลั่ง นี้เป็นคุณของรูปทั้งหลาย.

โทษของรูป

[๒๐๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นโทษของรูปทั้งหลาย. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลพึงเห็นนางสาวคนนั้นแหละในโลกนี้ โดยสมัยอื่นมีอายุ ๘๐ - ๙๐ หรือ ๑๐๐ ปี โดยกําเนิด เป็นยายแก่ มีซี่โครงคดดังกลอน เรือนร่างคดงอ ถือไม้เท้ากระงกกระเงิ่น เดินไปกระสับกระส่าย ผ่านวัยเยาว์ไปแล้ว มีฟันหลุด ผมหงอก. ผมโกรน ศีรษะล้าน เนื้อเหี่ยว มีตัวตกกระ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจักสําคัญข้อนั้นอย่างไร ความงดงาม ความเปล่งปลั่งที่มีในครั้งก่อนนั้นหายไปแล้ว โทษปรากฏแล้วมิใช่หรือ.

ภิกษุ. เป็นเช่นนั้น พระเจ้าข้า.

พระ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นโทษของรูปทั้งหลาย.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง บุคคลพึงเห็นสาวคนนั้นแหละ มีอาพาธ มีทุกข์ เจ็บหนัก นอนจมกองมูตรคูถของตน ต้องให้คนอื่นพยุง

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 7 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 121

ลุก ต้องให้คนอื่นคอยประคอง. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอจะสําคัญข้อนั้นอย่างไร ความงดงาม ความเปล่งปลั่ง ที่มีในก่อนนั้นหายไปแล้ว โทษปรากฏแล้วมิใช่หรือ.

ภิกษุ. เป็นเช่นนั้น พระเจ้าข้า

พระ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อนี้เล่า ก็เป็นโทษของรูปทั้งหลาย.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง บุคคลพึงเห็นนางสาวคนนั้นแหละเป็นซากศพ ถูกทิ้งไว้ในป่าช้า ตายได้ ๑ วันก็ดี ตายได้ ๒ วันก็ดี ตายได้ ๓ วันก็ดี เป็นซากศพขึ้นพองก็ดี มีสีเขียวก็ดี เกิดหนอนชอนไชก็ดี. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสําคัญข้อนั้นอย่างไร ความงดงาม ความเปล่งปลั่ง ที่มีในก่อนนั้นหายไปแล้ว โทษปรากฏแล้วมิใช่หรือ.

ภิกษุ. เป็นเช่นนั้น พระเจ้าข้า.

พระ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อนี้เล่า ก็เป็นโทษของรูปทั้งหลาย.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง บุคคลพึงเห็นนางสาวคนนั้นแหละเป็นซากศพถูกทิ้งไว้ในป่าช้า ฝูงการุมกันจิกกินบ้าง ฝูงแร้งรุมกันจิกกินบ้าง ฝูงนกเค้ารุมกันจิกกินบ้าง ฝูงสุนัขรุมกันกัดกินบ้าง ฝูงสุนัขจิ้งจอกรุมกันกัดกินบ้าง ฝูงปาณกชาติต่างๆ รุมกันกัดกินบ้าง. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสําคัญข้อนั้นอย่างไร ความงดงาม ความเปล่งปลั่ง ที่มีในก่อนนั้นหายไปแล้ว โทษปรากฏแล้วมิใช่หรือ.

ภิกษุ. เป็นเช่นนั้น พระเจ้าข้า.

พระ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อนี้เล่า ก็เป็นโทษของรูปทั้งหลาย.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง บุคคลพึงเห็นนางสาวคนนั้นแหละ เป็นซากศพถูกทิ้งในป่าช้า มีแต่โครงกระดูก มีเนื้อ และเลือดติดอยู่ มี

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 7 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 122

เอ็นยืดอยู่ ฯลฯ มีแต่โครงกระดูก ปราศจากเนื้อเปื้อนเลือด มีเอ็นยึดอยู่ ฯลฯ มีแต่โครงกระดูก ปราศจากเนื้อ และเลือด มีเอ็นยึดอยู่ ฯลฯ เป็นแต่กระดูกปราศจากเอ็นยึดกระจัดกระจายไปในทิศน้อยใหญ่ คือ กระดูกมือทางหนึ่ง กระดูกเท้าทางหนึ่ง กระดูกแข้งทางหนึ่ง กระดูกขาทางหนึ่ง กระดูกสะเอวทางหนึ่ง กระดูกสันหลังทางหนึ่ง กระดูกซี่โครงทางหนึ่ง กระดูกหน้าอกทางหนึ่ง กระดูกแขนทางหนึ่ง กระดูกไหล่ทางหนึ่ง กระดูกคอทางหนึ่ง กระดูกคางทางหนึ่ง กระดูกฟันทางหนึ่ง หัวกระโหลกทางหนึ่ง. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสําคัญข้อนั้นอย่างไร ความงดงาม ความเปล่งปลั่ง ที่มีในก่อนนั้นหายไปแล้ว โทษปรากฏแล้วมิใช่หรือ.

ภิกษุ. เป็นเช่นนั้น พระเจ้าข้า.

พระ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อนี้เล่า ก็เป็นโทษของรูปทั้งหลาย.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง บุคคลพึงเห็นนางสาวนั้นแหละ เป็นซากศพถูกทิ้งไว้ในป่าช้า เหลือแต่กระดูกสีขาว เปรียบเทียบได้กับสีสังข์ ฯลฯ เหลือแต่กระดูกตกค้างแรมปี เรียงรายเป็นหย่อมๆ ฯลฯ เหลือแต่กระดูกผุแหลกยุ่ย. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสําคัญข้อนั้นอย่างไร ความงดงาม ความเปล่งปลั่ง ที่มีในก่อนหายไปแล้ว โทษปรากฏแล้วมิใช่หรือ.

ภิกษุ. เป็นเช่นนั้น พระเจ้าข้า.

พระ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อนี้เล่า ก็เป็นโทษของรูปทั้งหลาย.

[๒๐๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นการถ่ายถอนรูปทั้งหลาย. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การกําจัดฉันทราคะในรูปทั้งหลาย การละฉันทราคะในรูปทั้งหลายใด นี้เป็นการถ่ายถอนรูปทั้งหลาย.

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 7 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 123

การกําหนดรู้รูป

[๒๐๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งไม่รู้ชัดคุณของรูปทั้งหลายโดยเป็นคุณ โทษของรูปทั้งหลายโดยความเป็นโทษ และการถ่ายถอนรูปทั้งหลาย โดยความเป็นการถ่ายถอน อย่างที่กล่าวนี้ตามความเป็นจริง พวกเหล่านั้นหรือจักรอบรู้รูปทั้งหลายด้วยตนเอง หรือว่าจักชักจูงผู้อื่น เพื่อความเป็นอย่างที่ผู้ปฏิบัติแล้วจักรอบรู้รูปทั้งหลายได้ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ชัดคุณของรูปทั้งหลายโดยเป็นคุณ โทษของรูปทั้งหลายโดยความเป็นโทษ และการถ่ายถอนรูปทั้งหลายโดยความเป็นการถ่ายถอน อย่างที่กล่าวนี้ตามความเป็นจริง พวกเหล่านั้นแหละ จักรอบรู้รูปทั้งหลายด้วยตนเองได้ หรือจักชักจูงผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างที่ผู้ปฏิบัติแล้วจักรอบรู้รูปทั้งหลายได้. ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้.

[๒๐๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นคุณของเวทนาทั้งหลาย. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติ และสุขเกิดแต่วิเวกอยู่. ในสมัยใดภิกษุสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ในสมัยนั้น ย่อมไม่คิดเพื่อจะทําลายตนบ้าง ย่อมไม่คิดเพื่อจะทําลายผู้อื่นบ้าง ย่อมไม่คิดเพื่อจะทําลายทั้งสองฝ่ายบ้าง ในสมัยนั้นย่อมเสวยเวทนา อันไม่มีความเบียดเบียนเลยทีเดียว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวคุณของเวทนาทั้งหลายว่า มีความไม่เบียดเบียนเป็นอย่างยิ่ง.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่. ในสมัยใด ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มี

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 7 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 124

วิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป ฯลฯ ในสมัยนั้น ย่อมไม่คิดเพื่อจะทําลายตนบ้าง ฯลฯ ในสมัยนั้น ย่อมเสวยเวทนา อันไม่มีความเบียดเบียนเลยทีเดียว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวคุณของเวทนาทั้งหลายว่า มีความไม่เบียดเบียนเป็นอย่างยิ่ง.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายกล่าวว่า มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข. ในสมัยใด ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ฯลฯ ในสมัยนั้น ย่อมไม่คิดเพื่อจะทําลายตน ฯลฯ ในสมัยนั้น ย่อมเสวยเวทนาอันไม่มีความเบียดเบียนเลยทีเดียว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวคุณแห่งเวทนาทั้งหลายว่า มีความไม่เบียดเบียนเป็นอย่างยิ่ง.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่. ในสมัยใด ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ ในสมัยนั้นย่อมไม่คิดเพื่อจะทําลายตนบ้าง ไม่คิดเพื่อทําลายผู้อื่นบ้าง ไม่คิดเพื่อทําลายทั้งสองบ้าง ในสมัยนั้น ย่อมเสวยเวทนาอันไม่มีความเบียดเบียนเลยทีเดียว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวคุณแห่งเวทนาทั้งหลาย ว่ามีความไม่เบียดเบียนเป็นอย่างยิ่ง.

[๒๐๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นโทษของเวทนาทั้งหลาย. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่เวทนาไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษของเวทนาทั้งหลาย.

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 7 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 125

[๒๐๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นการถ่ายถอนเวทนาทั้งหลาย. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การกําจัด การละฉันทราคะในเวทนาทั้งหลายเสียได้ นี้เป็นการถ่ายถอนเวทนาทั้งหลาย.

การกําหนดรู้เวทนา

[๒๐๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง ไม่รู้ชัดคุณของเวทนาทั้งหลายโดยเป็นคุณ โทษของเวทนาทั้งหลายโดยความเป็นโทษ และการถ่ายถอนเวทนาทั้งหลายโดยความเป็นการถ่ายถอน อย่างที่กล่าวมานี้ตามความเป็นจริง พวกเหล่านั้นหรือจักรอบรู้เวทนาทั้งหลายด้วยตนเอง หรือว่าจักชักจูงผู้อื่นเพื่อเป็นอย่างที่ผู้ปฏิบัติแล้วจักรอบรู้เวทนาทั้งหลายได้ ข้อนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ชัดคุณของเวทนาทั้งหลายโดยความเป็นคุณ โทษของเวทนาทั้งหลายโดยความเป็นโทษและการถ่ายถอนเวทนาทั้งหลายโดยความเป็นการถ่ายถอน อย่างที่กล่าวมานี้ตามความเป็นจริง พวกเหล่านั้นแหละจักรอบรู้เวทนาทั้งหลายด้วยตนเองได้ หรือจักชักจูงผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างที่ผู้ปฏิบัติแล้ว จักรอบรู้เวทนาทั้งหลายได้ ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้.

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วแล.

จบ มหาทุกขักขันธสูตรที่ ๓

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 7 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 126

อรรถกถามหาทุกขักขันธสูตร

มหาทุกขักขันธสูตร เริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับดังนี้:-

ในมหาทุกขักขันธสูตรนั้น ในวินัยปริยาย ชน ๓ คน เรียกว่า สัมพหุลา มากกว่านั้นเรียกว่า สงฆ์. ในสุตตันตปริยาย ชน ๓ คน คงเป็น ๓ นั้นเทียว เกินกว่า ๓ นั้น เรียกว่า สัมพหุลา. พึงทราบสัมพหุลาโดยสุตตันตปริยายในสูตรนี้.

บทว่า ปิณฺฑาย ปวิสิํสุ ได้แก่เข้าไปแล้ว. ก็ภิกษุเหล่านั้น ไม่ได้เข้าไปแล้วก่อนด้วยคิดว่า พวกเราจักเข้าไป แต่เมื่อออกมาจึงกล่าวว่า ปวิสิํสุ. เหมือนอย่างใด. เหมือนอย่างบุรุษผู้ออกไปว่า เราจักไปสู่บ้าน แม้ไม่ถึงบ้านนั้น ครั้นเขากล่าวว่า บุรุษชื่อนี้ไปไหน เรียกว่า ไปสู่บ้านแล้วฉันใด ภิกษุทั้งหลายก็ฉันนั้น.

บทว่า ปริพฺพาชกานํ อาราโม ความว่า มีอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกในที่ไม่ไกลจากพระเชตวัน หมายถึงอารามนั้น จึงกล่าวอย่างนั้น.

บทว่า สมโณ อาวุโส ความว่า ดูก่อนผู้มีอายุ พระสมณโคดมพระศาสดาของพวกท่าน.

บทว่า กามานํ ปริฺํ ความว่า พระสมณโคดมทรงบัญญัติการละ คือการก้าวล่วงกามทั้งหลาย. แม้ในรูปเวทนาเป็นต้นก็นัยนี้เหมือนกัน. ในข้อนั้น พวกเดียรถีย์ผู้รู้ลัทธิของตน พึงบัญญัติความรอบรู้กามทั้งหลาย เมื่อกล่าวถึงปฐมฌาน พึงบัญญัติความรอบรู้รูปทั้งหลาย เมื่อกล่าวถึงอรูปภพ พึงบัญญัติความรอบรู้เวทนา เมื่อกล่าวถึงอสัญญิภพ ก็พึงบัญญัติความรอบรู้เวทนาทั้งหลาย. แต่เดียรถีย์เหล่านั้นย่อมไม่รู้ว่า นี้ปฐมฌาน นี้รูปภพ นี้อรูปภพ เมื่อไม่อาจบัญญัติ จึงพูดว่าพวกเราจะบัญญัติๆ อย่างเดียว. พระตถาคตทรงบัญญัติความรอบรู้กามทั้งหลาย ด้วยอนาคามิมรรค ทรงบัญญัติความรอบรู้รูป และเวทนาทั้งหลาย ด้วย

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 7 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 127

อรหัตตมรรค. เดียรถีย์เหล่านั้น เมื่อมีข้อแปลกกันอย่างนี้ จึงกล่าวว่า อิธโน อาวุโส โก วิเสโส ดังนี้เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิธ คือในการบัญญัตินี้ หรือในการแสดงธรรมนี้.

บทว่า ธมฺมเทสนํ ความว่า เดียรถีย์ทั้งหลายกล่าวว่า พวกท่านกล่าวข้อกระทําให้ต่างกัน ปรารภธรรมเทศนาของพวกเรากับธรรมเทศนาของพระสมณโคดม หรือปรารภธรรมเทศนาของพระสมณโคดมกับธรรมเทศนาของพวกเรานี้ใด นั้นชื่ออะไรเล่า. แม้ในบทที่สองก็นัยนี้เหมือนกัน. เดียรถีย์เหล่านั้น ตั้งธุระเสมอกันด้วยเหตุสักว่ากล่าวลัทธิของตนกับศาสนา เหมือนทองคําแตกในท่ามกลางด้วยประการฉะนี้.

บทว่า เนว อภินนฺทิํสุ คือ ไม่ยอมรับว่า คํานั้นเป็นอย่างนั้นเทียว.

บทว่า นปฺปฏิกฺโกสิํสุ ได้แก่ ไม่ปฏิเสธว่า คํานั้นไม่เป็นอย่างนี้. เพราะเหตุไร. ได้ยินว่า ธรรมดาเดียรถีย์เหล่านั้น เป็นเช่นคนตาบอด รู้แล้วก็ตาม ไม่รู้ก็ตาม ก็พึงกล่าว เพราะฉะนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงไม่ยินดี. ไม่คัดค้านว่า กลิ่นของศาสนามีนิดหน่อย ด้วยคําว่า ปริฺํ. ได้ทําทั้งสองอย่างด้วยคิดว่าเดียรถีย์เหล่านั้น เป็นชาวชนบท ไม่ฉลาดพอในลัทธิของตนและลัทธิอื่น.

บทว่า น เจว สมฺปายิสฺสนฺติ ความว่า จักไม่อาจเพื่อที่จะให้ความพอใจกล่าว.

บทว่า อุตฺตริฺจ วิฆาตํ ความว่า และจักถึงทุกข์ยิ่งกว่า ความไม่พอใจ. ก็ความทุกข์ย่อมเกิดขึ้นแก่เดียรถีย์ทั้งหลาย ผู้ไม่อาจเพื่อที่จะให้พอใจกล่าว.

คําว่า ตํ ในบทนี้ว่า ยถาตํ ภิกฺขเว อวิสยสฺมิํ เป็นเพียงนิบาต คําว่า ยถา เป็นตติยาวิภัตติ อธิบายว่า เพราะเป็นผู้ถูกถามแล้วในปัญหาอันมิใช่วิสัย.

บทว่า สเทวเก ได้แก่ เป็นไปกับด้วยเทวโลก. แม้ในบทว่า สมารกะ เป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเพิ่มฐาน ๓ เข้าเป็นโลกอย่างนี้แล้ว ทรงกําหนดสัตว์โลกนั้นเทียวว่า หมู่สัตว์สอง รวมเป็น

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 7 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 128

ห้าแล้ว ทรงแสดงว่า เราไม่เห็นเทพ หรือ มนุษย์ไรๆ ในโลกอันต่างโดยเทวโลกเป็นต้นนั้น.

บทว่า อิโต วา ปน สุตฺวา ความว่า ก็หรือ ฟังจากนี้ คือจากศาสนาของเรา. ทรงแสดงว่า ผู้ไม่ได้เป็นตถาคตก็ดี สาวกของผู้ไม่ได้เป็นตถาคตก็ดี ฟังจากนี้แล้วพึงยินดี พึงพอใจ ขึ้นชื่อว่า ความยินดีโดยประการอื่นไม่มี.

บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงการยังจิตให้ยินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหาเหล่านั้นของพระองค์ จึงตรัสว่า โก จ ภิกฺขเว ดังนี้เป็นต้น.

บทว่า กามคุณา ความว่า ชื่อว่ากาม เพราะอรรถว่าอันบุคคลพึงยินดีชื่อว่า คุณ เพราะอรรถว่า เครื่องผูก อรรถว่า ชั้น ชื่อว่าคุณ อรรถในบทนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสังฆาฏิสองชั้นสําหรับผ้าที่ได้มา. อรรถว่าอยู่ ชื่อว่า คุณ อรรถในบทนี้ว่า กาลย่อมล่วงไป ราตรีย่อมผ่านไป ชั้นแห่งวัยย่อมละไปตามลําดับ. อรรถว่าอานิสงส์ ชื่อว่า คุณ อรรถในบทนี้ว่า ทักษิณาอันมีคุณทั้งร้อย อันบุคคลพึงหวัง อรรถว่า เครื่องผูก ชื่อว่า คุณ อรรถในบทนี้ว่า พึงทําที่สุด กลุ่มที่สุด กลุ่มมาลามีมาก. ท่านประสงค์เอาอรรถว่า เครื่องผูกนั้นอย่างเดียว แม้ในบทนี้. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ชื่อว่า คุณ เพราะอรรถว่าเครื่องผูกดังนี้.

บทว่า จกฺขุวิฺเยฺยา ความว่า พึงเห็นด้วยจักขุวิญญาณ. พึงทราบอรรถ แม้ใน โสต วิฺเยฺย เป็นต้น โดยทํานองนี้.

บทว่า อิฏฺา ความว่า จงยินดีก็ตาม ไม่ยินดีก็ตาม ก็เป็นอิฏฐารมณ์.

บทว่า กนฺตา ได้แก่ พึงให้ยินดี.

บทว่า มนาปา คือให้ใจเจริญ.

บทว่า ปิยรูปา คือ เกิดความรัก.

บทว่า กามูปสฺหิตา ความว่า ประกอบแล้วด้วยกามซึ่งทําอารมณ์เกิดขึ้น.

บทว่า รชนียา ได้แก่ พึงกําหนัด อธิบายว่า เป็นเหตุเกิดขึ้นแห่งราคะ.

ในบททั้งหลายมีว่า ยทิ มุทฺธาย เป็นต้น บทว่า มุทฺธาย ได้แก่ ด้วยการตั้งสัญญาในข้อนี้ทั้งหลายแล้วนับมือ.

บทว่า คณนาย ได้

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 7 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 129

แก่ ด้วยการคํานวณไม่ผิด.

บทว่า สงฺขา ความว่า ชนทั้งหลายแลดูนาด้วยการนับข้าวว่า ในนานี้จักมีข้าวประมาณเท่านี้ แลดูต้นไม้ก็รู้ว่า ในต้นไม้นี้จักมีผลเท่านี้ แลดูอากาศก็รู้ว่า ในอากาศจักมีนกประมาณเท่านี้.

บทว่า กสิ ได้แก่ กสิกรรม.

บทว่า วณิชฺชา ได้แก่ ทางการค้าขายมีการค้าขายทางน้ำ และการค้าขายทางบกเป็นต้น.

บทว่า โครกฺขํ ได้แก่ การรักษาโคของตน หรือของคนเหล่าอื่น ทําการเลี้ยงชีพด้วยการขายปัญจโครส. การถืออาวุธแล้วทําการปฎิบัติ เรียกว่าการยิงธนู.

บทว่า ราชโปริสํ ได้แก่การทําราชการด้วยอาวุธให้ปรากฏ.

บทว่า สิปฺปฺตรํ ได้แก่ ศิลปะมีศิลปะเพราะช้าง หรือศิลปะเพราะม้าเป็นต้น ที่เหลือจากที่ระบุไว้แล้ว.

บทว่า สีตสฺส ปุรกฺขโต ความว่า เผชิญกับความหนาว เหมือนเป้าเผชิญกับลูกศรฉะนั้น อธิบายว่าผู้ถูกความหนาวเบียดเบียน. แม้ในความร้อนก็นัยนี้เหมือนกัน.

ในบทว่า ทํสา เป็นต้น บทว่า ทํสา ได้แก่ เหลือบ.

บทว่า มกสา ได้แก่ แมลงทุกชนิด.

บทว่า สิริํสปา ได้แก่ สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่งเลื้อยคลานไป.

บทว่า ริสฺสมาโน ได้แก่ หวั่นไหว กระสับกระส่าย.

บทว่า มิยฺยมาโน ได้แก่ตาย.

บทว่า อยํ ภิกฺขเว ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นความลําบากซึ่งอาศัยการเลี้ยงชีวิตด้วยศิลปะมีการนับคะแนนเป็นต้น มีความหนาวเป็นต้นเป็นปัจจัย.

บทว่า กามานํ อาทีนโว คือ เป็นอันตราย ความว่า เป็นอุปสรรคในกามทั้งหลาย.

บทว่า สนฺทิฏฺิโก คือ ประจักษ์ ได้แก่พึงเห็นเอง.

บทว่า ทุกฺขกฺขนฺโธ ได้แก่ เป็นกองทุกข์. ในบททั้งหลาย มีกามเหตุเป็นต้น กามทั้งหลายชื่อว่าเป็นเหตุแห่งโทษนั้น เพราะอรรถว่าเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น โทษนั้น จึงชื่อว่า กามเหตุ แปลว่ามีกามเป็นเหตุ. กามทั้งหลายชื่อว่า เป็นต้นเค้าของโทษนั้น เพราะอรรถว่า เป็นรากเหง้า เพราะฉะนั้น โทษนั้น จึงชื่อว่า กามนิทาน แปลว่า มีกามเป็นต้นเค้า แต่ท่านกล่าวว่า

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 7 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 130

กามนิทานํ เพราะคลาดเคลื่อนทางลิงค์. กามทั้งหลาย ชื่อว่า เป็นตัวบังคับของโทษนั้น เพราะอรรถว่า การณ์ เพราะฉะนั้น โทษนั้น จึงชื่อว่า กามาธิกรณะ แปลว่า มีกามเป็นตัวบังคับ. แต่ท่านกล่าวว่า กามาธิกรณํ เพราะความคลาดเคลื่อนทางลิงค์.

บทว่า กามานเมว เหตุ นี้เป็นคํากําหนดอธิบายว่า โทษเกิดขึ้นเพราะกามเป็นปัจจัยนั้นเทียว.

บทว่า อุฏฺหโต คือขยันด้วยความเพียร เป็นเหตุให้มีอาชีพเป็นหลักฐาน.

บทว่า ฆฏโต ได้แก่สืบต่อความเพียรนั้นให้มากขึ้นกว่าในวันก่อนๆ.

บทว่า วายมโต ความว่า กระทําความพยายาม ความบากบั่น ความประกอบ.

บทว่า นาภินิปฺผชฺชนฺติ ความว่า โภคะนั้นย่อมไม่สําเร็จ คือ ไม่ขึ้นสู่เงื้อมมือ.

บทว่า โสจติ คือย่อมเศร้าโศกด้วยความเศร้าโศกอันแรงกล้าเกิดขึ้นในจิต. บทว่า กิลมติ ได้แก่ย่อมลําบากด้วยทุกข์ที่เกิดขึ้นในกาย.

บทว่า ปริเทวติ ได้แก่ ย่อมคร่ําครวญด้วยวาจา.

บทว่า อุรตฺตาฬิํ คือ ตีอก. บทว่า กนฺทติ ได้แก่ ย่อมร้องไห้.

บทว่า สมฺโมหํ อาปชฺชติ ความว่า เป็นผู้เลอะเลือน ดุจปราศจากความรู้สึก.

บทว่า โมฆํ แปลว่า เปล่า.

บทว่า อผโล ได้แก่ ไร้ผล.

บทว่า อารกฺขาทิกรณํ คือ มีการคุ้มครองเป็นเหตุ.

บทว่า กินฺติ เม คือ ด้วยอุบายอะไรหนอแล.

บทว่า ยํ ปิ เม. ความว่า ทรัพย์ที่เราทําการงานมีกสิกรรมเป็นต้น ให้เกิดแล้วแม้ใด.

บทว่า ตํปิ โน นตฺถิ ความว่า บัดนี้ ทรัพย์แม้นั้นของเราก็ไม่มี.

ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงการณ์ด้วยบทแม้มีอาทิว่าปุน จ ปรํ ภิกฺขเว เหตุ ดังนี้แล้วทรงแสดงโทษ.

ในบทเหล่านั้น บทว่า กามเหตุ ความว่า แม้พวกกษัตริย์ก็วิวาทกันกับพวกษัตริย์ เพราะกามเป็นปัจจัย.

บทว่า กามนิทานํ เป็นภาวนปุงสกลิงค์ อธิบายว่า ทํากามทั้งหลายให้เป็นต้นเค้าแล้ววิวาทกัน. แม้บทว่า กามาธิกรณํ ก็เป็น ภาวนปุงสกลิงค์ เหมือนกัน อธิบายว่า ทํากามทั้งหลาย

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 7 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 131

เป็นตัวบังคับแล้ววิวาทกัน.

บทว่า กามานเมว เหตุ ความว่า วิวาทกันเพราะเหตุแห่งบ้าน นิคม เสนาบดี ปุโรหิต และฐานันดร เป็นต้น.

บทว่า อุปกฺกมนฺติ คือ ประหาร.

บทว่า อสิจมฺมํ ได้แก่ ดาบและวัตถุมีโล่เป็นต้น.

บทว่า ธนุกลาปํ สนฺนยฺหิตฺวา ความว่า ถือธนูแล้วสอดแล่งธนู.

บทว่า อุภโต พฺยุฬฺหํ ได้แก่ รบกันทั้งสองฝ่าย.

บทว่า ปกฺขนฺทนฺติ คือ เข้าไป.

บทว่า อุสูสุ คือเมื่อลูกศรทั้งหลาย.

บทว่า วิชฺโชตลนฺเตสุ คือ พุ่งไป.

บทว่า เต ตตฺถ คือฝูงชนเหล่านั้นในสงครามนั้น.

ในบทว่า อฏฺฏาวเลปนา อุปการิโย นั้น ก็มนุษย์ทั้งหลาย ก่อเชิงกําแพงด้วยอิฐทั้งหลาย โดยมีสัณฐานเหมือนกลีบม้า แล้วฉาบปูนขาวเบื้องบน เชิงกําแพงทั้งหลายที่ทําอย่างนี้ เรียกว่า อุปการิโย เชิงกําแพงเหล่านั้น ฉาบด้วยเปือกตมร้อน จึงชื่อว่า อฏฺฎาวเลปนา.

บทว่า ปกฺขนฺทนฺติ ความว่า ชนเหล่านั้น เมื่อถูกยิงด้วยอาวุธมีลูกศรเหล็กแหลมคมเป็นต้น ภายใต้เชิงกําแพงเหล่านั้นบ้าง เมื่อไม่อาจเพื่อปีนหนี เพราะกําแพงลื่นเป็นมันบ้าง จึงวิ่งพล่านไปมา.

บทว่า ฉกณฏิยา คือด้วยโคมัยอันร้อน.

บทว่า อภิวคฺเคน ความว่า ชนทั้งหลายยืนที่ประตูชั้นบนอันมาถึงว่า พวกเราจักทําคราดนั้น พร้อมกับฟันโดยอาการมีฟันแปดซี่ ทําลายประตูนครเข้าไป แล้วตัดเครื่องผูก และเชือกแห่งคราดนั้นแล้วสับด้วยคราดนั้น.

บทว่า สนฺธิํปิ ฉินฺทนฺติ คือตัดที่ต่อแห่งเรือนบ้าง.

บทว่า นิลฺโลปํ ความว่า โจมตีบ้านเป็นต้นแล้วกระทําการปล้นใหญ่.

บทว่า เอกาคาริกํ ความว่า ฝูงชนประมาณ ๕๐ คนบ้าง ประมาณ ๖๐ คนบ้าง โจมตีแล้ว จับเป็นให้นําออกมา.

บทว่า ปริปนฺเถติฏฺนฺติ ความว่า กระทําการดักตีในระหว่างทาง.

บทว่า อฑฺฒทณฺฑเกหิ ความว่า ด้วยค้อนทั้งหลาย หรือด้วยท่อนไม้ที่เขาตัดท่อนไม้ประมาณ ๔ ศอก เพื่อให้สําเร็จการประหารให้เป็นสองส่วนถือไว้.

บทว่า พิลงฺคถาลิกํ ได้แก่

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 7 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 132

กรรมกรณ์ คือต้มด้วยหม้อข้าว. พระราชาทั้งหลายเมื่อจะทรงทํากรรมกรณ์นั้น ก็ถลกกะโหลกศีรษะออก เอาคีมปากนกแก้วจับก้อนเหล็กร้อนวางบนกะโหลกศีรษะนั้น เอาคีมเหล็กนั้นคีบมันสมองยกขึ้นเบื้องบน.

บทว่า สํ ขมุณฺฑกํ ได้แก่ กรรมกรณ์ คือ ขอดสังข์. เมื่อจะทํากรรมกรณ์นั้น ลอกหนังด้วยการกําหนดจอนหูและโคนคอ ทั้งสองข้างให้ตั้งไว้เบื้องบน รวบผมทั้งหมดให้เป็นกําหนึ่ง พันกับท่อนไม้ยกขึ้น หนังพร้อมกับผมทั้งหลายหลุดออก แต่นั้นก็เคาะหัวกะโหลกศีรษะด้วยก้อนหินหนา ล้างทําให้มีสีเหมือนสังข์.

บทว่า ราหุมุขํ ได้แก่ กรรมกรณ์คือ ปากราหู. เมื่อจะทํากรรมกรณ์นั้นก็เปิดปากด้วยขอเหล็ก ตามประทีปภายในปาก หรือเจาะปากด้วยเหล็กแหลม จนถึงจอนหูทั้งสองข้าง. เลือดไหลออกเต็มปาก.

บทว่า โชติมาลกํ ได้แก่พันสรีระทั้งสิ้นด้วยผ้าชุบน้ำมันแล้วจุดไฟ.

บทว่า หตฺถปชฺโชติกํ ได้แก่พันมือทั้งสองข้างด้วยผ้าชุบน้ำมันแล้ว ตามประทีปให้โพลง.

บทว่า เอรกวตฺติกํ ได้แก่ กรรมกรณ์ คือนุ่งหนังช้าง. เมื่อทํากรรมกรณ์นั้นตัดแผ่นหนังตั้งแต่คอขึ้นไปวางไว้ที่จอนผม ลําดับนั้น ก็ผูกมันด้วยเชือกทั้งหลายแล้วดึงไป เขาเหยียบแล้วเหยียบอีกซึ่งแผ่นหนังของตน ก็ล้มลง.

บทว่า จีรกวาสินํ ได้แก่ กรรมกรณ์ คือนุ่งสาหร่าย. เมื่อทํากรรมกรณ์นั้นก็ลอกแผ่นหนังเหมือนอย่างนั้นให้จดสะเอว ลอกตั้งแต่แต่สะเอวจดข้อเท้าทั้งสองข้าง สรีระล่างกับข้างบนเป็นเหมือนผ้านุ่งที่ทําด้วยเปลือกปอ.

บทว่า เอเณยฺยกํ ได้แก่ กรรมกรณ์คือ ยืนกวาง. เมื่อจะทํากรรมกรณ์นั้น ก็มัดลวดเหล็กที่ข้อศอก และเข่าทั้งสองข้างแล้ว ก็ตอกเหล็กแหลมทั้งหลาย. เขายืนอยู่ในแผ่นดิน ด้วยเหล็กแหลม ๔ อัน ลําดับนั้น ก็แวดล้อมเขา ก่อเพลิงเป็นเหมือนกวางล้อมไฟ สมดังที่ท่านกล่าวไว้แม้ในที่มาแล้วอย่างนี้ว่า เขาถอดเหล็กแหลมตามเวลาอันสมควรนั้น ตอกไว้กับกระดูกสะเอว ๔ แห่ง นั้นเทียว ขึ้นชื่อว่า การกระทํา

 
  ข้อความที่ 21  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 7 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 133

ที่เห็นปานนี้ไม่มี.

บทว่า พฬิสมํสิกํ ได้แก่ ตีด้วยเบ็ดมีขอทั้งสองข้างแล้วกระชากหนัง เนื้อและเอ็น.

บทว่า กหาปณกํ ได้แก่ ควักสรีระทั้งสิ้นให้ตกออกไปทีละประมาณกหาปณะ ตั้งแต่สะเอวด้วยมีดคมกริบทุบตี.

บทว่า ขาราปฏิจฺฉกํ ได้แก่ ตีสรีระในที่นั้นๆ ด้วยอาวุธทั้งหลาย ราดน้ำด่างขัดด้วยแปรง หนัง เนื้อ และเอ็น ก็ไหลออก คงเหลือแต่โครงกระดูกเท่านั้น.

บทว่า ปลิฆปริวตฺตกํ ได้แก่ ให้นอนข้างเดียวแล้ว ตอกหลาวเหล็กแหลมในช่องหูทําให้ติดกับดิน ลําดับนั้น จึงจับเท้าของเขาแล้ววนเวียน.

บทว่า ปลาลปีกํ ได้แก่ ผู้ทํากรรมกรณ์ที่ฉลาด แล่ผิวหนังออกทุบกระดูกทั้งหลายด้วยลูกหินบดแล้ว จับผมทั้งหลายยกขึ้น คงมีแต่กองเนื้อเท่านั้น ลําดับนั้นก็รวบผมของเขาเท่านั้น จับบิดทําเหมือนเกลียวฟาง.

บทว่า สุนเขหิ ได้แก่ยังสุนัขทั้งหลายที่หิวจัดเพราะไม่ให้อาหาร ๒- ๓ วัน ให้พึงกัดกิน สุนัขเหล่านั้นก็ทําให้เหลือโครงกระดูกครู่เดียวเท่านั้น.

บทว่า สมฺปรายิโก ความว่า เป็นวิบากในสัมปรายภพในอัตตภาพที่สอง.

การกําจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะ คือ นิพพาน. จริงอยู่ ฉันทราคะในกามทั้งหลายย่อมถูกกําจัดและถูกละได้ เพราะอาศัยนิพพาน เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า การกําจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะ คือ นิพพาน.

บทว่า สามํ วา กาเม ปริชานิสฺสนฺติ ความว่า พวกนั้นน่ะหรือ จักรอบรู้กามทั้งหลายด้วยตนเอง ด้วยปริญญา ๓.

บทว่า ตถตฺตาย ได้แก่ เพื่อความเป็นอย่างที่ผู้ปฎิบัติ.

บทว่า ยถาปฏิปนฺโน ความว่า ปฏิบัติแล้วด้วยปฏิปทาใด.

บทว่า ขตฺติยกฺา วา เป็นต้น ตรัสแล้วเพื่อทรงแสดงสตรีที่เกิดแล้วในฐานะที่ได้วัตถุทั้งหลายมีผ้าและเครื่องประดับเป็นต้น ซึ่งมีปฎิสนธิอันกุศลไม่น้อย คือ ไพบูลย์ให้รับแล้ว.

บทว่า ปณฺณรสวสฺสุทฺเทสิกา คือ มีวัย ๑๕ ปี. แม้ในบทที่สองก็มีนัยเช่นเดียวกัน. ถามว่า ทําไมจึงทรงถือระยะวัย.

 
  ข้อความที่ 22  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 7 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 134

ตอบว่า เพื่อทรงแสดงสมบัติคือผิวพรรณ เพราะอายตนะ คือผิวพรรณของของสตรีแม้เกิดในตระกูลทุกข์ยาก ย่อมค่อยๆ งดงามเปล่งปลั่ง ในกาลหนึ่ง ส่วนอายตนะคือผิวพรรณของบุรุษทั้งหลาย ย่อมงดงามเปล่งปลั่งในเวลามีอายุได้ ๒๐ ปี หรือ ๒๕ ปี. ทรงแสดงสมบัติ คือ สรีระ อันปราศจากโทษ ๖ ประการ ด้วยบททั้งหลายมีว่า ไม่สูงนัก เป็นต้น.

บทว่า วณฺณนิภา คือมีวรรณะนั้นเทียว.

บทว่า ชิณฺณํ คือแก่เพราะชรา.

บทว่า โคปานสิวงฺกํ ได้แก่ มีซี่โครงคดเหมือนกลอนเรือน.

บทว่า โภคฺคํ ได้แก่ ร่างคดงอ. ทรงแสดงความที่ร่างกายนั้นคด ด้วยบทแม้นี้นั้นเทียว.

บทว่า ทณฺฑปรายนํ คือ อาศัยไม้เท้า ได้แก่ มีไม้เท้าเป็นที่สอง.

บทว่า ปเวธมานํ ได้แก่ตัวสั่น.

บทว่า อาตุรํ ได้แก่ เดือดร้อนเพราะชรา.

บทว่า ขณฺฑทนฺตํ คือ มีฟันหลุด เพราะความเป็นคนแก่.

บทว่า ปลิตเกสํ ได้แก่มีผมหงอก.

บทว่า วิลูนํ ได้แก่ ผมโกรนดุจผมที่ถูกถอนเอาไปฉะนั้น.

บทว่า ขลิตสิรํ คือศีรษะล้านมาก.

บทว่า วิลนํ ได้แก่ หนังเหี่ยวอันเกิดพร้อมแล้ว.

บทว่าติลกาหตคตฺตํ คือ มีร่างกายเกลื่อนกล่นด้วยตกกระสีขาวและสีดํา.

บทว่า อาพาธิกํ ได้แก่ มีพยาธิ.

บทว่า ทุกฺขิตํ คือ ถึงแล้วซึ่งทุกข์.

บทว่า พาฬฺหคิลานํ ได้แก่ มีความป่วยไข้อันมีประมาณยิ่ง.

บทว่า สีวถิกายฉฑฺฑิตํ คือ ให้ตกแล้วในป่าช้าผีดิบ. บทที่เหลือได้กล่าวแล้วในสติปัฏฐานนั้นเทียว. นิพพานนั้นเทียว ชื่อว่า ฉันทราควินัยแม้ในที่นี้.

บทว่า เนวตสฺมิํ สมเย อตฺตพฺยาพาธาย ความว่า ในสมัยนั้น ย่อมไม่คิด เพื่อประโยชน์แห่งทุกข์แม้ของตน.

บทว่า อพฺยาปชฺฌํเยว ได้แก่ ไม่มีความทุกข์นั้นเทียว.

บทว่า ยํปิ ภิกฺขเว เวทนา อนิจฺจา ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเวทนาไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น อาการมีความไม่เที่ยงเป็นต้นนี้ เป็นโทษแห่งเวทนา. การสลัดออกไป มีประการดังกล่าวแล้วนั้นเทียวแล.

จบ อรรถกถามหาทุกขักขันธสูตรที่ ๓